วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๐..ปัจฉิมทัศนา..เบญจคีรีนคร



เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร



ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammahome.com

"ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสในมนุษย์โลกแล้ว ถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จาริกไปในนิคมชนบทราชธานีต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธจนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร"

ข้อความในพระสูตรเป็นดังนี้

ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคีรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวบสิ้นทิวาวาร แดดในยามเย็นกำลังอ่อนแสงลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตรแลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจรดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันเดินดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียวก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมรอบกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดเจนถนัดแจ้งดังว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ออกดอกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่านมีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉาบเอาไว้ เพื่อแข่งกับแสงมณีวิเศษ มีบุษราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น


ขอขอบคุณภาพจากwww.oknation.net




ขอขอบคุณภาพจากdhammaweekly.wordpress.com

พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทหยุดเสด็จพระดำเนิน มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์ในภูมิภาพ ที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฎไวบูลยบรรพต อิสีคิลิ และคิชฌกูฎ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบทอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏ เข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน



สมัยเมื่อล่วงแล้วแต่ปางหลัง ครั้งยังมีพระชนมายุอยู่ในเยาวกาล เมื่อพระเกศายังดำเป็นมันขลับเสวยอิฏฐารมณ์ผงมต่อความบันเทิงสุขโดยอุดม อันควรแก่ผู้อยู่ในวัยหนุ่มนั้น พระองค์ยังทรงสละสรรพสุขศฤงคารเสียได้แล้ว เสด็จออกจากพระราชสกุลวงศ์ แห่งศากยชนบทในอุตรประเทศเข้าสู่เขตลุ่มแม่น้ำคงคา บรรลุถึงเชิงเวภารบรรพตอันสูงลิ่วได้เสด็จประทับอยู่ที่นั่น เป็นปฐมกาลตลอดเวลาได้ช้านาน และเสด็จภิกขาจารในกรุงราชคฤห์ทุกบุพพัณหเวลา



สมัยนั้นและในคูหานั้น พระเจ้าพิมพิสาร ท้าวพญาแห่งมคธราษฎร์ได้เสด็จมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ทรงอ้อนวอนอัญเชิญเสด็จให้กลับคืนแคว้นศากยะ เพื่อเสวยสุขแห่งโลก แต่พระตถาคตมิทรงหวั่นไหวกลับประทานพระธรรมเทศนา จนพระเจ้าพิมพิสารบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรม ต่อมาได้เป็นอุบาสกคนสำคัญของพระพุทธองค์เจ้า




นับแต่นั้นมาจนถึงเวลาที่กล่าวนี้ ล่วงได้ ๕๐ ปีบริบูรณ์ และระหว่าง ๕๐ ปีนั้น มิใช่จะเพียงทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์จากความเป็นผู้แสวงหาความจริงจนได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ ยังทรงบันดาลให้ความมีความเป็นแห่งสังสารโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย อดีตกาลเมื่อเสด็จประทับอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ต้นสัตบรรณครั้งกระโน้น พระองค์เป็นผู้แสงวหาความหลุดพ้นทุกข์ ต้องต่อสู่กับกิเลศมารอันหนาแน่น ต้องกระทำทุกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่นที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อทำไม่ได้ จนภายหลังทรงเห็นแจ้งแห่งซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันความเป็นไปของพระองค์ครั้งกระโน้นตลอดมาจนครั้งกระนี้ก็เหมือนดังกลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้ามีแสงแดดแผดจ้าแล้วนภากาศพยับอับแสง เกิดพายุแรงฟ้าคะนองก้องสะท้านซ่านด้วยเม็ดฝน ครั้นแล้วท้องฟ้าก็หายมืดมนกลับสว่างสงบเรียบ มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศในยามเย็นที่กล่าวแล้ว จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงดิ่งหายหายไปในขอบฟ้า



อันว่าพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด สำหรับตถาคตในขณะนี่้ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เห็นแจ้งซึ่งกองทุกข์ ทรงแสดงพระธรรมอันแท้จริงให้เห็นเป็นประจักษ์ และประทานหลักความหลุดพ้นจากทุกข์แก่มนุษยนิกรทั่วโลกธาตุ มีบริษัทสี่เป็นผู้สืบศาสในวาทเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ให้แพร่หลาย และประพฤติปฏิบัติด้วย กาย วาจา ใจ รักษาไว้ตลอดจิรกาลาวสาน


ขอขอบคุณภาพจาก www.alittlebuddha.com


ขอขอบคุณภาพจากwww.alittlebuddha.com

พระตถาคตทอดทัศนาการภูมิประเทศอันแผ่ไพศาลอยู่เฉพาะพระพักตร์ แลัวตรัสว่า
" ดูก่อน ราชคฤห์อันเป็นนครแห่งเบญจคีรีมีปริมณฑลงดงาม ตระการอุดมด้วยนาสาลีและมหาศิงขร อันน่าเบิกบานหฤทัย เราได้แลดูในครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการ"

ตรัสแล้วก็ยังประทับอยู่ ณ ที่นั้นจนภูมิประเทศที่ค่อย ๆ เลือนลงในยามเย็น คงเหลือให้เห็นเด่นชัดแต่อุดมสถานอยู่สองแห่ง ที่ต้องแสงแดดดั่งดาดด้วยทองคำ




คุกหลวงเมืองราชคฤห์ สถานที่พระเจ้าพิมพิสารถูกจองจำจนเสด็จสวรรคตในช่วงบั้นปลายของชีวิต
ขอขอบคุณภาพจากth.wikipedia.

แห่งหนึ่งคือปราสาทแห่งพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงอยู่ในวัยเป็นภิกษุหนุ่ม ซึ่งยังไม่มีใครรู้จักได้เคยเสด็จผ่านไปทางนั้น พระเจ้าแห่งแคว้นมคธ คือพระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรเห็นพระองค์เป็นครั้งแรก โดยเหตุที่พระองค์มีลักษณาการดั่งสีหดำเนิน




สถานที่อีกแห่งคือยอดหลังคาเทวสถาน ซึ่งแต่ก่อน ๆ มา เมื่อพระองค์ยังมิได้ประทานพระธรรมเทศนาแก่มนุษยนิกรให้พ้นจากทารุณวิธี เคยเป็นสถานที่พลีชีวิตสัตว์อันหาความผิดมิได้ นับจำนวนเป็นพัน ๆ เพื่อบูชายัญเทวรูปในนั้น

บัดเดี่ยวใจยอดปราสาทและยอดหลังคาเทวสถานก็เลือนหายเข้าสู่ความมืดแห่งสายัณหสนธยา ขณะนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่ซึ่งพระองค์กำลังจะเสด็จไปอยู่นี้ กล่าวคือทางยอดแห่งพุ่มไม้อยู่ลิบ ๆ เบื้องพระพักตร์โพ้น เป็นป่ามะม่วงที่หมอชีวกแพทย์หลวงของพระเจ้าพิมพิสารอุทิศถวายเป็นที่ประทับของตถาคต



ขอขอบคุณภาพจากwww.manager.co.th

ณ ป่ามะม่วงนี้ พระตถาคตตรัสให้พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากนำพระสาวกประมาณ ๒๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน ด้วยพระองค์มีพระพุทธประสงค์จะแสวงหาความวิเวกในวันนั้น แล้วจึงจะเสด็จดำเนินตามไปภายหลัง
พระองค์ทรงทราบอยู่ว่ายังมีพระภิกษุหมู่หนึ่งจากเบื้องตะวันตก มีพระสารีบุตรอัครสาวกเป็นประธานก็จะมาสู่ป่ามะม่วงในเวลาเย็นวันนั้น ด้วยโดยเหตุที่มีพระพุทธประสงค์ปวิเวกธรรม จึงตั้งพระหฤทัยจะไม่เสด็จกลับไปให้ถึงป่ามะม่วงในเย็นวันนั้น จะทรงแสวงหาที่แรมในชั่วราตรีตามละแวกบ้านแถวนั้นก่อน



ขอขอบคุณภาพจากwww.manager.co.th

ระหว่างนั้นขอบฟ้าทางเบื้องตะวันตกเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีดำหลัวขมุกขมัวลง ภูมิประเทศโดยรอบมืดตามลงทุกที ค้างคาวที่เกี่ยวเกาะบนต้นรังเห็นดำถมึนทึน ตกใจด้วยเสียงฝีเท้าคนเดินมา ก็ปล่อยเท้าที่เกาะแล้วกางปีกบินถลาร้องเสียงแหลมหายไปทางสวนผลไม้ในแถวนั้น เมื่อพระตถาคตเสด็จบทจรมา กว่าจะถึงละแวกพระนครก็มืดค่ำลงแล้วด้วยประการฉะนี้

พระตถาคตทรงผ่านบ้านแรก ทอดพระเนตรเห็นข่ายดักนกห้อยอยู่บนกิ่งไม้ จึงเสด็จผ่านเลยไป เพราะเป็นบ้านของพรานนก อีกนานจึงทรงพบบ้านอีกหลังก็ทรงได้ยินเสียงหญิงสองคนผู้เป็นภริยาพราหมณ์เจ้าของบ้านกำลังทะเลาะวิวาทด่าทอกัน จึงทรงเสด็จพุทธดำเนินต่อไป

บ้านหลังต่อมามีงานเลี้ยงดูกันสนุกสนานเฮอา เสียงตบมือกระทืบเท้ากันโครมคราม มีเสียงพิณไม่ขาดสาย หญิงงามนางหนึ่งทรงพัสตราภรณ์แพรล้วน คอสวมมาลัยมะลิพวง ยืนพิงอยู่กับเสาประตู นางแย้มไรฟันอันแดงด้วยหมากเคี้ยวยิ้มหัวเราะร่าอัญเชิญผู้เดินทางคือพระตถาคตให้เสด็จเข้าไปในบ้าน แต่พระตถาคตเจ้าเสด็จผ่านเลยบ้านนั้นไปเสีย ทรงระลึกถึงถ้อยคำของพระองค์ที่เคยตรัสคือ

"ถ้าจะดูโศกาดูรในหมู่สงฆ์ก็ในการร้องขับทำเพลง ถ้าจะดูความบ้าในหมู่สงฆ์ก็ในการเต้นรำ ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ในอาการยิงฟันหัวเราะ "

บ้านที่อยู่ถัดไปไม่สู้ไกลนักแต่ได้ยินเสียงพิณและเสียงร่าเริงล่องมาตามลมได้แต่ไกล
พระองค์จึงผ่านอีกบ้านหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นชายสองคนกำลังชำแหละโคซึ่งเพิ่งฆ่าใหม่ ๆ ในตอนเย็นวันนั้น ก็ เสด็จเลยบ้านผู้ขายเนื้อโคไป


บ้านหลังถัดไปตรงลานหน้าบ้านมีหม้อและชามดินเพิ่งปั้นเสร็จใหม่ ๆ วางอยู่เรียงราย อันเป็นการงานแห่งเจ้าของบ้านที่พากเพียรลงแรงทำเป็นสัมมาอาชีพ ได้ ในวันนั้นเครื่องปั้นหม้อยังคงวางอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ ขณะนั้นกุมภการช่างปั้นหม้อกำลังเอาชามดินดิบออกจากเครื่องปั้นขนเอามาวางเรียงรายไว้



ขอขอบคุณภาพจาก www.oknation.net



ขอขอบคุณภาพจากwww.thaitripdd.com

พระองค์เสด็จเข้าไปหาชายปั้นหม้อแล้วตรัสว่า
" ดูก่อนท่านผู้เผ่าภคะ ตถาคตจะขออาศัยพักแรมคืนที่ห้องโถงในบ้านท่าน จะมีข้อขัดข้องอย่างไรบ้างหรือไม่"

ชายปั้นหม้อตอบว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่มีข้อขัดข้องอย่างไรเลย แต่ทว่าในขณะนี้มีอาคันตุกะได้รับความเมื่อยล้าเพราะเดินทางไกลมาขออาศัยแรมคืนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีความรังเกียจก็เชิญท่านผู้เจริญเถิด "

พระตถาคตทรงรำพึงว่า "แท้จริงความวิเวกเป็นสหายอันวิเศษกว่าสหายอื่น ๆ , แต่อาคันตุกะที่มาพักอยู่ก่อนเดินทางเมื่อยล้ามาอย่างเรา ได้ผ่านเลยบ้านแห่งชนที่ประกอบมิจฉาอาชีพและไม่บริสุทธิ์จนถึงบ้านชายปั้นหม้อจึงได้หยุดขออาศัย คนเห็นปานนี้เราอาจร่วมสมาคมแรมคืนอยู่ด้วยกันได้ "

ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปในห้องโถง ทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นผู้ดีมีตระกูลนั่งอยู่บนเสื่อมุมห้อง

พระตถาคตตรัสปราศรัยด้วยว่า "ดูก่อนอาคันตุกะ ถ้าท่านไม่รังเกียจ ตถาคตจะขออาศัยแรมราตรีในห้องโถงนี้ "

ชายคนนั้นตอบว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เชิญท่านตามความพอใจเถิด เพราะห้องโถงของกุมภการกว้างขวางพอ"


พระตถาคตเจ้าทรงลาดพระนิสิทนสันถัดลงใกล้ฝาลดองค์ลงประทับ ด้วยสมาธิบัลลังก์มีพระกายตั้งตรง ดำรงพระสติสัมปชัญญะสงบนิ่งตลอดยามต้นแห่งราตรีนั้น ส่วนชายหนุ่มก็นั่งนิ่งอยู่ตลอดยามต้นเช่นกัน





ขอขอบคุณภาพจากwww.oknation.net

ต่อมาพระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มมีอาการสงบนิ่งเข่นนั้นก็ทรงรำพึงว่า "กุลบุตรผู้นี้เป็นผู้แสวงหาโมกขธรรมกระมังหนอ ? อันควรเราถามดู"
ทรงจินตนาการดังนี้ แล้วหันพระพักตร์ไปทางชายหนุ่มแย้มพระโอษฐ์ตรัสถามว่า
"ดูก่อน อาคันตุกะท่านมาถือเพศเป็นผู้ละเคหสถานเพราะเหตุเป็นไฉน"
ชายหนุ่มตอบว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เวลานี้ยังไม่ดึกนักถ้าท่านไม่รังเกียจ ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงเหตุที่ข้าพเจ้าละเคหสถานมาถือเพศเป็นดังนี้"

พระพุทธเจ้าประทานพระอนุญาต โดยพระศิรวิญญัติในอาการอันเป็นมิตรภาพ ชายหนุ่มจึงเริ่มเล่าเรื่องของตนต่อไปนี้.

บทประพันธ์ (กวีนิพนธ์)โดยเสฐียรโกเศศ -นาคะประทีป

มาถึงตรงนี้แล้ว แทบทุกคนคงจะทราบแล้วว่าชายหนุ่มผู้เป็นอาคันตุกะของชายปั้นหม้อ ก่อนหน้าที่พระพุทธองค์เสด็จมา คือผู้ใดกัน ทุกคนคงร้องอ๋ออยู่ในใจกันแล้วกระมัง




คำอธิบาย และคำศัพท์

เบญจคีรีนคร-เมืองภูเขาห้าลูกหมายถึงนครราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ อันประกอบด้วย คิชฌกูฏ อิสีคิลิ เวภาระ เวปุลละ และกาฬกูฏ
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ หากเป็นพระสูตรที่พระอานนท์เล่าจะขึ้นต้นบทพระสูตร
เอ วันเม สุตัง, ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า.....
หากแต่นวนิยายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องนี้มิได้ปรากฏในพระสูตร พระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่ ผู้เขียน (ผู้ประพันธ์ฉ) ได้เขียนเรียบเรียงเรื่องตามความคิดของตนเอง ได้อาศัยเรื่องราวในพระสูตรเล็ก ๆ น้อย ๆ มาผูกเป็นเรื่องราว

คาม -บ้าน หมู่บ้าน
นิคม-ตำบล หมู่บ้านใหญ่
ชนบท -ตำบลนอกเมือง ในหนังสือพุทธประวัติของกรมพระยาวชิรญาณวโรรส หมายถึงแว่นแคว้นซึ่งมีเมืองหลวงเช่น ชนบทวัชชี มีเมืองหลวงชื่อเวสาลี
สาลีเกษตร- ทุ่งข้าว ท้องนา
ทวารบถ-ประตู - ทางเข้าออก
บุษยราค -พลอยสีเหลือง
บัณฑรวรรณ - สีขาว หมายถึงพลอยขาว
โกเมน-พลอยสีแดงเข้ม
ยุคล-คู่
โสมนัสอินทรีย์-รู้สึกยินดี
สัตตบรรณ -หมายถึงถ้าที่เขาเวภาระที่พระพุทธองค์เคยประทับ และหมายถึงพรรณไม้ชนิดหนึ่งหรือที่เรียกว่าต้นตีนเป็ด
ศิวโมกษ์ -ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
อิฏฐารมณ์ -ความพึงพอใจ มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
ศากยชนบท -แคว้นแห่งพวกศากยะ คือวงศ์ของพระพุทธเจ้ามีบ้านเมืองอยู่ตอนภาคเหนือของอินเดีย
บุพพัณหเวลา-เวลาเช้า
เวไนยสัตว์ -สัตว์อันพึงสั่งสอนได้
จิรกาลาวสาน-ยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด
สีหดำเนิน- มีท่าเดินอย่างราชสีห์
ปวิเวกธนรรม-ความสงบสงัด
กุมภการ-ช่างปั้นหม้อ ท่านผู้เผ่าภคะ -ท่านผูเจริญ (ภคะ-สมบัติ ความเจริญ ความดี)
นิสีทนสันถัต-เครื่องปูลาด ที่รองนั่ง ใช้สำหรับเครื่องปูลาดของพระพุทธเจ้า
สมาธิบัลลังก์ -นั่งขัดสมาธิอย่างท่าพระพุทธรูป
โมกษธรรม-ความรู้อันเป็นทางหลุดพ้น ความรู้อันเป็นทางไปสู่พระนิพพาน
ศิรวิญญัติ-การให้รู้ด้วยศรีษะ การพยักหน้า (แสดงว่ายินยอม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น