กลิ่นหอมที่เกิดจากพืชนั้น กลิ่นที่ได้จากดอกไม้จะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากที่สุด มีกลิ่นหอมนานบ้างไม่นานบ้าง โดยทั่วไปดอกไม้หอม มักจะมีสีสันไม่สดใสสะดุดตา ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มีดอกสีขาว
ช่วงเวลาที่ดอกบาน ก็แตกต่างกันไปตามชนิด ส่วนใหญ่บานตอนเย็น หรือพลบค่ำ หรือบานตอนเช้า
ระยะเวลาที่ดอกบานก็เช่นกัน บางชนิดบานเป็นระยะสั้นๆ ครึ่งวัน หรือหนึ่งวันแล้วร่วงไป บางชนิดบาน หลายวัน เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนก็มี
ในแต่ละชนิดยังมีความแตกต่างของช่วงที่ส่งกลิ่นหอม และบางชนิดมีช่วงที่ส่งกลิ่นหอมแรงที่สุดอีก
พืชบางวงศ์ (Family) มักจะมีดอกที่มีกลิ่นหอม ได้แก่ วงศ์ Annonaceae เช่น นมแมว ลำดวน สายหยุด
และวงศ์ Magnoliaceae เช่น จำปี จำปา มณฑา ยี่หุบ เป็นต้น
คนไทยนิยมดอกไม้หอม และนำมาปลูกประดับสวน หรือปลูกไว้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น มะลิ พุดซ้อน พุทธชาด ราตรี ซ่อนกลิ่น ชำมะนาด กุหลาบ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นพันธุ์ไม้ต่างถิ่น แต่ได้มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานมาแล้ว บางชนิดอาจจะเข้ามาพร้อม ๆ กับที่ไทยมีการติดต่อกับนานาประเทศ ที่มีหลักฐานแน่ชัดคือตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้มีการขยายพันธุ์ปลูกต่อ ๆ กันไปจนแพร่หลาย พรรณไม้เหล่านี้เจริญงอกงามได้ดี พบทั่วไปจนเกิดความเข้าใจกันเองว่าเป็นพรรณไม้ของไทย
ซึ่งทั้งนี้มิได้หมายความว่าพรรณไม้ดอกหอมของท้องถิ่นไทยจะไม่มีหรือมีน้อยหรือหอมน้อยกว่าของต่างประเทศ แต่อาจจะเนื่องมาจากพรรณไม้เหล่านั้น เดิมทีพบขึ้นอยู่ดาษดื่นตามธรรมชาติไม่เป็นที่แปลกตา หรืออาจจะเนื่องมาจากส่วนใหญ่มีฤดูกาลให้ดอกเพียงปีละครั้งและอาจจะด้วยสาเหตุอื่น ๆ อีก จึงทำให้ไม้ดอกหอมของท้องถิ่นได้รับความสนใจที่จะนำมาปลูกกันไม่แพร่หลายนัก ปัจจุบันพรรณไม้ดอกหอมหลายชนิดของไทยในธรรมชาติลดน้อยลงมากและเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ เฉพาะในหมู่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
ความหลากหลายของกลิ่นหอมของพรรณไม้ไทยมีเป็นจำนวนมาก หากได้รับความสนใจนำพรรณไม้เหล่านั้นมาขยายพันธุ์ปลูกให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อาจนำไปสู่การหากรรมวิธี หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการสกัดกลิ่นหอม เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมได้ต่อไป
ส่วนใหญ่ดอกไม้ที่ให้กลิ่นหอม มักจะมีดอกเล็ก สีไม่สะดุดตา แต่ก็มีหลายชนิดที่ทั้งสวยและมีกลิ่นหอม
คำว่า "หอม" นั้น หมายถึง การรับรู้ของประสาทสัมผัสที่เรียกว่า ฆานประสาท (ประสาทรับรู้กลิ่น) เมื่อมีสารบางอย่าง ที่ให้กลิ่นกระจายอยู่ในอากาศ แล้วรับรู้ว่ากลิ่นนั้นเป็นที่พอใจ ซึ่งความพอใจนิยมชื่นชอบใจต่อกลิ่น ย่อมแตกต่างกันไป ตามความเคยชิน ตามกลุ่มเผ่าพันธุ์ และประเพณีของคน หรือกลุ่มคนนั้นๆ หากเป็นกลิ่นที่ไม่พอใจ ก็จะบอกว่า "เหม็น"
เรื่องของกลิ่นนั้น เป็นการยาก ที่จะกำหนด หรือจำแนก เป็นประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับตรงกัน จึงมักจะใช้เปรียบเทียบกับชนิดของพรรณไม้ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งใช้ได้เฉพาะกลุ่ม หรือท้องถิ่น หรือประเทศเท่านั้น เช่น คนไทยจะเข้าใจทันทีที่บอกว่า หอมเหมือนกลิ่นใบเตย ซึ่งหมายถึง ใบเตยหอม ที่คั้นน้ำจากใบมาปรุงแต่งอาหาร แต่สำหรับชนชาติ ที่ไม่เคยใช้ใบเตย ในการปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า เป็นอย่างไร เป็นต้น ในการขยายความเรื่องของกลิ่นหอมนั้น มีใช้กันหลายคำได้แก่ หอมเย็น หอมหวาน หอมฉุน หอมแรง หอมอ่อนๆ หอมเอียน หอมละมุน หอมฟุ้ง หรือหอมตลบ ตลอดจนหอมตลบอบอวล เป็นต้น
กลิ่นหอมเกิดได้อย่างไรในพืช
เกิดมาจากน้ำมันหอมระเหย (essential oil หรือ volatile oil) ซึ่งเป็นผลพลอยได้ จากกระบวนการสร้างและสลาย (metabolism) ในเซลล์ของพืช แล้วเก็บไว้ในเซลล์ หรือปล่อยออกมาจากเซลล์ สะสมอยู่ในช่องว่างที่ขยายขนาดขึ้น มีลักษณะเป็นต่อม (gland) ที่ส่วนต่างๆ ของพืช น้ำมันหอมระเหยนี้บางกรณีไม่อยู่ตัว (unstable) จะเปลี่ยนไปตามกระบวนการเคมีได้ เป็นสารประกอบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น เป็นยาง (gum) และเรซิน (resin) สารที่ได้ใหม่นี้ มักจะรวมตัวกับน้ำมันหอมระเหย ที่ยังเหลืออยู่ แล้วถูกลำเลียงจากที่สร้าง ไปยังส่วนอื่นๆ ของพืช อาจจะเป็นใบ ดอก ผล เมล็ด เหง้า ราก ต้น ที่ใดที่หนึ่ง หรือทุกส่วน แล้วแต่ชนิดของพืช
นอกจากนั้น พืชบางชนิดปกติไม่สร้างน้ำมันหอมระเหย แต่ถ้าถูกกระตุ้น โดยมีเชื้อราเข้าไปตามแผล ก็จะเกิดกระบวนการสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นได้ ดังที่พบในไม้เนื้อหอมหลายชนิด ส่วนการที่มนุษย์หรือสัตว์บางชนิด จะได้กลิ่นหอม เกิดจากน้ำมันหอมระเหย ในพืชระเหยออกมา เมื่อสัมผัสกับอากาศ เกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดกลิ่นฟุ้งกระจาย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ส่วนใหญ่เกิด เมื่อดอกไม้บาน หรือผลไม้สุก ดังนั้นกลิ่นหอมในธรรมชาติจริงๆ จึงมักจะมาจากดอกไม้ หรือผลไม้ แต่กลิ่นหอมจากใบหรือส่วนอื่นๆ ของพืช มักจะต้องทำให้เกิดขึ้น โดยผ่านกรรมวิธีต่างๆ และที่สะดวกที่สุดคือ ใช้วิธีทำให้ใบช้ำหรือขยี้ ถ้าเป็นต้น ราก เมล็ด ใช้วิธีบด หรือฝน หรือเผา หรือต้ม เป็นต้น
ส่วนกลิ่นหอมของดอกไม้
เกิดจากพืชบางชนิดมีน้ำมันหอมระเหยที่เซลล์พิเศษ หรือที่ต่อม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของดอก เช่น ฐานรองดอก กลีบดอก เกสรเพศผู้ หรือเกสรเพศเมีย กลิ่นที่เกิดขึ้นนี้ ในธรรมชาติจะช่วยดึงดูดแมลงให้มาตอมดอกไม้ มีผลทำให้เกิดการนำละอองเรณู ไปตกที่ยอดเกสรเพศเมีย ทำให้เกิดเมล็ดและผลต่อไป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่ง ที่ทำให้หลังจากพืชผลิดอกแล้วออกผลหลังจากนั้น
แต่แมลงหรือสัตว์อื่นๆ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาที่ดอกไม้ เพื่อสูดกลิ่นหอม แต่มาที่ดอกไม้ เพื่อกินน้ำหวาน หรือละอองเรณูของดอกไม้ (ส่วนพืชที่ดอกไม่มีกลิ่นนั้น มักจะมีสีสัน รูปทรงของดอก หรือมีต่อมน้ำหวาน ที่ล่อแมลงหรือสัตว์อื่น ให้มาที่ดอก เพื่อช่วยในการผสมเกสร) นอกจากนั้นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมยังดึงดูดมนุษย์ให้ชื่นชอบด้วย
และมนุษย์เราไม่เพียงแต่ชอบได้กลิ่นหอมจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น เมื่อดอกไม้บานเท่านั้น เรายังนำกลิ่นหอมจากพรรณไม้ มาใช้ในการทำเครื่องสำอาง อบร่ำเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนบ้านเรือนอีกด้วย และมีหลักฐานการใช้มาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี เดิมอาจจะใช้ดอกไม้โดยตรง แต่ต่อมาได้มีการคิดค้นวิธีการต่างๆ สกัดกลิ่นหอมออกมา ให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรุงแต่ง จนได้กลิ่นหอมต่างๆ ตามแต่รสนิยม ได้เป็นน้ำหอม ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ไม้ดอกหอมของไทย ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่่มที่ 22
หมายเหตุ
ฆานประสาท หรือ ประสาทรับกลิ่น หรือ ประสาทสมองเส้นที่ 1 หรือ เส้นประสาทโอลแฟ็กทอรี(อังกฤษ: olfactory nerve) เป็นเส้นประสาทสมองคู่แรกจากทั้งหมด 12 คู่ เซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นของเส้นประสาทนี้อยู่ในเยื่อเมือกรับกลิ่น (olfactory mucosa) ที่อยู่ด้านบนของโพรงจมูก เส้นประสาทรับกลิ่นประกอบด้วยใยประสาทรับความรู้สึกที่มาจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวรับกลิ่น (olfactory epithelium) ไปยังออลแฟคทอรี บัลบ์ (olfactory bulb) โดยผ่านรูเปิดเล็กๆ จำนวนมากที่มีลักษณะเหมือนตะแกรงที่เรียกว่า แผ่นคริบิฟอร์ม ของกระดูกเอทมอยด์
เซลล์ประสาทรับกลิ่นเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิต และยืดแอกซอนใหม่ ๆ ไปยังออลแฟคทอรี บัลบ์ เซลล์ Olfactory ensheathing glia ห่อหุ้มมัดของแอกซอนเหล่านี้และเชื่อว่าช่วยค้ำจุนให้เข้าไปยังระบบประสาทกลางได้สะดวกขึ้น
ความรู้สึกของกลิ่นมาจากการกระตุ้นของตัวรับกลิ่น (olfactory receptor) โดยการกระตุ้นของโมเลกุลแก๊สซึ่งผ่านเข้าไปในจมูกระหว่างการหายใจเข้า ผลจากกลไกทางไฟฟ้าจะนำกระแสประสาทไปยังออลแฟคทอรี บัลบ์ ซึ่งต่อมาจะส่งกระแสประสาทไปยังส่วนต่างๆ ของระบบรับรู้กลิ่น (olfactory system) และส่วนอื่นๆ ของระบบประสาทกลางผ่านทางออลแฟคทอรี แทร็กท์ (olfactory tract) เส้นประสาทรับกลิ่นเป็นเส้นประสาทสมองที่สั้นที่สุด และเป็นหนึ่งในสองเส้นประสาทสมองที่ไม่เชื่อมต่อกับก้านสมอง (อีกเส้นหนึ่งคือเส้นประสาทตา)
ขอบอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
พลอยโพยมขอต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2556 ด้วยกลิ่นหอมของมวลบุปชาติ ขอให้ทุกท่านสดชื่น มีความสุข อบอวลด้วยความหอมของดอกไม้
หากท่านสนใจที่จะปลูกไม้ดอกหอม ควรลงไปศึกษาว่าดอกไม้ชนิดใดส่งกลิ่นหอมเวลาใด หอมแบบไหน หอมนานหรือไม่ ทิศทางลมที่พัดเข้าสู่บ้าน ซึ่งทิศทางของกระแสลมที่พัดก็จะแตกต่างกันตามฤดูกาลด้วย พลอยโพยมเคยต้องรื้อต้นไม้ดอกหอมออกเพราะไม่ถูกจริตกับกลิ่นดอกไม้ เพราะความหอมเอียน หอมทั้งคืน หอมจนเวียนศรีษะ แถมบางต้นที่ส่งกลิ่นหอมตอนดึกถึงรุ่งเข้า (เช้ามืด) ก็เคยปลูกไว้ไกลบ้าน ไปดอมดมกลิ่นหอมช่่วงสาย ๆ ก็มีกลิ่นหอมแบบเจือจางเสียแล้ว บางต้นก็ปลูกไว้ให้บ้านอื่นได้กลิ่นหอม เพราะลมโชยไปด้านนัั้น แต่ตัวเองแทบไม่ได้กลิ่นหอม เช่นประยงค์ เป็นต้น
ประยงค์ซึ่งภาคใต้เรียกว่าต้นหอมไกล
สำหรับในหมู่พ่อค้าแม่ค้าไม้ดอกหอมในสวนจตุจักรที่พลอยโพยมเคยคุ้นเคยดี (เกือบสิบปีที่พลอยโพยมไปเดินตลาดวันพุธเช้ามืดถึงแปดโมงเช้า ซื้อต้นไม้จนพ่อค้าแม่ค้าคิดว่าพลอยโพยมซื้อต้นไม้ไปขาย) พูดตรงกันว่า ชำมะนาด (ชมนาด) คือราชินีของดอกไม้หอม
มะลิจันทบูรณ์ เป็นมะลิกึ่งมะลิซ้อนและมลิลารวมกัน กลิ่นหอมแรง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น