[บทความ] ของดีฉะเชิงเทรา ตอนที่ 2 : "พระอุโบสถสีทอง" วัดปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
Photo Cr. - http://anopongex.multiply.com/ (ภาพเดิมก่อนแก้ไข)
"พระอุโบสถสีทอง" วัดปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา พระอุโบสถสีทองหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ทาสี ทองทั้งหลัง ไม่ว่าจะเป็น ภาพในหรือหรือนอกตัวอุโบสถ์ ที่งดงามตระการตาเป็น อย่างมาก และภายนอกวัด ก็มี เรือโบราณ ในสมัยก่อนที่อยู่ในยุค สมเด็จพระจ้าตากสิน โชว์ไว้อีกด้วย นอกจากนี้ภายในอุโบสถ ยังสามารถลอด ใต้ฐานพระประธานได้เพื่อความเป็นสิริมงคล อีกด้วย แต่เดิม วัดปากน้ำ เป็นสำนักสงฆ์ ในอดีตบริเวณนี้เป็น ที่ ตั้งของ ทัพพม่า ซึ่งยกทัพบกทัพเรือไปปะทะกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน ต่อมาสมเด็จ พระเจ้าตากสิน มหาราชทรงมีชัย จึงโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ ปัจจุบันได้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นสีทองทั้งหลัง
ประวัติ "วัดปากน้ำ" อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ในปีพุทธศักราช ๒๓๐๙ หลังจากถูกพม่าข้าศึกเข้าปิดล้อมพระนคร (กรุงศรีอยุธยา) พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) และเหล่าทหารไทย ได้เข้าต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยว่างเว้นจากการศึกสงครามมานาน ทำให้ไพร่พลขาดความพร้อมในการรบ ประกอบกับภาวะปัญหาทางการเมืองเรื้อรัง อันสืบเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจ และที่สำคัญพม่าได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี โดยการเข้าตัดกำลังของหัวเมืองต่าง ๆ ส่งผลให้ทัพไทยเกิดความระส่ำ แก้ไขสถานการณ์ และวางแผนการรบผิดพลาดบ่อยครั้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่า ก็เพราะคนไทยขาดความสามัคคี ทรยศต่อชาติแผ่นดิน เป็นไส้ศึกให้ศัตรูเหยียบย่ำ
ครั้นพระยาวชิรปราการมองไม่เห็นหนทางรอด จึงตัดสินใจพานักรบไทยจีน ลาว มอญ และ ญวน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจาก กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการหนีไปตั้งหลัก เพื่อรักษาชีวิต และรวบรวมไพร่พลกลับมากอบกู้ชาติแผ่นดินอีกครั้ง
ในวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๐๙ (๑๐) ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ เวลาพลบค่ำ พระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมไพร่พลราว ๕๐๐ คน พร้อมด้วย หลวงพิชัยอาสา และนายทหารผู้ใหญ่ ได้แก่ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และ หมื่นราชเสน่หา กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกจำนวนหนึ่ง ทิ้ง ค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า ในขณะที่ กรุงศรีอยุธยา กำลังประสบชะตากรรมใกล้ถึงกาลล่มจม กองเพลิงไหม้เผาผลาญตั้งแต่ ท่าทราย ริมกำแพงข้างด้านเหนือ ลามมาจนถึง สะพานช้างวงคลองข้าวเปลือก แล้วข้ามมาติด ป่ามะพร้าว ป่าถ่าน ป่าโทน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ ตลอดถนนหลวงไปจนถึง วัดฉัททันต์ ติดกุฎีวิหาร และบ้านเรือนราษฎรมากกว่าหมื่นหลัง ไฟยังไม่ทันมอดพระยาวชิรปราการ ได้พาไพร่พล ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ยกกำลังพลผ่าน บ้านหันตรา บ้านข้าวเม่า คลองอุทัย บ้านสัมบัณฑิต บ้านหนองไม้ซุง บ้านพรานนก บ้านหนองปลิง บ้านบางกง (แขวงเมืองนครนายก) บ้านนาเริ่ง (แขวงเมืองนครนายก) บ้านบางคาง บ้านคู้ลำพัน
ในวันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๐๙ (๑๐) ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ ครั้นกองทัพของ พระยาวชิรปราการ มาถึง บ้านคู้ลำพัน ชายทุ่งเมืองปราจีนบุรี (ตำบลคู้ลำพัน อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) เวลาประมาณบ่ายสี่โมง (ประมาณ ๑๖.๐๐ น.) ทหารพม่าไล่ฟันชาวบ้าน มาตามทางตั้งทัพ พระยาวชิรปราการ เห็น จึงสั่งให้ นายบุญมี หรือ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (หลาน) ไปตระเวนตรวจดูข้าศึก เมื่อ นายบุญมี กลับมารายงานว่ากองทัพพม่าที่ ค่ายปากน้ำเจ้าโล้ ยกตามมาติด ๆ พระยาวชิรปราการ จึงสั่งให้ช่วยกันขุดสนามเพลาะบังตัวต่างค่าย ให้กองเสบียงลำเลียงหาบคอนล่วงหน้าไปก่อน ครั้นกองทัพพม่าเข้ามาใกล้ เดินเรียงรายมาตามดงแขม ห่างประมาณ ๖ – ๗ เส้น ให้ยิงปืนตับใหญ่น้อยระดมไปยังกองทหารพม่า แม้ว่ากองทหารพม่าจะดาหน้าหนุนเนื่องกันมา ก็สั่งให้ยิงปืนตับสมทบไป ทหารพม่าล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมาพม่าก็ไม่ได้ติดตามกองทัพ พระยาวชิรปราการ อีกต่อไป เหล่าทหารหาญในกองทัพ พระยาวชิรปราการ ต่างพากันโห่ร้อง ตีฆ้อง ตีกลองไล่หลังทหารพม่าอย่างสาสมแก่ใจ
ครั้นรบชนะพม่าข้าศึกแล้ว พระยาวชิรปราการ ได้สั่งให้ไพร่พลพักทัพ และสั่งให้ทหารสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสู้รบกับพม่าจนมีชัยชนะตรงบริเวณ ปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหลมที่มีกระแสน้ำจากคลองท่าลาดไหลบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะจนบริเวณแหลมปากน้ำอันที่ตั้งของ พระเจดีย์พระเจ้าตากสิน (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) พังทลายลงเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ และได้ดำเนินการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช อีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙ ณ บริเวณตรงที่เดิม ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
ปัจจุบัน ภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ พระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) มีความสวยสดงดงามมาก มีต้นไม้ใหญ่น้อยปกคุ้มร่มรื่นเย็นสบาย โดยเฉพาะริมแม่น้ำ ช่วงเวลากระแสลมพัดผ่านมาในแต่ละครั้ง พาให้ชื่นอุราเสียยิ่งกระไร เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างมาก และที่สำคัญสถานที่แห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นผืนดินประวัติศาสตร์โดยตรง ด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช และเหล่าบรรพชน ได้ทำการสู้รบกับอริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง เพื่อกอบกู้ และปกป้องชาติแผ่นดิน ให้ลูกหลานเหลนไทยได้อยู่อาศัยสืบต่อกันมา ณ บริเวณที่แห่งนี้ ถ้าท่านมีโอกาสใคร่ขอเรียนเชิญ อำเภอบางคล้า อยู่ใกล้ กรุงเทพมหานคร แค่นี้เอง ขับรถไม่เกินชั่วโมงก็ถึงแล้ว มาหวนรำลึกถึงนึกถึงอดีต นึกถึงพระคุณของบรรพชน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที อีกวิธีหนึ่งที่คุณหรือใครก็สามารถทำได้
หมายเหตุ
ภาพข้างต้นถ่ายจากวัดปากน้ำ มิได้ถ่ายจากพระสถูปเจดีย์ ( เพราะแดดร้อนมาก )
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบโบสถ์สวยมากมีความอ่อนช้อยแสดงศิลปจิตรกรรมมีความละเอียด
ตอบลบ