วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ต้นหว้า

หว้า



ชื่อไทย หว้า
ชื่ออื่น ห้าขี้แพะ (เชียงราย)
ชื่อสามัญ Black plum, Jambolan plum, Java plum , Black Poum
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium cumini (L.) Skeels
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE



หว้าเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10-35 เมตร ลำต้่นเปลาตรง เปลือกต้นค่อนข้างเรียบสีเทาอ่อน มีกิ่งก้านมาก แข็งแรง ปลายกิ่งห้อยย้อยลง ใบดกหนา ทำให้เป็นทรงพุ่มรูปไข่แน่นทึบ



ลักษณะใบ


ใบอ่อนจะแตกสีแดงเรื่อ ๆ ใบแก่หนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ ๆ เรียงตรงข้าม รูปใบรีหรือรูปไข่กลับ เกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบละเอียดอ่อนและเรียงขนานกัน มีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ

ลักษณะดอก


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

เป็นดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบหรือปลายยอด กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ฐานรองดอกรูปกรวย มีกลีบเลี้ยงสี่กลีบ กลีบดอกสี่กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก
ออกดอกและติดผลราวเดือน ธันวาคม-มิถุนายน

ลักษณะผล


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.opec.go.th


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.panmai.com

ผลอ่อนสีเขียว พอเริ่งแก่ออกสีชมพู สีม่วงแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปกระสวย สีม่วงแดง ฉ่ำน้ำ ผิวเรียบมัน ใช้กินได้มีรสเปรี้ยว
ผลแก่ราวเดือน พฤษภาคม มีเมล็ด 1 เมล็ด รูปไข่




ต้นหว้า มีถิ่นกำเนิดจากเอเชียเขตร้อนจากจากอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในไทยพบทั่วไปตามป่าดิบชื้นและป่าผลัดใบ ตั้งแต่ระดับใกล้น้ำทะเลจนถึงระดับความสูง 1,100 เมตร
ต้นหว้าเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net

สรรพคุณ
เปลือกต้น ต้มน้ำดื่มแก้บิด อมแก้ปากเปื่อย คอเปื่อย
ใบ แก้บิด
ผลดิบ แก้ท้องร่วง
ผลสุก กินได้ ใช้ทำเครื่องดื่ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด สามารถนำไปทำน้ำผลไม้ ไวน์ เป็นเครื่องดื่มที่ให้สีม่วงกินแก้ท้องร่วงและบิด
เมล็ด แก้ท้องร่วง บิด ถอนพิษต้นและเมล็ดแสลงใจ (Strychnine) มีสารช่วยลดน้ำตาลในเลือด
เนื้อไม้ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม






“ต้นหว้า” มีชื่อในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ‘ชมฺพุ’ ซึ่งใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง “ต้นหว้า” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของภูเขาสิเนรุ ไว้ว่า

“อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของจาตุมหาราช เป็นที่ที่เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่ ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง) ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่าชมพูทวีป”


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.thaimtb.com/

ต้นหว้าเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ
. ต้นหว้าเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่ 2 เหตุการณ์ได้แก่
1. ตอนตามเสด็จพระราชบิดา ในพิธีแรกนาขวัญ
เมื่อครั้นเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชมมายุ 8 ปี ได้เสด็จไปพร้อมกับพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าที่บรรดาพี่เลี้ยงบริวารได้จัดถวายเพราะเห็นว่าภายใต้ร่มหว้านี้มีความร่มรื่นและปลอดภัย ขณะที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เพียงลำพังภายใต้ร่มไม้หว้านั้น ทรงเกิดความวิเวกขึ้น ทรงกำหนดลมหายใจเข้า - ออกเป็นอารมณ์และก็ทรงบรรลุปฐมฌาน แม้เวลาบ่ายคล้อยแล้วแต่เงาไม้หว้ายังคงอยู่ที่เดิมดุจเวลาเที่ยงวัน ผู้คนต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบและทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัยและเกิดความเลื่อมใสก้มลงกราบพระโอรส เพื่อบูชาคุณธรรมทางบุญฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (เป็นการกราบพระโอรสครั้งที่สองของพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งทรงกราบพระโอรสทั้งหมดสามครั้งด้วยกัน)



2. ตอน พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบทิฐิมานะชฎิลชื่อ อุรุเวลกัสสปะ
มีการกล่าวถึงต้นหว้าไว้ดังนี้
ครั้น เมื่อถึงเวลาฉัน อุรุเวลกัสสปะได้ไปทูลพระพุทธเจ้าว่า ถึงเวลาแล้วมหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงถือเอาโอกาสนั้นที่จะทรงแสดงปาฎิหาริย์แล้วตรัสกับอุรุกัสสปะว่า “ดูกรกัสสปะ ท่านไปก่อนเถิด เราจักตามไป”
พระผู้มีพระภาคทรงส่งชฎิลอุรุเวลากัสสปะไปแล้ว เสด็จไปยังต้นหว้าประจำชมพูทวีป ทรงเก็บผลหว้าประจำชมพูทวีปนั้น แล้วเสด็จกลับมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสปะอุรุเวลกัสสปะเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน รู้สึกแปลกใจจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ท่านมาทางไหน ข้าพเจ้ามาก่อนท่านแต่ท่านมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอุรุเวลกัสสปะว่า “ดูกรกัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วได้เก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้ว จึงมานั่งในโรงบูชาเพลิงนี้ก่อน ดูกรกัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่นและรส ถ้าท่านต้องการเชิญบริโภคเถิด” อุรุเวลกัสสปะตอบว่า “อย่าเลย มหาสมณะท่านเก็บผลไม้นี้มา ท่านนั่นแหละจงฉันผลหว้านี้เถิด”
อุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ เพราะส่งเรามาก่อนแล้วยังเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้วมานั่งในโรงเพลิงก่อน แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนอย่างเราแน่


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 19 สุตตันตปิฎกที่ 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพธิปักขิยวรรคที่ 7 รุกขสูตรที่ 1 ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเหล่าภิกษุว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ในชมพูทวีปชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นหว้าโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน”


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net

นอกจากนี้ ต้นหว้ายังเกี่ยวพันกับเรื่องราวของภิกษุณีเอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน คือพระภัททากุณฑลเกสา ตามประวัติกล่าวว่า
พระมหาสาวิการูปนี้เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีในราชคฤห์ และเคยเป็นภรรยาโจรร้าย ซึ่งเป็นนักโทษประหาร ภายหลังโจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญากำจัดโจรร้ายได้ และได้ไปบวชเป็นปริพาชิกาในสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกศาสนา)
นางได้เรียนวิชาโต้วาทีจนสำเร็จ ปริพาชกผู้เป็นอาจารย์จึงมอบกิ่งหว้าให้ และบอกให้นางไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมยังที่อื่นๆ โดยหากมีใครตอบคำถามของนางได้ ก็ให้นางเป็นศิษย์ของผู้นั้น นางจึงถือกิ่งหว้าเที่ยวท้าผู้มีวาทะ โดยปักกิ่งหว้าบนกองทราย แล้วประกาศว่า “ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้” จึงมีผู้คนเรียกนางว่า “ชัมพุปริพาชิกา”
ในที่สุดนางก็ได้พบกับพระสารีบุตร และได้ถามปัญหาแก่กัน จนนางเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์จนบรรลุเป็นพระอรหันต์


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net


หว้า เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของแถบเอเชีย สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดิบใกล้ทะเลขึ้นไปถึงเขาสูงไม่น้อยกว่า 800 เมตร ขึ้นได้ดีในที่ค่อนข้างชื้น ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยธรรมชาติ การขยายพันธุ์ส่วนใหญ่ใช้เมล็ดเพาะ และสัตว์พวกนก และค้างคาว สามารถช่วยในการแพร่พันธุ์ได้อย่างดี โดยนำเมล็ดที่กินเข้าไปถ่ายในที่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังใช้ การตอนหรือทาบกิ่งก็ได้ ผลของหว้าจะมีขนาดเล็ก ใหญ่ ไม่แน่นอน แต่มีรายงานจากของอินเดียว่า หว้ามีผลยาว ถึง 3 ซม. พระที่วัดบวรฯ เคยบอกว่า มีหว้าต้นหนึ่งทางด้านคลองที่คั่นโบสถ์ มีผลใหญ่มาก และบอกว่ามีคนนำมา จากประเทศอินเดีย ถ้าเป็นจริงก็เข้าใจว่าคงเป็นหว้าที่มีชื่อเดิมทางพฤกษศาสตร์ว่า Eugenia jambolana Lam. แต่ในภายหลังชื่อนี้กลายเป็นชื่อพ้อง Syzygium cumini (L.) Skeels ไปเสียแล้ว



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
http://www.panmai.com/PvTree/tr_38.shtml
http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=238.0
http://www.oknation.net/blog/Bansuan/2010/07/24/entry-3
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16507
http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=237268&st=91
วิกิพีเดีย


ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป ตามสวน คันนา ริมถนนหนทางทั่วไปตามหมู่บ้าน ส่วนใหญ่มาจากแพร่พันธุ์โดยนกมากกว่าการเพาะปลูก

ลูกหว้ายังมีพ่อค้าแม่ค้าเก็บมาขายตามตลาดนัดชุมชน คนขายจะโรยเกลือป่่นละเอียดบนกองลูกหว้าในถาดที่ใส่ มองดูแล้วก็สวยงามน่าซื้อเพราะมีเกลือสีขาวประดับหน้าลูกหว้าสีดำ เป็นการแต่งแต้มสีไปในตัวแต่เจตนาก็คือโรยเกลือเพื่อปรุงแต่งรสชาติเปรี้ยวของลูกหว้า บางคนก็ใช้วิธีพรมน้ำที่ละลายเกลือแล้วก็มี
ลูกหว้าจะออกผลหลังมะม่วง(ตามฤดูกาล) ไม่นานนัก

ปัจจุบันมีพันธุ์ต้นหว้าพันธุ์ใหม่ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายกันเรียกว่าหว้าพันธุ์เกษตร ซึ่งคนขายบอกว่า ลูกใหญ่และมีรสชาติหวาน พลอยโพยมซื้อมาปลูกหลายต้นได้สัก ห้า หก ปี แล้ว ปลูกไว้หลายต้นเพราะอยากให้นกมาเก็บกินเติบโตช้ามาก และยังไม่เคยให้ดอกให้ผลเลย

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชำมะเลียง...เจ้าเอย

ชำมะเลียง...เจ้าเอย



กลับมาสู่เส้นทางเดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียนวัดผาณิตารามกันต่อจากความเดิม
ในเส้นทางเดินตัดท้องนาจะเดินในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วต้องเดินตามคันนา ขอเลยข้ามเรื่องราวในท้องนาไปก่อน ขึ้นสู่เส้นถนนคันดินเลย
บนถนนคันดินที่ยกสูงไม่กว้างนัก หากมีรถวิ่งก็น่าจะขับได้คันเดียว จะขับสวนจะขับแซงกันไม่ได้ แต่เจตนาในขณะนั้นมิได้ทำให้ให้รถวิ่ง ขนาดจักรยานถีบก็ยังไม่มีสักคันเดียว เป็นถนนคนเดินจริง ๆ และก็ไม่เคยเห็นมีใครจูงควายขึ้นมา้เดินบนถนนเส้นนี้เลยสักครั้งเดียว (ถ้าพาเจ้าทุยขึ้นมา้เืดินบนถนนได้ เจ้าทุยก็ต้องออกแรงเดินขึ้นทางชันมากทีเดียว) สองข้างทางของคันถนน ก็เป็น ป่าสะแก มีแ่อ่งน้ำ หนองน้ำ ให้ได้ชื่นชม ดอกบัวผัน ดอกบัวเผื่อนพื้นเมือง เป็นระยะ ๆ บัวสายก็พอมีบ้าง
ในป่าสะแก ก็พอจะมีพันธุ์ไม้อื่น ๆ ขึ้นแซมบ้าง เป็นวัชพืชบ้าง เป็นไม้ต้นบ้าง เช่น ต้นมะกล่ำ ต้นหว้า และชำมะเลียง เป็นต้น



ในช่วงขาเดินกลับจากโรงเรียนในตอนเย็น เด็ก ๆ ก็จะเดินไปสอดส่ายสายตาหาของต้องใจไป ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะพบของปองหมาย เช่นเก็บฝักมะกล่ำกลับไปเล่นที่บ้าน ลูกหว้า ผลพวงชำมะเลียง
ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะไปเก็บเพราะข้างทางก็รกมากและยังค่อนข้างชัน ก็ได้แต่มองแล้วเป็นของล่อตาล่อใจเด็ก ๆ ยิ่งลูกหว้าก็ได้แต่มองเฉย ๆ กัน แต่ชำมะเลียงยังพอมีเด็กลงไปเก็บบ้าง ทั้งลูกหว้าและชำมะเลียงพอจะมีแม่ค้านำมาขายที่โรงเรียนแต่ก็จะไม่ค่อยเห็นเด็ก ๆ ซื้อกันนัก เพราะพอจะหาได้ตามสวนของตนเอง สู้เอาเงินไปซื้ออย่างอื่นที่ไม่มีในบ้านในสวนดีกว่า



ต้นชำมะเลียงนี้มีในสวนของยายขา แต่ไม่มากนัก ต้นชำมะเลียงจะขึ้นอิงกับต้นฝรั่งริมคลองหลังบ้านคุณยายเล็ก
แต่ชื่อต้นไม้ต้นนี้เป็นที่คุ้นหู เด็ก ๆ ในบ้าน ว่า พุมเรียง และในช่วงที่โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะได้ยินเพลงชื่อชำมะเลียง ขับร้องโดยคุณวินัย พันธุรักษ์ และคุณหยาด นภาลัย
ตอนที่ได้ยินเพลงนี้ใหม่ ๆ พลอยโพยมก็ออกจะ งง งง ว่า ชำมะเลียง ไปสุขสกาวเคียงข้างดาวดวงใหญ่อย่างไร ชำมะเลียงไปเหิรฟ้า ลืมดิน ได้อย่างไร หรือว่าชำมะเลียงไม่ใช่ต้นชำมะเลียงที่เคยรู้จัก แต่ในเนื้อเพลง ก็พูดถึงต้น ถึงใบ เหมือนกัน แต่ก็มีคำว่า ยุพิน ก็เลยคิดเอาเองว่าคงเปรียบหญิงที่รักเป็นต้นชำมะเลียง หรือ หญิงคนนี้ชื่อชำมะเลียง กระมัง

เพลง : ชำมะเลียง
ศิลปิน : วินัย พันธุรักษ์
เนื้อเพลง :
..ชำมะเลียง เจ้า เอย
เจ้า เลย พื้นดินถิ่นไป
สุขสกาว เคียงข้างดาวดวงใหญ่
กิ่งต้นมีใบไฉไลกานดา

..ชำมะเลียง เจ้า ลอย
หลงคอย เจ้าคงไม่มา
เด่นบนฟ้า เหิรนภาเริงร่า
บานเบ่งดารา
เจ้า มา ลืม คำ

..ใบ ต้นโรย เจ้า โบย กลิ่นสีดำ
เจ้า บินสูง สักวันลงต่ำ
กลีบดอกใบช้ำ
ชำมะเลียง เพียงใคร

..ชำมะเลียง แก้ว ตา
สัญญา ข้ามีด้วยใจ
จากชาวดิน
ที่ยุพิน ลืมได้ หลงเพลินกับใคร
เหิร ฟ้า ลืม ดิน
(ดนตรี.....)

..ใบ ต้นโรย เจ้า โบย กลิ่นสีดำ
เจ้า บินสูง สักวันลงต่ำ
กลีบดอกใบช้ำ
ชำมะเลียง เพียงใคร

..ชำมะเลียง แก้ว ตา
สัญญา ข้ามีด้วยใจ
จากชาวดิน
ที่ยุพิน ลืมได้
หลงเพลินกับใคร
เหิร ฟ้า ลืม ดิน...



เด็ก ๆ ลูกหลานพ่อมังกร จะคุ้นกับคำว่าพุมเรียง และตอนเด็ก ๆ เราก็เรียกต้นชำมะเลียงกันว่าต้น "พุมเรียง โดยเรียกว่า พุม- มะ -เรียง " กัน
ชื่อต้นพุมเรียง จะเป็นชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบทกล่อมเด็ก บทหนึ่ง



ชื่อบทกล่อมว่า คล้องช้าง

วันเอ๋ยวันนี้ ตัวพี่จะไปคล้องช้าง
ข้ามห้วยบึงบาง ข้ามเขาพนมทอง

คล้องเจ้ามาได้ ใส่ไว้ในจำลอง
เกี่ยวหญ้ามากอง ช้างน้อยก็ไม่กิน

ยกงวงขึ้นพาดงา น้ำตาก็ไหลอยู่ริน ริน
ช้างน้อยเจ้าไม่กิน คิดถึงถิ่นมารดา

เจ้าเคยอยู่ป่า กินแต่หญ้าในไพรสณฑ์
กินทั้งดอกอุบล กินทั้งต้นพุมเรียง
ป่านฉะนี้แม่จะคอย ใจละห้อยถึงลูกยา
ปล่อยช้างน้อยเนื้อเกลี้ยง กลับไปเลี้ยงมารดาเถิดเอย



พ่อมังกรของพลอยโพยม จะทอดเสียงเศร้ามากตอนที่ร้องว่า " น้ำตาก็ไหลอยู่ริน ริน"
"คิดถึงถิ่นมารดา"
"ใจละห้อยถึงลูกยา"



ในตอนที่พลอยโพยมยังเป็นเด็ก ๆ ฟังพ่อมังกร ไกวเปลเห่กล่อมบทนี้ ก็คงเคลิ้ม เคลิ้ม และหลับไป ด้วยความเพลิดเพลินในเสียงกล่อม ด้วยแรงโยกของเปล และสายลมที่พัดเฉื่อยโชยโรยริ้วเป็้นละลอก เพราะฝีมือไกวเปลของพ่อมังกร สม่ำเสมอไม่มีใครเหมือน ไม่ไกวแรง ไกวเอื่อย ๆ บางทีเสียงลำไม้ไผ่ที่พ่อมังกรสอดกับขื่อบ้านไว้สำหรับคล้องเชือกสี่ด้านของมุมเปลผ้าดิบ ก็ส่งเสียงสอดประสาน ออดแอด เบา ๆ คลอสำเนียงกล่อมของพ่อมังกร

แต่พอตอนพลอยโพยมโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเมื่อได้ยินพ่อมังกร ไกวเปลเห่กล่อมหลาน ๆ ก็รู้สึกน้ำตาซึมสงสารช้างน้อยตัวนี้เสียจริง ๆ รู้สึกว่าอันตัวพี่คนที่ไปคล้องช้างได้มา ช่างใจร้ายเสียจริงพรากลูก พรากแม่ เขามา ถ้าเจ้าช้างน้อยร้องวิงวอนออกมาได้ ตัวพี่คนนี้จะรู้สึกอย่างไรหนอ อันที่จริงตอนน้ำตาเจ้าช้างน้อยไหลริน ริน ก็ แย่แล้ว แล้วยังไม่พอคนแต่งเนื้อเพลงกล่อมนี้ ยังหยอดท้ายบทว่า ปล่อยช้างน้อยเนื้อเกลี้ยง กลับไปเลี้ยงมารดาเถิดเอย
โดยปกติสัตว์ทั้งหลายก็มีแต่ พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูก แต่คนสมัยโบราณก็อดสอดแทรกคำสอนให้ลูก ๆ มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตอบกลับคืนในตอนร้องเพลงกล่อมเด็ก โดยยกตัวอย่างว่า แม้เป็นสัตว์ก็ยังต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ดังบทกล่อมเด็กบทนี้



บทกล่อมบทนี้ เป็นบทกล่อมที่พ่อมังกรชอบร้องมากพอ ๆ กับบทแม่กาเหว่า ที่ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก กว่าเด็กจะหลับบางทีพ่อมังกรก็ร้องบทนี้ สองสามเที่ยว พ่อมังกรจะไม่ค่อยชอบร้องบทกล่อมที่สั้น ๆ นัก ส่วนใหญ่จะเลือกร้องกล่อมบทที่มีเนื้อหายาว ๆ และ พ่อมังกรก็จะเรียกหลานชายลูกของน้องชายพลอยโพยม ว่า เจ้าช้างน้อย จนเจ้าช้างน้อยเติบโตขึ้นมา แต่พ่อมังกรก็ยังเรียกว่าเจ้าช้างอยู่ (โดยตัดคำว่าน้อยออก) ซึ่งเจ้าช้างของพ่อมังกร ขณะนี้ก็เป็นหนุ่มใหญ่วัยสามสิบกว่า หล่อเหลาเอาการ รูปร่างสูงใหญ่ แบบใหญ่ยาวเข่าดีเสียด้วย



เจ้าช้างน้อยของพ่อมังกร




พลอยโพยมไปอ่านพบบทเห่เด็กบทหนึ่ง มีชื่อว่า ไปคล้องช้าง มีเนื้อความในบทเห่เด็กว่า
ไปคล้องช้าง
วันเอ๋ยวันนี้ พี่จะไปคล้องช้าง
ข้ามทุ่งเหวบาง ข้ามเขามะโนรมย์

ข้ามเขินเนินไศล ข้ามไม้ไพรพนม
ปากพี่ก็ร้องชม มือก็ไขว่ฃลอมพลาง

มือข้างโน้นจะไขว่ถี่ มือข้างนี้จะไขว่ห่าง
เก็บได้ใส่หลังช้าง มาฝากเอวบางอุแม่นา



บทกล่อมไปคล้องช้าง บทหลังนี้กับบทกล่อมคล้องช้างของพ่อมังกร แตกต่างกันบ้าง แต่บทหลังไม่มีคำกล่าวถึงต้นพุมเรียงเลย แต่มีชลอมเอาไปใส่ของแต่ก็ไม่รู้ว่าเก็บอะไรได้มาฝากแม่เอวบางของคนร้อง



ต้นพุมเรียงหรือชำมะเลียงนี้เป็นต้นไม้ที่พลอยโพยมระลึกถึงด้วยรายละเอียดหลายเรื่อง มีอีกเรื่องคือ ผลชำมะเลียงก็เป็นของกินอย่างหนึ่งที่รอคอยเวลาเห็นต้นพุมเรียงออกดอกทุกวันนี้ก็ยังคอยหา เวลามีผลสุกดำแล้วพลอยโพยมก็เก็บมากินในบ้าน น้องชายก็จะถามพี่สาวว่า ไม่มีอะไรกินหรือไงไปเก็บลูกชำมะเลียงมากินอร่อยหรือไง พลอยโพยมก็ตอบว่า ไม่อร่อยหรอกฝาดจะตายแต่กินเพราะนึกถึงวัยเด็ก ๆ ว่า เจ้าชำมะเลียงรสชาติ ฝาด ๆ แบบนี้ สมัยโน้น ก็เป็นของดีที่เด็กๆ เฝ้าคอยที่จะเก็บมากิน



มาวันนี้มีของกินอร่ิอยมากมาย แต่ชำมะเลียงมีเรื่องเตือนความจำถึงเรื่องสนุกสนานและความสุขสมัยเด็ก ที่ของอร่อย ๆ ในสมัยนี้ไม่มีให้พลอยโพยมนั่นเอง

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระวิปัสสนาจารย์ พระคันธสาราภิวงศ์





ประวัติพระวิปัสสนาจารย์ พระคันธสาราภิวงศ์
พระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโร (ศุภสถาพร)
อายุ ๕๒ ปี พรรษา ๓๑ วิทยฐานะ น.ธ.เอก, ป.ธ. ๙, ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, เจติยังคณะ คณวาจกธรรมาจริยะ และสาสนธชธรรมาจริยะ (เทียบเท่า ป.ธ. ๙ ของประเทศไทย) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

บรรพชา
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 เมื่ออายุ 12 ปี ณ จิตตภาวันวิทยาลัยพัทยา โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เป็นอุปัชฌาย์
อุปสมบท
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เมื่ออายุ 21 ปี ณ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง โดยมีพระธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ เป็นอุปัชฌาย์
วิทยฐานะ
พ.ศ. 2516 สำเร็จประถมศึกษาปีที่ 5

พ.ศ. 2522 สอบได้ชั้นโสตุชนปันติ (ชั้นนักศึกษา) วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง

พ.ศ. 2527 เดินทางไปศึกษา ณ ประเทศเมียนม่าร์ โดยพำนักอยู่ที่วัดวิสุทธาราม จังหวัดแปร(prome) 7 ปี และ วัดวิสุทธารามจังหวัดมันดเลย์ 3 ปี

พ.ศ. 2529 สอบได้ชั้นพื้นฐาน ของรัฐบาลพม่า (เกียรตินิยมของภาค)

พ.ศ. 2530 สอบได้ชั้นนักศึกษา ของสมาคมพุทธสาสนานุเคราะห์ จ.แปร (เกียรตินิยม)

พ.ศ. 2531 สอบได้ชั้นนักศึกษา ของสมาคมเอกชนเจติยังคณะ ประเทศเมียนม่าร์ (สอบได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ)

พ.ศ. 2534 สอบได้ ธรรมาจริยะ ของสมาคมเอกชนเจติยังคณะ ประเทศเมียนม่าร์ ได้รับเกียรติบัตรเป็น เจติยัง คณะคณวาจกธรรมาจริยะ (เกียรตินิยมอันดับ 2 ของประเทศ)

พ.ศ. 2535 สอบได้ ธรรมาจริยะ ของรัฐบาลพม่า ได้รับเกียรติบัตรเป็น สาสนธชธรรมาจริยะ

พ.ศ. 2547 สอบได้ ป.ธ .8

พ.ศ. 2556 สอบได้ ป.ธ.9 และ สำเร็จปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


เกียรติคุณ
เข็มเชิดชูเกียรติวิปัสสนาจารย์ ถวายเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี สถาปนายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543

เกียรติบัตรในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นสาขาพระพุทธศาสนา มูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

เสาเสมาธรรมจักร ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือพระพุทธศาสนา วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2550

ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2550



ผลงานเขียนหนังสือ

ฝ่ายอภิธรรม
1. อภิธัมมัตถสังคหะ และปรมัตถทีปนี (แปล)
2. พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์ และประวัติคัมภีร์สัททาวิเสส
3. สัจจสังเขป (แปลและอธิบาย)
4. อภิธัมมาวตาร (แปลและอธิบาย)
5. อัฏฐสาลินี (แปลและอธิบาย)



ผลงานฝ่ายพระสูตร
6. เนตติปกรณ์ (แปลและอธิบาย)
7. เนตติอรรถกถา (แปลและอธิบาย)
8. เนตติฏีกา (แปลและอธิบาย)



ผลงานฝ่ายพระวินัย
9. สารัตถทีปนี มหาวรรค (แปลและอธิบาย)
10. สารัตถทีปนี จูฬวรรค และปริวารวรรค (แปลและอธิบาย)
11. กังขาวิตรณี เล่ม 1 (แปลและอธิบาย)



ผลงานวิปัสสนา
12. สติปัฏฐาน ทางสายเดียว
13. การเจริญสติปัฏฐาน
14. ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
15. วิปัสสนานัย เล่ม 1 (แปล)
16. วิปัสสนานัย เล่ม 2 (แปล)
17. อานาปานทีปนี (แปล)
18. โพธิปักขิยธรรม
19. มหาสติปัฏฐานสูตร (แปล)
20. ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (แปล)
21. ปฏิจจสมุปบาท (แปล)
22. นิพพานกถา (แปล)
23. ส่องสภาวธรรม



ผลงานฝ่ายหลักภาษา
24. สังวัณณนานิยาม และสาธนะในกิต์ก
25. พาลาวตาร (ปริวรรต)
26. กัจจายนสารมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งกัจจายนสาระ)
27. สังวัณณนามัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งสังวัณณนา)
28. คันถาภรณมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งคันถาภรณะ)
29. ถาม-ตอบคัณฐิบทในคัมภีร์ปทรูปสิทธิ
30. วฤตตรัตนากร (แปล)
31. วุตโตทยมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งวุตโตทัย)
32. สุโพธาลังการมัญชรี (ช่อดอกไม้แห่งสุโพธาลังการ)
33. ปทสังคหะ (ปริวรรต)
34. ปทรูปสิทธิมัญชรี (เล่ม 1 สันธิ, นาม, การก)
35. ปทรูปสิทธิมัญชรี (เล่ม 2 สมาส)
36. ปทรูปสิทธิมัญชรี (เล่ม 3 ตัทธิต)
37. ฉันท์ 4 ฉบับ (ปริวรรต)


ผลงานฝ่ายปกิณกธรรม
38. พระปริตรธรรม
39. ทารุกขันโธปมสูตร (แปลจาก Parable Of The Log)
40. นมักการะ
41. มหาปณามะ (แปล)
42. เตลกฏาหคาถา (แปล)
43. เมตตาภาวนา
44. คุณธรรมของคนดี
45. พรหมวิหาร 4
46. ปัชชมธุ (แปลและอธิบาย)
47. ชินาลังการ
48. คำอธิบายเมตตปริตร
49. ปรองตองประคองมิตร
50. บทสวดอุปปาตสันติ (แปลและอธิบาย)
51. ประกายส่องใจ
52. เมตตา
* 53. พรหมวิหาร (แปลและอธิบาย)

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.wattamaoh.org/home/wattamaoh/master-history-2


วัดท่ามะโอ
ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้น ปี พ.ศ.2437 (จ.ศ.1256)


ประวัติวัดท่ามะโอ
วัดท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2437 อุบาสกชาวพม่าชื่อ “อูจันทณ์โอง” เป็นผู้สร้าง มีประวัติย่อต่อไปนี้

ในรัชการพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี มีอุบาสกชาวพม่าชื่ออูจันทร์โองได้เข้ามาประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าไม้ในจังหวัดลำปาง

อุบาสกอูจันทร์โองเป็นผู้นับถือและเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมั่นคง สมบูรณ์ด้วยศรัทธาปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนา ได้บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินในบริเวณท่ามะโอ ริมแม่น้ำวัง สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 (ตรงกับ จ.ศ. 1256) เมื่อสร้างวัดขึ้นแล้ว ก็ได้สร้างถาวรวัตถภายในวัดคือ กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ วัจจกุฏิ บ่อน้ำ โรงพระอุโบสถและกำแพงก่ออิฐ ได้อุปถัมภ์พระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในวัดด้วยปัจจัย 4 เป็นประจำเสมอมา เมื่อท่าถึงแก่กรรมแล้ว บรรดาบุตรหลานของท่านก็ได้อุปถัมภ์วัดและพระภิกษุสามเณรสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้



ชื่อของวัดนี้ เรียกตามคำบาลีว่า “มาตุลุงคติตถาราม” เรียกตามภาษาไทยว่า “วัดท่ามะโอ” เพราะอาศัยท่ามะโอหรือท่าส้มโอ คำว่า “วัด” ตรงกับคำบาลีว่า “อาราม” คำว่า “ท่า” ตรงกับคำบาลีว่า “ติตถะ” คำว่า “มะโอ” ตรงกับคำบาลีว่า “มาตุลุงคะ” คำทั้ง 3 คือ อารามะ, ติติถะ, มาตุลุงคะ เมื่อสับเปลี่ยนคำหน้าไปไว้หลัง สับเปลี่ยนคำหลังมาไว้หน้า ก็สำเร็จรูปเป็น “มาตุลุงคติตถาราม” แปลว่า “วัดท่ามะโอ

ลำดับเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ
รูปที่ 1 ท่านพระอาจารย์ อู นันทิยะ ถึงมรณภาพปีใดไม่ปรากฏ
รูปที่ 2 ท่านพระอาจารย์ อู ติกขะ ถึงมรณภาพปีใดไม่ปรากฏ
รูปที่ 3 ท่านพระอาจารย์ อู เนมินทะ อัคคมหาบัณฑิต ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509
รูปที่ 4 ท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ธัมมาจริยะ ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ที่ 5 กรกฏาคม 2555
รูปที่ 5 ท่านพระอาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์


ท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ เจ้าอาวาสรูปที่ 4 นั้น พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ได้ขอต่อสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า มาเป็นครูสอนพระไตรปิฎกประจำวัดโพธาราม สภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่าได้จัดส่งมาตามความประสงค์ของพระธรรมคุณาภรณ์ ท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ พร้อมด้วย อู โสภณะได้เดินทางจากประเทศพม่าเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 และถึงวัดโพธารามในวันเดียวกัน


สำนักเรียนบาลีใหญ่ที่วัดท่ามะโอ

เมื่อ พ.ศ 2509 ท่านพระอาจารย์ อู เนมินทะ เจ้าอาวาสรูปที่ 3 ได้ขอท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ต่อสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า เพื่อมาอยู่วัดท่ามะโอ สภาพุทธศาสนาได้อนุมัติและได้แจ้งให้ทางวัดโพธารามทราบ ท่านพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ได้เดินทางจากวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2508 และถึงวัดท่ามะโอโนวันเดียวกัน เมื่อท่านพระอาจารย์ อู เนมินทะ ถึงมรณภาพแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดท่ามะโอ และได้ตั้งโรงเรียนปริบัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=38793




เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 ปีนี้ พลอยโพยมได้เข้าปฎิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ศูนย์ 2 จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 8-16 มิถุนายน ก่อนเข้าปฎิบัติ เพื่อนร่วมคณะในมหาวิทยาลัยโทรมาชวนไปงานเลี้ยงรุ่น คณะบัญชี จัดที่โรงแรมมณเฑียร วิเวอร์ไซด์ ที่ไปมาคราวที่แล้ว สนุกสนานจนลืมเวลา มีconcept น่าสนุกสนาน คือให้ใส่ชุดนิสิต ปีที่ 1 ไปงาน (แต่ไม่บังคับ) ความอยากไปเต้นระริกในหัวใจ แต่พลอยโพยมก็เลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมไปเพื่ออนาคตไปเพื่อทำวันนี้ปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด เก็บเกี่ยวผลบุญกุศลไว้ชาติหน้า การไปงานสังสรรค์ศิษย์เก่าเป็นการถอยหลังกลับสู่อดีต มีความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นกิเลศโลภะคือความอยากเป็นตัวนำ

หลักสูตรนี้พระวิปัสสนาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์ เดินทางจากวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปางมาสอนให้ผู้เข้าปฎิบัติธรรม

เมื่อคราวปฏิบัติธรรมเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อต้นปีนี้พลอยโพยมได้รับคำชักชวนจากกัลยาณมิตรในที่ปฏิบัติธรรมชักชวนไว้ให้มาปฏิบัติในหลักสูตรนี้ มีคนตกลงใจเข้าปฎิบัติเป็นครั้งแรกกับพระอาจารย์หลายคนทีเดียว
พอพบพระอาจารย์ก็ผิดคาดที่วาดภาพไว้ เพราะพลอยโพยมรู้จักชื่อท่านว่าเป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้มากเขียนหนังสือธรรมะมากมายเป็นหนังสือยาก ๆ หลวงพี่อโณทัยมีหนังสือธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ 10 กว่าเล่ม พอรับกรรมฐานเสร็จ ฟังพระอาจารย์ปฐมนิเทศวิธีปฎิบัติแล้วก็ทึ่ง พระอาจารย์เป็นพระอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน ที่สำคัญดูท่านอ่อนเยาว์กว่าอายุในประวัติมาก

ท่ากราบสติปัฏฐานที่แตกต่างจากที่เคยกราบมาหลายปี ท่าเดินจงกรมที่ดูแปลกตาจากการปฐมนิเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจก่อนเข้าปฏิบัติคือเราจะปฎิบัติตามคำสอนของพระอาจารย์อย่างไม่ลังเลสงสัย ท่านให้ทำอย่างไรก็จะก้มหน้าก้มตาปฏิบัติ แล้วก็ค่อย ๆ เห็นผลของการเป็นคนว่านอนสอนง่าย

พลอยโพยมเดินจงกรมติดต่อกันสองชั่วโมง ไม่เมื่อย ไม่เหนื่อย ไม่ล้า ไม่ตัองมีการหยุดกำหนดในใจว่าเหนื่อยหนอเลย สภาวะการรับรู้เดินสามจังหวะได้รับรู้สภาวะเท่าการเดิน 6 จังหวะ
การกราบพระที่ไม่รู้สึกว่าเป็นมือเป็นแขนเป็นนิ้ว รู้อีกทีเวลามีการสัมผัสระหว่างกัน
การฟังธรรมที่ได้รับความรู้อีกมากมาย
8 วันของการปฏฏิบัติ ผ่านไปรวดเร็วจนถึงวันสุดท้าย



ในวันสุดท้ายมีการให้ผู้ปฎิบัติธรรมแสดงความรู้สึก มีผู้เข้าปฎิบัติสรุปถึงพระอาจารย์ว่า

1. ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ทัศนะคติและอารมณ์เป็นบวกตลอดเวลา

2. ท่านเก๋งทั้งบุ๋นและบู๊ แสดงธรรมที่เอื้อต่อการปฎิบัติ เรื่องยากพูดให้เข้าใจง่าย

3. ท่านใช้หลักความพอดี พอดีสำหรับผู้เข้าปฎิบัติธรรม จึงไม่มีผู้เข้าปฏิบัติธรรมคนใดเครียด เหนื่อย และล้้าเลยสักคนเดียว ท่านให้ผู้เข้าปฏิบัติธรรมปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนาตลอดทั้ง 8 วัน ผู้เข้าปฎิบัติประยุกต์การปฏิบัติให้เข้ากันกับตัวเอง และเอื้อที่ตนเองจะก้าวหน้าในการปฏิบัติ ผู้ปฎิบัติต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายพร้อมกับการปฎิบัติธรรม

ท่านไม่ห้ามผู้ปฏิบัติต้องลืมความรู้เก่า วางความรู้เก่า ท่านจะเน้นว่าอะไรที่เด่นชัดก็ให้ใช้วิธีการนั้น เมื่อไปสอบอารมณ์และผู้ปฏิบัติเกิดสภาวะธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติแบบเดิมที่เคยปฏิบัติมา หากสภาวะชัดเจนมากท่านก็ให้พิจารณาตามที่เคยปฏิบัติมาก็ได้ แต่เมื่อสภาวะนั้นคลายไปแล้ว ก็ต้องใช้วิธีการของพระอาจารย์

ผู้เข่้าร่วมปฎิบัติธรรมมีผู้สูงวัย ระดับ อายุ 84 ปี 80 ปี 70 ปีขึ้นไป 60 ปี ขึ้นไป นับแล้วเกือบยี่สิบคนได้กระมังจากจำนวนผู้เข้าปฏิบัติธรรมทั้งหมด 79 คน เป็นผู้ไม่เคยปฏืบัติกับพระอาจารย์มาก่อนเลย 50 คนเศษ
นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงวิธีการปฏิบัติของท่านได้ดี ( การกราบพระ และนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติแม้นั่งเก้าอี้ ก็ได้รับรู้สภาวะเท่ากับนั่งกับพื้น และจะนั่งได้ดีไม่มีเวทนารบกวนนัก เหมาะกับการเจริญเมตตาภาวนา หรือเจริญพุทธคุณมาก)

 แต่ทั้งนี้ พระอาจารย์ท่านจะเน้นวิธีการกราบพระ และเดินจงกรม ให้ใช้วิธีของท่าน



พลอยโพยมตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง นับว่าก็ได้มีโอกาสอีกครั้งที่ได้สะสมผลบุญ เป็นเนื้อนาบุญต่อไปภายภาคหน้า ในภพชาติต่อไป จึงขอน้อมนำจิตส่งผลบุญกุศลที่ได้ไปทำทาน ถือศีล 8 และภาวนา ตลอด 8 คืน 9 วันในครั้งนี้มายังท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ท่านน้อมนำจิต อนุโมทนารับบุญกุศลของพลอยโพยมในครั้งนี้ด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ


ขอเพิ่มเติมประวัติส่วนตัวของพระอาจารย์พระคันธสาราภิวงศ์

พระัอาจารย์เล่าว่า
โยมพ่อของท่านชื่อก๊กคุณ แซ่เฮ่ง เป็นชาวไหหลำจากจีนแผ่นดินใหญ่แต่เข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เรียนหนังสือเก่งจึงได้ทุนไปเรียนแพทย์ที่ฮ่องกงจนจบเป็นศัลยแพทย์ เมื่อเรียนจบได้ไปทำงานที่เมืองงจีน จนพบและสมรสกับโยมแม่ ชื่อมังหวั่น แซ่ตัน เมื่อแต่งงานได้ไม่นานเมืองจีนก็เกิดสงครามทั้งสองท่านจึงมาอยู่เมืองไทยและสร้างครอบครัวในเมืองไทย

พระอาจารย์เกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน มีพี่สาว 4 คน พี่ชาย 1 คนอยู่พระโขนง เมื่อพระอาจารย์อายุเพียง 3-4 ขวบ โยมพ่อท่านก็สิ้นบุญในขณะอายุเพียง 50 ปีเศษ
เมื่อพระอาจารย์อายุได้ 12 ขวบ พี่สาวเห็นว่าท่านซนและดื้อเพราะเป็นลูกคนสุดท้อง ใคร ๆ ก็ตามใจ จึงจัดให้ท่านบวชเป็นสามเณรในช่วงปิดภาคฤดูร้อนที่จิตตภาวันวิทยาลัย ที่พัทยา โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาสตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ติดใจชอบเรียนภาษาบาลีและอภิธรรมมาก จึงขออนุญาตโยมแม่ขอไม่สึกเพราะอยากบวชเรียนต่อ โยมแม่ท่านก็อนุญาต


ภาษาบาลีที่เรียนที่จิตตภาวันวิทยาลัยนั้นเป็นภาษาบาลีน้อย ตอนนั้นภาษาบาลีใหญ่สูญไปจากเมืองไทยได้ประมาณ 70 ปีแล้ว หลวงพ่อกิตติวุฒโฒ ได้ส่งพระอาจารย์ไปเรียนภาษาบาลีใหญ่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อธัมมานันทะมหาเถระ ธรรมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จนจบขั้นโสตุชนปันติ (ชั้นนักศึกษา) ที่วัดท่ามะโอตอนอายุ 18 ปี


ท่านอาจารย์ได้ส่งพระอาจารย์ไป้เรียนต่อที่ประเทศพม่า เมื่ออายุ 21 ปี พระอาจารย์อุปสมบทที่วัดสาสนยิตตา จังหวัดย่างกุ้ง โดยมีท่านอาจารย์มหาสีสยาดอ (พระโสภณมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อธัมมานันทมหาเถระแห่งวัดท่ามะโอเป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีฉายาว่า พระคันธสาโร (แปลว่าผู้เปรียบดังไม้จันทร์หอม) พอบวชแล้วก็รับการอบรมวิปัสสนากรรมฐานกับท่านอาจารย์สุชาตมหาเถระรองเจ้าอาวาสวัดสาสนยิตตาจนครบ 3 เดือน วีซ่าหมดจึงกลับประเทศไทย


เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้อุปสมบทใหม่อีกครั้งที่วัดท่ามะโอโดยมีหลวงพ่อธัมมานันทมหาเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ กลับมาอยู่เมืองไทยได้ 3 ปี จึงกลับไปเรียนที่พม่า ขณะอายุ 24 ปี (พ.ศ. 2528)

เมื่อไปเรียนที่พม่าใหม่ ๆ ท่านไม่รู้ทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ ต้องสื่อสารกันด้วยภาษาบาลีอย่างเดียวเป็นปี ๆ กว่าจะเริ่มใช้ภาษาพม่าได้คล่อง มีเรื่อง ขำ ๆ เกิดอยู่เนือง ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระอาจารย์มีโอกาสจะได้เข้าพบอธิบดีกรมการศาสนาของพม่า ก็ไม่รู้จะกล่าวทักทายท่านเป็นภาษาพม่าว่าอย่างไร ปรึกษาคนพม่าที่สนิทกัน เขาก็สอนมาประโยคหนึ่ง โชคดีที่พระอาจารย์สังเกตเห็นว่าคนสอนดูจะยิ้มกริ่มเกินปกติก็เลยเพียงแต่จดจำประโยคเหล่านั้นเอาไว้โดยมิได้นำไปกล่าวทักทายท่านอธิบดีอย่างที่ตั้งใจ นับเป็นโชคดีจริง ๆ เพราะมารู้เอาทีหลังว่าภาษาพม่าประโยคนั้นแปลว่า "สวัสดีท่านพ่อตา"

การศึกษาครั้งนี้พระอาจารย์เรียนอยู่ที่วัดวิสุทธารามพราณสี จังหวัดแปร
โยมแม่ของท่านสิ้นชีวิตในขณะที่ท่านยังศึกษาอยู่ที่ประเทศพม่าเมื่ออายุ 72 ปี


จากแปร พระอาจารย์ไปศึกษาภาษาสันสกฤต และภาษาาอังกฤษต่ออีก 3 ปีที่จังหวัดมันดเลย์โดยพำนักที่วัดวิสุทธาราม ชเวโบงโวง มันดเลย์ จนอายุได้ 34 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทย ใน ปี พ.ศ. 2538

ตอนเตรียมตัวกลับเมืองไทย พระอาจารย์รวบรวมหนังสือตำราต่าง ๆ ทั้งตำราธรรมะ วิปัสสนากรรมฐาน ประวัติศาสตร์ อรรถกถา ฎีกาฉบับพม่า และตำราภาษาบาลีพม่า รวมแล้วมีจำนวนมากกว่า 3,000 เล่ม เพื่อนที่วัดท่ามะโอ บอกพระอาจารย์บอกว่าตอนไปขนหนังสือขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ต้องใช้รถหกกล้อขนหนังสือ

เมื่อกลับมาเมืองไทย พระอาจารย์ก็ช่วยแบ่งเบาภาระของหลวงพ่อธัมมานันทมหาเถระ วัดท่ามะโอ โดยเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายการศึกษาของวัดท่ามะโอ พร้อม ๆ กับเริ่มงานด้านการเขียน และแปลหนังสือไปด้วย
พระอาจารย์ได้สร้างอาคารปฏิบัติธรรม "อาคารภาวนามัญชรี " ในปี พ.ศ.2547
ในปี พ.ศ.2551 สร้างอาคารปฏิบัติธรรม "อาคารภาวนาวัลลรี"


ขอขอบคุณข้อมูล และภาพจาก
"หนังสือที่ระลึกในพิธีฉลองและมุทิตาสักการะ
แด่พระคันธสาราภิวงศ์ สาสนธรรมาจริยะ
เจติยังคณะ คณวาจกกรรมมจริยะ
ครูสอนธรรมผู้เป็นธงชัยแห่งพระศาสนา"
http://www.wattamaoh.org/home/forum/index

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันสถาปนา โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นวันที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้รับการสถาปนา ครบ 121 ปี


โรงเรียนโดยผู้อำนวยการโรงเรียน ครูอาจารย์ นักเรียนในรุ่นปัจจุบัน บุคลากรของโรงเรียน สมาคมศิษย์เก่า ได้จัดงานบวงสรวงพระอนุสารีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วางพานพุ่ม และเจริญพุทธมนต์เป็นสิริมงคลแก่โรงเรียน


พราหมณ์ ผู้ทำพิธีบวงสรวง คือ อาจารย์ศุทธา เตียงหงษากุล ศิษย์เก่า รุ่นที่ 92 เป็นเจ้าพิธี


เริ่มพิธีบวงสรวงเวลา 8.30 น.


คุณผานิตย์ มีสุนทร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานของงานโปรยดอกไม้บนเครื่องบวงสรวงหลังพิธีกล่าวคำบวงสรวงที่ยืดยาว 1 ชั่วโมงเต็มจบสิ้นลง


ประธานของงานจุดธูปเทียนบูชาพระอนุสาวรีย์ฯ


ประธานวางพานพุ่มดอกไม้เงินดอกไม้ทองสักการะพระอนุสาวรีย์ ฯ


คุณยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที ศิษย์เก่ารุ่น 87 วางพานพุ่ม พร้อมด้วยบรรดาตัวแทนศิษย์เก่าตัวแทน ครูอาจารย์ นักเรียนรุ่นปัจจุบัน ศิษย์เก่าสายชล 1-5 ทยอยวางพานพุ่ม


พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บทธัมจักกัปปวัตนสูตร และพระสูตรอื่น ๆ โดยพระราชภาวนาพิธาน รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา (ศิษย์เก่ารุ่น 87) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์


หน้าพระอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เครื่องเซ่นไหว้สักการะ บวงสรวง


ปัจจุบันงานพิธีต่าง ๆ จะมีทั้งพิธีของพราหมณ์และศาสนพิธีปะปนกันจนแยกไม่ออก


พิธีการงานต่างๆ จัดตามสมัยนิยมและความเชื่อถือ


ในการกล่าวคำบวงสรวงสักการะจึงเป็นการบวงสรวงที่ครอบจักวาล


กล่าวคือพราหมณ์จะบูชาคุณพระรัตนตรัยและอัญเชิญและบวงสรวงในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งจักวาลที่เป็นความเชื่อถือ ของคนทั่วไป


สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงนี้มีืั้ทั้งเทวดาซึ่งอยู่ในภพภูมิที่อยู่เหนือภพภูมิมนุษย์ขึ้นไป ตามศาสนาพุทธที่สังสารวัฎนี้ มีื 31 ภพภูมินั่นเอง
เจ้าพิธีก็อัญเชิญเหล่าเทวาทั้งหลายที่อยู่ในภพภูมิเหนือภพภูมิมนุษย์ขึ้นไปทุกชั้น


อัญเชิญทั้งเหล่าเทพในความเชื่อของลัทธิพราหมณ์


มีทั้งพระศิวะผู้เป็นใหญ่ พระนารายณ์และเทพองค์อื่น ๆ เป็นต้น แต่ก็นับว่าล้วนแต่เพื่อเกิดความเป็นสิริมงคลของงานนั่นเอง แต่เด็กรุ่นใหม่ก็อาจเกิดความสับสนได้เช่นกัน


ผลไม้จัดเลี้ยงนักเรียนรุ่นปัจจุบัน จำนวน 3,434 คน และบุคคลากรทั้งโรงเรียน


โดยบรรดาศิษย์เก่า ทำอาหารเป็นซุ้ม จำนวน 26 ซุ้ม บริการเหล่านักเรียนรุ่นปัจจุบันเข้าแถวตามซุ้มอาหารคาวหวานที่ชอบใจ


ซุ้มผัดไทยโดยศิษย์เก่ารุ่นที่ 79 (ที่พลอยโพยมเป็นสมาชิกรุ่น )


ผัดไทยฝีมือบุคลากรจากโรงเรียนดัดดรุณี โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา บรรดานักเรียนเข้าแถวต่อคิวกันยาวเหยียดประกาศฝีมือคนผัด

งานนี้สำเร็จด้วยดี โดยความร่วมมือร่วมใจของคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ บุคลากรของโรงเรียน นักเรียนรุ่นปัจจุบัน สมาคมศิษย์เก่านำโดยคุณประโยชน์ โสรัจจกิจ นายกสมาคมศิษย์เก่าคนปัจจุบัน คณะกรรมการสมาคมทุกท่าน คุณกรีฑา ชูทับทิม ประธานจัดงานครั้งนี้ และศิษย์เก่าทุกรุ่น สายชล 1-5