วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๑๕ อำลาแคว้นมคธ ๒.



อำลาแคว้นมคธ ๒



แคว้นมคธในพุทธกาล เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่หนึ่งในสี่ของชมพูทวีป พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงมีความสำคัญในทางด้านการเมืือง การศาสนา การเศรษฐกิจ และทางทหาร มีความรุ่งเรืองมั่งคั่งสมบูรณ์เป็นที่ชุมนุมเจ้าศาสดาลัทธิ และมีเศรษฐีมากมาย   มีอำนาจมาก

เมืองหลวงของแคว้นคือกรุงราชคฤห์



แคว้นมคธ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นอังคะ อาณาเขตทางทิศตะวันออกติดกันแคว้นอังคะ ทิศเหนือติดกับแคว้นวัชชี ทิศตะวันตกติดกับแคว้นกาสี

พรมแดนของแคว้นมคธ ทางตะวันออกจดแม่น้ำจัมปาอันเป็นแดนแบ่งเขตแคว้นอังคะ กับแคว้นมคธ ทางทิศเหนือจดแม่น้ำคงคา อันเป็นแดนแบ่งเขต ของแคว้นมคธกับแคว้นวัชชี

กรุงปาฏลีบุตรหรือปัฏนาปัจจุบันตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคา อันเป็นที่สุดเขตของแคว้นมคธในสมัยนั้น

ทิศตะวันตกฝ่ายประวัติศาสตร์และโบราณคดีลงความเห็นว่า น่าจะจดแม่น้ำโสณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐพิหาร เป็นแม่น้ำที่กว้างมาก มีสะพานรถยนต์และสะพานรถไฟข้ามยาวถึง ๓ กิโลเมตรเศษ กล่าวว่าเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในอินเดีย

ทางทิศใต้บางพวกกล่าวว่า ถึงแนวด้านเหนือของจังหวัดหะซารีบาฆ บางพวกว่าเลยไปจนถึงเขาวินธัย หรือวินธยะ อันควรเป็นแนวแบ่งเขตโดยธรรมชาติ




พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยกว้างขวาง ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง โดยนำศาสนกุศโลบายมาเป็นส่วนเชื่อมประสาน กรุงราชคฤห์เป็นเมืองอุทยานการศึกษาเสรี


มหานครราชคฤห์

จัดเป็นนครใหญ่แห่งหนึ่งใน ๖ นครของอินเดียโบราณ ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาของชมพูทวีป มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ศิริวลาศ กุสาครปุระ พารพัทรถปุระ ราชคหะ เป็นต้น ในคัมภีร์พระพุทธศานากับศาสนาชินเรียกว่า กุสาคร เพราะเหตุว่ามีหญ้ากุสะ ขึ้นเต็มเมือง

ในรามเกียรติ์เรียกเมืองนี้ว่า วสุมาตี เพราะกษัตริย์วสุ เป็นผู้สร้าง

 ตามตำนานเมืองราชคฤห์นี้มหาโควินท์ วิศวกรเอกในครั้งกระโน้นเป็นผู้ออกแบบและอำนวยการสร้าง เดิมเมืองนี้ชื่อว่ากุสานคร อยู่บนภูเขา ถูกไฟป่าไหม้บ่อย ๆ จึงสร้างเมืองใหม่ที่เชิงเขา มีผู้เรียกเมืองราชคฤห์ที่สร้างใหม่นี้ว่า พิมพิสารปุระก็มี




พระพุทธองค์เมื่อเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ก็มุ่งตรงมายังแคว้นมคธ

ตลอดเวลา ๖ ปีที่ทรงแสวงหาโมกธรรมก็ประทับอยู่ในแคว้นมคธทั้งสิ้น พระพุทธศาสนามีความมั่นคงในแคว้นนี้มาตลอด โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาได้แผ่ไปสู่ดินแดนต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธจนถึงยุคอัปปางเมื่อชาวมุสลิมเตอร์กเข้ารุกรานในปี พ.ศ. ๑๗๔๓

 เป็นเวลาเกือบ ๘๐๐ ปี ที่แคว้นมคธเมืองแห่งวิหาร สังฆาราม สถูปเจดีย์ ได้กลายเป็นเพียงซากแห่งอดีตตั้งแต่บัดนั้น




ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ เขียนไว้ว่า เมืองราชคฤห์แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนในเรียกว่า อันตรนคร ส่วนนอกเรียกว่าพาหิรนคร ตามคัมภีร์พุทธวังสะกล่าวว่าตลอดพระชนมชีพของพระพุทธองค์เคยเสด็จแวะเวียนมาประทับจำพรรษาอยู่ในนครราชคฤห์ ในพรรษาที่ ๒, ๓ ,๔ ,๗ และ ๒๐ โปรดประทับ ณ ที่เวฬุวันวิหารหลายพรรษา
เพียงซากกำแพงเมืืองที่ตระหง่านเลื่อยตามถูเขาก่อนกำแพงเมืองจีนของจิ๋นซีฮ่องเต้จะอุบัติ และบริเวณเวียงวังที่กว้างใหญ่ เพียงนี้ก็ส่อให้เห็นแวดวงแห่งความยิ่งใหญ่ เหมือนภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา และการปกครองแว่นแคว้นนี้แต่หนหลัง

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา ในส่วนของพระสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะธรรมนิทาน มีต้นเค้้ามาจากเมืองนี้มากมายอันเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้ที่สำคัญ หลายสูตร และยังบอกถึงสถานที่ ๑๐ แห่งในเมืองราชคฤห์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ ให้ดำรงรูปกายอยู่เกินกว่า ๑๐๐ กัปป์ คือ เขาคิชฌกูฏ โคตมนิโครธ เหวทิ้งโจร สัตบรรณกาลีศิลา สีตวัน ตโปธาราม เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มัททกุจิมฤคทายวัน โดยเฉพาะสีตวันนั้น หลวงจีนถังซำจั๋งสันนิษฐานว่า คือที่ตั้งเมืองราชคฤห์ใหม่ของพระเจ้าอชาตศัตรู แต่ในพระบาลีกล่าวว่า สีตวันอยู่บนเขาลูกหนึ่ง ลักษณะที่เป็นปราการตามธรรมชาติ ที่ผู้มาแสวงบุญควรจะได้ชม คือ เบญจคีรี คือภูเขา ๕ ลูก ที่ล้อมมหานครดุจกำแพงอันทรงพลัง ได้แก่ เวภาระ เวปุลละ บัณฑวะ คิชฌกูฎ อิสีคิลิ



เขาคิชฌกูฏ คือหนึ่งในเบญจคีรี ที่มีลักษณะเหมือนนกแร้ง หรือเป็นที่เกาะอาศัยของฝูงแร้งที่มาคอยกินซากศพโจรที่ถูกประหารและทิ้งลงเหว ต้องใช้ความพยายามมาก ๆ ที่จะมองภาพให้เหมือนแร้งให้ได้
ในประวัติการขุดค้น กล่าวว่า ศรีอัศวินีกุมารทัตต์ ชาวเมืองพาริศาลในแคว้นเบงกอล เป็นคนแรกที่ค้นคว้าหาแหล่งสำคัญของพระพุทธศาสนาในเมืองราชคฤห์ ได้พบถนนสายขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ บริเวณที่ตั้งของเวฬุวนาราม ชีวกัมพวัน ก็ดีเป็นผลงานของท่านศรีอัศวินีกุมารทัตต์ ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๙ ภิกษุชาวพม่า เข้ามาสำรวจอย่างจริงจังและถากถางทางขึ้นไปสู่ยอดเขา

(ชีวกัมพวัน เป็นสังฆารามที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์หลวงประจำสำนักพระเจ้าพิพิสาร มีศรัทธาถวายป่่ามะม่วงให้เป็นสังฆาราม และเคยเป็นที่ถวายการพยาบาลพระบรมศาสดาคราวถูกพระเทวทัตกลิ้งหินหมายปลงพระชนม์ชีพที่เขาคิชกูฏ บางท่านก็เรียกว่าโรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกในโลก และเป็นสถานที่แห่งแรกที่พระเจ้าอาชาตศัตรูเข้าเฝ้าเผชิญพระพักตร์พระพุทธองค์หลังจากประกอบกรรมชั่วปิตุฆาตปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดาแล้ว และสมรู้ร่วมคิดในการลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์ หลังจากฟังพระธรรมเทศนาในสามัญญผลสูตร แจ่มแจ่งในขิตรำลึกถึงบาปที่ลาวงเกินพระพุทธองค์ในอดีต กรรมเวรที่ทำปิตุฆาตพระบิดาเพราะหลงผิด จึงกราบทูลขอขมาลาโทษต่อพระพุทธองค์ ขอรับไตรสรณคมม์ในท่ามกลางประชุมสงฆ์)

ทางขึ้นเขาคิชกูฎนั้นมีขนาดกว้างเกือบสองเมตร แบ่งเป็นขั้นบันไดไม่ให้ลาดชันจนหมดกำลังขาก่อนถึงปลายเขา มีจุดที่เล่ากันว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นไว้ ณ ที่ ที่พระเจ้าพิมพิสารเสด็จลงจากรถพระที่นั่งแล้วขึ้นประทับบนหลังช้างพาขึ้นเขาเพื่อเข้าเผ้าพระพุทธองค์ มีฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ที่หลวงจีนถ้งซำจั๋งสันนิษฐานว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาถึงที่นี่แล้วก็ลงจากหลังช้างพระที่นั่ง โปรดให้เสนาบดีและอำมาตย์ที่ติดตามพระองค์มาคอยอยู่ที่นี่ ส่วนพระองค์ข้ามฟากไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ วิหารบนส่วนแห่งยอดเขา
ด้านขวามือจะมองเห็นเขาเวปุลละ ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงกองกระดูกของผู้เสียนว่ายตายเกิด ซ้ำ ๆ ซาก ๆ กองเท่าภูเขาหิน

เมื่อข้ามสะพานที่เป็นสายน้ำไหลผ่านจากเขาหนึ่งลงมาสู่เหวใหญ่และไหลลงไปสู่ที่ราบของตีนเขา มีป้ายบอกว่า Gichakuta คือการเข้าสู่บริเวณเขาคิชฌกูฎ ในที่ไม่ไกลมีแอ่งน้ำขังพอที่หมู่พระอรหันต์ที่จำพรรษาบริเวณนี้ ได้ฉันหรือสรงน้ำ บริเวณนี้เป็นป่าไม้ร่มรื่น เงาภูเขาที่ทอดลงมาทางเดินทำให้เย็นสบาย เข้าสู่อาณาจักของพระอริยเจ้า อันเขาหินที่ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ ชะง่อนผาที่บางแห่งชะโงกเงื้อมเหมือนม่านที่มีศิลปินประดิษฐ์ขึ้นมา บางซอกมีโพรงเหมือนถ้าที่พระอรหันต์ทั้งหลายอาศัยจำพรรษาในครั้งพุทธกาล

ในคัมภัร์พระพุทธศาสนากล่าวว่าเขาคิชฌกูฎ เป็นที่จำพรรษาของพระสารีบุตร พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร และพระอุบาลี เป็นต้น



เวฬุวนาราม
ขอขอบคุณภาพจาก
www.dhammajak.net

เวฬุวนารามมหาสังฆิกาวาส (Valuvanaram)

เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา เดิมเป็นอุทยานสวนไม่ไผ่นานาชนิดของพระเจ้าพิมพิสารที่ประทานให้
ส่วนที่เรียกว่ากลันทกนิวาปะ คือ เป็นที่ให้เหยื่อกระรอก กระแต
อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า โมรนิวาปะ คือ เป็นที่ให้เหยื่อนกยูง


ขอขอบคุณภาพจาก
www.oknation.net

 พระเจ้าพิมพิสารทรงจับสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำมอบถวายสวนไผ่แด่พระพุทธองค์ ให้เป็นวัดในพุทธศาสนาแห่งแรก

พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายส่วนที่เป็น กลันทกนิวาปะ ให้เป็นพระอารามแด่พระพุทธเจ้าและสาวก
ส่วนที่เป็น โมรนิวาปะ ทรงอนุญาตให้เป็นที่พักของปริพาชกซึ่งเป็นนักบวขพวกหนึ่ง

 แสดงถึงพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นศาสนูปถัมภ์ของทุกลัทธิ แม้มิได้นับถือก๋ไม่ทรงเบียดเบียนกัน พระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันให้แก่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประมุข ทรงจับสุวรรณภิงคาร หลั่งน้ำมอบถวายแด่พระพุทธองค์

ด้วยเหตุนี้ในกาลต่อมาพระพุทธองค์รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายทรงอนุญาตให้มีอารามได้
นับว่าเวฬุวันแห่งนี้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธงค์ทรงประทับอยู่นาน ในพรรษา ๒, ๓,๔

ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้อัครสาวก ทั้ง ๒ องค์คือ พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร

เป็นที่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอริยสาวก ๑,๒๕๐ องค์ ในวันจาตุรงคสันนิบาต เพ็ญเดือนสาม

ทรงแต่งตั้งพระทัพพมัลลบุตร ให้เป็นพระภัตตุเทสกะ และเสนาสนะเทสกะ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษา ณ พระอารามเวฬุวันนี้

 ทรงบัญญัติพระวินัยหลายสิกขาบท

ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระสูตรสำคัญหลายพระสูตร



ขอขอบคุณภาพจาก
www.qa.mbu.ac.th
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุททฺโธ)
ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์ โดยพระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ (นาลาด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น