วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ลอยล่อง.. ชโลธร..ปลาเสือตอ

ลอยล่อง ชโลธร ย้อนตามบทกวี

จากบาทสุดท้ายของ พระราชนิพนธ์ ขุนช้างขุนแผนว่า

ภุมรินบินเคล้าสุมามาลย์ ในธาราปลาพล่านตระการตา




เมื่อนึกปลา ใครเลยจะไม่นึกถึงกาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้ง
พลอยโพยม ก็เช่นกัน ขอ ทบทวนพระนิพนธ์นี้ พอให้ลูกหลานรุ่นหลังที่ลืมเลือนไปแล้ว พอนึกอออกได้บ้าง ดังนี้



โคลง
รอนรอนสุริยโอ้ อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว






บทชมปลา
โคลง
พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์ แจ่มหน้า
มัศยาย่อมพัวพัน พิศวาส
ควรฤพรากน้องข้า ชวดเคล้าคลึงชม

กาพย์
พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม สมสาใจไม่พามา

นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามท่าเจ้าเบือนชาย

เพียนทองงามดั่งทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย ดั่งสายสวาทคลาดจากสม

แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกกรม เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง

น้ำเงินคือเงินยวง ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี

ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร

หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร

ปลาสร้อยลอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย

เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง

ปลาเสือเหลือที่ตา เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง ดูแหลมล้ำขำเพราคม

แมลงภู่คู่เคียงว่าย เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง

หวีเกศเพศชื่อปลา คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม

ชะแวงแฝงฝั่งแนบ ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แอบแนบถนอม จอมสวาทนาฏบังอร

พิศดูหมู่มัจฉา ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร มาด้วยพี่จะดีใจ

ภาพทั้งสามภาพข้างต้นเป็นฝีมือถ่ายภาพของเอ็ดดี้ลูกชายค่ะ

และ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปลา ของท่านสุนทรภู่ ดังนี้

ฟังเสียงคลื่นครื้นครั่นสนั่นไป ดูมือในเมฆานภาภางค์
พี่เล็งแลดูกระแสสายสมุทร ละลิ่วสุดสายตาเห็นฟ้าขวาง
เป็นฟองฟุ้งรุ่งเรืองอยู่รางราง กระเด็นพร่างพรายพราวราวกับพลอย
เห็นคล้ายคล้ายปลาว่ายเฉวียนฉวัด ระลอกซัดสาดกระเซ็นขึ้นเต้นหยอย
ฝูงปลาใหญ่ไล่โลดกระโดดลอย น้ำก็พลอยพร่างพร่างกลางคงคาฯ

นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่





จะปลอบประโลมโฉมฉาย ขึ้นนั่งบนท้ายบาหลี
แย้มสรวลยวนยี จะชวนชี้ให้ชมปลา

มีต่างต่างกลางทะเล ทั้งจระเข้เหรา
ฝูงกระโห้ทั้งโลมา เคลื่อนคลาอยู่ตามกัน

กุ้งกั้งแลมังกร สลับสลอนหลายพรรณ
นาคราชผาดผัน ปลาอำพันตะเพียนทอง

วาฬใหญ่ขึ้นไล่คู่ ผุดฟู่พ่นฟอง
เงือกงูดูคะนอง ลอยล่องชโลธร

กริวกราวก็เต้าตาม ฉนากฉลามสลับสลอน
คลาเคล้าสำเภาจร ในสาครรายเรียง

พระอภัยมณี
ชองสุนทรภู่




บางปะกงที่มีลักษณะเมื่อ ห้าสิบปีที่แล้ว ที่มีการพายเรือไปเก็บผักยะวา (สวะ)

ชี้ชมพนมแนว นั่นเขาแก้วยุคันธร
สัตภัณฑ์สีทันดร แลสลอนล้วนเต่าปลา
งูเงือกขึ้นเกลือกกลิ้ง มัติมิงคลมัจฉา
จระเข้แลเหรา ทั้งโลมาแลปลาวาฬ
โผนเผ่นเล่นระลอก ชลกระฉอกฉาดฉาน
นาคาอันกล้าหาญ ขึ้นพ่นพล่านคงคา
หัสดินทร์บินฉาบ ก็คาบขึ้นบนเวหา
ในทะเลเภตรา บ้างแล่นมาแล่นไป
ลำนิดนิดจิ๊ดจิ๋ว เห็นหวิวหวิวอยู่ไรไร
ชมชื่นหฤทัย ก็ลอยไปในเมฆา

บทเห่กล่อมตอนพระยาครุฑอุ้มนางกากีเหาะไปวิมานฉิมพลี ของ สุนทรภู่



ปลานวลจันทร์


ปลาคางเบือน
ภาพจากอินเทอร์เนต


ปลาแก้มช้ำ
ภาพจากอินเออร์เนต

ปลาน้ำเงิน


และขอเสนอบทความ hight light ของพิพิธภัณฑ์ สัตว์น้ำบึงฉวาก


*ปลากะโห้ เป็นพันธุ์ปลาน้ำจืดชนิดที่มีเกล็ดที่มีขนาด ใหญ่ที่สุดในโลก

*ปลาม้า ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่เคยมีชุกชุมในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและเป็นที่มาของชื่ออำเภอบางปลาม้า

*ปลาช่อนงูเห่า ตามที่มีเรื่องเล่ากันว่าเป็นปลาที่มีพิษร้ายแรง หากกัดผู้ใดแล้วได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่มีพิษ


*ปลาตาบอด ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่อยู่ในถ้ำ เป็นปลาที่ไม่มีโอกาสเห็นแสงสว่าง นัยน์ตาไม่ได้ใช้ เป็นเวลานานจึงเสื่อมสภาพไป แต่สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนปลาตาปกติ

*ปลากลับหัว ซึ่งเป็นปลากดชนิดหนึ่ง แต่จะแตกต่างกับปลากดชนิดอื่นๆ เนื่องจากจะชอบกลับหัว (หงายท้อง)ว่ายน้ำ

*ปลา ไหลไฟฟ้า เป็นปลาน้ำจืดชนิดที่ไม่มีอยู่ในเมืองไทย ซึ่งจะพบได้ในแถบแม่น้ำอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ถึง 500 โวลต์ กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่จะใช้ในการทำร้ายเหยื่อ เพื่อเป็นอาหารของมันและใช้เพื่อป้องกันตัว

*ปลาบึก ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาชนิดที่ไม่มีเกล็ด ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เพิ่มเติม จาก วิกิพีเดีย
ปลาบึกพบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบบ้างในแคว้นฉานของประเทศพม่า และแคว้นยูนาน ในประเทศจีนตอนใต้ ชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย
การสืบพันธุ์
ฤดูวางไข่เชื่อว่าจะตกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณนำลึกมีเกาะแก่งมากสะดวกในการผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลาก มันจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง
สถานภาพ
ในปัจจุบันประเทศไทยโดยทางกรมประมงได้ผสมเทียมปลาบึกเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และในปีต่อมาสามารถเพาะพันธุ์ได้จำนวนมากพอที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฎว่าปลาบึกเจริญเติบโตได้ดี แต่ยังไม่ทราบว่าจะผสมพันธุ์วางไข่ได้หรือไม่ ทุกปีจะมีเทศกาลจับปลาบึกขึ้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้ปลาบึกที่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ถูกจับปีละนับร้อยตัว เพื่อนำเอามาขายเป็นอาหารราคาแพง ทำให้ปริมาณของปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงทุกปีๆ


*ปลา เสือตอ ซึ่งเป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ของประเทศไทยแล้ว ซึ่งในอดีตมีชุกชุมในบริเวณ แม่น้ำเจ้าพระยาและบึงบอระเพ็ด

พิพิธภัณฑ์ สัตว์น้ำบึงฉวาก
http://www.classifiedthai.com/


ปลาช่อนงูเห่า

ปลาช่อนงูเห่า ตามที่มีเรื่องเล่ากันว่าเป็นปลาที่มีพิษร้ายแรง หากกัดผู้ใดแล้วได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่มีพิษ



เสือตอลายใหญ่
ภาพจาก http://www.iclickfish.com/

เสือตอ (ชื่อสามัญ)
ลาด (ชื่อสามัญ)
SIAMESE TIGER FISH (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
Coius microlepis (ชื่อวิทยาศาสตร์)

ปลาเสือตอไม่มีในลำน้ำบางปะกง แต่ก็ขอเสนอเรื่องราวของปลาเสือตอ เพราะเป็นปลาที่ กรมประมงเองนำมาเป็นภาพในบัตรเข้าชม สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพ ฯ ที่พลอยโพยม เข้าไปถ่ายภาพปลามานับไม่ถ้วน เพราะหลายๆครั้งภาพที่ถ่ายมาใช้ไม่ได้เลยสักภาพ

ปกติแล้ว ปลาเสือตอจะมีนิสัยขี้อาย ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามตอไม้หรือโขดหิน ชอบลอยตัวนิ่งอยู่ข้างตอไม้ จึงได้ชื่อว่าเสือตอ ไม่ค่อยชอบว่ายน้ำนอกจากเวลาหาอาหาร เป็นปลาที่มีความปราดเปรียวและว่องไว
ปลาเสือตอมักจะชอบแฝงตัว อยู่อย่างเงียบๆคอยซุ่มจับเหยื่อ ตามธรรมชาติ ชอบหากินอยู่ในระดับน้ำ ลึกประมาณ 2-3 เมตร ปลาเสือตอจัดเป็นปลาประเภทกินเนื้อ ดังนั้นเหยื่อจึงเป็นพวกปลาเล็ก และกุ้ง การกินของปลาเสือตอทำโดยการพุ่งเข้าฮุบเหยื่ออย่างว่องไว ชอบหากินในเวลากลางคืน ขณะที่กินอาหารนั้นตัวปลาจะมีสีสดใส และมักจะกางหนามของครีบหลังตั้งขึ้น ปลาเสือตอจะมีประสาทตาที่ไว คอยระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ มี นิสัยรักความสงบ เลี้ยงเชื่อง ไม่ก้าวร้าวถ้าไม่ถูกรังแก ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่จะก้าวร้าวยามหวงถิ่น

ปลาตัวผู้จะมีลำตัวเพรียวบาง และเล็กกว่าตัวเมีย การแพร่พันธุ์ในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ลอยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป การวางไข่แต่ละครั้งจำนวนหลายแสนฟอง ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ ๑๒-๑๔ชั่วโมง ปกติจะวางไข่ในราวเดือน มีนาคม-สิงหาคม

ในอดีตเคยพบชุกชุมในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงปากน้ำโพ เลยไปถึงบึงบอระเพ็ด ปัจจุบันพบได้น้อยตัวเต็มที แต่ก็ยังมีให้พบเห็นได้ในแม่น้ำโขง หนองคาย นครพนม และอุบลราชธานี ชาวอีสานเรียกชื่อเป็น "ปลาลาด"
ยังมีพบในประเทศเขมร ลาว อินเดีย และพม่า
ปลาเสือตอที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์น้ำจืด 2 สายพันธุ์และสายพันธุ์น้ำกร่อย 1 สายพันธุ์



เสือตอลายใหญ่


ปลาเสือตอลายใหญ่
มีขนาดลำตัวที่ใหญ่ที่สุด มีสีสันที่สดและสวยที่สุด มีรูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน พื้นลำตัวสีเหลืองน้ำตาลไปจนถึงสีส้มอมดำ มีแถบสีดำคาดขวางลำตัวในแนวเฉียง รวมทั้งสิ้นประมาณ 5 - 6 แถบ ส่วนหัวมีลักษณะลาดเอียงมาก เกล็ดเป็นแบบสาก มีลักษณะนิสัยอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ใต้น้ำ โดยมักจะอาศัยบริเวณใกล้ตอไม้หรือโพรงหินด้วยการอยู่ลอยตัวอยู่นิ่งๆ หัวทิ่มลงเล็กน้อย หากินในเวลากลางคืน โดยกินอาหารแบบฉกงับ อาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลงต่างๆ มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ




เสือตอลายคู่
ภาพจาก http://www.iclickfish.com/

ปลาเสือตอลายเล็ก
ขนาดลำตัวโตเต็มที่ประมาณ 30 ซ.ม. สีออกขาว ลายมีเส้นเล็ก เกล็ดมีขนาดใหญ่กว่าเสือตอลายใหญ่ มีรูปร่างและพฤติกรรมคล้ายเสือตอลายใหญ่ ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ว่ามีรูปร่างที่เล็กกว่า หัวมีส่วนลาดกว่า มีลายเส้นที่เล็กกว่ามาก พื้นลำตัวค่อนข้างไปทางสีเหลืองอ่อนหรือขาว




เสือตอลายคู่

ปลากะพงลาย
เป็นปลาเสือตอที่มีลายเล็กที่สุด จัดเป็นปลาเสือตอที่ราคาถูกที่สุด ขนาดลำตัวโตเต็มที่ประมาณ 30 ซ.ม. สีลำตัวออกขาวเหลือบเงิน เส้นลายมีขนาดเรียวเล็กที่สุด พบในบริเวณน้ำกร่อย ตามปากแม่น้ำ



กะพงลาย


มีข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ดังนี้
ปลาเสือตอลายใหญ่ (อังกฤษ: Siamese tigerfish) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datnioides pulcher เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาเสือตอ (Datnioididae) มีรูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน พื้นลำตัวสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีส้มอมดำ มีแถบสีดำคาดขวางลำตัวในแนวเฉียงรวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แถบ หรือ 7 แถบ ส่วนหัวมีลักษณะลาดเอียงมาก เกล็ดเป็นแบบสาก (Ctenoid) มีลักษณะนิสัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ใต้น้ำ โดยมักจะอาศัยบริเวณใกล้ตอไม้หรือโพรงหินด้วยการอยู่ลอยตัวอยู่นิ่งๆ หัวทิ่มลงเล็กน้อย หากินในเวลากลางคืน โดยกินอาหารแบบฉกงับ อาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลงต่างๆ มีขนาดลำตัวโตสุดประมาณ 40 เซนติเมตร หนักถึง 7 กิโลกรัม

อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำท่าจีน ในภาคอีสานเช่น แม่น้ำโขงและสาขา ต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม โดยเฉพาะทื่บึงบอระเพ็ดเป็นที่ขึ้นชื่อมากเพราะมีรสชาติอร่อย กล่าวกันว่า ใครไปถึงบึงบอระเพ็ดแล้ว ไม่ได้กินเสือตอ ถือว่าไปไม่ถึง แต่ปัจจุบัน ไม่มีรายงานการพบมานานแล้ว จนเชื่อว่าสูญพันธุ์จากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย


เป็นปลาที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในประเทศไทย เป็นสัตว์น้ำจืดคุ้มครองของกรมประมงร่วมกับปลาชนิดอื่น อีก 3 ชนิด (ปลาตะพัด (Scleropages formosus), ปลาหมูอารีย์ (Yasuhikotakia sidthimunki) และ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis)) ซึ่งหากใครจะค้าขายหรือเพาะเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตก่อน

เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เมื่อเวลาล่าเหยื่อจะกางครีบทุกครีบ ก่อนจะฉก แม้จะมีราคาที่แพง เพราะหายาก ปลาที่มีขายในตลาดปลาสวยงามทุกวันนี้ นำเข้าจากประเทศกัมพูชาและเวียดยาม แม้ปัจจุบัน มีผู้เพาะพันธุ์ได้แล้วจากการผสมเทียม แต่ยังได้ผลไม่แน่นอนและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ก็ยังมีความพยายามอยู่จากทั้งภาครัฐ[1]และเอกชน
ปลาเสือตอลายใหญ่ พฤติกรรมในการกินอาหาร คือ มักจะกินเฉพาะอาหารที่มีชีวิตหรือเคลื่อนไหวได้เท่านั้น หากจะให้กินอาหารที่ตายต้องใช้ระยะเวลาในการฝึก น้อยรายมากที่จะฝึกให้กินอาหารเม็ดได้
มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "ลาด"

(หน้านี้แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554)

โดยบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (2540) ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ดังนั้นผู้ ที่ต้องการมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองจะต้องทำการขอุอนญาตเป็นหนังสือจาก อธิบดีกรมประมง ตามมาตรา19 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และจะต้องปฏิบัติตามกฎและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ผู้ใดมีปลาเสือ ตอไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด โทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ


หมายเหตุ

ปลาในข้อมูลข้างต้นนี้ บางชนิดไม่มีที่แม่น้ำบางปะกง บางชนิดไม่มีในลำน้ำบางปะกงเฉพาะช่วง บางกรูด (เพราะบางกรูด เป็นนิเวศ สองน้ำ )หลายชนิด จะพบเห็นที่แม่น้ำบางปะกงค่อนไปทางปราจีนบุรี นครนายก
และเคยมีรายงานว่าปลาหวีเกศสูญพันธ์ไปจากลำน้ำบางปะกงแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น