การนำนวนิยายที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้ามากล่าวถึง แท้จริงก็เพียงเพื่อจะโยงเรื่องราวกล่าวถึงนครโกสัมพี....เท่านั้นเอง แต่เมื่อได้บอกกล่าวเล่าเรื่องมาณพกามนิตแล้ว ก็ขอลงรายละเอียดอีกสักเล็กน้อยกับเรื่ีองราวของกามนิตผู้นี้เป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวความเป็นมาดังนี้
กามนิต (เดนมาร์ก: Der Pilger Kamanita)
เป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมาก ประพันธ์ในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ โดย คาร์ล อดอล์ฟ เจลเลอร์รุป นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. ๑๙๑๗
หนังสือกามนิตได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่านฉบับภาษาไทยแปลโดย เสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ในปีพ.ศ. ๒๔๗๓ มีรูปประกอบโดยอาจารย์ช่วง มูลพินิจ โดยแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ (The Pilgrim Kamanita) ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน (Der Pilger Kamanita) อีกทอดหนึ่ง
ในเรื่องกามนิตนี้ กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งผู้ซึ่งมีนามว่า กามนิต ผู้ที่หวังจะได้เข้าพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อที่จะได้ขจัดความทุกข์ต่าง ๆ ที่ตนได้เผชิญมา และได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ในระหว่างการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น กามนิตได้เข้าขอพักที่บ้านของช่างปั้นหม้อท่านหนึ่งเป็นการชั่วคราว และในวันเดียวกันนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เสด็จมาขอพักอาศัยที่บ้านหลังนั้นด้วยพอดี
กามนิตจึงได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตนเองและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าโดยที่ไม่รู้เลยว่า สมณะที่สนทนาอยู่นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง เรื่องราวดำเนินส่วนแรกเป็นภาคพื้นดิน และต่อในส่วนหลังเป็นภาคสวรรค์ ที่กามนิต ได้เสียชีวิตระหว่างเดินทางเพื่อจะได้พบ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปเกิดเป็นเทวดาและพบกับ วาสิฏฐี
ทั้งสองได้เล่าเรื่องราวชีวิตหลังความรักในโลกมนุษย์ ประสบการณ์แห่งการไขว่คว้าหากันจนได้มาพบเจอพุทธศาสนา ตลอดจนการเห็น การเกิดดับของสรรพสิ่งที่แม้แต่สวรรค์ พรหมก็หลีกหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง มีแต่บรมสุขแห่งพระนิพพาน คือทางออกแห่งการเดินทางอันยาวนานนี้ วาสิฏฐีได้เข้าถึงความจริงนี้ก่อน และทำให้กามนิตได้รู้ว่าบุคคล ที่ตนพบในบ้านช่างปั้นหม้อ ได้ให้สัจธรรมแห่งความจริงไว้พิจารณา คือใคร การไม่ต้องเวียนว่ายอีกต่อไปเป็นเช่นไรในที่สุด
ในเรื่องกามนิตนี้ มีกามนิต และวาสิฏฐีเป็นตัวเอก และนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังมีองคุลิมาล พระอานนท์ และพระสารีบุตร ปรากฏในเรื่องอีกด้วย เป็นการเชื่อมโยงหลักธรรมในพุทธศาสนากับความจริงแห่งความรักได้อย่างลึกซึ้งและกินใจ ซึ่งเดิมหนังสือไม่ได้มีการแบ่งเล่มเป็น สองภาคแต่ได้มีการแบ่งภาค เพือให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยความยากในการทำความเข้าใจ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก วิกิพีเดีย
จากคำนำ หนังสือเรื่องวาสิฎฐี เมื่อ วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ของนายสงบ ลักษณะ อธิบดีกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ในหนังสือ เรื่องวาสิฏฐีมีดังนี้
เรื่องวาสิฏฐี นี้มีลักษณะเป็นนวนิยายเกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา ลัทธิพราหมณ์ และวรรณคดีอินเดีย ดำเนินเรื่องโดยอาศัยพุทธประวัติ หลักธรรม ตลอดจนเรื่องราวในพระสูตรต่าง ๆ สอดร้อยเข้าด้วยกัน หนังสือนี้เดิมชาวเดนมาร์ก ฃื่อคาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป ( Karl Adolph Gjellerup ) แต่งเป็นภาษาเยอรมัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ให้ชื่อว่า Der Pilger Kamanita ต่อมานาย John E. Logie แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า The Pilgrim Kamanita ซึ่งเสฐียรโกเศส และนาคะประทีป ได้ถิดความจากฉบับภาสษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แล้วตั้งชื่อเรื่องว่า กามนิต ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔
เนื่อหาของเนื้อเรื่อง แบ่งเป็น ๒ ภาค ได้แก่ภาคหนึ่ง บนดิน และภาคสอง บนสวรรค์ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอเปลี่ยนชืื่อเรื่องจากกามนิต เป็นเรื่องวาสิฏฐี เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือแบบเรียนวรรณคดีไทยสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตร ก็กำหนดให้ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา สำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปัจจุบัน
เรื่องวาสิฎฐีนี้มีการจัดพิมพ์มาแล้วหลายสิบครั้ง สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ ๓๕ นี้ ได้ปรับปรุงกิจกรรมท้ายบท เพิ่มเติมภาพประกอบ และสอบทานถ้อยคำกับฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ๆ ด้วย
กรมวิชาการหวังว่าผู้อ่านจะได้รับสาระ รสชาติ และความเพลิดเพลิน จากการอ่าน สมกับที่เป็นหนังสือแบบฉบับในการเรียงความและการใช้ถ้อยคำภาษาไทย
ขอเชิญผู้สนใจไปหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ ในสนนราคาที่ไม่แพงเลยเพียงเล่มละ ๑๒๕ บาท ทั้งรูปเล่ม ภาพประกอบ และตัวอักษร อ่านแล้วสบายตาเจริญใจ เป็นที่ยิ่ง
ซึงพลอยโพยมต้องขออภัย ที่จะไม่นำสารระเรื่องราวรายละเอียดมากล่าวถึง เพราะจะเป็นการขัดจังหวะกับเรื่องราว การนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น