เมืองพาราณสี
ความเก่าแก่โบราณของเมืองพาราณสี มีปรากฏในชาดกมากว่า ๔,๐๐๐ ปี ชื่อเมืองถูกกล่าวขวัญไว้ในต่างยุคสมัยมากมาย เช่น สุตโสมชาดก เรียกสุทัสสนะโสภณ ทัณฑชาดก เรียกพรหมวัฒนะ ยุวันชัยชาดก เรียกรามนคร และอีกหลายชาดก เรียกกรุงพาราณสีว่า กาสีนครก็มี กาสีกุระ ก็มี
พาราณสี เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสีมาแต่ครั้งพุทธกาล เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่ก่อนพุทธกาล เป็นเมืองที่มีความชำนาญเชิงการพาณิชย์และอุตสาหกรรม มีสินค้าส่งออกลือชื่อคือ ผ้าไหมกาสี เครื่องสำอางกาสีวิเลปนะ และเครื่องประดับด้วยช่างฝีมือประณีต มีการติดต่อโดยตรงกับเมืองสาวัตถี เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ และเมืองสำคัญอื่น ๆ
พระพุทธองค์ทรงเคยมีพุทธวจนะว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในกรุงพาราณสี ได้มีพระราชาแห่งรัฐกาสี ทรงพระนามว่า พรหมทัต เป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร มีพาหนะมาก เป็นมหาวิชิต มีฉางหลวงเต็มด้วยข้าวเปลือก"
นั่นคือภาพรวมของเมืองพาราณศรี เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาก่อน
ขอขอบคุณภาพจาก
ความเก่าแก่ของเมืองพาราณสี มีมาพร้อม ๆ กับแม่น้ำคงคาทีเดียว
ตามประวัติมาจาก
พระมนู มนุษย์คนแรกในตำนานอินเดียอยู่เมืืองพาราณสี ตามทำเลเมืองบอกว่า พาราณสีนี้ตั้งอยู่ระหว่าง ๒ ลำน้ำ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำคงคา เหนือขึ้นไปเป็นแม่น้ำวรุณ ใต้ลงมาเป็นแม่น้ำอสี ดินแดนระหว่างแม่น้ำทั้งสองเรียกว่า วาราณสี และเดิมทีมีอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งเรียกว่า อาณาจักรกาสี ซึ่งมีวาราณสีเป็นเมืองหลวง แต่อาณาจักรนี้มีอายุอยู่ได้ไม่นานก็ถูกทำลาย คำว่า กาสี จึงค่อย ๆ เลือนมาเป็นชื่อเมืองหลวงไปยุคหนึ่ง ในคัมภีร์ปุราณ ปรากฎชื่อเมืองนี้ว่า มหาสมาสน์บ้าง อานันทวนาบ้าง ยังมีชื่ออื่น ๆ อีก ในสมัยออรังเซบ กษัตริย์อิสลามผู้เรืองอำนาจ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เป็น มหมุดาบัด แต่ว่าไม่ค่อยมีใครนิยมเรียก ชื่อที่ตั้งในยุคนั้นจึงหายไปเอง
มีการเล่าตำนานสืบต่อกันไว้พอเป็นต้นแบบของชื่อพาราณสีตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ในมหากบิลชาดก กล่าวว่า พาราณสี มาจากวานร กับสีสะ รวมกันเข้าเป็นวานรสีสะ โดยอ้างอิงมหากบิลโพธิสัตว์ ผู้เป็นหัวหน้าวานร มีบริวาร ๕๐ ตำนานเรื่องลิงขาวลิงดำได้แสดงคุณเครื่องแห่งธรรมของความเป็นผู้นำให้บริวารและพระเจ้ากรุงพาราณสีฟัง เมื่อสิ้นชีพแล้วจึงนำอัฐิในส่วนของศรีษะของพญาวานรนั้นมาไว้ที่เจดีย์ใกล้ทางสามแพร่งแห่งเมือง จึงได้นามว่าวาราณสี เมืองแห่งศรีษะของพระยาวานรโพธิสัตว์ แต่ในเอกสารการท่องเที่ยวของรัฐยูพีบอกว่า วาราณสี ได้มาจากคำว่า วารุณ กับอสี เพราะเป็นที่บรรจบของแม่น้ำวรุณ และแม่น้ำอสี ก่อนจะไหลสู่แม่น้ำคงคา ที่ท่า อธิเกศวร เป็นท่าน้ำที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของเมืองพาราณสี
ตามตำนานพระพุทธศาสนากล่าวว่า พระพุทธเจ้าก่อนทรงบรรลุพระโพธิญาณ เคยเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ มีพระเตมีย์ พระสุวรรณสาม เป็นต้น และบำเพ็ญบารมีในยุคสมัยพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพาราณสีหลายชาติ เรียกว่าในชาดก ๕๐๐ ชาติ มีประวัติที่เกิดขึ้น ณ เมืองพาราณสี เกินกว่าครึ่ง
ปัจจุบันเมืองพาราณสีคือที่ชุมนุมทางศาสนา ศูนย์กลางแสวงบุญของศาสนิกหลายศาสนาที่กำหนดด้วยศรัทธาให้เมืองพาราณสีเป็นบุญสถาน เมืองที่ใช้ประกอบวิธีกรรมการบวงสรวง กราบไหว้บูชา โดยเฉพาะพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตทางศาสนาฮินดู มีเทวาลัยโบราณจำนวน พัน ๆ แห่ง ที่ตั้งศิวลึงค์มากที่สุดในโลก มีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ใช้อาบชำระบาป มีท่าน้ำให้ลอยบาปได้ ท่าน้ำบางแห่งใช้เป็นสวรรค์ ท่าน้ำบางท่าแบ่งให้เป็นป่าช้า ผู้ที่ตายแล้วก็มีสิทธิ์ในการใช้สอยได้เสมอกัน เช่นท่ามณิกรรณการ์ฆาต เมรุหลวงของชาวฮินดู เป็นลานส่งร่างไร้วิญญาณของศพที่ถูกเผามากว่า ๔,๐๐๐ ปีแล้ว ไฟไม่เคยดับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทฺโธ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น