วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

[บทความ / นิทานเรื่องเล่า] ...ตำนานเมืองสุวัณณะโคมฅำ...


...ตำนานเมืองสุวัณณะโคมฅำ...

"สุวัณณะโคมฅำ" เป็นชื่อตำนานและชื่อเมืองโบราณในเขตจังหวัดเชียงราย ซึ่ง "จิตร ภูมิศักดิ์" ได้ศึกษาสรุปว่าตั้งอยู่บนเกาะใหญ่ริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวตรงดอนมูล เยื้องปากแม่น้ำกกลงไปทางใต้เล็กน้อย อยู่ตรงกันข้ามกับบ้านสวนดอก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ในพงศาวดารโยนก กล่าวว่า ในช่วงปลายศาสนาของพระพุทธโกนาคมะนั้น ได้เกิดโรคระบาด ราชบุตรแห่งเมืองปาตลีบุตรจึงพาผู้คนอพยพไปตั้งอยู่ในเขตโพธิสารหลวง ต่อมาราชบุตรชื่อกุรุวงษากุมารได้สร้างเป็นเมืองขึ้นมา พอพระเจ้าโพธิสารหลวงทราบข่าวก็ไปรบหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้ จนพระองค์ต้องยกราชสมบัติให้แก่กุรุวงษากุมาร ต่อมาได้เรียกชื่อแคว้นนั้นว่ากุรุรัฐและเรียกประชาชนว่า "กล๋อม" ยังมีนางกุมารีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองได้อพยพหนีโรคร้ายไปอยู่ในป่า และพาบริวารปลูกข้าวอยู่ที่ขอบหนองแห่งหนึ่ง และได้สร้างเมืองชื่อ "อินทปฐาน" ต่อมาเจ้ากุรุวงษากุมารได้นางนั้นเป็นชายาจึงรวมสองเมืองเข้าด้วยกันให้ชื่อว่า "อินทปัตถมหานคร"

จากนั้นก็มีกษัตริย์สืบมาถึง ๔๔๘๐๐ องค์ จนถึงสมัยพญาศรีวงษาได้ครองเมืองโพธิสารหลวง พระองค์มีราชบุตรสององค์คือ "อินทรวงษา"และองค์น้องชื่อ"ไอยกุมาร" ซึ่งอินทรวงษาก็ได้ขึ้นครองเมืองสืบจากพระบิดาและมีไอยกุมารเป็นอุปราช

ต่อมาราชบุตรของพญาอินทรวงษาชื่ออินทรปฐมได้อภิเษกกับธิดาของไอยอุปราช มีราชบุตรรวมห้าพระองค์อยู่ครองเมืองโพธิสารหลวง

ต่อมาไอยอุปราชได้ลาจาก ตำแหน่งอุปราช และพาบริวารลงเรือขึ้นไปแม่น้ำโขง จนไปถึงเขตดอนทรายกลางน้ำแม่โขงเยื้องปากน้ำแม่กก จึงตั้งเมืองอยู่ในที่นั้น

หลังจากนางอุรสา ราชเทวีของพญาอินทรปฐมคลอดราชบุตรออกทางปากมีชื่อ "สุวัณณมุกขทวาร" เมื่ออายุ ๗ เดือนก็มีอภินิหารแรงกล้า พาหิรพราหมณ์ปุโรหิตจึงไปทูลยุยงให้ลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปเสีย มิฉะนั้นจะเกิดอุบาทว์แก่เมือง

ฝ่ายไอยมหาอุปราช ทราบว่าพระเทวีและพระกุมารถูกลอยแพก็รีบกลับเมืองแล้วให้จัดพิธีบวงสรวงพญานาคและปักเสาประทีปโคมทองทุกท่าน้ำ ครั้งนั้นพญานาคชื่อ พญาศรีสัตตนาคก็พาบริวารนำหินไปทำฝาย ปิดทางต้นน้ำแม่โขงไว้มิให้ไหลลงสู่สมุทร(ทุกวันนี้เรียกว่า"ฝายนาค"หรือ"ลี่ผี") เมื่อน้ำท้นขึ้นเต็มฝั่งแล้ว แพของพระเทวีและพระกุมารก็ย้อนไปถึงท่าโคมฅำ ไอยมหาอุปราชจึงรับธิดาและนัดดาไว้ แล้วต่อมาก็ให้สร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า "สุวัณณะโคมฅำ" ฝ่ายเมืองโพธิสารหลวง เมื่อลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปแล้วก็เกิดโรคระบาด คนหนีออกจากเมืองไปสมทบกับเมืองสุวัณณะโคมฅำเป็นอันมาก



ต่อมาพระอินทร์ต้องการให้พระราชบิดาและราชบุตรได้พบกัน จึงบันดาลให้มีม้าอัศดรไปยังเมืองโพธิสาร ซึ่งผู้จับขี่ได้คือราชกุมาร ชื่อเทวินทรบวรและม้านั้นก็พาไปพบไอยอุปราชและทุกท่านในเมืองสุวัณณะโคมฅำ เมื่อพระบิดาได้ทราบข่าวแล้วก็เชิญให้พระเทวีและพระโอรสกลับเมือง แต่นางไม่ยอมกลับ พญาอินทรปฐมและไอยอุปราชจึงอภิเษกสุวัณณมุกขทวารราชกุมารขึ้นเป็นพญาในเมืองสุวัณณะโคมฅำ

องค์เทวินทรบวรราชกุมารจึงได้ครองเมืองโพธิสาร สืบจากพระราชบิดา และได้เนรเทศพาหิรพราหมณ์เสีย พาหิรพราหมณ์จึงพาบริวารไปตั้งอยู่ที่เชิงเขา ปลายแม่น้ำกกเบื้องตะวันตก ไกลจากเมืองสุวัณณะโคมฅำชั่วระยะ ๓ คืน เนื่องจากที่อยู่นั้นเป็นถ้ำใหญ่ ต่อมาจึงตั้งชื่อว่าเมือง "อุมงคเสลานคร"
กษัตริย์ในเมืองสุวัณณะโคมฅำสืบต่อจากพญาสุวัณณมุกขทวารมีถึง ๘๔๕๕๐ องค์ จึงสิ้นสุดลง และเชื้อสายฝ่ายพาหิรพราหมณ์ เมืองอุมงคเสลานครได้เป็นใหญ่ในสุวัณณะโคมฅำ และได้ข่มเหงไพร่เมืองให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ยังมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง ทำไร่อยู่ริมแม่น้ำโขง ระหว่างเมืองสุวัณณะโคมฅำและเมืองโพธิสารหลวง มีนางนาคธิดา ๓ นางไปกินข้าวไร่ของปลูกในไร่ของชายนั้น เมื่อพญาศรีสัตตนาคได้รับแจ้งจากชายเข็ญใจว่า ธิดาของตนไปลักกินพืชผลดังกล่าว จึงให้ธิดาทั้งสามแปลงเป็นคนไปรับใช้มานพนั้น ต่อมา นางทั้งสามแนะให้ชายหนุ่มไปค้าขายที่เมืองสุวัณณะโคมฅำ แต่ก็ถูกชาวเมืองทำอุบายใส่ความแล้วริบสินค้า ภายหลังนางนาคธิดาจึงไปกับเรือค้านั้นด้วย เมื่อพญาขอมในเมืองนั้นทำอุบายมาพนันเพื่อจะริบเอาสินค้า นางก็บันดาลให้พญาขอมแพ้ แต่พญาขอมไม่ยอมให้สินพนันตามสัญญาและยังหาเหตุไล่ออกจากเมืองด้วย นางจึงไปทูลพญานาคผู้บิดา พญานาคจึงพาบริวารไปขุดฝั่งน้ำ"ขลนที-ขรนที"คือน้ำของหรือแม่โขง ทำให้เมืองล่มลงในเวลาราตรี พญาขอมเจ้าเมืองและชาวเมืองจมน้ำตายไปมาก ที่เหลือก็แตกกระจายกันไป และมีจำนวนมากที่ไปสมทบอยู่กับชายเข็ญใจพ่อค้าผู้นั้นจนกลายเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมา เมืองสุวัณณะโคมฅำก็ร้างกลายเป็นท่าหลวงไปได้ชื่อว่า "ท่าโคมฅำ"

อนึ่ง "ตำนานเมืองสุวัณณะโคมฅำ" นี้ เป็นที่มาของวรรณกรรมล้านนาหลายเรื่อง ดังพบว่าเรื่อง "สิรสากุมารชาดก" ในชุดปัญญาสชาดก ก็ได้กล่าวถึงสิรสากุมารว่าคลอดจากทางปาก ถูกเนรเทศ และมีปู่ "อัยยอามาตย์" เป็นผู้อุปถัมภ์คล้ายกับเรื่องในตำนาน และยังมีเรื่องชายหนุ่มไปทำไร่และมีธิดาพญานาคไปกินพืชผล จนต้องไปเป็นผู้รับใช้ ดังปรากฏในเรื่อง "อ้อมล้อมต่อมฅำ"หรือ"ชมพูราชแตงเขียว" เป็นต้น

ที่มา : http://rustanyou.com/
(อุดม รุ่งเรืองศรี เรียบเรียงจาก พงศาวดารโยนก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น