...ประเพณีเลี้ยงขันโตกบายศรีสู่ขวัญ...
กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ(ร้อยตะวัน) : เขียน
กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ(ร้อยตะวัน) : เขียน
...ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน…
เป็นศรีบ้านเฮื๋อน เปิ้นแล้ว...
เป็นศรีบ้านเฮื๋อน เปิ้นแล้ว...
ประเพณีเลี้ยงขันโตกหรือขันโตกดินเนอร์ เป็นอีกหนึ่งศิลปะในการรับประทาน ที่ประมวลทั้งภาชนะ อาหาร การแสดงที่เป็นพื้นเมืองมาไว้ในงานเดียวกัน สะท้อนถึงความเป็นวัฒนธรรมของภาคเหนือ ที่มีการบูรณาการได้อย่างงดงาม
ประเพณีเลี้ยงขันโตก เพิ่งจะมีขึ้นมีราวปี 2500 เป็นต้นมา โดย นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นายธนาคารและนักธุรกิจของภาคเหนือ ผู้ซึ่งสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องโบราณคดีของล้านนาไทยได้รวบรวมเอาประเพณีที่ชาวเหนือประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เช่น ประเพณีที่รับประทานอาหารโดยใช้ขันโตกเป็นภาชนะ ใช้กล่องข้าวใส่ข้าวรับประทานแบบชาวบ้านในภาคเหนือ มาบูรณาการเข้ากับศิลปะการแสดงและวงมโหรีของภาคเหนือเข้าไว้ด้วยกัน โดยได้นำมาใช้ในพิธีการต้อนรับชาวต่างชาติที่มาเป็นแขกร่วมที่มาประชุมเรื่องธนาคาร ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศจะได้ร่วมรับประทานอาหารแบบไทยเหนือ ซึ่งสำหรับกับข้าวจัดเลี้ยงจะประกอบด้วยของไทยภาคเหนือ ใส่ขันโตกและกล่องข้าวเหนียวไว้รับประทานกัน ในระหว่างที่รับประทานอาหารจะมีประเพณีการแสดง การละเล่นตามแบบฉบับศิลปะวัฒนธรรมไทยล้านนาไทยต่าง ๆประกอบด้วย ในการจัดเลี้ยงครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญและพึงพอใจแก่แขกผู้มาร่วมงานกันมากเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้อาจารย์ไกรศรีได้จัดงานเลี้ยงในรูปแบบเช่นนี้อีกหลายครั้ง และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเพณีขันโตกหรือขันโตกดินเนอร์ที่ชาวต่างชาติเรียกกัน ก็กลายเป็นที่นิยมทำกันทั้งส่วนเอกชนและทางราชการ....
สถานที่สำหรับทำพิธีกรรมแห่ขันโตกบายศรีสู่ขวัญ
การจัดสถานที่ในประเพณีขันโตก ต้องหาลานกว้างเพียงพอแก่จำนวนแขก โดยมากจะเป็นสนามหญ้าในบ้านหรือสำนักงาน ถ้าจัดงานใหญ่จริงๆ ก็ต้องหาสนามขนาดใหญ่ เพราะนอกจากเป็นที่นั่งรับประทานแล้วยังต้องมีที่เล่นมหรสพด้วย สถานที่จึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดประเพณีขันโตก
จากนั้นก็จะมีการขัดราชวัตร คือรั้วพิธี โดยมากทำคล้ายๆรั้วพิธีตามวัด เวลามีงานสมโภชหรืองานเทศกาล เช่น เดือนยี่เป็ง การฟังเทศน์มหาชาติ เป็นต้น ราชวัตรนั้นก็คือ รั้วกั้นพิธีทำด้วยไม้ไผ่จักเป็นตอกแล้วสานตามคร่าวที่ติดกับเสากั้นเขตนั้น ทำทางเข้าไว้ 4แห่ง หรือ 2 แห่ง แล้วแต่การทำของผู้เตรียมงาน แล้วเอาก้านมะพร้าวมาทำโค้งให้เป็นเหมือนประตูป่า เป็นทางเข้าไป ส่วนต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกุ๊ก(พืชตระกูลข่า) นำมาปักไว้รอบๆราชวัตรหรือรั้วพิธีนั้น ถือเสมือนว่าสถานที่นั้นเป็นเขาวงกตที่พระเวสสันดรพำนักอยู่ เป็นที่สำราญพระทัย และถือว่าแขกที่เข้าไปสู่พิธีนั้นมีเกียรติยศประดุจเจ้าบ้านผ่านเมือง
นอกจากนี้ ยังมีด้ายสายสิญจน์ ใช้วงรอบราชวัตรในกรณีที่การเลี้ยงขันโตกมีพิธีบายศรีสู่ขวัญด้วย ถ้ามีจะเอาเงื่อนด้ายด้านหนึ่งไปผูกติดพระพุทธรูป วนรอบฐานพระพุทธรูป 3 รอบ จากนั้นก็นำมาเวียนรอบราชวัตร แล้วเอาด้านปลายลงสู่พานบายศรี ส่วนรอบๆราชวัตรจะมีแสงสว่างที่ทำจากประทีปโคมไฟโดยใช้เทียนสีผึ้งหรือเทียนไข หรือวางถ้วยประทีปใส่น้ำมันมะพร้าว แล้วฟั่นด้ายเป็นตีนกาสำหรับเป็นไส้ประทีป บางแห่งใช้น้ำมันก๊าดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วทำไส้ขึ้นมาจุด ใช้แทนตะเกียงโดยปักรอบๆราชวัตรที่ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยง ส่วนด้านในสนาม สถานที่จัดเลี้ยงจะมีการปูเสื่อจนเต็ม เพื่อให้แขกมานั่งชมการละเล่นและนั่งรับประทานอาหารแล้วก็จะมีการตั้งคนโท (น้ำต้น) กระโถน พานมูลีขี้โย และเมี่ยงไว้เป็นชุด ๆ
เครื่องอาหารที่ประกอบในขันโตก
...จักบอกนายแพง เจ้าแป้งกลิ่นกู๊
เจ้าแต่งต้อนหลายอัน
มีพร่ำพร้อม โต๊ะโตกกัวะขัน
มีพร่ำพร้อม โต๊ะโตกกัวะขัน
ของจื๋นจ่าวมัน หอมหวนใส่ต้วย...
อาหารที่ใส่ไว้ในโตกหรือขันโตก มักจะประกอบด้วยอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือ พร้อมทั้ง บุหรี่พื้นเมือง เมี่ยง เป็นต้น
มูลีขี้โย คือ บุหรี่ที่นิยมสูบกันในภาคเหนือ โดยมากชาวไทยใหญ่นิยมสูบมากเป็นพิเศษตลอดจน พ่ออุ้ย แม่อุ้ย ก็นิยมสูบเหมือนกัน โดยจะเอายอดตองกล้วยไปทาบกับไฟร้อนแล้วเอามามวนกับยาสูบกับยาสูบพื้นเมืองใส่ขี้โยด้วย ขี้โยทำจากไม้ข่อย เอากิ่งข่อยมาหั่นให้ละเอียดเอามาโรยบุหรี่แล้วมวนพร้อมกัน เวลาจุดไฟสูบ ขี้โยจะช่วยลดความฉุนของยาลง และมีความหอมหวนอร่อย นอกจากนี้การยังมีการวางจานเมี่ยงเพื่อใช้อมหลังอาหาร
เมี่ยง เป็นไม้ยืนต้นขึ้นในป่าภาคเหนือของไทยจนถึงแถบยูนนาน ชาวจีนเก็บเอายอดมาตากแห้งและคั่วให้เป็นชา ชาวล้านนาไทยเก็บใบอ่อนมานึ่งแล้วหมักไว้เป็นเวลานานให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด สำหรับอมรักษาท้องและช่วยย่อยอาหารด้วย คนล้านนาไทยเป็นส่วนมากตามอำเภอรอบนอกของทุกจังหวัดยังนิยมอมเมี่ยงกันอยู่ ถือว่าเป็นเครื่องต้อนรับแขกได้อย่างหนึ่ง
อาหาร ในขันโตกนั้นประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งใส่กล่องข้าว แกงอ่อม แกงฮังเล ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกอ่อง จิ้นลาบ พร้อมผักต่างๆ ส่วนของหวาน ขนมที่ใช้ส่วนมากเป็นขนมจ๊อกหรือขนมเทียน บางแห่งนิยมขนมปาด หรือพวกขนมศิลาอ่อนของภาคกลางใส่ไว้ในถ้วย แซมไปกับอาหารในขันโตก บางแห่งใส่ข้าวพอง ซึ่งทางเหนือเรียกว่าข้าวควบ และข้าวแตน ภาคกลางเรียกว่า นางเล็ด ขนมเหล่านี้จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยอาหารเหล่านี้จะตักใส่ถ้วยเล็กๆวางไว้ในขันโตก แล้วใช้ฝาชีครอบ เพื่อรอทำพิธีแห่ขันโตกต่อไป
ขันโตกและภาชนะใส่อาหารของล้านนาไทย
ชาวไทยล้านนาใช้ภาชนะใส่อาหารหลายชนิด อันได้แก่ ขันโตก กัวะข้าว ไถลข้าว กล่องข้าวถ้วยแกง จ๊อน เป็นต้น ภาชนะเหล่านี้ส่วนมากทำด้วยไม้สัก และกะลามะพร้าวเป็นพื้น ขันโตก หรือโตก เป็นภาษาดั้งเดิม ที่ใช้เรียกภาชนนะที่ทำด้วยไม้ซึ่งมีมาช้านานแล้ว ขันโตกโดยมากทำจากไม้สัก นำมากลึงโดยเครื่องกลึง คนล้านนาไทยเรียกว่าเคี่ยนไม้ จึงมีหมู่บ้านช่างกลึงว่าบ้านช่างเคี่ยน วัดช่างเคี่ยนเป็นต้น พวกช่างจะนำเอาไม้สักท่อนใหญ่ๆมาตัดให้พอเหมาะและนำมากลึงกับเครื่องกลึงหรือเครื่องเคี่ยน เมื่อกลึงหรือเคี่ยนได้รูปแล้วก็จะทำเชิงหรือตีนเชิงเข้ารับเป็นฐานแล้วลงรักหรือทาหาง ซึ่งภาคกลางเรียกว่าลงชาด เมื่อแห้งแล้ว ก็นำมาใส่อาหารได้ การเรียกขันโตกมักเรียกไม่เหมือนกันตามภาษาท้องถิ่น เช่น ขันโตก โตก สะโตก ซึ่งก็เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหารเหมือนกัน ขันโตกมี 3 ขนาด คือ ขันโตกหลวง(สะโตกหลวง) ขันโตกฮาม(สะโตกทะราม ) และขันโตกหน้อย(สะโตกหน้อย)
การแสดง
ส่วนการแสดงในการแห่ขันโตก ประกอบด้วย การฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเทียนโดยมีเครื่องดนตรีประโคมแห่นำขบวน ตลอดจนมีการฟ้อนดาบ ฟ้องเจิงหรือฟ้อนสาวไหม แสดงระหว่างการรับประทานอาหาร
พิธีกรรมแห่ขันโตกบายศรีสู่ขวัญ
โดยพิธีการในการต้อนรับแขก จะเริ่มด้วยมองพวงมาลัยดอกมะลิ หรือดอกบานไม่รู้โรยคล้องคอแขกทุกคนแล้วเชิญเข้าสู่บริเวณที่เลี้ยงขันโตกในราชวัตรเพื่อคอยชมขบวนแห่ขันโตก โดยรูปแบบการจัดขบวนประกอบด้วย พานบายศรี ช่างฟ้อนนำหน้า ดนตรีกลองตึ่งโนง ขันโตกเอก ขันโตกโท หรือรอง กล่องข้าวใหญ่ ขันโตกบริวาร กล่องข้าวเล็กและอาหารหวาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น