วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

วัดเมือง...เรื่องตั้วเหี่ย







เจ้าจอมมารดาอำภา ในรัชกาลที่ ๒ เกิดที่เมืองจีน

“ เจ้าจอมมารดาอำภา ” บุตรีของพระอินทรอากร หรือ นายอิน เศรษฐีจีนฮกเกี้ยนแซ่หลิม ( ออกเสียงว่า “ หลิม ” ตามสำเนียงฮกเกี้ยน ) ที่ทำมาค้าขายอยู่ในเมืองไทย โดยตระกูลของท่านล่องเรือสำเภามายังสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา
นายอินเป็นผู้มีความสามารถ มีสมองปราดเปรื่อง แม้มิได้สมัครเข้ารับราชการ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเรียกตัวใช้สอยเสมอ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอินทรอากร โดยมีเจ้าจอมมารดาอำภา เป็นบุตรตรีคนที่สาม
เจ้าจอมมารดาอำภา เกิดที่เมืองจีน มารดาเป็นจีนและเป็นเอกภรรยาของพระอินทรอากร ( ตามธรรมเนียมที่ต้องมีภรรยาหลวงไว้ที่เมืองจีน ) ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงต้องมัดเท้าให้เล็กอย่างคตินิยมของสตรีสูงศักดิ์ในสังคมจีนโบราณ ครั้นเมื่ออายุได้ แปด ขวบ ท่านบิดาจึงพาเข้ามาเมืองไทย ชื่ออำภานี้ ก็คงเป็นชื่อที่ใช้เมื่อมาอยู่เมืองไทยแล้ว
พระอินทรอากรนั้นอยู่เมืองไทยนานจนรู้ขนบประเพณีไทยดี โดยเฉพาะเมื่อได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงส่งบุตรีคนนี้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นละครรุ่นเล็กในวังหลวง เพราะตอนนั้นเจ้าจอมมารดาอำภามีอายุได้เพียง เก้่าหรือ สิบ ขวบเท่านั้น คือมาจากเมืองจีนไม่นานนัก แต่ท่านก็หัดรำละครจนเชี่ยวชาญและแสดงละครในเรื่องอิเหนาเป็นตัวนางกาญจหนา เรียกติดปากกันมาว่า “ อำภากาญจหนา” ยังปรากฏชื่อในทำเนียบครูโขนละครทุกวันนี้
ครั้นอายุเข้าสาวรุ่นท่านก็เข้าถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเห็นจะทรงโปรดท่านมาก เพราะทรงมีพระโอรสธิดากับท่านถึง 6 พระองค์
และพระโอรสองค์ที่ ๒ ก็คือ พระองค์เจ้าชายปราโมช ต้นตระกูลปราโมช ซึ่งเป็นปู่แท้ๆของม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากwww.oknation.net



ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( เป็นยุค จักรพรรดิ เจียชิ่ง และจักรพรรดิเต้ากวง จักรพรรดิลำดับพระองค์ที่ ๗ และ ๘ แห่งราชวงศ์ชิง ระหว่างพ.ศ. ๒๓๓๙-๒๓๙๓) มีชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะประสบปัญหาความอดอยากในประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ส่งเสริมให้ชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่โดยไม่จำกัดจำนวน เพราะต้องการประโยขน์ในการใช้ชาวจีนในกิจการต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการแรงงานชาวจีน

เจ้าจอมมารดาเรียมพระราชชนนีในรัชกาลที่สาม
ขอขอบคุณภาพจาก sanamluang2008.blogspot.com


ชาวจีนที่เข้ามาอยู่เมืองไทยได้มีการรวมกลุ่มกันตามชาติพันธุ์และภาษาทั้ง จีนกวางตุ้ง แคะ ไหหลำ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน เพื่อคอยให้ช่วยเหลือระหว่างกันในหมู่แรงงาน และมักมีการตั้งหัวหน้าที่ได้รับความนับถือกันในกลุ่มเรียกว่า 8ตั้วเหี่ยในภาษาแต้จิ๋ว หรือคำ ตั้วก่อในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า พี่ใหญ่ซึ่งคำนี้ใช้กันในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำ อั้งยี่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดอกไข่ดาวที่ด้านนอกกำแพงชั้นในของวัดเมือง

บรรดากลุ่มตั้วเหี่ยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมักกระจายอยู่ตามพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ปัญหาที่เกิดจากจีนตั้วเหี่ยมักเกิดในบริเวณดังกล่าว

การช่วยเหลือกันภายในกลุ่มพวกพ้องนี้มีหลายครั้งที่จีนตั้วเหี่ยดำเนินการไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มของตนจนกระทบกระทั่งกับกลุ่มอื่นกลายเป็นการวิวาทระหว่างกันทำให้ทางการต้องปราบปราม เช่น กรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗ (ปีที่หนึ่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว )ที่เมืองจันทบุรีเกิดจากการวิวาทระหว่างจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋ว

ต้นอินจัน ( ซึ่งมักถูกเรียกหาว่าต้นจันทน์ )อายุมากกว่า 174 ปี ที่วัดเมิองอยู่ในบริเวณหลังพระอุโบสถ ด้านข้างของพระวิหาร

จีนตั้วเหี่ยมักทำเรื่องขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองนครชัยศรีและเมืองสาครบุรี มีสมัครพรรคพวกประมาณ ๑,๐๐๐ คน เที่ยวตีชิงเรือลูกค้า และเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๘ จีนตั้วเหี่ยบริเวณหัวเมืองตะวันตกรวมตัวกันเป็นโจรสลัดตีชิงเรือลูกค้าสัญจรระหว่างเมืองปราณบุรีถึงเมืองหลังสวนจนไม่มีเรือลำใดกล้าแล่นผ่านบริเวณนี้ แต่ภายหลังทั้ง ๒ กลุ่มถูกทางการปราบปรามในที่สุด

ขณะเดียวกันปัญหาการค้าฝิ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บรรดาจีนตั้วเหี่ยเข้าไปพัวพัน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของแรงงานชาวจีน ทางราชการได้ปราบปรามอย่างหนักดังในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ มีการยึดฝิ่นจากหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกจำนวนกว่า ๓,๗๐๐ หาบ ก่อนส่งมาเผาทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อีกทั้งทางการได้ปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่ค้าฝิ่นด้วย เช่น การปราบปรามกลุ่มชาวจีนที่ปากน้ำบางปะกงเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ และในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสาครบุรีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นพระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นแม่ทัพถูกปืนถึงอนิจกรรม ส่วนฝ่ายจีนตั้วเหี่ยถูกปราบอย่างราบคาบเสียชีวิตกว่า ๓๐๐ คน

ประตูด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าพระอุโบสถวัดเมืองหันหน้าสู่แม่น้ำบางปะกง

จีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา
ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นโดยมีชาวจีนเป็นจักรกลสำคัญ แต่เวลาเดียวกันทางการต้องประสบปัญหาจากบรรดาจีนตั้วเหี่ยเกือบตลอดรัชกาล และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การจลาจลของจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่าครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

กำแพงเมืองเก่าของเมืองฉะเชิงเทราในปัจจุบัน

จีนเสียงทอง และจีนบู๊ คบคิดกันตั้งตัวเป็นจีนตั้วเหี่ย ต่อมาจีนเสียงทองได้วิวาทกับคนไทยและถูกจับต้องเสียเงินในเรื่องคดี จึงผูกใจแค้น จีนเสียงทองสามารถชักชวนจีนทุกกลุ่มภาษาในเมืองฉะเชิงเทราทั้งจีนแต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ มาเป็นกำลังของตน ต่อต้านขุนนาง รวบรวมคนจีนเข้าตีโรงงานน้ำตาลของคนจีนที่มีญาติเข้ารับรับราชการรวมถึงฆ่าจีนที่รับราชการตายและระดมพลคนจีนเข้าปล้นเมืองฉะเชิงเทรา เป็นช่วงเวลาที่เจ้าเมืองคือพระยาวิเศษฦาไชยกับกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ติดราชการที่เมืองกระบิล เหลือแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองไว้แต่แพ้พวกจีนตั้วเหี่ยจึงหลบหนีทิ้งเมืองไป

กระบอกปืนประจำกำแพงเมืองเก่าของเมืองฉะเชิงเทรา

จีนตั้วเหี่ยเข้าเมืองได้ก็จุดไฟเผาบ้านหลวงรวมทั้งบ้านเรือนราษฎรอีกหลายหลัง นำปืนใหญ่จำนวน ๓๕ กระบอก มาติดตั้งบนกำแพงเมืองอีกด้วย อีกทั้งยังส่งลูกน้องที่เหลือไปประจำการตามโรงหีบอ้อยต่างๆ นอกกำแพงเมือง ไม่เพียงเท่านั้น จีนเสียงทองยังมีแผนการที่จะหาคนมาเพิ่มขึ้นอีก เพื่อไปตีเมืองชลบุรีหวังใช้เป็นทางหลบหนีออกท้องทะเลหากทางเมืองหลวง ส่งกองทัพมาปราบปราม
การบุกโจมตีเมืองครั้งนี้ราษฎรชาวไทยหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ตามป่าเป็นอันมาก แต่มีราษฎรบางส่วนที่บ้านไทรมูลซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา นำกำลังเข้าโจมตีจีนตั้วเหี่ย สามารถเผาโรงน้ำตาลของหลงจู๊ไตและหลงจู๊ตั้วเถา จนกระทั่งพวกจีนบริเวณนี้บ้างต้องหลบหนีไปอยู่ในเมือง บางส่วนก็หลบหนีไปอยู่ทางตอนเหนือของเมือง

หัวมุมอีกด้านของกำแพงเมืองเก่าของเมืองฉะเชิงเทรา

เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นติดราชการที่เมืองสาครบุรีได้รับคำสั่งให้มาดำเนินการปราบปรามโดยเร็ว เจ้าพระยาพระคลังมีคำสั่งให้พระอินทรอาสา เจ้าเมืองพนัสนิคม นำไพร่พลล่วงหน้าไปก่อนและได้ปะทะกับฝ่ายของจีนเสียงทอง และสามารถขับไล่พวกจีนเหล่านี้ได้พร้อมกับเผาโรงงานน้ำตาลบางส่วนของพวกจีนตั้วเหี่ยไปด้วย แต่ทางทัพของพระอินทรอาสาก็ถูกฝ่ายหลงจู๊อะ หนึ่งในจีนตั้วเหี่ยนำกำลังเข้าโจมตีจนต้องถอยหนีไปตั้งมั่นที่โคกพนมดีที่เมืองพนัสนิคม ส่วนทางฝ่ายจีนเสียงทองได้เตรียมรับมือกองทัพของทางการด้วยการขุดสนามเพลาะในเขตเมืองฉะเชิงเทรามีความยาวประมาณ ๑๐ เส้น พร้อมทั้งตระเตรียมอาวุธเป็นอย่างดี



ต่อมากองทัพของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกออกจากเมืองสาครบุรีเข้าปราบปรามจีนตั้วเหี่ยจนแตกทัพกระจัดกระจาย ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กลับจากราชการทางเมืองเขมรได้ผ่านมายังเมืองฉะเชิงเทราจึงช่วยเจ้าพระยาพระคลังปราบพวกจีนตั้วเหี่ย ส่วนพระยาวิเศษฦาไชยซึ่งไปราชการที่เมืองกระบิลทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็รีบเดินทางมาช่วยปราบจลาจล และถูกพวกจีนตั้วเหี่ยสังหารระหว่างการสู้รบที่บางคล้า

อุโบสถวัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)

ฝ่ายราษฎรชาวไทยที่หลบหนีอยู่ตามป่าได้ออกมาช่วยต่อสู้กับพวกจีนตั้วเหี่ยและสังหารพวกจีนเหล่านี้เป็นอันมาก รวมทั้งเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้เคียงคือ เมืองพนัสนิคมและเมืองชลบุรี ได้เข้าช่วยปราบปรามระหว่างที่พวกจีนตั้วเหี่ยหลบหนี ประมาณกันว่ามีชาวจีนเสียชีวิตกว่า ๓,๐๐๐ คน

ด้านหลังของพระอุโบสถ (ทิศตะวันตก) และต้นจัน(หรืออินจัน )ต้นใหญ่

ทรงมีพระราชโองการว่า"อันการกระทำของตั้วเหี่ยคราวนี้เป็นขบถต่อแผ่นดิน และยังกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการฆ่าเจ้าเมือง อันเป็นตัวแทนต่างพระเนตรพระกรรณให้มาปกครองเมือง ให้ลงโทษประหารเชลยทุกคนและผู้ให้ความร่วมมือทั้งหมด และให้ไล่ตามจับกุมตั้วเหี่ยที่หนีตายจากฉะเชิงเทราไปอยู่ที่บางปลาสร้อยกลับมาประหารชีวิตทั้งหมด"

สถานที่ประหารชีวิตพวกตั้วเหี่ย ณ เวลานั้น ก็คือ บริเวณโคน "ต้นจันทน์" ใหญ่ของวัดเมือง เล่ากันว่าเหตุการณ์ชวนสยดสยองให้เวทนาน่าสงสารและแม้ว่าเหล่าตั้วเหี่ย จะส่งเสียงร้องร่ำไห้ขอชีวิตอย่างไร เหล่าเพชฌฆาตก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปโดยจับนักโทษมามัดติดกับหลักประหารและผลัดเปลี่ยนกันลงดาบนักโทษนับร้อย ๆ คน จนเลือดสาดกระจายเนืองนองไปทั่วหลักประหารในวัดเมืองส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งน่าสะอิดสะเอียนเป็นยิ่งนัก ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.matichon.co.th บทความของคุณ นนทพร อยู่มั่งมี

ต้นอินจัน (หมายถึงต้นจันทน์ ในบทความ ) และด้านข้างของพระวิหารกรมหลวงรักษ์รณเรศ

มีเรื่องราวของวัดเมืองและเรื่องราวของจราจลตั้วเหี่ยนี้เป็นบทความ ๒ ครั้งมาแล้วคือ
วันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เรื่องวัดเมือง...แดนประหารกบฏ "อั้งยี่"...ในรัชกาลที่ ๓
วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
เรื่อง ฉะเชิงเทรา” อัญมณีศรีลุ่มน้ำบางปะกง







นอกจากนี้มีเรื่องราวของวิญญาณเฮี้ยนที่วัดเมืองเล่าสู่กันมากมายตามเว็ปไซต์ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่น่าระทึกใจสะพรืงกลัว
พลอยโพยมเองเมื่อครั้งวัยเด็ก ก็ได่ยินข่าวเรื่องว่าที่วัดเมืองผีดุมาก จำฝังใจมาจนโตไม่เคยเฉียดไปหรือกรายใกล้ไปที่ภายในวัดเมืองเลยแม้จะมีคนบอกว่ามีต้นอินจันใหญ่อายุร้อยกว่าปี หากอยากได้ลูก อิน -จัน ร่วงหล่นโคนต้น ก็ไปเก็บได้ แม้จะรักชอบลูกอินจันมาก แถมโรงเรียนดัดดรุณีที่เข้าไปศึกษาชั้น ม.ศ.๑ ถึง ม.ศ. ๓ ก็อยู่ใกล้ติดกับวัดเมืองก็ตามที

ต้นอินจันในปัจจุบัน และภูมิทัศน์ปัจจุบันที่ไม่น่าสะพรึงกลัวอย่างสมัยก่อน

จนปีนี้วันหนึ่งต้องพาหลานสาวลูกของน้องชายไปเรียนพิเศษภาคฤดูร้อนของโรงเรียนอนุบาลวัดเมือง ต้องนำรถเข้าไปจอดภายในวัดเมือง ช่วงที่รอการจัดห้องเรียนของนักเรียนก็เลยเดินไปที่พระอุโบสถและถ่ายภาพภายในวัดเมือง
ปัจจุบันวัดจัดภูมิทัศน์ภายในแยกเป็นสองส่วน คือรักษาสภาพเดิมของวัดเมือง พระอุโบสถและสิ่งก่อสร้างของเดิมรวมทั้งพื้นที่โดยรอบแยกจากส่วนที่มีการก่อสร้างใหม่ ทั้งศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ สามเณร แม่ชีและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ไว้ออกจากกัน

ภาพกำแพงเก่าที่กั้นเขตถาวรวัตถุวัดสมัยใหม่และสมัยเก่า

พลอยโพยมเดินไปด้านพระอุโบสถเก่า ก็พบศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร หรือ อดีตพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งชาวแปดริ้วเรียกพระองค์ว่าหม่อมเกสร) ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเมืองนี้่เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากได้รับพระราชโองการให้สร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทราเมื่อครั้งที่ญวนเกิดฮึกเหิม หมายจะแย่งชิงอำนาจในการปกครองเขมรและสถาปนากษัตริย์เขมรจากไทย จนเกิดเหตุลุกลามกลายเป็นสงคราม “อานามสยามยุทธ” ระหว่างไทยกับญวนดำเนินไปได้ราว 1 ปี คือในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการเมืองฉะเชิงเทราจากเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำโจ้โล้ มาสร้างกำแพงเมืองใหม่ที่บ้านท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ชิดกับลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ป้องกันศัตรูได้อย่างดี หมายให้ช่วยรักษาเมืองหลวงให้พ้นภัยจากข้าศึก

ศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ

กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระองค์เป็นที่เคารพของชาวบ้านและเหล่าพ่อค้าคนจีน เขื่อกันว่าหากผู้ใดขอประทานสัมผัสถูกต้องพระแสงดาบจะมีบารมีเอาชนะศัตรูคู่แข่งขันต่าง ๆ

รูปปั้นกรมหลวงรักษ์รณเรศในชุดออกศึก

เมื่อพลอยโพยมเดินผ่านศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งอยู่ด้านช้างซุ้มประตูสู๋ซุ้มประตูพระอุโบสถเก่าแก่ของวัดเมืองซึ่งมีกำแพงเก่าแก่บ่งบอกว่าน่าจะสร้างพร้อม ๆ กับการสร้างวัดในครั้งแรก ด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีวิหารเล็ก ๒ หลัง ด้านซ้ายและขวา และมีซุ้มวางเสมารอบพระอุโบสถ













ด้านหลังพระอุโบสถ(ทิศตะวันตก) มีต้นอืนจันต้นใหญ่ โคนต้นมีรูปั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ อยู่บนพื้นลานซีเมนต์ยกระดับสูงกว่าลานพื้นรอบพระอุโบสถ หลังต้นอินจัน มีด้านข้างวิหารรูปทรงคล้ายพระอุโบสถ เมื่อเดินไปหาป้ายชื่อ มีตัวอักษรเขียนด้วยสีขาวบนหน้าบันแผ่นไม้ว่า "พระวิหารกรมหลวงรักษ์รณเรศ "วิหารนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือ จึงมีลักษณะรูปทรงสร้างขวางทิศทางกับพระอุโบสถ



พลอยโพยมพบว่ามีพระภิกษุ สองสามองค์ เดินหายเข้าไปในพระวิหารหลังนี้ ก็ติดตามเข้าไป ลักษณะภายในก็คล้ายกับพระอุโบสถ มีแท่นยกสูงจากพื้นวิหาร มีพระประธานและพระพุทรูป เนื้อทองสำริดสมัยสุโขทัย จำนวน ๔ องค์ ตามประวัติว่ามีพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยสำริด และภาพมงคล ๑๐๘ หล่อในสมัยรัชกาลที่สาม แต่พลอบโพยมไม่พบเห็น (เพราะไม่ได้สังเกตในเรื่องนี้)



มีพระภิกษุ แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา สวดมนต์ทำวัตรเช้ากันอยู่




พลอยโพยมได้เรียนสอบถามแม่ชีลำดวน เทียนวงศ์ ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี มีอายุการบวชเป็นแม่ชีที่วัดเมืองนี้ มา ๖๒ ปี ส่วนอุบาสกชื่อคุณลุงวินัยเป็นมรรคทายกของวัดเมือง
พลอยโพยมเรียนถามแม่ชีลำดวนด้วยความสงสัยอย่างเหลือประมาณว่า ที่บริเวณต้นอินจันอายุมากกว่า ร้อยเจ็ดสิบสี่ปี( ถึงปีพ.ศ.๒๕๕๖ นี้) ถูกขนาบข้างด้วยพระอุโบสถและพระวิหาร และอีกสองด้านที่เหลือก็มีพื้นที่ไม่มากนักก็ถูกล้อมกรอบด้วยกำแพง ด้วยพื้นที่อย่างนี้ในสมัยที่มีการประหารพวกอั้งยี่ (คำว่าตั้วเหี่ยนั้น คนทั่วไป ๆ จะเรียกตั้วเหี่ยในรุ่นที่ก่อการจราจล รัชกาลที่สามว่าอั้งยี่กัน) มีข้อมูลว่าประหารที่บริเวณ โคนต้นอินจัน คนจีนที่ถูกประหารมีมากมายก่ายกอง เลือดท่วมนองพื้นไปทั่วบริเวณ ทำไมจึงมาประหารใกล้ ๆ กับพระอุโบสถอย่างที่อ่านพบมา

ด้านหลังต้นอินจัน มีพื้นที่ไม่มากนักก็ติดกำแพง



ต้นอินจัน ถูกขนาบข้างด้วยพระอุโบสถและพระวิหาร ส่วนด้านหน้าต้นอินจันก็มีพื้นที่ไม่มากนักก็ติดกำแพงอีกเช่นกัน



แม่ชีลำดวนเล่าว่า คุณแม่ของแม่ชีลำดวนเป็นแม่ชีบวชที่วัดเมืองนี้เช่นกันท่านมีอายุุ ๙๐ ปี ชื่อแม่ชีไหม เทียนวงศ์ แม่ชีไหมเล่าให้แม่ชีลำดวนฟังว่า ได้รับการบอกเล่าเรื่องการประหารคนจีนที่ก่อจราจลในครั้งนั้นว่า ( แม่ชีเรียกว่าพวกอั้งยี่่) ลานประหารไม่ใช่บริเวณโคนต้นอินจันและไม่ใช่บริเวณภายในชั้นในของวัด วัดมีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันเป็นทางสามแพร่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนการช่างสตรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอาชีวศีกษาและเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาในปัจจุบัน พื้นที่ของวิทยาลัยนี้เป็นรูปสามเหลี่ยมภายในวิทยาลัยมีเจดีย์ใหญ่สีขาวตั้งอยู่บนพื้นที่ มีถนนขนาบหน้าหลัง ด้านหลังของวิทยาลัยซึ่งเป็นทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ซึ่งเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราขอใช้พื้นที่จากวัดเมืองจัดภูมิทัศน์เขื่อนริมน้ำที่ร่มรื่นสวยงามอยู่ในปัจจุบัน ลานประหารในครั้งนั้นอยู่บริเวณทางสามแพร่งเพราะทรงโปรดว่า ไม่ต้องการให้เลือดพวกกบฎตกต้องบนพื้นดินจึงให้มีการประหารใกล้ริมฝั่งน้ำ เพื่อให้สามารถชะล้างเลือดเหล่าคนจีนลงแม่น้ำไป และการประหารก็มิได้นั่งมัดติดกับหลักประหารแต่เป็นการจับให้นอนเรียงเป็นแถว อาวุธที่ใช้ประหารเป็นง้าวใหญ่ ซึ่งง้าวใหญ่นี้เก็บไว้ที่วัดทันที่แม่ชีไหมเคยพบเห็น ต่อมามีการเรียกง้าวนี้ไปเก็บในกรุงเทพฯ
ส่วนที่บริเวณต้นอินจันในปัจจุบันมีแท่นปูนสี่เหลี่ยมผืนผ้าและขอนหนุนศรีษะปั้นตั้งไว้ที่นักท่องเที่ยวมาพบเห็นแล้วก็งง งง ว่าสิ่งนี่คืออะไรนั้น แม่ชีลำดวนเล่าว่าเป็นการสร้างจำลองขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์การประหารคนจีนในสมัยนั้นว่าเป็นการจับนอนหนุนขอนที่ศรีษะประหารชีวิต

คุณวินัย มรรคทายก ก็เล่าเสริมว่า ผู้คนก็เอาเรื่องการประหารชีวิตไปเขียนกันเองว่าประหารภายในวัดที่โคนต้นจันทน์ ( คืออินจัน)


ด้านหลังของต้นอินจัน มีภาพแท่นประหารจำลองสีเขียว ๆ



พลอยโพยมคิดว่ามีเหตุผล ที่มีการประหารนอกเขตพระอุโบสถที่มีอุโบสถและวิหารอยู่สองซีกด้านของต้นอินจัน ส่วนอีกสองด้านก็เป็นพื้นที่มีที่ว่างไม่มากเพราะติดกำแพง หากมีการประหารแถวต้นอินจันจริง เลือดของผู้ถูกประหารก็จะเนืองนองอยู่รอบ ๆ พระอุโบสถและพระวิหาร



พลอยโพยมลองเดินดูกำแพงรอบ ๆ พระอุโบสถและพระวิหาร พบว่าอิฐที่ใช้ก่อสร้างกำแพงเหล่านี้เป็นน่าจะเป็นอิฐเก่ารุ่นกรุงศรีอยุธยา







แต่การใช้คำว่าประหารภายในวัดเมืองก็ถูกต้องเพราะอาณาเขตของวัดเมืองกินพื้นที่ไปจดริมแม่น้ำ ลองพิจารณาตามภาพที่พลอยโพยมไปถ่ายมาว่ามีเหตุผลตามที่แม่ชีลำดวนเล่าสู่ให้ฟังหรือไม่


ลานกว้างหน้ากำแพงและประตูเข้าสู่พระอุโบสถ ซึ่งยังอยู่ในกำแพงวัดชั้นนอก คำว่ากำแพงวัดชั้นนอก หมายถึงกำแพงที่สร้างกั้นอาณาเขตวัดทั้งหมดทั้งศาลาการเปรียญ หอระฆัง กุฏิพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยมีกำแพงชั้นในกั้นพระอุโบสถ พระวิหารกรมหลวงรักษ์รณเรศ วิหารเล็ก สองวิหาร เจเดีย์ พระปราค์ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านสร้างบรรจุอัฐิคนในตระกูลปะปนกันอยูในกำแพงชั้นใน ส่วนพระปราค์ของเดิมรุ่นสร้างวัด มีเพียงพระปราค์มุมกำแพงแก้วรอบพระวิหารเพียงสี่องค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น







เจดีย์ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา





บริเวณทางสามแพร่งปัจจุบันเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา





ต้นมะขามใหญ่ท้ายวัด



ทางวัดได้ว่าจ้างคนมาตัดแต่งกิ่งต้นมะขามใหญ่ต้นใหญ่ในปีนี้เอง คนที่มารับจ้างตัดต้นมะขามเป็นชายอายุเพียงยี่สิบปีเศษ ๆ หลังจากรับเงินค่าจ้างไปเรียบร้อยแล้ว ก็ป่วยกระเสาะกระแสะ เงินค่าจ้างที่ได้รับมาไม่พอกับค่ารักษาตัว ต้องไปหาหมอรักษาตัวกันเป็นเดือน ๆ ตามอาการต่าง ๆ คนรุ่นใหม่มักใจกล้าและไม่เชื่อเรื่องอาถรรพ์ ทำให้พลอยโพยมย้อนระลึกถึงเรื่องเล่าขานของการตัดต้นไม้ที่ดงพญาไฟ หรือที่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าดงพญาเย็นบริเวณป่าเขาใหญ่เพื่อการสร้างทางรถไฟจากรุงเทพฯ ไปจังหวัดนครราชสีมา มีผู้คนล้มตายกันมากจากไข้ป่า รวมถึงคนที่เป็นผู้ลงมือตัดต้นไม้ใหญ่ด้วยจนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงประกาศว่า ผืนแผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ทรงใคร่จะทะนุบำรุงดูแลความเป็นอยู่ของพสกนืกรของพระองค์ให้ดีขึ้น ทรงขอให้เทพพยดาอารักษฺ์และผู้สิงสถิตตามต้นไม้ซึ่งจำเป็นต้องตัดโค่นลงยินยอมให้มีการตัดต้นไม้นั้น ๆ ได้ กรมป่าไม้ต้องนำตราครุฑตีตราประทับที่ต้นไม้ต้นที่ต้องการตัดก่อน จึงสามารถตัดโค่นต้นไม้ลงได้ โดยผู้ลงมือตัดไม่เจ็บป่วยล้มตายเหมือนแต่ก่อนจนการก่อสร้างทางรถไฟสำเร็จลุล่วงลงได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น