วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๔๐ บุพพกรรมของพระนางสามาวดี



พระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็นพร้อมบริวาร

นอกจากพระนางมาคันทิยามีความโกรธแค้นต่อพระบรมศาสดาที่ตรัสบอกบิดามารดาของพระนางว่า “นางมีร่างกายเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสแม้ด้วยเท้า” แล้ว พระนางมาคันทิยา ยังริษยาพระนางสามาวดี ที่เป็นพระมเหสีคู่แข่ง โดยเฉพาะเมื่อพระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธองค์ ยิ่งทำให้พระนางมาคันทิยาเพิิ่มความริษยาพระนางสามาวดี ถึงขั้นคิดประหารพระนางสามาวดี โดยวางแผนเผาพระนางสามาวดีและบริวารทั้งเป็น

วันหนึ่งขณะที่พระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสราชอุทยาน พระนางมาคันทิยาสั่งคนรับใช้ให้เอาผ้าชุบน้ำมันแล้วนำไปพันที่เสาทุกต้นในปราสาทของพระนางสามาวดี พูดเกลี้ยกล่อมให้พระนางและบริวารเข้าไปรวมอยู่ในห้องเดียวกันแล้วจึงลั่นกลอนข้างนอกแล้วจุดไฟเผาพร้อมทั้งปราสาท



ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.palungjit.org

พระนางสามาวดี ขณะเมื่อไฟกำลังลุกลามเข้ามาใกล้ตัวอยู่นั้น มีสติมั่นคงไม่หวั่นไหว ให้โอวาทแก่หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ คน
ให้เจริญเมตตาไปยังบุคคลทั่ว ๆ ไปแม้ในพระนางมาคันทิยา ให้ทุกคนมีสติ ไม่ประมาท ให้มีจิตตั้งมั่นมนสิการในเวทนาปริคคหกัมมัฏฐานอย่างมั่นคง (กำหนดเวทนาเป็นอารมณ์) บางพวกได้บรรลุสกทาคามี บางพวกบรรลุอนาคามี ก่อนที่จะถูกไฟเผาผลาญกระทำกาละแล้ว ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกันทั้งหมด

พระเจ้าอุเทนทรงรู้สึกสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่พระนางสามาวดี ประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้ ทรงมีพระดำริว่า ถ้าจะคุกคามถามพระนางมาคันทิยาก็คงจะไม่ยอมรับ จึงออกอุบายตรัสปราศรัยกับอำมาตย์ทั้งหลายว่า:-
“ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้เราจะลุกจะนั่งจะไปในที่ใด ๆ ก็หวาดระแวงสงสัยกลัวภัยอยู่รอบข้าง ด้วยพระนางสามาวดีคิดประทุษร้ายต่อเราเป็นนิตย์ บัดนี้พระนางตายแล้ว เรารู้สึกสบายใจไม่ต้องหวาดระแวงอีกแล้ว และการกระทำอันนี้ก็คงเป็นการกระทำของคนที่รักและห่วงใยในตัวเรา ปรารถนาดีต่อเราอย่างแน่นอน”

พระนางมาคันทิยา ประทับอยู่ในที่นั้นด้วย เมื่อได้ยินพระดำรัสนั้นแล้วจึงกราบทูลว่าเป็นการสั่งการให้อาของพระนางกระทำเอง
พระเจ้าอุเทนจึงตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้มีความรักในเรา เสมอกับเจ้านี้ไม่มีอีกแล้ว เราจะให้พรแก่เธอ ขอให้เธอจงเรียกญาติของเธอมารับพรจากเราเถิด”

พระเจ้าอุเทนพระราชทานสิ่งของรางวัลอันมีค่า แก่บรรดาญาติ ๆ ของพระนางมาคันทิยาผู้มาถึงก่อน แม้คนอื่นพอทราบข่าวก็ติดสินบนขอเป็นญาติกับพระนางมาคันทิยา มาขอรับรางวัลด้วย พร้อมกับมีรับสั่งให้จับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดให้ขุดหลุมลึกเพียงเอวที่พระลานหลวง ให้คนคนเหล่านั้นทั้งหมดนั่งลงในหลุม กลบด้วยฟางข้าวคลุมปิดข้างบน จุดไฟเผาทั้งเป็นแล้วใช้ไถเหล็กไถซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จนหาชิ้นดีไม่ได้ ส่วนพระนางมาคันทิยาผู้เป็นต้นเหตุ พระองค์รับสั่งให้เฉือนเนื้อของพระนาง นำไปทอดน้ำมันเดือดแล้วนำมาให้พระนางเคี้ยวกินเนื้อของพระนางเอง ทรงกระทำอย่างนี้ จนกระทั่งพระนางสิ้นพระชนม์ไปบังเกิดในทุคติ ซึ่งกล่าวได้ว่าพระนางได้รับผลแห่งกรรมในอัตภาพนี้เหมาะสมแล้ว


ส่วนพระนางสามาวดี ผู้มีปกติอยู่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตาวิหาร) ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้อยู่ด้วยเมตตา

พระภิกษุเหล่านั้นทูลถามถึงกรรมอันหญิงเหล่านั้นทำไว้ในกาลก่อน พระพุทธองค์จึงตรัสถึงบุพพกรรมของพระนางสามาวดีว่า

ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมหัตครองราชย์สมบัติในกรุงพาราณสี ได้ถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์เป็นประจำ และพระนางสามาวดีกับหญิงสหาย ๕๐๐ คน ก็เกิดอยู่ในพระราชนิเวศน์นั้นด้วย ได้ช่วยทำกิจบำรุงเลี้ยงพระปัจเจกพุทธะทั้ง ๘ นั้น ต่อมาพระปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งได้ปลีกตัวไปเข้าฌานสมาบัติในดงหญ้าริมแม่น้ำ
ส่วนพระเจ้าพรหมทัตทรงพาหญิงเหล่านี้ไปอาบน้ำในแม่น้ำ ขึ้นจากน้ำแล้วถูกความหนาวเย็นบีบคั้นใคร่จะผิงไฟ เห็นบริเวณหนึ่งรกไปด้วยหญ้า จึงยืนล้อมก่อกองไฟ เข้าใจว่าเป็นกองหญ้า เมื่อหญ้าไหม้ไฟแล้วยุบลง จึงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ พวกนางกลัวความผิด จึงช่วยกันจุดไฟเผาซ้ำ ด้วยความจงใจให้ไหม้หมด เพราะกรรมนี้นางและบริวารจึงถูกไฟคลอก

ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นออกจากสมาบัติในวันที่ ๗ ได้ลุกขึ้นไปตามสบาย เพราะว่าแม้จะนำฟืน ๑,๐๐๐ เล่มเกวียนมาสุม ก็มิอาจทำให้พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เข้าสมาบัติอยู่ รู้สึกแม้เพียงแต่อุ่นได้

ส่วนหญิงเหล่านั้นเมื่อตายแล้วถูกไหม้ในนรกหลายพันปี พ้นจากนรกแล้วถูกเผาอย่างนี้อีก ๑๐๐ ชาติ นี้เป็นผลกรรมของพระนางสามาวดีกับหญิงสหาย





พระพุทธองค์ตรัสบุพพกรรมของพระนางสามาวดีจบแล้วตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย พระนางมาคันทิยาตายแล้ว ได้ชื่อว่าตายแล้วทีเดียว ส่วนพระนางสามาวดีแม้ตายแล้วก็ชื่อว่าเป็นอยู่ เพราะว่าผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย"


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามถึงบุพพกรรมของนางขุชชุตตรา ว่าเพราะกรรมใดนางจึงเกิดมาเป็นทาสี มีหลังค่อม แต่เป็นผู้มีปัญญามาก

พระพุทธองค์ตรัสว่าในอดีตชาตินางเคยใช้ภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่งให้หยิบกระเช้าเครื่องประดับให้แก่นาง ในชาตินี้นางจึงเกิดมาเป็นทาสี
ส่วนที่นางหลังค่อมนั้น นางเคยแสดงอาการล้อเลียนพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมีหลังค่อม ด้วยผลกรรมนั้นนางจึงเกิดมาเป็นคนหลังค่อม
ส่วนความที่นางเป็นผู้มีปัญญามากนั้นเพราะนางเคยถวายกำไลงา ๘ วง เพื่อให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ รองบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อนที่พระราชาถวาย นางจึงมีปัญญามาก ดังนี้

ข้อที่นางมิได้ถูกเผาพร้อมพระนางสามาวดีและบริวารในปราสาทนั้น เนื่องจากนางไม่เคยร่วมทำกรรมนั้นกับพระนางสามาวดี จึงทำให้นางมิได้อยู่ในปราสาทขณะเกิดเหตุ หลังจากพระนางสามาวดี
สิ้นพระชนม์แล้วนางก็ได้อุทิศตนแก่พระศาสนา

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญนางขุชขุตตรา ว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งปวงผู้เป็นพหูสูตร

ครั้นออกพรรษาแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับ ณ สีสปาวัน ใกล้กรุงโกสัมพี พระองค์ทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรีนกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า

" ดุก่อนภิกษุทั้งหลาย ใบประดู่ลาย ๒- ๓ ใบ ที่เราถือไว้ในมือ กับใบที่ต้นไหนจะมากกว่ากัน"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ใบประดู่ลายบนต้นมีมากกว่าพระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ครัสว่า
"ภิกษุทั้งหลายอย่างนั้นเหมือนกัน
สิ่่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายยังมีอีกมาก
เพราะสิ่งใดที่ไม่ประกอบด้วยประโยขน์
ไม่เป็นไปเพื่อความหมาย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
ความดับ ความสงบ ความตรัสรู้ พระนิพพาน เราจึงไม่บอก"



"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งไรที่เราบอกแล้วว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค สิ่งนั้นประกอบด้วยประโยขน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความหลุดพ้น และพระนิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงพร่ำบอกเธอทั้งหลายว่า พึงกระทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค"...


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย - เนปาล โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๙ พระนางสามาวดีผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา



ส่วนพระนางสามาวดีและบริวารทั้ง ๕๐๐ นาง แม้จะบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว แต่ก็ไม่ได้ไปสำนักของพระศาสดาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าตามกาลอันสมควร ทั้งนี้เพราะพระเจ้าอุเทนไม่ทรงมีศรัทธา

 แม้จะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ไปเฝ้าและไปถวายบังคมพระพระศาสดา แต่ก็มีความหวั่นเกรงว่าพระเจ้าอุเทนจะไม่ทรงพอพระทัย จึงได้ใช้วิธีเจาะรูกำแพงพระราชวังเอาไว้แอบมองและถวายความเคารพพระศาสดาทุกวัน เมื่อพระองค์เสด็จไปที่บ้านของเศรษฐี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกศรษฐี

พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอายจนหนีไปยังเมืองอื่นได้ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดีและบริวารผู้มีศรัทธาในพระพุทธองค์



ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.palungjit.org/f13/สามาวดี-เอตทัตคะผู้ถูกไฟคลอกก่อนไปสรวงสวรรค์-317950.html

เมื่อพระนางมาคันทิยาทรงทราบว่าพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารเจาะรูกำแพงพระราชวังไว้มองดูและไว้ถวายบังคมพระศาสดา

ดังนั้นพระนางจึงวางแผนแก้แค้นพระศาสดาและแผนทำร้ายพระนางสามาวดีและหญิงข้าราชบริพารที่มีความศรัทธาในพระศาสดา ไปพร้อม ๆ กัน จึงไปกราบทูลฟ้องพระเจ้าอุเทนว่า พระนางสามาวดีและและหญิงข้าราชบริพารเจาะรูกำแพงพระราชวังเอาไว้สำหรับติดต่อกับภายนอก และไม่มีความภักดีต่อพระเจ้าอุเทน

พระเจ้าอุทานได้เสด็จไปทอดพระเนตรรูกำแพงแตามื่อพระนางสามาวดีกราบทูลว่าเจาะไว้สำหรับมองและถวายความเคารพแด่พระศาสดาพระเจ้าอุเทนจึงไม่ทรงพิโรธ
เพียงรับสั่งให้ปิดช่องเหล่านั้นเสีย แล้วให้ทำหน้าต่างมีช่องน้อยไว้ในห้องทั้งปวง ได้ยินว่า หน้าต่างมีช่องน้อยทั้งหลาย เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในครั้งนั้น

พระนางสามาวดีถูกใส่ความเรื่องไก่

พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอายจนหนีไปยังเมืองอื่นได้ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดีและบริวารผู้มีศรัทธาในพระพุทธองค์ โดยส่งข่าวไปบอกแก่อาของตนขอให้ส่งไก่เป็น ที่ยังมีชีวิตมาให้ ๘ ตัว และไก่ตายอีก ๘ ตัว เมื่อได้ไก่มาตามต้องการแล้วจึงเข้ากราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า เป็นไก่ที่มีปุโรหิตส่งมาเป็นบรรณาการ และพระนางสามาวดีมีฝรีมือในการทำแกงไก่ พระเจ้าอุเทนจึงมีรับสั่งให้ส่งไก่ไปให้พระนางสามาวดีจัดการแกงมาถวาย พระนางมาคันทิยา จึงส่งไก่เป็นไปให้ ส่วนพระนางสามาวดีเห็นว่าไก่ยังมีชีวิตอยู่จึงไม่ทำถวาย เพราะว่าตนสมาทานศีล ๘ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์จึงส่งไก่กลับคืนไป

พระนางมาคันทิยา ได้กราบทูลพระเจ้าอุเทนว่าให้รับสั่งว่งไก่ไปให้พระนางสามสวดีอีกครั้งเพื่อนำไปถวายวายแก่พระสมณโคดม
พระเจ้าอุเทนทรงกระทำตามที่พระนางมาคันทิยาแนะนำ แต่คราวนี้พระนางมาคันทิยาได้เปลี่ยนเอาไก่ที่ตายแล้วส่งไปให้ พระนางสามาวดีเห็นว่าเป็นไก่ที่ตายแล้ว และเป็นการแกงเพื่อนำไปถวายพระสมณโคดม จึงช่วยกันรีบจัดการแกงไปถวายด้วยความปีติและศรัทธา



ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.palungjit.org

พระนางมาคันทิยา รู้สึกดีใจที่เหตุการณ์เป็นไปตามแผน จึงกราบทูลยุยงว่า การกระทำของพระนางสามาวดีไม่น่าไว้วางใจดูประหนึ่งว่าเอาใจออกห่างพระองค์ปันใจให้พระสมณโคดม เวลาใช้ให้แกงมาถวายพระองค์ก็ไม่ทำ แต่พอบอกให้แกงไปถวายพระสมณโคดมกลับทำให้อย่างรับด่วน
พระเจ้าอุเทน ได้สดับคำของพระนางมาคันทิยา แล้วทรงอดกลั้นนิ่งเฉยไว้อยู่

พระนางสามาวดีถูกใส่ความเรื่องงูพิษ

ตามปกติ พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระมเหสีทั้ง ๓ คือพระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และ พระนางมาคันทิยา ตามวาระแห่งละ ๗ วัน

ครั้นอีก ๒-๓ วัน จะถึงวาระเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา ได้วางแผนส่งข่าวไปถึงอา ให้ส่งงูพิษที่ถอนเขี้ยวพิษออกแล้วมาให้นางโดยด่วน
เมื่อได้มาแล้วจึงใส่งูเข้าไปในช่องพิณซึ่งพระเจ้าอุเทนทรงเล่นและนำติดพระองค์เป็นประจำแล้วนำช่อดอกไม้ปิดช่องพิณไว้

ก่อนที่พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปยังปราสาทของพระนางสามาวดีนั้น พระนางมาคันทิยาได้ทำทีเป็นกราบทูลทัดทานว่า
“ขอพระองค์ อย่าเสด็จไปเลย เพราะว่าเมื่อคืนนี้ หม่อมฉันฝันไม่เป็นมงคล เกรงว่าพระองค์จะได้รับอันตราย”

เมื่อพระเจ้าอุเทนไม่เชื่อคำทัดทานจึงขอติดตามเสด็จไปด้วย
ขณะที่พระนางสามาวดีและหญิงบริวารปรนนิบัติพระเจ้าอุเทนอยู่ และทรงวางพิณไว้บนพระแท่นบรรทมนั้น พระนางมาคันทิยา ก็ทำเป็นเดินไปเดินมาใกล้ ๆ บริเวณนั้น เมื่อไม่มีใครสังเกตเห็นจึงดึงช่อดอกไม้ที่ปิดช่องพิณออก และงูที่อดอาหารมาหลายวันได้เลื้อยออกมาพ่นพิษแผ่พังพาน

พระเจ้าอุเทนทอดพระเนตรเห็นงูก็ตกพระทัยกลัวมรณภัยจะมาถึง จึงด่าตวาดพระนางสามาวดีที่คิดปลงพระชนม์ และตำหนิพระองค์เองที่ไม่เชื่อคำทัดท่านของพระนางมาคันทิยา ด้วย

เพลิงแห่งความโกรธจึงตัดสินพระทัยประหารชีวิตพระนางสามาวดีและหญิงบริวารด้วยพระองค์เอง





ขอขอบคุณภาพจาก http://board.palungjit.org

พระเจ้าอุเทนทรงยกคันธนูประจำพระองค์ขึ้นสายแล้วพาดลูกศรอาบยาพิษโก่งคันธนูเล็งเป้าไปที่พระนางสามาวดี ซึ่งประทับอยู่ข้างหน้าแห่งหญิงบริวาร ที่ยืนเรียงแถวอยู่

ก่อนที่ลูกศรจะแล่นออกจากคันธนูนั้น พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวารให้เจริญเมตตาจิตให้สม่ำเสมอ ส่งไปให้แก่พระเจ้าอุเทน แก่พระเทวีมาคันทิยา และแก่ตนเอง อย่าถือโทษโกรธต่อใคร ๆ เลย
ครั้นให้โอวาทจบลง หญิงเหล่านั้นก็ปฏิบัติตาม

เมื่อพระเจ้าอุเทนปล่อยลูกศรออกไป แทนที่ลูกศรจะพุ่งเข้าสู่พระอุระพระนางสามาวดี แต่หวนกลับพุ่งเข้าหาพระอุระของพระองค์เสียอง
จึงสะดุ้งตกพระทัยพลางดำริว่า:-
“ธรรมดาลูกศรนี้ย่อมแทงทะลุแม้กระทั่งแผ่นหิน บัดนี้ สิ่งที่เป็นวัตถุที่จะกระทบในอากาศก็ไม่มี เหตุใดลูกศรจึงหวนกลับเข้าหาเรา ลูกศรนี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็ยังรู้จักคุณของพระนางสามาวดี เราเสียอีกแม้เป็นมนุษย์กลับไม่รู้คุณของพระนาง”

 ทันใดนั้น พระเจ้าอุเทนก็ทรงทิ้งคันธนูแล้วประนมหัตถ์ประคองอัญชลี ไหว้พระนางสามาวดี ด้วยความกลัว อ้อนวอนให้พระนางยกโทษให้ ขอเอาพระนางเป็นที่พึ่งตลอดไป
พระนางสามาวดีกราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า "หม่อมฉันมีพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง พระองค์ก็จงถือเอาพระบรมศาสดาเป็นที่พึ่งเถิด "





พระเจ้าอุเทนเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลขอพระพุทธองค์เป็นสรณะ ทรงนิมนต์ถวายทานแก่พระสงฆ์ทั้งสิ้น ๗ วัน แล้วนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป เสด็จรับภัตตาหารและฟังพระธรรรมเทศนาในปราสาทของพระนางสามาวดีเป็นนิตย์

พระบรมศาสดาตรัสว่า
"มหาบพิตร...ธรรมดาการมาสู่ตระกูลเดียวเป็นประจำ ย่อมไม่ควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะมหาชนหวังในพระพุทธเจ้าอยู่ "

พระพุทธองค์จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์พาภิกษุมาสู่ราชสกุลแทน พระเทวีเหล่านั้นพร้อมทั้งบริวารได้อังคาสพระเถระและฟังธรรมอยู่ตลอด

พระนางสามาวดีและหญิงบริวารเหล่านั้น ทำการบูชาพระธรรมด้วยผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืน พระเจ้าอุเทนถามพระอานนท์ว่า "ผ้าอึตราสงค์ที่ถวายไม่มากเกินไปหรือ ท่านจักทำอย่างไรด้วยผ้าจำนวนมากเหล่านี้"
พระอานนท์ตอบว่า "จักถวายผ้าที่เหลือแก่ภิกษุผู้จีวรเก่ากว่า "
พระเจ้าอุเทน ถาามว่า " ภิกษุทำจัวรเก่าของตนให้เป็นอะไร"
พระอานนท์ตอบว่า " เธอจักทำให้เป็นผ้าปูที่นอน "
พระเจ้าอุเทนถามว่า " เธอจักทำผ้าปูที่นอนเก่าให้เป็นอะไร"
พระอานนท์ตอบว่า "เธอจักทำเป็นผ้าปูพื้น"
พระเจ้าอุเทนถามว่า "เธอจักทำผ้าปูพื้นเก่าให้เป็นอะไร"
พระอานนท์ตอบว่า "เธอจักทำเป็นผ้าเช็ดเท้า"
พระเจ้าอุเทนถามว่า "เธอจักทำผ้าเช็ดเท้าเก่าให้เป็นอะไร"
พระอานนท์ตอบว่า "เธอจักโขลกให้ละเอียด ผสมด้วยดินเหนียวแล้วฉาบทาฝา"
พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใส รับสั่งให้นำผ้า ๕๐๐ ผืน ถวายวางไว้แทบบาทมูลของพระอานนท์เถระ
นับแต่นั้นมา พระเจ้าอุเทนทรงมีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีลฟังธรรมร่วมกับพระนาง    สามาวดีตามกาลเวลาและโอกาสอันสมควร



ขอขอบคุณภาพจาก www.kamsai.org

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย - เนปาล โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
http://www.84000.org/one/4/04.html
http://board.palungjit.org

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๘ นางมาคันทิยาผู้อาฆาตพระพุทธองค์

นางมาคันทิยา



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.sookjai.com/index.php?topic=37822.0

นางมาคันทิยา เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อมาคันทิยะและนางพราหมณีมาคันทิยา ในแคว้นกุรุ

เนื่องจากนางมีรูปงามดุจนางเทพอัปสร จึงมีเศรษฐี คฤหบดี ตลอดจนพระราชา จากเมืองต่าง ๆ ส่งสารมาสู่ขอมากมาย แต่บิดามารดาของนางก็ปฏิเสธทั้งหมดด้วย คำว่า “พวกท่านไม่คู่ควรแก่ธิดาของเรา” นางจึงครองความเป็นโสดเรื่อยมา

พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของพราหมณ์สองสามีภรรยา จึงเสด็จมายังแคว้นกุรุ

ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของนางออกไปธุระนอกบ้าน พบพระศาสดาในที่ไม่ไกลจากบ้านของตนนัก เห็นพระลักษณะถูกตาต้องใจและคิดว่า “บุรุษผู้นี้แหละคู่ควรกับลูกสาวของเรา”
 พราหมณ์จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดาให้คอยอยู่ตรงนี้ก่อนตนจะกลับไปบอกนางพราหมณีภรรยาและนำลูกสาวมายกให้

จากนั้นก็รีบกลับไปบ้านแจ้งแก่ภรรยาว่าพบชายผู้คู่ควรกับธิดาแล้ว ขอให้รีบแต่งตัวธิดาแล้วพาออกไปโดยด่วน


ฝ่ายพระบรมศาสดามิได้ประทับอยู่ตรงที่เดิม ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้แล้วเสด็จไปประทับในที่ไม่ไกลจากที่นั้น
สองสามีภรรยาพร้อมด้วยธิดามาคันทิยาเมื่อมาถึงที่นั้น ไม่เห็นพระพุทธองค์ในที่นั้นก็มองหาจนพบรอยพระบาท
พราหมณ์ผู้สามีจึงกล่าวว่า “นี่แหละคือรอยเท้าของชายคนนั้น”
เนื่องจากนางพราหมณีผู้ภรรยามีความเชียวชาญเรื่องมนต์ทำนายลักษณะฝ่าเท้า จึงบอกแก่สามีว่า
“รอยเท้านี้มิใช่รอยเท้าของคนเสพกามคุณ เพราะธรรมดารอยเท้าของคนที่มีราคะ จะมีรอยเท้ากระหย่งคือเว้าตรงกลาง
คนที่มีโทสะ รอยเท้าจะหนักส้น
คนที่มีโมหะ รอยเท้าจะหนักที่ส่วนปลาย
แต่รอยเท้านี้เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส ดังนั้น เจ้าของรอยเท้านี้จะไม่มีความยินดีในกามคุณ”

ฝ่ายพราหมณ์ผู้สามีไม่เชื่อคำนำนายของภรรยา พยายามมองหาจนพบพระบรมศาสดาแล้วกล่าวกับภรรยาว่า “ชายคนนี้แหละเป็นเจ้าของรอยเท้านั้น เป็นผู้ที่คู่ควรกับลูกสาวของเรา” แล้วเข้าไปกราบทูลว่า:-

“ท่านสมณะ ข้าพเจ้าจะยกธิดาให้เป็นคู่ชีวิตแก่ท่าน”
พระผู้มีพระภาค ตรัสห้ามแล้วตรัสต่อไปว่า:- “ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ใหม่ ๆ ธิดามาร ๓ คน คือนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ซึ่งล้วนมีร่างกายเป็นทิพย์สวยงามกว่าธิดาของท่านหลายเท่านัก มาประเล้าประโลมเราที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เรายังไม่สนใจไม่พอใจ เหตุไฉนจะมาพอใจยินดีในลูกสาวของท่านที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ถ้าเท้าของเราเปื้อนฝุ่นธุลีมา และลูกสาวของท่านเป็นผ้าเช็ดเท้า เรายังไม่ปรารถนาจะถูกต้องลูกสาวของท่านแม้ด้วยเท้าเลย”



ขอขอบคุณภาพจากtrang82.wordpress.com

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดสองสามีภรรยาจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

สองสามีภรรยากราบทูลขออุปสมบทปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสองท่าน

ฝ่ายนางมาคันทิยา ได้ยินพระดำรัสของพระศาสดาโดยตลอด รู้สึกโกรธที่พระพุทธองค์ตำหนิประณามว่าร่างกายของนางเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสถูกต้องแม้ด้วยเท้า จึงผูกอาฆาตของเวรต่อพระศาสดา

เมื่อบิดามารดาของนางมาคันทิยาออกบวชหมดแล้ว นางจึงได้ไปอยู่อาศัยกับน้องชายของบิดาผู้เป็นอาชื่อ จูฬมาคันทิยะ

ต่อมาอาของนางคิดว่าหลานสาวผู้มีความงามเป็นเลิศอย่างนี้ ย่อมคู่ควรแก่พระราชาเท่านั้น จึงนำไปถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพี เป็นมเหสีองค์ที่ ๓



ขอขอบคุณภาพจาก

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จมายังเมืองโกสัมพี มีพระอานนท์เถระตามเสด็จมาด้วย พระนางมาคันทิยา ได้โอกาส จึงว่าจ้างทาส กรรรมกร และนักเลงพวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้ติดตามด่าพระพุทธองค์ไปในทุกหนทุกแห่งทั่วทั้งเมืองด้วยคำด่า ๑๐ ประการคือ
เจ้าเป็นโจร
เป็นคนพาล
  เป็นคนบ้า
เป็นอูฐ
เป็นลา
เป็นวัว
เป็นสัตว์นรก
เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
สุคติของเจ้าไม่มี
เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว

พระอานนท์เถระได้ฟังแล้วสุดที่จะทนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอื่น
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า:-
“อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วย่อมไม่เกิน ๗ วัน ก็จะสงบระงับไปเอง”

และพระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนท์ด้วยว่า “อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้างที่เข้าสู่สงคราม การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก 4 ทิศ เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม ฉันใด ชื่อว่าการอดทนถ้อยคำที่ชนทุศีลแม้มากกล่าวแล้ว เป็นภาระของเราฉันนั้นเหมือนกัน” จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สามพระคาถานี้ว่า

อหํ นาโคว สงฺคาเม
จาปาโต ปติตํ สรํ
อติวากฺยํ ติติกฺขิสฺสํ
ทุสฺสีโล หิ พหุชฺชโน ฯ


ทนฺตํ นยนฺติ สมิตึ
ทนฺตํ ราชาภิรูหติ
ทนฺดต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
โยติวากฺยํ ติติกฺขติ ฯ

วรมสฺสตรา ทนฺตา
อาชานียา จ สินฺธวา
กุญฺชรา จ มหานาคา
อตฺตทนฺโต ตโต วรํ ฯ
เราจักอดกลั้นคำล่วงเกิน
เหมือนช้างอดทนลูกศรที่ตกจากแล่งในสงครามฉะนั้น
เพราะชนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล
ชนทั้งหลาย ย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้ว.
บุคคลผู้อดกลั้นคำล่วงเกินได้ ฝึกตนแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐ ในมนุษย์ทั้งหลาย
ม้าอัสดร๑ ม้าสินธพผู้อาชาไนย1๑
ช้างชนิดกุญชร๑ ที่ฝึกแล้ว
ย่อมเป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่บุคคลที่มีตนฝึกแล้ว
ย่อมประเสริฐกว่า(สัตว์พิเศษนั้น)”


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง มหาชนแม้ทั้งหมดนั้น ผู้รับสินจ้างแล้วยืนด่าอยู่ในที่ทั้งหลาย มีถนนและทางแยกเป็นต้น บรรลุโสดาปัตติผล


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

http://www.84000.org/one/4/04.html
http://www.sookjai.com/index.php?topic=37822.0
http://board.palungjit.org

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๗ มนต์หัสดีกัณฑ์







พระเจ้าอุเทน
ขอขอบคุณภาพจากwww.weloveshopping.com

พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี

วันหนึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงเห็นว่าสมบัติของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพีนั้นมีมากมาย จึงคิดจะจับพระเจ้าอุเทน อำมาตย์ได้กราบทูลว่า หากจะจับท้าวเธอให้ได้ ก็ต้องใช่เล่ห์กลเข้าช่วย เพราะท้าวเธอหลงใหลในเรื่องช้าง ทรงร่ายมนต์แล้วดีดพิณหัสดีกัณฑ์อยู่ จะให้ช้างหนีไปก็ได้ จะจับเอาก็ได้ พระองค์โปรดใช้ช่างสร้างช้างยนต์เป็นช้างเผือก แล้วให้คนซ่อนอยู่ภายในท้องช้างนั้นเพื่อบังคับช้างยนต์ จากนั้นก็นำกำลังซุ่มอยู่ข้างทาง เมื่อพระเจ้าอุเทนหลงเข้ามา ก็จะจับตัวได้เป็นแน่แท้

พระเจ้าจัณฑปัชโชต กระทำตามความคิดของเหล่าอำมาตย์ จึงจับพระเจ้าอุเทนได้

พระเจ้าจัณฑปัชโชต รับสั่งให้นำพระเจ้าอุเทนมาควบคุมไว้ในพระราชวังด้วยประสงค์จะเรียนมนต์ ตรัสถามพระเจ้าอุเทนว่า "ทราบว่าท่านมีมนต์ชื่อหัสดีกัณฑ์ สำหรับเรียกช้างท่านจักสอนมนต์บทนั้นให้แก่เราหรือไม่ "

พระเจ้าอุเทนตอบว่า "ได้หากพระองค์จะไหว้ข้าพเจ้าก่อน "
พระเจ้าจัณฑปัชโชตตอบว่า "เราไม่สามารถกระทำได้ "
พระเจ้าอุเทนจึงกล่าวว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าก็มิอาจสอนมนต์นี้แก่ท่านได้"


พระเจ้าจัณฑปัชโชตดำริว่า เราอยากได้มนต์บทนี้แต่ก็มิอาจให้ผู้อื่นรู้มนต์บทนี้ได้ เราจักให้ธิดาของเราเรียนจากพระเจ้าอุเทน แล้วเราจึงจักรับมนต์บทนี้จากธิดาเรา

พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงตรัสกับพระเจ้าอุเทนว่า "ในพระราชวังมีหญิงค่อมคนหนึ่งซึ่งอยากเรียนมนต์บทนี้ แต่มิอาจให้ผู้อื่นเห็นร่างกายของนางได้ ท่านจงยืนอยู่ภายนอกม่านแล้วบอกมนต์แก่หญิงผู้นั่งอยู่หลังม่านนั้น"

พระเจ้าอุเทนตรัสตอบว่า "แม้นางจะเป็นคนพิการก็ตามหากนางไหว้ข้าพเจ้าได้ก็จะให้มนต์นี้ "

พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงเสด็จไปหาพระราชธิดา
ตรัสบอกพระราชธิดาว่า "บัดนี้มีชายโรคเรื้อนผู้หนึ่งรู้มนต์หัสดีกัณฑ์อันหาค่ามิได้ แต่พ่อมิอาจให้ผู้อื่นรู้มนต์นั้น เจ้าจงไปนั่งหลังม่านไหว้แสดงความเคารพชายนั้นแล้วขอเรียนมนต์ชายนั้นจักบอกมนต์แก่เจ้า"


พระราชธิดาทรงรับเป็นผู้ไปเรียนมนต์บทนี้ให้กับพระบิดา


เนื่องจากพระเจ้าจัณฑปัชโชตเกรงคนทั้งสองจักทำสันถวะกันและกัน จึงบอกแก่พระเจ้าอุเทนว่าให้สอนมนต์นี้แก่หญิงต่อมซึ่งอยู่หลังม่าน และตรัสกับพระราชธิดาว่าให้เรียนมนต์จากชายผู้เป็นโรคเรื้อน

แต่วันแล้ววันเล่าพระราชธิดาก็มิอาจจำมนต์หัสดีกัณฑ์นั้นได้
จนในวันหนึ่งพระเจ้าอุเทนกริ้วจัด ตรัสว่า “อีหญิงค่อมจงว่าไปอย่างนี้ “
พระราชธิดาได้ยินก็กริ้วตรัสตอบไปว่า “อ้ายขี้เรื้อน” แล้วทรงยกมุมผ้าม่านที่กั้นบังไว้ขึ้นทันที

พระเจ้าอุเทนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงงามแทนที่จะเป็นหญิงค่อมทรงถามว่า "นางเป็นใคร"
พระราชธิดาก็ทอดพระเนตรเห็หนุ่มรูปงามแทนชายโรคเรื้อนและตรัสตอบว่า
" เราชื่อว่าวาสุลทัตตา เป็นธิดาของพระเจ้าแผ่นดินนี้"


ต่อแต่นั้นมาก็มิได้มีการเรียนมนต์หัสดีกัณฑ์นี้อีก

กาลต่อมาพระเจ้าอุเทนได้พานางวาสุลทัตตาหนีไปจากพระนครอุชเชนี กลับมายังกรุงโกสัมพีและอภิเษกแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีแห่งกรุงโกสัมพีอีกองค์หนึ่ง

ขอขอบคุณข้อทูลจากสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย - เนปาล
โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)





แคว้นอวันตี เป็นแคว้นใหญ่ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของมัชฌิมชนบท มีกรุงอุชเชนีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าจัณฑปัชโชติเป็นผู้ครองนคร ความสำคัญในสมัยพุทธกาล พระเจ้าจัณฑปัชโชติ ได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงอุชเชนี แต่พระพุทธเจ้าได้ส่งพระกัจจายนะมาประกาศศาสนาแทน


พระเจ้าจันฑปัชโชต (Candapajjota) พระเจ้าจันฑปัชโชต หรือ ปรัทโยตะ (Pradyota) ในภาษาสันสกฤตเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์อวันตี (Avaanti Dynasty) โดยมีเมืองหลวงชื่อเมืองอุชเชนี (Ujjeni) หรืออุชชายินี (Ujjayini) ในภาษาสันสกฤต เมืองนี้อยู่ทางตอนกลางของประเทศอินเดีย พระองค์มีนิสัยดุร้ายจนมีคำว่า จัณฑะ (ดุร้าย) นำหน้าทรงเอาแต่ใจตัวเอง มีทรัพย์สมบัติที่มั่นคั่งเมืองหนึ่ง ในสมัยนั้นเป็นมิตรสหายของพระเจ้าปรันตปะแห่งเมืองโกสัมพี ครั้งหนึ่งพระองค์ประชวรอย่างหนัก หมอทั่วราชอาณาจักรเข้ารักษาก็ไม่มีมครรักษาสำเร็จ จนได้หมอชีวกโกมารภัจจ์จากรุงคฤห์มาช่วยรักษาอาการจึงหายเป็นปกติ พระองค์มีพระธิดาที่เลอโฉมนาว่าวาสุลทัตตา หรือ วาสวทัตตา (Vasavadatta)



พระเจ้าอุเทน (Udena or Udayan) พระเจ้าอุเทน(Udena) ในปกรณ์ฝ่ายสันสกฤตเรียกว่า พระเจ้าอุทยัน (Udayan) เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์วัตสะ (Vatsa Dunasty) ทรงปกครอง แคว้นวังสะ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโกสัมพี (Kosambi) หรือเกศัมพี (Kaushambi) ในภาษาสันสกฤต เมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใกล้เมืองอัลลาหบาดหรือประยาคในปัจจุบัน พระบิดานามว่าปรันตปะ

การที่พระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัพพี เรียนรู้มนต์หัสดีกัณฑ์นั้น สืบเนื่องมาจาก



พระเจ้าอุเทนทรงช้างเลียบนครโกสัมพี

ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.indiaindream.com

พระเจ้าอุเทนประสูติในป่าเพราะพระมรดาถูกนกหัสดีลิงค์โฉบไปสู่ป่า แต่ได้รับการช่วยเหลือจากดาบสอัลลกัปปะ พระนางประสูติพระโอรสตอนใกล้รุ่ง จึงตั้งนามว่า อุเทน โดยได้รับการดูแลจากดาบสผู้เป็นพระบิดาเลี้ยง และพระมารดา เจ้าชายอุเทนได้ศึกษามนต์ฝึกช้างจนช่ำชอง และสามารถควบคุมช้างเป็นจำนวนมากได้ด้วยมนต์ที่ศึกษามาและยึดราชบัลลังก์นคร โกสัมพีจนสำเร็จ ด้วยการยกทัพช้างล้อมพระนคร

พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสี ๓ พระองค์ คือ ๑.พระนางสามาวดี ๒.พระนางวาสุลทัตตา ๓. พระนางมาคันทิยา ต่อมาพระมเหสีทั้งสอง คือพระนางสามาวดีก็สิ้นพระชนม์จากการลอบวางเพลิงของพระนางมาคันทิยา ส่วนพระนางมาคันทิยาผู้อิจฉาก็ถูกราชอาญา เพราะทำผิดร้ายแรงด้วยการถูกเผาทั้งเป็นเช่นกัน

ในตำนานฝ่ายเชนกล่าวว่าพระองค์มีพระโอรสพระองค์เดียวจากพระนางวาสวทัตตา คือเจ้าชายโพธิ (Prince Bodhi) ซึ่งต่อมาได้ปกครองราชบัลลังก์โกสัมพีแทนพระบิดา พระเจ้าอุเทนได้หันมานับถือพุทธศาสนาเพราะพระนางสามาวดีพุทธสาวิกาที่มั่นคงพระองค์มีความสนิทสนมกับพระปิณโฑลภารทวาชะมาก จนต่อมาโกสัมพีก็กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ครั้งสมัยพุทธกาลเป็นต้นมา พระอารามใหญ่ ๆ ในเมืองนี้คือ ๑. โฆสิตาราม สร้างโดยโฆสิตเศรษฐี ๒. กุกกุฏาราม สร้างโดย กุกกุฏเศรษฐี และ ๓. ปาวาริการามโดยเศรษฐีปาวริกะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.indiaindream.com/

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๖ พระนางสามาวดีแห่งกรุงโกสัมพี

พระนางสามาวดี





ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.naiin.com

นางสามาวดี เดิมมีชื่อว่าสามา เป็นธิดาของภัททวดีเศรษฐีแห่งเมืองภัททวดีนคร ซึ่งป็น อทิฏฐบุพพสหาย ( สหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน ) กันกับโฆสกเศรษฐี แห่งเมืองโกสัมพี
(ความเป็นอทิฏฐบุพพสหายระหว่างโฆสกเศรษฐีไ และ ภัททวดีเศรษฐี) โฆสกเศรษฐีได้ฟังสมบัติและวัยและประเทศของภัททวติยเศรษฐี ในสำนักของพวกพ่อค้า ซึ่งมาแล้วจากภัททวดีนคร ปรารถนาความเป็นสหายกับเศรษฐีนั้น จึงส่งเครื่องบรรณาการไปแล้ว. แม้ภัททวติยเศรษฐีได้ฟังสมบัติและวัยและประเทศของโฆสกเศรษฐี ในสำนักของพวกพ่อค้า ซึ่งมาแล้วจากกรุงโกสัมพี ปรารถนาความเป็นสหายกับเศรษฐี จึงส่งเครื่องบรรณาการไปแล้ว เศรษฐีทั้งสองนั้นได้เป็นอทิฏฐบุพพสหายกันและกัน ด้วยเหตุอย่างนี้. (http://www.watpaknam.com)

ครั้นต่อมา เกิดโรคระบาดในเมืองภัททวดีนคร เศรษฐีภัททวดี พาภรรยาและ ธิดาอพยพหนีโรคร้ายไปยังเมืองโกสัมพี ทรัพย์สมบัตติที่มีอยู่กระจัดกระจายหมดสิ้น
เมื่อเดินทางมาถึงเมืองโกสัมพีแล้ว ด้วยสภาพร่างกายที่อดอาหารมาหลายวัน อีกทั้งความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล ทำให้ไม่กล้าไปพบสหายด้วยสภาพอย่างนั้น จึงพักอาศัยในศาลาใกล้ ๆ โรงทานของโฆสกเศรษฐีนั้น ตั้งใจว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้วจึงจะเข้าไปหาโฆสกเศรษฐี

วันรุ่งขึ้น นางสามาเข้าไปรับอาหารที่โรงทานของโฆสกเศรษฐี รับอาหารมาจากนายมิตตะคนแบ่งอาหาร โดยรับอาหารมา  ๓ ส่วน และในคืนนั้น ภัททวดีเศรษฐี ผู้บิดาถึงแก่กาละ (ตาย)
ในวันที่ ๒ นางสามาจึงไปขอรับอาหารมาเพียงมาเพียง ๒ ส่วน ในคืนนั้นภรรยาภัททวดีเศรษฐีก็ถึงแก่กาละไปอีกคน
ในวันที่ ๓ นางจึงไปขอรับอาหารมาเพียงส่วนเดียว

นายมิตตะเกิดความสงสัย นางสามาจึงเล่าความจริงให้ฟัง นายมิตตะจึงรับนางสามาเป็นธิดาบุญธรรม เมื่อนางไปอยู๋โรงทาน ได้ยินเสียงอึกทึกในโรงทานจากการยื้อแย่งของผู่้มารับทาน จึงหาทาง แก้ไขโดยบอกบิดาบุญธรรมให้ทำรั้วกั้นเพื่อให้ผู้มารับทานเรียงแถวเข้ามารับแจกทานทีละคน ออกไปทีละคน เสีียงอึกทึกจึงได้เงียบหายไป

ต่อมาโฆสกเศรษฐี ที่เคยฟังเสียงอึกทึกทุกวันจนชิน สงสัยว่าเสียงอึกทึกเหล่านั้นเงียบหายไป

เมื่อสอบถามจนได้ทราบว่่าเป็นความคิดของนางสามา ซึ่งเป็นธิดาของภัททวดีเศรษฐีสหายของตน ก็รู้สึกพอใจ กล่าวยกย่องชมเชยในความฉลาดของนางเป็นอันมาก หลังจากนั้นนางจึงได้ชื่อว่า “สามาวดี” (วดี = รั้ว) และรับนางเป็นธิดาคนโตและมอบหญิงบริวารให้ ๕๐๐ คน



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.baanmaha.com/

ต่อมาพระเจ้าอุเทนพระราชาแห่งกรุงโกสัมพีได้ทอดพระเนตรเห็นนางสามาวดีในวันงานนักขัตตฤกษ์ครั้งหนึ่ง ในขณะที่นางและบริวารออกมาชมการละเล่น ทรงพอพระทัยจึงขอนางจากโฆสกเศรษฐี และอภิเษกนางในตำแหน่งอัครมเหสี

ครั้งนั้นนายสุมนะ ซึ่งเป็นช่างดอกไม้ของเศรษฐีทั้ง ๓ คือ โฆสกเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐี และกุกกุฏเศรษฐี ได้ขอโอกาสจากเศรษฐี เพื่อถวายทานแก่พระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์ในวันหนึ่ง เศรษฐีก็อนุญาต นายสุมนะจึงนิมนต์พระบรมศาสดา และตระเตรียมเครื่องสักการะเพื่อถวายทานในวันรุ่งขึ้น

นางขุชชุตตรา เป็นทาสีของพระนางสามาวดี รับหน้าที่จัดซื้อดอกไม้มาให้พระนางสามาวดีทุกวัน จากนายสุมนะ

โดยปกตินางชชุตตรา จะยักยอกเงินซื้อดอกไม้ไว้ทุกครั้งโดยจะใช้เงินซื้อดอกไม้เพียงครึ่งเดียวจากที่ได้รับมาจนถึงวันที่นายสุมนะได้รับอนุญาตให้ถวายทานแก่พระบรมศาสดาได้

ในวันนั้นสุมนมาลาการกล่าวกับนางขุชชุตตรา ว่า วันนี้ข้าพเจ้าจักถวายทาน จักบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้อันเลิศ ขอนางจงรออยู่เป็นผู้ช่วยเหลือในการนี้และฟังพระธรรมเทศนาเสียก่อนแล้วจึงรับดอกไม้ไปนางก็ตอบตกลง

หลังภัตกิจ พระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาแล้ว ได้ตรัสแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น
นางขุชชุตตราสดับพระธรรมเทศนาแล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จึงใช้เงินที่ได้รับมาซื้อดอกไม้เต็มตามจำนวนเงินไม่ล่วงละเมิดในศ๊ลห้าอีก

ครั้นกลับมายังพระราชนิเวศน์แล้ว พระนางสามาวดีเห็นดอกไม้มีจำนวนมากกว่าทุกครั้ง ทรงแปลกพระทัยทรงสอบถามนางขุชชุตตรา นางจึงเล่าความให้พระนางสามาวดีทราบความจริง ว่าแต่ก่อนนางได้ยักยอกค่าดอกไม้ไว้ครึ่งหนึ่งเสมอมา แต่วันนี้ได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรม จึงไม่ได้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรนั้นอีก

พระนางสามาวดีจึงขอให้นางขุชชุตตรา แสดงธรรมนั้นแก่พระนางและบริวารอีก ๕๐๐ คน เมื่อจบการแสดงธรรม ชนเหล่านั้นก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกนางไว้ในฐานะอาจารย์ และขอให้นางไปฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้วนำมาแสดงแก่พวกตนทุกวัน

ต่อจากนั้น พระนางสามาวดี พร้อมด้วยบริวารมีจิตศรัทธาเลื่อมใสตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย พากันสนใจในการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และสมาทานรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำ

เมื่อกาลเวลาผ่าไปนานเข้านางขุชชุตตราก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย - เนปาล
โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๕ เศรษฐีผู้สร้างวัดโกสัมพี





ขอขอบคุณภาพจาก jedeethai.blogspot.com

สมัยนั้นดาบส ๕๐๐ ซึ่งพำนักอยู่ ณ ป่าหืมวันต์ เข้ามาภิกขาจารในกรถุงโกสัมพีเป็นประจำ เศรษฐีกรุงโกสัมพี ๓ คน คือ โฆสกะ กุกกุฎะ และปาวาริกะ เห็นดาบสเหล่านั้นแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้รับภิกษายังเรือนตนเป็นประจำ

ก่อนฤดูฝนคราวหนึ่ง เหล่าดาบสเดินทางจากป่าหิมวันต์เพื่อจะมายังกรุงดกสัมพี ระหว่างทางแวะพักที่โคนไทรใหญ่ต้นหนึ่ง เห็นรุกขเทวดาประดับด้วยทิพยอาภรณ์อันสวยงาม จึงถามว่าท่านได้สมบัตินี้มาด้วยผลบุญใด รุกขเทวดาเล่าให้ฟัง ว่าเป็นผลจากการได้อธิษฐานองค์อุโบสถครึ่งวัน ครั้งที่ข้าพเจ้าถือกำเนิดเป็นบริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วได้ทำดาละในเย็นวันนั้นได้มาบังเกิดเป็นรุกขเทวดา อยู่ ณ ที่นี่ เศรษฐีนั้นเป็นผู้ที่ศรัทธาแนบแน่นต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์





ขอขอบคุณภาพจากm.dmc.tv

เหล่าดาบสฟังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดความเลื่อมใส ตั้งใจจะเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นถึงกรุงโกสัมพีก็เข้าไปแจ้งความประสงค์แก่เศรษฐีทั้งสาม เศรษฐีกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าทั้งหมดจะขอตามท่านไปด้วย ดาบสจึงเดินทางล่วงหน้าไปก่อน เมื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดายังพระอารามเชตวันวิหาร (ตั้งอยู่นอกเมืองสาวัตถี) รับฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ดาบสทั้ง ๕๐๐ ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทาทั้งหมด จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาประทานเอหิภิกขุแุปสัมปทา


ขอขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เนท


เศรษฐีทั้ง ๓ พร้อมด้วยขบวนเกวียนบรรทุกเครื่องไทยธรรมเป็นจำนวนมากตามมาถึงภายหลัง ตั้งที่พำนักอยู่ใกล้กับพระเชตวันวิหารได้ถวายทานอยู่ ณ ที่นั้นประมาณกึ่งเดือน เมื่อรับฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุโสดาปัตติผล กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปประทับ ณ กรุงโกสัมพี เศรษฐีืั้ง ๓ กลับถึงกรุงโกสัมพีแล้วต่างก็สร้างอารามคนละอาราม โฆสกเศรษฐีสร้างโฆสิตาราม กุกกุฎเศรษฐีสร้าง กุกกุฎาราม ปาวาริกเศรษฐีสร้าง ปาวาริการาม เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึง เศรษฐีจึงมอบถวายวิหารแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาและประทับอยู่อารามทีั้ง ๓ นั้น เศรษฐีต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันอุปัฎฐากพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ตามวาระของตน

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๔ นครโกสัมพี. ๒


นครโกสัมพี
ขอขอบคุณภาพจาก www.oknation.net

ในนครั้งพุทธกาล ชมพูทวีปเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาล แบ่งเขตการปกครองเป็น ๑๖ แคว้น ในจำนวนนั้นมี แคว้นวังสะที่มีนครโกสัมพีเป็นเมืองหลวง และยังเป็น ๑ ใน ๔ ของเมืองมหาอำนาจครั้งพุทธกาลกล่าวคือ
วัชชี เป็นเมืองมหาอำนาจทางการปกครอง
โกศล เมืองมหาอำนาจทางการทหาร
มคธ เมืองมหาอำนาจทางการศึกษา
วังสะ เมืองมหาอำนาจทางการค้าขาย




ขอขอบคุณภาพจาก www.oknation.net

นครโกสัมพีเคยรุ่งเรืองด้วยศิลปะวิทยาการ ในสมัยพุทธกาลเป็นศูนย์กลางการค้าขาย ระหว่างเมืองโกศล กาสี กุสินารา มัลละ ด้วยว่านครโกสัมพีมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำยมุนาไหลตลอดปี ปลูกข้าวสาลีและอ้อยได้ผลดี

 ภูมิประเทศของนครโกสัมพี

ทางทิศใต้ติดกับแคว้นโกศล
ทางทิศตะวันออกติดกับแคว้นกาสี
ทางทิศเหนือติดกับแคว้นอวันตี

และมีเส้นทางที่สะดวกในการติดต่อกับเมืองต่่าง ๆ ได้ดี เช่น อุชเชนี เวทิศา สาเกต สาวัตถี กุสินารา ปาวา เวสาลี ราชคฤห์ เป็นต้น


ขอขอบคุณภาพจาก www.oknation.net

พระพุทธองค์ได้เสด็จมากรุงโกสัมพีหลายครั้ง ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาหลายพระสูตร เช่น โกสัมพิยสูตร สันทกสูตร ชาลิยสูตร เป็นต้น และได้บัญญัติพระวินัยไว้หลายคราว เช่น ในสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑๒ เป็นต้น
ครังนั้นมีพุทธบริษัทจำนวนมากที่เคารพศรัทธาในพระพุทธองค์ด้วยการสร้างวัดถวายเป๋็นอารามที่พัก เช่นโฆสิตารามมหาวิหาร, กุกกุฏารามมหาวิหาร, ปาวาริการามมหาวิหาร หรือปาวาริกัมพวัน และพัทริการามมหาวิหาร โดยเฉพาะโฆสิตารามมหาวิหาร, ที่โฆสกเศรษฐี สร้างถวายพระพุทธองค์เสด็จมาประทับในพรรษาที่ ๙

ปัจจุบันกรุงโกสัมพีที่ลือชื่อในอดีตนั้น เหลือไว้เพียงซากปรักหักพัง กองอิฐ หินจากการพังทลายของปราสาทราชมณเฑียรสูงเหมือนเมืองร้างทั้งหลาย นครอันยิ่งใหญ่เหลือเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ โกสัมพี ( Kosambi ) ริมฝั่งยมุนานที ห่างจากเมือง อัลลาหบาด ( Allahabad ) ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๑๖ กิโลเมตร

โกสัมพี เกือบจะเงียบสูญจากชมพูทวีป จะหลงเหลือให้ดูก็จากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ( พ.ศ. ๙๐๐ ) กับหลวงจีนถังซำจั๋ง (พ.ศ. ๑๓๐๐ ) เท่านั้น

เมื่อเดินทางมาถึงจะเห็นสภาพโกสัมพี มีเพียงสังฆาราม ๑๐ แห่ง อยู่ในสภาพร้าง แต่ในปัจจุบัน ยังเหลือพื้นที่ไว้ให้เราได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาความเป็นมาในอดีตได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย - เนปาล
โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๓ นครโกสัมพี..๑





โกสัมพี (อังกฤษ: Kosambi)
คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นวังสะ ๑ ใน มหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขายในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซากโบราณสถาน รูปโค้งพระจันทร์เสี้ยวริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโกสัม (Kosam) หรือหมู่บ้านหิสัมบาทตชนบทจังหวัดอัลลฮาบาต รัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๕๙ กิโลเมตร เมืองนี้ได้เริ่มต้นทำการขุดค้นทางโบราณคดีโดยศาสตรจารย์ จี.อาร์.ชาร์มา แห่งมหาวิทยาลัยอัลลาหบาต ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ และมีการสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ - พ.ศ. ๒๔๙๙ ปัจจุบันปรากฏหลักฐานที่ได้จากการสำรวจขุดค้นเป็นที่แน่นอนแล้ว โดยยังคงมีซากกำแพงเมืองปรากฏให้เห็นอยู่ และได้ค้นพบวัดโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นวัดโฆสิตารามมหาวิหาร วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีการค้นพบบาตรดินโบราณ พระพุทธรูป และโบราณวัตถุจำนวนมากภายในแหล่งขุดค้นเมืองโกสัมพีแห่งนี้ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ทางการอินเดียได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองอัลลหบาต



เหรียญกษาปณ์ทองแดงโบราณพบที่เมืองโกสัมพี จารึกคำว่า "โกสัมพี" ปัจจุบันเหรียญนี้เก็บรักษาอยู่ที่บริติสมิวเซียม ประเทศอังกฤษ

โกสัมพีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้มีพระเจ้าอุเทนราชาเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างแคว้นที่สำคัญแคว้นหนึ่ง ในทีฆนิกาย มหาวรรค ระบุว่าพระอานนท์เคยทูลขอให้พระพุทธองค์ควรมาปรินิพพานที่เมืองใหญ่โกสัมพีนี้ แทนที่จะเป็นเมืองกุสินารา ที่เป็นเมืองเล็ก ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้ปรากฏวัดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ๔ วัด คือ โฆสิตารามมหาวิหาร, กุกกุฏารามมหาวิหาร, ปาวาริการามมหาวิหาร หรือปาวาริกัมพวัน และพัทริการามมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยมหาเศรษฐีแห่งโกสัมพี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี, กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกเศรษฐีตามลำดับ โดยสามวัดแรกเศรษฐีทั้งสามได้สร้างถวายพระพุทธเจ้าในคราวเดียวกัน



ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษาที่ ๙ ณ โกสัมพี และมีโอกาสเสด็จมาประทับ ณ เมืองโกสัมพีหลายครั้ง และบางครั้งได้ประทับอยู่นาน ได้ทรงแสดงพระสูตรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์หลายสิกขาบท ซึ่งรวมถึงสิกขาบทในสุราปานวรรค ข้อที่ห้ามพระดื่มสุราด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่พระธรรมธรและวินัยธรแห่งโฆสิตารามมหาวิหารทะเลาะกันด้วยเรื่องการคว่ำขันน้ำในห้องน้ำ เกิดเป็นสังฆเภท (แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาตักเตือนก็ไม่ยอมกัน จึงทำให้พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาที่ ๑๐ ที่รักขิตวัน ในป่าปาริไลยกะ ออกพรรษาแล้วจึงเสด็จไปเมืองสาวัตถี พระที่ทะเลาะกันสำนึกผิดและคืนดีกันได้ในระหว่างพรรษา เมื่ออกพรรษาพระเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี เพื่อกราบทูลขออภัยโทษ) และเรื่องพระฉันนะ (คนเดียวกับฉันนะอำมาตย์ที่พาเสด็จออกผนวช) ถูกพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ จนสำนึกผิดและกลับใจปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์



นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในเมืองโกสัมพีที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น เรื่องโฆสกะเศรษฐี, พระพากุละ, พระปิณโฑละภารัทวาชะ, เรื่องพระเจ้าอุเทนราชากับพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา พระนางวาสุลทัตตา เป็นต้น รวมทั้งเรื่องพระนางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระพุทธเจ้า จ้างให้นักเลงและเดียรถีร์เหล่ามิจฉาทิฏฐิติดตามด่าพระพุทธองค์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นต้นเหตุของพระพุทธภาษิตสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นธรรมะสอนใจดียิ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก วิกิพีเดีย

วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๒ นวนิยายเรื่องวาสิฏฐี





การนำนวนิยายที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้ามากล่าวถึง แท้จริงก็เพียงเพื่อจะโยงเรื่องราวกล่าวถึงนครโกสัมพี....เท่านั้นเอง แต่เมื่อได้บอกกล่าวเล่าเรื่องมาณพกามนิตแล้ว ก็ขอลงรายละเอียดอีกสักเล็กน้อยกับเรื่ีองราวของกามนิตผู้นี้เป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวความเป็นมาดังนี้





กามนิต (เดนมาร์ก: Der Pilger Kamanita)

เป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมาก ประพันธ์ในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ โดย คาร์ล อดอล์ฟ เจลเลอร์รุป นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ. ๑๙๑๗


 หนังสือกามนิตได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่านฉบับภาษาไทยแปลโดย เสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ในปีพ.ศ. ๒๔๗๓ มีรูปประกอบโดยอาจารย์ช่วง มูลพินิจ โดยแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ (The Pilgrim Kamanita) ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน (Der Pilger Kamanita) อีกทอดหนึ่ง




ในเรื่องกามนิตนี้ กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งผู้ซึ่งมีนามว่า กามนิต ผู้ที่หวังจะได้เข้าพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อที่จะได้ขจัดความทุกข์ต่าง ๆ ที่ตนได้เผชิญมา และได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ในระหว่างการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น กามนิตได้เข้าขอพักที่บ้านของช่างปั้นหม้อท่านหนึ่งเป็นการชั่วคราว และในวันเดียวกันนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เสด็จมาขอพักอาศัยที่บ้านหลังนั้นด้วยพอดี

กามนิตจึงได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตนเองและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าโดยที่ไม่รู้เลยว่า สมณะที่สนทนาอยู่นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง เรื่องราวดำเนินส่วนแรกเป็นภาคพื้นดิน และต่อในส่วนหลังเป็นภาคสวรรค์ ที่กามนิต ได้เสียชีวิตระหว่างเดินทางเพื่อจะได้พบ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปเกิดเป็นเทวดาและพบกับ วาสิฏฐี

ทั้งสองได้เล่าเรื่องราวชีวิตหลังความรักในโลกมนุษย์ ประสบการณ์แห่งการไขว่คว้าหากันจนได้มาพบเจอพุทธศาสนา ตลอดจนการเห็น การเกิดดับของสรรพสิ่งที่แม้แต่สวรรค์ พรหมก็หลีกหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง มีแต่บรมสุขแห่งพระนิพพาน คือทางออกแห่งการเดินทางอันยาวนานนี้ วาสิฏฐีได้เข้าถึงความจริงนี้ก่อน และทำให้กามนิตได้รู้ว่าบุคคล ที่ตนพบในบ้านช่างปั้นหม้อ ได้ให้สัจธรรมแห่งความจริงไว้พิจารณา คือใคร การไม่ต้องเวียนว่ายอีกต่อไปเป็นเช่นไรในที่สุด



ในเรื่องกามนิตนี้ มีกามนิต และวาสิฏฐีเป็นตัวเอก และนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังมีองคุลิมาล พระอานนท์ และพระสารีบุตร ปรากฏในเรื่องอีกด้วย เป็นการเชื่อมโยงหลักธรรมในพุทธศาสนากับความจริงแห่งความรักได้อย่างลึกซึ้งและกินใจ ซึ่งเดิมหนังสือไม่ได้มีการแบ่งเล่มเป็น สองภาคแต่ได้มีการแบ่งภาค เพือให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยความยากในการทำความเข้าใจ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก วิกิพีเดีย





จากคำนำ หนังสือเรื่องวาสิฎฐี เมื่อ วันที่ ๓  กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ของนายสงบ ลักษณะ อธิบดีกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ในหนังสือ เรื่องวาสิฏฐีมีดังนี้



เรื่องวาสิฏฐี นี้มีลักษณะเป็นนวนิยายเกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา ลัทธิพราหมณ์ และวรรณคดีอินเดีย ดำเนินเรื่องโดยอาศัยพุทธประวัติ หลักธรรม ตลอดจนเรื่องราวในพระสูตรต่าง ๆ สอดร้อยเข้าด้วยกัน หนังสือนี้เดิมชาวเดนมาร์ก ฃื่อคาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป ( Karl Adolph Gjellerup ) แต่งเป็นภาษาเยอรมัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ให้ชื่อว่า Der Pilger Kamanita  ต่อมานาย John E. Logie แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า The Pilgrim Kamanita ซึ่งเสฐียรโกเศส และนาคะประทีป ได้ถิดความจากฉบับภาสษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แล้วตั้งชื่อเรื่องว่า กามนิต ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔




เนื่อหาของเนื้อเรื่อง แบ่งเป็น ๒ ภาค ได้แก่ภาคหนึ่ง บนดิน และภาคสอง บนสวรรค์ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอเปลี่ยนชืื่อเรื่องจากกามนิต เป็นเรื่องวาสิฏฐี เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือแบบเรียนวรรณคดีไทยสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตร ก็กำหนดให้ใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา สำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปัจจุบัน



เรื่องวาสิฎฐีนี้มีการจัดพิมพ์มาแล้วหลายสิบครั้ง สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ ๓๕ นี้ ได้ปรับปรุงกิจกรรมท้ายบท เพิ่มเติมภาพประกอบ และสอบทานถ้อยคำกับฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ๆ ด้วย

 กรมวิชาการหวังว่าผู้อ่านจะได้รับสาระ รสชาติ และความเพลิดเพลิน จากการอ่าน สมกับที่เป็นหนังสือแบบฉบับในการเรียงความและการใช้ถ้อยคำภาษาไทย




ขอเชิญผู้สนใจไปหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ ในสนนราคาที่ไม่แพงเลยเพียงเล่มละ ๑๒๕ บาท ทั้งรูปเล่ม ภาพประกอบ และตัวอักษร อ่านแล้วสบายตาเจริญใจ เป็นที่ยิ่ง




ซึงพลอยโพยมต้องขออภัย ที่จะไม่นำสารระเรื่องราวรายละเอียดมากล่าวถึง เพราะจะเป็นการขัดจังหวะกับเรื่องราว การนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน