วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๘


พุทธคยา ๘
สิ่งสำคัญในบริเวณใกล้เคียง

๓. ภูเขาดงคสิริ

สถานที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นเวลา ๖ ปี



ดงคสิริ

ดงคสิริเขา ทอดยาวมองเห็นแต่ไกล แม้ห่างจากพระมหาเจดีย์พุทธคยา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๗ กิโลเมตร ต้องข้ามแม่น้ำเนรัญชราไป เดินผ่านทุ่งนาโล่ง และหมู่บ้านเล็ก ๆ ๔-๕ หมู่บ้าน จึงจะมองเห็นหน้าผาสูงชันบนทิวเขาใหญ่ทอดยาวเป็นพืดไปไกล 





หากไม่ใช่เพราะความเชื่อมั่นในความเสียสละอันใหญ่หลวงของพระพุทธองค์แล้ว แม้จะนำเสลี่ยงคานหามมารับก็ยังแทบไม่มองด้วยซ้ำไป เพราะกว่าจะเดินถึงก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กว่าจะปีนขึ้นไปถึงปากถ้ำบำเพ็ญทุกรกิริยา ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที ทางขึ้นเป็นหินปูน บางแห่งเสริมด้วยคอนกรีต ซึ่งพระลามะชาวธิเบตพากันสร้างไว้ เมื่อขึ่้นไปจะมีวัดลามะธิเบต สงฆ์สายมหายานอยู่ประจำ


ถ้ำเป็นโพรงตื้น ๆ ยาวประมาณ ๔ เมตร กว้างประมาณ ๓ เมตร แขกฮินดูนำเทวรูปศิลาสีดำไปตั้งไว้ เคยมีชาวพุทธไทยสร้างรูปปั้นพระมหาบุรุษปางบำเพ็ญทุกรกิริยาไว้ในถ้ำ ๑ องค์ และโจรใจบาปได้อาราธนาไปแล้ว



สถานที่นี้เชื่อกันว่าเป็นที่ที่พระมหาบุรุษทรงพำนักในระหว่างบำเพ็ญทุกรกิริยา คือ การทรมานพระองค์อย่างแสนสาหัส แบบอัตกิลมถานุโยค ตามความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นว่าสามารถหลุดพ้นได้จริง จึงทรงกระทำทุกรกิริยาด้วยประการทั้งหลาย ทรงอดอาหารจนพระสรีระซูบซีดเศร้าหมอง เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก

ครั้งนั้นพระอมรินทราธิราชทรงกระทำนิมิตหมายด้วยการทรงพิณทิพย์ ๓ สาย ดีดถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนักเมื่อดีดก็ขาดสะบั้นลง อีกสายหนึ่งหย่อนนัก เมื่อดีดก็ไม่บรรลือเสียง ส่วนอีกสายหนึ่งไม่ตึงไม่หย่อน ครั้นดีดแล้วก๋ส่งเสียงไพเราะเสนาะโสตเป็นที่เจริญจิต




พระมหาบุรุษทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่าทางสายกลางเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นได้จริง มัชฌิมาปฏิบัติเป็นหนทางโพธิญาณโดยแท้ จึงควรขบฉันซึ่งภัตตาหารบำรุงพระสรีระให้มีพละกำลังเจริญจิตภาวนา เมื่อจิตใจสะอาดผ่องใสคิดอะไรก็ปลอดโปร่ง เป็นทางที่ถูกต้องทางธรรมชาติ จึงทรงจับบาตรเสด็จโคจรบิณฑบาตในคามนิคมเช่นดังแต่ก่อน





เมื่อกลับมาทรงเสวยภัตตาหารบำรุงพระวรกาย ทำให้ปัญจจวัคคีย์ที่เฝ้าอุปัฏฐากพระมหาบุรูษเห็นพระองค์สละเสียซึ่งอุกฤษวิริยะเช่นนั้นเข้าใจว่าสิ้นหนทางตรัสรู้โพธิธรรม หันมาบำเพ็ญตนเป็นคนมักมากในการกินอยู่เสียแล้ว ก็สิ้นศรัทธาเลื่อมใส ละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่่าอิสิปตนมฤคทายวัน

.ภูเขาคยาสีสะ
สถานที่แสดงธรรมอาทิตปริยายสูตรโปรดชฎิล สามพี่น้องและบริวาร ๑,๐๐๐ สำเร็จพระอรหันต์




คยาสีสะ แปลว่าลักษณะคล้ายหัวช้าง ภูเขาลูกนี้มีลักษณะคล้ายหัวช้างที่กำลังนั่ง ชาวอินเดียบอกว่าเหมือนอสุรคยาคว่ำหน้าลง นอกจากเป็นสถานที่ที่พระพุทธงค์ทรงแสดงธรรม อาทิตตปริยายสูตร โปรดชฎิล ๑,๐๐๓ คน บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่พระเทวทัตทำสังฆเภท โดยพยายามสร้างวินัยขึ้นใหม่ มีการเผยแผ่วินัยใหม่ของตนเองอย่างกว้างขวาง จนมีผู้เห็นตามคำชักชวนนั้น พระเทวทัตไ้ด้ภิกษุชาววัชชี จำนวน ๕๐๐ รูป มาพักที่นี่เพื่อจะกลับไปกรุงราชคฤห์ที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่นั่น

ในกาลนั้นพระพุทธองค์รับสั่งให้พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมาเกลี้ยกล่อมภิกษุที่เห็นผิด กลับใจได้ทุกรูป แล้วพระเถระทั้งสองจึงนำภิกษุทั้งหลายกลับไปเฝ้าพระพุทธองค์ โดยที่พระเทวทัตไม่รู้เนิ้อรู้ตัว

หลวงจีนถังซำจั๋งได้เห็นสถูปที่สร้างถวายตระกูลกัสสปะ ทั้ง ๓ พี่น้อง และวิหารหลังหนึ่งที่พระเจ้าอาชาตศัตรูสร้างถวายแก่พระเทวทัต ด้วย
สำหรับสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่ชฏิลจนบรรลุพระอรหันต์ ยังคงมีชื่อเรียกว่าคยาสีสะเหมือนในพุทธกาล โดยมีสถูปเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในจุดที่ชื่อว่าเป็นสถานที่พระพุทธองค์แสดงธรรมในครั้งนั้นด้วย

วัดไทยพุทคยา

ตั้งอยู่ตำบลโพธิคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร ถือเป็นต้นแบบวัดไทยในสายต่างประเทศ องค์ประกอบเป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ พร้อมด้วยศิลปกรรมที่เป็นเอกล้กษณ์ไทย มีพระอุโบสถที่งดงามเป็นเลิศได้แบบมาจากวัดเบญจมบพิตร ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชมพูทีปนิวัตรสุโขทัย และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม



นอกจากนี้ในเขตปริมณฑลพุทธคยา ปัจจุบันนี้เหมือนมหาสังฆาราม เป็นที่รวมของวัดในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธทั้งสายมหายานและสายเถรวาท สร้างด้วยความเป็นเลิศของศิิลปะสถาปัตยกรรมของประเทศตน จนเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรแห่งพุทธศานิกนานาชาติ

เช่นส่ายเถรวาท ประกอบไปด้วยวัดไทย วัดพม่า วัดลังกา วัดสงฆ์อินเดีย วัดโพธิ์คำอัสสัม วัดสงฆ์บังคลาประเทศ

สายมหายานประกอบด้วย วัดจีน วัดธิเบต วัดญี่ปุ่น วัดเวียตนาม วัดเกาหลี วัดภูฐาน วัดสิกขิม วัดลาตัค

และสถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจกรรมทางศานาซึ่งมีลักษณะคล้ายวัดอีกหลายแห่ง


หมายเหตุ
นอกจากนี้ยังมี สัตตมหาสถาน

สัตตมหาสถาน คือสถานที่ยับยั้งอยู่เพื่อเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส) หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว ๗ แห่ง แห่งละ ๗ วัน รวม ๔๙ วัน เพื่อพิจารณาพระโพธิญาณที่ได้ทรงตรัสู้นั้นให้แน่พระทัย ตามสถานที่ต่าง ๆ ต่อมาถือว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา นับเป็นพุทธเจดีย์ด้วย คือ

สัปดาห์ที่ ๑โพธิบัลลังก์


อยู่ในปริมณฑลที่ทรงตรัสรู้ ด้านทิศตะวันตกของพระมหาเจดีย์ เป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธทั่วโลก
พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข ณ บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นสัปดาห์แรก ทรงใคร่ึครวญปฏิจจสมุปบาท ทั้งปฏิโลมและอนุโลม ทั้งสายเกิดและสายดับ ทรงเปล่งอุทานว่า เราท่องเที่ยวมานาน ๔ อสงไขย กำไรอีกแสนกัปป์ ณ บัลลังก์แห่งนี้ เป็นวิชัยบัลลังก์ เป็นมงคลบัลลังก์ เราจะนั่งอยู่เหนือบัลลังก์นี้ตลอดตราบใดดำริของเรายังไม่บริบูรณ์จักไม่ลุกขึ้น แล้วทรงเข้าสมาบัติ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยโพธิบัลลังก์นี้ตลอด ๗ วัน





สัปดาห์ที่ ๒.อนิมิสเจดีย์

เมื่อพระพุทธองค์ ทรงออกจากสมาบัติ เมื่อวันที่ ๘ นับแต่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดง ยมกปาฏิหารย์ เพื่อระงับความปริวิตกของเทวดาที่ พระพุทธองค์ประทับอยู่ ๗ วันนั้นเพราะยังทรงอาลัยในบัลลังก์ ทรงบันดาลท่อน้ำท่อไฟพวยพุ่งออกจากส่วนพระวรกายเป็นคู่เป็นต้น




พระบรมศาสดาประทับยืนทางด้านทิศเหนือ ทรงลืมพระเนตรแลดูบัลลังก์และต้นโพธิ์ อันเป็นสถานที่บรรลุแห่งพระบารมีทั้งหลายด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบอยู่ตลอด ๗ วัน ทรงหวลระลึกถึงอดีตที่ทรงชำระกิเลสหมดสิ้นผ่องใส ทรงทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ สถานที่นี้จึงชื่อว่า อนิมิสเจดีย์

 หลวงจีนฟาเหียน และหลวงจีนถังซำจั๋ง ได้พรรณาไว้เหมือนกันว่า

 " ด้านขวาทางทิศเหนือของสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จ (จงกรม) มีหินก้อนใหญ่วางอยู่ และบนก้อนหินใหญ่นี้ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ พระพุทธรูปองค์นี้ลืมพระเนตรกว้างชำเลืองขึ้นบนท้องฟ้่า "

ปัจจุบัน อนิมิสเจดีย์ เป็นเจดีย์ทาสีขาวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทางขวามือ เมื่อเข้าไปในบริเวณโพธิมณฑล

สัปดาห์ที่ ๓ : “รัตนจงกรมเจดีย์”

“รัตนจงกรมเจดีย์” หรือเจดีย์แห่งทางจงกรมที่ประดับด้วยเพชรพลอย

พระพุทธองค์ เสด็จไปบริเวณทิศเหนือของพระศรีมหาโพธิ์ ทรงนิรมิตที่จงกรมระหว่างโพธิบัลลังก์ กับที่ประทับยืนที่อนิมิสเจดีย์ ทรงเสด็จจงกรมจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงปฏิบัติเช่นนี้ ๗ วัน




ปัจจุบันรัตนจงกรมเจดีย์ อยู่ข้างพระมหาเจดีย์ ด้านทิศเหนือมีหินทรายสลักเป็นดอกบัวบานรับแสงอาทิตย์ จำนวน ๑๙ ดอก มีแท่นหินทรายแดงยาวประมาณ 6 เมตร สูง ๔ ฟุต จากพื้นถนน และมีป้ายหินอ่อนปักให้รู้ว่า นี่คือรัตนจงกรมเจดีย์ (Ratna cakra Chatiya) ที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุข ในสัปดาห์ที่ ๓ ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับอนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๔ : “รัตนฆรเจดีย์”


หรือเจดีย์แห่งอาคารที่ประดับไปด้วยเพชรพลอย หรือเรือนแก้ว


พระองค์เสด็จไปประทับ ณ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับในเรือนแก้ว(รัตนฆร) ที่เทวดานิรมิตถวาย ทรงประทับนั่งขัดสมาธิเพชรภายในเรือนแก้วนั้นตลอด ๗ วัน ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก และสมันตปัฏฐานอนันตนัย ซึ่งมีนัยไม่สิ้นสุด โดยพิสดาร ปรากฏมี พระฉัพพรรณรังสีแผ่ออกมาจากพระวรกาย

ปัจจุบันสถานที่ที่เป็นรัตนฆรเจดีย์นั้น มีอนุสรณ์สถานเป็นรูปวิหารทรงสี่เหลี่ยม ไม่มีหลังคามุง กว้างประมาณ ๑๑ ฟุต ยาวประมาณ ๑๔ ฟุต รอบข้างเต็มไปด้วยเจดีย์โบราณ มีพระพุทธรูปสมัยคุปตะและสมัยปาละ พิจารณาแลัวเห็นน่าจะมีผู้นำ มาตั้งไว้ในสมัยหลัง หน้าประตูเข้าด้านตะวันตกมีป้ายบอกว่ารัตนฆรเจดีย์ (Ratnagrha Chatiya)

สัปดาห์ที่ ๕ : “ต้นไทรอชปาลนิโครธ”


คำว่า อชปาลนิโครธ หรือต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะ เด็กเลี้ยงแพะชอบมาพักอาศัยหลบลมร้อน ฝูงแพะได้เก็บกินใบที่ตกลงมา
อชปาลนิโครธอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ อยู่ระหว่างแม่น้ำโมหนีกับแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกลกันนักกับบ้านนางสุชาดา


พระพุทธองค์ทรงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยัง “ต้นไทรอชปาลนิโครธ” หรือต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะประทับอยู่ ๗ วัน ณ ที่แห่งนี้หลังจากตรัสรู้แล้ว ทรงมาประทับที่นี่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ทรงตรึกถึงบุคคลที่สมควรรับฟังคำสอนของพระองค์ ณ ที่แห่งนี้เกิดคำอุปมาแห่งบุคคล เหมือนอุบล ๔ เหล่า และท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาแสดงธรรม

ปัจจุบันการจะไปควงไม้ไทรที่มีชื่ิอ อชปาลนิโครธ นี้ ต้องเดินลัดทุ่งข้าวสาลีโดย ตั้งต้นเดินจากบ้านนางสุชาดาลัดเลาะผ่านหมู่บ้านชาวอินเดียไปไม่นานก็ถึง

สัปดาห์ที่ ๖ : “สระมุจลินท์”


“สระมุจลินท์” หรือสระราชาแห่งต้นมุจละ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ ไม้จิก )

พระพุทธองค์ได้เสด็จไปที่ใต้ต้นมุจลินทร์(The Mucalinda Tree ) ริมสระ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของต้นศรีมหาโพธิ์

ทรงประทับนั่งที่นั่นตลอด ๗ วัน ขณะนั้นเกิดพายุเมฆฝนมา ฝนตกพรำทั้ง ๗ วัน พระยามุจลินทร์นาคราช ได้เข้าถวายอารักขา กำบังฝนให้พระพุทธองค์ จึงขนดตนเองวนรอบพระ วรกายและแผ่พังพานพร้อมด้วยขนด ๗ รอบ เพื่อป้องกัน ความหนาว ลม ฝน แดด เหลือบยุง มิให้ถูกต้องพระวรกาย เบียดเบียนพระพุทธองค์ ตลอด ๗ วัน เมื่อลมฝนสงบแล้ว มุจรินทร์นาคราช ได้คลายขนด จำแลงรูปตนเป็นมานพหนุ่มถวายนมัสการ ณ เบื้องพระพักตร์




พระพุทธองค์จึงได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจ ดังนี้
“ความสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้สันโดษ ผู้มีธรรมปรากฎแล้ว ผู้เห็นอยู่ ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก"

สระมุจลินที์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของต้นศรีมหาโพธิ์ราว ๒ กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำเนรัญชรา ครึ่งกิโลเมตร อยู่ใกล้กับหมู่บ้านมุจลินทร์ มีเส้นทางสำหรับรถท้องถิ่นผ่าน หรือจะเดินลัดทุ่งนาผ่านหมู่บ้านอุเลนก็ได้ จะมีสระน้ำที่ชาวบ้านเรียกกันว่า มุจลินทร์โบกขรณี มีต้นตาลใหญ่ประมาณ ๗-๘ คนล้อมรอบอยู่

สมัยหลวงจีนมาพบนั้นท่านเล่าว่า "สถานที่นี้ตั้งอยู่กลางป่า ติดกับสระมุจลินทร์ น้ำในสระเป็นสีครามแก่ มีรสหวานอร่่อย มีพระพุทธรูปหินสลักสีดำ อยู่ในวิหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง บนฝั่งตะวันตกของสระมุจลินทร์



ในปัจจุบันมี “สระมุจลินท์จำลอง” ที่สร้างไว้ใกล้ ๆ อาณาบริเวณ พระวิหารมหาโพธิสังฆารามพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระมุจลินท์ดั้งเดิม) ด้วยเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้น จึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ มีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่กลางสระ

สัปดาห์ที่ ๗ : “ต้นราชายตนะ (ต้นเกด)” (The Rajayatana Tree )


ต้นไม้เกดนี้อยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ห่างจากแม่น้ำเนรัญชราไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒ กิโลเมตรครึ่ง เป็นทางผ่านของขบวนกองเกวียน ที่พ่อค้าวาณิชใช้ติดต่อกันระหว่างเมืองพาราณสี นครราชคฤห์ กรุงโกสัมพี มาแต่โบราณ ปัจจุบันบริเวณนี้มีเทวสถานกับต้นโพธิ์ที่ขาวบ้านผู้นับถือศาสนาฮินดู พากันมาประกอบพิธีตามความเชื่อของตน

ตามความในปฐมสมโพธิ์กล่าวไว้ว่า

ในสัปดาห์ที่ ๗ พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข ณ บริเวณควงไม้ราชายตนะ



ณ ต้นราชายตนะ นี้เอง ได้มี พ่อค้าพานิช ๒ พี่น้องเป็นชาวพม่า ชื่อ “ตปุสสะ” กับ “ภัลลิกะ” นำเกวียน นำเกวียนบรรทุกสินค้าจากอุกกลชนบท เดินทางมาถึงที่ประทับ ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าขณะทรงประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนไปถวาย พระพุทธองค์ทรงดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่รับด้วยมือ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ จึงได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนจากพ่อค้าพานิชทั้งสอง พ่อค้าทั้งสองจึงได้ประกาศตนเป็นอุบาสกขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะตลอดชีวิต นับว่าวานิชทั้งสองเป็นเทฺวจาริกอุบาสก พวกแรกในโลก ผู้กล่าวถึงรัตนะสอง คือพระพุทธ และพระธรรม ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต


ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net

ในอรรถคาถาพระวินับปิฎก มหาวรรค กล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียร พระเกศาติดที่พระหัตถ์ ทรงประทานพระเกศาเหล่านั้นแก่วานิชทั้งสอง ยังความรื่นเริงยินดีเหมือนได้อภิเษกด้วยอมตธรรม ถวายบังคมลาแล้วหลีกไป นำพระเกศาไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ในนครของตน

ครั้นวันสุดท้ายแห่งสัปดาห์ที่ ๗ ที่ประทับนั่ง ณ โคนไม้ราชายตนะนั้น พระพุทธองค์ทรงดำริว่า จะสรงพักตร์ บ้วนพระโอษฐ์ และทรงทำสรีระกิจ ท้าวสักกะจอมเทพจึงได้นำผลสมอ อันเป็นยาสมุนไพรมาถวาย เพื่อถ่ายบังคนหนัก และถวายไม้ชำระพระทนต์ น้ำสรงพระพักตร์ เมื่อสิ้นสุด ๔๙ วัน พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปประทับ ณ อชปาลนิโครธ อีกครั้งหนึ่ง



หลวงจีนถังซำจั๋ง
เมื่อเห็นพระเจดีย์และสถูปที่ตรงนี้ กล่าวไว้ว่า สถานที่นี้ พ่อค้าชื่อ ตปุสสะแบะภัลลิกะ ได้ถวายข้าวตากและน้ำผึ้ง แก่พระพุทธเจ้าที่ตรงนี้ ซึ่งตั้งใกล้สถานที่พระพุทธเจ้าทรงรับข้าวหุงด้วยน้ำนมจากนางสุชาดาก่อนทรงตรัสรู้




ในอรรถกถากล่าวว่า วานิชสองพี่น้องชาวอุตราปถะที่เดินทางมาจากอุกกลาชนบท เข้ามาค้าขายยังกรุงราชคฤห์ ได้ถวายสัตตุก้อน แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นพระกระยาหารมื้อแรกหลังจากทรงตรัสรู้ ได้ชื่อว่า เทววาจิกอุบาสก เป็นอุบาสสกคู่แรกในโลกที่กล่าววาจาขอถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทานพระเกศธาตุแก่สองพี่น้องนั้น เขาได้บรรจุพระเกศธาตุไว้ในผอบทองคำสร้างเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุนั้นไว้ที่เมือง อสิตัญชนะ แคว้นอุตราปถะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคนทั้งสอง

หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา แล้วเสด็จจากเมืองพาราณสี ไปยังกรุงราชคฤห์ ทั้งสองได้ตามมาเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสแสดงธรรม ทั้งสองได้บรรลุโสดาปัตติผล ตปุสสะ อยู่เป็นอุบาสกไม่ออกบวช ภัลลิกะ บวชแล้วได้บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยอภิญญา ๖ 

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระอารามเชตวัน ทรงสรรเสริญชนทั้งสองว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสกผู้ถึงสรณะก่อนผู้ใด


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.dhammajak.net
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุททฺโธ)


หมายเหตุ : ข้าว “สัตตุผง” บาลีเรียกว่า “มันถะ” คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด ส่วนข้าว “สัตตุก้อน” บาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือ ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ

(กล่าวกันว่าตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เป็นชาว (มอญ) ( พม่า )ด้วยในทางประวัติศาสตร์ ชาว (มอญ) (พม่า )ได้ไปมาค้าขายกับชาวอินเดียมาเป็นเวลาช้านานแล้ว พอออกพรรษาน้ำหยุดท่วมนอง ชาวพม่าจะบรรทุกของใส่เกวียนมาแลกสินค้ากับชาวอินเดีย กลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ)

ในสมัยพุทธกาล เมืองย่างกุ้งเดิมชื่อ เมืองอสิตันชนะหรือเมืองโอกกะละ มีพ่อค้าหนุ่มสองพี่น้องชื่อ ตผุสสะ และภัลลิกะ อาศัยอยู่ที่เมืองโอกกะละ ทั้งสองเดินทางไปค้าขายยังประเทศอินเดีย เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ตรัสรู้สำเร็จโพธิญาณได้ไม่นาน กำลังเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๗ ประทับอยู่ใต้ต้นเกด สองพี่น้องได้เดินทางผ่านไปพบและเกิดเลื่อมใสศรัทธา นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงไปถวาย พระพุทธเจ้าทรงรับไว้ เมื่อเสวยข้าวสัตตุเสร็จ พ่อค้าสองคนพี่น้องปวารณาตนขอเป็นอุบาสกคู่แรกในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเส้นพระเกศาให้แปดเส้น

ระหว่างเดินทางกลับเมืองโอกกะละ กษัตริย์แห่งเมืองอเชตตะได้ขอแบ่งพระเกศาไปสองเส้น พญานาคที่เมืองบาดาลขอไปอีกสองเส้น จึงเหลือพระเกศาเพียงสี่เส้น

เมื่อทั้งสองกลับมาถึงเมืองโอกกะละ พระเจ้าโอกาลัปประกอบพิธีถวายการต้อนรับพระเกศาอย่างใหญ่โต มีความเห็นว่าควรจะสร้างเจดีย์บรรจุพระเกศาไว้ที่เนินเขาเสนคุตะระ (เนินเขาอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง)


ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.thaigoodview.com/files/u1331/Shwedagon_pagoda


ระหว่างการสร้างพระเจดีย์ ได้เกิดอัศจรรย์ขุดพบเครื่องบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ โกนาคมนะ และกัสสปะ ได้แก่ ธารพระกร สบง และขันน้ำ เมื่อก่อสร้างพระเจดีย์เสร็จ ได้นำเครื่องบริโภคเจดีย์ที่พบบรรจุลงในพระเจดีย์ด้วย และพระเกศาธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์กลับมาทั้งแปดเส้นดังเดิม จึงบรรจุไว้ในเจดีย์ที่ทำจาก ทอง เงิน ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว หินอ่อน และเหล็ก ตามลำดับ พระเจดีย์ดังกล่าวมีความสูงแค่เพียง  ๙  เมตร  ต่อมามีการการบูรณะพระเจดีย์ชเวดากองอีกหลายครั้งโดยพระเจ้าแผ่นดินทั้งมอญและพม่าหลายพระองค์ได้เสด็จมาสักการะและบูรณะต่อเติมพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาหลายครั้ง จนเป็นดังเช่นในปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net
หนังสือ  ๖๐ วัด วัง และสถานที่สำคัญในพม่า ของ อาจารย์ ภภพพล จันทร์วัฒนกุล...




เจดีย์โบดาทาวน์ ที่บรรจุเส้นพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์ ๑ เส้น
เจดีย์โบดาทาวน์ แปลว่า เจดีย์นายทหาร๑,๐๐๐ นาย ตามตำนานเล่าขานว่า เมื่อราว ๒,๐๐๐ปีก่อน พระเจ้าโอกะลาปะ กษัตริย์มอญทรงบัญชาให้นายทหารระดับแม่ทัพตั้งแถวถวายสักการะแด่พระเกศาธาตุ ที่นายวาณิชสองพี่น้องอัญเชิญมาทางเรือและมาขึ้นฝั่งเมืองตะเกิงหรือดากอง ณ บริเวณนี้ จึงสร้างเจดีย์โบตะทาวน์ไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระพุทธเกศา ๑ เส้น มาบรรจุไว้ ก่อนนำไปบรรจุในมหาเจดีย์เวดากองและเจดีย์สำคัญอื่นๆ เจดีย์โบดาทาวน์จึงเป็นหนึ่งในมหาบูชาสถานของชาวมอญและพม่าเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดถล่มย่างกุ้ง ทำให้เจดีย์โบดาทาวน์องค์เดิมถูกทำลายพินาศ แต่ในระหว่างการบูรณะได้ค้นพบผอบทรงสถูปบรรจุพระเกศธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นเมื่อเจดีย์โบดาทาวน์องค์ใหม่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงนำพระเกศธาตุมาบรรจุในมณฑปครอบแก้วใส ประดิษฐาน ณ ใจกลางเจดีย์ และทำช่องทางให้พุทธศาสนิกชนเดินเข้าไปดูและสักการบูชาได้อย่างใกล้ชิด
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://2g.pantip.com/cafe/gallery/topic/G12566444/G12566444.html




ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองมีอยู่ว่า เมื่อสมัยอังกฤษปกครองเมียนมาร์ ข้าหลวงอังกฤษได้แวะเยี่ยมชมพระเจดีย์ชเวดากอง โดยไม่ยอมถอดรองเท้า ด้วยถืออำนาจว่าตนเป็นผู้ปกครอง แต่ชาวเมียนมาร์ไม่ยอม ทางฝ่ายข้าหลวงก็ยังยืนยันความคิดเดิมของตัว เป็นเหตุให้ชาวพม่าจำนวนหมื่นกว่าคน พากันมานอนคว่ำอยู่ตามบันไดที่จะเดินขึ้นสู่องค์พระเจดีย์ ตลอดจนลานเจดีย์ชเวดากองเต็มไปหมดไม่เห็นพื้นเลย และหากข้าหลวงอังกฤษจะขืนสวมรองเท้าขึ้นไปจริงๆ พื้นรองเท้าจะไม่มีโอกาสสัมผัสพื้นได้เลย ต้องเหยียบร่างของชาวเมียนมาร์ไปก่อน

โดยชาวเมียนมาร์ถือว่า แม้ว่าประเทศของตนจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่สิ่งที่ชาวเมียนมาร์ยอมไม่ได้คือ การถูกย่ำยีพระพุทธศาสนา เพราะนั่นหมายถึงการย่ำยีหัวใจของชาวเมียนมาร์ เรียกได้ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของการรักษาพระพุทธศาสนา ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในแผ่นดินเมียนมาร์ ทำให้ข้าหลวงและทหารอังกฤษยอมถอดรองเท้าเข้าวัดในประเทศเมียนมาร์ และถือได้ว่า เป็นชัยชนะทางวัฒนธรรม ที่ชาวเมียนมาร์ภูมิใจบอกเล่าเรื่องราวจากรุ่นบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ด้วยความภาคภูมิใจ และยังคงรักษาวัฒนธรรมนี้ มาจนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.thaigoodview.com/node/160736?page=0,5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น