วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๔

พุทธคยา ๔




๓ . ต้นพระศรีมหาโพธิ์


ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ติดกับพระเจดีย์พุทธคยาด้านทิศตะวันตก อยู่ห่างจากแม่น้ำเนรัญชรา ประมาณ ๒๐๐ เมตร

ต้นโพธิ์ต้นไม้ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นชาวอินเดียเรียกว่า อัศวัตถ์ อัสสัตถ์ หรือ ปิปปละ ภาษาลาตินเรียกว่า Ficus Religiosa เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ภายใต้ต้นไม้ชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า ต้นโพธิ์ หรือ โพธิรุกขะ ซึ่งเป็นนามเรียกต้นไม้ตรัสรู้ เช่นพระศรีอาริย์ มีไม้กากทิงเป็นโพธิรุกขะ พระกัสสปะ มีต้นไทรเป็นโพธิรุกขะ พระโกนาคม มีไม้มะเดื่อเป็นโพธิรุกขะ เป็นต้น

พระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วโลก เป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาไปโดยปริยาย โดยเฉพาะที่พุทธคยาจะมีผู้ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ศาสนาใด เมื่อไปถึงจะต้องให้ความเคารพยำเกรง


ต้นโพธิ์ต้นปััจุจุบันปลูกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ ขณะนี้มีอายุได้ ๑๐๗ ปี ( ณ.ปี พ.ศ.  ๒๕๕๐ ) ลำต้นมีขนาด ๓ คนโอบ สูงประมาณ ๘๐ ฟุต แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นร่มโพธิ์ทองของชาวพุทธ รัฐบาลอินเดียดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษมีกำแพงทองล้อมรอบเป็นสัดส่วน กำหนดเวลาปิด เปิด



ต้นพระศรีมหาโพธิ์มีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่หนึ่ง

ตามพุทธประวัติกล่าวว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้คู่บารมี หรือเป็นสหชาติของพระพุทธเจ้า คือ เกิดขึ้นมาในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี วันเดียวกับวันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั่นเอง

ในวันนั้นมีสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ๗ อย่างคือ

๑.พระนางยโสธรา หรือพิมพา
๒.พระอานนท์
๓.อำมาตย์กาฬุทายี
๔.นายฉันทะ
๕.ม้ากัณฐกะ
๖.ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗.ขุมทรัพย์ทั้ ๔
ทั้งหมดนี้เรียกว่า สหชาติ

พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ควงไม้นี้ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงชนะพญามารและเสนามาร ณ สถานที่แห่งนี้




ในกาลิงคโพธิชาดก เล่าว่า

ได้มีการนำเมล็ดโพธิ์จากต้นนี้ไปปลูกที่พระเชตวันมหาวิหารในเมืองสาวัตถี โดยพระอานนท์ และอนาถบิณฑกะเศรษฐืเป็นผู้ปลูก     ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกกันว่า อานันทโพธิ์ เป็นการเริ่มขยายพันธุ์โพธิ์ตรัสรู้ไปที่ต่าง ๆ ของโลก ต่อมา

ในคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า
พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาที่นี่เป็นนิตย์ เพราะระยะทางใกล้กับราชธานีปาฏลีบุตรของพระองค์ ทรงเป็นผู้ตอนกิ่งโพธิ์ต้นนี้ส่งไปยังอนุราธปุระในลังกา กิ่งโพธิ์ต้นนั้นยังมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมอบหมายให้พระอาจารย์สายนำคณะมาขอเมล็ดโพธิ์ไปปลูกที่ประเทศไทย ปรากฎว่าขณะนั้นพราหม์ครอบครองอยู่ ต้นโพธิ์ถูกล้อมไว้ถึง ๗ ชั้น แต่ด้วยความมีมิตรภาพต่อกัน จึงได้เมล็ดโพธิ์นำกลับมาถวายพระองค์ทรงเพาะเอง แล้วนำไปปลูกที่วัดสระเกศ ๑ ต้น วัดมหาธาตุ ๑ ต้น

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่หนึ่งนี้่ี้ ในตำนานมีการอ้างถึงต้นโพธิ์ต้นนี้ ๒-๓ ครั้ง คือ
พระพุทธองค์เสด็จมาประทับนั่งใต้ต้นในคืนที่ทรงตรัสรู้
พระพุทธองค์เสด็จมาสยบอุรุเวลกัสสปะ ชฎิลสามพี่น้อง




หลังจากนั้นมิได้เสด็จมาที่นี่อีกเลย
จนเมื่อจะเสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา พระอานนท์กราบทูลว่าเมื่อปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายจะพึงยึดเอาสิ่งใดเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ต่อไป พระพุทธองค์ทรงแสดงสถานที่ตั้งทั้งสี่ คือ ลุมพินี พุทธคยา สารนาถและกุสินารา ว่าเป็นที่ควรดูควรจะเห็น ควรได้เกิดความสังเวชแก่พุทธบริษัทผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ที่ว่าพุืทธคยานั้นหมายถึงที่ต้นโพธิ์ตรัสรู้นี้โดยตรง ในภาษาบาลีใช้คำว่า "สัมมาสัมโพธิ์" ทีเดียว


และหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งมาถึงสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช


พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมากเช่นทรงสร้างพระเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนถึง ๘๔๐๐๐ องค์ รวมทั้งพระมหาเจดีย์มหาโพธิ์ ซึ่งทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สนพระทัยในความสุขส่วนพระองค์เหมือนเช่นเคย เมื่อว่างเว้นจากราชกิจก็มาปฎิบัติธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่กลับวังที่ประทับ จึงเป็นเหตุให้เหล่าพระมเหสี นางสนมทั้งหลายต่างพากันโกรธแค้น อิจฉาต้นพระศรีมหาโพธิ์


ในคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวไว้ว่า

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหมั่นเสด็จไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เป็นนิตย์ จนพระมเหสีองค์ใหม่ ชื่อ ดิศราชเทวี หรือพระนางติษยะรักษิต หรือที่เรียกกันว่ามหิสุนทรก็มี เกิดมีจิตใจริิษยาต้นพระศรีมหาโพธิ์ เห็นว่าพระราชสวามีรักต้นโพธิ์ยิ่งกว่านาง จึงลอบให้คนไปทำลายต้นโพธิ์เสีย

ในคัมภีร์มหาวงศ์ได้กล่าวไว้ว่า
พระนางเอาเงี่ยงกระเบนอันมีพิษไปแทงที่ต้น

ในทีวยาวทานกล่าวว่า
พระนางติษยะรักษิต ใช้เวทย์มนต์ทำลาย

ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนกล่าวว่า
"พระนางติษยะรักษิต นั้นเองใช้ให้คนไปตัด ปีที่ต้นโพธิ์ถูกทำลาย ตรงกับปีที่ ๓๗ แห่งรัชกาลพระเจ้าอโศก เมื่อพระเจ่้าอโศกทรงทราบเช่นนั้น ทรงโทมนัส น้อยพระทัยประกอบด้วยพระโรคาพยาธิเบียดเบียน จึงประชวรลง และสิ้นพระชนม์หลังจากต้นโพธิ์ถูกทำลายได้เพียง ๔ เดือนเท่านั้น





ในบันทึกนี้ยังกล่าวอีกว่า เมื่อพระเจ้าอโศกทอดพระเนตรเห็นต้นโพธิ์ล้ม พระองค์ทรงตกพระทัย ถึงแก่วิสัญญีภาพล้มลง ณ ที่ตรงนั้นด้วย เหล่าเสนามาตย์ใช้น้ำลูบพระพักตร์  จนกระทั่งฟื้นคืนพระสติได้แล้ว พระองค์โปรดให้สร้างกำแพงอิฐล้อมรอบรากต้นโพธิ์นั้นทันที และโปรดใช้น้ำนมรดไม้โพธิ์ให้ชุ่มเพื่อให้แตกหน่อใหม่ ส่วนพระองค์ก็ทอดพระองค์ลงกับพื้นดิน ตั้งสัตย์ว่าจะไม่เสด็จลุกขึ้นจนกว่าจะได้หน่อโพธิ์โผล่พ้นขึ้นมา ในไม่ช้าต้นโพธิ์ก็แตกหน่อขึ้นที่รากเดิมอีก




(ทรงรับสั่งให้ใช้น้ำนมโค ๑๐๐ หม้อ ไปรดที่บริเวณรากของต้นโพธิ์ และทรงอฐิษฐานพร้อม กับการสักการะก้มกราบ -จาก http://www.watthasai.org/pho.html )



ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่สอง


ด้วยสัตย์อธิษฐานของพระเจ้าอโศกมหาราช ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็เจริญเติบโตจากต้นที่หนึ่ง โดยลำดับจนถึง พ.ศ. ๑๑๐๐ 
พระเจ้าศศางกา กษัตริย์ฮินดูจากแคว้นเบงกอล ไม่พอระทัยที่เห็นพุทธศาสนามาตั้งแข่งที่พุทธคยา จึงให้ทหารทำลายวัดวาอารามและต้นโพธิ์ตรัสรู้ เหตุการณ์นี้เกิดก่อนหลวงจีนถังซำจั๋งจะมาที่พุทธคยาเพียง ๓๐ ปีเศษ ได้มีบันทึกว่า ศศางกาเกรงว่าต้นโพธิ์จะแตกหน่องอกงามขึ้นมาอีก จึงฟันต้นโพธิ์ลงก่อน แล้วขุดรากขึ้นทิ้ง เอาไฟเผาแล้วราดด้วยน้ำอ้อย ด้วยความหวังอันแน่วแน่ที่จะไม่ให้เหลือพืชพันธุ์สืบต่อไปได้อีก แต่เผอิญขุดปลายรากแก้วทิ้งไม่หมด ยังเหลือติดดินอยู่ ต้นโพธิ์ตรัสรู้จึงไม่สูญพันธุ์ไปเลยหลังจากการทำลายต้นโพธิ์ตรัสรู้ไม่นาน ศศางกาก็สิ้นพระชนม์อย่างน่าเอน็จอนาถ รวมอายุต้นโพํิธิ์ต้นที่สองนี้ ๘๗๑ ปี




ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สอง ถือเป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นแรก และการที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เผยแผ่ พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก จึงมีการนำต้นโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ เช่น พระโสณะเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมา ยังดินแดนสุวรรณภูมิ และพระมหินทเถระ สังฆมิตราเถรีเดินทางไปยังศรีลังกา โดยพระภิกษุเหล่านี้ได้นำต้นโพธิ์หรือกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไปด้วย




ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สาม

พระเจ้าปูรณวรมัน กษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ครองแคว้นมคธ ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยอย่างยิ่งที่พระเจ้าศศางกาทำลายต้นโพธิ์อันเป็นมิ่งขวัญของพุทธบริ็ษัททั้งหลาย รีบจัดการบำรุงรากต้นโพธิ์ที่เหลืออยู่ โดยใช้น้ำนมจากแม่โค ๑,๐๐๐ ตัว รดให้ชุ่มอยู่เสมอ ในไม่ช้าหน่อโพธิ์ก็แตกออกมาจากรากเดิมอีก





พระเจ้าปูรณวรมัน ทรงพยายามประคับประคองต้นโพธิ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อต้นโพธิ์สูงขึ้นไปได้ ๑๐ ฟุต

พระองค์โปรดให้สร้างกำแพงล้อมรอบด้วยหินล้วน ๆ เพื่อป้องกันมิให้ใครลอบเข้าไปทำลายได้ กำแพงหินที่สร้างครั้งนั้น สูง ๒๔ ฟุต





หลวงจีนถังซำจั๋งมาถึงที่นี่ ได้บันทึกสดุดีพระเจ้าปูรณวรมันว่า เป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงไว้แก่พระพุทธศาสนา ในการที่ได้กู้ชีวิตต้่นพระศรีมหาโพธิ์กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง 

หลวงจีนเล่าต่อไปว่าใบโพธิ์สีเขียวเป็นมันขลับ แม้ในฤดูใบไม้ร่วงต้นโพธิ์นี้ก็ไม่สลัดใบ จะสลัดใบเฉพาะในวันปรินิพพานเท่านั้น และก็แตกใบใหม่อีก นับว่าต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่ถูกทำลายในครั้งนี้หนักมาก แต่ยังเคราะห์ดีที่พระเจ้าปูรณวรมัน ทำนุบำรุงให้งอกงามขึ้นได้อีก จากนั้นก็ไม่มีใครจะทำลายต้นโพธฺ์ตรัสรู้ต้นที่สามนี้ แต่ต้นโพธิ์ก็หมดอายุขัยตายเองตามธรรมชาติ รวมอายุ ได้ ๑,๒๕๘ ปี







ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่สี่


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียอยู่ในขณะนั้นได้มอบหมายให้ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ บูรณะสถานที่พุทธคยา ระหว่างที่ทำการบูรณะอยู่นั้น ต้นโพธิ์ตรัสรู้ก็ล้มลงอีก เห็นชาวบ้านในละแวกนั้นกำลังตัดรานกิ่งไปทำเขื้อเพลิงและเป็นอาหารของสัตว์




เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม จึงจัดการปลูกต้นโพธิ์ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม โดยได้พบหน่อโพธิ์ ๒ หน่อ สูงประมาณ ๖ นิ้ว และ ๔ นิ้ว จึงเลือกเอาต้นที่สูง ๖ นิ้ว ปลูกลงที่เดิม





ต้นจากหน่อสูง ๔ นิ้ว

และต้นที่สูง ๔ นิ้ว แยกไปปลูกไว้ทางด้านเหนือห่างจากต้นเดิม ๒๕๐ ฟุต ทั้งนี้เพื่อให้ชาวฮินดูได้ไปนมัสการพระวิษณุที่ต้นนั้น ส่วนชาวพุทธนมัสการที่ต้นเดิม จะได้ไม่เกิดการกระทบกระทั่งให้สะเทือนใจกันและกัน ถึงวันนี้ ( พ.ศ. ๒๕๕๐) ต้นโพธิ์ตรัสรู้ต้นนี้มีอายุ ๑๒๘ ปี


ต้นจากหน่อสูง ๔ นิ้ว

ผู้จาริกแสวงบุญเมื่อมาถึงสถานที่นี้ได้น้อมรำลึกถึงพระบรมศาสดาที่ทรงตรัสรู้ใต้ควงไม้โพธิ์ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อเข้ามากราบพระแท่นวัชรอาสน์ สวดมนต์เจริญภาวนา นั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์ น้อมจิตตามธรรมคำสอนเหมือนได้เข้าเฝ้่าพระพุทธองค์ถึงที่ประทับ บุญกิริยาที่ผู้มากราบไหว้ได้กระทำอันปรากฎผลมหาศาล นอกจากได้เจริญภาวนาน้อมจิตตามคำพระพุทธองค์ทรงสอนแล้ว ยังนิยมรดน้ำต้นโพธิ์ ปิดทอง ถวายผ้าห่มต้นโพธิ์อีกด้วย


ศรีมหาโพธิ์ต้นที่หน่อสูง ๖ นิ้ว




การเข้าไปสักการะบูชาต้นศรีมหาโพธิ์ทุกคนจะต้องถอดร้องเท้าก่อนที่จะเข้าไปยังบริเวณต้นของพระศรีมหาโพธิ์ โดยต้องผ่านการตรวจอาวุธในห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กแยกเป็นชายหญิงคนละห้อง มีทหารชายและหญิงเป็นผู้ตรวจโดยที่ผู้เข้าไปจะต้องเข้าแถวไปตรวจทีละคน เป็นการป้องกันเหตุร้ายและการลอบวางระเบิด เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

อานันทโพธิ์


อานันทโพธิ์

สำหรับต้นโพธิ์ที่นำเมล็ดไปปลูกที่พระเชตวันมหาวิหารในเมืองสาวัตถี นั้นสืบเนื่องมาจากท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีีขอร้องให้พระอานนท์หาสถานที่ควรสักแห่งหนึ่งเพื่อให้ชนทั้งหลายได้วางเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้าในเวลาที่พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร (มีมุลเหตุที่มา ขอข้ามความเป็นมาไปเพราะความจะยาวเกินไป)

พระอานนท์กราบทูลถามพระบรมศาสดาว่าเมื่อพระองค์เสด็จจาริกไป ข้าพระองค์อาจทำเจดีย์ไว้เพื่อให้ชนทั้งหลายสักการะได้หรือไม่

พระพุทธองค์ตรัสว่าเจดีย์มี ๔ ประเภทคือ
๑.ธาตุเจดีย์ สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒.บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
๓.อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูป หรือ รูปเหมือนพระพุทธเจ้า
๔.ธรรมเจดีย์ฺ ถึงที่บรรลุพระธรรมคำสอน

" อานนท์ ธาตุเจดีย์เธอมิอาจทำได้ เพราะธาตุเจดีย์จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ตถาคตอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ แม้ตถาคตจะยังมีชีวิตอยู่ หรือปรินิพพานไปแล้ว ก็ถือเป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ไม่มีวัตถุปรากฏ " (เพราะสมัยนั้นไม่มี)





พระอานนท์จึงกราบทูลขอนำต้นโพธิ์มาปลูกไว้ข้างทางเข้าพระวิหารเชตวัน
พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วยตรัสว่า "ดีแล้วอานนท์" พระอานนท์จึงขอให้พระโมคคัลลานะ ช่วยนำเมล็ดโพธิ์สุกจากต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มาให้

พระโมคคัลลานะได้ไปยังโพธิมณฑล เอาจีวรรับลูกโพธิ์สุกที่หล่นจากขั้วแต่ยังไม่ถึงพื้นดินนำมาถวายพระอานนท์ เมื่อได้เมล็ดโพธิ์มาแล้ว พระอานนท์ได้ถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงปลูก พระราชาดำริว่า ความเป็นพระราชามิได้ดำรงอยู่ตลอดไป ควรที่จะให้อนาถบิณฑกเศรษฐีปลูกต้นโพธิ์นี้ จึงวางผลโพธิ์สุกนั้นไว้ในมือของเศรษฐี

เมื่ออนาถบิณฑกเศรษฐีวางเมล็ดโพธิ์ลงในหลุม ก็งอกเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ทันที มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปโดยรอบ พระราชาทรงรดต้นโพธิ์นั้นด้วยน้ำสุคนธรส หลังจากนั้นพระอานนท์กราบทูลขอให้พระบรมศาสดาประทับเข้าสมาบัติ ณ โคนโพธิ์นั้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งที่โคนโพธิ์นั้น ด้วยความสุขเกิดแต่สมาบัติตลอดราตรีหนึ่ง



โคนต้นอานันท์โพธิ์

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุททฺโธ)
ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์ โดยพระมหาวสุวิทย์ ธัมมสิริ (นาลาด)
พระมหานรินทร์ ใน อินเดีย http://www.alittlebuddha.com




บทความอื่น ๆ ของต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สอง ถือเป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นแรก และการที่พระเจ้าอโศกได้เผยแผ่ พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก จึงมีการนำต้นโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ เช่น พระโสณะเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมา ยังดินแดนสุวรรณภูมิ และพระมหินทเถระ สังฆมิตราเถรีเดินทางไปยังศรีลังกา โดยพระภิกษุเหล่านี้ได้นำต้นโพธิ์หรือกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไปด้วย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองถูกทำลายอีกครั้ง ในสมัยพระเจ้าสาสังการ แห่งฮินดู ซึ่งครองเมืองเบงกอล พระเจ้าสาสังการเกิดแข็งข้อต่อพระเจ้าปรณวรมา จึงรับสั่งให้ตัดต้นและขุดรากต้นโพธิ์ใช้ฟางอ้อยสุม ใช้น้ำมันราด และเผาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีอายุราว ๘๗๑-๘๙๑ ปี เจ็ดวันหลังจากนั้น พระเจ้าสาสังการทรงอาเจียนเป็น พระโลหิต และสิ้นชีพตักษัยที่พุทธคยา ซึ่งพระเจ้าปรณวรมาเสด็จมาพอดี จึงตีทัพของเบงกอลแตกพ่ายไป และทรงให้ชาวบ้านรีดนมโค ๑,๐๐๐ ตัว เอาน้ำนมที่ได้เทราดบริเวณต้นโพธิ์ที่ถูกเผา พระเจ้าปรณวรมา ทรงนอนคว่ำหน้าลงกับพื้นพร้อมอฐิษฐานตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็แตกหน่อขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สาม ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ท่านเซอร์คันนิ่งแฮม หัวหน้าคณะสำรวจพุทธสถานในช่วงอังกฤษปกครองอินเดียได้เดินทางไปที่พุทธคยาเป็น ครั้งที่สอง พบว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรุดโทรมมาก ประชาชนชาวฮินดูในบริเวณนั้นได้ตัดกิ่งก้านไปทำเชื้อเพลิง และในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ต้นพระศรีมหาโพธิ์เบียดกับเจดีย์พุทธคยาได้ล้มลงไปทางทิศตะวันตกและตายไปเอง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามมีอายุครบ ประมาณ ๑๒๕๘-๑๒๗๘ ปี


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ เป็นต้นที่ยังคงอยู่ที่พุทธคยาในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสองหน่อที่แตก ขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามที่ล้มตายไป โดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮมได้บำรุงดูแลหน่อที่เกิดมานั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ และนำอีกหน่อหนึ่งไปปลูกไว้ด้านทิศเหนือของเจดีย์พุทธคยาห่างจากต้นเดิมประมาณห้าสิบเมตร

ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ทั้งสองต้นยังคงอยู่มีอายุได้ถึงทุกวันนี้ อายุได้ ๑๒๙ ปีเต็ม (พ.ศ. ๒๕๕๓ ) เรื่องโดย พระครูปริยัติโพธิวิเทศ(คมสรณ์,Ph.D)
พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.oknation.net http://www.oknation.net http://www.oknation.net


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นต้นไม้ที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ดังปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่าต้นโพธิ์เปรียบได้กับพุทธอุเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่ง ทำให้พันธุ์ต้นโพธิ์กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธเสมอมานับแต่สมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ในพระพุทธประวัติสองต้นคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ และ ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งอานันทโพธิ์ยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยคำว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" นั้น อาจหมายถึงต้นที่อยู่ที่พุทธคยา ต้นโพธิ์ที่สืบมาจากหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา หรือต้นโพธิ์ที่เป็นอุเทสิกเจดีย์อื่น ๆ ก็ได้ เช่น ต้นโพธิ์ตามวัดต่าง ๆ




ในปัจจุบันต้นพระศรีโพธิ์สำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันมี ๓ ต้นด้วยกัน คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา, ต้นพระศรีมหาโพธิ์เมืองอนุราธปุระ, และต้นอานันทโพธิ์วัดพระเชตวันมหาวิหาร แต่ต้นโพธิ์พระเจ้าอโศกแห่งเมืองอนุราธปุระ ที่นำหน่อพันธุ์มาจากพุทธคยา ได้รับการเคารพนับถือและปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพอย่างสูงมาตลอดตั้งแต่สองพันปีโดยไม่ขาดช่วง มีการทำกำแพงทองคำและมีชาวพุทธผู้ศรัทธามาทำการสักการะตลอดเวลา ซึ่งต่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาที่ถูกทำลายและล้มลงตามธรรมชาติหลายครั้ง และต้นอานันทโพธิ์ที่วัดเชตวันที่ขาดช่วงการดูแลจากชาวพุทธหลังจากพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย


แม้การทำลายต้นโพธิ์ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจะระบุว่าเป็นการทำบาปและหลบหลู่พระรัตนตรัย แต่ในมหาสมณวินิจฉัย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวว่าเฉพาะต้นโพธิ์ที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์เท่านั้น ต้นโพธิ์ที่งอกทั่วไปและไม่ได้เป็นอุเทสิกาเจดีย์ คือไม่มีผู้เคารพบูชาในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า (เช่นเดียวกับพระพุทธรูป)

ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น