ขอรวบรวมข้อมูลด้านสมุนไพรของ ต้นรากสามสิบ หรือสาวร้อยผัว ซึ่งมาจากหลายแหล่งข้อมูล ดังนี้
ในด้านสมุนไพร ยาโบราณระบุว่า มีผู้เรียกรากสามสิบว่า สาวร้อยผัว เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี จึงมีชื่อว่า สาวร้อยผัว กล่าวคือไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังสามารถมีลูกมีผัวได้
โดยจะใช้รากมาต้มกิน หรือปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง แต่ชื่อสาวร้อยผัวในปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว ยกเว้นลูกหลานหมอยาบางคนที่เคยได้ยินปู่ที่เป็นหมอยาและพ่อพูดถึงต้นนี้อยู่
แต่หลังจากที่ผู้คนหันมาสนใจสมุนไพร ทำให้ชื่อของสมุนไพร สาวร้อยผัว ได้กลับมาเป็นที่รู้จัก
สาวร้อยผัว มักจะรู้จักในชื่อที่ต่างกันไปในแต่ละภาค ภาคกลางมักจะเรียกว่า รากสามสิบ หรือสามร้อยราก ซึ่งในส่วนของภาคกลางมีของหวานที่ชื่อว่า “รากสามสิบแช่อิ่ม”
ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า ผักชีช้าง ส่วนภาคใต้รับประทานเป็นผักเช่นกันเรียกว่า ผักหนาม เพราะลำต้นมีหนามรับประทานเป็นผัก ใช้ยอดอ่อน ผลอ่อน หน่ออ่อน (ซึ่งพืชชนิดนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกับหน่อไม้ฝรั่ง) โดยรับประทานสด ๆ ต้ม แกงส้ม แกงกะทิ เป็นต้น
สาวร้อยผัว จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีรากเป็นกระจุกมากมาย (คล้ายรากของกระชาย) ต้นหรือเถาแรกออกจะโผล่แต่เถากลาง (เถาหลัก) ขึ้นไปในอากาศ ตามเถาจะมีหนามงุ้มลงเป็นระยะ ๆ (แต่ละข้อ) หลังจากนั้น ก็จะมีกิ่งแขนงโผล่ขึ้นมาจากเถาหลักดังกล่าวในแต่ละข้อ ส่วนใบก็จะออกรอบ ๆ กิ่งแขนง (ตามข้อ) ลักษณะของใบจะเป็นคล้าย ๆ เข็มเล่มเล็ก ๆ เป็นใบเดียวบ้าง เป็นกระจุกบ้าง บางกระจุกมีมากถึง ๘-๙ เส้น เมื่อใบออกเต็มที่จะมีสีเขียว เป็นพวงรอบกิ่งแขนง มองดูคล้ายพวงหางกระรอก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะออกดอกสีขาวให้ชม (ราวกันยายน – ตุลาคม) ผลกลม มี ๓ พู และมีเมล็ดอยู่ภายในพูนั้น ฉะนั้น จึงสามารถขยายพันธุ์ได้ ทั้งปลูกด้วยเมล็ดและใช้เหง้าหรือหน่อ
และยังมีพืชตระกูลเดียวกันมีลักษณะใกล้เคียงกันมากกับรากสามสิบมีชื่อพฤกษ ศาสตร์ว่า Asparagus filicinus Buch.-Ham. บางท้องที่เรียกรากสามสิบ ต้นนี้ทางเหนือเรียก “ม้าสามต๋อน” ใช้เป็นยาดองเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย ซึ่งทั้งสองชนิดมีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตเหมือนกัน คือ Satavari จึงมีสรรพคุณทางยาคล้ายๆ กัน นอกจากรับประทานเป็นผักแล้วรากของสมุนไพรชนิดนี้ยังสามารถนำมาทุบหรือขูดกับน้ำเพื่อใช้ซักเสื้อผ้าได้อีกด้วย
ในประเทศอินเดียมีการเรียกสมุนไพรชนิดนี้คล้ายกับเมืองไทย โดยในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ศตาวรี (Shatavaree)
ศตาวรี (Shatavaree) มีความหมายว่า ต้นไม้ที่มีรากหนึ่งร้อยราก หรือบางตำราบอกว่าหมายถึงผู้หญิงที่มีร้อยสามี “Satavari (this is an Indian word meaning 'a woman who has a hundred husbands')” สมุนไพรชนิดนี้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีมาก่อนอายุรเวทด้วยซ้ำ จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มีการใช้มานานหลายพันปีแล้ว และในอินเดียใช้รากสามสิบทำเป็นของหวานเช่นเดียวกับเมืองไทย
รากสามสิบ เป็นสมุนไพรที่ใช้มากที่สุดในอินเดียชนิดหนึ่ง ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ อินเดียใช้สมุนไพรชนิดนี้ถึง ๘,๔๖๐ ตัน เป็นอันดับสองรองจากมะขามป้อมที่ใช้อยู่ที่ ๑๕,๑๔๗ ตัน ปัจจุบันมีสารสกัดด้วยน้ำของรากสามสิบจากอินเดีย ไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ในลักษณะเป็น Dietary supplement กล่าวคือ สามารถขายได้ทั่วไปอย่างอิสระไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
ใน ตำราอายุรเวทใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรหลักสำหรับบำรุงในผู้หญิง ในการทำให้ผู้หญิงกลับมาเป็นสาว (Female rejuvenation) และนอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ของผู้หญิง เช่น ภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ภาวะมีบุตรยาก ตกขาว ภาวะหมดอารมณ์ทางเพศ ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) บำรุงน้ำนม บำรุงครรภ์ ป้องกันการแท้ง (Habitual abortion)
นอกจากจะใช้สมุนไพรชนิดนี้สำหรับผู้หญิงแล้ว ในอินเดียยังใช้ในการเพิ่มพลังทางเพศให้กับผู้ชายอีกด้วย ซึ่งก็คล้ายกับทางภาคเหนือของไทยที่ใช้สมุนไพร ม้าสามต๋อน เป็นยาดองเพื่อเพิ่มพลังทางเพศ นอกจากนี้รากสามสิบยังถือว่าเป็นสมุนไพรแห่งการฟื้นฟูพลังชีวิต เหมาะกับผู้สูงอายุที่ท้อแท้ ซึมเศร้าหมดอาลัยตายอยากในชีวิต โดยคั้นน้ำสดๆ รับประทานกับน้ำผึ้ง ในปัจจุบันในบางพื้นที่ยังนำรากสามสิบสดเคี้ยวกินเล่นเพื่อบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่ป่วย ส่วนในอินเดียมักนิยมรับประทานน้ำคั้นสดกับนม ต้มน้ำคั้นสดกับนมหรือผงแห้งกับเนย และในอินเดียยังใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาอื่นๆ อีกมาก เช่น ยาแก้ไอ ยารักษาโรคกระเพาะ ยาแก้บิด แก้ไข้ แก้อักเสบ
รากสามสิบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา คลายกล้ามเนื้อมดลูกสตรี บำรุงหัวใจ แก้อาการอักเสบ แก้ปวด มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเบาหวาน ต้านอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ ลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับและปอดดี
นำรากสามสิบมาต้มน้ำดื่ม หรือตำผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินเป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า รากสามสิบ เป็นสมุนไพรหลักสำหรับบำรุงสตรี ทำให้ เป็นสาวตลอด ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ชายเห็นชายชอบ สามีรักสามีหลง จึงมีชื่อเรียกอีกว่าต้น “สามร้อยผัว” รสชาติของรากที่ต้มจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นโสมชวนรับประทานยิ่งนัก นอกจากนั้น ยังช่วยแก้ประจำเดือนสตรีมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ภาวะมีบุตรยาก ตกขาว แก้หมดอารมณ์ทางเพศหลังหมดประจำเดือน บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอด บำรุงครรภ์ และ ป้องกันการแท้งลูกดีมาก
สำหรับบุรุษ เอารากสดหรือตากแห้งดองกับเหล้าขาว ๔๐ ดีกรี จนยาออกดื่มครั้งละ ๑ แก้วเป๊ก ก่อนอาหารเช้ากลางวันเย็นและก่อนนอน เป็นยาบำรุงร่างกายทำให้แข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายๆ และยังบำรุงปอด ตับ ลดน้ำตาลในเลือด หรือ ลดเบาหวาน แก้โรคคอพอกได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง
เนื่อง จากสมุนไพรชนิดนี้หายไปจากสังคมมานาน การที่จะนำมาใช้เป็นยาอีกครั้งควรระวัง เพราะเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงห้ามใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น ท่านที่เป็นโรค Uterine fribrosis หรือ Fibrocystic breast
สำหรับต้นรากสามสิบสามารถรับประทานสดๆ โดยใช้ยอดอ่อนต้ม แกงส้ม แกงกะทิ
ผล นำมาแกงกับกะทิ
รากทำเป็นของหวานคือรากสามสิบแช่อิ่ม
ติดตามชมรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง เรื่องรากสามสิบ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๘ ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=Qydza1wUsqU
ขอขอบคุณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Asparagus_racemosus
นิตยสาร เทคโนโลยีชาวบ้าน
http://saoraiphua.blogspot.com/
http://thrai.sci.ku.ac.th/node/942
http://www.thairath.co.th/column/edu/paperagriculturist/274845
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น