วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

...รอนรอนสุริยโอ้ อัสดง...




...รอนรอนสุริยโอ้ อัสดง...

ภาพทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นภาพที่ถ่ายโดย บุคคลที่ถ่ายภาพอ่อนหัดยิ่งกว่าพลอยโพยม เป็นภาพจากชาวมีนกรที่คร่ำเคร่งกับงานข้างหน้า ทุกภาพเกิดในระหว่างการปฏิบัติงาน เป็นประจักษ์พยานว่า แม้สนธยาเวลาค่ำมาเยือน หากงานไม่เสร็จลุล่วงดังตั้งใจ ก็ไม่เลิกร้างรากลางคัน บางภาพในนาเกลือ บางภาพที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะภาพสุดท้าย ในทะเล บริเวณที่เรียกว่า ขนำ ( ขะหนำ เป็นคำท้องถิ่นปักษ์ใต้ แปลว่ากระท่อม)

เป็นภาพที่ถ่ายเพื่อเก็บรายละเอียดการปฏิบัติงาน แต่ด้วยความที่ผู้ถ่ายนึกได้ว่า มีคนที่บ้านกำลังคร่ำเคร่ง กับภาพพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก กล้องก็เลยจับภาพดวงอาทิตย์ ไว้บ้าง เป็นผลพลอยได้ แต่คนที่บ้านก็รู้สึกซาบซึ้งเสียเหลือเกินแล้ว ภาพก็ไม่ได้สวยงามน่าตรึงตาเวลาชม แต่ ภาพเหล่านี้ตรึงใจ ในเหตุที่มาของภาพมาก มาก

อย่างน้อยพลอยโพยมอยากสื่อว่า ยังมีคนที่รักงานทุ่มเทตัวเองให้กับงานที่รับผิดชอบขนาดนี้...อันที่จริงมีภาพพระอาทิตย์ขึ้นอีก แต่ไม่งามเลยจริงๆ แต่ที่มีนัยสำคัญของภาพ ก็คือ ภาพแต่ละภาพเหล่านั้น สื่อว่า ภาพที่ถ่ายไว้ ห่างไกลกับที่พักคนถ่าย เป็นระยะทาง ร้อย ร้อยกิโลเมตร ผู้ถ่ายออกไปปฎิบัติงานตั้งแต่ ตีห้า (หมายถึงออกไปทำงานที่รับผิดชอบนั้นๆ ไปทันถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น ที่จุดหมายปลายทาง ประมาณนั้น นั่นเอง )ได้ภาพเหล่านี้ ปะปนอยู่ ใน file งาน มาน่ะค่ะ ก็แอบชื่นชมความตั้งใจความรักงานกับมีนกรผู้นี้...แม้ทุกวันนี้ จะเป็นการทำงานที่เจ้าตัวไม่รับเงินเดือนตามความรับผิดชอบ วิถีชีวิต ก็เหมือนเดิมทุกประการ






...เรื่อยเรื่อยมารอนรอน ทิพากรจะตกต่ำ
สนธยาจะใกล้ค่ำ คำนึงหน้าเจ้าตาตรู...




รอนรอนสุริยโอ้ อัสดง ตรงนาเกลือ




สุริยาลาลับกับนาเกลือ




เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง





นกบินฉียงไปทั้งหมู่





ตะวันคล้อย ลอยเคลื่อน เย็นเยือนแล้ว
ฟ้าเพริศแพรว แววแสง ลดแรงกล้า

คนถ่ายภาพ ทำได้เพียงยกกล้อง เล็งไปที่ดวงตะวัน แล้วกดชัตเตอร์ จริงๆ




ขนำในทะเล : ก่อนมาถึงภาพนี้มีภาพคนกลุ่มใหญ่กำลังผูกกระฃังกันวุ่นวายรวมทั้งเจ้าของภาพ





วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

นิวซีแลนด์ (New Zealand) 'ดินแดนเมฆยาวสีขาว'






นิวซีแลนด์ (New Zealand) 'ดินแดนเมฆยาวสีขาว'
ข้อมูล : วิกิพีเดีย


นิวซีแลนด์ (อังกฤษ: New Zealand; มาวรี: Aotearoa) หมายถึง "ดินแดนแห่งเมฆยาวสีขาว" หรือ "Niu Tirenio" ซึ่งเป็นการทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ) เป็นประเทศที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ นิวซีแลนด์ประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่สำคัญ คือ เกาะเหนือ และเกาะใต้ โดยทั้งสองเกาะสำคัญนี้ถูกขั้นด้วยช่องแคบ Cook โดยพื่นที่รวมทั้งประเทศประมาณ 270,500 ตารางกิโลเมตรมีเมืองหลวงชื่อว่า เวลลิงตัน (Wellington)


ไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch)เมืองแห่งโบราณสถานและสถาปัตยกรรมแห่งเกาะใต้ (South Island)

เมืองไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch) เป็นเมืองเก่าแก่และใหญ่ที่สุดทางเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ เป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษอย่างแท้จริง เมืองที่ขึ้นชื่อว่าคล้ายอังกฤษมากที่สุดในโลก ไคร้สท์เชิร์ชในเกาะใต้สัมผัสความงดงามของ สถาปัตยกรรมสมัยวิคตอเรียที่จัตุรัสกลางเมือง ก่อนเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเมาท์คุก เมืองไคร้สท์เชิร์ช เมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศนิวซีแลนด์ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองอังกฤษนอก เกาะอังกฤษ” สถานที่น่าเที่ยวชม คือ สวนสาธารณะแฮกลีย์ ศาลาว่าการประจำเมือง ความงามของแม่น้ำ เอวอน สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แคนเทอร์เบอร์รี่ แล้วขึ้นยอดเขาแคชเมียร์ ยอดเขาสูงที่สามารถ มองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของเมืองไคร้สท์เชิร์ช และจะได้ชมความงามของเมือง ทั้งหมดจากยอดเขานี้

เมือง Christchurch เป็นเมืองหลวงของเขตแคนเทอร์บิวรี่มาตั้งแต่ปี 1850 และนอกจากจะเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาะใต้แล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ความมหัศจรรย์ ทางธรรมชาติของเกาะใต้อีกด้วย เนื่องจากเมืองนี้เป็นจุดศูนย์กลางการค้าและการบินของเกาะใต้ ที่จะมีสายการบินต่างๆ มากมายทั้งจากเกาะเหนือและต่างประเทศมุ่งหน้ามา เพื่อเริ่มต้นการผจญ ภัยไปยังดินแดนที่มีธรรมชาติสวยงามน่าพิศวงไคร์สเชิร์ช (Christchurch) เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของนิวซีแลนด์ รองจากโอ๊คแลนด์และเวลลิงตัน เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเกาะใต้และ เป็นเมืองเดียวในเกาะใต้ที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ โดยสนามบินอยู่ห่างจากตัวเมืองเล็กน้อย ใช้เวลา เดินทางประมาณ 25 นาที

ภาพถ่ายที่ท่านผู้อ่านได้รับชมอยู่นี้ 'พลอยโพยม' ไม่ขอบรรยายใต้ภาพใดๆเลยนะคะ เพราะเป็นภาพถ่ายฝีมือ 'คุณใบเตย' ลูกสาวค่ะ 'พลอยโพยม' เป็นชื่อที่ตั้งใจ เป็นชื่อจริงของใบเตย แต่เกรงว่า โตขึ้นมาแล้ว เขาจะไม่ชอบใจ ครั้นใบใตย โตขึ้นมาจริง เล่าให้ฟัง เขาร้องกร๊ด เลยค่ะ ว่า แม่คิดได้อย่างไร จะให้เขาชื่อนี้ (เป็นอันว่าแม่รอดตัวไป เขากรี๊ดแค่ ตกใจ เท่านั้นเอง)แม่ของใบเตย ชอบชื่อ นี้มาก ตั้งใจตั้งแต่ พี่สาวลูกคุณป้า ให้ชื่อนี้มา ว่าจะต้องหาทาง ใช้ชื่อ พลอยโพยมให้ได้ สักกรณีหนึ่ง พลอยโพยม ต้องแปล ไทย อีกรอบค่ะ หมายถึง พลอยบนท้องฟ้า แปลแล้วได้ความว่า ดวงดาวค่ะ

ภาพชุดนี้อาจจะไม่สวยงามและไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้พบเห็นสักเท่าใดนัก ...หากแต่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไคร้สท์เชิร์ช ได้เป็นอย่างดีทีเดียว...





























วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

...พระวิปัสสนาจารย์...



งานฝีมือของนักเรียนอาชีวศึกษา ฉะเชิงเทรา


...พระวิปัสสนาจารย์...

สาเหตุที่พลอยโพยมเข้าปฏิบัติธรรมติดกันมากขนาดนี้ เพราะช่วงจังหวะเวลาการสอนของพระวิปัสสนาจารย์นั่นเอง บางคอร์ส มีเพียงครั้งเดียวในรอบปี บางคอร์สมีแค่ 2 ครั้งคือต้นปีปลายปี โดยเฉพาะคอร์สที่มีพระวิปัสสนาจารย์ ต่างวัด มาร่วมกันเป็นพระวิปัสสนาจารย์พร้อมๆกัน ทีมเดียวกัน เป็นของหายากอย่างยิ่งนั่นเอง ได้เข้าปฏิบัติแล้ว ก็ดื่มดำในคำสอนของพระพุทธองค์ อยากปฏิบัติบูชา ต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นไปตามธัมมานุสสติที่ว่า

สันทิฏฐิโก , เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก , เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล และ
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิตี , เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน





ซ้ายไปขวา พระอาจารย์สว่าง พระอาจารย์หลวงพ่อประจาก พระอาจารย์มหาทองมั่น


โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พระวิปัสสนาจารย์ ที่รอบรู้ รู้จริง และมีเมตตาต่อเหล่าศิษย์ อย่างมิมีที่เปรียบ 'พลอยโพยม' ก็กตัญญู เลยต้องประกาศเกียรติคุณของท่านพระอาจารย์ ให้เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชน ขอคัดลอกประวัติพระอาจารย์มาดังนี้

ประวัติโดยย่อ : พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ
ชื่อ – ฉายา พระประจาก ฉายา สิริวณฺโณ
อายุ ๖๕ ปี
พรรษา ๔๔
วัน เดือน ปี เกิด ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ที่บ้านพันหลังต. สำราญราษฏร์ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่

บรรพชา บรรพชาเมื่ออายุ ๑๒ ปี วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๑ ณ วัดพันหลังจ. เชียงใหม่
อุปสมบท อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๐ ณ พัทธสีมา วัดปรินายกแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
การศึกษา ศึกษาปริยัติธรรมที่ประเทศสหภาพเมียนมาร์หลายสำนัก อันมีสำนักเรียนวัดมหาวิสุตาราม เป็นต้น เป็นเวลา ๑๔ ปี ๖ เดือน

การปฏิบัติธรรม ครั้งแรกได้เข้าปฏิบัติธรรมที่สำนักวัดเมืองบาง ต. หายยา อ. เมืองจ. เชียงใหม่ ล่าสุดได้ไปปฏิบัติธรรมที่สำนักเช็กขุ่นหยั่ว ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของหลวงพ่อมหาสีสยาดอ

งานเผยแผ่ เป็นวิปัสสนาจารย์ในหลักสูตรพิเศษของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันราชภัฏ

ปัจจุบัน สังกัดอยู่ ณ วัดปรินายก คณะ ๒ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200





ดอกสาละลังกา
ซึ่งพบว่ามีบุคคลเขียนลงเวปไซด์ว่าไม่ใช่ต้นและดอกสาละ แต่เราส่วนมากยอมรับว่านี่คือดอกสาละ


ประวัติโดยย่อ : พระสว่าง ติกฺขวีโร
ชื่อ - ฉายา พระสว่าง ติกฺขวีโร
วัน เดือน ปี เกิด วันเสาร์แรกเดือนมกราคม ๒๕๐๐
อายุ ๕๔ ปี
พรรษา ๓๔

อุปสมบท วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ณ.วัดสิทธาราม ต.บ้านปรางค์ อ.คงจ.นครราชสีมา โดยมีพระครูสิทธิ บริหารเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการจำลอง และพระสุรินทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษา จบนักธรรมชั้น ตรี โท เอก อภิธรรมมิกตรี โท เอก และอภิธรรมมัชฌิมตรีตามลำดับ
ศึกษาบาลีไวยากรณ์ ณ วัดท่ามะโอ จ.ลำปาง เป็นเวลา ๕ ปีเศษ

ศึกษาต่อที่ประเทศพม่าเป็นเวลา ๙ ปีเศษ โดยได้ศึกษาที่วัดปัญจนิกายเป็นเวลา ๕ ปีเศษ และศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์กบาเอ จังหวัดย่างกุ้ง อีก๔ ปีเศษ ขณะที่ศึกษาที่ประเทศพม่านั้นได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทุกครั้งที่ปิดภาคเรียนในแต่ละปี ท่านได้สำเร็จวิชาครูด้านวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักมหาสีและเป็นล่ามแปลให้สถานปฏิบัติธรรมที่สำนักมหาสีสาสนยิตตา ท่านได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘

การปฏิบัติงาน
๑. งานสอน
- สอนวิปัสสนากรรมฐาน ประจำโบสถ์วัดมหาธาตุในวันอาทิตย์วันอุโบสถและที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร
- สอนวิปัสสนากรรมฐานพิเศษแก่นิสิตของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อนรับปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต
- สอนวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตรพิเศษและโครงการแสงธรรมวันอาทิตย์ ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- สอนกรรมฐานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และที่อื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง
- เป็นวิทยากรบรรยายธรรม/ตอบปัญหาธรรมทางสถานีวิทยุและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง

๒. งานเผยแพร่ศาสนธรรม ณ.ต่างประเทศ
- เป็นพระธรรมฑูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๕ ปฏิบัติศาสนกิจที่อเมริกาและพม่าทุกปี

๓. งานวิชาการอื่นๆ
- เป็นกรรมการวิทยานิพนธ์นักศึกษาปริญญาเอก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยและนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เป็นผู้ทรงคุณวุฒิการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
- เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบหนังสือแปลด้านการปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้เขียนและผู้แปลด้านการปฏิบัติธรรมหลายท่านและหลายเรื่อง

ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ที่ คณะ ๓ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ท่าพระจันทร์กรุงเทพมหานคร



ดอกบัวประดิษฐ์ด้วยผ้าฝีมือของ 'พลอยโพยม'


ประวัติย่อ : พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต
ชื่อ – ฉายา พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต (นามสกุล แสนไชย)
อายุ ๕๕ ปี
พรรษา ๓๔
วัน/เดือน/เกิด วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ณ บ้านเลขที่ ๓๖หมู่ที่๔ ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

บรรพชา เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ณ วัดบ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ณ วัดกระจับพินิจ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

การศึกษา - เปรียญ ๕ ประโยค นักธรรมเอก ประสบการณ์วิชาชีพครู
- ศึกษาและปฏิบัติธรรมรวมเวลา ๕ ปีเศษ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๕๓๖–๒๕๓๗ ศึกษาและปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม จ.ชลบุรี เป็นเวลา ๒ ปี กับหลวงพ่ออาสภะมหาเถระ และพระอาจารย์ชาลี จารุวณฺโณ
- พ.ศ. ๒๕๓๘–๒๕๓๙ ศึกษาและปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนามหาสีสยาดอ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เป็นเวลา ๑ ปี
- พ.ศ. ๒๕๓๙–๒๕๔๑ ศึกษาและปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนาเชมเย เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่ากับพระปรมาจารย์ อู ชะนะกาภิวังสะ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือน

การปฏิบัติงาน
๑. งานการบริหาร
พ.ศ. ๒๕๔๒–๒๕๔๕ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าสำนัก วิปัสสนาวิเวกอาศรมรวมถึงเป็นอาจารย์สอนการปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน แก่พระสงฆ์และฆราวาสที่เข้าปฏิบัติ โดยตลอด
๒. งานการสอน
พ.ศ. ๒๕๔๖-ปัจจุบัน เป็นพระวิปัสสนาจารย์ประจำศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคม แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และสถานที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง
๓. งานด้านวิชาการ
- แต่งหนังสือแนะนำการปฏิบัติธรรมและหนังสือธรรมต่างๆ ที่เป็นคติเตือนใจ

- จัดพิมพ์หนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม คือ
๑. คู่มือการเจริญสติปัฏฐาน ๔
๒.ธรรมบรรยายภาคปฏิบัติ
๓.ธรรมบรรยายหลายรส
๔. วิธีตอบแทนพระคุณพ่อแม่

ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ที่ วัดภัททันตะอาสภาราม
๑๑๘/๑ หมู่ ๑ บ้านหนองปรือ ต.หนองไผ่แก้ว
อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ๒๐๒๒๐

Webiste : www.Sati99.com




ทั้งนี้ พระอาจารย์พระครูปลัดประจากมีศูนย์ปฎิบัติธรรม ตาณัง เลนัง เฉลิมราช ๖๐ ปี อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ,
พระอาจารย์พระสว่าง มีศูนย์ปฏิบัติธรรม ติกขวราราม บ้านคลองสะท้อน ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

ศิษย์ขอนอบน้อมกราบขอบพระคุณในเมตตาของพระอาจารย์ ทั้งสามรูป โดยขอก้มกราบลง ณ เบื้องนี้



วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

..ปฎิบัติบูชา...วิถีธรรมของชาวพุทธ...





ผลงานนักเรียนอาชีวะศึกษา ฉะเชิงเทรา


อัทธุวัง เม ชีวิตัง,ธุวัง เม มะระณัง,อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง, มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง ,ชีวิตะ เมวะ อะนิยะตัง,มะระณัง นิยะตัง.

ชีวิตของเราเป็นของไม่ยั่งยืน, ความตายเป็นของยั่งยืน , เราจะต้องตายแน่ ,เพราะว่าชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด,ชีวิตเป็นของไม่แน่นอนแท้, เป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐ, ที่เราได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน,ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา


อะหัง สุขิโต โหมิ . นิททุกโข โหมิ, อะเวโร โหมิ ,อัพพะยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ ,สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข , ปราศจากความทุกข์, ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน, ไม่มีความลำบาก, ไม่มีความเดือดร้อน, ขอให้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด


สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ, นิททุกขา โหนตุ,อะเวรา โหนตุ, อัพพะยาปัชฌา โหนตุ, อะนีฆา โหนตุ ,สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

ขอให้สัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน จงเป็นผู้มีความสุข,ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย , ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน, ไม่มีความลำบากไม่มีความความเดือดร้อน,ขอให้มีความสุข,รักษาตนอยู่เถิด

(ส่วนหนึ่งของคำสมาทานกรรมฐาน)




ดอกสาละ

ธรรมบรรยาย
โดย...ท่านอาจารย์ พระสว่าง ติกฺขวีโร
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ คณะ ๓
ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

สิ่งไหนที่เราคิดว่าดีแล้ว ท่านว่าให้รีบทำเลย โอกาสที่เราจะได้สร้างกุศลนั้นยากมาก เพราะฉะนั้น เมื่อคิดว่าจะทำ พึงทำทันที ถ้าไม่ทำอกุศลมันจะได้ช่อง พออกุศลได้ช่องแล้วโอกาสที่จะทำกุศลตรงนั้นก็น้อยลงไปหรือไม่มีโอกาสเหลือเลย ท่านจึงบอกว่า หากคิดจะทำเมื่อใดอย่าเปิดโอกาสให้อกุศลเข้า พึงลงมือทำทันที ในชีวิตหนึ่งโอกาสที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นพุทธบูชา อาจาริยบูชา มาตาปิตุบูชา นั้นหาได้ยาก สมมติว่านานออกไปเมื่อเราไม่มีโอกาสได้ทำอีก ช่วงที่เราไม่มีโอกาสจะทำอีกแล้วนั้น พอเราระลึกถึงกุศลในส่วนนี้ก็จะเกิดความสบายใจว่า ครั้งหนึ่งเราเคยทำสิ่งนี้ลงไปด้วยความยากลำบากมาก จะรู้สึกภูมิใจว่าได้เคยกระทำสิ่งนี้ แต่ถ้ากลับกัน บางครั้งเราเผลอทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล เช่น เผลอโกรธ แล้วไปด่าว่าหรือทำร้ายบุคคลที่มีบุญคุณต่อเรา ทุกครั้งที่เราย้อนนึกถึงขึ้นมาเราย่อมเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น จึงเปิดโอกาสให้โยมทั้งหลายได้ทำกุศลให้เต็มที่ในวันนี้ ในสมัยก่อนก็ได้เคยมีตัวอย่างที่ทำอย่างนี้มาและได้ผลมาแล้ว

ครั้งพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า“ปลงอายุสังขาร”กำหนดวันที่จะปรินิพพานนั้น มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ พระอานนท์ได้ทูลถามถึงสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเหตุอันก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งพุทธกาลไว้ว่า มีแผ่นดินไหวใหญ่ทั้งสิ้น ๖ ครั้ง คือ สมัยที่พระโพธิสัตว์ลงจากดุสิตสู่ครรภ์พระมารดา๑ สมัยที่พระโพธิสัตว์ประสูติ๑ สมัยที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้๑ สมัยที่แสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑ สมัยที่พระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร๑ และ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน๑ ) และเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จปรินิพพาน ผู้คนต่างมาเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมดอกไม้บูชามากมาย เทวดาทั้งหลายก็โปรยดอกไม้ทิพย์ที่เรียกว่า ”ดอกมณฑารพ”ลงมาบูชาพระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนาถึงการบูชาไว้สองประการด้วยกัน คือ “อามิสบูชา”(บูชาด้วยดอกไม้ของหอมต่างๆ) และ“ปฏิปฏิบูชา”(บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ)

การบูชาอันเป็นเลิศที่สุดได้แก่ปฏิปฏิบูชา ก่อนจะเสด็จปรินิพพานพระอานนท์ได้ทูลถามว่า ผู้ใดจะเป็นตัวแทนของพระองค์หลังจากพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนอานนท์...พระธรรมกับพระวินัยที่เราแสดงไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว จะเป็นตัวแทนของเราตถาคต หลังจากที่ตถาคตปรินิพพานแล้ว” เพราะฉะนั้นที่เรามาประพฤติปฏิบัติตรงนี้ก็ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้า พระวินัยตั้งอยู่ พระธรรมตั้งอยู่ ศาสนาจึงตั้งอยู่ได้ พระธรรมวินัยจะตั้งอยู่ได้ก็เพราะเราประพฤติปฏิบัติกัน ณ วันนี้ อาจารย์จึงได้ชักชวนให้โยมทั้งหลายทำปฏิปฏิบูชา





ต้นสาละ :

คัมภีร์อังคุตตรนิกายกล่าวถึงเหตุที่จะทำให้พระศาสนาหมดไปหรือสิ้นไปไว้ ๕ ประการ คือ “ภิกษุทั้งหลายไม่สนใจในการฟังธรรม๑ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน๑ ไม่สนใจในการท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจ๑ ไม่สนใจศึกษาจนขึ้นใจ จดจำไว้จนขึ้นใจ๑ ปฏิบัติผิด๑” ทั้งห้าประการนี้เป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมหรือหมดไป “ภิกษุ”ในที่นี้แปลว่า”ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” ผู้ปฏิบัติที่มาประพฤติปฏิบัตินี้เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้น ตราบเท่าที่ยังสนใจในการศึกษา สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ก็ได้ชื่อว่าช่วยยืดอายุของพุทธศาสนาด้วย พระศาสนาจะหมดไปก็เพราะเราไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น แม้ว่าเบื้องแรกผู้ได้ประโยชน์เต็มๆจากการปฏิบัติคือตัวเราเองก็ตาม แต่เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยยืดอายุพระศาสนาโดยอ้อมด้วย

ในครั้งพุทธกาล ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุทั้งหลายจะแยกย้ายไปหาสถานที่ที่สงบสงัดประพฤติปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมณธรรม และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าเมื่อออกพรรษาแล้วจะต้องมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังนั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงยังมีพระภิกษุมากมายที่จำพรรษาอยู่ไกลๆได้ออกเดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์โดยยังไม่ได้ข่าวการปรินิพพานที่กุสินารา เมื่อเดินทางสวนกันกับภิกษุจากกุสินาราจึงถามข่าวคราวกัน ครั้นทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ปุถุชนก็พากันร้องไห้ พระโสดาบันก็ร้องไห้ ส่วนพระเถระที่เป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี ต่างก็เกิด“ธรรมสังเวช” เกิดความสลดใจ

ระหว่างที่พระมหากัสสปะกำลังเดินทางมาถวายพระเพลิงพระศาสดานั้น ท่านได้พบเห็นว่า มีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นปุถุชนผู้บวชตอนแก่ เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายร้องไห้ก็มีเจตนาดี เข้าไปปลอบว่า “ท่านจะร้องห่มร้องไห้เสียใจไปใย เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราอยากจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ จะทำตรงนี้ก็ผิด ตรงนั้นก็ไม่ถูก ทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น สิกขาบทนี้ เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว น่าจะเป็นการดีแล้ว เราอยากจะทำอะไร ก็จะได้ทำตามอำเภอใจ” พระมหากัสสปะผู้เป็นบัณฑิตได้ยินดังนั้น ท่านคิดในใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานยังไม่นานก็มีคนทำให้พระศาสนามัวหมองเสียแล้ว แต่ท่านก็ยับยั้งมิได้ว่ากล่าวตรงนั้นเลย ท่านกลับรอจนพร้อมหมู่สงฆ์ ท่านจึงแจ้งให้สงฆ์ทั้งหลายได้ทราบ แล้วเสนอให้ทำสังคายนาขึ้น การคัดเลือกภิกษุเพื่อประชุมสังคายนานั้น ได้คัดเลือกเฉพาะแต่พระอรหันต์ที่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น (“เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หมายถึงภิกษุที่บวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ ทุกท่านได้ญาณอภิญญาทั้งหมด) คัดเลือกได้ทั้งสิ้นสี่ร้อยเก้าสิบเก้ารูป เหลือไว้ที่หนึ่งสำหรับพระอานนท์ แต่ขณะนั้นพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่

แม้ว่าขณะนั้นพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ แต่พระมหากัสสปะท่านก็รู้ว่าที่ตรงนี้สมควรแก่พระอานนท์ เพราะตอนที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นพหูสูตร ทรงจำไว้มาก เพราะพระอานนท์เคยทูลขอพรไว้ข้อหนึ่งก่อนที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐากว่า ไม่ว่าครั้งใดก็ตามที่พระพุทธองค์เสด็จไปทรงแสดงธรรม ณ แห่งหนใดที่พระอานนท์มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ขอให้พระพุทธองค์มีพระกรุณาแสดงธรรมต่อท่านอีกครั้งด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมะซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงที่พระอานนท์ไม่รู้จึงไม่มี การกระทำสังคายนาครั้งนั้นจึงขาดพระอานนท์ไม่ได้

เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมคัดเลือกกันแล้ว ก็แจ้งให้พระอานนท์ทราบว่าจะกระทำสังคายนาในวันรุ่งขึ้น พระอานนท์จึงร้อนใจ ด้วยว่าตนยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ยังไม่สำเร็จกิจ ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ เดินจงกรมตลอดทั้งคืน จนใกล้สว่างแล้วก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลที่เหลืออยู่อีกสามขั้น จึงมาพิจารณาว่าชะรอยตนเองคงประพฤติปฏิบัติบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง การเดินจงกรมเป็นการเพิ่มวิริยะ วิริยะได้สามส่วน สมาธิได้ส่วนหนึ่ง อินทรีย์ไม่สมดุลกัน จึงไม่เอื้อต่อมรรคผล พระอานนท์ตั้งใจระลึกถึงพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งเคยตรัสไว้ว่า พระอานนท์มีเหตุมีปัจจัยพร้อม ถ้ามีความพยายามพอ อีกไม่นานก็สามารถยังมรรคยังผลให้เกิดขึ้นในชาตินี้ได้

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งไม่มีสอง เมื่อพิจารณาถึงตรงนั้นจึงตั้งใจจะเข้าไปพักสักครู่ ท่านเดินไปด้วยการกำหนดอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยไปตามลำดับ ขณะที่นั่งลง ย่อตัวลงนั่ง ก็กำหนดรู้อาการตรงนั้น ขณะที่เอนลงไปก็รู้อาการเอนตรงนั้น ขณะที่เอนลงๆในอาการกึ่งนอนกึ่งนั่ง ศีรษะกึ่งนอน ท่านก็ได้ยังอริยมรรคอริยผลที่เหลือทั้งสามขั้น( สกทาคามี อนาคามี และ อรหัตต์)ให้เกิดขึ้น จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ขณะนั้น เมื่อพระอานนท์ท่านบรรลุมรรคอภิญญาแล้ว ท่านก็แสดงความพิเศษไปปรากฏตรงที่สงฆ์กำลังประชุมกันอยู่ บางคัมภีร์กล่าวว่าท่านดำดินไปโผล่แล้วลงนั่งตรงอาสนะที่ปูลาดรออยู่เลย บางคัมภีร์กล่าวว่าท่านเหาะไปแล้วลงนั่งตรงอาสนะที่ปูไว้





ผลสาละ (ตัดมาบางส่วน)


ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงมารดา บิดา ครู อาจารย์
ทั้งลูกหลาน ญาติชิด สนิทกัน

อีกผู้เคยร่วมกิจการงานทั้งหลาย
มวลสหาย ได้กุศล ผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรม นายเวร เทพเทวัญ
ทุกท่านพลันได้กุศลผลนี้เทอญ


คำแผ่เมตตาของท่านอาจารย์เรณู ทัศณรงค์

ขอให้ทุกท่านได้อนุโมทนารับผลบุญกุศล
ที่ "พลอยโพยม" ไปปฎิบัติธรรมมา เมื่อ 10-17 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ กันนะคะ



วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

หวนคะนึง ถึงไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch)


หวนคะนึง ถึงไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch)

ไครสต์เชิร์ช (อังกฤษ: Christchurch) เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ และเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ ตั้งอยู่หนึ่งในสามของระยะทางลงไปทางใต้ตามชายฝั่งตะวันออกของเกาะใต้ อยู่ทางเหนือของคาบสมุทรแบงกส์

ไครสต์เชิร์ชได้รับการจัดตั้งเป็นเมืองเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1856 เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ จริงๆ แล้วตัวเมืองไครสต์เชิร์ชนั้นมีพื้นที่เล็กนิดเดียวหากเทียบบ้านเมืองอื่น เสน่ห์ของที่นี่เห็นจะได้แก่โบสถ์กลางเมืองหลังเล็กๆ ยอดแหลมๆ อยู่หลังหนึ่ง มีจตุรัสเมืองที่วิ่งครบรอบได้โดยไม่เหนื่อย มีแนวต้นหลิวนับพันตลอดสองฝั่งแม่น้ำ มีสวนพฤกษ์ศาสตร์กลางเมืองกับต้นไม้ใหญ่อายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีให้คนเมืองไปพักผ่อนกันกลางแจ้ง อีกทั้งศูนย์ศิลปกรรม มีพิพิธภัณฑ์ มีโรงเรียนประจำชายประจำหญิง รถรางเก่าๆ สายสั้นๆ วิ่งครบรอบตัวเมืองเพียงแค่ไม่ถึงชั่วโมง มีอากาศสดชื่นให้หายใจไม่ติดขัด มีอาหารการกินที่สดสะอาดรสชาติอร่อยแบบปลอดสารพิษ แล้วก็มีแค่คนเมืองที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีเยี่ยม…

ด้วยองค์ประกอบเช่นนี้จึงทำให้ ทุกคนจากทั่วทุกมุมโลกใฝ่ฝันว่าจะไปได้ไปเที่ยวชมไคร้สท์เชิร์ชกันสักครั้งหนึ่งในชีวิตให้ได้ แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริคเตอร์ เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา สร้างความเศร้าสลดใจให้กับผู้คนทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เพราะนอกจาก ‘ธรณีพิโรธ’ จะได้กลืนเอาชีวิตของผู้คนในเมืองไคร้สท์เชิร์ชไปถึงร้อยกว่าคนและบาดเจ็บนับไม่ถ้วน รวมทั้งมีผู้สูญหายไปอีกนับร้อยแล้ว มันยังได้ทำลายอาคารบ้านเรือนที่ทรงคุณค่าอยู่ที่ความ ‘เป็นอังกฤษมากกว่าที่เมืองอังกฤษ’ อายุกว่า 150 ปี รวมทั้งได้หักโค่นยอดโบสถ์ Christchurch Cathedral ศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองไปอีกเสียด้วย แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำลายอาคารบ้านเรือนในไคร้สท์เชิร์ชถึงขั้นต้องรื้อทิ้งทั้งหมดไปมากกว่าหนึ่งในสามของทั้งเมือง น่าเสียดายและเสียใจอย่างมากจริงๆ...

ภาพถ่ายเมืองไครสต์เชิร์ชบางส่วน เมื่อครั้งที่ "ใบเตย" ลูกสาวของ "พลอยโพยม" ไปเรียนที่นิวซีแลนด์ ได้ไปเที่ยวและถ่ายภาพเก็บไว้ บางภาพก็กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปเสียแล้ว ภาพถ่ายเหล่านี้ก็ถ่ายมาเก็บได้ไม่มากนัก สวยบ้างไม่ชัดบ้าง แต่พอได้ฟังข่าวคราวแล้ว ก็ต้องขอนำเอารูปถ่ายครั้งนั้นกลับมาโพสต์ให้ชมกันอีกครั้งนะคะ
















วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

ก้ามใหญ่... ใครหาญสู้





มัศยา....เยื้องกรายสายนที.1

ภาพจากหนังสือประถม ก กา

มัศยา ในบทความต่อไปนี้ นับรวมถึงสัตว์น้ำทุกประเภทในลำแม่น้ำบางปะกง คือ กุ้ง หอย ปู และปลา เป็นผลพลอยได้จากการจะเล่าสู่ถึงความหลากล้วนหมู่มวลมัจฉาที่มากมายในสายนทีนี้ในอดีต เนื้อหาบางส่วนอาจจะดูเป็นวิชาการไปบ้าง ก็เพราะเป็นครอบครัวของชาวมีนกรถึง 2 รุ่น แต่จุดประสงค์หลักเพียงเรื่องเล่าตามประสบการณ์บ้านอยู่ริมฝั่งชล เท่านั้น ส่วนของวิชาการขอให้นึกว่าเป็นส่วนเกินประเภทของแถมทำนองนั้นก็แล้วกัน

ขอเริ่มจาก...ปู... ก่อนสัตว์น้ำอื่น สาเหตุที่เริ่มต้นจากปู เพราะยังติดใจจำหนังสือ คำกลอนสอนอ่าน ประถม ก กา แบบเรียนเล่มแรกของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นฉบับ เจ้าหมื่นศรีสะรักษ์ (หม่อมราชวงศ์จิตร์) รวบรวม


...บท แม่ไก่อยู่ในตะกร้า...

ก ข แล ก กา
ให้อุส่าห์จำไว้ดี
ทำแต่ ก กานี้
มิได้มีอะไรคละ

ใครใครให้อุส่าห์
เล่า ก กา จำไว้หนะ
ให้ดีมีมานะ
จำได้จะให้ต่อไป

แม่ไก่อยู่ในตะกร้า
ไข่ ไข่ มาสี่ห้าใบ
อีแม่กาก็มาไล่
อีแม่ไก่ไล่ตีกา

หมาใหญ่ก็ไล่เห่า
หมูในเล้าแลดูหมา
ปูแสมแลปูนา
กะปูม้าปูทะเล

เต่านาแลเต่าดำ
อยู่ในน้ำกะจระเข้
ปลาทูอยู่ทะเล
ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี

ซื้อเขาเบาราคา
ปลาขี้ข้าใช่ผู้ดี
ก กา ว่าเท่านี้
ดูต่อไปมีในกก



บรรยากาศของเนื้อหาอ่านแล้วชวนให้หวนระลึกถึงความเป็นอยู่ของตัวเองในสมัยเด็กๆ ที่ได้กระโดดโลดเต้นไปกับสภาพสิ่งแวดล้อม เหมือนคำประพันธ์โบราณข้างต้นจริงๆ มี ไก่ อีกา หมา หมู ปู เต่า อยู่รอบๆตัวเราในครั้งกระนั้น การที่หมูในเล้าแลดูหมาเพราะอยากเห่าได้ หรืออิจฉาหมาที่ได้อยู่นอกเล้าวิ่งไปไหนมาไหน ใช่หรือเปล่าหนอ ในความจริงบางทีไก่ก็ไล่จิกตีหมาด้วยซ้ำไป คงรำคาญเสียงเห่าเสียละกระมัง คำกลอนสอนอ่านบทนี้ช่างรวบรวมเอาสรรพสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำทะเล สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกมาอยู่รวมกันได้อย่างเหมาะเจาะ อ่านแล้ว จดจำมาแต่เล็กจนโต..จนสูงวัย จนบัดนี้





ปูทะเล SERRATED MUD CRAB
ชื่อไทย : ปูทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scylla serrata

ปูในป่าชายเลนในไทยมีประมาณ 30 ชนิด ปู...หายใจด้วยเหงือก โดยดูดออกซิเจนจากน้ำ ซึ่งไหลเข้าทางช่องที่อยู่หน้าก้ามหนีบ ทางน้ำออกอยู่บริเวณข้างๆ ระยางค์ปาก ปูตัวแรกเป็นเรื่องของปูทะเล พระเอกตัวเอ้ของสรรพปู ( เอ้แปลว่า สำคัญ หัวโจก)

ปูทะเลมีส่วนหัวกับอกรวมกัน ส่วนนี้จะมีกระดองห่อหุ้มไว้ กระดองกลมรีเป็นรูปไข่ ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลำตัวของปูเป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า "จับปิ้ง" พับอยู่ใต้กระดอง จับปิ้งเป็นอวัยวะที่ใช้เป็นที่อุ้มพยุงไข่ของแม่ปู นอกจากนี้ยังเป็นอวัยวะที่ใช้แยกเพศ คือ ในเพศเมียจับปิ้งจะมีลักษณะกว้างปลายมนกลมกว่าของเพศผู้ ซึ่งมีรูปเรียวและแคบ ส่วนยาวแคบกว่าส่วนกว้างของกระดองด้านหน้า ระหว่างตามีหนามแหลม 6 อัน เรียงกันและมีหนามเรียงจากตาไปทางด้านซ้าย-ขวาของกระดองด้านละ8- 9 อันตาของปูทะเลเป็นตารวม ประกอบด้วยตาเล็กๆ จำนวนมาก มีความรู้สึกไวต่อสิ่งเคลื่อนไหวอยู่รอบตัว และยังมีก้านตาช่วยในการชูลูกตาออกมาภายนอกเบ้า และหดกลับเข้าไปได้ ทำให้ปูมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างดียิ่งขึ้น

ปูทะเลมีขา 5 คู่ ขาคู่แรกอยู่หน้าสุดมีขนาดใหญ่มากเรียกว่า "ก้ามปู" ก้ามปูจะมีหนามแหลม ปลายก้ามปูแยกออกเป็น 2 ง่ามมีลักษณะคล้ายคีมใช้จับเหยื่อกินและป้องกันตัว ขาอื่นๆไม่มีหนาม ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า "ขาเดิน" ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า "ขาว่ายน้ำ"ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย

ปูตัวผู้จะมีก้ามใหญ่และแข็งแรงกว่าตัวเมีย...ปู มีเลือดสีฟ้าใสๆ มีสารประกอบพวกทองแดงปนอยู่ในเลือด เมื่อได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดองแตก หรือก้ามหลุด เลือดใส ๆ จะไหลออกมามีลักษณะข้น ๆ เมื่อโดนความร้อนจะกลายเป็นสีขาวขุ่นคล้ายครีม (จะสังเกตได้หากปูสดจริงๆแล้วนำมาต้มสุกจะพบครีมลักษณะนี้ทั้งในกระดอง และนอกกระดองปู) มีสำนวนไทยว่า 'หาเลือดกับปู หรือ รีดเลือดจากปู หรือ เอาเลือดกับปู' โดยมีความหมายว่า ปูไม่มีเลือด เพราะเลือดปูไม่เป็นสีแดงนั้นเอง จึงพากันเข้าใจว่าปูไม่มีเลือด สำหรับอวัยวะภายในทั้งหมด ได้แก่ หัวใจ กระเพาะอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ จะรวมกันอยู่ภายในกระดอง





ปูทะเลเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบ...เนื่องจากกระดองของปูเป็นสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถยืดขยายตัวออกไปได้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่คือ มีเนื้อแน่นเต็มกระดอง ก็จะมีการลอกคราบ เพื่อขยายขนาด (การเพิ่มน้ำหนักและขนาดตัว) โดยการสร้างกระดองใหม่มาแทนที่ ตรงขอบหลังกระดองเผยให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกกันว่าปู สองกระดอง ระยะเวลาในการลอกคราบของปูจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของปู

เมื่อปูทะเลลอกคราบใหม่ ๆ นั้น กระดองใหม่จะนิ่ม ผิวเปลือกย่น เรียกว่า "ปูนิ่ม" ซึ่งต่อมาจะค่อย ๆ ตึงและแข็งตัวขึ้น ในระยะที่เป็นปูนิ่มจะเป็นระยะที่ปูมีความอ่อนแอมากที่สุด แทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงต้องหาที่หลบซ่อนตัวให้พ้นจากศัตรู ระยะเวลาตั้งแต่ลอกคราบหลบซ่อนจนกระทั้งกระดองใหม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถออกมาจากที่ซ่อนได้ กินเวลาประมาณ 7 วัน ปูทะเลในเขตร้อนจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขั้นสมบูรณ์เพศ ประมาณ 1.5 ปี เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะอุ้มตัวเมียไว้รอจนกว่าตัวเมียจะลอกคราบแล้วจึงผสมพันธุ์ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกปล่อยออกมาอุ้มไว้ที่หน้าท้องจนกระทั่งฟักออกไปเป็นตัวอ่อน

ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง





ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำกร่อยประเภทหนึ่งที่มีการอพยพย้ายถิ่น เพื่อการแพร่พันธุ์ โดยปูเพศเมียจะอพยพจากแหล่งหากินในบริเวณเขตน้ำกร่อยออกไปวางไข่ในทะเล ซึ่งจากการอพยพนี้ จะมีขึ้นภายหลังจากที่ได้ผ่านการจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว และในขณะที่กำลังเดินทางสู่ทะเล ปูบางตัวอาจจะปล่อยไข่ออกมาไว้ที่ส่วนท้องแล้วก็ได้ ชูชาติ, 2528 ได้อ้างถึงการศึกษา Hill ในปี ค.ศ. 1975 และ 1983 จึงกล่าวว่า ลูกปูวัยอ่อนมีอยู่ 2 ระยะได้แก่ ระยะ Zoea 1-5 และ Megalopa 1 ระยะ ในระยะ 'Zoea' เป็นระยะที่ระยางค์ว่ายน้ำยังไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ จึงล่องลอยหากินไปตามกระแสน้ำ เมื่อเข้าระยะ 'Megalopa' จะมีการว่ายน้ำสลับกับการหยุดเกาะอยู่กับที่เป็นครั้งคราว ซึ่งถือได้ว่าระยะนี้เริ่มมีการแพร่กระจายเข้ามาหากินในบริเวณน้ำกร่อย เมื่อลูกปูลอกคราบจากระยะ Megalopa เป็นตัวปูที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ทุกประการ จะท่องเที่ยวหากินอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยได้อย่างอิสระ หลังจากนั้นปูเพศเมียที่สมบูรณ์เพศและผ่านการจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว จะอพยพออกไปวางไข่เช่นเดียวกับแม่ของปูเอง เป็นวัฎจักรเช่นนี้สืบไป

ปูทะเล มีชื่อสามัญที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทะเล ปูดำ ปูขาว ปูทองหลาง ปูทองโหลง ปูทองแดง เป็นต้น ปูทะเล มีลักษณะภายนอก และพฤติกรรมบางอย่างที่สังเกตพบว่าแตกต่างกัน เช่น ปูขาว และปูดำ นั้นมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ สีลำตัว โดยที่ปูดำจะมีสีเข้มค่อนข้างคล้ำ มีนิสัยดุร้ายกว่าปูขาว ซึ่งมีสีเขียวขี้ม้าจาง ๆ และดุร้ายน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่แตกต่างกันดังกล่าวนั้นอาจจะเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนว่าลักษณะที่แตกต่างกันดังกล่าวนั้น แสดงชนิด (Species) ที่แตกต่างกัน





ส่วนแม่กระแซงหรือกระแซงนั้นเป็นปูตัวเมียที่มีขนาดใหญ่และมีไข่อยู่ที่จับปิ้ง ส่วนปูกระเทยเป็นปูที่ยังไม่โตเต็มที่ จับปิ้งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝ่ายอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะที่ชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลน หรือเลนที่มีป่าแสม โกงกาง ป่าจาก และปูทะเลสามารถอยู่ในรูได้นานๆในบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง

ปูทะเลเป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืนโดยออกจากที่หลบซ่อน หลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง และเข้าที่หลบซ่อนก่อนหน้าดวงอาทิตย์ขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือหลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ดังนั้น แสงและอาหารจึงมีอิทธิพลต่อการปรากฏตัวอยู่ภายนอกที่หลบซ่อน อาหารของปูทะเล ได้แก่ หอยฝาเดียว หอยสองฝา กุ้ง ปู ปลา และเศษพืช ซึ่งปูจะชอบกินปูด้วยกันเองมากที่สุด ปกติแล้วปูทะเลจะไม่กินอาหารที่มีการเคลื่อนที่ หรือสามารถหลบหลีกได้ดี เช่น ปลาและกุ้ง

เมื่อปูทะเลกินอาหาร พบว่าอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการดักจับเหยื่อ และตรวจสอบวัสดุต่าง ๆ ว่าเป็นอาหารหรือไม่ คือ ส่วนปล่อยของขาเดิน อาหารจะถูกส่งเข้าไปในปากผ่านไปถึงกระเพาะแล้วออกสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งทอดผ่านจับปิ้ง ในที่สุดกากอาหารจะถูกถ่ายออกมาทางปล้องปลายสุดของจับปิ้ง





ปูก้ามดาบ (Fiddler Crab)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uca vocans
วงศ์ : Ocypodidae


คำว่า fiddle หมายถึงคันชักของไวโอลินซึ่งก็หมายถึงลักษณะเด่นของก้ามนั่นเอง บางที่เรียกปูก้ามดาบว่า ปูผู้แทน ปูก้ามดาบเป็นปูเปี้ยวชนิดหนึ่ง ทั่วโลกมีปูก้ามดาบประมาณ 97 Species ในประเทศไทยพบ 11 Species ปูก้ามดาบ 4 Species ที่ปูเพศผู้มีก้ามใหญ่อยู่ด้านขวามากกว่า 50 %ของประชากรปูก้ามดาบ ส่วนที่เหลือก้ามใหญ่อยู่ทางด้านซ้ายนั่นเอง พบปูก้ามดาบได้ตามป่าไม้ชายเลน ป่าไม้โกงกาง ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ฝั่งอันดามันมีความหนาแน่นของประชากรปูก้ามดาบมากกว่าฝั่งอ่าวไทย


ลักษณะทั่วไปของปูก้ามดาบ

เป็นปูขนาดเล็ก กระดองมีรูปร่างเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านหน้าโค้งมน ด้านข้างปลายสอบเข้าหากัน ด้านหลังนูนออกเล็กน้อย นัยน์ตามีก้านยาว เคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ปูต้องการ เมื่อพบอันตรายจะหดก้านตาเข้าเก็บในเบ้าตา ปากของปูอยู่ใต้ตา มีฟันกราม 6 คู่ และระยางค์เล็กคล้ายเขี้ยวอีก 1 คู่ ก้ามสองข้างขนาดไม่เท่ากัน บางพวกมีขนาดก้าม แตกต่างกัน มากอย่างเด่นชัด ลักษณะโดดเด่น ของปูก้ามดาบนั้น จะมีก้ามใหญ่ เป็นพิเศษ ไม่สมกับลำตัวอยู่ข้างหนึ่ง บางพันธ์อยู่ข้างซ้าย บางพันธ์อยู่ข้างขวาสีสันหลากหลาย เช่น แดงส้มเหลือง หรือฟ้าแซม ก้ามใหญ่นี้จะชูชันสูงอยู่ตลอดเวลา เมื่อปูยกก้ามที่ชูขึ้นลงจะมีลักษณะคล้ายคนสีซอเป็นลักษณะพิเศษนี้มีเฉพาะปูตัวผู้เท่านั้น ส่วนปูตัวเมียมีก้ามทั้งคู่เท่ากัน

ที่ปูตัวผู้ชูก้าม เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขต ซึ่งตนอาศัยอยู่ เมื่อมีศัตรูผ่านมา (ยกเว้น นางสาวปู คือปูก้ามดาบตัวเมียแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นถูกปูก้ามดาบตัวผู้เหมารวมว่าเป็น ศัตรูหมดเลย) นอกจากการชูก้าม เพื่อแสดงอำนาจเจ้าของถิ่น และฉันก้ามใหญ่นะจ๊ะแล้ว การชูก้ามของปูก้ามดาบ เป็นการชูก้ามเพื่อเรียกความสนใจจากปูตัวเมียอีกด้วย ทั้งเรียกและล่อ ตัวเมีย (ดูซิพี่หล่อแค่ไหน ก้ามใหญ่ขนาดนี้แล้วน้องปูสนใจไหมครับผมขอสมัครเป็นแฟน)

รวมทั้งเมื่อถึงเวลาต้องโรมรัน พันตู ต่อสู้ หรือขับไล่ ปูตัวอื่น ก้ามใหญ่นี้ใช้เป็นอาวุธ หากคู่ต่อสู้เป็นปูก้ามดาบด้วยกัน ดาบสองเล่ม ของปู สองตัว ก็ได้ฟาดฟันกันละแต่ไม่ถึงกับบัลลัยไปข้างหนึ่งหรอก ยังไม่เคยเห็น ปูต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ปะทะกันเพียงเล็กน้อย ด้วยการใช้ก้ามใหญ่จับก้ามใหญ่ของปูอีกตัวหนึ่ง จับหนีบกันไว้แล้วก็ดึงกันไปมา แล้วก็จะมีปูตัวหนึ่งยอมศิโรราบ(บางทีก็เพราะมีก้ามดาบเล็กกว่าด้วย) ปูที่ยอมแพ้จะคลานหนีจากวงต่อสู้กลับเข้ารูของตัวเอง ปู ตัวที่ชนะ ก็ไม่ได้ติดใจไล่ตามแต่ประการใด เป็นทำนองว่าอาณาเขตชั้นใครอย่ามาแหยม เพียงแค่นั้นเอง ฉันแค่รักษาสิทธิ์ครอบครองอาณาจักรนี้เท่านั้น

ก้ามของปูก้ามดาบที่มีประโยชน์จริง ๆ คือก้ามเล็ก เพราะใช้สำหรับหาอาหาร หากก้ามเล็กนี้มีอันเป็นไป ปูก็จะตาย เพราะหาอาหารไม่ได้ ก็ก้ามที่เป็นดาบใหญ่โตเก้งก้างเกินตัวออกขนาดนั้น คีบจับอะไรก็ไม่สะดวก





ปูก้ามดาบที่พบในบริเวณป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเล เพราะปูเป็นสัตว์ที่กินซากสัตว์ คอยเก็บอินทรีย์สารขนาดเล็กซึ่งตกตะกอนอยู่บนหาดเลนกินเป็นอาหาร โดยมีความสามารถเลือกกินเฉพาะสารอินทรีย์แยกออกจากดินทรายได้ โดยใช้รยางค์ปากแบบพิเศษช่วยคือ ปลายขาของพวกมันจะมีลักษณะคล้ายช้อนคอยตักดินส่งเข้าปาก ส่วนรยางค์ปากที่มีรูปร่างเป็นตะแกรงพู่ขนนกหรือช้อน จะทำหน้าที่เลือกเฉพาะจุลชีพและอินทรีย์สารที่มันต้องกินเท่านั้น ตะกอนดินที่ปูไม่กินก็ทิ้งกลับลงสู่พื้นในรูปของก้อนดินกลมเล็กๆ

จากนั้นนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด อาทิ ลิงแสม นกกระเต็น นกยางทะเล และนากใหญ่ จะจับปูเหล่านั้นกินอีกทอดหนึ่ง แต่ศัตรูที่สำคัญจริงๆและอยู่ใกล้ตัวปูก้ามดาบตามชายเลนมาก ก็คือปลาตีน นั่นเอง ปลาตีนจะคอยจับกินลูกปูตัวเล็กๆ

ปูตัวเมียจะกินอาหารได้เร็วกว่าปูตัวผู้เพราะมีความคล่องตัวไม่มีก้ามใหญ่มาเกะกะนั่นเอง ปูก้ามดาบ ขุดรูอยู่ในดินเลน หรือดินเลนปนทรายบริเวณป่าชายเลนเรื่อยขึ้นไปจนถึงแนวเขตที่ติดต่อกับป่าบก เมื่อน้ำขึ้นมันจะฝังตัวแอบอยู่ในรู น้ำลดเมื่อใดก็จะออกมาเดินหาอาหารกิน

ปูก้ามดาบชนิด Uca rosea ถือว่ามีสีสวยงามที่สุด ปูก้ามดาบจะหากินอยู่ไม่ไกลจากรูของมันเพราะต้องเก็บรักษาความชื้นไว้ในร่างกาย มันจึงวิ่งลงรูเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ได้ความชื้นและแก้ปัญหาการสูญเสียน้ำจากตัว

ปูก้ามดาบมีสายตาที่ไวมาก หากมีการเคลื่อนหรือขยับของสิ่งมีชีวิตอื่นปูก็คลานลงรูอย่างรวดเร็ว รออึดใจใหญ่ ปูจะค่อยๆโผล่มา ชูสายตาออกมาสอดส่ายสำรวจความปลอดภัยก่อนจนแน่ใจว่าไม่มีอันตรายอะไร ปูก็จะคลานขึ้นมาจากรู ในเวลาน้ำขึ้น ปูจะขนดินมาอุดปากรูจนมิด ปูก้ามดาบถอยหลังลงรู ใช้ก้ามใหญ่เป็น การ์ด รักษาความปลอดภัยให้ตัวเอง เมื่อออกจากรู ก็โผล่ก้ามใหญ่ ขึ้นมาก่อนเช่นกัน





ก้ามของปูก้ามดาบหลุดง่าย เวลาถูกตะครุบจับตรงก้ามของปู ปูก้ามดาบมักจะบิดตัวให้หลุดออกไปจากก้าม ก้ามปูเหล่านี้เวลาหลุดไปแล้วมันจะงอกก้ามใหม่ขึ้นมาใช้แทนก้ามเก่าได้อีก ธรรมชาติเร้นลับ ของปูก้ามดาบที่น่าอัศจรรย์ใจ อย่างหนึ่งก็คือ สามารถรู้กำหนด เวลาน้ำขึ้นน้ำลง ได้อย่างดีเยี่ยม แม่นยำ ปูก้ามดาบ จะออกจากรูก่อนน้ำขึ้นน้ำลง ช้าเร็วกว่ากันราวๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่า มหัศจรรย์ ต้องกล่าวขวัญเป็นพิเศษ

เคยมีการทดลองนำปูก้ามดาบขึ้นมาจากแหล่งน้ำ มาอยู่ในห้องทดลอง ปูในห้องทดลองก็แสดงอาการขุดรูทั้งที่ปูไม่เห็นแหล่งน้ำ และในวันถัดไปปูจะขุดรูช้ากว่าเดิมราว 50 นาที ซึ่งตรงตามเวลาการขึ้นลงของน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ แต่ภายหลังจากนั้นสองถึงสามสัปดาห์ ปูก้ามดาบจะค่อยๆสูญเสียวงจรชีวิตของตัวเอง

ปูก้ามดาบจำเป็นต้องอาศัยวงจรธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อกระตุ้นให้นาฬิกาภายในของปูเอง บอกเวลาที่ ถูกต้องเที่ยงตรงแม่นยำมีสัตว์น้ำอื่นที่มีวงจรชีวิตเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ มีสัตว์ที่อาศัยตามชายฝั่งจะเคลื่อนไหวว่องไวเมื่อกระแสน้ำซัดขึ้นกระทบฝั่งเท่านั้น เพรียง หอย และปูบางชนิด โผล่ออกจากโพรงหรือรูของมันเพื่อหาอาหารก็ต่อเมื่อกระแสน้ำขึ้นท่วมตัวเท่านั้น เช่นปูทะเล

ปูก้ามดาบนี้ มีเห็นกลาดเกลื่อนตามชายฝั่งเลน ที่บ้านบางกรูด มีทั้งนอกชานและสะพานท่าน้ำขึ้นลงเรือ ในเวลาน้ำแห้ง ไม่รู้จะทำอะไรดี แดดร่มลมตกไม่ร้อน ก็นอนพังพาบ ก้มหน้าก้มหัวลง ทอดสายตาทัศนาครอบครัวปูหลายชนิดเคลื่อนไหวไปมาบนพื้นเลน ปูก้ามดาบที่บ้านจะปลอดภัยไม่มีมนุษย์รบกวน เพราะมีปูชนิดอื่นดึงดูดใจมากกว่า...