วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
สูกรมัททวะ ๒
จากหนังสือ “คุยกันวันพุธ” (ฉบับรวมเล่ม โดยคณะสหายธรรม) กล่าวถึง การอาพาธของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จปรินิพพาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี
: การที่พระองค์เสวยสูกรมัททวะอันเป็นอาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวายอย่างประณีต แล้วทรงอาพาธนั้น เห็นจะไม่ถูกต้องนัก เพราะความจริงนั้นพระองค์ทรงอาพาธหนักมาก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อเสด็จออกจากเมืองเวสาลี เพื่อจะมาปรินิพพานที่เมืองกุสินารา แต่ทรงข่มอาพาธเสียได้ด้วยอำนาจสมาบัติ คือทำให้บรรเทาลง จึงสามารถเสด็จเดินทางไปได้ตามลำดับ
จนกระทั่งมาถึงเมืองปาวาที่นายจุนทะผู้นี้อยู่ ก็นายจุนทะนั้น ท่านเป็นพระโสดาบันในคราวที่พบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก และได้ถวายสวนมะม่วงของตนให้เป็นอารามของสงฆ์ ธรรมดานั้นพระโสดาบันเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น ยากจะหาผู้ใดเสมอ เพราะฉะนั้นนายจุนทะท่านก็จะต้องถวายอาหารที่ประณีตแก่พระพุทธเจ้าแน่นอน จะไม่ถวายอาหารที่เป็นพิษแก่พระพุทธเจ้าเป็นอันขาด
แต่เพราะเทวดาในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ รวมทั้งทวีปน้อยด้วย ได้พากันมาใส่โอชะลงในสูกรมัททวะนั้น จึงยากที่ไฟธาตุของภิกษุอื่นจะย่อยได้ พระพุทธองค์เสวยแล้วจึงรับสั่งให้เอาไปฝังเสีย
ในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรกล่าวไว้ว่า สูกรมัททวะนั้นมิได้เป็นพิษแก่พระองค์ ที่แท้กลับทำให้พระองค์ทรงคลายความอาพาธลง จนสามารถเสด็จต่อไปจนถึงเมืองกุสินาราตามพระประสงค์ได้ เพราะถึงแม้พระองค์จะมิได้เสวยสูกรมัททวะ พระองค์ก็ทรงอาพาธอยู่แล้ว
ด้วยอำนาจของอกุศลกรรมที่ตามมาให้ผล และจะอาพาธหนักกว่านี้อีก หากไม่ได้อาหารของนายจุนทะ แต่เพราะได้อาหารที่ประณีตของนายจุนทะ ทุกขเวทนาจึงเบาบางลงพอที่จะเสด็จต่อไปได้ ก็กรรมที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงอาพาธหนัก จนถึงกับมีพระโลหิตไหลไม่หยุดนั้น พระองค์ตรัสเล่าไว้เองในขุททกนิกาย อปทาน ตอนพุทธาปทานที่ชื่อว่า ปุพพกรรมปิโลติตอนหนึ่งว่า เมื่อก่อนนี้เราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้เศรษฐีบุตรถึงแก่ความตาย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น โรคปักขันธิกาพาธจึงมีแก่เรา เพราะฉะนั้นกรรมจึงเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นจริงๆ เมื่อเขาได้โอกาสให้ผล แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ทรงฤทธิ์ทรงอานุภาพมากอย่างพระพุทธเจ้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=836054
ในพระคัมภีร์มหายาน ได้กล่าวไว้ว่า สูกรมัททวะที่พระองค์ทรงฉันนั้น คือ เห็ดชนิดหนึ่ง จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับฝ่ายมหายาน ส่วนทางเถรวาทนั้น ได้เคยแปลตามๆกันมาว่า เนื้อสุกรอ่อน หรือ เนื้อหมูอ่อน (สูกร = สุกร หรือ หมู, มัททวะ = อ่อน) คัมภีร์ชั้นอรรถกถาและมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกัน
บางมติว่าได้แก่ เห็ดชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้าเป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส บางมติว่าอาจเป็นโอสถ หรือ อาหารที่เป็นยาอย่างหนึ่ง ที่นายจุนทะปรุงขึ้นถวายเพื่อรักษาโรค ด้วยทราบข่าวว่า พระพุทธองค์ได้เคยทรงประชวร และจะทรงปรินิพพานในระยะเวลาอันใกล้นั้น
ข้อสันนิษฐานอื่นของสูกรมัทวะ คือ อาจหมายถึง อาหารอันอ่อนนุ่มหรือโอชะที่หมูชอบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะมีเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งงอกอยู่ใต้ดิน จากโคนไม้ส่วนที่ฝังอยู่ในดิน เรียกกันว่า เห็ดทรัฟเฟิล (Truffle) เห็ดทรัฟเฟิล (Truffle) เป็นเห็ดที่หมูชอบกิน แต่ไม่ใช่หมูจะชอบเท่านั้น คนก็ชอบกินด้วย เพราะมีกลิ่นหอมหวาน ใช้ปรุงอาหารโดยฝานใส่กับอาหาร ทำให้อาหารจานนั้นหอมกลมกล่อมมีรสชาด ถือว่าเป็นอาหารโอชะที่มีค่า (delicacy) และเป็นของที่หาได้ยาก ซึ่งนิยมกันมากโดยเฉพาะในยุโรป.......
ขอขอบคุณที่มา :พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานด้วยโรคอะไร? น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร, ดร.นงนุช ตันไพจิตร, ดร.สุนทร พลามินทร์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น