วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องราว เท้ายายม่อม

เรื่องราว เท้ายายม่อม
เคยเขียนเป็น นิทาน เรื่องเล่า เมื่อ 27 กันยายน 2553








ต้นเท้ายายม่อม ที่ใช้ทำแป้งเท้ายายม่อม

ต้นเท้ายายม่อมเป็นพืชล้มลุก มักขึ้นเป็นกอสืบพันธุ์ด้วยหัวใต้ดิน
หัวของต้นเท้ายายม่อมขุดเอามาฝนทำแป้งเท้ายายม่อมได้
ชาวสวนต้องไม่ขุดหัวจากกอแต่ละกอจนหมด คัดเลือกเอาเฉพาะหัวใหญ่ เพื่อสะดวกในการปอกเปลือกแล้วฝน หัวเล็กๆจะคืนลงกลบฝังโคนกออย่างเดิม ( แต่หาก หัวไหนโดนจอบหรือเสียม จนขาดหรือแหว่ง หัวนั้นก็จะไม่งอกเป็นต้นได้ )เมื่อหน้าฝน ก็จะงอกต้นใหม่ขึ้นมา

สำหรับต้นเก่าเมื่อออกดอกและสิ้นฝนไม่นานต้นก็จะเฉา เหี่ยวแห้งและตายไป ในฤดูหนาว ซึ่งรวมทั้งต้นที่ยังไม่ออกดอก ก็ตายด้วย
รอจนประมาณเดือน มกราคม กุมภาพันธ์จึงขุดเอาหัวขึ้นมา
ล้างดินที่เปลือกออกให้สะอาด ปอกเปลือกทิ้งไป แล้วกองในกะละมังมีน้ำแช่เพื่อสะดวกในการฝน
ใช้หัวนี้ฝนบนแผงสังกะสีที่ตีตะปู ถี่ๆ แบบกระต่ายจีน หงายด้านที่มีรูแหลมของหัวตะปูทะลุออก
วางแผงสังกะสีพาดขอบกะละมังแล้วเอาหัวฝนไปมา

ขั้นตอนการทำแป้ง อยู่ใน ตำนานที่เล่า เมื่อ 27 กันยายน 2553
ชาวสวนมักปลูกไว้ในร่องสวน
ลักษณะการปลูก จะปลูกประปรายทั่วไป ขื้นป็นกอๆ ปะปนกับไม้อื่นๆเช่นกล้วย มะม่วง มะปราง มะเฟือง ขนุน ส้ม ไปยาลน้อย

มีต้นไม้อีกต้นที่สับสนกัน เพราะเรียกเท้ายายม่อมเหมือนกัน แต่ความจริง อีกต้นหนึ่งนั้น มีชื่อเต็มว่า ต้น ไม้เท้ายายม่อม

ตกลงยายม่อมนี้ มีต้นเท้ายายม่อม และต้น ไม้เท้ายายม่อม

( คุณแม่พลอยโพยมชื่อละม่อม คำแปลคือ สุภาพ อ่อนโยน( เป็นกิริยาอาการที่เรียบร้อย ไม่ขัดเขิน ไม่กระด้างมักใช้คำว่า ละมุนละม่อม
(หมายความว่า อ่อนโยน นิ่มนวล )

แต่...แม่ละม่อมมือหนัก ตีเจ็บมากค่ะ แถมพลอยโพยมมักถูกตีด้วยไม้ขัดหม้อเป็นประจำ แต่ลูกชาย ไม่ค่อยถูกตีเลยค่ะ เพราะวันๆ ออกไปเล่นหัวหกก้นขวิด นอกบ้าน แต่พอ มาเป็นยายละม่อม ย่าละม่อม ใจดีกับหลานๆมากค่ะ ช่วยเลี้ยงทั้งหลายย่าหลานยาย รวม 4คน ทั้งเลี้ยงดู เห่กล่อม

และแม่ละม่อมอายุ 93 ปี ไม่ต้องใช้ไม้เท้า


ปัจจุบันหากคิดจะปลูกต้นเท้ายายม่อม ต้องปลูกในกระถางเสียแล้ว


ดอกและผลของต้นเท้ายายม่อม เมื่อออกใหม่ๆจะมีสีเขียว


ดอกและผลของต้นเท้ายายม่อมเริ่มแก่ ดอก ผล และหนวด เริ่มเป็นสีเหลือง

ชาวสวนเชื่อว่าหากไม่ตัดดอกของเท้ายายม่อมออก จะไม่เกิดหัวใต้ดินให้ได้ขุดเอามาทำแป้งเท้ายายม่อม
พลอยโพยมไม่แน่ใจคำบอกกล่าวนี้ แต่ที่บ้านเอง ไม่ค่อยได้ตัดดอกออก เพราะมีเด็กในบ้านมาก เรามัก ดึงดอกและผลของต้นเท้ายายม่อม เอามาเล่นกัน ทั้งบนบ้านและเล่นในสวน ไม่มีอะไรทำ เล่นคนเดียวก็ได้ คือ ดึงก้านดอกขึ้นมา ซื่งดืงได้ง่ายมากจะขึ้นมาทั้งก้านจากโคนต้นขาวๆเลย แล้วก็เดินแกว่งดอกเท้ายายม่อมนี้ไปมา ผ่านต้นมะพร้าว ต้นมะม่วง ก็เอาฟาดกับต้นไม้นั้นๆ ผลก็หลุดร่วงกรู แล้วก็โยนทิ้งไป ดึงก้านใหม่ขึ้นมาเล่นต่อจนกว่าจะเบื่อ บางทีเล่นด้วยกันกับคนอื่นเช่นการดึงเอามาเป็นอาวุธ ฟาดฟันต่อสู้กัน ไม่นับรวมรายการเล่นขายของ เอามาทำของขายได้หลายอย่างทีเดียว

ต้นเท้ายายม่อมที่บ้านจึงเหลือดอกให้ตัดได้น้อยมาก บางปีไม่ต้องตัดเลย เพราะถูกเด็กๆถอนไปเล่นกันหมด


หัวของต้นเท้ายายม่อม

(ในภาพนี้ เป็นบางส่วนที่ขุดมาจากกอเดียวกัน)


หัว ของต้นเท้ายายม่อม

หัวเท้ายายม่อมของแท้แน่นอน ดูแล้วคล้ายหัวมันฝรั่ง


แป้งเท้ายายม่อมมีลักษณะไม่ละเอียด


แป้งเท้ายายม่อมใช้ทำของคาวหวานหลายอย่าง
ของหวานเช่น ขนมชั้น ขนมหัวผักกาด(หวาน) และไปยาลใหญ่ค่ะ


ขนมชั้นชาวแปดริ้ว


ขนมชั้น
ตั้งใจจะพันเป็นดอกไม้แต่ไม่มีเวลาเพราะเป็นช่วงคุณแม่ป่วยเลยกลายเป็นขยุ้มๆกองไว้เพราะลอกชั้นออกมาแล้ว


ขนมหัวผักกาด


ขนมหัวผักกาดหวาน


หลายๆท่านคง งง เมื่อเห็นภาพนี้ เพราะเคยรู้จักแต่ขนมหัวผักกาดที่เป็นของคาว (แม้แต่ในพจนานุกรมก็มีแต่ ที่เป็นของคาว)

ขนมหัวผักกาด (หวานนี้ ) ยังมีที่แปดริ้ว ที่ร้านขนมหวานริน ในสมัยเด็กๆ พี่อุทัยวรรณ สรรพ์พิบูลย์ เจ้าของขนมหวานต้องใจ มักนำมาให้ที่บ้านพลอยโพยมเวลาที่ทำบุญ หรือทำงานต่างๆของที่บ้านพี่อุทัยวรรณ ปีละหลายครั้ง เด็กๆ จะแย่งกันรับประทานเพราะอร่อยมาก หากมีผู้สนใจ ยังมีให้รับประทานสูตรพี่อุทัยวรรณที่อร่อยเด็ดขาดจริงๆ จากทายาท คือ คุณต้องใจ จะเป็นแม่งานทำขนมหวานต่าง ๆในงานประจำปีวัดผาณิตาราม ซึ่งตรงกับวันมาฆะบูชาของทุกปี 2 วัน 2 คืน

วิธีทำของ คุณต้องใจใช้หัวไช้เท้า (หัวผักกาด) สด ฝนกับกระต่ายจีน แล้วคั้นเอาน้ำออก นำไปผัดกับหอมเจียวและน้ำตาลทราย นำไปกวนให้สุกกับ กะทิ ผสมแป้งมัน แป้งเท้ายายม่อม แป้งข้าวเจ้า ตามสัดส่วน โดยที่แป้งเท้ายายม่อมใช้ปริมาณน้อยกว่าแป้งมัน แต่มากกว่าแป้งข้าวเจ้า ปริมาณแป้งมันเท่ากับแป้งเท้ายายม่อมรวมกับแป้งข้าวเจ้า ใส่ฟักเขียวเชื่อมและถั่วลิสงคั่ว หั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก ๆ เวลารับประทานจะเหมือนขนมมีไส้นั่นเอง
สุกได้ที่ตักใส่ถาด โรยด้วยถั่วลิสงซอยละเอียด ประดับให้สวยงาม

ใครอยากลองรับประทาน ขนมหัวผักกาด(หวาน)ที่อร่อย นี้ ก็เชิญมาที่แปดริ้วได้เลย
มองภาพถ่ายแล้วคงซึมซับไปถึงความอร่อยของขนมนี้กันนะคะ...ขอบอก..
นี่ก็เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนบางกรูดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจมีที่อื่นๆด้วย เช่น ในแปดริ้วก็มีแม่ค้า ชาวบ้าน ทำมาขาย แต่แป้งจะสีคล้ำๆ ที่ไม่ค่อยสวยงามชวนรับประทาน ที่จังหวัดอื่นๆ เช่น จันทบุรี ก็มีขายเหมือนกัน

(ขอแก้ไข เรื่องเวลาจัดงานประจำปีของวัดผาณิตารามค่ะ เป็นวันเพ็ญกลางเดือนสาม ค่ะ ดังนั้นถ้าปีไหนมีเดือนแปด สองแปด ก็จะไม่ตรงกับวันมาฆะบูชาค่ะ ยึดวันเพ็ญเดือนสามค่ะ เช่นปี พ.ศ. 2555 จัดงาน 6-7 กุมภาพันธ์ พศ. 2555 แต่วันมาฆะบูชา เป็น วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้น )

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

อรุณรุ่งแรกวัน

อรุณรุ่ง แรกวัน นั้นงามเหลือ
ตะวันเรื่อ เลื่อมลาย ปลายเวหา
เสียงไก่ขัน ขานแจ้ว ลอยแว่วมา
สกุณา พาผิน บินจากรัง


เสียงไก่ขันขานแจ้วลอยแว่วมา
ไก่ที่ขันเสียงไพเราะคือไก่แจ้ เสียงจะมีกังวานแหลมใส
ในบางครั้งไก่ขันก่อนนกร้อง บางครั้งไก่ตื่นสาย ก็ขันหลังเสียงนก นกดุเหว่าในฤดูหนาวจะร้องเวลาตี่สี่-ตีห้า


สกุณา พาผิน ผืนนภา


ภมริน บินหา ผกาไหน
ผึ้งสองตัวนี้บินจรหาเกสรดอกบัว


ผีเสื้อไซ้ บุษบา พาอวลอาย

มวลมาลี คลี่คลาย ขจายกลิ่น
ภุมริน บินหา ผกาไหน
สุมามาลย์ บานหอม ยวนย้อมใจ
ผีเสื้อไซ้ บุษบา พาอวลอาย


ยี่โถ


ยี่โถ
เห็นทับทิมริมกระฏีดอกยี่โถ
สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย
รำพันพิลาป ของสุนทรภู่


สายหยุด
สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้งยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า

สายหยุด
สาวหยุดพุทธชาดมลิวัลย์
เลื้อยพันกำแพงแก้วเป็นแถวทิว
พระราชนินนธ์ อิเหนา


สายหยุด
ลดเลี้ยวเที่ยวชมสุมามาลย์
เบ่งบานช่อช้อยอยู่ไสว
สาวหยุดนางแย้มแกมใบ
มะลิซ้อนหงอนไก่ประยงค์
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์


สายหยุด
สาวหยุดโยทะการะย้าย้อย
อนุชาพลางค่อยสอยถวาย
พระราชนิพนธ์อิเหนาอิเหนา


โมกลา (คือโมกชั้นเดียว)


โมกลา (ลา มี ๕ ความหมาย ในพจนานุกรม)


โมกลา (ลา๕ ว. น้อย,มีกลีบชั้นเดียว,ไม่ซ้อน (ใช้แก่ดอกไม้ เช่น มลิลา พุดลา รักลา)


โมกซ้อน


โมกซ้อน


โมกพวง


โมกมัน
นิยมเอาต้นโมกมันเป็นตอเสียบด้วยไม้อื่นเช่นเฟื่องฟ้า


นมแมว
นมแมวประดู่นั้นคู่อัญชัน ประยงค์บาหยัน สวยงามเฉิดฉันจริง
เพลงมาลีแดนสรวง ขับร้องโดยคุณมัณฑนา โมรากุล


นมแมว
กะมองกะเม็งนมแมวเป็นแถวไป
ล้วนลูกไม้กลางป่าทั้งหว้าพลอง
นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่


พุดซ้อน
คัดเค้าสายหยุดพุดซ้อน อโศกเร่าร้อนรักซ้อนขื่นขม
เพลงมาลีแดนสรวง ขับร้องโดยคุณมัณฑนา โมรากุล


พุดซ้อน
พระเก็บพุดหยุดยื่นให้โฉมศรี
กุมารีรับจากหัตถ์แล้วทัดหู
จากเรื่องลักษณาวงศ์ ของสุนทรภู่


พุดซ้อน
ทั้งสาวหยุดพุดแซมแกมยี่สุ่น
พิกันพิกุลโรยร่วงพวงเกสร
พระอภัยมณีของสุนทรภู่


พุดซ้อน
บานบุรี ยี่สุ่น ขจร ประดู่ พุดซ้อน พลับพลึง หงอนไก่ พิกุลควรปอง
เพลงอุทยานดอกไม้ ขับร้องโดยคุณวงจันทร์ ไพโรจน์


ดอกมะขาม
ข่อยมะขามตามทางสล้างเรียง
นกเขาเคียงคู่คูประสานคำ
นิราศพระบาทของสุนทรภู่

สาระเรื่องราว..กล่าวด้วยภาพ

ขอแทรกภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เล่าในครั้งก่อนๆ ที่ไม่มีภาพประกอบ
หากย้อนนำภาพไปใส่ในเรื่องราวแต่ละเรื่องก็คงไม่มีคนที่เคยอ่านแล้วย้อนไปอ่าน
ขออภัยที่ภาพที่ลงนี้อาจไม่ต่อเรียงลำดับกับเนื้อเรื่องเล่า



อรุณรุ่งด้วยแสงแห่งธรรม กันก่อนนะคะ




เรือบด นิยมนำมาเป็นเรือพระบิณฑบาต
(เล่าเรื่องเรือล่องท่องวารี)


เรือพระบิณฑบาต ของวัดบางกรูด ที่พายยากมาก
(เล่าเรื่องเรือล่อง ท่องวารี)


เรือเอี้ยมจุ๊น
ภาพนี้อยู่นสวนแทนในลำน้ำ
(เล่าเรื่องเรือล่องท่องวารี)


บางปะกงขณะน้ำขึ้นเต็มฝั่งที่บางกรูด


บางปะกงขณะน้ำลงที่อำเภอบางคล้า
บางปะกง เล็กและแคบกว่าที่อำเภอบ้านโพธิ์ และกว้างที่สุดที่ อำเภอบางปะกง


ลักษณะชายฝั่งแม่น้ำขณะที่น้ำลง
ในภาพนี้มีขบวนเรือพ่วงบรรทุกสินค้า เรือจูงลำนิดเดียวแต่เรือพ่วงเป็นเรือเหล็กใหญ่4 ลำ


ต้นยอ ใบยอใช้ทำห่อหมก ดอกยอ และลูกยอ
สำหรับลูกยอ มีคำประพันธ์ในเรื่อง ระเด่นลันได ของ พระมหามนตรี (ทรัพย์)
กล่าวชมความงามของนางเอกชื่อนางประแดะว่า

สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด
งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา
ทั้งสองแก้มกัลยาดั่งลูกยอ

คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย
จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ
ลำคอโตตันสั้นกลม

สองเต้าห้อยตุงถุงตะเครียว
โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม
มันน่าเชยน่าชมนางเทวี



ยอ อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ที่ ตั้งใจจ้ดทำเป็นพิเศษเพื่ออธิบายคุณลักษณะของอุปกรณ์นี้โดยเฉพาะ
ใช้เวลาทำหลายวันฝีมือชาวมีนกรที่บ้าน
(ชลวิถี...ที่บางกรูด อุปกรณ์การจับสัตว์น้ำ)


ปูจาก หรือปูแป้นดองเค็ม
(เล่าเรื่อง ปูแสมแลป่าจาก เป็นที่ฝากฝังกายา)


อัมโบของหอยกาบ

ขอลอกข้อความเดิมเสริมความเข้าใจดังนี้
หอยกาบหรือหอยสองฝาอยู่ใน ชั้นไบวาลเวีย (Class Bivalvia)
เป็นสัตว์ที่มีฝาสองฝา มีประมาณ 30,000 ชนิด เปลือกหอยทั้ง สองฝาจะมีรูปร่างเหมือนกัน ขนาดใกล้เคียงกัน แต่กลับซ้าย-ขวา ยึดติดกันด้วยกล้ามเนื้อยึดฝา และ เอ็นยึดฝาหรือบานพับ ซึ่งบานพับจะยึดเปลือกทาง ด้านหลัง มักมีสีดำ บริเวณใต้บานพับประกอบด้วยฟันเรียกว่าhinge teeth ซึ่งช่วยยึดเปลือกไว้ ด้วยกัน ประกอบด้วยฟันซูโดคาร์ดินัล และฟันแลเทอรัล (พบในวงศ์ Amblemidae) หรือฟัน คาร์ดินัล (พบในวงศ์ Corbiculidae)
สำหรับการปิดและเปิดของฝา เมื่อกล้ามเนื้อยึดเปลือกคลาย ตัว เอ็นจะเป็นตัวดึงให้ฝาเปิด และการหดตัวของกล้ามเนื้อยึดเปลือกทำให้ฝาถูกปิด เปลือก ส่วนที่ถูกสร้างขึ้นก่อนและแก่ที่สุดเรียกว่า อัมโบ

การเพิ่มขนาดของเปลือกทำโดยการสร้าง เปลือกใหม่รอบอัมโบเป็นวงๆ ซ้อนขยายออกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเส้นลายบนเปลือกรอบอัมโบ ออกเป็นชั้นๆ เรียกว่าเส้นการเจริญเติบโต (growth line) ในการดูว่าเป็นเปลือกซ้ายหรือขวา ทำได้โดยถือเปลือกหอยให้ด้านอัมโบตั้งขึ้นและให้ด้านบานพับของเปลือกหันเข้าหาผู้สังเกต เปลือกที่อยู่ซีกขวามือคือเปลือกขวา ส่วนเปลือกที่อยู่ทางซ้ายมือคือเปลือกซ้าย
(เล่าเรื่อง ห้วงวารี ย่อมมีเรา)


แกงคั่วหอยขม
มีขายตามตลาดนัดพื้นบ้าน
( เล่าเรื่องห้วงวารี ย่อมมีเรา )


ตำแหน่งแห่งที่ของบางกรูด และตำบลใกล้เคียง