วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สูกรมัทวะ ๑





สูกรมัทวะคือ อาหารหรือยาบำรุงกึ่งอาหารประเภทโสม ซึ่งเป็นสิ่งนายจุนทกัมมารบุตร อังคาสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ซึ่งนายจุนทะตบแต่งตามรสายนวิธี ด้วยประสงค์ว่า การปรินิพพานจะยังไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต (ถ่ายเป็นเลือด) ใกล้จะนิพพาน

ทำให้บุรพาจารย์ท่านวินิจฉัยว่า สูกรมัทวะ เป็นอาหารหรือยา หรือสิ่งอะไรกันแน่ โดยบุรพาจารย์ท่านวินิจฉัยไว้ ๗ ประการคือ

๑. ปวัตตมังสะ ของสุกรที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง ไม่หนุ่มนัก ไม่แก่นัก. นัยว่า ปวัตมังสะนั้นนุ่มสนิท. อธิบายว่า ให้จัดปวัตตมังสะนั้น ทำให้สุกอย่างดี. ๒. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ก็คำว่า สูกรมัททวะนี้เป็นชื่อ ของข้าวสุกอ่อน ที่จัดปรุงด้วยปัญจโครส (ขีร นมสด ทธิ นมส้ม ฆตํ เนยใส ตกฺตํ เปรียง และโนนีตํ เนยแข็ง)และถั่ว เหมือนของสุกชื่อว่า ควปานะ ขนมผสมน้ำนมโค.

๓. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิธีปรุงรส ชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็สูกรมัททวะนั้นมาในรสายนศาสตร์.
๔. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สูกรมัทวะ ความว่า ไม่ใช่เนื้อสุกร แต่เป็นหน่อไม้ไผ่ ที่พวกสุกรแทะดุน.
๕. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า เห็ด ที่เกิดในถิ่นที่พวกสุกรแทะดุน.
๖. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า บ่อเกิดแห่งรสชนิดหนึ่ง อันได้นามว่า สุกรอ่อน.
๗. อีกพวกหนึ่งเห็นว่า น่าจะเป็นอาหารบำรุงประเภทโสม ซึ่งมีพวกสมุนไพรผสมอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่า สูกรมัทวะ





ในพระไตรปิฎก ฉบับฉลองศิริราชสมบัติ ๖๐ ปี กล่าวไว้ในเชิงอรรถ ว่า สูกรมัทวะ หมายถึง เนื้อสันของสุกรที่เจริญเติบโตอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งกล่าวกันว่า อ่อนนุ่ม และอุดมด้วยไขมัน ได้รับการจัดแจงปรุงรสอย่างดี
มีมติของอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า คำว่า สูกรมัทวะ หมายถึง ชื่อของวิธีปรุงน้ำซุปเบญจโครสผสมด้วยข้าวสุกนุ่ม นอกจากนี้
ยังมีเกจิอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า “ชื่อว่าสูกรมัทวะ ได้แก่วิธีปรุงยาบำรุงกำลัง (รสายนวิธี) ชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงเป็นพิเศษ ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่พึงปรินิพพาน” อนึ่งในสูกรมัทวะนั้น เหล่าเทวดาในมหาทวีปทั้ง ๔ ซึ่งมีทวีปเล็กจำนวน ๒,๐๐๐ ทวีป เป็นบริวาร ต่างพากันใส่โอชารสเข้าไป (นัย ที.ม.อ. ๑๗๒)

สรุปแล้วก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปว่า สูกรมัทวะ คืออะไร แต่เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงต้องฉัน สูกรมัทวะ แล้วเกิดอาการประชวร ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงทราบ หากแต่เป็นกรรมเก่าที่พระองค์เคยสร้างไว้ บุพกรรมที่ทำให้ถ่ายด้วยการลงพระโลหิต การถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ชื่อว่า อติสาระ โรคบิด.



ได้ยินว่าในอดีตกาล
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี เลี้ยงชีพด้วยเวชกรรม. พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อจะเยียวยาบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งผู้ถูกโรคครอบงำจึงปรุงยาแล้วเยียวยา อาศัยความประมาทในการให้ไทยธรรมของบุตรเศรษฐีนั้น จึงให้โอสถอีกขนานหนึ่ง ได้กระทำการถ่ายโดยการสำรอกออก เศรษฐีได้ให้ทรัพย์เป็นอันมาก. ด้วยวิบากของกรรมนั้น พระโพธิสัตว์จึงได้ถูกอาพาธด้วยโรคลงโลหิตครอบงำในภพที่เกิดแล้ว ๆ ในอัตภาพหลังสุดแม้นี้ ในปรินิพพานสมัย จึงได้มีการถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ในขณะที่เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวาย พร้อมกับพระกระยาหารอันมีทิพโอชะที่เทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นใส่ลงไว้.

กำลังช้างแสนโกฏิเชือก ได้ถึงความสิ้นไป. ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไปเพื่อต้องการปรินิพพานในเมืองกุสินารา ประทับนั่งในที่หลายแห่ง กระหายน้ำทรงดื่มน้ำ ทรงถึงเมืองกุสินาราด้วยความลำบากอย่างมหันต์ แล้วเสด็จปรินิพพานในเวลาปัจจุบันสมัยใกล้รุ่ง. แม้เป็นพระพุทธเจ้ากรรมเก่าก็ไม่ละเว้น.

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “เราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาบุตรของเศรษฐี ด้วยวิบากของกรรมนั้น โรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา” จะเห็นได้ว่าแม้เป็นอริยบุคคล ผู้สูงสุดคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังหนีกรรมเก่าไม่พ้น ไม่สามารถแก้กรรมได้ แต่ในปัจจุบันผู้ที่เรียกตนเองว่า ชาวพุทธกลับพยายามที่จะแสวงหาวิธีที่จะหลีกหนีจากกรรม หรือวิธีแก้กรรมกัน ซึ่งถ้ามีวิธีที่ว่าจริงพระพุทธเจ้า คงไม่ต้องรับเวทนาจากกรรมเก่าที่เคยกระทำมาในอดีตชาติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://dhammaweekly.wordpress.com/2011/03/12/สูกรมัทวะ-สิ่งที่นายจุน/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น