วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๑..มาณพกามนิต.





ข้าพเจ้าชื่อกามนิต เกิดที่กรุงอุชเชนีอันเป็นนครที่มีภูเขาล้อมรอบอยู่ไกลไปทางใต้ในแคว้นอวันตี บิดาเป็นพ่อค้า แม้มีตระกูลไม่สูงศักดิ์เป็นพิเศษ แต่ก็เป็นเศรษฐีมั่งมีมาก ท่านบิดาได้จัดให้ข้าพเจ้าได้รับการศึกษาอบรมในศิลปวิทยาเป็นอย่างดี เมื่อข้าพเจ้ามีอายุอันควรแล้วก็เข้าพิธีสวมยัชโญปวีตสายธุรำมงคลพราหมณ์ตามลัทธิ เวลานั้นข้าพเจ้ามีวิชาความรู้อันควรแก่กุลบุตรอย่างเชี่ยวชาญที่สุด จนคนทั้งหลายเชื่อว่าข้าพเจ้าคงได้ศึกษามาจากมหาวิทยาลัยตักศิลาเป็นแน่แท้ ข้าพเจ้าสามารถใน มวยปล้ำ และ ฟันดาบ เสียงก็ไพเราะได้รับการฝึกฝนใน คันธรรพศาสตร์ อย่างชำนาญ ทั้งสามารถ ดีดพิณได้แคล่วคล่องเท่ากับนักดนตรีที่ลือชื่อ บรรดาโศลกในมหากาพย์ภารตะ และกาพย์อื่น ๆ ข้าพเจ้าก็สาธยายได้เจนใจ ซ้ำการประพันธ์ ฉันทพฤติวิธี ก็อาจ ร้อยกรอง ได้รวดเร็ว และมีข้อความไพเราะลึกซึ้ง ตกว่าวิชาใด ๆ อันควรแก่กุลบุตรจะต้องรู้ ข้าพเจ้าย่อมทราบได้อย่างดีเป็นที่สุด ดูก่อนท่านอาคันตุกะ อันวิชาความรู้ของข้าพเจ้านั้นเป็นที่พูดจนติดปากของประชาชนชาวอุชเชนีว่า "เชี่ยวชาญเหมือนมาณพกามนิตทีเดียว"



เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๒๐ ปี บิดาได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคุมเกวียนสินค้าร่วมไปกับขบวนเกวียนของ ราชทูตของพระเจ้ากรุงอุชเชนี ที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับ พระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพี ซึ่งอยู่ไกลไปทางเหนือ ท่านบอกว่าพ่อมีสหายอยู่ในเมืองนั้นคนหนึ่งชื่อประนาท เคยไปมาหาสู่กันเสมอ เขาบอกพ่อไว้นานแล้วว่าถ้าเอาสินค้าเมืองเรา มี แก้วหิน ไม้จันทร์ผง เคริ่ืองจักสานและผ้า ไปขายที่กรุงโสัมพี จะได้กำไรงาม ที่พ่อไม่อยากนำสินค้าไปขายเพราะหนทางไกล ไปตามทางมีโจรผู้ร้ายชุกชุม แต่ทว่าถ้าได้ไปในพวกราชทูตแล้วเป็นอันปลอดภัย ลูกเอ๋ยเจ้าจงเตรียมตัวเถิดเข้าไปเลือกสินค้า ในโรงเก็บ บรรทุกเกวียนโคไปสัก ๑๒ เล่ม สมทบกระบวนของท่านราชทูตไป ของที่เอาไปขายนี้เมื่อขายได้ให้ซื้อผ้ากาสิกพัตร์ (ผ้าบางพาราณสี) และข้าวชนิดที่ดีกลับมา...... ข้าพเจ้า ได้ร่วมไปในขบวนของท่านราชทูต





ขอขอบคุณภาพจาก www.wanramtang.com


การเดินทางผ่านป่าใหญ่ในแดน เวทิส แล้วข้ามยอดเขาแห่งวินชัย จนบรรลุทุ่งกว้างใหญ่ฝ่ายเหนือ กระทำให้ได้รู้สึกว่าได้มาเห็นโลกใหม่อยู่ตรงหน้า ล่วงประมาณหนึ่งเดือนนับแต่ออกเดินทาง เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้ามองดูทางยอดดงตาลเห็นเป็นแถบทองขนาดใหญ่สองแถบ ดูประหนึ่งว่าคลี่คลายออกจากกันอยู่ตรงขอบฟ้าซึ่งแลเห็นเป็นหมอกอยู่สลัว ๆ และแล่นขนานกันมาเป็นเส้นบนภูมิภาคอันเขียวชอุ่มด้วยตฤณชาติ แล้วค่อย ๆ ใกล้กันจนที่สุดกันเป็นสายเดียวมีขนาดกว้างใหญ่

ท่านราชทูตบอกข้าพเจ้าว่า
"แถบทองนั่นคือ แม่น้ำยมุนา และ แม่คงคาอันศักดิ์สิทธิ์ที่กระแสน้ำทั้งสองมารวมกันตรงหน้าเราอยู่นีั้ "
ข้าพเจ้ายกมือขึ้นจบบูชา



ขอขอบคุณภาพจากสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า

ท่านราชทูตกล่าวเสริมว่า

" ที่เจ้าแสดงความเคารพเช่นนั้นเป็นการดีแล้วเพราะแม่คงคา มาจากแดนแห่งทวยเทพอันอยู่ในกลางเขาซึ่งมีหิมะปกคลุมทางอุตรประเทศ แล้วไหลดุจกล่าวว่ามาจากสวรรค์ ส่วนแม่น้ำยมุนา นั้นไหลมาจากแดนอันขจรนามแต่กาลสมัยมหาภารตะ น้ำแห่งแม่น้ำยมุนานั้นย่อมล้นไหลผ่าน หัสดินปุระ ซึ่งปรักหักพังแล้วและท่วมลบ ทุ่งกุรุ ซึ่ง ปาณฑพพี่น้อง กับพวก เการพได้ทำสงครามเพื่อชิงชัยในความเป็นใหญ่ ณ ที่ตรงนั้น พระกฤษณะ้ป็นสารถีขับรถให้พระอรชุนและพระกรรณกำลังพิโรธอยู่ในค่าย แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เห็นจำเป็นต้องเล่าก็เห็นจะได้ เพราะเห็นว่าเจ้าเปรื่องโปร่งเจนใจอยู่แล้ว ตัวเราเคยยืนอยู่บ่อย ๆ บนแหลมที่เห็นอยู่โน้น มองดูแม่น้ำยมุนาอันมี สีเขียวไหลเป็นลูกระลอกลดหลั่นแข่งไปกับแม่น้ำคงคาซึ่งมี สีเหลือง ต่างสีต่างไหลไม่รวมกัน เขียวและเหลือง ได้แก่ กษัตริย์ และ พราหมณ์ อันอยู่ร่วมใน มหาสมุทร คือ วรรณะ ด้วยกัน ต่างจรร่วมทางไปสู่แดนแห่งพรหม บางคราวเข้ามาใกล้ชิดกัน บางคราวห่างกัน และ บางคราวก็ร่วมกันเป็นดั่งนี้นิรันดร เปรียบเหมือนแม่น้ำทั้งสองที่เห็นอยู่นี้ ครั้นแล้วเรารู้สึกว่าใจลอยแว่วคล้ายได้ยินเสียงรบ เสียงศัสตาวุธกระทบกัน เสียงเป่าเขาเร้าเร่งพล เสียงม้าร้อง เสียงช้างแปร๋แปร๋น หัวใจของเราก็ต๊๊กตั็กเต้นถี่เข้า เพราะรู้สึกว่าบรรพบุรุษของเราก็มาอยู่ที่นี่ด้วย และโลหิตของท่่านเหล่านั้นก็ไหลนองซึใไปในทรายแห่งทุ่งกุรุนี้ "

ข้าพเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มในท่านราชทูต เงยหน้าขึ้นดูท่านซึ่งเป็นผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ สืบตระกูลนักรบเป็นทายาทมา



ท่านราชทูตได้นำกามนิตไปดูภูมิประเทศที่พวกเขาจะไปถึง เดินอ้อมไปทางสุมทุมพุ่มไม้ พ้นออกไปเพียง ๒-๓ ก้าว ก็เห็นภูมิประเทศนั้นอยู่เบื้องตะวันออก มองไปทางหัวเลี้ยวแม่คงคา เห็น กรุงโกสัมพี ดูงดงามมาก เห็นกำแพงปราการบ้านเรือนสลับสล้าง ดูเป็นลดหลั่น มีเชิงเทินท่าน้ำท่าเรือต้องแสงแดดในเวลาอัสดงดูประหนึ่งว่าเป็น เมืองทอง ส่วนยอดปราสาทเป็นทองแท้ก็ส่งแสงดูดังว่ามี อาทิตย์อยู่หลายดวง ควันไฟสีดำแดงพลุ่ง ๆ ขึ้นจาก ลานเทวสถาน ถัดลงไปข้างล่างริมฝั่งน้ำ เห็นควันสีเขียวอ่อนลอยขึ้นมาจาก อสุภ ที่กำลังเผาในลำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งฉายเงาแห่งสถานต่าง ๆ ลงไปเห็นกระเพื่อม ๆ มีเรือน้อยใหญ่นับไม่ถ้วน มีใบ และ ธงทิวสีต่าง ๆ แลดูงามตา ตรงท่าน้ำเห็นอยู่ไกลประชาชนอาบน้ำอยู่มากมาย นาน ๆ ได้ยินเสียงคนพูดกันหึ่ง ๆ คล้ายเสียงผึ้ง



ขอขอบคุณภาพจาก
www.thongthailand.com


กามนิต กล่าวต่อ พระตถาคต ว่า "ขอให้ท่านผู้เจริญคิดดูเถิด ข้าพเจ้าคล้ายกับว่าได้มองเห็น เทวโลก ยิ่งกว่าได้เห็นเมืองมนุษย์ แท้จริง ลุ่มน้ำคงคา ทั้งหมดนี้มีความงามดูเป็น สรวงสวรรค์ อันปรากฎให้เห็นขึ้นแก่ตาข้าพเจ้า"

ในคืนนั้นเอง ข้าพเจ้าไปถึงเมือง และพักอยู่ที่บ้านท่านประณาทผู้สหายเก่าแก่แห่งบิดา

รุ่งเช้าตรู่ ข้าพเจ้ารีบไปยังท่าน้ำที่ใกล้ที่สุด เมื่อกำลังลงขั้นบันได รู้สึกเบิกบานใจ ไม่ทราบจะอธิบายได้อย่างไร เพราะได้มีโอกาสมาสนานกายในน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมิใช่แต่จะชำระล้างฝุ่นธุลีที่ติดต้องตัว เพราะไปเดินทางมานั้น ยังเป็นน้ำที่สามารถชำระบาปมลทินให้หมดสิ้นไปได้ด้วย ข้าพเจ้าจึงไม่แต่อาบอย่างเดียว ได้เอาขวดไปบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับไปฝากท่านบิดาด้วย อนิจจา ! ขวดน้ำนี้หาได้ไปถึงท่านไม่ ด้วยเหตุไรจะได้ทราบภายหลัง

ถัดจากอาบน้ำแล้ว ท่านผู้เฒ่าประณาท ได้พาข้าพเจ้าไปเที่ยวตลาดในเมือง และอาศัยความช่วยเหลือของท่าน เพียง ๒-๓ วันเท่านั้นข้าพจ้าขายสินค้าที่บรรทุกมาได้หมด มีกำรอย่างงาม และกว้านซื้อสินค้าพื่นประเทศสะสมไว้เป็นจำนวนมากที่ชาวเมืองของข้าพเจ้านิยมให้ราคาสูง

เมื่อการค้าขายของข้าพเจ้าได้ผลดีอย่างเร็ววัน มีเวลาว่างเหลืออยู่มากกว่าท่านราชทูตจะกลับ ดั่งนี้รู้สึกดีใจมาก จะได้เที่ยวชมบ้านเมืองหาความสุขสำราญตามอำเภอใจได้บริบูรณ์



เวลางามยามบ่ายวันหนึ่งโสมทัตต์บุตรท่านประณาทที่คอยนำเที่ยว ได้พาข้าพเจ้าไปเที่ยวที่อุทยานนอกเมือง อุทยานนี้งามมากตั้งอยู่ริมฝั่งอันสูงของแม่คงคา มีต้นไม้ใหญ่ครึ้ม มีสระบัวขนาดใหญ่ มีศาลาที่พักอาศัย และซุ้มมะลิเลื้อย ซึ่งในเวลานั้นประชาชนต่างพากันไปเที่ยวหาความสำราญใจกันเกลื่อนกล่น ข้าพเจ้าและโสมทัตต์นั่งบนชิงช้า มีคนคอยรับใช้อแกว่งไกวให้ รู้สึกเบิกบานใจไม่น้อย ในขณะได้ยินเสียงนกโกกิลาปะหรอดเทศร้องระงม

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๐..ปัจฉิมทัศนา..เบญจคีรีนคร



เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร



ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammahome.com

"ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสในมนุษย์โลกแล้ว ถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จาริกไปในนิคมชนบทราชธานีต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธจนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร"

ข้อความในพระสูตรเป็นดังนี้

ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคีรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวบสิ้นทิวาวาร แดดในยามเย็นกำลังอ่อนแสงลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตรแลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจรดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันเดินดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียวก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมรอบกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดเจนถนัดแจ้งดังว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ออกดอกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่านมีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉาบเอาไว้ เพื่อแข่งกับแสงมณีวิเศษ มีบุษราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น


ขอขอบคุณภาพจากwww.oknation.net




ขอขอบคุณภาพจากdhammaweekly.wordpress.com

พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทหยุดเสด็จพระดำเนิน มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์ในภูมิภาพ ที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฎไวบูลยบรรพต อิสีคิลิ และคิชฌกูฎ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบทอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏ เข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน



สมัยเมื่อล่วงแล้วแต่ปางหลัง ครั้งยังมีพระชนมายุอยู่ในเยาวกาล เมื่อพระเกศายังดำเป็นมันขลับเสวยอิฏฐารมณ์ผงมต่อความบันเทิงสุขโดยอุดม อันควรแก่ผู้อยู่ในวัยหนุ่มนั้น พระองค์ยังทรงสละสรรพสุขศฤงคารเสียได้แล้ว เสด็จออกจากพระราชสกุลวงศ์ แห่งศากยชนบทในอุตรประเทศเข้าสู่เขตลุ่มแม่น้ำคงคา บรรลุถึงเชิงเวภารบรรพตอันสูงลิ่วได้เสด็จประทับอยู่ที่นั่น เป็นปฐมกาลตลอดเวลาได้ช้านาน และเสด็จภิกขาจารในกรุงราชคฤห์ทุกบุพพัณหเวลา



สมัยนั้นและในคูหานั้น พระเจ้าพิมพิสาร ท้าวพญาแห่งมคธราษฎร์ได้เสด็จมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ทรงอ้อนวอนอัญเชิญเสด็จให้กลับคืนแคว้นศากยะ เพื่อเสวยสุขแห่งโลก แต่พระตถาคตมิทรงหวั่นไหวกลับประทานพระธรรมเทศนา จนพระเจ้าพิมพิสารบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรม ต่อมาได้เป็นอุบาสกคนสำคัญของพระพุทธองค์เจ้า




นับแต่นั้นมาจนถึงเวลาที่กล่าวนี้ ล่วงได้ ๕๐ ปีบริบูรณ์ และระหว่าง ๕๐ ปีนั้น มิใช่จะเพียงทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์จากความเป็นผู้แสวงหาความจริงจนได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ ยังทรงบันดาลให้ความมีความเป็นแห่งสังสารโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย อดีตกาลเมื่อเสด็จประทับอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ต้นสัตบรรณครั้งกระโน้น พระองค์เป็นผู้แสงวหาความหลุดพ้นทุกข์ ต้องต่อสู่กับกิเลศมารอันหนาแน่น ต้องกระทำทุกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่นที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อทำไม่ได้ จนภายหลังทรงเห็นแจ้งแห่งซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันความเป็นไปของพระองค์ครั้งกระโน้นตลอดมาจนครั้งกระนี้ก็เหมือนดังกลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้ามีแสงแดดแผดจ้าแล้วนภากาศพยับอับแสง เกิดพายุแรงฟ้าคะนองก้องสะท้านซ่านด้วยเม็ดฝน ครั้นแล้วท้องฟ้าก็หายมืดมนกลับสว่างสงบเรียบ มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศในยามเย็นที่กล่าวแล้ว จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงดิ่งหายหายไปในขอบฟ้า



อันว่าพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด สำหรับตถาคตในขณะนี่้ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เห็นแจ้งซึ่งกองทุกข์ ทรงแสดงพระธรรมอันแท้จริงให้เห็นเป็นประจักษ์ และประทานหลักความหลุดพ้นจากทุกข์แก่มนุษยนิกรทั่วโลกธาตุ มีบริษัทสี่เป็นผู้สืบศาสในวาทเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ให้แพร่หลาย และประพฤติปฏิบัติด้วย กาย วาจา ใจ รักษาไว้ตลอดจิรกาลาวสาน


ขอขอบคุณภาพจาก www.alittlebuddha.com


ขอขอบคุณภาพจากwww.alittlebuddha.com

พระตถาคตทอดทัศนาการภูมิประเทศอันแผ่ไพศาลอยู่เฉพาะพระพักตร์ แลัวตรัสว่า
" ดูก่อน ราชคฤห์อันเป็นนครแห่งเบญจคีรีมีปริมณฑลงดงาม ตระการอุดมด้วยนาสาลีและมหาศิงขร อันน่าเบิกบานหฤทัย เราได้แลดูในครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการ"

ตรัสแล้วก็ยังประทับอยู่ ณ ที่นั้นจนภูมิประเทศที่ค่อย ๆ เลือนลงในยามเย็น คงเหลือให้เห็นเด่นชัดแต่อุดมสถานอยู่สองแห่ง ที่ต้องแสงแดดดั่งดาดด้วยทองคำ




คุกหลวงเมืองราชคฤห์ สถานที่พระเจ้าพิมพิสารถูกจองจำจนเสด็จสวรรคตในช่วงบั้นปลายของชีวิต
ขอขอบคุณภาพจากth.wikipedia.

แห่งหนึ่งคือปราสาทแห่งพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงอยู่ในวัยเป็นภิกษุหนุ่ม ซึ่งยังไม่มีใครรู้จักได้เคยเสด็จผ่านไปทางนั้น พระเจ้าแห่งแคว้นมคธ คือพระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรเห็นพระองค์เป็นครั้งแรก โดยเหตุที่พระองค์มีลักษณาการดั่งสีหดำเนิน




สถานที่อีกแห่งคือยอดหลังคาเทวสถาน ซึ่งแต่ก่อน ๆ มา เมื่อพระองค์ยังมิได้ประทานพระธรรมเทศนาแก่มนุษยนิกรให้พ้นจากทารุณวิธี เคยเป็นสถานที่พลีชีวิตสัตว์อันหาความผิดมิได้ นับจำนวนเป็นพัน ๆ เพื่อบูชายัญเทวรูปในนั้น

บัดเดี่ยวใจยอดปราสาทและยอดหลังคาเทวสถานก็เลือนหายเข้าสู่ความมืดแห่งสายัณหสนธยา ขณะนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่ซึ่งพระองค์กำลังจะเสด็จไปอยู่นี้ กล่าวคือทางยอดแห่งพุ่มไม้อยู่ลิบ ๆ เบื้องพระพักตร์โพ้น เป็นป่ามะม่วงที่หมอชีวกแพทย์หลวงของพระเจ้าพิมพิสารอุทิศถวายเป็นที่ประทับของตถาคต



ขอขอบคุณภาพจากwww.manager.co.th

ณ ป่ามะม่วงนี้ พระตถาคตตรัสให้พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากนำพระสาวกประมาณ ๒๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน ด้วยพระองค์มีพระพุทธประสงค์จะแสวงหาความวิเวกในวันนั้น แล้วจึงจะเสด็จดำเนินตามไปภายหลัง
พระองค์ทรงทราบอยู่ว่ายังมีพระภิกษุหมู่หนึ่งจากเบื้องตะวันตก มีพระสารีบุตรอัครสาวกเป็นประธานก็จะมาสู่ป่ามะม่วงในเวลาเย็นวันนั้น ด้วยโดยเหตุที่มีพระพุทธประสงค์ปวิเวกธรรม จึงตั้งพระหฤทัยจะไม่เสด็จกลับไปให้ถึงป่ามะม่วงในเย็นวันนั้น จะทรงแสวงหาที่แรมในชั่วราตรีตามละแวกบ้านแถวนั้นก่อน



ขอขอบคุณภาพจากwww.manager.co.th

ระหว่างนั้นขอบฟ้าทางเบื้องตะวันตกเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีดำหลัวขมุกขมัวลง ภูมิประเทศโดยรอบมืดตามลงทุกที ค้างคาวที่เกี่ยวเกาะบนต้นรังเห็นดำถมึนทึน ตกใจด้วยเสียงฝีเท้าคนเดินมา ก็ปล่อยเท้าที่เกาะแล้วกางปีกบินถลาร้องเสียงแหลมหายไปทางสวนผลไม้ในแถวนั้น เมื่อพระตถาคตเสด็จบทจรมา กว่าจะถึงละแวกพระนครก็มืดค่ำลงแล้วด้วยประการฉะนี้

พระตถาคตทรงผ่านบ้านแรก ทอดพระเนตรเห็นข่ายดักนกห้อยอยู่บนกิ่งไม้ จึงเสด็จผ่านเลยไป เพราะเป็นบ้านของพรานนก อีกนานจึงทรงพบบ้านอีกหลังก็ทรงได้ยินเสียงหญิงสองคนผู้เป็นภริยาพราหมณ์เจ้าของบ้านกำลังทะเลาะวิวาทด่าทอกัน จึงทรงเสด็จพุทธดำเนินต่อไป

บ้านหลังต่อมามีงานเลี้ยงดูกันสนุกสนานเฮอา เสียงตบมือกระทืบเท้ากันโครมคราม มีเสียงพิณไม่ขาดสาย หญิงงามนางหนึ่งทรงพัสตราภรณ์แพรล้วน คอสวมมาลัยมะลิพวง ยืนพิงอยู่กับเสาประตู นางแย้มไรฟันอันแดงด้วยหมากเคี้ยวยิ้มหัวเราะร่าอัญเชิญผู้เดินทางคือพระตถาคตให้เสด็จเข้าไปในบ้าน แต่พระตถาคตเจ้าเสด็จผ่านเลยบ้านนั้นไปเสีย ทรงระลึกถึงถ้อยคำของพระองค์ที่เคยตรัสคือ

"ถ้าจะดูโศกาดูรในหมู่สงฆ์ก็ในการร้องขับทำเพลง ถ้าจะดูความบ้าในหมู่สงฆ์ก็ในการเต้นรำ ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ในอาการยิงฟันหัวเราะ "

บ้านที่อยู่ถัดไปไม่สู้ไกลนักแต่ได้ยินเสียงพิณและเสียงร่าเริงล่องมาตามลมได้แต่ไกล
พระองค์จึงผ่านอีกบ้านหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นชายสองคนกำลังชำแหละโคซึ่งเพิ่งฆ่าใหม่ ๆ ในตอนเย็นวันนั้น ก็ เสด็จเลยบ้านผู้ขายเนื้อโคไป


บ้านหลังถัดไปตรงลานหน้าบ้านมีหม้อและชามดินเพิ่งปั้นเสร็จใหม่ ๆ วางอยู่เรียงราย อันเป็นการงานแห่งเจ้าของบ้านที่พากเพียรลงแรงทำเป็นสัมมาอาชีพ ได้ ในวันนั้นเครื่องปั้นหม้อยังคงวางอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ ขณะนั้นกุมภการช่างปั้นหม้อกำลังเอาชามดินดิบออกจากเครื่องปั้นขนเอามาวางเรียงรายไว้



ขอขอบคุณภาพจาก www.oknation.net



ขอขอบคุณภาพจากwww.thaitripdd.com

พระองค์เสด็จเข้าไปหาชายปั้นหม้อแล้วตรัสว่า
" ดูก่อนท่านผู้เผ่าภคะ ตถาคตจะขออาศัยพักแรมคืนที่ห้องโถงในบ้านท่าน จะมีข้อขัดข้องอย่างไรบ้างหรือไม่"

ชายปั้นหม้อตอบว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่มีข้อขัดข้องอย่างไรเลย แต่ทว่าในขณะนี้มีอาคันตุกะได้รับความเมื่อยล้าเพราะเดินทางไกลมาขออาศัยแรมคืนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีความรังเกียจก็เชิญท่านผู้เจริญเถิด "

พระตถาคตทรงรำพึงว่า "แท้จริงความวิเวกเป็นสหายอันวิเศษกว่าสหายอื่น ๆ , แต่อาคันตุกะที่มาพักอยู่ก่อนเดินทางเมื่อยล้ามาอย่างเรา ได้ผ่านเลยบ้านแห่งชนที่ประกอบมิจฉาอาชีพและไม่บริสุทธิ์จนถึงบ้านชายปั้นหม้อจึงได้หยุดขออาศัย คนเห็นปานนี้เราอาจร่วมสมาคมแรมคืนอยู่ด้วยกันได้ "

ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปในห้องโถง ทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นผู้ดีมีตระกูลนั่งอยู่บนเสื่อมุมห้อง

พระตถาคตตรัสปราศรัยด้วยว่า "ดูก่อนอาคันตุกะ ถ้าท่านไม่รังเกียจ ตถาคตจะขออาศัยแรมราตรีในห้องโถงนี้ "

ชายคนนั้นตอบว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เชิญท่านตามความพอใจเถิด เพราะห้องโถงของกุมภการกว้างขวางพอ"


พระตถาคตเจ้าทรงลาดพระนิสิทนสันถัดลงใกล้ฝาลดองค์ลงประทับ ด้วยสมาธิบัลลังก์มีพระกายตั้งตรง ดำรงพระสติสัมปชัญญะสงบนิ่งตลอดยามต้นแห่งราตรีนั้น ส่วนชายหนุ่มก็นั่งนิ่งอยู่ตลอดยามต้นเช่นกัน





ขอขอบคุณภาพจากwww.oknation.net

ต่อมาพระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มมีอาการสงบนิ่งเข่นนั้นก็ทรงรำพึงว่า "กุลบุตรผู้นี้เป็นผู้แสวงหาโมกขธรรมกระมังหนอ ? อันควรเราถามดู"
ทรงจินตนาการดังนี้ แล้วหันพระพักตร์ไปทางชายหนุ่มแย้มพระโอษฐ์ตรัสถามว่า
"ดูก่อน อาคันตุกะท่านมาถือเพศเป็นผู้ละเคหสถานเพราะเหตุเป็นไฉน"
ชายหนุ่มตอบว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เวลานี้ยังไม่ดึกนักถ้าท่านไม่รังเกียจ ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงเหตุที่ข้าพเจ้าละเคหสถานมาถือเพศเป็นดังนี้"

พระพุทธเจ้าประทานพระอนุญาต โดยพระศิรวิญญัติในอาการอันเป็นมิตรภาพ ชายหนุ่มจึงเริ่มเล่าเรื่องของตนต่อไปนี้.

บทประพันธ์ (กวีนิพนธ์)โดยเสฐียรโกเศศ -นาคะประทีป

มาถึงตรงนี้แล้ว แทบทุกคนคงจะทราบแล้วว่าชายหนุ่มผู้เป็นอาคันตุกะของชายปั้นหม้อ ก่อนหน้าที่พระพุทธองค์เสด็จมา คือผู้ใดกัน ทุกคนคงร้องอ๋ออยู่ในใจกันแล้วกระมัง




คำอธิบาย และคำศัพท์

เบญจคีรีนคร-เมืองภูเขาห้าลูกหมายถึงนครราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ อันประกอบด้วย คิชฌกูฏ อิสีคิลิ เวภาระ เวปุลละ และกาฬกูฏ
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ หากเป็นพระสูตรที่พระอานนท์เล่าจะขึ้นต้นบทพระสูตร
เอ วันเม สุตัง, ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า.....
หากแต่นวนิยายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องนี้มิได้ปรากฏในพระสูตร พระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่ ผู้เขียน (ผู้ประพันธ์ฉ) ได้เขียนเรียบเรียงเรื่องตามความคิดของตนเอง ได้อาศัยเรื่องราวในพระสูตรเล็ก ๆ น้อย ๆ มาผูกเป็นเรื่องราว

คาม -บ้าน หมู่บ้าน
นิคม-ตำบล หมู่บ้านใหญ่
ชนบท -ตำบลนอกเมือง ในหนังสือพุทธประวัติของกรมพระยาวชิรญาณวโรรส หมายถึงแว่นแคว้นซึ่งมีเมืองหลวงเช่น ชนบทวัชชี มีเมืองหลวงชื่อเวสาลี
สาลีเกษตร- ทุ่งข้าว ท้องนา
ทวารบถ-ประตู - ทางเข้าออก
บุษยราค -พลอยสีเหลือง
บัณฑรวรรณ - สีขาว หมายถึงพลอยขาว
โกเมน-พลอยสีแดงเข้ม
ยุคล-คู่
โสมนัสอินทรีย์-รู้สึกยินดี
สัตตบรรณ -หมายถึงถ้าที่เขาเวภาระที่พระพุทธองค์เคยประทับ และหมายถึงพรรณไม้ชนิดหนึ่งหรือที่เรียกว่าต้นตีนเป็ด
ศิวโมกษ์ -ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
อิฏฐารมณ์ -ความพึงพอใจ มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
ศากยชนบท -แคว้นแห่งพวกศากยะ คือวงศ์ของพระพุทธเจ้ามีบ้านเมืองอยู่ตอนภาคเหนือของอินเดีย
บุพพัณหเวลา-เวลาเช้า
เวไนยสัตว์ -สัตว์อันพึงสั่งสอนได้
จิรกาลาวสาน-ยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด
สีหดำเนิน- มีท่าเดินอย่างราชสีห์
ปวิเวกธนรรม-ความสงบสงัด
กุมภการ-ช่างปั้นหม้อ ท่านผู้เผ่าภคะ -ท่านผูเจริญ (ภคะ-สมบัติ ความเจริญ ความดี)
นิสีทนสันถัต-เครื่องปูลาด ที่รองนั่ง ใช้สำหรับเครื่องปูลาดของพระพุทธเจ้า
สมาธิบัลลังก์ -นั่งขัดสมาธิอย่างท่าพระพุทธรูป
โมกษธรรม-ความรู้อันเป็นทางหลุดพ้น ความรู้อันเป็นทางไปสู่พระนิพพาน
ศิรวิญญัติ-การให้รู้ด้วยศรีษะ การพยักหน้า (แสดงว่ายินยอม)

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๒๙ ผ้ากาสี

ผ้ากาสี แห่งแคว้นกาสี





ผ้ากาสี หรือ ผ้ากาสิกพัสตร์ จากแคว้นกาสี เป็นผ้าโบราณที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก (แคว้นกาสี คือแคว้นใหญ่ ๑๖ แคว้นในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันคือเมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
ซึ่งผ้ากาสีนี้ เป็นผ้าที่มีชื่อเสียง และยังคงรักษาวิธีการทำแบบโบราณสืบทอด มากว่า ๓,๐๐๐ ปี
โดยพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการดำรงชีวิตของพระองค์เมื่อยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ปรากฎความในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ สุขุมาลสูตร อังคุตตรนิกาย สุตนิบาต ว่า



“ภิกษุทั้งหลาย ไม่เพียงแต่เราจะใช้ไม้จันทน์แคว้นกาสีเท่านั้น ถึงผ้าโพก ผ้านุ่ง ผ้าห่มและเสื้อของเราล้วนทำในแคว้นกาสี” (อัง.ติก. ๒๐/๓๙/๑๙๘)
โดยพระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธาธิบายลักษณะพิเศษอันเป็นเลิศของผ้ากาสีไว้ในในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า
"ภิกษุ .! ผ้ากาสี แม้ยังใหม่อยู่ สีก็งาม นุ่มห่มเข้าก็สบายเนื้อ ราคาก็แพง,
แม้จะกลางใหม่กลางเก่าแล้ว สีก็ยังงาม นุ่งห่มเข้าก็ยังสบายเนื้อราคาก็แพง,
แม้จะเก่าคร่ำแล้ว สีก็ยังงามนุ่งห่มเข้าก็ยังสบายเนื้อ ราคาก็แพงอยู่นั่นเอง.
ผ้ากาสีแม้ที่เก่าคร่ำแล้ว คนทั้งหลายก็ยังใช้เป็นผ้าห่อรตนะ (เพชรพลอย) หรือเก็บไว้ในหีบอบ."



เมื่อทรงจะเปรียบเทียบธรรมเรื่องความไม่ประมาท ก็ทรงยกเอาผ้ากาสีเป็นเครื่องเปรียบความ ดังปรากฏความในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ จันทิมสูตร สังยุตตนิกาย มหาวรรค ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่ทอด้วยด้ายชนิดใดชนิดหนึ่ง “ผ้าแคว้นกาสี” ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่าผ้าเหล่านั้น แม้ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมด ก็ฉันนั้นเหมือนกันนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น” (สํ.ม.๑๙/๑๔๘/๗๖)



และในส่วนอื่นของพระไตรปิฎก ก็มีการกล่าวถึงผ้ากาสีในหลายแห่ง ผ้ากาสีจึงเป็นผ้าโบราณที่หาชมได้ยาก และมีชื่อเสียงอยู่คู่กับนครพาราณสี หรือแคว้นกาสีโบราณมานับแต่สมัยก่อนพุทธกาล ซึ่งปัจจุบันติดอันดับเมืองสำคัญของโลกที่มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น สืบต่อกันมามากที่สุดกว่า ๔,๐๐๐ ปี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.gotoknow.org/posts/501566


ผ้ากาสี


ในสมัยพุทธกาล พาราณสีเป็นเมืองใหญ่และเจริญ เป็นศูนย์ กลางการค้าที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ผ้ากาสีและเครื่องหอมแก่นจันทน์ของแคว้นกาสี เป็นสินค้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งในสมัยโน้นและในสมัยนี้


ผ้ากาสี เป็นสินค้าสำคัญมาเนิ่นนานดังนั้นนอกจากต้องอำลาแม่น้ำคงคาแล้ว หากไม่ได้ไปเยี่ยมชมผ้ากาสีซึ่งเป็นที่กล่าวถึงแต่ครั้งพุทธกาลก็คงไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะเหตุใดผ้ากาสีจึงมีชื่อกล่าวถึงแม้ในครัั้งพุทธกาล
แม้ว่าปัจจุบันนี้ผ้ากาสีที่ยังคงใช้วิธีย้อมและทอผ้าแบบโบราณที่เนิ่นนานกว่าสามพันปี นี้กลายเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาโดยชาวอินเดียที่เป็นชาวมุสลิมมิใช่ชาวฮินดูเสียแล้ว

ร้านค้าร้านใหญ่ที่คณะผู้แสวงบุญไปเยี่ยมชมนั้นไม่คนขายเป็นหญิงเลย ผ้าถูกจัดวางขายไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย สนนราคามีตั้งแต่ราคาหลักร้อยบาท ผืนละหลักพันบาท หลายพัันบาท และเป็นหมื่นบาท (เงินไทย )

เมื่อสัมผัสเนื้อผ้าที่ยิ่งมีราคา ก็ยิ่งรู้สึก ถึงความนุ่มเนียนลื่นยามลูบไล้ รู้สึกได้เลยว่าเป็นผ้าที่ใส่แล้วไม่ร้อนแน่นอน







วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๒๘ แม่น้ำคงคา



ก่อนอำลาเมืองพาราณสีแห่งแคว้นกาสี หากไม่กล่าวถึงแม่น้ำคงคาก็คงจะอำลาเมืองนี้ไปไม่ได้



ในbangkrod.blogspot.com ของพลอยโพยมนี้ มีเรื่องราวอันกล่าวถึงแม่น้ำคงคาไว้หลายครั้งแล้วเช่น




คงคา... พระแม่เจ้าแห่งสายน้ำ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔




อากาศคงคา เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔





คงคาสวรรค์ เมื่อวันที่ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔





คงคาเทวี ...เทพีแห่งสายน้ำ.. เมื่อ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๕๔







ต้นน้ำของแม่น้ำคงคาเกิดบนเทือกเขาหิมาลัย ในคัมภีร์ปุรณะกล่าวว่าน้ำพระคงคาไหลพุ่งออกมาจาก โคมุข หรือปากวัว ซึ่งถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นบันไดขั้นแรกที่พระศิวะเสด็จจากบัลลังก์บนยอดเขาไกรลาศ แล้วไหลลงมาตามช่องเขาสู่ที่ลาดสูงแห่งหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าคงคาทรี ซึ่งชาวฮินดูถือว่าเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วไหลผ่านมายังเมืองพาราณสี







ณ เมืองพาราณสีนี้ บรรดาชาวฮินดูต้องมานมัสการสถานที่สำคัญ ๕ แห่งริมน้ำ เรียกว่าปัญจตีรถะ เฉพาะที่เป็นท่าน่ำ ได้แก่ท่าน้ำ ทั้ง ๔
อันได้แก่




๑. ท่าทศวเมธ
๒.  ท่าปัญจคงคา
๓.  ท่ามณิกรรณิการ์
๔.  ท่าอสีสังคม




ตีรถะ หมายถึง
[ตี-ระ-ถะ] (สก. ตีรฺถ; มค. ติตฺถ) น. ท่าน้ำ, ฝั่งน้ำ




แม่น้ำคงคาตรงเมืองพาราณสีนี้ ไหลกลับขึ้นไปทางทิศเหนือ นับว่าแปลกกว่าที่อื่น ๆ ในคัมภีมหาภารตะจึงสร้างความสำคัญขึ้นว่า ตรงนี้เป็นที่ซึ่งเทวโลก มนุสสโลก ยมโลก มาพบกัน ผู้ใดมาอดอาหารที่นี่หนึ่งเดือน และอาบน้ำตรงนี้ ผู้นั้นจะมองเห็นเทวดาทั้งหลาย

อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่า สตรีอินเดียในพุทธกาล ผู้ทรงคุณวิทยา ผู้ที่มีความรู้เสาะหาสามี บิดามารดา ส่วนมากสอนให้ลูกสาวเรียนปรัชญา แล้วอนุญาตให้ผู้หญิงหาชายที่มีความรู้มาอาบน้ำริมฝั่งคงคา เมื่อประฝีปากกับชายใด พอใจแล้วก็อนุญาตให้แต่งงานกับชายผู้นั้นได้

ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสีปัจจุบันจะมีชาวอินเดียที่เรียกตนเองว่า คงคาบุตร เป็นที่จัดพิธีให้คำแนะนำพวกที่มาอาบน้ำและเป็นที่ขายของเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นสำหรับบูชาเทพเจ้า ที่ท่่าน้ำมีเรือรับจ้างรับนักท่องเที่ยว ในตอนเช้ามีชาวอินเดียมาอาบน้ำ สวดมนต์ บูชาพระอาทิตย์  ดื่มกินน้ำในแม่น้ำคงคา มีพิธีลอยบาป เป็นเช่นนี้นับเป็นพัน ๆ ปี และคงจะมีต่อไปจนกว่าแม่น้ำคงคาจะเหือดแห้งไป


พาราณสียามเช้า ถนนที่ตัดเข้าสู่แม่น้ำคงคา จะไม่อนุญาตให้รถบัสใหญ่เข้ามา เพราะถนนเป็นทั้งสำหรับวัวนอน คนนอนมากหลาย ในยามที่ร้านรวงยังไม่เปิดขายของ ก็จะมีคนหามศพพันผ้าขาวขึ้นแคร่ไม้ไผ่ มีญาติมิตรเดินตสามศพ แต่งกายธรรมดา แล้วแต่ละบุคคลไม่มีพิธีรีตรองว่าใช้สีอะไรเป็นสีไว้ทุกข์ มีเสียงร้องพร้อม ๆ กันว่า " รานะนามะสัตยาไฮ " แปลว่าพระนามของพระเจ้าเท่านั้นเป็นของเที่ยง นอกนั้นตายเกลี้ยงไม่เหลือหรอ คนตายที่เมืองนี้ไม่จำเป็นต้องใช้โลงศพ พอรู้แน่ว่าตายแน่ก็มัดตราสังข์ศพพันผ้าขาว ยกขึ้นแคร่หามไปริมฝั่งแม่น้ำคงคาเผาศพกันเลย

ท่าน้ำทศวเมธ เป็นศูนย์กลางแห่งท่าน้ำทั้งหลาย มีประวัติเล่ากันว่า พระพรหมทำพิธีบูชายัณด้วยม้า ๑๐ ตัวที่นี่ จึงเป็นที่มาของชื่อ ทศวเมธ บางตำนานกล่าวว่า คราวเมื่อพระศิวะทะเลาะกับพระพรหมแล้วตัดศรีษะพระพรหมมาศรีษะหนึ่ง ศรีษะนั้นมาตกที่บริเวณนี้และอันตรธานไป เมืองพาราณสีจึงเป็นเมืองของพระฮินดู คือที่ประทับของพระศิวะ ชาวฮินดูจากสารทิศพยายามมาที่นี้ เพราะถ้ามาตายที่เมืองนี้แล้วก็จะได้ไปสวรรค์

ที่ท่าทศวเมธนี้ แม้แต่ท่านมหาตมคานธีเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ก็มาที่เมืองพาราณสีหลายครั้ง และในตอนเช้าเย็นท่านจะนำฝูงชนมาสวดมนต์ที่ท่าทศวเมธนี้

ท่าน้ำทศวเมธตามความเชื่อของชาวฮินดู เป็นท่านที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญ ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพรหมมาทำพิธีทศวเมธที่นี่


ท่ามณิกรรณิการ์ฆาต
ท่าน้ำนี้นับว่าศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดในบรรดาท่าน้ำของคงคาสวรรค์ โดยเฉพาะการเผาศพ ในคัมภีร์ปุราณะ กล่าวไว้ว่า พระศิวะเสด็จมาที่นี้และต่างหูของพระองค์ข้างหนึ่งหลุดลงที่นี้ ณ ที่ตรงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า "มณิกรรณิการ์" ตามชื่อของต่างหูนั้น ท่าน้ำนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในบรรดาท่าน้ำทั้งหลายทุกคนต้องการให้ซากศพของตนได้มาเผาที่นี่ และทุกคนก็พยายามมาอาบน้ำที่ท่าน้ำนี้ เป็นภาพที่ปรากฏมาเนิ่นนาน เป็นสถานที่คนเป็นมาอาบน้ำและคนตายถูกมาเผาศพในที่เดียวกัน



เพลิงไฟที่จุดๆไว้ ๔,๐๐๐ ปี ไม่เคยดับ ศพหามกันมาไม่เคยหยุด เมื่อกองไฟกองหนึ่งมอดดับลง ญาติผู้ตายก็จะระบายกองกระดูกและเถ้าถ่านลงสู่แม่น้ำคงคา ศพใหม่ก็มาแทนที่ ขนฟืนดุ้นใหญ่ ๆ ออกมาวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทรงสี่เหลี่ยม เมื่อสูงพอสมควรก็หามศพลงมาจากแคร่ บางศพยังสดมาก เมื่อถูกหิ้วตัวยังงอได้ ศพนั้นถูกวางลงบนกองฟืนที่เรียงไว้ แล้วใช้ฟืนที่เหลือวางสุมลงไปที่บนตัวศพ เสร็จแล้วเอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟขึ้น ญาติทั้งหลายจะมารอบกองฟืนที่ลุกโพลง หลั่งน้ำตาอาลัยอย่างสุดซึ้งกับศพนั้น สมัยใหม่นี้รัฐบาลอินเดีย ห้ามมิให้ภรรยาผู้ตายกระโดดเข้ากองไฟตามตามสามี ซึ่งเมื่อสมัยก่อนนั้น จะเห็นภาพภรรยากระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี








ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาจะมีพระราชวังที่ใหญ่โตของราชาแห่งแคว้นกาสีคือ พระราชวังของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีเองและราชาต่างเมือง อีกหลายองค์ที่มาสร้างปราสาทไว้ริมฝั่งแม่น้ำคงคา พระอาจารย์เล่าพระเจ้าพรหมทัตองค์สุดท้ายแห่งกรุงพาราณสี เพิ่งสวรรคตไปไม่กี่ปีนี้เองและปัจจุบันนี้ก็ไม่มีพระเจ้าพรหมทัตอีกแล้ว ฟังแล้วช่างน่าเศร้าใจจริง ๆ ที่ความรุ่งเรืองแห่งแคว้นพาราณสีที่มักเอ่ยถึงควบคู่กับพระเจ้าพรหมทัต เหลือเพียงตำนานเล่าขาน






เหลือให้เห็นเพียงปราสาทร้างหลายปราสาท และอาคารที่ดัดแปลงเป็นอาคารที่พัก สำหรับผู้มารอรับความสุขจากการบูชาพระอาทิตย์และอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ยามพระอาทอตย์ส่องฟ้า และผู้มารอรับความตาย บูชาพระอัคนี ที่พักที่เรียงรายกันอยู่นี้เรียกว่า MOrana Hotel



สุริยะนมัสการ




อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา หิสวฺาวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
คํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ คยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ



บทสวดปริตร ที่พระพาสวดขณะลอยเรืออยู่กลางแม่น้ำคงคา นำพานักท่องเที่ยวนั่งดูการบูชาพระอาทิตย์ในยามเช้า ในกระแสธารมีดอกดาวเรืองที่บรรจุอยู่ในกระทงใบตองที่ผู้คนในลำเรือ ค่อย ๆ บรรจงวางลงสู่ลำน้ำคงคา เหมือนชีวิตที่ล่องลอยในกระแสน้ำและกระเพื่อมไปตามแรงคลื่น มีเสียงสาธยายมนต์จากเทวาลัยริมฝั่ง มีเสียงสวดมนต์ของชาวพุทธ เคละเคล้าด้วยสียงครวญเพลงของผู้มีดนตรีกาล เสียงเหล่านี้รวมเป็นเสียงสวรรค์อันบรรเลงอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเมืองพาราณสี



เมื่อมองไปที่ที่ริมฝั้งน้ำจะมองเห็นผ้าหลากสีของสรรพมนุษย์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ อมนุษย์ที่มาเข้าคิวรอนั้นหากเเป็นสตรีก็สามารถใช้ผ้าสีตามใจชอบ หากเป็นชายใช้ได้เฉพาะสีขาวเท่านั้น คนตายที่ถูกหามมาเผาบางศพยังไหม้ไฟไม่หมด ก็ถูกเคลื่อนลงสู่แม่น้ำคงคาก็มี

ศพบางประเภทก็ใช้วิธ่ถ่วงศพลงคงคาได้เลย คือ ศพนักบวช ศพเด็ก ศพหญิงสาวพรหมจารี ศพถูกงูกัด ศพถูกฟ้าผ่าเป็นต้น



ในขณะเดียวกัน บางครั้งบางคราอาจพบศพที่ลอยอืดขึ้นมา ระหว่างซากศพเหล่านั้นอาจมีดอกดาวเรืองสีเหลืองอร่ามงามตาบอกกล่าวเล่าความว่า ศพเหล่านั้นคือมนุษย์ที่ตายไปจากโลกนี้แล้ว ส่วนดอกดาวเรืองก็คือดอกไม้ที่ตายไปแล้วจากต้นเช่นกันรอการโรยราเหี่ยวเฉาเน่าเปื่อยรอการกลับกลายเป็นปฐวีธาตุเช่นกัน สรพพสิ่งในโลกนี้มีเพียงธาตุสี่ เท่านั้น คือดิน น้ำ ลม ไฟ สภาพสิ่งที่มองเห้น ไม่ว่าเป็นมนุษย์ ต้น ไม้ ดอกไม้ แม้แต่ลำเรือที่ลอยล่องอยู่นำพาผู้คนให้เที่ยวชมสรรพสิ่งที่เป็นอยู่ชั่วนาตาปีแห่งคงคาวารีนี้ซึ่งท้ายที่สุด ก็ต้องกลับคืนสู่ความเป็นจริง สลายกลายเป็น ปฐวีธาตุ แทรกอยู่กับ อาโปธาตุ

ท่าน้ำเมืองพาราณสีแห่งนี้ เป็นคัมภีร์ที่ห่อหุ้มขาวภารตะด้วยประเพณี วัฒนธรรมที่หยั่งรากยึดแน่นในจิตวิญญาณ ผูกตรึงตราไว้ด้วยความศรัทธายากที่ใคร ๆ หรือความศิวิไลซ์ใด ๆ จากซีกโลกด้านไหน ๆ ก็ตามจะซึมแทรกสอดทะลุเข้ามาในเมืองพาราณสีนี้ได้ แม้แต่สิ่งประเสริฐสุดคือพุทธศาสนาก็ตามที

ชาวพุทธทั้งหลายก็ต้องมารร่วมสืบสานและบอกขานความศรัทธาที่กลางลำน้ำคงคาแห่งนี้ด้วยเช่นกัน เป็นการเพิ่มสีสันให้แม่น้ำคงคา อันเนื่องด้วยมีกษัตริย์ แห่งเมืองพาราณสี องค์หนึ่งได้รื้อสถูป ของชาวพุทธ นำอิฐมาก่อสร้างตลาด และนำพระบรมสารีริกธาตุลอยลงสู่แม่น้ำคงคาแห่งนี้นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย เนปาลโดย พระราชรัตนรังษี ( ว.ป.วีรยุทฺโธ)
สารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า





ช่วงที่พลอยโพยมไปเยืิอนแม่น้ำคงคา ในเช้ามืดประมาณ ตีห้าครึ่งนั้น ที่ริมฝั่งน้ำก็เริ่มคลาค่ำไปด้วยผู้คน คือบรรดานักจาริกแสวงบุญนั่นเองรสบัสต้องจอดส่งผู้คนที่ด้านนอกและบอกจุดนัดหมายให้กลับมาขึ้นรถที่บริเวณใด เวลา ประมาณเท่าใดและเดินเท้าต่อไปยังท่าน้ำ ร้านรวงยังไม่เปิด ต้องเดินด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะที่พื้นถนนจะมีทั้ง มูลวัว อุจจาระของผู้คนชาวเมืองที่แอบมาวางระเบิดไว้ในยามค่ำคืน ต้องเดินหลบซ้ายหลบขวามส่งเสียงบอกดกันต่อ ๆ ว่า ระวัง ระวัง ที่ท่าน้ำเลอะเทอะไปด้วยเศษขณะ ดอกไม้ และอื่น ๆ ตามขั้นบันไดและชายฝั่ง



ไกด์นำเที่ยวจัดเตรียมกระทงไว้ให้ในลำเรือที่จะพาล่องแม่น้ำเรียบร้อย และแน่นอนว่าดอกไม้ในกระทงก็คือดอกดาวเรืองนั่นเอง บางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการลอยกระทงครั้งนี้พิเศษอย่างไรเข้าใจแต่เพียงว่า ลอยตามประเพณี ของวันลอยลอยกระทง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง เพียงแต่เป็นการลอยตอนเช้า ของ วันแรม ๑ ค่ำ เดือย ๑๒ แทน ซึ่งปกติการลอยกระทงของไทยเราก็ถือว่าเป็นการลอยกระทงบูชาและขอขมาโทษพระแม่คงคาอยู่แล้วเพราะไม่ได้ใส่ใจคำบอกกล่าวของหัวหน้าทัวร์ หรือพระอาจารย์ที่เป็นวิทยากรไว้แต่สำหรับทัวร์ที่พลอยโพยมไปและรถคันที่นั่ง มีพระอาจารย์พระมหาสุวิทย์ ธัมมศิริ เป็นพระอาจารย์วิทยากร ท่านก็บอกกล่าวเล่าเรื่องให้ทราบ ว่าเราไปลอยกระทงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ในแม่น้ำคงคา



พลอยโพยมไม่พบศพลอยอืด พบแต่การเผาศพ ที่มีเปลวเพลิงสีแดง และควันไฟลอยคลุ้ง พระอาจารย์ห้ามว่าอย่าถ่ายรูปพวกนี้ เป็นการไม่ให้เกียรติ แต่หลาย ๆ คนก็แอบถ่ายมา





โดยเฉพาะที่ริมฝั่งน้ำ มีนักบวชมีชื่อ เป็นที่นับถือของขาวเมืองท่านหนึ่งมานอนรอการสิ้นลม ตั้งแต่เมื่อคืน ตำรวจได้เข้ามาเคลียร์พื้นที่ กะว่าจะสิ้นลมตอนเช้ามืด พวกเราก็ไปมุงดู พระอาจารย์ ก็ห้ามไว้ก่อนว่า อย่าถ่ายภาพนักบวชท่านนี้ แต่ก็เหมือนพระอาจารย์ห้ามเพื่อทำหน้าที่ของพระอาจารย์ แต่ใครจะทำตามหรือไม่ทำ ก็เป็นวิจารณญาณของลูกทัวร์ พลอยโพยม ก็อดใจไม่ได้แอบถ่ายภาพมานิดหน่อยไม่ให้พระอาจารย์เห็น เพราะเกรงใจว่าถ้าท่านเห็นแล้วจะนึกตำหนิเราว่าพูดไม่รู้ฟังหรืออย่างไร

เรารอกันนานสิบกว่านาที ก็ได้เห็นบวชท่านนี้ นอนลมหายใจรวยริน บางครั้งก็ทำท่าสะกดกลั้นความเจ็บปวดทุรนทุรายออกอาการกระสับกระสาย เมื่อใช้สมาธิสะกดได้ ก็จะนิ่งเป็นพัก ๆ แต่ก็ ยังเห็นอาการกระสับกระส่ายในจิตให้เรามองเห็น ในวันนั้นทำให้นึกถึงคำสอนของพระอาจารย์ที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน ว่า การทำสมถะนั้น เป็นการตั้งสมาธิแบบหินทับหญ้าเท่านั้น ไม่ได้ขุดรากถอนโคนต้นหญ่้า (คือกิเลศนั่นเอง)



เราไม่ได้รอจนนักบวชท่านนี้สิ้นลมหายใจ ไปต่อหน้าต่อตา เพราะหมดเวลาสำหรับการเยือนแม่น้ำคงคาเสียแล้ว