วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๓ นครโกสัมพี..๑
โกสัมพี (อังกฤษ: Kosambi)
คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นวังสะ ๑ ใน มหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขายในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซากโบราณสถาน รูปโค้งพระจันทร์เสี้ยวริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโกสัม (Kosam) หรือหมู่บ้านหิสัมบาทตชนบทจังหวัดอัลลฮาบาต รัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๕๙ กิโลเมตร เมืองนี้ได้เริ่มต้นทำการขุดค้นทางโบราณคดีโดยศาสตรจารย์ จี.อาร์.ชาร์มา แห่งมหาวิทยาลัยอัลลาหบาต ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ และมีการสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ - พ.ศ. ๒๔๙๙ ปัจจุบันปรากฏหลักฐานที่ได้จากการสำรวจขุดค้นเป็นที่แน่นอนแล้ว โดยยังคงมีซากกำแพงเมืองปรากฏให้เห็นอยู่ และได้ค้นพบวัดโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นวัดโฆสิตารามมหาวิหาร วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีการค้นพบบาตรดินโบราณ พระพุทธรูป และโบราณวัตถุจำนวนมากภายในแหล่งขุดค้นเมืองโกสัมพีแห่งนี้ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ทางการอินเดียได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองอัลลหบาต
เหรียญกษาปณ์ทองแดงโบราณพบที่เมืองโกสัมพี จารึกคำว่า "โกสัมพี" ปัจจุบันเหรียญนี้เก็บรักษาอยู่ที่บริติสมิวเซียม ประเทศอังกฤษ
โกสัมพีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้มีพระเจ้าอุเทนราชาเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างแคว้นที่สำคัญแคว้นหนึ่ง ในทีฆนิกาย มหาวรรค ระบุว่าพระอานนท์เคยทูลขอให้พระพุทธองค์ควรมาปรินิพพานที่เมืองใหญ่โกสัมพีนี้ แทนที่จะเป็นเมืองกุสินารา ที่เป็นเมืองเล็ก ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้ปรากฏวัดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ๔ วัด คือ โฆสิตารามมหาวิหาร, กุกกุฏารามมหาวิหาร, ปาวาริการามมหาวิหาร หรือปาวาริกัมพวัน และพัทริการามมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยมหาเศรษฐีแห่งโกสัมพี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี, กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกเศรษฐีตามลำดับ โดยสามวัดแรกเศรษฐีทั้งสามได้สร้างถวายพระพุทธเจ้าในคราวเดียวกัน
ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษาที่ ๙ ณ โกสัมพี และมีโอกาสเสด็จมาประทับ ณ เมืองโกสัมพีหลายครั้ง และบางครั้งได้ประทับอยู่นาน ได้ทรงแสดงพระสูตรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์หลายสิกขาบท ซึ่งรวมถึงสิกขาบทในสุราปานวรรค ข้อที่ห้ามพระดื่มสุราด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่พระธรรมธรและวินัยธรแห่งโฆสิตารามมหาวิหารทะเลาะกันด้วยเรื่องการคว่ำขันน้ำในห้องน้ำ เกิดเป็นสังฆเภท (แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาตักเตือนก็ไม่ยอมกัน จึงทำให้พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาที่ ๑๐ ที่รักขิตวัน ในป่าปาริไลยกะ ออกพรรษาแล้วจึงเสด็จไปเมืองสาวัตถี พระที่ทะเลาะกันสำนึกผิดและคืนดีกันได้ในระหว่างพรรษา เมื่ออกพรรษาพระเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี เพื่อกราบทูลขออภัยโทษ) และเรื่องพระฉันนะ (คนเดียวกับฉันนะอำมาตย์ที่พาเสด็จออกผนวช) ถูกพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ จนสำนึกผิดและกลับใจปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในเมืองโกสัมพีที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น เรื่องโฆสกะเศรษฐี, พระพากุละ, พระปิณโฑละภารัทวาชะ, เรื่องพระเจ้าอุเทนราชากับพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา พระนางวาสุลทัตตา เป็นต้น รวมทั้งเรื่องพระนางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระพุทธเจ้า จ้างให้นักเลงและเดียรถีร์เหล่ามิจฉาทิฏฐิติดตามด่าพระพุทธองค์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นต้นเหตุของพระพุทธภาษิตสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นธรรมะสอนใจดียิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก วิกิพีเดีย
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น