วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๒๘ แม่น้ำคงคา
ก่อนอำลาเมืองพาราณสีแห่งแคว้นกาสี หากไม่กล่าวถึงแม่น้ำคงคาก็คงจะอำลาเมืองนี้ไปไม่ได้
ในbangkrod.blogspot.com ของพลอยโพยมนี้ มีเรื่องราวอันกล่าวถึงแม่น้ำคงคาไว้หลายครั้งแล้วเช่น
คงคา... พระแม่เจ้าแห่งสายน้ำ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
อากาศคงคา เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔
คงคาสวรรค์ เมื่อวันที่ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
คงคาเทวี ...เทพีแห่งสายน้ำ.. เมื่อ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๕๔
ต้นน้ำของแม่น้ำคงคาเกิดบนเทือกเขาหิมาลัย ในคัมภีร์ปุรณะกล่าวว่าน้ำพระคงคาไหลพุ่งออกมาจาก โคมุข หรือปากวัว ซึ่งถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นบันไดขั้นแรกที่พระศิวะเสด็จจากบัลลังก์บนยอดเขาไกรลาศ แล้วไหลลงมาตามช่องเขาสู่ที่ลาดสูงแห่งหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าคงคาทรี ซึ่งชาวฮินดูถือว่าเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วไหลผ่านมายังเมืองพาราณสี
ณ เมืองพาราณสีนี้ บรรดาชาวฮินดูต้องมานมัสการสถานที่สำคัญ ๕ แห่งริมน้ำ เรียกว่าปัญจตีรถะ เฉพาะที่เป็นท่าน่ำ ได้แก่ท่าน้ำ ทั้ง ๔
อันได้แก่
๑. ท่าทศวเมธ
๒. ท่าปัญจคงคา
๓. ท่ามณิกรรณิการ์
๔. ท่าอสีสังคม
ตีรถะ หมายถึง
[ตี-ระ-ถะ] (สก. ตีรฺถ; มค. ติตฺถ) น. ท่าน้ำ, ฝั่งน้ำ
แม่น้ำคงคาตรงเมืองพาราณสีนี้ ไหลกลับขึ้นไปทางทิศเหนือ นับว่าแปลกกว่าที่อื่น ๆ ในคัมภีมหาภารตะจึงสร้างความสำคัญขึ้นว่า ตรงนี้เป็นที่ซึ่งเทวโลก มนุสสโลก ยมโลก มาพบกัน ผู้ใดมาอดอาหารที่นี่หนึ่งเดือน และอาบน้ำตรงนี้ ผู้นั้นจะมองเห็นเทวดาทั้งหลาย
อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่า สตรีอินเดียในพุทธกาล ผู้ทรงคุณวิทยา ผู้ที่มีความรู้เสาะหาสามี บิดามารดา ส่วนมากสอนให้ลูกสาวเรียนปรัชญา แล้วอนุญาตให้ผู้หญิงหาชายที่มีความรู้มาอาบน้ำริมฝั่งคงคา เมื่อประฝีปากกับชายใด พอใจแล้วก็อนุญาตให้แต่งงานกับชายผู้นั้นได้
ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสีปัจจุบันจะมีชาวอินเดียที่เรียกตนเองว่า คงคาบุตร เป็นที่จัดพิธีให้คำแนะนำพวกที่มาอาบน้ำและเป็นที่ขายของเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นสำหรับบูชาเทพเจ้า ที่ท่่าน้ำมีเรือรับจ้างรับนักท่องเที่ยว ในตอนเช้ามีชาวอินเดียมาอาบน้ำ สวดมนต์ บูชาพระอาทิตย์ ดื่มกินน้ำในแม่น้ำคงคา มีพิธีลอยบาป เป็นเช่นนี้นับเป็นพัน ๆ ปี และคงจะมีต่อไปจนกว่าแม่น้ำคงคาจะเหือดแห้งไป
พาราณสียามเช้า ถนนที่ตัดเข้าสู่แม่น้ำคงคา จะไม่อนุญาตให้รถบัสใหญ่เข้ามา เพราะถนนเป็นทั้งสำหรับวัวนอน คนนอนมากหลาย ในยามที่ร้านรวงยังไม่เปิดขายของ ก็จะมีคนหามศพพันผ้าขาวขึ้นแคร่ไม้ไผ่ มีญาติมิตรเดินตสามศพ แต่งกายธรรมดา แล้วแต่ละบุคคลไม่มีพิธีรีตรองว่าใช้สีอะไรเป็นสีไว้ทุกข์ มีเสียงร้องพร้อม ๆ กันว่า " รานะนามะสัตยาไฮ " แปลว่าพระนามของพระเจ้าเท่านั้นเป็นของเที่ยง นอกนั้นตายเกลี้ยงไม่เหลือหรอ คนตายที่เมืองนี้ไม่จำเป็นต้องใช้โลงศพ พอรู้แน่ว่าตายแน่ก็มัดตราสังข์ศพพันผ้าขาว ยกขึ้นแคร่หามไปริมฝั่งแม่น้ำคงคาเผาศพกันเลย
ท่าน้ำทศวเมธ เป็นศูนย์กลางแห่งท่าน้ำทั้งหลาย มีประวัติเล่ากันว่า พระพรหมทำพิธีบูชายัณด้วยม้า ๑๐ ตัวที่นี่ จึงเป็นที่มาของชื่อ ทศวเมธ บางตำนานกล่าวว่า คราวเมื่อพระศิวะทะเลาะกับพระพรหมแล้วตัดศรีษะพระพรหมมาศรีษะหนึ่ง ศรีษะนั้นมาตกที่บริเวณนี้และอันตรธานไป เมืองพาราณสีจึงเป็นเมืองของพระฮินดู คือที่ประทับของพระศิวะ ชาวฮินดูจากสารทิศพยายามมาที่นี้ เพราะถ้ามาตายที่เมืองนี้แล้วก็จะได้ไปสวรรค์
ที่ท่าทศวเมธนี้ แม้แต่ท่านมหาตมคานธีเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ก็มาที่เมืองพาราณสีหลายครั้ง และในตอนเช้าเย็นท่านจะนำฝูงชนมาสวดมนต์ที่ท่าทศวเมธนี้
ท่าน้ำทศวเมธตามความเชื่อของชาวฮินดู เป็นท่านที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญ ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพรหมมาทำพิธีทศวเมธที่นี่
ท่ามณิกรรณิการ์ฆาต
ท่าน้ำนี้นับว่าศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดในบรรดาท่าน้ำของคงคาสวรรค์ โดยเฉพาะการเผาศพ ในคัมภีร์ปุราณะ กล่าวไว้ว่า พระศิวะเสด็จมาที่นี้และต่างหูของพระองค์ข้างหนึ่งหลุดลงที่นี้ ณ ที่ตรงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า "มณิกรรณิการ์" ตามชื่อของต่างหูนั้น ท่าน้ำนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในบรรดาท่าน้ำทั้งหลายทุกคนต้องการให้ซากศพของตนได้มาเผาที่นี่ และทุกคนก็พยายามมาอาบน้ำที่ท่าน้ำนี้ เป็นภาพที่ปรากฏมาเนิ่นนาน เป็นสถานที่คนเป็นมาอาบน้ำและคนตายถูกมาเผาศพในที่เดียวกัน
เพลิงไฟที่จุดๆไว้ ๔,๐๐๐ ปี ไม่เคยดับ ศพหามกันมาไม่เคยหยุด เมื่อกองไฟกองหนึ่งมอดดับลง ญาติผู้ตายก็จะระบายกองกระดูกและเถ้าถ่านลงสู่แม่น้ำคงคา ศพใหม่ก็มาแทนที่ ขนฟืนดุ้นใหญ่ ๆ ออกมาวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทรงสี่เหลี่ยม เมื่อสูงพอสมควรก็หามศพลงมาจากแคร่ บางศพยังสดมาก เมื่อถูกหิ้วตัวยังงอได้ ศพนั้นถูกวางลงบนกองฟืนที่เรียงไว้ แล้วใช้ฟืนที่เหลือวางสุมลงไปที่บนตัวศพ เสร็จแล้วเอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟขึ้น ญาติทั้งหลายจะมารอบกองฟืนที่ลุกโพลง หลั่งน้ำตาอาลัยอย่างสุดซึ้งกับศพนั้น สมัยใหม่นี้รัฐบาลอินเดีย ห้ามมิให้ภรรยาผู้ตายกระโดดเข้ากองไฟตามตามสามี ซึ่งเมื่อสมัยก่อนนั้น จะเห็นภาพภรรยากระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี
ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาจะมีพระราชวังที่ใหญ่โตของราชาแห่งแคว้นกาสีคือ พระราชวังของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีเองและราชาต่างเมือง อีกหลายองค์ที่มาสร้างปราสาทไว้ริมฝั่งแม่น้ำคงคา พระอาจารย์เล่าพระเจ้าพรหมทัตองค์สุดท้ายแห่งกรุงพาราณสี เพิ่งสวรรคตไปไม่กี่ปีนี้เองและปัจจุบันนี้ก็ไม่มีพระเจ้าพรหมทัตอีกแล้ว ฟังแล้วช่างน่าเศร้าใจจริง ๆ ที่ความรุ่งเรืองแห่งแคว้นพาราณสีที่มักเอ่ยถึงควบคู่กับพระเจ้าพรหมทัต เหลือเพียงตำนานเล่าขาน
เหลือให้เห็นเพียงปราสาทร้างหลายปราสาท และอาคารที่ดัดแปลงเป็นอาคารที่พัก สำหรับผู้มารอรับความสุขจากการบูชาพระอาทิตย์และอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ยามพระอาทอตย์ส่องฟ้า และผู้มารอรับความตาย บูชาพระอัคนี ที่พักที่เรียงรายกันอยู่นี้เรียกว่า MOrana Hotel
สุริยะนมัสการ
อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา หิสวฺาวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
คํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ คยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ
บทสวดปริตร ที่พระพาสวดขณะลอยเรืออยู่กลางแม่น้ำคงคา นำพานักท่องเที่ยวนั่งดูการบูชาพระอาทิตย์ในยามเช้า ในกระแสธารมีดอกดาวเรืองที่บรรจุอยู่ในกระทงใบตองที่ผู้คนในลำเรือ ค่อย ๆ บรรจงวางลงสู่ลำน้ำคงคา เหมือนชีวิตที่ล่องลอยในกระแสน้ำและกระเพื่อมไปตามแรงคลื่น มีเสียงสาธยายมนต์จากเทวาลัยริมฝั่ง มีเสียงสวดมนต์ของชาวพุทธ เคละเคล้าด้วยสียงครวญเพลงของผู้มีดนตรีกาล เสียงเหล่านี้รวมเป็นเสียงสวรรค์อันบรรเลงอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเมืองพาราณสี
เมื่อมองไปที่ที่ริมฝั้งน้ำจะมองเห็นผ้าหลากสีของสรรพมนุษย์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ อมนุษย์ที่มาเข้าคิวรอนั้นหากเเป็นสตรีก็สามารถใช้ผ้าสีตามใจชอบ หากเป็นชายใช้ได้เฉพาะสีขาวเท่านั้น คนตายที่ถูกหามมาเผาบางศพยังไหม้ไฟไม่หมด ก็ถูกเคลื่อนลงสู่แม่น้ำคงคาก็มี
ศพบางประเภทก็ใช้วิธ่ถ่วงศพลงคงคาได้เลย คือ ศพนักบวช ศพเด็ก ศพหญิงสาวพรหมจารี ศพถูกงูกัด ศพถูกฟ้าผ่าเป็นต้น
ในขณะเดียวกัน บางครั้งบางคราอาจพบศพที่ลอยอืดขึ้นมา ระหว่างซากศพเหล่านั้นอาจมีดอกดาวเรืองสีเหลืองอร่ามงามตาบอกกล่าวเล่าความว่า ศพเหล่านั้นคือมนุษย์ที่ตายไปจากโลกนี้แล้ว ส่วนดอกดาวเรืองก็คือดอกไม้ที่ตายไปแล้วจากต้นเช่นกันรอการโรยราเหี่ยวเฉาเน่าเปื่อยรอการกลับกลายเป็นปฐวีธาตุเช่นกัน สรพพสิ่งในโลกนี้มีเพียงธาตุสี่ เท่านั้น คือดิน น้ำ ลม ไฟ สภาพสิ่งที่มองเห้น ไม่ว่าเป็นมนุษย์ ต้น ไม้ ดอกไม้ แม้แต่ลำเรือที่ลอยล่องอยู่นำพาผู้คนให้เที่ยวชมสรรพสิ่งที่เป็นอยู่ชั่วนาตาปีแห่งคงคาวารีนี้ซึ่งท้ายที่สุด ก็ต้องกลับคืนสู่ความเป็นจริง สลายกลายเป็น ปฐวีธาตุ แทรกอยู่กับ อาโปธาตุ
ท่าน้ำเมืองพาราณสีแห่งนี้ เป็นคัมภีร์ที่ห่อหุ้มขาวภารตะด้วยประเพณี วัฒนธรรมที่หยั่งรากยึดแน่นในจิตวิญญาณ ผูกตรึงตราไว้ด้วยความศรัทธายากที่ใคร ๆ หรือความศิวิไลซ์ใด ๆ จากซีกโลกด้านไหน ๆ ก็ตามจะซึมแทรกสอดทะลุเข้ามาในเมืองพาราณสีนี้ได้ แม้แต่สิ่งประเสริฐสุดคือพุทธศาสนาก็ตามที
ชาวพุทธทั้งหลายก็ต้องมารร่วมสืบสานและบอกขานความศรัทธาที่กลางลำน้ำคงคาแห่งนี้ด้วยเช่นกัน เป็นการเพิ่มสีสันให้แม่น้ำคงคา อันเนื่องด้วยมีกษัตริย์ แห่งเมืองพาราณสี องค์หนึ่งได้รื้อสถูป ของชาวพุทธ นำอิฐมาก่อสร้างตลาด และนำพระบรมสารีริกธาตุลอยลงสู่แม่น้ำคงคาแห่งนี้นั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย เนปาลโดย พระราชรัตนรังษี ( ว.ป.วีรยุทฺโธ)
สารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า
ช่วงที่พลอยโพยมไปเยืิอนแม่น้ำคงคา ในเช้ามืดประมาณ ตีห้าครึ่งนั้น ที่ริมฝั่งน้ำก็เริ่มคลาค่ำไปด้วยผู้คน คือบรรดานักจาริกแสวงบุญนั่นเองรสบัสต้องจอดส่งผู้คนที่ด้านนอกและบอกจุดนัดหมายให้กลับมาขึ้นรถที่บริเวณใด เวลา ประมาณเท่าใดและเดินเท้าต่อไปยังท่าน้ำ ร้านรวงยังไม่เปิด ต้องเดินด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะที่พื้นถนนจะมีทั้ง มูลวัว อุจจาระของผู้คนชาวเมืองที่แอบมาวางระเบิดไว้ในยามค่ำคืน ต้องเดินหลบซ้ายหลบขวามส่งเสียงบอกดกันต่อ ๆ ว่า ระวัง ระวัง ที่ท่าน้ำเลอะเทอะไปด้วยเศษขณะ ดอกไม้ และอื่น ๆ ตามขั้นบันไดและชายฝั่ง
ไกด์นำเที่ยวจัดเตรียมกระทงไว้ให้ในลำเรือที่จะพาล่องแม่น้ำเรียบร้อย และแน่นอนว่าดอกไม้ในกระทงก็คือดอกดาวเรืองนั่นเอง บางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการลอยกระทงครั้งนี้พิเศษอย่างไรเข้าใจแต่เพียงว่า ลอยตามประเพณี ของวันลอยลอยกระทง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง เพียงแต่เป็นการลอยตอนเช้า ของ วันแรม ๑ ค่ำ เดือย ๑๒ แทน ซึ่งปกติการลอยกระทงของไทยเราก็ถือว่าเป็นการลอยกระทงบูชาและขอขมาโทษพระแม่คงคาอยู่แล้วเพราะไม่ได้ใส่ใจคำบอกกล่าวของหัวหน้าทัวร์ หรือพระอาจารย์ที่เป็นวิทยากรไว้แต่สำหรับทัวร์ที่พลอยโพยมไปและรถคันที่นั่ง มีพระอาจารย์พระมหาสุวิทย์ ธัมมศิริ เป็นพระอาจารย์วิทยากร ท่านก็บอกกล่าวเล่าเรื่องให้ทราบ ว่าเราไปลอยกระทงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ในแม่น้ำคงคา
พลอยโพยมไม่พบศพลอยอืด พบแต่การเผาศพ ที่มีเปลวเพลิงสีแดง และควันไฟลอยคลุ้ง พระอาจารย์ห้ามว่าอย่าถ่ายรูปพวกนี้ เป็นการไม่ให้เกียรติ แต่หลาย ๆ คนก็แอบถ่ายมา
โดยเฉพาะที่ริมฝั่งน้ำ มีนักบวชมีชื่อ เป็นที่นับถือของขาวเมืองท่านหนึ่งมานอนรอการสิ้นลม ตั้งแต่เมื่อคืน ตำรวจได้เข้ามาเคลียร์พื้นที่ กะว่าจะสิ้นลมตอนเช้ามืด พวกเราก็ไปมุงดู พระอาจารย์ ก็ห้ามไว้ก่อนว่า อย่าถ่ายภาพนักบวชท่านนี้ แต่ก็เหมือนพระอาจารย์ห้ามเพื่อทำหน้าที่ของพระอาจารย์ แต่ใครจะทำตามหรือไม่ทำ ก็เป็นวิจารณญาณของลูกทัวร์ พลอยโพยม ก็อดใจไม่ได้แอบถ่ายภาพมานิดหน่อยไม่ให้พระอาจารย์เห็น เพราะเกรงใจว่าถ้าท่านเห็นแล้วจะนึกตำหนิเราว่าพูดไม่รู้ฟังหรืออย่างไร
เรารอกันนานสิบกว่านาที ก็ได้เห็นบวชท่านนี้ นอนลมหายใจรวยริน บางครั้งก็ทำท่าสะกดกลั้นความเจ็บปวดทุรนทุรายออกอาการกระสับกระสาย เมื่อใช้สมาธิสะกดได้ ก็จะนิ่งเป็นพัก ๆ แต่ก็ ยังเห็นอาการกระสับกระส่ายในจิตให้เรามองเห็น ในวันนั้นทำให้นึกถึงคำสอนของพระอาจารย์ที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน ว่า การทำสมถะนั้น เป็นการตั้งสมาธิแบบหินทับหญ้าเท่านั้น ไม่ได้ขุดรากถอนโคนต้นหญ่้า (คือกิเลศนั่นเอง)
เราไม่ได้รอจนนักบวชท่านนี้สิ้นลมหายใจ ไปต่อหน้าต่อตา เพราะหมดเวลาสำหรับการเยือนแม่น้ำคงคาเสียแล้ว
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น