วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] "ลาวดวงเดือน" บทเพลงเศร้าแห่งรักของของเจ้านายรัตนโกสินทร์และเจ้านายฝ่ายเหนือ...


"ลาวดวงเดือน" บทเพลงเศร้าแห่งรักของของเจ้านายรัตนโกสินทร์และเจ้านายฝ่ายเหนือ...

พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์...พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดา มรกฎเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษด้านการเกษตร ทรงเป็นนักดนตรีเพราะตระกูลฝ่ายพระมารดาเป็นนักละครและนักดนตรี มีคุณตา คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) มีคณะละครและวงดนตรีวงใหญ่ เมื่อเสด็จกลับมาทรงรับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาทรงเป็นอธิบดี กรมช่างไหม ทรงเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานเกี่ยวกับไหมไทย

คราวหนึ่งเสด็จตรวจราชการภาคอีสานเสด็จโดยทางเกวียนเป็นทางไกล ทรงนิพนธ์เพลง "ลาวดำเนินเกวียน" เพื่อให้คู่กับ "เพลงลาวดำเนินทราย" ทำนองเพลงและบทร้องไพเราะซาบซึ้งยอดเยี่ยม เป็นที่นิยมจดจำกันนำมาร้องต่อๆกันมา ในเนื้อร้องมีคำว่า "ดวงเดือน" ตั้งแต่เริ่มต้นและอีกหลายแห่งจนจบ ผู้ไม่รู้จักมาแต่ต้นต่างเรียกเพลง...ลาวดำเนินเกวียน..ว่า..ลาวดวงเดือน...กันทั้งนั้น

เบื้องหลังของเพลงลาวดวงเดือน...มีเหตุแห่งความดลใจเพื่อทรงระบายความรักความอาลัยที่ต้องพลาดรักกับเจ้าหญิงในตระกูลฝ่ายเหนือตามเรื่องเล่าต่อกันมาว่า "ในขณะมีพระชนม์ 21 พรรษาได้เสด็จไปเที่ยวนครเชียงใหม่ พระยานริศราราชกิจข้าหลวงใหญ่ภาคพายัพได้รับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ "เจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์" (พระเชษฐาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่5) และพระญาติจัดงานต้อนรับหลายวัน มีการแสดงพื้นเมือง ระบำรำฟ้อน "เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา)" และ "เจ้าหญิงคำย่น" ชายา ได้พาพระธิดาองค์โตนามว่า "เจ้าหญิงชมชื่น" มาร่วมงาน พระองค์เจ้าชายพบปะสนทนาและทรงพอพระทัย เจ้าหญิง วัย 16 พรรษาจนเกิดความรักครั้งแรก...

หลังจากนั้นได้เสด็จไปที่คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์อีกหลายครั้ง ในที่สุดทรงขอให้ข้าหลวงใหญ่เป็นเถ้าแก่ทำการสู่ขอเจ้าหญิงให้เป็นหม่อมของพระองค์ แต่เจ้าราชสัมพันธวงศ์ทัดทานไว้... ขอให้เจ้าหญิงมีพระชนม์ครบ 18 เสียก่อนและให้ปฏิบัติตามราชประเพณีคือพระเจ้าลูกยาเธอจะเสกสมรสต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อนเพื่อให้อยู่ในฐานะสะใภ้หลวง...มิฉะนั้นจะได้เป็นเพียงนางบำเรอเท่านั้น...

เถ้าแก่ผู้ทำหน้าที่สู่ขอ...นำความผิดหวังมาทูล เมื่อไม่สมหวังต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ ทรงกลับมาขอความเห็นพระทัยจากพระญาติใหญ่น้อยทั้งหลายแต่ไม่เป็นผลการสู่ขอเจ้าหญิงได้รับการทัดทาน...หมดสิ้นความหวังทุกประการ...พระองค์ทรงนึกถึงแต่ชีวิตในนครเชียงใหม่ของพระองค์มิได้ขาด ความผิดหวังทำให้ทรงโปรด เพลง ลาวเจริญศรี (เนื้อร้องจากวรรรคดีเรื่องพระลอ) และนำมาสู่ แรงบันดาลใจนิพนธ์เพลง “ลาวดำเนินเกวียน “หรือต่อมาเรียกกันว่า “ลาวดวงเดือน”

ผู้นิพนธ์ได้แต่ทรงสะอื้นอยู่ในพระอุระและเดียวดาย คราใดที่สายลมเหนือพัดมาจากเชียงใหม่พระองค์ก็ยิ่งทรงสลดรันทดพระทัย ทรงเศร้าขึ้นมาคราใดก็จะทรงดนตรีหรือเสด็จไปฟังดนตรีตามวังต่าง ๆ "เพลงลาวดำเนินเกวียน" ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงความหลัง ความรักอันกลายเป็นความเศร้า... คราวใดที่ทรงระลึกถึง "เจ้าหญิงชมชื่น" จะทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัย ถ้าไม่ทรงเองก็โปรดให้มหาดเล็กเล่นให้ฟัง...เป็นที่ทราบในหมู่มหาดเล็กและคนใกล้ชิดพระองค์ว่า "เพลงลาวดวงเดือน" เป็นเพลงซึ่งขาดไม่ได้ตลอดพระชนม์ที่มิยืนยาวของพระองค์...(จาก เพลงไทยตามนัยประวัติของ ครูเงิน)

ทุกท่านคงรู้จักเพลง "ลาวดวงเดือน" เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงที่ดีที่สุด ถือเป็นเพลงอันดับ 1 ของเพลงไทย เป็นเพลงรักอาลัยที่ซาบซึ้งตรึงใจชนทุกชั้น นอกจากทำนองเพลงที่ไพเราะซาบซึ้งยอดเยี่ยมแล้ว เนื้อร้องทุกวรรคทุกตอน จะแสดงความรู้สึกออกมาจากส่วนลึกแห่งห้วงดวงใจ...

ความละมุนละไมและความนุ่มนวลของเพลง ซึ่งผู้นิพนธ์ได้บรรจงนิพนธ์ไว้อย่างงดงาม ดั่งประมวลความดีงามของเพลงไว้ในเกสรดอกไม้ทุกดอก ความหวานของเพลงเหมือนหยาดลงมาจากรวงผึ้ง ความไพเราะเพราะพริ้ง ประดุจมาจากสวรรค์ สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติของเพลงลาวดวงเดือน (โดยมณีรัตน์ สังขวิภา)...ขณะนิพนธ์เนื้อเพลงและทำนองเพลงนี้ น้ำพระเนตรคงไหลย้อนลงล้นท่วมในพระอุระและคงนิพนธ์ตอนกลางคืน ข้างแรมยามดึกจนใกล้รุ่งฟ้าสาง...นี่คือรักอมตะของ "พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์"


...เพลงลาวดวงเดือน ...

โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง
อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม
ข้อยนี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม จะหาไหนมาเทียม
เจ้าดวงเดือนเอย...

หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้
หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย
เนื้อหอมทรามเชย เราละเหนอ...

โอ้ละหนอ นวลตาเอย
ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรม ต้องจำจากไกล
อกพี่อาลัย เจ้าดวงเดือนเอย...

เห็นเดือนแรม เริศร้างเวหา ข้อยเบิ่งดูฟ้า(ละหนอ)
เห็นมืดมน พี่จะทนทุกข์ทุกข์ทน
เจ้าดวงเดือนเอย...

เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว
ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อย เอย ถึงจะหวาน
เสนาะ หวานเพราะกระไรเลย
บ่เหมือนทรามเชย เราละเหนอ...


พระประวัติ : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์" เป็นผู้พระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๕ เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรกรรมจากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ขณะพระชนมายุ ๒๐ พรรษา กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖ และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น