วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

'The graceful of Lotus' บัวงาม.....ยามตะวันฉาย Photo by Amorn Tun.

บัวงาม.....ยามตะวันฉาย....

พออรุณฉาย  บัวก็งามเฉิดฉัน



ภาพดอกบัวผัน (พันธุ์ผสม )

ขอบรรยายด้วยเนื้อเพลงไทยเดิม 2 ชั้น ชื่อเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง
เนื้อร้องมีใจความว่า

                  เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง

เรื่อยเรื่อยภุมรินบินว่อน        เกลือกเกสรบัวทองผ่องใส
รื่นรื่นรสสุคนธ์ปนไป             สองใจจ่อจิตสนิทนอน
       ดอกเอ๋ย                     เจ้าดอกบัวผัน
บุหงาสวรรค์                       ของเรียมนี่เอย
               เจ้าหน้านวลเอย
เจ้าหน้านวลยวนใจให้พี่เชย   ไม่ละไม่เลยไม่ลืมชม
แม้ห่างอินทรีย์อกพี่ระบม       อกตรอมอกตรมสียจริงเอย
เจ้าภุมรินเอย  กลั้วกลิ่นบุปผา เกสรผกาไม่ราโรย
จะคลึงจะเคล้าจะเฝ้าสงวน     จะยั่วจะยวนเมื่อลมโชย
จะกอบจะโกย                     กลิ่นไปเอย
         ดอกอ๋ย                    เจ้าดอกโกมุท
เจ้าแสนสวยสุด                   ของเรียมนี่เอย

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเสภาเรื่องพญาราชวังสัน ดัดแปลงมาจากบทละครที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลงจากเรื่อง โอเทลโล ของเช็คสเปียร์ไว้แล้ว พระยาประสานดุริศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)ได้ถวายคำแนะนำว่า ในตอนบทอัศจรรย์ระหว่างพญาราชวังสันกับนางบัวผัน ควรบรรจุเพลง อาทิตย์ชิงดวง เช่นเดียวกับบท พระอาทิตย์ชิงดวงเด่น ของเดิม ซึ่งเป็นบทอัศจรรย์เช่นกัน แต่เพลงนี้ต้องมีสร้อยและดอกต่อด้วย  จึงทรงพระราชนิพนธ์ดอกและสร้อยต่อท้ายขึ้น ดังข้างต้น

พระอาทิตย์ชิงดวงของเดิมของพระประดิษฐ์ไพเราะ  มีสร้อยและดอกว่า

       พระอาทิตย์ชิงดวงจันทร์เด่น     ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ
หิ่งห้อยพร้อยพรายไหวระยับ           แมลทับท่องเที่ยวสะเทือนดง
       ดอกเอ๋ย      เจ้าดอกจิก          หัวใจจะพลิก (พลิก)  เสียแล้วเอย
                     หนาเจ้าเอย.................

(เพลงไทยตามนัยประวัติ  โดย ครูเงิน )
คงไม่ต้องมีคำอธิบายอื่นอีกแล้ว    ไพเราะจับใจมากเลย

บัวผัน ( CAPE WATERLILY)
      เป็นบัวพื้นเมืองที่มีมานาน แยกออกไปได้อีกหลายพันธุ์ แล้วตั้งชื่อตามแหล่งที่พบ  ถิ่นกำเนิดเดิมคือ ประเทศแอฟริกาใต้   
       ดอกตูม ค่อนข้างป้อม  ดอกมีกลิ่นหอม




บัวเผื่อน    (BOA PHOUN)
   
       เป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองของไทย ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับ  บัวผัน  แต่มีลำต้นและดอกเล็กกว่า
พบในน้ำตื้นทางภาคกลางและภาคใต้ของไทย ชื่อบัวเผื่อนนี้ใช้เรียกกันมานาน โดยอาจเนื่องมาจากคนสมัยก่อนคงสังเกตุเห็นสีของดอกบัวมีสีดอกเผื่อนระหว่าง สีขาว  คราม และชมพูอ่อน  บานเป็นเวลา 3 วัน  ในช่วงเวลาเช้าถึงเย็น กลีบดอกเปลี่ยนสีได้   เมื่อบานวันแรกเป็นสีขาว แล้วค่อยๆมีสีเหลือบชมพูอ่อนที่ปลายกลีบ  และเปลี่ยนเป็นสีชมพูเหลือบครามในวันสุดท้าย
ดอกไม่มีกลิ่นหอม
ลักษณะ ดอกตูมยาว   ในขณะที่ดอกบัวผัน ดอกตูมค่อนข้างป้อม   บัวเผื่อนดอกเล็กกว่าดอกบัวผัน


ตามทุ่งนา หรือคูน้ำเมื่อถึงหน้าแล้งไม่มีน้ำ บัวเผื่อนนี้ก็จะตายไปด้วย แต่เมื่อถึงฤดูฝน เหง้าบัว  ก็จะเจริญพันธุ์ สืบสายพันธุ์ต่อได้ เป็นวัฏจักร ต้นเก่าตายจากไป เหง้าก็แตกต้นใหม่สืบสายพันธุ์ เมื่อได้น้ำ
ดอกบัวเผื่อนตามท้องทุ่ง เป็นดอกเล็กจิ๋ว มากกว่าที่ปลูกเลี้ยงกันในกระถาง
ในสมัยเด็ก  พลอยโพยม จะลุยทุ่ง ลงไปเด็ดบัวเผื่อน เอากลับบ้าน ตอนเดินกลับจากโรงเรียน สมัยชั้นประถมเสมอๆ



บัวสาย  
อุบลชาติล้มลุกชื่อสัตบรรณ หรือบัวแดง  (Nymphaea  Rubra)
เป็นบัวสายพันธุ์แท้พื้นเมืองของประเทศไทย
บัวสาย ที่เราสามารถพบเห็นกันได้โดยทั่วไป เพราะดอกโต กอใหญ่ สีแดงสดใสสว่างจ้าสะดุดตาผู้คนที่พบเห็น
หากเป็นพันธุ์สีขาวก็สะอาดผุดผ่องละอองตา  นอกจากบานตามท้องร่องสวน คูคลองหนองบึงโดยทั่วไป เรายังพบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันในตลาดผักสดเมื่อก่อนนี้ คนเก็บบัวสายมาขายจะดึงมาทั้งลำต้นคือทั้งสายและดอกแล้วขดม้วนเป็นวงกลม วงละหลายๆสาย  แต่ในระยะหลังๆ แม่ค้าผู้ขายใช้กลยุทธุ์ล่อใจผู้ต้องการซื้อในการอำนวยความสะดวกสบาย ลอกผิวเยื่อออกแล้วเด็ดเป็นท่อนๆไว้พร้อมสรรพ  และทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องซื้อทั้งกำ แบ่งได้ตามชอบใจ  แต่นับว่าเป็นการทำลายคุณค่าของการเป็น Miss Popula  ของคนไทยวิถีไทยไปโดยสิ้นเชิง  บัวสายไม่ได้อวดสีสันสวยงามแห่งดอกของตนอีกต่อไปในตลาดผักสด

บ้านในชนบท บ้านไหนไม่มีบัวสายออกจะดูแปลกๆผิดชาวบ้านทั่วไป เพราะบัวสายถือเป็นผักสวนน้ำประจำบ้าน นอกจากชูช่อดอกให้ชื่นชมความสวยงาม แต่งแต้มธรรมชาติให้ดูหวานพลิ้วแล้วยังทำกับข้าวได้หลายชนิด เด็ดสดล้างน้ำจิ้มน้ำพริก (ไม่เป็นที่นิยมที่จะลวกรับประทาน)  เพราะเป็นบัวมีเองที่บ้าน ย่อมรู้ดีว่าสายบัวสะอาดหรือไม่  แต่ถ้าซื้อมาจากตลาด ก็ไม่ออกใบรับประกันให้นะคะ ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน  ทำแกงส้ม  ผัด  กับกุ้งที่ช้อนได้ในท้องร่องที่ปลูกบัวนั่นแหละค่ะ  หรือจะต้มกะทิข้นรสจัดกับปลาทูหรือปูแสมดอง  ไม่ทราบว่าบ้านอื่นมีเมนู สายบัว มากกว่านี้อะไรบ้าง
พลอยโพยม อาจเป็นกบใต้ใบบัวของบัวสายก็เป็นได้



บัวทุกสายพันธุ์ ก็มีลำต้นเป็นสายด้วยกันทั้งนั้น  แล้วทำไมมาเรียก อุบล ชนิดนี้ว่าบัวสายกันหนอ  คิดเอาเองนะคะว่า เพราะบัวสายนี้จะบานแต่เช้าตรู่  คงจะเริ่มขยับกลีบดอกของตัวเองตื่นจากนิทราตั้งแต่ นกกาพากันแซ่ซร้องร้องปลุกโลกให้ตื่นจากการหลับใหล ไก่แก้วทั้งหลายโก่งคอขันเจื้อยแจ้วกันเลยทีเดียวหรือเปล่า   เพราะพอเช้าตรู่ดอกบัวสายก็บานสะพรั่ง  ( แล้วก็มีเพลงของคุณแจ้ ที่ร้องว่า  บัวน้อยลอยชูช่อรออรุณ   เหมือนรอไออุ่นจากดวงสุริยา....) แต่จริงๆแล้วพอดวงสุริยาเริ่มเปล่งประกายกระจายรังสีอบอุ่น  บัวสายก็เหนียมอายค่อยๆขยับกลีบดอกซุกซ่อนความงามของตัวเองไว้ไม่ให้แสงรังสีแห่งดวงสุริยามาโลมไล้ได้ถึงเกสรของตนเสียมากกว่า

ถ้าใครอยากชมความงดงามอย่างชาวบ้านๆ ของบัวสาย  หากท่านตื่นสายละก้อ....เสียใจด้วยนะคะ เพราะบัวสายเธอแอบซ่อนความงามของเธออย่างเอียงอายสายตาของท่านไปเสียแล้ว ด้วยเธอเหนียมอายต่อแสงตะวันมารอบหนึ่งแล้วนั่นเอง  แล้วท่านเองนั่นแหละก็จะเป็นแม่สายบัว แต่งตัวเก้อมาชมบัวสาย

พลอยโพยมเคยปลูกบัวไว้ 25 กระถางใหญ่ ตอนใหม่ก็ชื่นชม  ตื่นเต้นกับการแย้มบานของบัวหลายพันธุ์ที่ซื้อมาบ้างขอมาบ้าง  มีพันธุ์หนึ่งสีแดงสดเข้มสวยมากจริง ชื่อ มีคำว่า RED อะไรสักอย่างผสมชื่ออยู่  บัวกระถางนี้จะบานตอนดึก ใกล้ๆเที่ยงคืน   ที่ตั้งบัวอยู่รวมกัน และห่างตัวบ้าน ไม่มีไฟฟ้าติดตรงบริเวณนั้น เพราะมีบัวพิเศษกระถางเดียวที่บานเต็มที่ตอนใกล้เที่ยงคืน  ตอนที่ดอกแรกบานหลังจากได้มา ก็รอคอยอย่างใจจรดจ่อตามที่คนขายโฆษณา ต้องปลุกพี่ชายไปดูชี้ชวนว่า ไปชื่นชมกันหน่อยว่างามขนาดไหน (หลอกพี่ชายออกไปเป็นเพื่อน)  พี่ชายยอมโดนหลอกหนเดียวเท่านั้น   บัวสวยจริง แต่เขาไม่ชื่นชมขนาดต้องยอมถูกปลุกจากที่นอน ออกไปดูบัวบาน  บางทีบัวบานตอนคืนเดือนหงาย งามประทับใจมาก  แต่แล้วไปไปมามา   น้องสาว ของพี่ชาย ก็เลิกออกไปชมบัวบาน เหมือนกันเลย  เพราะไม่มีเวลาดูแล  ทั้งเพลี้ยนทั้งหนอนทั้งหอยกินใบพรุน แถมสาหร่ายพันกอบัวยุ่งอีลุงตุงนัง  ก็เลย ปล่อยบัวไปตามยถากรรม  สู้บัวสายไทยเราก็ไม่ได้


ที่มุมขวาบนของหน้านี้ จะมี Link เพลง LOTUS SECREAT GARDEN ที่ไพเราะ ได้ฟังกันไหมคะ
คุณ Roytavan ให้ข้อมูล ว่า เพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม EARTH SONG เป็นเพลงที่มีชื่อเสียงมากใน ปี 2005 ขับร้องโดยนักร้องชาว ไอริส-นอร์เวย์เจียน สามีภรรยา
เข้ากับบรรยากาศของการโพสต์รูปดอกบัว เล่าเรื่องดอกบัว

สำหรับเมืองไทย LOTUS เป็นชื่อสามัญของดอกบัวหลวง นอกจากคำว่าบัวหลวงแล้ว คนโบราณมักจะใช้ชื่อ ภาษาสันสกฤตเรียก “ปทุม” หรือ “ปทุมชาติ” มีทั้งดอกป้อมและดอกแหลม เป็นบัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน
บานเวลากลางวันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานประมาณ 4-5 วัน เมล็ดในฝักรับประทานได้ สดๆ และถือเป็นของที่ (ฝักบัว) เราจะพบเห็นแม่ค้า พ่อค้า ขายในรถไฟ

สำหรับดอกบัวหลวงนี้ถ้าเหง้านี้ก็จะไม่ตายเช่นกัน เมื่อฤดูฝนมีน้ำ ก็จะแตกต้นใหม่เจริญเติบโตต่อไป

ในประเทศไทย มี 2 สี คือบัวหลวงสีขาว และบัวหลวงสีชมพู มีดังนี้

1.บัวขาว( HINDU LOTUS) หรือ บุณฑริก ปุณฑริก บัวหลวงขาว เป็นดอกไม่ซ้อน
2.สัตตบุษย์ ( MAGNOLIA LOTUS) บางครั้งเรียกบัวฉัตรขาว บัวหลวงขาวซ้อน ดอกขนาดใหญ่ กลีบดอกซ้อนมาก
3.บัวแดง ( EAST INDIAN LOTUS) คือบัวหลวงสีชมพูเข้ม เรียกบัวหลวงแดง บัวหลวงชมพู โกกระณต ปทุม ปัทมา ดอกใหญ่ ดอกไม่ซ้อน
4.สัตตบงกช ( ROSEUM PLENUM ) หรือชื่อ บัวฉัตรแดง ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกซ้อนมาก
5.บัวเข็ม หรือบัวจีน บัวปักกิ่ง บัวไต้หวัน ดอกขนาดเล็ก ดอกไม่ซ้อน


ต้องขอโทษนะคะที่ไม่ได้เล่าเรื่องเรือให้ต่อเนื่อง ข้ามมาเล่าเรื่องบัว เผอิญว่าพอดีเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำบางปะกงแห้งขอด เข็นเรือออกมาจากอู่เรือไม่ได้  เรือก็เคยคว่ำค้างอยู่บนคานวางเรือน่ะค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น