วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

...ตำนานเจ้าหลวงคำแดงและถ้ำเชียงดาว...



...ตำนานเจ้าหลวงคำแดงและถ้ำเชียงดาว...

เรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมาเป็นอมตะคู่กับดอยหลวงเชียงดาว คงจะไม่มีสิ่งใดเทียบเทียม "ตำนานเจ้าหลวงคำแดง" และ "ตำนานถ้ำเชียงดาว" ซึ่งร้อยเรียงผสมผสานกับความเชื่อของคนท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

ตำนานเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดงถูกถ่ายทอดออกมาหลายเรื่องราวด้วยกัน แม้จะมีความต่างในรายละเอียด ทว่าหากพิจารณาให้ถึงแก่นแล้ว เจ้าหลวงคำแดงก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขา เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เป็นที่เคารพ สักการะ ของชาวเหนือ อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และถ้ำเชียงดาวซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเมืองเทวาของเจ้าหลวงคำแดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นขุนเขาที่ชาวเชียงใหม่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผีเมืองเชียงใหม่ทุกองค์ตั้งแต่ก่อนพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ผีเมืองเชียงใหม่มีเจ้าหลวงคำแดงเป็นประธานใหญ่กว่าผีเมืองทั้งหมด






มีเรื่องเล่าว่าทุกวันพระผีทุกผีในเมืองเชียงใหม่จะต้องไปร่วมเฝ้าและประชุมที่ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งในถ้ำเชียงดาวจะมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นห้องประชุม ในวันนั้นผีจะไม่เข้ามาหลอกหลอนชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ผีเมืองที่ดอยหลวงเชียงดาวได้เก็บข้าวจากชาวนาทุกคนที่วางไว้เซ่นไหว้พระแม่โพสพและเป็นค่าน้ำหัวนา ซึ่งจะนำข้าวไปวางไว้ที่หัวนาก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวมาใส่ในยุ้งฉาง ข้าวเหล่านี้ผีดอยจะนำมากิน แล้วจะเหลือเพียงเปลือกหรือแกลบไว้ซึ่งจะเก็บเปลือกข้าวหรือแกลบไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งทางทิศใต้ไม่ไกลจากดอยหลวงเชียงดาวชื่อว่า "ถ้ำแกลบ"ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงมิเพียงแต่ชาวบ้านจะเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระสงฆ์ในเขตล้านนาก็ได้แต่งและคัดลอกคัมภีร์ใบลานชื่อ ตำนานถ้ำเชียงดาวไว้หลายสำนวน ทั้งที่พบในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆที่ห่างไกลออกไป เช่น ที่เมืองน่าน เป็นต้น




...เจ้าหลวงคำแดงเจ้าตำนาน…แห่งอมตะนิยาย
มีหลายเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดงเป็นไปในลักษณะของ อมตะนิยายพิศวาส อาทิ เล่าเป็นนิยายปรัมปรายุคต้นพุทธกาล กล่าวถึง

สมเด็จองค์อัมรินทราธิราชเจ้า ประมุขแห่งปวงเทพเทวาได้ดำริให้จัดทำสิ่งวิเศษเพื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าศรีอาริยะเมตตรัยที่จะมาตรัสรู้พระสัจธรรมในอนาคต ได้เล็งเห็นว่าถ้ำเชียงดาวเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การเก็บรักษาของวิเศษเหล่านั้น เพราะลึกเข้าไปในถ้ำจนสุดประมาณมิได้ เป็นเมืองแห่งพวกครึ่งอสูรกาย เรียกว่าเมืองลับแล มีความเป็นอยู่ล้วนแต่เป็นทิพย์ ผู้คนทั้งหลายในมนุษย์โลกธรรมดาที่เต็มไปด้วยกิเลสยากนักที่จะเข้าไปพบเห็นได้ เพราะมีด่านภยันตรายต่างๆมากมายหลายชั้นกั้นขวาง ไว้เป็นอุปสรรค

มียักษ์สองผัวเมียบำเพ็ญภาวนารักษาศีลเพราะได้ปฏิบัติตนเป็นผู้ถึงซึ่งพระรัตนตรัยจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีนางผู้เลอโฉมนามว่า "อินเหลา" อยู่ปรนนิบัติบิดามารดาผู้ทรงศีลทั้งสอง จนวันหนึ่งได้พบกับ เจ้าหลวงสุวรรณคำแดง ยุวราชหนุ่ม ซึ่งเสด็จมาประพาสป่าจากแค้วนแดนไกล ได้บังเกิดความหลงใหลในความงามของนาง ก็ได้พยายามติดตามนางไปจนถึงถ้ำเชียงดาว และทิ้งกองทหารของพระองค์ไว้เบื้องหลัง จากนั้นก็ไม่กลับออกมาอีกเลย ว่ากันว่าเจ้าหลวงสุวรรณคำแดงอยู่ครองรักกับเจ้าแม่อินเหลาที่ถ้ำเชียงดาวนั่นเอง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าจะมีเสียงดังสะเทือนจากดอยหลวงเชียงดาว ปรากฏเป็นลูกไฟ ขนาดลูกมะพร้าว สว่างจ้าพุ่งหายไปในดอยนางซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งมีความเชื่อว่า เจ้าหลวงสุวรรณคำแดงลั่นอะม็อกไปเยี่ยมเจ้าแม่อินเหลาที่ดอยนาง




นอกจากนี้ยังมีตำนานเจ้าหลวงคำแดง จากเอกสารที่เขียนขึ้นโดย พระมหาสถิตย์ ติกขญาโณ กล่าวไว้ว่า
พระผู้เป็นเจ้าได้ปกาศิตให้เทวดายักษ์ตนหนึ่งนามว่า เจ้าหลวงคำแดง กับบริวาร 10,000 คนมารักษาของวิเศษในถ้ำเชียงดาว เพื่อรักษาไว้ให้ พระเจ้าทรงธรรมมิกราชใช้ปราบมนุษย์อธรรมในอนาคต ซึ่งนามเดิมของเจ้าหลวงคำแดง คือ "เจ้าสุวรรณคำแดง" ผู้ซึ่งจะมีหน้าที่เฝ้ารักษาถ้ำและดอยหลวงเชียงดาว จะหมดเวลาของการเฝ้ารักษาเมื่อพระเจ้าทรงธรรมมาปราบมนุษย์อธรรมเสียก่อน

และกล่าวถึงเทวดาผู้เป็นชายาของเจ้าหลวงคำแดงมีนามว่า "จอมเทวี" สถิตอยู่ที่ดอยนาง ว่ากันว่าต่างรักษาศีล 8 จึงหาได้อยู่ร่วมกันไม่ ก่อนที่เจ้าหลวงคำแดงและจอมเทวีจะมาอยู่ที่ดอยหลวงเชียงดาวนั้น ชะรอยว่านางจอมเทวีมีนิวาสสถานบ้านเมืองอยู่เดิมอยู่ทางทิศใต้ ไม่ปรากฏชื่อแน่ชัด ส่วนเจ้าหลวงคำแดงนั้นเป็นบุตรของเจ้าเมืองพะเยานามว่า สุวรรณคำแดง ซึ่งพระบิดาได้สั่งให้เจ้าหลวงคำแดงพร้อมทหารไปรักษาด่านชายแดนเพื่อป้องกันศัตรู ได้มาพบเห็นสาวงามนางหนึ่ง จึงได้ติดตามนางไปแต่ไม่พบ เจอเพียงกวางทองตัวหนึ่ง จึงสั่งให้ทหารติดตามเจ้ากวางทองตัวนั้นไป และกำชับว่าต้องจับเป็นห้ามทำร้ายเจ้ากวางทองเด็ดขาด เป็นเวลา 3 วันก็ไม่สามารถจับเจ้ากวางทองได้ แต่เจ้าหลวงคำแดงก็ยังไม่ละลดความพยายาม นำทหารติดตามไปเรื่อยๆหมายจะจับกวางทองให้ได้ จนเวลาล่วงเลยไป 10 วันก็ยังไม่พบเจ้ากวางทอง คงเห็นแต่รอยเท้าเท่านั้น และในวันหนึ่งสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาเจ้าหลวงคำแดงและเหล่าทหารก็คือ คราบของกวางทอง อยู่ใกล้กับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสบคาบ จากตำนานเจ้าหลวงคำแดงนั่นเอง

จากนั้นเจ้าหลวงคำแดงก็ติดตามเจ้ากวางทองไปในป่าแห่งหนึ่ง ชื่อว่าดงเทวี ทันทีที่เจ้าหลวงคำแดงตามไปพบ จึงสั่งให้ทหารกระจายกำลังโอบล้อมไว้พร้อมประกาศว่า หากกวางทองหลุดออกจากด่านของผู้ใดผู้นั้นจะต้องถูกตัดหัว ในที่สุดกวางทองตัวนั้นก็หลุดออกมาจากวงล้อมวิ่งผ่านไปทางที่เจ้าหลวงคำแดงอยู่ ดังนั้นเจ้าหลวงคำแดงจึงต้องไปติดตามกวางทองด้วยตัวเองและให้ทหารคอยอยู่ที่ดงเทวี และสั่งว่าหากเกิน 7 วันแล้วพระองค์ยังไม่กลับให้กลับกันไปก่อน แล้วก็ติดตามกวางทองตัวนั้นไปทางทิศตะวันตก

ซึ่งกวางทองมุ่งหน้าไปสู่เขาใหญ่ลูกหนึ่ง แล้วกลายร่างเป็นคนเข้าไปยังถ้ำเชียงดาว เจ้าหลวงคำแดงจึงตามเข้าไปในถ้ำ ตราบเท่าทุกวันนี้ก็ยังไม่กลับออกมา ผู้คนเชื่อว่าพระองค์สิงสถิตรักษาถ้ำเชียงดาว จึงตั้งศาลไว้ชื่อว่า ศาลเจ้าหลวงคำแดง และมีรูปปั้นกวางทองด้วย




...เจ้าหลวงปฐมกษัตริย์…ล้านนา
ตำนานสุวรรณคำแดงหรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่กล่าวถึงเวียงโบราณในตำนาน คือ เวียงล้านนา เวียงนารัฏฐะ เวียงเจ็ดลิน เวียงสวนดอกและเวียงนพบุรีนั้น ได้รับการคัดลอกสืบต่อกันมาหลายสำนวน และเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ตำนานสุวรรณคำแดงฉบับวัดเจดีย์หลวง ดังที่สงวน โชติสุขรัตน์เขียนในหนังสือ ประชุมลานนาไทย

ในคัมภีร์ใบลาน วัดอภัย ของอำเภอเวียงสา จ.น่าน มีเรื่องราวที่กล่าวถึงเจ้าหลวงคำแดงอย่างมีที่มาที่ไปพร้อมกับความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของอาณาจักรนามว่า "ล้านนา" ไว้ดังนี้

เจ้าหลวงคำแดงเป็นราชบุตรของ "พญาโจรณี" (ตำนานว่าเคยเป็นโจรมาแต่อดีตชาติ) มีหน้าที่ปราบคนที่ไม่เชื่อฟัง วันหนึ่ง พระวิสุทธิกรรมแปลงกายเป็นกวางทองลงมาเดินในสวนให้พญาโจรณีเห็น เมื่อพญาโจรณีพบกวางทองจึงสั่งให้ราชบุตรชื่อว่า เจ้าหลวงคำแดงออกไปติดตามกวางทองตัวนั้นให้ได้

เจ้าหลวงคำแดงและทหารออกติดตามกวางทองมาจนถึงเชิงดอยอ่างสรง (อ่างสลุง) มีนางคนหนึ่งอยู่ที่เชิงดอยอ่างสรงรู้ข่าวว่าเจ้าหลวงคำแดงมาถึงด่านป่าใกล้เชิงดอยอ่างสรง นางออกมารอดูเจ้าหลวงคำแดง ทั้งสองคนพบกันแล้วเกิดความชอบพอรักใคร่นางชวนเจ้าหลวงคำแดงได้พักแรมอยู่กับนางที่ดอยอ่างสรงแห่งนั้น ทหารที่เดินทางรอนแรมมากับเจ้าหลวงคำแดงเกิดความเบื่อหน่ายอยากกลับบ้านเมืองของตน

ต่อมาทหารก็ได้พบกับฤาษีตนหนึ่ง ฤาษีแนะนำและทำนายว่า บริเวณสถานที่เชิงดอยหลวงนี้เป็นชัยภูมิที่ดี ควรให้เจ้าหลวงคำแดงสร้างบ้านเมืองที่เชิงดอยแห่งนี้ จะอุดมสมบูรณ์มั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติ ทหารกลับลงมาบอกความของฤาษีกับเจ้าหลวงคำแดง เจ้าหลวงคำแดงจึงสร้างเมืองตามคำฤาษี เมื่อสร้างเมืองแล้วชื่อเมืองใดจึงจะเหมาะสม แต่ยังหาชื่อเมืองไม่ได้ ทหารจึงตกลงกันว่าเราควรร่วมทำนายว่าแท่นบรรทมของเจ้าหลวงคำแดงมีน้ำหนักเท่าใด

ทหารร่วมกันทำนายอย่างสนุกสนานแล้วชั่งดูน้ำหนักแท่นบรรทมของเจ้าหลวงคำแดง มีน้ำหนัก 1 ล้านหน่วย พวกเขาจึงตกลงเรียกเมืองนี้ว่าเมืองล้านนา เจ้าหลวงคำแดงอยู่กับนางอินทร์เหลาที่ดอยอ่างสรงจนสิ้นอายุ ตามความเชื่อของคนล้านนา ผู้ใดสร้างบ้านสร้างเมือง เมื่อผู้นั้นตายไปแล้ว จะได้รับการยกย่องให้เป็น เสื้อบ้านหรือเสื้อเมือง ของบ้านเมืองนั้น เจ้าหลวงคำแดงจึงกลายเป็นผีเมือง ปกปักษ์รักษาเมืองล้านนารวมทั้งเมืองเชียงดาวและเมืองเชียงใหม่ตามลำดับ เป็นอารักษ์เฝ้าแหนเมืองเชียงดาวและล้านนาคือว่าเมืองเชียงใหม่มีเทวดาคำแดงเป็นเคล้าและเทวดาอารักษ์ทั้งหลายเฝ้าแหนเมือง”




ก่อนที่เมืองเชียงใหม่จะเสียเอกราชแก่พม่า สมัยนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือพระเมกุฏวิสุทธิวงศ์หรือเจ้าฟ้าแม่กุ (ปกครองระหว่าง พ.ศ.2094 - 2170) และกษัตริย์พม่านามว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้น ตำนานถึงสาเหตุการเสียเมืองว่า เจ้าเมืองละทิ้งจารีตบ้านเมืองเดิมของตน ทำให้ผีเมืองทั้งหลายไม่ช่วยปกปักษ์รักษาเมืองเชียงใหม่ จึงเสียเอกราชแก่พม่า

ชาวเมืองเชียงใหม่ยังเชื่อว่าผีเมืองทั้งหมดจะปกปักษ์รักษาบ้านเมืองเชียงใหม่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการเซ่นไหว้ผีเมืองเชียงใหม่ทุกปี ผู้ทำพิธีจะกล่าวคำอันเชิญเจ้าหลวงคำแดงซึ่งเป็นหัวหน้าผีและผีเมืององค์อื่นๆ อีกหลายองค์ นอกจากนี้ประเพณีไหว้ผีครูช่างซอเมืองลำปาง ในพิธีคนทรงหรือผู้ทำพิธีจะกล่าวนามของเจ้าหลวงคำแดงด้วยสะท้อนถึงความเชื่อเรื่องเจ้าหลวงคำแดงที่กระจายออกไปถึงต่างเมืองในลักษณะพีธีกรรมและการคัดลอกตำนานดอยหลวงเชียงดาว เนื่องจากในสมัยที่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาของพระสงฆ์และศูนย์กลางอำนาจแห่งล้านนา ผีเมืองเชียงใหม่จึงยิ่งใหญ่ไปด้วย

เพราะความศรัทธาในพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้น ได้ตอกย้ำความสำคัญของดอยหลวงเชียงดาวให้มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก เพราะถือว่าเป็นพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งซึ่งชาวพุทธและชาวล้านนาทั้งปวงจะมากราบไหว้ เพราะมีพระพุทธรูป เจดีย์ ต้นโพธิ์ รวมทั้งฤาษีและที่สำคัญคือ มีดวงวิญญาณของเจ้าหลวงคำแดงสิงสถิตอยู่นั่นเอง







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น