โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่
โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย
ที่บางกรูด
ธาราพรายรายร้อยพลอยพราวสี
คัคนางค์เลื่อมลายสายรวี
ตะวันลี้เลื่อนลับกับวันวาร
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย
พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
....
มีปลา 2 ชนิด ที่บางกรูด ที่มีฝั่งชายเลนเป็น บ้าน โดยขุดรูอยู่ คือปลาตีนและปลาเขือ
ปลาตีนถูกอ้างอิงถึงสั้น ๆ ในนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ ความว่า
เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลงฯ
ในลำคลองสองฟากล้วนจากปลูก ทะลายลูกดอกจากขึ้นฝากแฝง
ปลาตีน
ที่บางกรูด
ปลาตีนจะอยู่ชายฝั่งที่ติดกับชายฝั่งจริงๆ โดยขุดรูอบบริเวณต้นใบพาย เมื่อน้ำลง ปลาตีนก็จะออกมาจากรูอาศัย ไต่คลานปีนป่ายชายฝั่งเลน เพื่อออกมาหากิน และปลาตีนนี้เองที่อยู่ใกล้ชิดกับบรรดาปูหลายชนิด แม้จะเป็นญาติสนิทมิตรสหายกัน แต่บรรดาลูกปูก้ามดาบกลับเป็นอาหารอันโอชะของปลาตีน ว่ากันว่าปลาตีนนี่แหละที่คอยควบคุมประชากรปูก้ามดาบ
ส่วนปลาเขือ จะขุดรูอยู่ในเลนล่างลงมาจากชายฝั่ง และมีนิสัยวงจรชีวิตต่างจากปลาตีนคือเมื่อน้ำลง ปลาเขือจะลงหลบซ่อนตัวในรู ซึ่งเป็นโพรงโยงใยกันหลายๆรู อาจเป็นวิถีชีวิตเพื่อการหลบซ่อนตัวจากศัตรูทั้งหลายที่มุ่งหมายชีวิตของปลาเขือ เช่นมนุษย์อย่างพวกเรา ดังพลอยโพยมเคยเล่าวิธีการล้วงจับปลาเขือในรู ใน ชลวิถีที่บางกรูด 5 เมื่อ 24 พ .ย.2553
อนึ่งปลาตีน นี้ ที่บางกรูด เรียกชื่อว่าปลาเที้ยว ถือว่าเป็นคำท้องถิ่น และที่ออกสำเนียงจีน เพราะ ผู้คนย่านริมฝั่งน้ำบางกรูดทั้งสองฝั่งฟาก ล้วนมาจากคนจีนที่อพยพทางเรือมาอยู่อาศัยตั้งรกรากกันมาเนิ่นนาน แม้แต่เรือผีหลอก ที่บางตำบลในแปดริ้วเอง เรียก เรือ เช้าเป๊ะ เรือสำเป๊ะ แต่ก็มีชาวบางกรูดหลายบ้านที่เรียกเรือลำนี้ว่า เรือ เที้ยวเป๊ะ หรือว่า...คำว่าเที้ยวจะสื่อความหมายว่า ฝั่ง หรือ เลน ( ข้อสันนิษฐานนี้เดาเอานะคะ อย่าถือจริงจัง พลอยโพยมแค่คิดในใจออกมาเป็นตัวอักษรเท่านั้น) และ เวปไซด์นี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าขาน ไม่ใช่ เวปไซด์วิชาการ ท่านผู้อ่านโปรดทำใจนึกถึง คุณป้า คุณยายที่บ้าน ที่ชอบเล่าเรื่องราว สมัยท่านเหล่านั้นยังเป็นเด็กน้อย ประมาณนั้น
ปลาตีนของพลอยโพยม เมื่อวันวาน ห้าสิบปีมาแล้วมีดังนี้
ปลาเที้ยวใกล้ ใบพาย ป่ายเพ่นพ่าน
คำเรียกขาน นานแล้ว แว่วติดหู
คือกระจัง ทั้งว่า ปลาตีนดู
หัวมู่ทู่ ชูส่าย ฝั่งชายเลน
ปลาตีน
ปลาตีน (ภาษาอังกฤษ: Mudskipper)
คือ ปลาที่อยู่ในวงศ์ย่อย Oxudercinae ในวงศ์ใหญ่ Gobiidae (วงศ์ปลาบู่) มีทั้งหมด 9 สกุล ประมาณ 38 ชนิด
กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชายทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อนตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกาจนถึงเอเชียแปซิฟิก มีควมยาวลำตัวแตกต่างออกไปตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร ในชนิด Zappa confluentus จนถึงเกือบหนึ่งฟุต ในชนิด Periophthalmodon schlosseri
ปลาตีนขนาดเล็กเรียกว่าปลาจุมพรวด มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร
ส่วนปลาตีนขนาดใหญ่ เรียกว่าปลากระจัง มีความยาวเฉลี่ย 25 เซนติเมตร
ปลาตีนเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย
ลักษณะพิเศษและพฤติกรรม
ปลาตีนมี หัวขนาดโต ข้างลำตัวแบนเล็กน้อย มีเกล็ดปกคลุมทั่วลำตัว โดยทั่วไปออกสีเทามีแถบสีน้ำตาลพาด บริเวณหัวและตามตัวมีจุดวาว ๆ สีเขียวมรกต ปลายครีบหลังสีขาวเหลือบสะท้อนแสง ทำให้แลเห็นเป็นทั้งสีน้ำตาล สีน้ำเงิน และวาวเหมือนมุก ปลาตีนมีฟันเขี้ยวซี่เล็ก ๆ ขบซ้อนเหลื่อมกันทั้งริมขากรรไกรบนและล่าง ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้น เหมาะกับการกินอาหารในขณะคืบคลานไปพร้อมกัน
ปลาตีนมีตาหนึ่งคู่ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของหัวโปนออกมาเห็นได้ชัด และอยู่ค่อนข้างชิดกัน สามารถกลอกไปมาและมองเห็นได้ดีทั้งบนบกและในน้ำ ใช้ตรวจสภาพรอบ ๆ ระวังภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีหนังตาล่างหนาใช้ป้องกันดวงตาจากเศษโคลนทรายได้
สามารถเคลื่อนที่บนบกได้ โดยใช้ครีบคู่หน้าหรือครีบอกจึงมีลักษณะแข็งแรง สามารถคืบไป บนผิวเลนได้ดี และครีบอกนี้สามารถใช้เกาะกับต้นโกงกางหรือแสมได้ เมื่อตอนน้ำขึ้นปลาตีนสามารถกระโดดบนผิวน้ำหรือบนผิวเลนได้โดยการบิดงอโคนหางแล้วดีดออกเหมือนสปริงทำให้เคลื่อนไหวไปข้างหน้าโดยการไถลบนผิวเลน ด้วยเหตุนี้เองจึงมีชื่อว่าปลาจุมพรวด บริเวณกระพุ้งแก้มที่ปิดเหงือกจะโป่ง พองออกสามารถอุ้มน้ำได้ดี เหมาะแก่การหายใจขณะอาศัยอยู่บนผิวเลนและ
ทำให้ใช้ชีวิตอยู่บนบก ได้เป็นเวลานานเนื่องเพราะสามารถเก็บความชุ่มชื้นได้
ปลาตีนยังสามารถกระโดดได้ด้วย
ปลาตีน
ปลาตีนชอบขุดรูอยู่ตามบริเวณป่าชายเลนและปากแม่น้ำ ใช้รูเป็นที่หลบซ่อนตัว ปลาตีนจึงมีวิถีชีวิตที่อยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลงจึงมีการปรับตัวให้อาศัยอยู่ได้ทั้งเวลาน้ำขึ้นและน้ำลง แต่โดยลักษณะ นิสัยเป็นปลาที่ชอบอาศัยและหากินในเวลาน้ำลงมากกว่าและชอบอาศัยบริเวณผิวโคลนเลนใกล้ป่าชายเลน ปลาตีนมีการปรับตัวจนมีลักษณะเด่นชัดและแตกต่างจากปลาอื่นคือชอบอาศัยบนผิวเลนมากกว่าในน้ำ
อาหารและอุปนิสัยอาหารที่ปลาตีนกินจะเป็นพวกสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปู ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ขนาดเล็ก รวมทั้ง สาหร่าย แบคทีเรียและซากสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนผิวเลน โดยจะคืบคลานหากินอินทรีย์วัตถุและสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ บนผิวดิน โดยจะคอยระวังภัยเสมอ ปลาตีนออกหากินในช่วงน้ำลด
โดยผิวเผินปลาตีนเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา
ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัวไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของการสืบพันธุ์ โดยจะมีการสร้างหลุมซึ่งปลาตีนจะใช้ปากขุดโคลนมากอง บนปากหลุม เรียกว่า หลุมปลาตีน และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนตัวอื่นรุกล้ำ โดยจะแสดงการกางครีบหลังขู่ และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที ปลาตีนตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ในหลุมที่ตัวผู้ขุดไว้
ภาพข้างต้นฝีมือเอ็ดดี้ ลูกชายค่ะ
ปลาตีน
ภาพ: นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทองhttp://www.tropicalforest.or.th/
แหล่งที่อยู่ในประเทศไทย
อาศัยในป่าชายเลนในประเทศไทยมีกระจายเป็นตอน ๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชลบุรี, จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล นอกจากนี้ถิ่นการกระจายของปลาตีนยังอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล ชายฝั่งทะเลอันดามัน คาบสมุทรมลายู และเกาะบอร์เนียว ชาวบ้านนิยมจับมาทำเป็นอาหาร
สำหรับปลาตีนชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ได้แก่ Periophthalmus barbarus, Periophthalmodon schlosseri และ Boleophthalmus boddarti โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันออกไป เช่น จุมพรวด, ตุมพรวด, กำพุด, กระจัง หรือ ไอ้จัง เป็นต้น
ปลาตีนมักถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอยู่เสมอ ๆ โดยมักหลอกขายว่าเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาจากต่างประเทศ โดยผู้ค้ามักตั้งชื่อให้แปลกออกไป เช่น คุณเท้า, เกราะเพชร หรือ โฟร์อายส์ เป็นต้น
ที่มาข้อมูลจาก: หนังสือบันทึกสิ่งแวดล้อมป่าเขตร้อน
กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
วิกิพีเดีย
http://guru.google.co.th
ปลาเขือที่บางกรูด ลักษณะรูปร่างหน้าตาพันธุ์นี้
ภาพจากอินเทอร์เนต
ปลาเขือ
ปลาบู่เขือคางยื่น (อังกฤษ: Bearded worm goby) ปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่งที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำกร่อยได้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenioides cirratus ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) มีรูปร่างยาวคล้ายงู หัวเหมือนปลาบู่ทั่วไป แต่หน้าหัก คางยื่นออกมาเล็กน้อย ปากกว้าง มีฟันเป็นซี่แหลมขนาดเล็กในปาก ใต้ปากล่างมีติ่งเนื้อยื่นออกมาโดยรอบ ตามีขนาดเล็กมาก ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหลัง ครีบก้นไม่ต่อเนื่องกับครีบก้น ลำตัวลื่นมาก มีเกล็ดขนาดเล็กละเอียด พื้นสีลำตัวเป็นสีชมพูหรือเหลืองเหลือบทองในบางตัว[1] ยาวเต็มที่ประมาณ 30 นิ้ว
อาศัยอยู่ในป่าชายเลนหรือป่าจากปากแม่น้ำ โดยขุดรูอยู่ในดินโคลน ออกหากินในเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ในที่ ๆ ไม่ต้องใช้แสงสว่าง ตาจึงปรับสภาพให้มีขนาดเล็ก กินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่ สัตว์น้ำขนาดเล็กรวมถึงซากพืช ซากสัตว์
พบกระจายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลแอฟริกาตะวันออก, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จรดโอเชียเนียและเอเชียตะวันออก
ไม่จัดเป็นปลาเศรษฐกิจ แต่สามารถนำมาบริโภคได้ โดยไม่มีพิษหรืออันตรายใด ๆ
ด้วยรูปร่างประหลาดแลดูคล้ายงูหรือมังกรนี้ จึงมักถูกจับมาขายในตลาดปลาสวยงามบ่อย ๆ โดยมีชื่อเรียกเฉพาะว่า "มังกรแยงซีเกียง" หรือ "มังกรเงิน มังกรทอง" หรือ "ดราก้อนบอล" หรือสุดแต่ผู้ขายจะตั้งชื่อ ซึ่งผู้ขายมักจะบอกว่า เป็นปลาหายากจากแดนไกล สามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้ แต่การนำมาเลี้ยงจริง ๆ มักไม่รอดเพราะปลาไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะในสถานที่เลี้ยงได้
มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "เขือ", "เขือหน้าผี", "เขือยักษ์" หรือ "เขือลื่น" เป็นต้น
จากวิกิพีเดีย
ปลาเขือ มีความหลังฝังใจของพลอยโพยมดังนี้
ชายฝั่งเลน ลาดรู้ ดูพิเศษ
เอกเทศ สังเกต ของเขตอยู่
พื้นชายเลน เด่นนัก จักมีรู
เด็กโจมจู่ คู้หา ปลาเขือกัน
รูข้างใต้ ใยโยง เชื่อมโพรงถึง
จากรูหนึ่ง จึงสู่ อีกรูนั่น
สองมือไล่ ล้วงรู อยู่ติดพัน
จับให้ทัน ไถหาย รูหลายจริง
ตัวละม้าย คล้ายคลึง ซึ่งปลาเที้ยว
เล็กนิดเดียว เกี่ยวเหงือก ห้อยเชือกนิ่ง
น้ำลงรุด มุดรู อยู่พักพิง
ริมตลิ่ง เริ่มลด จดน้ำมา
ต้มย่างปิ้ง ยิ่งช่าง อย่างอร่อย
สมกับคอย พลอยยุ่ง มุ่งมั่นหา
หายเหน็ดเหนื่อย เมื่อยตัว ทั่วกายา
แขนซ้ายขวา ล้าไหล่ ลองไล่รู
วันวานของบางกรูดของพลอยโพยม
ปลาเขือชนิดหนึ่ง
ภาพจากhttp://www.google.co.th/imglanding?imgurl=http://www.siamensis.org/exsiam/FishesPics
ทั้งนี้มีบทคัดย่อโครงการวิจัยและวิทยานิพนธ์ 2545: การประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 6
เรื่อง
ความหลากชนิดของปลากลุ่มปลาบู่ (suborder gobioidei) ในพื้นที่ป่าชายเลนและปากแม่น้ำ (ระยะที่ 1): อ่าวไทยตอนบน ของคุณ ศิรประภา เปรมเจริญ
พบว่า
ความหลากชนิดปลาบู่ในป่าชายเลนของอ่าวไทยตอนบน ได้มีการสำรวจรวบรวมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545-กรกฎาคม 2545 พบแล้วอย่างน้อย 80 ชนิด จากการเก็บตัวอย่างได้ 58 ชนิด และจากการรายงาน 22 ชนิด จาก 2 วงศ์ วงศ์ปลาบู่ทราย (Eleotridae) 2 วงศ์ย่อย ได้แก่ วงศ์ย่อยปลาบู่เกล็ดแข็ง (Butinae) 8 ชนิด และวงศ์ย่อยปลาบู่ทราย (Eleotrinae) 4 ชนิด และวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) พบ 4 วงศ์ย่อย คือปลาบู่ (Gobiinae) 26 ชนิด วงศ์ย่อย ปลาบู่รำไพ (Gobionellinae) 30 ชนิด วงศ์ย่อย ปลาตีน (Oxudercinae) 8 ชนิด และวงศ์ย่อยปลาเขือ (Amblyopinae) 8 ชนิด
ลักษณะที่ใช้ในการจำแนกระดับสกุลคือ ลักษณะของส่วนหัว รูปร่างของลำตัว รูปแบบเส้นข้างลำตัวและรูบนหัว ส่วนมากไม่มีปัญหา ยกเว้น 3 ชนิดของวงศ์ย่อยปลาบู่และปลาบู่รำไพที่ยังจำแนกสกุลไม่ได้ ลักษณะของชนิดนั้นคือ รายละเอียด, จำนวนของแถว, ติ่งและรูบนส่วนหัว รูปแบบของสี จำนวนนับของแถวเกล็ดและก้านครีบ
การวิจัยในครั้งนี้ยังได้พบปลาบู่ชนิดที่เล็กที่สุดในอ่าวไทยคือ ชนิด PandaKa lidweli จากเกาะช้าง จ.ตราาดและคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี และมี 3 ชนิดที่เคยมีรายงานว่าพบบ่อย แต่การสำรวจครั้งนี้ไม่พบอีก คือ ปลาบู่รำไพ (Mugilogobius rambaiae) ปลาบู่ตาล็ก (Eugnathogobius microps) และปลาเขือ (Caragobiopsis geomys) พื้นที่ที่พบความหลากชนิดของปลาบู่สูง คือ ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำจันทบุรี และปากแม่น้ำเพชรบุรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น