วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปลากาดำ






กลับมาเรื่องปลาที่พลอยโพยมเคยพบเห็นในวัยเด็กตามลุ่มน้ำบางปะกงที่ตำบลบางกรูด


ปลากาดำ


มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Epalzeorhynchos chrysophekadion เดิมใช้ฃื่อว่า Labeo chrysophekadion


อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)


วงศ์ย่อย Cyprininae




ปลากาดำ ยังมีชื่อที่เรียกแตกต่างออกไปตามภาษาถิ่น เช่น "เพี้ย" ในภาษาเหนือ "อีตู๋" หรือ "อีก่ำ" ในภาษาอีสาน


ลักษณะทั่วไป


 

ปลากาดำเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง


ปลากาดำ มีลำตัวยาว ด้านข้างแบนเล็กน้อย ด้านหลังโค้งสูง ส่วนท้องแบน ปากอยู่ในแนวเดียวกับสันท้อง ยืดหดได้และมีลักษณะแบบปากดูด ริมฝีปากบนและล่างเป็นหยัก มีติ่งเนื้อเป็นฝอยสั้น ๆ เหมือนชายครุยอยู่รวมกันเป็นกระจุกรอบบริเวณปาก มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และสูงมาก ครีบท้องยาวจดตอนต้นของครีบก้น ครีบหางเว้าลึก ครีบสีดำทั้งสิ้น สีของลำตัวมีตั้งแต่ม่วงแก่ไปจนถึงดำเข้ม เกล็ดมีขนาดเล็กมีสีแดงแซมอยู่ในแต่ละเกล็ด


ในปลาวัยอ่อนบริเวณโคนหางมีจุดดำเด่น เมื่อโตขึ้นมาจะจางหาย




นิสัย


เป็นปลามีนิสัยก้าวร้าวชอบระรานปลาตัวอื่นโดยเฉพาะจะใช้ปากไปดูดแทะเนื้อตัวปลาตัวอื่น


ถิ่นอาศัย


พบในแม่น้ำขนาดใหญ่และแหล่งน้ำนิ่งต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระดับน้ำตื้น ๆ และมีพันธุ์ไม้น้ำ ยกเว้นภาคใต้


อาหาร


มักหากินตามพื้นท้องน้ำ โดยการแทะเล็มตะไคร่หรือสาหร่าย พืชน้ำขนาดเล็ก แพลงก์ตอน ซากพืช และตัวอ่อนแมลงน้ำ


ขนาด


มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร


ประโยชน์ ปลากาดำใช้บริโภคโดยการปรุงสด เช่น ลาบหรือน้ำยา เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่มีเนื้อมาก และยังทำเป็นปลาร้าได้อีกด้วย อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม


ปัจจุบันปลากาดำเป็นปลาที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ง่ายในบ่อเลี้ยง


ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย และ ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยโดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์


ปลากาดำเคยมีชุกชุมในลำน้ำบางปะกง รุ่นพี่ ๆ ของพลอยโพยมจะคุ้นเคยดี แต่ตัวพลอยโพยมเองไม่ค่อยคุ้นเคยนักจะจำได้เฉพาะปลาที่ตัวเองชอบกินและจำไม่ได้ว่าเมนูปลากาดำของที่บ้านเอามาทำรายการกับข้าวอะไรกัน


ธรรมดาเมื่อนึกถึงสัตว์ที่ชื่อกาคนก็มักนึกถึงนกอีกาที่ตัวดำกะปิ๊ดกะปี๋มิดหมี ขนาดที่ว่าหากเราจะอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยว่าใครสักคนที่ใจร้ายและเห็นแก่ตัวว่า "ใจดำเหมือนอีกา " ส่วนปลาที่ชื่อว่าปลากาดำนั้น ต้องเรียกให้เต็มยศว่าปลากาดำ เนื่องจากยังมีปลากาแดงอีกพันธุ์หนึ่งซึ่งมีรูปร่างคล้ายปลาทรงเครื่อง และปลากาดำ ซึ่งปลากาแดงนี้ก็มีลำตัวสีดำ แต่ครีบและหางเป็นสีแดง (คล้ายปลาทรงเครื่อง)


และยังมีปลากาดำเผือกอีก ดังภาพข้างล่าง


เมื่อสองปีที่แล้วที่พลอยโพยมไปถ่ายภาพปลาที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพ ฯ ที่บางเขน ในตูู้เลี้ยงปลาตู้หนึ่งมีปลากระมัง 3-4 ตัว ปลากาดำ 2-3 ตัว และมีปลากาดำเผือก พบว่าปลากาดำและปลากาดำเผือก เป็นปลาเกเรจริง ๆ ว่ายฉวัดเฉวียนโฉบเฉี่ยวไปหาปลากระมังบ่อย ๆ แต่ปลากระมังก็หลบทัน บางทีทั้งปลากาดำและปลากาดำเผือกก็ทำท่าราวีกันเองก็มี แต่ในปี พ.ศ. 2555 นี้ เมื่อไปเยี่ยมเยียนบรรดาคุณปลา ปลา ทั้งหลายใหม่ ก็หดหู่ใจในความไม่เที่ยงของสัตว์โลกจริง ๆ จำนวนปลาในหลาย ๆ ตู้ ลดลง บางชนิดก็หายไปเลย เช่นปลาสวายเผือก ก็หายไปไม่มีเหลือในตู้รวมทั้งปลากาดำเผือกด้วย พลอยโพยมใช้เวลาค้นภาพคุณปลากาดำเผือกนานทีเดียวเนื่องจากแต่แรกคิดจะไม่พาดพิงถึงเพราะสมัยเด็ก ๆ ไม่เคยพบเห็นปลากาดำเผือก แต่ก็ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ในคราวที่ไปถ่ายภาพปลากาดำและปลากระมัง ยังจดจำท่าที่ปราดเปรียวเกเรของปลากาดำและปลากาดำเผือกได้ดี



ปลากาดำเผือก



















blogger มีการปรับปรุง blog ใหม่ พลอยโพยมเองยังเรียนรู้การปรับปรุง blog ใหม่ ได้น้อย รวมทั้ง Hard disk ของพลอยโพยมเกิดปัญหา รวมทั้งอาการผิดปกติของนิ้วและข้อมือจากใช้คอมพิวเตอร์มากไปทำให้บทความของพลอยโพยมไม่ค่อยได้ up date ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น