วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วัดบางกรูด.ในอดีต.จน ปัจจุบัน


บางปะกง และอาทิตย์อัสดงที่วัดบางกรูด

เพลงบางปะกง
ฝั่งชายน้ำบางปะกง
ยามแสงอาทิตย์อัสดงใกล้จะค่ำลงแล้วหนา
แต่บางปะกงนั้นยังคงสวยงามตา
คราใกล้สนธยายิ่งพาให้เราสุขสันต์

แดดจวนลับลงรำไร
มองเห็นเรือน้อยล่องลอยไปตื่นใจดังยลธารสวรรค์
เยือกเย็นสายลมพลิ้วพรมอย่างนี้ทุกวัน
ธรรมชาติยามสายัณห์ได้เห็นแล้วลืมไม่ลง

แม้นจากไปอยู่ไกลแสน
ก็ไม่ขอลืมแดนที่เคยปักใจลุ่มหลง
จะเฝ้าแต่ฝันถึงอาทิตย์อัสดง
ชายฝั่งบางปะกงนั้นลืมไม่ลงแน่เอย

โอ้งามแท้บางปะกง
ใครได้เห็นเมื่ออัสดงก็คงสุดกล่าวคำเฉลย
ยากจะกล่าวชมให้สมความงามนั้นเลย
เพลงที่กล่าวภิเปรยไม่ถึงแม้เพียงครึ่งเดียว

ครั้งหนึ่ง คุณนคร มังคลายน นำคณะดนตรี ไปปิดวิกแสดง ที่ย่านบางปะกง แต่มีคนมาชมบางตา วันรุ่งขึ้นจึงประกาศเชิญชวนให้ชาวบางปะกง ไปชมดนตรีกันมาก ๆ แล้วจะแต่งเพลงบางปะกง เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ชาวบางปะกง คุณนคร มังคลายน ใช้ เวลาตลอดคืนแต่งเพลง “บางปะกง” ได้สำเร็จ
ต้นฉบับบันทึกเป็นแผ่นเสียง คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง


สุพรรณสาย ฉายเฉิด เกิดแสงส่อง
ฉาบสีทอง ทับทาบ อาบวหา
ระยิบร้อย เรืองรอง ส่องธารา
ราวจินดา พร่าไล้ ให้แสนงาม

จากวันวานของบางกรูดของพลอยโพยม



เรือลำใหญ่ภายใต้แสงตะวัน ยามอรุณรุ่ง แต่ก็งามไม่แพ้ยามอัสดงของคุณนคร ที่ว่า

แดดจวนลับลงรำไร...มองเห็นเรือน้อยล่องลอยไปตื่นใจดังยลธารสวรรค์


อรุณรุ่ง ที่หน้าวัดบางกรูด

สุริยะ รังสี สาดแสงส่อง
รุ่งเรืองรอง ทองทา สาครฝั่ง
ประกายวาว วิบไหว วิไลดัง
เทพไท้ฝัง เพชรพลอย ลอยวารี
วันวานของบางกรูด โดยพลอยโพยม


ดอกสาละที่วัดบางกรูด


ต้นสาละ
ต้นสาละมักปลูกตามวัด ลักษณะของดอกจจะออกตามลำต้นดังภาพ คนละต้นคนละสถานที่กับภาพดอกข้างบน


ร่มเย็นเป็นเนื้อนาบุญ

พระพุทธรูป ปฎิสังขรณ์ใหม่ ในปี 2554


พระพุทธรูป องค์นี้อยู่บนวิหาร ชั้นที่ 8(แก้ไข)ของวัดบางกรูด ที่ การก่อสร้างชะงักมา สิบกว่าปี


ระฆังรอบฐานพระพุทธรูป
วัดกำลังปฎิสังขรณ์ วิหาร ที่สร้างเสร็จเพียงโครงสร้าง และพระพุทธรูปประดิษฐานชั้นบนสุด
อีกทั้งมีนโยบาย สร้างต่อให้แล้วเสร็จโดยเจ้าอาวาสองค์ใหม่


บนวิหารชั้นบนสุดที่ชั้น 8 ประดิษฐานพระพุทธเกศอุดม (แก้ไข)

ต้นแบบเดิมจะสร้าง เป็นวิหาร 9 ชั้น ต่อมาลดเหลือ 8 ชั้น (แก้ไข) วิหารนี้สร้างโดยอดีตเจ้าอาวาส พระครูใบฏีกา อุดม ใจอารีย์
ซึ่งมรณภาพในระหว่างการก่อสร้าง และค้างมาจนปี พ.ศ. 2553
เมื่อพระครูใบฏีกาสมยศ ปิยธมฺโม มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงดำริจะสานงานก่อสร้างนี้ต่อให้แล้วเสร็จ


สองข้างทางของถนนเข้าสู่วัดเคยเป็นท้องทุ่งนาตลอดเส้นทางปัจจุบันมีเพียงบางส่วนที่ยังคงเป็นนาข้าว



เส้นทางเข้าสู่วัดบางกรูด จากถนนสาย ฉะเชิงเทรา พนัสนิคม


ด้านขวามือของวัดบางกรูดเมื่อหันหน้าสู่แม่น้ำ คือหันไปทางทิศตะวันตก จะมีโค้งคุ้งน้ำ
ถ่ายจากชั้นที่ 8 ของวิหาร 8 ชั้น (แก้ไข)


วัดบางกรูดอยู่กึ่งกลางระหว่าโค้งคุ้งน้ำ 2 โค้งคุ้ง
ในอดีตใกล้กับ วัดบางกรูด มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ 2 โรง ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่5 คือด้านขวามือ(เมื่อหันหน้าหาแม่น้ำ) เป็นโรงสีบน อยู่ปากคลองนา
ด้านซ้ายมือ คือโรงสีกลาง อยู่ก่อนคลองหนองบัว โรงสีทั้ง 2 โรง อยู่ฝั่งเดียวกับวัดบางกรูด


ซ้ายมือวัดบางกรูดเมื่อหันหน้าหาแม่น้ำ คือโค้งคุ้งน้ำ เลยโค้งด้านนี้ไป เป็นโรงสีล่าง และวัดผาณิตาราม



ศาลาท่าน้ำของวัด
เป็นที่พักระหว่างท่าน้ำ กับ กุฎิพระสงฆ์ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปของวัดหลายศาลา ทั้งเส้นทางบก ทางน้ำ
เป็นสถานที่เล่น อ้ายเข้ อ้ายโขง ของเด็กๆนักเรียน


หอพระไตรปิฏก
สร้างในปี 2472 เป็นเงิน 3,320 บาท

วัดบางกรูด มีชื่อเดิมว่าวัดบางกรูดวิสุทธาราม ภายหลังมีเจ้าอาวาส เปลี่ยนชื่อเป็นวัดประศาสน์โสภณ แต่ ผู้คนยังนิยมเรียกว่าวัดบางกรูดในชื่อเดิม
วัดมีประวัติก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2304 ปัจจุบันอายุ 250 ปี

ในอดีตเคยเป็นวัดที่รุ่งเรือง
ในยุคพระอุปัชฌายแย้มเจ้าอาวาส มีภิกษุสามเณรไม่น้อยกว่า 80 รูป บางปีมีถึง 100 รูป
เคยเป็นโรงเรียนนักธรรมในปี 2464 ในช่วง 15 ปี (เว้น 1 ปี) มีนักเรียนสอบไล่ได้ 80 รูป
เป็นนักธรรมตรี 61 รูป นักธรรมโท 14 รูป นักธรรมเอก 5 รูป

มีการเปิดสอนธรรมศึกษา สอบได้รวม 17 คน
เป็นธรรมศึกษาตรี 13 คน ธรรมศึกษาโท 4 คน
โรงเรียนนักธรรม มีการก่อสร้าง 2 ครั้ง ในปี 2469 เป็นห้อง 1 ห้อง กว้างทั้งเฉลียง 4 วา ยาว 8 วา หลังคามุงกระเบิ้อง

และในปี 2476 สร้าง ใหม่
ขนาดกว้าง 3 วา ยาว 6 วา 2 ชั้น มีมุขกลาง ฝาไม้สัก หลังคามุงกระเบื้อง พื้นไม้ตะแบก เสาคอนกรีต

วัดเปิดสอนหนังสือไทยเป็นโรงเรียนราษฏร์ ใน ปี 2452 ในปี 2465 เปลี่ยนสภาพเป็นโรงเรียนประชาบาล



ศาลาการเปรียญไม้เก่าแก่

ภายในกว้างขวาง โปร่ง โล่ง เย็นสบายเป็นไม้ทั้งหลัง ภายหลังมาต่อเติมชั้นล่าง ใช้เป็นศาลาเอนกประสงค์ เฃ่น สวดพระอภิธรรมศพ เป็นต้น
แต่การประกอบพิธีสงฆ์ ต่างๆ เช่นการทำบุญ วันพระหรืออื่นๆ ทำกันชั้นบน

จะเห็นบ่อน้ำ ซึ่งเคยเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญ ในหน้าน้ำกร่อยของคนรอบๆ วัดบางกรูด เป็นบ่อน้ำใหญ่ 2 บ่อ ต่อมาในระยะหล้ง ได้ขุดคันบ่อรวมเป็นบ่อเดียวกัน การมาตักน้ำที่วัด มักใช้ปี๊บวางเรียงในรถเข็น ใส่น้ำเต็มทุกปี๊บ เข็นไปกลับบ้านและวัด บ้านที่ไม่มีรถเข็นก็จะใช้การหาบ ด้วยสาแหรก




สาแหรกคือ เครื่องใส่ของสำหรับหิ้วหรือหาบ ปกติทำด้วยหวาย มี 4 สาย ตอนบนทำเป็นหูสำหรับหิ้วหรือสอดไม้คาน ตอนล่างขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาดเป็นต้น
แต่แทนที่จะเป็นกระจาด ก็กลายเป็นปี๊บ ใส่น้ำแทน
ทำให้มีอาชีพรับจ้างแบกน้ำเกิดขึ้น โดยเด็กวัดรุ่นอาวุโส

รวมทั่งบ้านเรือนที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับวัด ก็ ใช้น้ำจืดจากบ่อนี้ ขนน้ำข้ามแม่น้ำ โดยส่วนใหญ่ จะแช่ในลำเรือที่นำมาขนน้ำของวัด ส่วนใหญ่ใช้เป็นเรือมาด พายข้ามฝั่งมา แล้วระดมคนในบ้านมาช่วยกัน ใช้ ปี๊บ กระแป๋ง ตักน้ำจากบ่อน้ำ ลงเรือ ไปถึงบ้าน ก็ตักจากเรือ ขึ้นใส่ตุ่มในบ้าน ในขากลับนี้ ต้องมีเรืออีกลำบรรทุกคนกลับบ้าน เพราะเรือที่บรรทุกน้ำ มีคนพายท้ายเรือเพียงคนเดียว

ต่อมา เริ่มมีการใช้เครื่องปั้มน้ำหางหอยโข่ง ต่อสายยางที่ปลายหางหอยโข่ง สูบน้ำลงเรือ แล้วสูบขึ้นมา
การมาตักน้ำจืดนี้ สนุกสนานมาก เพราะจะได้พบผู้คนอื่นๆในละแวกเดียวกัน ที่มาขนน้ำจืดกันคึกคัก คุยกันเฮอา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งกันกัน คนมีเครื่องก็ช่วยดูดน้ำให้คนที่เข็นน้ำใส่รถเข็นไม่ต้องจ้วงตัก
ที่วัดจะทำบันได เป็นขั้นๆ ทอดลงบ่อน้ำ มีลานซีเมนต์ตรงบันไดและมีถนนซีเมนต์เป็นเส้นทางเข้าออกบ่อน้ำ


ด้านข้างของโบสถ์

โบสถ์นี้มีการซ่อมหลังคา 3 ครั้งแล้ว กระเบื้องหลังคาโบสถ์เดิมเป็นกระเบื้องเกล็ดปลา สีเหลือง ปูเล่นลายบนหลังคาโบสถ์
กำลังจะบูรณะครั้งที่ 4 เนื่องจากน้ำฝนรั่ว


ด้านหลังโบสถ์

การทำพิธีกรรมต่างๆในโบสถ์ ต้องเข้าทางประตูซุ้มหลังด้านนี้ เมื่อเข้าเขตกำแพงแก้วแล้วจึงเดินอ้อมไปด้านหน้าของโบสถ์
ไม่มีเส้นทางอื่นที่จะเข้าด้านหน้าของโบสถ์ได้ เพราะเป็นแนวต้นไม้ร่มครึ้ม มีต้นโพธิ์ใหญ่ และต้นพลับอายุ 100 กว่าปี แต่ปัจจุบันวันนี้ไม่มีต้นพลับขนาด 5 คนโอบรอบ เสียแล้ว ด้านหน้า มีวิหารพระนอนด้วย แต่ถ่ายภาพไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ให้ตากล้องมือใหม่หัดถ่ายเก็บภาพได้




ด้านหลังโบสถ์
หันหน้าสู่ทิศตะวันตกเป็นลานกว้างติดแม่น้ำบางปะกง


ด้านหลังโบสถ์

เจดีย์ นี้ สูง 5 วาเศษ ทรงกลม สร้างโดยคนจีนชื่อโหงว แซ่อื้อ อยู่บ้านตรงข้ามวัดบางกรูด ภายหลังที่มีการจัดลำดับเลขที่บ้าน บ้านนายโหงว เป็นเลขที่ 1 หมู่ 1 ตำบลบางกรูด
สร้างด้วยเงิน 800 บาท เป็นเงินที่ได้จากการถูกหวย ในสมัยนั้น เล่ากันว่า ถูกหวย เป็นเงินถึง 4 หมื่นบาท ในรุ่นนั้นยังใช้สตางค์แดง 1 สตางค์ 5 สตางค์ กัน
ในสมัยนั้นวัดบางกรูดรุ่งเรืองมาก สิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัด มีครบถ้วน นายโหงว ก็เลยสร้างเป็นเจดีย์


น้ำท่วมวัดบางกรูดเมื่อ ต.ต.2553


โรงเรียนวัดบางกรูด
โรงเรียนที่สร้างในยุคก่อนๆ จะมีรูปลักษณะอาคาร เรียน ในลักษณะนี้ ไม่ว่าอาคารไม้ หรือ อาคารปูน โดยบางแห่งอาจสร้างมีมุข ซ้ายขวา และกลางอาคาร

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ผมเคยบวชที่วัดนี้และเรียนที่โรงเรียนนี้

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เราอาจรู้จักกันก็ได้เพราะเป็นคนบางเดียวกัน แค่ต้องสืบสายว่าเป็นลูกหลานใครมาน่ะค่ะ

      ลบ
    2. มาเที่ยวบ้านป้าที่โรงสีล่างช่วงปิดเทอมใหญ่ เวลามีหนังขายยาที่วัดบางกรูดนี่ จะพายเรือมาดูหนังกับพี่ๆน้องลูกป้า จำได้ว่าเป็นหนังไทยเก่าได้ใจ ขากลับดึกสงัดเงียบเชียบมาก ได้ยินแค่เสียงใบพายของเรกระทบน้ำเท่านั้นเอง

      ลบ