วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

เดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียน 4





ถนนนี้ยกสูงขึ้นจากผืนนามาก สองข้างทางเป็นป่าสะแกและพันธุ์ไม้อื่น ๆ เช่น ต้นหว้า ต้นชำมะเลียง มะกล่ำ และอื่น ๆ บางแห่งก็เป็นแอ่งน้ำ ถ้าเป็นแอ่งใหญ่ลักษณะหนองน้ำก็มีบัวสายสีแดงชูก้านอวดโฉมไฉไล (หากเป็นเส้นทางเดินสวน ก็มีบัวสายตามท้องร่องสวนบางร่องสวนเหมือนกัน ) ตามหนองน้ำเล็ก ๆ ก็มีทั้งบัวผัน บัวเผื่อน เป็นเพื่อนการเดินทางเป็นระยะๆ หากอยากได้ก็ต้องไต่ถนนลงไปเก็บ ดอกบัวพื้นเมืองนี้ดอกเล็ก ๆ น่ารักมาก ส่วนต้นโสนก็จะพบตามริมคูน้ำของท้องนาดอกห้อยเหลืองอร่ามงามตา ช่อดอกแกว่งไกวไหวตามลมที่พัดโชยมาแรง ๆ

ดอกบัวเผื่อน


ดอกโสน

แนวสะแกข้างทาง (ข้างถนนในปัจจุบัน)

ดอกสะแก

เส้นถนนนี้พอจะมีชำมะเลียงและลูกหว้า ล่อตา ล่อใจ อยู่บ้าง แต่การไต่ลงจากพื้นถนนมุดเข้าไปในดงสะแกก็เป็นของยากอยู่ไม่น้อย แต่ชำมะเลียงยังเป็นพรรณไม้ต้นไม่ใหญ่ลักษณะกึ่งอิงอาศัยไม้ใหญ่ จึงไม่เกินความพยายามของผู้ที่ตั้งใจจะเก็บพวงชำมะเลียง

ชำมะเลียง


ลูกหว้า

หากแต่ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้สูงใหญ่ เกิดเองตามธรรมชาติจากการที่นกกาเป็นผู้ช่วยแพร่พันธุ์ ผลของหว้าที่ติดอยู่กับต้นก็เกินความสามารถที่พลอยโพยมจะถ่ายภาพมาได้ แต่ก็อยากสื่อภาพลูกหว้าให้เด็ก ๆ ในเมืองได้รู้จัก ลักษณะของลูกหว้าและผลชำมะเลียง หากไม่เห็นติดกับต้น เห็นผลที่เก็บมาแล้วไม่เห็นพร้อมกัน เด็กๆ ในเมืองก็คงแยกไม่ออก

ด้านซ้ายคือชำมะเลียง ด้านขวาคือลูกหว้า


ต้นหว้า เป็นไม้มีขนาดต้นสูง 10- 35 เมตร

ถนนคันดินเส้นนี้ ตัดตรงเข้าสู่ด้านหลังของอาคารตึกของโรงเรียนไม่ต้องผ่านวัด


ถึงโรงเรียนเสียที เป็นด้านหลังของโรงเรียน

ด้านหน้าของโรงเรียนในปัจจุบัน ยังคงใช้เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา
ส่วนโรงเรียนมัธยม แยกไปสร้างใหม่ ในบริเวณทุ่งนาหลังคันถนนดิน

ปัจจุบันถนนเส้นที่พลอยโพยมเคยเดิน และทุ่งนาที่เคยเดินลัดตัดนามาจากบ้านลุงช้อย กลายเป็นถนนลาดยางไปหมดแล้ว พลอยโพยมทั้งหลับตา ลืมตามองถนนคันดินเดิม นึกแล้วก็สงสัยว่าใช่เส้นถนนที่เราเคยเดินหรือไม่ คิดไปคิดมาขับรถไปสำรวจสร้างจินตภาพขึ้นมา สรุปว่าไม่น่าใข่ ก็จอดรถลงไปสำรวจว่า ลักษณะถนนอย่างนี้เวลาที่พลอยโพยมอยากลงไปเก็บดอกบัวเผื่อนไม่เห็นต้องใช้การป่ายปีนเลยสักหน่่อย





แล้วพลอยโพยมก็ได้คำตอบว่า พลอยโพยมเก่งจริง ๆ ที่จำถนนในอดีตได้ว่ามันยกคันถนนสูงมากกว่าในปัจจุบัน ถนนในขณะนี้นั้นทำขึ้นใหม่เลียบแนวคันถนนดินคันเดิม เมื่อไปถามพี่สุกัลยา นาคะพงศ์ รุ่นพี่และเป็นบุตรสาวอดีตกำนันตำบลบางกรูด พี่สุกัลยาตอบว่าถูกต้องแล้วคร๊าบ คนละเส้นกันคร๊าบ ก็คุ้มค่าที่พลอยโพยมลงทุนมุดป่าสะแกเข้าไปสำรวจมา ซึ่งต้องปีนขึ้นปีนลงอย่างสมัยเด็ก ๆ เลยทีเดียว เหงื่อชุ่มโชกเปียกโซกกลับมาขึ้นรถเชียวนะนี้







แต่คันถนนดินนี้เหลือร่องรอยเพียงบางส่วนเท่านั้น บางส่วนกลายเป็นบ้านคน บางส่วนเป็นโรงเรียนมัธยมผาณิตวิทยาไปเสียแล้ว

ปัญหาว่าการที่นักเรียนเดินตีนเปล่าไปโรงเรียนเวลาขึ้นอาคารเรียนทำอย่างไร
โรงเรียนเคยมีบ่อน้ำกว้างหน้าอาคารเรียน สำหรับหน้าฝนเราต้องหาที่สะบัดดินให้หลุดจากเท้าให้เหลือน้อยที่สุด ไปที่บ่อน้ำปีนลงไปแกว่ง ๆ เท้าในน้ำให้ดินหลุดออกไป แล้วกลับมาที่อาคารเรียน อาคารเรียนจะมีที่ล้างเท้าให้เหมือนตามวัดในสมัยโบราณ ลักษณะก่อปูนเป็นแอ่งสี่เหลี่ยม ภารโรงต้องเตรียมน้ำใส่ไว้ นักเรียนก็ลงไปล้างเท้าในแอ่งนี้

แต่ส่วนมาก แอ่งล้างเท้านี้ จะมีแท่นวางเท้าตรงกลางแอ่ง สำหรับวางเท้าที่ล้างเศษดินออกหมดแล้ว ปัจจุบันแอ่งล้างเท้าแบบนี้ถูกทุบทิ้งหมดแล้ว ภาพที่เห็นเป็นแอ่งล้างเท้าบ้านคุณปู่ของใบเตยและใบไผ่ที่หลงเหลืออยู่หากพลอยโพยมหาภาพที่มีแท่นวางเท้าได้จะนำมาสื่อเพิ่มเติมให้
หากสงสัยว่าแอ่งนี้จะทำให้เท้า หรือตีน ของคนล้างสะอาดไหม คำตอบคือ ไม่ถึงคำว่าสะอาด เพราะคนร้อยแปดพันเก้าเอาเท้าลงไปล้างในแอ่งเดียวกัน ต้องมีคนขยันเปลี่ยนน้ำให้ด้วยการเติมน้ำใหม่ลงไปมาก ๆ บ่อย ๆ และต้องมีผ้าขี้ริ้วให้เช็ดเท้า ไม่อย่างนั้น พื้นที่เดินก็จะเป็นรอยเท้า หรือรอยตีน คนเดิน แต่ถ้ามีผ้าให้เช็ดจะแห้งหรือหมาด ๆ ก็จะไม่มีรอยตีนคนเดินบนพื้น
คำว่าร้อยแปดพันเก้าของพลอยโพยม หมายถึง นักเรียนทุกคนทั้งอาคาร คุณครู ภารโรง ผู้ปกครอง ( ที่มาส่งเด็กเข้าโรงเรียนใหม่) และอื่น ๆ ที่ใช้คำว่าร้อยแปดพันเก้าเพื่อให้สัมผัสกับคำว่า เอาเท้า นั่นเอง



หมายเหตุ
ร้อยแปดพันเก้า” ที่คำโบราณท่านหมายความว่า “จำนวนมากมาย-หลายอย่าง-และต่างชนิดตั้งร้อยแปดหรือพันเก้าอย่าง” แม้บางทีอาจจะพูดสั้นแค่ “ร้อยแปด” ก็มี ก็ได้ความหมายเหมือนกัน
ในพจนานุกรมมีสำนวนที่ขึ้นต้นด้วย “ร้อย” ที่หมายความว่ามาก เช่น
“ร้อยทั้งร้อย” หมายถึงเป็นเช่นนั้นทั้งหมดทั้งสิ้น
“ร้อยลิ้นกะลาวน” หมายถึงคนที่ชอบพูดกลับกลอกตลบตะแลงจนตามไม่ทัน
“ร้อยสีร้อยอย่าง” หรือ “ร้อยสีพันอย่าง” หมายถึงต่างๆนานา
“ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมือง” หรือ “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” หรือ “ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร” หมายความว่าทุกหนทุกแห่ง (ดังในนิทานเรื่องสังข์ทองที่ว่า ท้าวสามลให้เสนาอำมาตย์ไปประกาศให้ชายหนุ่มทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองมาให้พระธิดาทั้งเจ็ดเลือกเป็นคู่ครอง แสดงว่าให้มาทั่วทุกแห่งหน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=472cc2ae8b9d0950&pli=1

4 ความคิดเห็น:

  1. สมัยเด็ก(เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว) ช่วงปิดเทอมไปเที่ยวบ้านป้าที่โรงสีล่าง อยู่หลายปี ลูกๆของป้าก็เป็นลูกผาณิตกันทุกคน ได้อ่านหนังสือผาณิตอนุสรณ์เล่มเดียวกับของคุณพลอยโพยม พอเห็นรูปที่ลงในบล็อกก็จำได้ ป้าผมขายก๋วยเตี๋ยวอยู่แถวโรงเลื่อยข้างโรงสี เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูที่อร่อยที่สุดเท่าที่ลิ้มรสมาในชีวิต วันไหนที่มีเรือหอยแมลงภู่ขึ้นมาจากบางปะกง ก็จะได้รับประทานข้าวต้มหอยแมลงภู่เป็นมื้อเที่ยงโดยฝีมือป้าเลี้ยงแม่ครัวโรงสี ป้ากับลุงย้ายมาอยู่ที่เรือนไทยของย่าผึ้ง โดยการอนุญาตของทายาทรุ่นหลัง(คุณชนินทร์) เพื่อให้ช่วยดูแลจะได้ไม่ร้าง ปัจจุบันทราบว่าแถวนั้นเปลี่ยนสภาพโดยสิ้นเชิง..

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เรือฉลอม จากบางปะกงล่องเอาหอยแมงภู่มาขายถังละ 50 สตางค์ (ขนาดถังตวงข้าวค่ะ) ต่อมาก็เป็นถังละ 1 บาท ที่บ้านพลอยโพยมซื้อมาต้มข้าวต้มหอยแมงภู่บ้าง ทอดเป็นหอยทอดกับแป้งมันบ้าง นึ่งบ้าง ( เด็ก ๆ ในบ้านเพียบเลยค่ะ ) จำไม่ได้ว่าคุณยายซิ้อกี่ถัง ถังเดียวไม่น่าพอกับปริมาณเด็ก ๆ น่ะค่ะ

      ความรุ่งเรืองของชุมชนแถบนี้เลือนหายไปกับกาลเวลา สมดังที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสไว้ว่า กาลย่อมกลืนกินสรรพสิ่ง รวมทั้งตัวของมันเองด้วย

      ลบ
  2. ได้ทราบว่าเพื่อนร่วมรุ่นป.๔ ผาณิตฯคนหนึ่งของคุณพลอยพโยม ก้าวหน้าสุดยอดได้เป็นถึงคณบดีของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ ท่านคือ

    ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และประธานสภาสถาปนิกอาเชียน (จากวิกิพีเดีย)

    เคยเห็นอาจารย์พงศ์ศักดิ์สมัยก่อนโน้นแถวๆโรงสีล่าง เป็นเด็กชายตัวเล็กๆผิวขาวๆ มาซื้อขนมที่ร้านป้าเส่งข้างๆโรงสี

    ขอร่วมภาคภูมิใจกับโรงเรียนและศิษย์ผาณิตทุกคนด้วย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. พลอยโพยมขอเรียกตัวเองเป็นเด็กวัดผาแทนผาณิตนะคะ ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ หรือคุณปู่ย กับพลอยโพยม เป็นคู่แข่งการสอบได้ที่1 กันมาตลอดจนจบชั้น ป.สี่ เลยค่ะ คุณดร. ปุ๋ย รูปร่างผอมบางแทบปลิวลมเป็นน้องชาย พี่พักตร์ผจง คนเรียนเก่งและคนสวยประจำทุกโรงเรียนและที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นดรัมเมเยอร์ด้วยนะคะท่านก็เป็นอาจารย์อยู่คณะบัญชีจุฬา

      ลบ