วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สบู่ดำ

สบู่ดำ



ชื่อสามัญ physic nut,Purging Nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha Curcas Linn
อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae

ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา สบู่แดงหรือสบู่เลือด ปัตตาเวีย หนุมานนั่งแทน โป๊ยเซียน มันสำปะหลัง มะยม ขามป้อม ผักหวานบ้าน ฯลฯ ซึ่งมี ความหลากหลายกันค่อนข้างมาก ทั้งในลักษณะต้น ใบ ช่อดอก ดอก ตลอดจนผลและเมล็ด
คำว่า Jatropha มีรากศัพท์มาจาก ทางการแพทย์ของภาษากรีก 2 คำ คือ iatros แปลว่า หมอ และ trophe แปลว่า อาหาร ส่วนคำว่า curcas เป็นชื่อเรียกของสบู่ดำ บริเวณเมือง Malabar ในประเทศอินเดีย



สบู่ดำ ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศอีกด้วย เช่น

purging nut(อังกฤษ)
pourghere, pignon d'Inde(ฝรั่งเศส)
purgeernoot (เนเธอร์แลนด์)
purgueira (โปรตุเกส)
fagiola d'India ( อิตาลี )
kadam ( เนปาล )
yu-lu-tzu (จีน)
tubang-bakod (ฟิลิปปินส์)
jarak budeg (อินโดนีเซีย)
bagani (ไอเวอร์รีโคต)
butuje (ไนจีเรีย)
pinoncillo (เม็กซิโก)
tempate (คอสตาริกา)
mundubi-assu (บราซิล) pinol (เปรู)
pinon (กัวเตมาลา)



สบู่ดำ ฃื่อไทยเป็นชื่อเรียกในภาคกลาง เนื่องจากมีน้ำยางสีขาวคล้ายสบู่ บริเวณลำต้นและกิ่ง และเปลือกเมล็ดมีสีดำ และคนในสมัยก่อนใช้น้ำมันมาทำสบู่
ภาคเหนือ เรียกว่า มะหุ่งฮั้ว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่ามะเยา ,หมากเย่า
จังหวัดนครราชสีมาเรียก สีหลอด
ภาคใต้เรียก หงส์เทศ (เพราะต้นโต) ยาเคาะ
ชาวเขาเรียก ไท้ยู หรือเกงยู (เพราะน้ำมันมีสีดำ)
พม่าเรียก แจ้ทซู
เขมรเรียก ทะวอง
จีนกลางเรียก หมาฟ่งสู้
แต้จิ๋วเรียก มั่วฮองซิว
ญี่ปุ่นเรียก บูราคีรี



พืชสกุลนี้จัดเป็นไม้สกุลใหญ่ กระจายอยู่ในเขตร้อนและกึ่งร้อน จเร สดากร (2527) รายงานว่า พบสบู่ดำ 175 ชนิด (Airy Show, 1978) ในอินโดจีน พบ 4 ชนิด (Lecomit, 1931) 3 ชนิด พบในพม่า (Kura, 1974) และมาเลเซีย (Burkill, 1966) ในประเทศไทยเองพบ 5 ชนิด คือ J. gossypifolia (สบู่แดง) , J. podagrica (หนุมานนั่งแท่น) J. integgerima (ปัตตาเวีย) , J. multifida (มะละกอฝรั่ง , ฝิ่นต้น) และ J. curcas (สบู่ดำ)



ต้นสบู่ดำสามารถเจริญเติบโตได้เกือบทั่วโลก ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่าง กันออกไป สันนิษฐานกันว่า สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองแถบทวีป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และ แอฟริกาใต้
ในทวีปแอฟริกา สมัยก่อนปลูกกันมากที่แหลม Verde ในที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และเป็นแนวเขตรั้วบ้าน คอกสัตว์ หรือบริเวณหลุมฝังศพ เพื่อกันสัตว์ไม่ให้เข้าไปคุ้ยเขี่ย
สำหรับในประเทศไทย คาดว่าถูกนำเข้ามาในช่วงปลายสมัย กรุงศรีอยุธยาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส รับซื้อเมล็ดไปคั้นน้ำมันสำหรับทำสบู่ เพราะมีฟองอันเป็นลักษณะพิเศษ หลังจากนั้นได้มีการปลูกกันแพร่หลายในทุกภาคของประเทศไทย และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
มีรายงานว่า เคยมีการปลูกเป็นรั้วบ้าน ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
คนในสมัยก่อนใช้ยางใส ๆ ที่หักออกจากก้านใบ หรือส่วนยอดใช้ทาแผลสด โดยเฉพาะแผลที่ปากให้เด็ก ๆ ที่เป็นโรคปากนกกระจอก หรือใช้กวาดลิ้นเด็กที่เป็นฝ้าขาว และใช้เนื้อในเมล็ดสีขาวเลียบไม้ จุดแทนเทียนไข ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขาดแคลนน้ำมันก๊าดที่ใช้จุดตะเกียง




“ สบู่ ” เป็นภาษาโปรตุเกส หมายถึง ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้น้ำมันจากเมล็ดมาเป็นส่วนผสมในการทำสบู่ สำหรับชำระล้างร่างกาย และซักล้างเสื้อผ้า ของใช้ มีบันทึกไว้ว่าค้นพบโดย พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เดินเรือไปทวีปอเมริกากลาง และนำเข้ามาในทวีปเอเชีย และแพร่มายังประเทศไทย


และยังแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่นๆในเอเชียอีก ซึ่งแต่ละที่ก็จะเรียกชื่อต่างกัน อย่างชาวมาลายู จะเรียกว่า Dutch castor oil ตามประวัติศาสตร์ที่สมัยนั้นฮอลันดาเข้าครอบครองมาลายู ส่วนที่เกาะชวานั้นรู้จักกันในชื่อของ Chinese castor oil
คำว่า oil นี่เองที่ทำให้เห็นว่า สบู่ดำในยุคนั้นปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำมันในเมล็ด




ลักษณะทั่วไป
สบู่ดำเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 2-7 เมตร อายุยืนไม่น้อยกว่า 20 ปี
แต่ที่พบในจังหวัดแพร่และเลย มีอายุยาวนานถึง 50 และ 70 ปี



ลำต้น
เกลี้ยงเกลาอวบอ้วนแต่อ่อน ใช้มือหักออกได้ง่ายเพราะเนื้อไม้ไม่มีแก่น ลำต้นและยอดคล้ายละหุ่ง แต่ไม่มีขน เมื่อหักลำต้น ส่วนยอดหรือส่วนก้านใบจะมียางสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมา มีกลิ่นเหม็นเขียว



ใบ
คล้ายใบฝ้าย ใบพุดตาน แต่หนากว่า ใบหยักคล้ายใบละหุ่งแต่หยักตื้นกว่ามี 4 แฉก ใบที่งามเต็มที่ใหญ่ขนาดเท่าฝ่ามือ ก้านใบยาว



ดอก
เป็นช่อกระจุก ที่ข้อส่วนปลายของยอด ขนาดดอกเล็กสีเหลือง กลิ่นหอมอ่อน มีดอกตัวผู้มากและดอกตัวเมียน้อยอยู่บนต้นเดียวกัน









ผล
มีสีเขียวอ่อนเกลี้ยงเกลา เวลาสุกสีเหลืองคล้ายลูกจันทร์ ส่วนมากผลหนึ่งมี 3 พู ส่วน 2 พูมีน้อย โดยแต่ละพูทำหน้าที่ห่อหุ้มเมล็ดไว้ เมล็ดสีดำเล็กกว่าเมล็ดละหุ่งพันธุ์ลายขาวดำเล็กน้อย เมื่อแกะเปลือกจะเห็นเนื้อในสีขาว





ประโยชน์ของสบู่ดำ
ใบ ใบอ่อนสามารถนำมานึ่ง หรือต้มรับประทานได้อย่างปลอดภัย
เปลือกไม้ สามารถนำมาสกัดเอาแทนนิน (Tannin) ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังได้
ลำต้น ตัดเป็นท่อนต้มน้ำให้เด็กกินแก้ซาง ตาลขโมย ตัดเป็นท่อน แช่น้ำอาบแก้โรคพุพอง ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและทำรั้วป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าทำลายผลผลิต ใช้เป็นฟืนและถ่าน
ดอก เลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้ง




เมล็ด ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย กากเมล็ด ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจาก การหีบเอาน้ำมันไปใช้แล้ว จะนำมาอัดเป็นก้อน ส่วนนี้จะมีเคอร์ซิน (curcin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นพิษ เหมือนกับไรซิน (ricin) ในละหุ่ง
ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์ แต่เหมาะที่จะนำไปทำปุ๋ยหรือนำไป ทำเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสตีมเทอร์ไบน์ (Steam turbine) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ในเมล็ดสบู่ดำยังมีสารพิษรุนแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ คือ curcin, curcasin, phytosterols, resin และสารในกลุ่ม phorbol esters ทำให้มีผลต่อระบบทางเดินอาหารและการหายใจ จึงมีการสกัดสารจากเมล็ดไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารชีวภาพกำจัดแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดการเข้าทำลายของหนอนเจาะต้นข้าว

น้ำยางจากก้านใบ รักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือด แก้ปวดฟัน แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว โดยผสมกับน้ำนมมารดา ป้ายลิ้น หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น เบื่อปลา หรือเป็นของเล่น โดยเป่าน้ำยางสีขาวให้กลายเป็นฟองคล้ายฟองสบู่

ราก ใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ



น้ำมันเมล็ดของสบู่ดำ ประกอบไปด้วยน้ำมันประมาณ 35 – 40% เนื้อใน (kernels) ประมาณ 55 – 60% ดังนั้น “น้ำมัน” จึงเป็นผลผลิตที่สำคัญของสบู่ดำ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ ดังนี้
ทำเครื่องสำอาง และถนอมผิว น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ทาแก้โรคผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบรวมทั้งสามารถบรรเทาอาการปวดข้อ อันเนื่องมาจากรูมาตอยด์ได้ด้วยกรดไลโนอิคในน้ำมันเมล็ดในของสบู่ดำ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 36% มีความน่าสนใจในการนำไปทำเป็นครีมถนอมผิว
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช น้ำมัน และสารสกัดจากน้ำมันของสบู่ดำ สามารถนำมาใช้กำจัดศัตรูพืชได้ โดยมีตัวอย่างในการนำไปใช้ ควบคุมแมลงศัตรูฝ้าย โดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย ศัตรูผัก มันฝรั่ง และข้าวโพด สารสกัดเมธานอล (Methanol extracts) จากสบู่ดำ ซึ่งประกอบด้วยสารพิษบางชนิด มีการทดลองนำมาใช้ในการควบคุม พยาธิในหอยที่นำมาบริโภค
สบู่ กลีเซอรีนซึ่งเป็นผลพลอยได้จากไบโอดีเซล สามารถนำมาทำสบู่ได้ ขณะเดียวกันน้ำมันจากสบู่ดำล้วน ๆ ก็นำมาทำสบู่ได้เช่นกัน โดยมีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน




ในหนังสือ Wphysic nutW เขียนโดย Joachim Heller ที่พิมพ์เผยแพร่โดย IPGRI เมื่อปี ค.ศ. 1996 ได้กล่าวถึง การใช้ประโยชน์จากสบู่ดำไว้ในทำนองเดียวกัน ดังนี้
ใช้ทำยา ในหนังสือดังกล่าวระบุว่าทุกส่วนของต้นสบู่ดำ รวมทั้งเมล็ด ใบ และเปลือกไม้ ทั้งสดและ นำมาสกัดหรือต้ม สามารถนำมาทำยาพื้นบ้าน และยารักษาสัตว์ได้ โดยน้ำมันของ สบู่ดำมีฤทธิ์เป็น ยาระบาย และโดยทั่วไปนิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง รวมทั้งใช้ ทาแก้ปวดในคนที่เป็นโรค รูมาติสซั่ม ใบนำมาต้มน้ำดื่มแก้ไอ และใช้ฆ่าเชื้อโรคภายหลัง การคลอด น้ำในเนื้อเยื่อของต้นสบู่ดำ นำมาใช้ห้ามเลือด





ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และพาราสิตของหอย สารสกัดจาก ส่วนต่าง ๆ ของต้นสบู่ดำมีศักยภาพ ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะน้ำมันจากเมล็ด สารสกัดจากเมล็ด และฟอร์บอล เอสเตอร์ (Phorbol ester) จากน้ำมันสามารถนำมาควบคุมศัตรูพืชหลายชนิด ในหลายกรณีอย่างได้ผลดียิ่ง ทั้งในฝ้าย มันฝรั่ง พืชผัก ถั่วเขียว ข้าวโพด และข้าวฟ่าง น้ำที่สกัดจากใบของสบู่ดำ มีฤทธิ์ในการควบคุมเชื้อราที่เป็น พาหะนำโรคของพืชบางชนิด และมีผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ ระบุว่าเมล็ดสบู่ดำที่บดเป็นผงสามารถทำให้หอยมีปฏิกิริยา ต่อต้าน การอาศัยของพยาธิใบไม้ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลระบุว่า ในออสเตรเลียจัดให้สบู่ดำเป็นวัชพืช เนื่องจากมีการแพร่ขยาย อย่างกว้างขวางทั่วโลก และเป็นพืชที่เมล็ดมีพิษ ซึ่งต้องมีการ ควบคุมการปลูก



ทำสบู่ ในสมัยก่อน ใช้น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำในการผลิตสบู่ เนื่องจากมีการปลูกและสกัดน้ำมัน จากเมล็ดเป็นจำนวนมากในแหลม Verde ปัจจุบันในประเทศมาลี ก็มีการผลิตสบู่ จากน้ำมันสบู่ดำใช้กันอย่างแพร่หลาย ในท้องถิ่น โดยการนำน้ำมันมาต้ม กับโซดา
มีการทดลองในห้องปฏิบัติการของบริษัท ตาตา ออยล์ มิลล์ จำกัด (Tata oil Mills Co.Ltd.,) ในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย โดยการนำส่วนผสมที่ประกอบด้วยน้ำมันสบู่ดำที่มีส่วนผสม ของไฮโดรเจน (Hydrogenated Physic nut) 75% น้ำมันสบู่ดำบริสุทธิ์ 15% และ น้ำมะพร้าว 10% ผลิตเป็นสบู่ที่มีฟองมีค่าความเป็นกลาง ใช้สำหรับทำความสะอาดร่างกาย



พิษวิทยาของสบู่ดำ
โดย นันทวรรณ สโรบล
จากการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลของสถาบันการแพทย์แผนไทยพบว่าทุกส่วนของสบู่ดำมีความเป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่พบกับสัตว์ทดลอง ดังนี้




1.ใบ
มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและฆ่าพยาธิโดยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus, Bacilius และ Mcrococous
ยาง (sap) ที่ความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ และ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถฆ่าไข่พยาธิไส้เดือนดและพยาธิปากขอ และยับยั้งการเจริญของ ลูกน้ำยุง และยางจะมีความเป็นพิษสูงมากต่อหนูถีบจักรเมื่อเข้าทางปาก หรือฉีดเข้าร่องท้อง



2.กิ่งก้าน หรือส่วนต้น
จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง cytopathic effect ของเชื้อ HV โดยมีพิษต่ำ



3.ผล
ทดสอบกับปลาคาร์พ พบว่าพิษของ phorbol ester ทำให้ปลา เจริญเติบโตช้าลง มีมูกในอุจจาระและไม่กินอาหาร แต่ถ้าหยุดให้ phorbol ester ปลาจะกลับมาเจริญเป็นปกติ ได้ทดสอบกับตัวอ่อนในครรภ์ของหนู พบว่าผลสบู่ดำทำให้หนูแท้งได้



4. เมล็ด
สารพิษในเมล็ดคือ curcin มีฤทธิ์ต่อสัตว์หลายชนิดและมนุษย์ดังนี้
ฤทธิ์กับหนู พบว่าสารพิษ curcin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีน แต่ในทางกลับกันพบว่าในเมล็ดสบู่ดำ มีสารบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์เป็น tumor promoter กล่าวคือไม่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่มี ยีนผิดปกติเนื่องจากของสารก่อมะเร็ง แบ่งตัวอย่างรวดเร็วและอาจพัฒนา เจริญเป็นก้อนมะเร็งได้


พิษเฉียบพลันของเมล็ดสบู่ดำ
พิษกับหนู เมื่อให้ทางปากในหนูถีบจักร พบว่าทำให้หนูตาย เนื่องจากการคั่งในหลอดเลือด และ/หรือ เลือดออกในลำไส้ใหญ่ ปอด
พิษกับลูกไก่ พบว่าเมื่อนำเมล็ดมาผสมอาหารให้ลูกไก่กิน ทำให้ลูกไก่โตช้า ตับและไตโต
พิษในสัตว์ เช่น แกะ แพะ ทำให้ท้องเสีย ขาดน้ำ ไม่กินอาหาร และมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ปอด ไต หัวใจผิดปกติ มีเลือกออกหลายแห่งในร่างกาย
พิษที่พบในเด็ก ที่รับประทานเมล็ดสบู่ดำได้แก่ อาการกระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และขาดน้ำ
พิษที่พบในผู้ใหญ่ กรณีที่เป็นสายพันธุ์ที่มีสารเป็นพิษสูง หากรับประทานเพียงแค่ 3 เมล็ด ก็เป็นอันตรายแก่ระบบทางเดินอาหาร แต่บางพันธุ์รับประทานถึง 50 เมล็ดก็ไม่เป็นอันตราย



5.ราก
ฤทธิ์ต้านอักเสบ ผงรากเมื่อทาบนใบหูของหนูถีบจักร จะช่วยต้านอักเสบ จากการถูกสาร TPA ได้ และสารสกัดด้วยเมธานอลของผงราก เมื่อให้ทางปากจะต้านอักเสบของอุ้งเท่าหนูที่ได้รับสาร carrageenan

6.ยาง
ยางสบู่ดำทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น (พบในคน) แต่ถ้าเจือจางมาก ๆ จะทำให้เลือดไม่แข็งตัว

7.ไม่ระบุส่วน
ฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าสบู่ดำมีฤทธิ์ในการลด in vitroinvasion และเคลื่อนที่ และการหลั่งสาร เอ็นไซม์ matrix metallo proteinase ของเซลล์



แหล่งข้อมูล
1.กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์ไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย ปี 2548
2.Horiuchi,T.et al. 1987. Available: cancerres.aacjoumals.org/cgi/content/abstract/ 48/20/5800

3.Lin,J. et al. 2003. Available: www.ncbi.nim.nih.gov/entrex/query.fcgi.cmd=Retrieve& db=PubMed&ist uids=31062788
4. Kimgsbury,1964. Available: www.inchem.org/clocuments/pims/plant/jcurc.htm




สบู่ดำ เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งปัจจุบันมีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล
ในประเทศไทยที่ได้มีการทดลองใช้ใน เครื่องยนต์ดีเซล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 และพบว่า สามารถใช้ทดแทน น้ำมันดีเซลได้
เมล็ดสบู่ดำมีปริมาณน้ำมันร้อยละ 35 ของน้ำหนักเมล็ด    น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสบู่ดำ สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลกับเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้
ส่วนลำต้น ผล และเมล็ดจะมีกรด hydrocyanic และมีสารพิษ curcin ในเมล็ด




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.thaikasetsart.com
http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=15 ( กรมวิชาการเกษตร)
ประวัติสบู่ดำพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซล และเบนซิน โดยสุขสันต์ สุทธิผลไพบูลย์ และระพีพันธุ์ ภาสบุตร เอกสารโรเนียว(ไม่ระบุปีพิมพ์)
http://www.vcharkarn.com/varticle/38194
http://www.baanjomyut.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น