วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557
พระอานนท์ ๒๒ พระอานนท์นิพพาน
ขอขอบคุณภาพจาก www.trueplookpanya.com
ตลอดเวลาที่รับหน้าที่อุปัฏฐากพระพุทธองค์ พระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทุกหนทุกแห่ง คอยปรนนิบัติอุปัฏฐากพระพุทธองค์มิได้บกพร่อง ด้วยเหตุดังกล่าวพระอานนท์จึงไม่มีเวลาบำเพ็ญธรรม เนื่องจากต้องขวนขวายอยู่กับการอุปัฏฐากพระพุทธองค์นั่นเอง ศักยราชที่ออกบวชพร้อมกัน (ยกเว้นพระเทวทัต) ต่างได้สำเร็จอรหันต์กันทั้งสิ้น ส่วนพระอานนท์ได้สำเร็จมรรคผลเพียงชั้นโสดาเท่านั้น
เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์จึงมีภาระเพิ่มมากขึ้น เหนื่อยทั้งกายและใจ ใจพระอานนท์ว้าวุ่นไม่เป็นส่ำ เมื่อได้ยินพระพุทธองค์ตรัสกับเหล่าพระสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องที่จะทรงปรินิพพาน พระอานนท์ไม่อาจจะอดกลั้นความเสียใจและอาลัยพระพุทธองค์ไว้ได้ พระอานนท์จึงหลบหลีกออกจากที่เฝ้า เข้าไปยังวิหารแห่งหนึ่ง ไปยืนอยู่ข้างบานประตูวิหารใช้มือเหนี่ยวสลักเพชรหรือลิ่มสลักกลอนประตูแล้วร้องไห้ โฮ ๆ พลางรำพันว่า
"ตัวเรา ยังเป็นอริยบุคคลชั้นต่ำ ยังไม่สำเร็จอรหันต์ พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นทั้งพระศาสดาและพระเชษฐาของเราก็จักมาปรินิพพานจากเราไปก่อนเสียแล้ว "
ขอขอบคุณภาพจากwww.chaiwbi.com
พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกพระอานนท์ข้ามาแล้ว ตรัสเตือนให้พระอานนท์คลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า " อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา"
เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๓ เดือน รวมเวลาที่พระอานนท์เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันอยู่นานถึง ๔๒ ปี และท่านได้บรรลุอรหัตผลเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี
เข้าสู่พระนิพพานกลางอากาศ
ภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้เที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แทนองค์พระศาสดา จนชนมายุของท่านล่วงเข้า ๑๒๐ ปี พระอานนท์จึงได้พิจารณาอายุสังขารของท่านพบว่า อายุสังขารของท่านนั้นยังอีก ๗ วันก็จะสูญสิ้นเข้าสู่พระนิพพาน
พระอานนท์จึงพิจารณาว่าท่านจะเข้านิพพาน ณ ที่ใด ก็เห็นว่าท่านจะเข้านิพพานที่ปลายแม่น้ำโรหิณี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ ซึ่งมีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง ๒ ฝ่าย
จากนั้นพระอานนท์จึงได้ลาภิกษุสงฆ์ และชนทั้งหลาย จนครบ ๗ วันแล้ว เชิญญาติทั้งสองฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นเขตเดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ
พระประยูรญาติและประชาชนทั้งหลายที่อยู่ทางฝั่งแม่น้ำโรหิณีทั้งสองฝั่งได้ทราบเข้า จึงพากันไปยังฝั่งแม่น้ำโรหิณี ต่างฝ่ายต่างก็แสดงความจำนง ให้พระอานนท์ ไปนิพพานที่ฝั่งของพวกตนแต่ฝ่ายเดียว โดยอ้างเหตุว่า พระเถระมีอุปการะมากแก่พวกตน แต่อีกฝ่ายไม่ยอมโดยอ้างเหตุผลเช่นเดียวกัน
พระอานนท์เห็นว่าจะเกิดโกลาหลกันขึ้นแน่ หากจะไปนิพพานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงได้เข้าเตโชกสิณเหาะขึ้นบนอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี แสดงธรรมแก่พระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ ทั้งสองฝั่งน้ำ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระอานนท์ได้อธิษฐานให้สารีริกธาตุของท่านแตกออกเป็น ๒ ส่วน ตกลงบนฝั่งแม่น้ำฝั่งละหนึ่งส่วน เพื่อป้องกันมิให้พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทกันเพราะแย่งอัฐิธาตุ
พอขาดคำอธิษฐานเปลวไฟได้ลุกขึ้น เผาผลาญมังสะและโลหิตให้สูญสิ้น ยังเหลือแต่พระอัฐิธาตุสีขาวดังสีเงิน พระอัฐิธาตุที่เหลือจึงแตกออกป็น ๒ ภาค ด้วยกำลังอธิษฐานของพระอานนท์ บรรดาพระประยูรญาติและชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้นต่างก็รองรับพระธาตุไว้ สมดังที่ท่านอธิษฐานไว้ทุกประการ มหาชนได้พากันเศร้าโศกปริเทวนาการดุจแผ่นดินจะถล่มทลาย คล้ายเมื่อกาลที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ฉะนั้น
แล้วพระประยูรญาติและประชาชนทั้งสองฝั่งได้สร้างพระเจดีย์บรรจุไว้เพื่อสักการบูชา ทั้ง ๒ ฟากของแม่น้ำโรหิณี
แต่หลักฐานบางแห่งเล่าความตอนนี้ต่างออกไปว่า
เมื่อท่านทราบวันที่จะนิพพานแน่แล้ว จึงได้ออกเดินทางจากแคว้นมคธ ผ่านไปทางนครเวสาลี เพื่อไปนิพพานที่ฝั่งแม่น้ำโรหิณี
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบข่าวนี้ ก็เสด็จติดตามท่านไป จนถึงฝั่งแม่น้ำโรหิณี พร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก
ข้างฝ่ายพวกเจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีเมื่อทรงทราบข่าวนี้ ก็เสด็จติดตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโรหิณีพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้ทรงพักอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ต่างมุ่งมาดปรารถนาจะได้พระสารีริกธาตุของพระเถระไปบูชาสักการะเฉพาะพวกของตน
พระอานนท์มองเห็นว่าเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลจะเกิดขึ้น จึงได้เข้าเตโชกสิณลอยขึ้นบนอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี แล้วเปลวไฟก็ลุกขึ้นสารีริกธาตุได้แตกออกเป็นสองส่วน ตกลงสู่ฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ๆ ละ๑ ส่วน กษัตริย์และประชาชนทั้งสองฝั่งจึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เพื่อสักการบูชา ณ ฝั่งของตน ๆ ทั้ง ๒ ฟากของแม่น้ำโรหิณี
พระอานนท์ได้ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐากได้เป็นอย่างดียิ่ง จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ๕ ประการ ได้แก่
๑. เป็นพหูสูต (ทรงจำพุทธวจนะได้มากที่สุด)
๒. เป็นผู้มีสติ
๓. เป็นผู้มีคติ (แนวในการจำพุทธวจนะ)
๔. เป็นผู้มีความเพียร
๕. เป็นพุทธอุปัฏฐากผู้เลิศ
ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง ๕ ประการ นับว่าหาได้ยากมาก
ความเป็นพหูสูตรของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา มีการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นอรหันต์ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ ๓ รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา กล่าวคือ
พระมหากัสสปะเถระทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรม
พระอุบาลีเถระทำหน้าที่วิสัชชนาพระวินัย
พระอานนท์เถระทำหน้าที่วิสัชชนาพระธรรม
การเป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ ๘ ทำให้พระอานนท์เป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม
ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย “เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา…..”
อันหมายถึง “ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”
เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว
พระอานนท์ใช้เวลาส่วนมากกับการเดินทางออกเยี่ยมพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ ปลูกสร้างความสามัคคีไว้เพื่อความไพบูลย์ของพระพุทธศาสนา อบรมสั่งสอนประชาชน พุทธบริษัทก็ถือพระอานนท์ว่าเป็นเสมือนตัวแทนพระพุทธองค์ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีที่เพียบพร้อมดีงามของพระอานนท์ ทำให้มีผู้เคารพเลื่อมใสและแสดงตนเป็นศิษย์จำนวนมาก ต่อมาศิษย์ของท่านมีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ คือ พระสัพพกามี พระยสกากัณฑบุตร พระเรวตะ เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.84000.org/one/1/12.html
http://www.kunkroo.com/catalog.php?idp=98
http://www.taradthong.com/content/พระอานนท์
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-anon-04.htm
http://chaiyanann.wordpress.com/การจัดการเรียนรู้-ม-4/พระเจ้าพิมพิสาร/
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น