วารวัน....กับต้นรากสามสิบ
ดอกต้นรากสามสิบ
ต้นรากสามสิบ เป็นพืชประจำสวนของเมืองฉะเชิงเทรา เป็นพืชที่ทนแล้งมากไม่ต้องรดนำพรวนดินก็สามารถเจริญเติบโตอยู่ภายในสวนได้ ในสมัยที่เป็นเด็ก ๆ ยังอาศัยอยู่กับคุณยายที่บ้านริมน้ำตำบลบางกรูดอำเภอบ้านโพธิ์ ซึ่งหลานยายหลานย่า แม้แต่เหลน ๆ เรียกท่านว่ายายขาหรือชวดขา นั้น เด็ก ๆ จะต้องลงไปเก็บหญ้าในสวน เสาร์เว้นเสาร์ โดยวิธีการแบ่งร่องสวนคนละร่องสวน บางคนต้องเก็บคันรอบสวนซึ่งจะมีพื้นที่กว้างยาวกว่าร่องสวนธรรมดา คันรอบสวนนี้โอบล้อมร่องสวนทั้งสี่ด้าน กลางร่องสวนจะเป็นพืชพันธุ์ผลไม้ต่าง ๆ นานา เช่น มะม่วงหลากพันธุ์ มะปรางเปรี้ยวหวาน ขนุน ละมุด มะละกอ และอื่น ๆ หรือบางร่องปลูกพริกขี้หนู กระเพรา โหระพา ครึ่งร่องสวน
คันรอบร่องสวน
สำหรับต้นกล้วยจะมีมากในทุกร่องสวนปลูกตามพื้นที่ว่างเหลือจากไม้ยืนต้นอื่น (ผลไม้ ) ต้นกล้วยก็จะปะปนไปด้วยต้นเท้ายายม่อมขึ้นกระจายเป็นกอ ๆ บางส่วนคือกระชาย ดังนั้นพื้นที่กลางร่องสวนจึงไม่มีที่ว่างสำหรับต้นรากสามสิบนักเพราะที่เหลือก็เป็นเพียงทางเดินเท่านั้น ริมร่องสวนจะปลูกหมากทั้งสองด้านทุกร่อง เว้นระยะห่างพอ ๆ กัน สิ่งที่จะขึ้นตามริมร่องสวนก็คือต้นรากสามสิบและผักกระเฉดบก (หมายถึงผักกระเฉดที่ปลูกในร่องสวนที่เก็บน้ำ ต่อมาผักกระเฉดไต่เลื้อยขึ้นมาบนริมขอบร่องสวน และแผ่กระจายเป็นกออยู่บนริมร่องสวน นั่นเอง ) ผักกระเฉดบกก็จะแบ่งพื้นที่กับต้นรากสามสิบ บางกอก็ก่ายเกยกันโดยต้นผักกระเฉดบกทอดนอนไปตามพื้นดิน เวลาต้องการผักกระเฉดบกก็ต้องสอดมือไปใต้กอรากสามสิบเด็ดผักกระเฉดขึ้นมา
ต้นเท้ายายม่อม และกล้วยมักจะปลูกปะปนกัน
ชาวสวน(เบญจพรรณ) มักนิยมปลูกต้นหมากไว้ริมร่องสวน
ต้นรากสามสิบมักอยู่ตามริมร่องสวน
โดยปกติต้นรากสามสิบก็ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญใจให้พวกเด็ก ๆ นัก การแผ่ขยายกิ่งใบของรากสามสิบก็มีส่วนดีที่ไม่มีหญ้าขึ้นในแถบนั้น ยกเว้นว่าหญ้าจะขึ้นตามชายร่องสวนซึ่งไม่ได้ตั้งชัน แต่เป็นชายร่องที่ลาดชัน และเป็นที่เติบโตของวัชพืชรวมเรียกว่าหญ้า ต้นกูดเขากวาง (เฟิร๋นชนิดหนึ่ง) ซึ่งลำต้นอวบน้ำถอนทิ้งได้ง่าย และน่าจะเป็นวัชพืชที่เด็กๆ ออกจะพอใจชอบใจอยู่ กว่าวัขพืชอื่น
ต้นกูดเขากวาง
แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง ต้นรากสามสิบ หลังจากให้ผลลูกรากสามสิบ เมื่อผลสุกก็หล่นที่พื้นสวนใต้กอรากสามสิบบ้าง ถูก นกกิน และไปถ่ายมูลนกแพร่พันธุ์ต้นรากสามสิบให้เจ้าของสวนและสวนใกล้เคียง เมื่อผลวายหมดแล้ว ใบฝอย ๆ ของต้นรากสามสิบก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากใบสีเขียวเป็นเหลือง และค่อย ๆ หลุดร่วงลงหมด เมื่อ หมดฝน ต้นหนาว และหมดหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ต้นรากสามสิ จะเหลือเป็นลำต้นปนลำกิ่งแห้ง ๆ แผ่ขยายกิ่งรอบกอ และมีหนามเล็ก ๆ มากมายตามลำกิ่งก้าน
รากสามสิบในฤดูแล้ง
การสอยหมาก ในปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพจากคุณยุ้ย ทีมงานบางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต
(ภาพนี้เนื่องจากคนรับทะลายหมากเป็นสุภาพบุรุษ จึงสามารถใช้แค่สองคนจับมุมกระสอบสองมือสองมุมได้ แต่หากนึกถีงเด็ก ๆ วัยเรียนชั้นประถม จึงต้องใช้แรงงานเด็กถึง สี่คน)
ผลรากสามสิบที่ได้ระยะเวลานำมาปรุงเป็นแกงคั่ว อร่อย ไม่อ่อน หรือแก่ เรียกว่ากำลังดี
อนึ่งในช่วงที่ต้นรากสามสิบให้ผลในระยะยี่สิบกว่าวันหลังออกดอกและเกิดเป็นผลแล้ว ไม่ถึงเดือน บางครั้งพวกผู้ใหญ่ ก็จะเก็บผลรากสามสิบเอามาทำแกงคั่วกับปูทะเล การไปขุดปูทะเลนับเป็นของง่าย ๆ ของเด็กผู้ชายเพราะปูทะเลมีทั้งในท้องร่องสวน ริมคลองใกล้บ้าน ถ้าเป็นปูทะเลตัวใหญ่ เด็ก ๆ จะขอให้ผู้ใหญ่ไม่ทุบก้ามใหญ่เพื่อจะนำก้ามใหญ่มาแขวนเป็นกระดิ่ง กรุ๋งกร๋ง เวลาลมโชยพัด แถว ๆ นอกชานบ้าน เมนูที่เด็ก ๆ ชอบ คือปูทะเลผัด
ปูทะเลที่นำก้ามใหญ่ไปทำกระดิ่งแขวนได้
ครั้นเมื่อนำปูทะเลตัวเอ้แบบนี้มาแกงคั่วกับลูกรากสามสิบ ความขมของลูกรากสามสิบที่ไม่มีเด็กคนใดชอบหากจะเทียบรสชาติกับปูทะเลผัดธรรมดากับไข่และต้นหอม จึงทำให้เมนูแกงคั่วลูกรากสามสิบที่ผู้ใหญ่ยอมลำบ่ากเก็บลูกสามสิบมาจากต้นแม้คนปรุงจะมีฝีมือรสเลิศปานใดเด็ก ๆ ก็หาใส่ใจไม่ กินกันแบบ กินไปบ่นไปว่า ไม่อร่อยเลยแม่จ๋า น้าจ๋า การปรุงแกงคั่วปูทะเลใ่ลูกรากสามสิบ กับ การผัดปูทะเล นั้น ขั้นตอนและความยากง่ายต่างกันมาก ดังนั้นเมนูแกงคัวลูกสามสิบปูทะเลก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากครัวที่บ้านของพลอยโพยม เพราะความเมตตาของผู้ใหญ่มีให้เด็ก ๆ นั่นเอง รวมทั้ง ต้นรากสามสิบเองก็ค่อย ๆ ลับหายไปจากสวนในยุคเด็ก ๆ รุ่นนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ครอบครองสวนต่อมา
ส่วนผลสุกรากสามสิบที่ร่วงหล่นรายกระจายทั่วพื้นสวนแบบนี้ก็จะมี ทูตเจริญพันธุ์พืช มาดำเนินการนำพาส่งออกไปขยายพันธ์ุ โดยไม่ต้องมีรายการสั่ง (ออร๋เดอร๋์ )แต่ก็พร้อมส่ง (โดยไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากของกระบวนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ) ทำให้รากสามสิบได้มีโอกาสไปแพร่พันธุ์ ดำรงพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไป (หมายถึงสถานที่ใกล้เคียง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น