วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553
เรื่องเล่า..ชาวบางกรูด (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
ความเป็นมาของบางกรูด
บางกรูด นอกจากเป็นชื่อตำบลแล้ว ยังเป็นชื่อ ของวัดบางกรูดด้วย วัดบางกรูด ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า วัดประศาสน์โสภณแต่อยู่ตำบลท่าพลับ คนละฝั่งแม่น้ำ กับตำบลบางกรูด วัดบางกรูดมีประวัติก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๓๐๔ ในอดีตวัดบางกรูด ก็เคยถือว่าอยู่ในตำบลบางกรูดมาก่อน แต่ต่อมาภายหลังมีการแบ่งเขตตำบลกันตามสภาพภูมิประเทศ ฝั่งวัดบางกรูดจึงกลายเป็นตำบลท่าพลับ
ก่อนที่พลอยโพยมจะเกิดมา ตำบลท่าพลับก็มีที่มาของชื่อจาก พรรณไม้ที่มีมากในพื้นที่ คือต้นพลับ คงเคยได้ยินสำนวนโวหารว่า ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก กัน ปัญหาคงมีตามมาว่า ต้นพลับหรือมะพลับก็ไม่รู้จัก ต้นตะโกก็ไม่รู้จักอีก ถ้าอย่างนั้น สำนวนที่ว่า ดำเหมือนตอตะโก ก็คงไม่เข้าใจว่า มันดำอย่างไร อีกกระมัง ขอพักเรื่องต้นพลับหรือมะพลับไว้ก่อน เพราะแทนที่พลอยโพยมจะพาท่านๆ เที่ยวแม่น้ำบางปะกงตรงบางกรูด กลายเป็นจะพาเข้าสวนไปเสียแล้ว ซึ่งต้องพาไปอยู่แล้วแน่นอนแถมเรื่องต้นตะโก ต้นพลับ ยังจะเกี่ยวโยงไปที่ต้นมังคุดอีกต้นด้วย โอกาสต่อไปค่อยย้อนมาเอ่ยถึงแล้วกัน
ต้นพลับ จะเรียกว่าต้นมะพลับก็ได้ แต่ ต้นพลับเมืองไทย กับพลับจีน คงจะห่างไกลกัน
ที่โบสถ์ของวัด (ขอคุยว่าเป็นโบสถ์ที่มีเสาโบสถ์ใหญ่มาก ใหญ่ขนาดไหน ตอนนี้นึกไม่ออกเสียแล้ว ว่าภาพที่ถ่ายไว้อยู่ใน ดีวีดี แผ่นไหน พลอยโพยม มีภาพประมาณ สามหมื่นภาพน่ะค่ะ เพราะเพิ่งหัดถ่ายภาพเองก็คราวนี้ แถมมาหัดตอนสมองเริ่มเฉื่อยชากับการเรียนรู้ของใหม่ๆ เสียแล้ว)
เคยมีต้นพลับใหญ่อยู่หน้าโบสถ์ขนาด สามคนโอบขึ้นร่มครึ้ม น่าเกรงขาม ( คงไม่ใช่น่ากลัว เพราะต้นไม้อยู่หน้าโบสถ์ สถานที่ประกอบพิธีสงฆ์) การไปโบสถ์ ก็ เฉพาะ การบวช การทอดกฐิน การแห่เทียนเข้าพรรษา เพราะการทำบุญตามปกติ เราก็ทำกันที่ศาลาการเปรียญ ส่วนงานศพ ก็ มีเมรุแยกต่างหาก
เมื่อหลายปีก่อน ต้นพลับ สัญลักษณ์สุดท้ายของความเป็นมาเป็นไปของชื่อตำบลท่าพลับ ก็ถูกตัด โดยไม่มีใครรู้สาเหตุว่าทำไมต้นพลับ อายุ ร้อยกว่าปีไม่รู้ว่าร้อยเท่าไร ไม่มีใครแน่ใจ คุณแม่ของพลอยโพยม อายุ เกือบ 94 ปี เล่าว่า สมัยแม่เป็นเด็ก ไปเรียนหนังสือจะชอบไปที่หน้าโบสถ์ เพราะมีต้นไข่เน่าให้เก็บกิน ตอนนั้นต้นพลับก็ ต้นใหญ่มากแล้ว อายุมากกว่าแม่มากนัก ต้นพลับ เป็นไม้โตช้าด้วย
ตกลงว่า ตำบลท่าพลับและตำบลบางกรูดอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำบางปะกง วัดบางกรูด อยู่ตำบลท่าพลับ ส่วนวัดของฝั่งตำบลบางกรูด คือ วัดผาณิตาราม และวัดมงคลโสภิต เนื่องจากมีวัดบางกรูด เป็นแหล่งรวมจิตใจ ผู้คนที่อยู่ในรัศมีของวัดและห่างออกไปในตำบลท่าพลับ ก็จะเรียกถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองว่า เป็นคนบางกรูดเช่นกัน
สายน้ำบางปะกงหาใช่ลำน้ำที่แบ่งเขตดินแดนไม่ หากแต่สายน้ำบางปะกงคือสายธารที่โยงใยสายสัมพันธ์ของคนสองฝั่งน้ำให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวคือ บางกรูด เดียวกัน เพราะวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนสองฝั่งน้ำนี้ ล้วนผูกพันกับสายน้ำ เรือกสวน ทุ่งนา และศาสนาพุทธแหล่งเดียวกัน ทั้งยังเกิดความผูกพันกันด้วยสายเลือดเพราะผู้คนสองฝั่งบ้างก็แต่งงานร่วมครอบครัวกัน ความเป็นเครือญาติโยงใยไปทั่วสองฝั่งน้ำ พลอยโพยมเคยเห็น พวกชาวเขาทั้งเผ่า ชื่อแซ่เดียวกัน ตอนนั้นก็ลืมนึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองว่าเป็นมาเป็นไปอย่างไร ก็เนื่องจาก ชุมชนสองฝั่งน้ำนี้ เป็นแหล่งที่อยู่ของคนจีนที่อพยพกันเข้ามาตามลำน้ำบางปะกงที่เชื่อมต่อปากแม่น้ำบางปะกงและทะเล นั่นเอง
คนจีนที่เข้ามาในรุ่นโน้น โน้น ก็ มีไม่กี่แซ่นัก เมื่อมาอยู่เมืองไทย มาอยู่แบบเสื่อผืนหมอนใบแล้วก็สุขสบายตั้งเนื้อตั้งตัวพออยู่ได้ ก็ชักชวนบอกต่อๆกันที่เมืองจีน คนจีน ก็ทยอยตามเข้ามาอยู่ ต่อมาเมื่อมีการใช้นามสกุลก็ แยกนามสกุลกัน ตัวพลอยโพยมเอง หากนับแซ่ ก็เท่ากับแต่งงานกับคนแซ่เดียวกันนะนี่ แถมแต่งกับคนที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำอย่างที่เล่ามา ข้างต้นเสียด้วย
ที่บางกรูดหันซ้ายหันขวาเหลียวมองรอบๆ ตัว ล้วนเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันเกือบทั้งสองตำบลเลยเชียวนั่น
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศฯ สนจ.ฉช. ลง web site เกี่ยวกับจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอ และ ตำบลต่างๆครบถ้วน เชิญชาวฉะเชิงเทรา ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องราว ในบ้านเกิดของตัวเองตามกันไปหาความรู้เรื่องบ้านเกิดกัน
ขอคัดลอกบทความที่เกี่ยวกับ ตำบลท่าพลับและตำบลบางกรูดมาดังนี้
ตำบลท่าพลับ ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง เป็นชุมชนเก่าแก่มากแห่งหนึ่ง หากนับอายุจากการตั้งวัดบางกรูด พ.ศ. 2304 ถึงปัจจุบันจะมีอายุ 249 ปี ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทางการเกษตร มีโรงหีบอ้อย โรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงสีกลาง แห่งหนึ่ง และโรงสีล่าง หรือโรงสีพระยาสมุทรอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ส่งไปยังกรุงเทพฯ และต่างประเทศ โดยใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จำนวนมาก ส่วนริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลบางกรูด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามก็มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำและมีโรงเลื่อยอีกด้วย ฉะนั้นริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงทั้งสองฝั่งในบริเวณนี้ จึงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่ใหญ่มาก ปัจจุบันได้เลิกล้มไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ร่องรอยที่เป็นอิฐหักของปล่องโรงสีและคำเล่าขานกันมาเท่านั้น
ชื่อตำบลท่าพลับ สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นตะโก ผลรับประทานได้ บางคนเรียกว่า ต้นมะพลับ ผลดิบ เอายางมาย้อมสวิง แห อวน ได้ ประกอบกับผืนดินของตำบลนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีท่าเรือใช้ในการสัญจรไปมามาก จึงเรียกชื่อตำบลว่า “ตำบลท่าพลับ” ชื่อตำบลนี้มีปรากฏในหน้าโฉนดที่ดินของวัดบางกรูด ซึ่งออกให้เมื่อ รศ. 125 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2449 ในครั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์
ตำบลบางกรูด ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงไก่ เลี้ยงสุกร และค้าขาย มีวัด 2 วัด ได้แก่ วัดผาณิตราม และวัดมงคลโสภิต
ส่วนตำบลบางกรูด มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สภาพเดิมเป็นป่า มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นมะกรูดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ในอดีตมีอาณาเขตของตำบลครอบคลุมไปถึงหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของวัดบางกรูด การตั้งชื่อตำบล สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
ในอดีต ตำบลบางกรูด โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำ โรงเลื่อยแปรรูปไม้ และโรงงานประกอบบ้านทรงไทยขายเป็นหลัง ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว ส่วนโรงสียังคงมีปล่องสูงตระหง่านริมฝั่งแม่น้ำเหนือทิวจาก ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจความเจริญของท้องถิ่นที่ผ่านมา
ซึ่งในส่วนของตำบลท่าพลับที่เกี่ยวกับโรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ นั้น ขาดสาระไปอย่างหนึ่งคือ มีโรงสีอีกโรงหนึ่ง ชื่อว่าโรงสีบน ในระยะห่างตามลำน้ำ ในอดีต มีโรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ ถึงสามโรงคือโรงสีบน โรงสีกลาง และโรงสีล่าง ด้วยระยะห่าง รวมแค่ประมาณ 6 กิโลเมตร เท่านั้น โรงสีเหล่านี้ ก่อสร้างในสมัยรัชกาลของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
เพราะอะไรในอดีตถึงมีโรงสีขนาดใหญ่ที่สร้างโดยเจ้านายและขุนนางระดับพระยา ถึง 3 โรง ไม่ห่างกันนัก คำตอบหลัก คือ แม่น้ำบางปะกง ซึ่งออกทะเลได้ เพราะโรงสีในสมัยนั้นส่งข้าวออกนอกประเทศ ค่ะ ทั้งส่งเข้ากรุงเทพฯ และส่งตรงไป ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยตรง ไม่ต้องผ่านเข้ากรุงเทพฯ และยีงมีองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่น ฉะเชิงเทราเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีการสัญจรสะดวกด้วยพระราชดำริให้มีการขุดคลองต่างๆเชื่อมโยง กับจังหวัดใกล้เคียง
เอาเป็นว่า บ้านเกิดของพลอยโพยม น่ะ มี 2 เลขบ้าน เพราะมี 2 ครอบครัว คือ บ้านเลขที่1 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด และบ้านเลขที่2 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด เขียนไป ก็รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ ว่า เรานี้ สืบเชื้อสายมานานหลายทีเดียว
คนที่บางกรูด จากเชื้อสายจีน อยู่ไปอยู่มา ก็ เป็นผสม ไทย จีน ไทยลาว จีนลาว ไปไปมามา ปัจจุบัน คนที่บางกรูดทั้งสองฝั่งน้ำ ถือว่าเป็นไทยเต็มตัว ด้วยจิตวิญญาณ ดังนั้น ผู้คนที่บางกรูด จึงมีวิถีชุมชนพื้นบ้าน ไทย ( ปนจีนนิดๆ) ขนบธรรมเนียมค่อนไปทางไทย ( ปนจีนนิดๆ )
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น