วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง..ท่องวารี..วิถีแห่งลำน้ำ





(ภาพเรือเป็ด เป็นเรือเป็ดน้ำจืด ติดเครื่องยนต์ มีเรือเป็ดอีกชนิด เป็นเรือเป็ดทะเล
เรือเป็ด มีทั้งเรือต่อและเรือขุด สำหรับลำนี้เป็น เรือต่อ ที่ใช้ไม้กระดานประกอบเป็นลำเรือ)


ที่วัดบางกรูด มีถนนลูกรังออกสู่ถนนใหญ่ ที่เป็นเส้นทางไปสู่ ตัวจังหวัด และไปสู่อำเภออื่นๆ เช่น บ้านโพธิ์บางคล้า พนมสารคาม ต่อไปถึง กบินทร์บุรี ปราจีนบุรีรวมถึงจังหวัดอื่นๆ เช่น พนัสนิคมจังหวัดชลบุรี เป็นระยะทาง ประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อออกถนนใหญ่ มีระยะทาง อีกประมาณ 6 กิโลเมตรเศษ ก็ถึงตัวจังหวัด ที่วัดบางกรูด จึงเป็นท่าเรือสำหรับการสัญจรทางบกสำหรับคนในละแวกนี้ ด้วย (สัญจรทางบกแต่เป็นท่าเรือ รับรองว่าเขียนถูกต้องค่ะ)ทำให้มีตลาดด้วย คนที่อยู่คนละฝั่งต้องพายเรือข้ามฟาก (หมายถึงข้ามฝั่งแม่น้ำ) เพื่อมาตลาด และเพื่อขึ้นรถนั่นเอง

การเดินทางเส้นถนนผ่านวัดบางกรูดจะรวดเร็วกว่าทางเรือ เพราะมีรถสองแถววิ่ง นานๆเที่ยว เพราะรอคนโดยสารให้ได้ เป็นที่พอใจว่าคุ้มค่าน้ำมันล้อจึงจะหมุน เวลาจึงไม่แน่นอน เคราะห์ร้ายก็รอกันเป็นชั่วโมงกว่าๆ รวมทั้งมีรถบัสขนาดเล็ก รุ่นโบราณ( ที่มีฝากระโปรงรถ ยื่นยาวออกไปแบบรถสิบล้อโบราณที่ยังพอพบเห็นตามต่างจังหวัดอยู่บ้าง หรือหนังไทยเก่าๆ) ที่นั่งเรียงยาวตามด้านข้างของตัวรถ เสริมม้านั่งกลาง อีกแถว รวมเป็น 3 แถวยาว วิ่งรับส่งนักเรียนประจำไปเรียนที่ตัวจังหวัดแบบผูกขาดเป็นเดือน ชาวบ้านต้องกะเวลาให้ถูกต้อง คือ ประมาณ 6โมงเช้า บวกลบเล็กน้อย




(ภาพของเรือมาด พาย เป็นเรือขุดที่ขุดจากต้นไม้ทั้งต้น นิยมใช้ไม้สักและตะเคียนอายุการใช้งานทนทาน )

บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำและแม้อยู่ในคลอง ต้องมีเรือสำหรับใช้ในการสัญจรไปมา ทั้งการไปทำกิจธุระต่างๆ หรือไปมาหาสู่ระหว่างบ้านเรือนอื่นๆ ส่วนบ้านที่อยู่ไม่ติดทั้งคลองทั้งแม่น้ำ ก็จะต้องใช้วิธีเดินมาขอยืมเรือของบ้านที่อยู่ริมน้ำพายข้ามฝั่งไปตลาด แต่ถ้าเป็นการจรมาจรไปครั้งคราว เช่น ลูกหลานออกไปทำงานที่อื่น เมื่อคืนกลับบ้านก็จะนั่งเรือจ้าง ที่มีพายรับจ้างอยู่ หรือคนที่พอมีสตางค์ก็ใช้การนั่งเรือพายรับจ้างแต่เป็นเพราะนานๆ เดินทางที นั่นเอง

สำหรับคนบ้านนาในบริเวณหลังสวนของที่บ้านของผู้เขียน มักจะนัดหมายบ้านข้าง ๆ 2-3 บ้าน รวมตัวกัน แล้วมาขอยืมเรือที่บ้านเดือนละ ประมาณ 2 ครั้ง บางเดือนก็ไม่มา และพวกเขามักจะรอบคอบที่มีคนพายเรือเป็นมาด้วย ดังนั้น วันไหนที่มีคนมายืมเรือพายข้ามฟาก คนที่บ้านจะพลอยอาศัยนั่งเรือติดกับเขาไปแล้วก็กินแรงผู้มาขอยืมเรือนั่งสบายๆ แต่ถ้ามีคนมาหลายๆคน ก็ใช้วิธี ฝากซื้อของ ทั้งนี้สำหรับเวลาที่น้ำลงแห้งฝั่ง บ้านเรือนที่อยู่ในคลองถึงมีเรือ ก็ใช้เรือของตนเองไม่ได้ ก็ต้องมายืมเรือเช่นกัน และแต่ละบ้านริมน้ำ ก็จะมีเรือบ้านละหลายลำ ไล่ขนาดเล็กใหญ่ ตามการใช้งาน เช่นพายคนเดียวหรือสองคน หรือต้องนั่งหลายคน ใช้บรรทุกของ ใช้ไปตวงเก็บข้าวเป็นค่าเช่านา

บ้านจึงต้องมีคลอง สำหรับเก็บเรือที่ไม่ใช้งานบ่อยนัก รวมทั้งต้องใช้คลอง เป็นทางเอาเรือขึ้นบกเพื่อการซ่อมแซม ทุกบ้านต้องซ่อมแซมเรือกันเอง โดยยกเรือขึ้นมาวางคว่ำบนคาน ใช้ ชันยาน้ำมันสนและด้ายสายสิญจน์ในการซ่อมแซม เรียกว่า 'การยาเรือ' บ้านริมน้ำจึงต้องมีคลองส่วนตัวสำหรับการนี้ แต่ถ้ามีคลองสาธารณะอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องขุดคลองเอง


สำหรับการเข้าตัวเมืองอีกวิธี คือการนั่งเรือเมล์ เป็นเรือลำใหญ่ บรรจุคนได้เกือบร้อยคน วิ่งสัญจร ผู้คนที่จะใช้บริการต้องรู้เวลาเรือซึ่งมีเพียงลำเดียว ล่องขึ้นในตอนเช้า ล่องกลับเมื่อส่งคนโดยสารเสร็จพักระยะเวลาแล้ว ล่องกลับลงมา ตอนบ่ายล่องขึ้น ช่วงเย็นล่องกลับ ใช้เวลาแล่นประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เพราะเรือต้องแวะจอดรับคนสองฝั่งน้ำ

ดังนั้นนักเรียนหรือผู้ที่ทำงานในจังหวัด ก็จะเจอะเจอ กัน ทุกเช้าเย็น เป็นเหตุให้ ส่วนใหญ่ ก็จะรู้จักมักคุ้นกัน เพราะการโดยสารเรือนี่แหละ ยิ่งเป็นนักเรียน กว่าจะเรียนจบ ก็นั่งเรือลำเดียวกัน หลายปีทีเดียว ไล่เรียงกันหลายรุ่น เป็นความผูกพันซึ่งกันและกัน ว่าคนโน้นพี่คนนี้หลานคนนั้น เรียกได้ว่ารู้จักมักคุ้นกันทั่ว เวลาจะเรียกเรือโดยสาร ก็ออกไปยืนที่หัวสะพาน ใช้ผ้าโบกไหวๆ คนขับเรือเขาจะหูตาไว มองหาผู้โดยสารอยู่แล้ว

แต่ถ้าเป็นนักเรียนหรือคนทำงานประจำ คนขับเรือก็จะจำบ้านคนโดยสารขาประจำได้ ดังนั้นสำหรับคนขาจรทั่วไป ที่มีสะพานท่าน้ำไม่เห็นเด่นชัดนักคือมีแนวไม้บดบัง จำเป็นต้องมีการประกันความเสี่ยงที่จะไม่ตกเที่ยวเรือเมล์ หรือเรือโดยสาร คือ ต้องหาท่าน้ำที่คิดว่าดีที่สุดของตน เช่นบ้านที่อยู่ใกล้และมีนักเรียนขึ้นลงประจำ หรือ ท่าน้ำของวัด นั่นเอง ดังนั้นท่าน้ำวัดจึงเป็นท่าน้ำที่เรือโดยสารจะได้ผู้โดยสารท่าน้ำละหลายคน




(ภาพเรือแจว ก็เป็นเรือมาดชนิดหนึ่งและเป็นเรือขุด ใหญ่กว่าเรือมาดพายมีหางเสือช่วยการบังคับเรือ แต่เดิมก็เป็นเรือใช้แจวแล้วถอดเสาแจวออก ติดเครื่องยนต์)


ที่บ้าน มีเด็กมากทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ นั่งเรือโดยสาร แต่รุ่นเล็ก มี ทั้งนั่งเรือโดยสารและข้ามฝั่งไปขึ้นรถ โดยมีเรือส้ำปั้นลำค่อนข้างใหญ่ มีคนนั่ง ได้ 10 คน โดย 1 คน คือคนที่ข้ามไปส่งแล้วต้องพายกลับมาจอดที่บ้าน ตอนเย็นพายข้ามไปรับกลับ สำหรับคนที่กลับบ้านผิดเวลาไม่พร้อมคนอื่นทำอย่างไรกัน อย่าแปลกใจกับคำตอบว่า ตะโกนร้องเรียก ข้ามฝั่งแม่น้ำ บ้านที่อยู่ตรงข้ามวัด รวมทั้งบ้านคนพายเรือจ้างต้องจำแนก ว่า คนที่ส่งเสียงแหบห้าว หรือเจื้อยแจ้วอยู่ที่ฝั่งโน้นเป็นใคร เรียกใคร เป็นลูกหลานบ้านไหน หรือว่า เป็นผู้โดยสาร ส่วนใหญ่ จะส่งเสียงร้อง วู้... วู้.... กัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ต้องรอนานหรือคนอื่นพายมารับเก้อ ที่บ้านจะใช้เสียงตะโกนออกชื่อ โดย ค้อมตัวลงเล็กน้อยยกสองมือป้องปาก สูดลมหายใจก่อนเฮือกใหญ่ๆ แล้วตะโกนสุดเสียง เช่น ป๊อด.....รับด้วย หรือ จี๊ด....รับด้วย เป็นต้น

คนที่บ้าน จะเสียงดังมาเป็นนิสัยติดมาจนโต หากมีบ้านเรือนเป็นเทาน์เฮ้าส์ หรือบ้านจัดสรร สมัยใหม่ รับรองว่า การคุยกันในบ้านต้องโดนข้างบ้านขว้างหลังคาบ้านทุกวันคืนแน่นอน ชื่อของตัวผู้เขียนเป็นชื่อที่ตะโกนเรียกค่อนข้างยาก เสียงถูกกลืนลงคอ จึงมักไม่ถูกเรียก ส่วนคนอื่น ๆ หากไม่ใช่เรียกชื่อตนเอง ก็จะงอแง ว่า ไม่ได้เรียกฉันนี่ คนที่ถูกออกชื่อ สิ ต้องข้ามไปรับ ไปไปมามา บางทีน้องสาวคุณยายคนเล็ก ทนรำคาญไม่ไหว จะพายไปรับให้ หากเสียงเรียกนั้นเป็นการเรียกหลานชายคนโปรดของท่าน

 คุณยายท่านนี้ พายเรือข้ามฝั่ง จนอายุใกล้ 80 ปี จึงถูกห้ามไม่ให้ พายเรือข้ามฝั่ง ท่านเป็นโสด อายุถึง 96 ปี(ปู่เย็น ตอนอยู่เรือยังอายุมากกว่าเลย)

สำหรับเด็กผู้ชายที่โตหน่อย หากกลับบ้านผิดเวลามากๆ หากค่ำมืด ไม่มีใครเขาพายเรือสัญจรไปมาพอจะอาศัยข้ามฟากได้ (บางทีถ้าเรือว่าง ก็จะมีคนขอโดยสารข้ามฝั่งซึ่งกันและกัน) เขาใช้วิธีธรรมดามาก ๆ คือ ว่ายน้ำข้ามฝั่ง หาท่อนสะโพกจากหรือ ลูกมะพร้าวแห้ง ช่วยให้อุ่นใจว่าข้ามถึงฝั่งแน่ บางทีก็ถอดเสื้อผ้าบางชิ้น ไม่แน่ใจว่าเขาใช้ปากคาบไว้หรือเปล่า (ล้อเล่น... คงวางบนทุ่นเกาะมากกว่า) ถ้าไม่ต้องรับคนจำนวนหลายคน ก็เปลี่ยน ใช้เรือมาด พาย หรือ สำปั้นลำเล็ก หรือบางทีก็เป็นเรือเป็ด หรือเรืออีเป็ด ไม้พายเรือ ก็มีหลายขนาด ขนาด คนแข็งแรง ผู้ชาย ใช้พายใหญ่ ไล่ขนาดลงมาเรื่อย ๆ 3-4 ขนาด




(ภาพเรือแจว 4 หลักแจว ก็ต้องใช้ 4 คน ประจำที่ ถ้าเดินทางไกลก็มีประทุนปูพื้นกลางลำเรือ จะเรียกว่าเรือมาดประทุน หากมีเก๋งกลางลำเรือจะเรียกเรือมาดเก๋ง สามารถทำประทุนและปูพื้นใช้ อยู่อาศัยแทนบ้านเรือนได้)
พายและแจวเป็นอุปกรณ์ให้เรือเคลื่อนที่โดยใช้แรงงาน


กล่าวถึงเรือ 4 ประเภทแล้ว คือเรือเมล์ เรือสำปั้น เรือมาด เรือเป็ดหรืออีเป็ด ส่วนเรือพายรับจ้าง มีลำเดียวอยู่เยื้องๆหน้าวัด ก็เป็นเรือสำปั้น ในช่วงเช้าแต่ละบ้านที่เดินทางทางบก ก็ต้องพายเรือข้ามฝั่งกันทุกบ้าน แต่ในลำน้ำ ไม่ใช่แค่มีการสัญจรเฉพาะคนหน้าวัดเท่านั้น ลำน้ำออกกว้างขวางและระยะทางยาว ดังนั้น แน่นอนว่า พายเรือไป ต้องมีการพบเจอเรืออื่นต้องหลบหลีกและจัดการจราจรกันเองตามอัธยาศัย และความชำนาญ เพราะต้องสวนกันบ้าง ตัดหน้ากันบ้าง อ้อมท้ายเรือกันบ้างกับ เรืออื่นๆเช่น  เรือแจว เรือหางยาว เรือยนต์ เรือพ่วง ที่มีเรือยนต์วิ่งจูงลากเรือกระแซง เรือเอี๊ยมจุ้น บางทีก็จะมีเรือฉลอมบรรทุกของมาจอดแวะส่งของที่ตลาดข้างวัด

บ้านระดับเศรษฐี จะมีเรือยนต์ส่วนตัว สำหรับการสัญจร ถ้าเปรียบเทียบ ก็ระดับรถเบ๊นซ์ ของรถยนต์เลยนะคะ

เรือกระแซง ส่วนใหญ่ ใช้บรรทุกข้าว เรือเอี๊ยมจุ้น บรรทุกเกลือ บางทีก็ บรรทุกขี้เป็ด ส่งกลิ่นทั่วคุ้งน้ำ จนเรือเลยไปตั้งไกลแล้ว ยังทิ้งกลิ่นไว้แทนตัวสินค้าอีกค่อนข้างนานทีเดียว กลิ่นขจรขจาย ขนาดมาเวลาหลับยังต้องสะดุ้งตื่นกันละ เพื่อเอามือปิดจมูกนั่นเอง ร้ายจริงๆคุณขี้เป็ด

เรื่อพ่วงมีหลายขนาดลำเรือ บางขบวนก็ทั้งขบวนยาว ลำใหญ่ๆ บางขบวนก็ลำไม่ใหญ่นัก แต่ส่วนใหญ่เรือพ่วงจะวิ่งเลียบห่างฝั่งพอประมาณ ไม่วิ่งตัด ลำน้ำ เรือที่จะวิ่งตัดลำน้ำก็เพราะมีที่หมายว่าจะจอดเรือจึงต้องข้ามฝั่ง แต่ถ้าข้ามฝั่งจวนถึงอีกฝั่ง แล้วมีเรือพ่วงขบวนยาว ผ่านตัดหน้าเรา ก็ต้องชะลอเรือรอกัน ทีนี้ถ้าเป็นขี้เป็ด ลองหลับตานึกแทนแล้วกัน ว่า มีรสชาติของความรู้สึกขณะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องเรือยังไม่จบเพราะยังไม่กล่าวถึงเรือบด เรือพระบิณฑบาต เรือผีหลอก เรืออีแปะ แต่ ความชักจะยาวเกินไปแล้ว โดยเฉพาะเรือพระบิณฑบาต วัดบางกรูด เป็นเรือ Classic มาก .




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น