สถานที่นี้คือ......วิถีชาวบางกรูด
ลำน้ำบางปะกง... ที่ไหลผ่านบางกรูด ก็ทำให้เกิด วิถีชาวบางกรูดมากมาย ทั้งฃีวิตความเป็นอยู่ประจำวันอันผูกพันกับสายน้ำ ความเชื่อถือที่เคยมีมา การประกอบอาชีพทำมาหาเลี้ยงชีพ เรื่องเล่าขานอันมีทั้งความสุขความทุกข์ ความรื่นรมย์ ความระทมทุกข์ ความสวยสดงดงามและความโหดร้าย เนื่องจากชีวิตเรามักเป็นกระจกสองด้าน สะท้อนภาพตามจริงของมวลมนุษย์
จากลำน้ำที่เป็นแม่คงคา...ผู้ให้ต่อผู้คนสองฝั่งฟาก แม่ที่มองดูเงียบสงบเยือกเย็น โอบอ้อมอารี สวยงามน่าตะลึงแลในยามอรุโณทัยแรกเริ่มแห่งวัน จนอาทิตย์อัสดง และสุริยาลาลับกับคงคา รวมถึงรัตติกาลมาขานเยือน
ในบางคราวแม่คงคานี้ก็ได้กลืนกินชีวิตของผู้คนที่ถึงฆาตต้องพินาศดับสูญด้วยสายแห่งคงคานี้อยู่เนืองๆ
โดยพระแม่นี้ก็มิได้พิโรธโกรธเคืองแต่ประการใด หากเป็นเพราะบุญทำกรรมแต่งแห่งชีวิตเหล่านั้นโดยแท้
เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซากบ่อยครั้ง คือ มีคนตกน้ำตายทั้งเด็กทั้งคนเมา และคำว่าปาฎิหารย์สำหรับบางคนบางครอบครัว
ตัวผู้เล่าเองอยู่ในข่ายปาฎิหารย์
ในวัยเด็กก่อนการตั้งชื่อจริง ผู้เล่าเคยติดตามคุณน้าสะใภ้ที่ลงไปทำงานสวนในตอนสายของวันหนึ่ง คุณน้าสะใภ้ได้สอยมะพร้าวอ่อนให้กิน ปกติชาวสวนมีวิธีการใช้มีดโต้เฉือนเปลือกจากก้นลูกมะพร้าวอ่อนทำช้อนสำหรับตักเนื้อมะพร้าว แต่ผู้เล่าขอคุณน้าขึ้นมาบนบ้านเพื่อจะมาเอาช้อนหอย ( ชาวบางกรูดเรียกช้อนสังกะสี ที่มีสีเคลือบ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงินว่าช้อนหอย) หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับไปที่คุณน้าสะใภ้ คุณน้าคิดว่าผู้เล่าคงเปลี่ยนใจอยู่บนบ้านไม่ลงไปกินมะพร้าวแล้ว จนบ่าย คุณน้าเสร็จงานก็กลับขึ้นบ้าน อีกพักใหญ่ก็เริ่มเอะใจที่ไม่พบผู้เล่าบนบ้าน จึงมีการถามหากันขึ้นว่า ผู้เล่าอยู่กับใครที่ไหน นอกจากคุณน้าสะใภ้แล้วตั้งแต่สายไม่มีใครพบเจอผู้เล่าเลย หาจนทั่วบ้านว่าไม่ไปแอบนอนที่มุมใดของบ้าน สิ่งแรกที่แม่คิดคือหัวสะพานบ้าน กระโดดลงไปงมหาลูกตัวเองตามหัวสะพานก็ไม่พบ ทุกคนยิ่งร้อนใจ จากหัวสะพานบ้าน(ของคุณยาย) เปลี่ยนไปงมที่หัวสะพานบ้านคุณยายคนเล็กที่อยู่ติดกัน ไม่พบอีกเหมือนกัน แม่เริ่มหมดหวังขึ้นมาบนหัวสะพานแล้วก็มองเห็นผู้เล่านอนหงายหน้าลอยติดกอเถาวัลย์ที่ยื่นออกมาริมฝั่งไม่ไกลกับหัวสะพานบ้านคุณยายเล็กนัก แม่ตกใจ ร้องกรีดๆ เรียกแต่ชื่อเล่นของผู้เล่า ตะลึงจนทำอะไรไม่ถูกนอกจากส่งเสียงกรีดๆตะโกน คุณยายเล็กได้สติก่อนใครเพื่อนลงน้ำไปอุ้มผู้เล่าขึ้นมาบนฝั่ง
เป็นความเชื่อของคนที่บางกรูดว่า หากเด็กตกน้ำถ้าพบเห็นภายหลัง พ่อหรือแม่เด็กลงไปอุ้มลูกตัวเองเด็กคนนั้นจะตายไม่รอดชีวิต ผู้เล่าคิดเอาเองว่าเป็นความเชื่อที่คงมาจากสถิติที่เคยมีมานั่นเองกระมัง
การปฐมพยาบาลเด็กตกน้ำ คือการวางตัวเด็กคว่ำบนบ่าของคนที่แข็งแรง คือผู้ชาย ให้ศรีษะและเท้าห้อยลงท้องวางบนบ่าคนแบก แล้วก็ออกวิ่ง แรงวิ่งทำให้บ่าคนวิ่งกระแทกท้องคนตกน้ำ น้ำที่กลืนกินเข้าไปในท้องก็จะไหลออกทางปาก เป็นการขับน้ำในท้องออกมา
วิ่งกันหลายคน วนกันหลายรอบสวนที่มีบริเวณ 5 ไร่เศษ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเด็กหญิงคนนี้ ระดมคนในบ้านและลูกนา จนบ่ายจัด เสียงเล่าก็ข้ามฝั่งแม่น้ำ ว่า ที่บ้านนี้มีเด็กตกน้ำตายเพราะตัวเด็กหญิงเริ่มเขียวแล้ว
พ่อกลับจากทำงานที่ตัวจังหวัดมาถึงวัดบางกรูดก็มีคนบอกว่า ลูกสาวตกน้ำตาย พ่อกระโจนลงเรือพายจ้ำไม่กี่พรวดก็กลับถึงบ้าน แต่เมื่อมาถึงก็พบว่าลูกสาวฟื้นแล้ว
อันเนื่องจากมีญาติ ชื่อ พี่อุทัยวรรณ สรรพ์พิบูลย์ ที่อยู่บ้านในคลองศาลเจ้าไปธุระที่อื่น ขากลับนั่งเรือเมล์มาขึ้นเรือที่บ้าน ( ขึ้นเรือ แปลว่าก้าวขึ้นจากเรือขึ้นฝั่งน้ำ ลงเรือ คือการก้าวลงจากฝั่งน้ำ นั่งในลำเรือ) พี่อุทัยวรรณ พยายามมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ แล้วในที่สุดพี่อุทัยวรรณก็แนะนำให้ ก่อไฟกองใหญ่พอประมาณที่จะเอากระทะใบบัว (ที่เมื่อก่อนหุงข้าวให้คนงานกิน ใช้กวนกระยาสารท กวนกะละแม) คว่ำครอบถ่านไฟที่จุดนั้น เอากระสอบปูวางที่ก้นกระทะที่คว่ำอยู่ เอามืออังดูรู้สึกถึงความร้อนพออุ่นๆของกระสอบ เอาตัวเด็กวางพาดคว่ำหน้าให้ศรีษะและเท้าห้อยลงเหมือนอยู่บนบ่า แล้วก็รอเวลาปาฎิหารย์
ปาฎิหารย์เกิดจริงกับเด็กหญิง เมื่อร่างกายได้รับไออุ่น (หรือจะเป็นบางทีมีควันไฟปนเล็กน้อยจากถ่านฟืน) เด็กหญิงที่นอนเงียบมาเป็นชั่วโมงๆ ก็เกิดมีเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ แล้วน้ำก็ไหลพรูออกจากปาก รอว่าน้ำหยุดไหลแล้ว ก็กลับเอาเด็กขึ้นพาดบ่าใหม่วิ่งกระแทกเพื่อให้น้ำออกจากท้องเร็วขึ้น
พ่อจึงตั้งชื่อเด็กหญิงคนนี้ว่าอมร แปลว่าไม่ตาย ห้วน สั้นตรงความหมาย ทั้งที่ลูกชายอีกสี่คนของพ่อตั้งอย่างค่อนข้างไพเราะแต่ก็มีความหมายตรงกับบุคลิคของแต่ละคนจริงๆ
ปาฎิหารย์ที่สองของบ้าน เกิดกับน้องสาวชื่อนุชนาถ เป็นลูกสาวของคุณป้าตกน้ำตอนอายุมากกว่าผู้เล่า วันนั้นน้องนุชเธอนุ่งกระโปรงบานลายดอกสีแดง
ในตอนสาย ญาติอีกบ้าน ชื่อ พี่สนั่น วงศ์พยัคฆ์ พายเรือกลับจากวัดบางกรูกด สังเกตเห็นผ้าลายดอกสีแดงลอยติดลำไม้ไผ่ที่ปักอยู่หน้าหน้าผู้เล่าห่างฝั่งพอประมาณ เนื่องจากเมื่อคืนพี่ประมุข สามีพี่อุทัยวรรณ เอาเรือยนต์ของตนและเรือพ่วงอีก 2-3 ลำ ออกมาจอดที่หน้าบ้านรอรุ่งเช้าเพื่อไปตวงค่าเช่านา ทิ้งลำไม้ไผ่ที่ใช้ปักเป็นหลักผูกเรือไว้ยังไม่ได้ถอนลำไม้ไผ่ออกไป
พี่สนั่นพายเรือมาใกล้จึงพบว่าเป็นเด็กหญิงนุชมีกระโปรงพันวนอยู่กับลำไม่ไผ่ ด้วยกระแสน้ำที่กำลังไหลขึ้น หงายหน้าอยู่เช่นกัน จึงพากลับขึ้นมาบนฝั่ง และก็รอดชีวิตกลับมาด้วยวิธีเดียวกัน
คงเนื่องจากเราสองคนเริ่มมีแรงที่จะดิ้นรนในการที่อยากมีชีวิตอยู่ เราสองคนจึงมีลักษณะของการหงายหน้าปริ่มน้ำและที่ลอยน้ำได้เพราะกินน้ำ(สำลักน้ำ) เข้าไปในท้องในปริมาณมากพอที่ทำให้ตัวลอยปริ่มน้ำอยู่ได้ เด็กหญิงนุชรอดตายเพราะกระโปรงพันลำไม้ไผ่ ไม่ลอยเลยออกไปไกลหน้าบ้านนัก ซึ่งกระแสน้ำก็แรงพอที่พัดพาเด็กหญิงนุช ออกไปไกลฝั่งหลายวาทีเดียว
ส่วนผู้เล่าที่ตกน้ำหลายชั่วโมง จากสายจนบ่าย หากลอยตามกระแสน้ำที่ไหลลง สุดจะดาได้ว่าจะลอยเลยบ้านไปถึงไหน คงสุดปัญญาที่มานั่งเล่าเหตุการณ์ ทั้งสองเรื่องนี้กับเพื่อนๆได้อ่านกัน ต้องขอบคุณกอเถาวัลย์เยื้องหน้าบ้านคุณยายเล็กและพี่อุทัยวรรณ ส่วนน้องนุช ก็ต้องขอบคุณ ลำไม้ไผ่ ของพี่ประมุข และตัวพี่สนั่น
เมื่อไปเรียนหนังสือผู้เล่าไปอยู่กับคุณน้าที่บ้านพักแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทบุรี( ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ) ที่มีบ้านพักหลังโรงพยาบาลอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และมีท่าขึ้นลงเรือ เคยพบเห็นผู้ปกครองพาลูกหลานที่ตกน้ำมาโรงพยาบาลหลายครั้ง พบว่า ที่โรงพยาบาลจะรับตัวเด็กไว้แล้ว ผายปอดจับนอนให้น้ำเกลือ หรืออาจให้ออกซิเจน และส่วนใหญ่ ก็ไม่รอดชีวิต ( เพราะมันช้าเกินการ) ผู้เล่าเคยแนะนำให้ญาติใช้วิธีแบบกับที่ตัวเองเคยรอดชีวิตมา แต่ เขาเหล่านั้นเชื่อมั่นว่าเด็กมาถึงมือหมอน่าจะรอดกว่าคำบอกเล่า จากนิสิตคนหนึ่ง จริงๆแล้ว ขั้นตอนกว่าหมอจะได้มาเห็นเด็กก็นานพอที่เด็กจะฟื้นด้วย ภูมิปัญญาพื้นบ้านมากกว่าการผายปอด การให้น้ำเกลือ การใช้ออกซิเจน การให้ยาของการแพทย์สมัยใหม่ (ขออภัยกับความคิดนี้หากมีผู้ไม่เห็นด้วยนะคะ)
เรื่องเล่านี้คงพอมีประโยชน์ต่อไปภายหน้าสำหรับอีกหลายๆชีวิตที่ตกน้ำ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ก็คงมีปัญหากับเรื่องของการก่อกองไฟ และกระทะใบใหญ่อย่างคำบอกเล่า ว่า มีทุกบ้านหรือไม่เพราะความทันสมัยเข้ามาเยือน บ้านริมน้ำก็อาจไม่มีฟืน ไม่มีถ่าน เลิกทำขนมด้วยกระทะใบใหญ่ๆ
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่จบลงด้วยความเศร้าโศกระทมทุกข์
เยื่องหน้าบ้านคนละฝั่งน้ำ มีโรงสีขนาดเล็กของนายบู๋เลียด วันหนึ่ง ลูกสะใภ้แม่ลูกอ่อน อุ้มลุกน้อยมาอาบน้ำที่บันไดของโรงสี เพราะน้ำขึ้นเต็มฝั่ง
บันไดของโรงสีนี้แตกต่างจากบันไดสะพานท่าน้ำตามบ้านคนทั่วไป คือ บันไดของโรงสี ใช้ไม้กระดานตีเป็นแผงขึงเต็มหน้าพื้นที่ที่ติดชายแม่น้ำ เป็นแผงไม้กว้างใหญ่ เพื่อการขนข้าวขึ้นลงเรือและโกดังโรงสี แผงไม้นี้ทอดเอียงให้ลาด พอเดินได้ไม่ชันนัก เวลาคนแบกข้าวขึ้นลง และใช้งานได้กว้างขวาง การจอดเรือเพื่อทำงานนี้ได้หลายลำพร้อมๆกัน บนแผงไม้ใช้ไม้หน้าสาม ตีเป็นขั้นๆ ค่อนข้างถี่ ดังนั้นใต้ผืนน้ำเวลาที่น้ำขึ้นจะมีแผ่นกระดานของแผงไม้รองรับตลอดแนว
ขณะอาบน้ำให้ลูกน้อยนั้น เนื้อตัวเด็กที่ถูกน้ำ จะทำให้ตัวเด็กลื่นๆ แม้ไม่ถูตัวด้วยสบู่ อยู่มากกว่าผิวเด็กที่ไม่ถูกน้ำ ไม่ทราบว่าขณะนั้นใช้สบู่กับตัวเด็กด้วยหรือไม่ จู่ๆ หนูน้อยก็พลัดหลุดจากมือแม่ หลุดลอยไป แม่ไล่คว้าไม่ทัน ในลักษณะ เด็กจมน้ำ แม่ก็พยายามควานหาลูกและร้องให้คนช่วย
คนอีกฝั่งแม่น้ำ ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวก เห็นคนงานของโรงสีกระโดดลงน้ำที่ท่าน้ำ พวกเราที่อยู่คนละฝั่งเห็นแต่ความโกลาหล
แล้วคำเล่าสู่กันฟังในวันรุ่งขึ้นที่ตลาดบางกรูดว่า เด็กน้อยตกน้ำตายในวันนั้น ด้วยเหตุการณ์ข้างต้น
น่าใจหายกับคุณแม่ท่านนี้คงเป็นฝันร้ายไปตลอดชีวิตที่ทำลูกหลุดพลัดจากมือแม่เองตามไขว่คว้าได้สัมผัสลูกไหวๆสุดท้ายเพียงปลายมือ ก็ไม่มีใครเขาพาเด็กอ่อนลงอาบน้ำในแม่น้ำกันสักบ้าน.
กับอีกข่าวว่ามีคนโน้นคนนี้เมาตกน้ำตาย
เมื่อย้ายบ้านจากบางกรูดมาอยู่ในที่ดินที่คุณยายยกให้แม่ แม่เคยพาหลานสาวอายุขวบกว่าๆนั่งเรือพายในคูน้ำ หลานสาวคนนี้ซุกซน ลุกขึ้นยืนแล้วตกป๋อมลงในคูน้ำ แม่เล่าว่า หลานสาว ลงไปนอนแอ้งแม้งลักษณะหงายท้อง เนื่องจากน้ำตื้นเพราะเป็นคูน้ำเอง แม่จึงมองเห็นท่านอนแอ้งแม้งของหลานคนนี้ โดยที่หลานเขาไม่ได้เคลื่อนไหวมือหรือเท้าของตัวเองเลย เลยทำให้มองภาพว่า หากเด็กเล็กเกินไปตกน้ำมือเท้าก็จะไม่ช่วยในการไขว่คว้าหาทางรอดละกระมัง และหลานสาวเขานุ่งกางเกงขาสั้นไม่เป็นกระโปรงที่ช่วยต้านน้ำ
ในวัยเด็กของผู้เล่าเด็กหญิงส่วนใหญ่นุ่งผ้าซิ่นขนาดของเด็กหรือกระโปรงกันเพราะกางเกงจะเย็บยากกว่า จึงมีแต่เด็กชายนุ่งกางเกงขาสั้นกัน
โดยเฉพาะผ้าซิ่น เมื่อนุ่งกระโจมอก แล้วเปิดริมชายผ้าซิ่นด้านปลายเล็กน้อยใช้มือวักอากาศเข้าในผ้าซิ่น เรียกว่าการตีโปง ก็จะได้โปงผ้าซิ่นลอยตุ๊บป่องช่วยพยุงตัวในน้ำ แล้วก็จะค่อยๆแฟบลง ก็ตีโปงกันใหม่อีกได้ตลอดเวลา
คนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำต้องฝึกหัดเด็กภายในบ้านให้ ว่ายน้ำเป็นและพายเรือเป็น หลังจากสอนให้เด็กๆรู้จักการใช้มือพุ้ยน้ำใช้เท้าถีบตัวเองให้เคลื่อนที่ในน้ำ ใช้เท้ากระทุ่มน้ำได้ เด็กก็ต้องช่วยตัวเองด้วยการใช้เครื่องช่วยชูชีพที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่นการใช้มะพร้าวแห้งเจาะทำเชือกผูกเป็นคู่ วางระหว่างอกหรือการเกาะสะโพกจากเป็นทุ่นช่วยพยุงตัว เมื่อว่ายน้ำได้แล้วจึงจะหัดการพายเรือเผื่อว่าเรือล่มจะได้ไม่เกิดอันตราย
การมีบ้านอยู่ริมน้ำ เราก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ คือเป็นหน่วยกู้ชีพช่วยเหลือคนที่เรือล่ม โดยเฉพาะในเวลาที่คลื่นลมแรงมักมีเรือล่มกลางแม่น้ำที่มีคลื่นแรง บางครั้งก็เป็นพระที่พายเรือบิณฑบาตข้ามฟากแม่น้ำในตอนเช้าเพราะทรงตัวในเวือไม่ดี เด็กผู้ชายในบ้านก็มีวีรกรรมนี้ให้ทำอยู่บ่อยครั้ง แม่น้ำก็ได้สร้างนิสัยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ
แม่น้ำก่อให้เกิดอาชีพประมงหลากหลายรูปแบบ เช่นทำโพงพาง การรออวน การพายกุ้ง การตกกุ้ง การตกปลา การทอดแห การล้อมซั้ง การปิดคลอง การยกยอ การไล่ช้อนกุ้งปลาตามริมฝั่ง เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆล้วนคิดกันขึ้นมาตามพื้นภูมิปัญญาชาวบ้าน ภาพการหาเลี้ยงชีพหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลและระบบนิเวศของลำน้ำ ผู้คนขวักไขว่เคลื่อนไหวเติมสีสันให้กับลำน้ำ
เด็กๆกับการแข่งว่ายน้ำ พายเรือ เป็นของธรรมดา บางครั้งก็มีการแข่งว่ายข้ามแม่น้ำ การแข่งพายเรือของเด็ก พายเดี่ยวด้วยเรือที่มีอยู่ไม่ใช่แข่งเรือยาวซึ่งมักจะมีในเทศกาลงานใหญ่ๆ ดังนั้นหากเรือใครเป็นเรือบด ก็จะได้เปรียบในรูปทรงของเรือที่เรียวเพรียวทั้งลมและกระแสน้ำ
การแข่งดำน้ำ ว่าใครจะทนอึดดำน้ำได้นานกว่ากัน การกระโดดน้ำจากหัวสะพาน การพุ่งหลาวลงน้ำ เด็กผู้หญิงมักสู้เด็กผู้ชายไม่ได้ แถมเด็กหัดใหม่ก็จะถูกพี่ๆผู้ชายกลั่นแกล้งหลอกให้กระโดดด้วยการเอาท้องลงน้ำ จุกกันไปหลายยกกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอก ถ้าน้ำขึ้นไม่มากเอาหัวพุ่งลงมาหัวจิ้มดินเลนก็มีบ่อยๆ แต่ที่อกสั่นขวัญหาย ก็อยู่ตรงที่ พี่ๆแอบดำน้ำมาฉุดขาลากไปให้จมน้ำสำลักกระอักกระไอ เพราะมักมีคำโจษขานว่าในลำน้ำมีผีพรายจ้องมาฉุดเด็กๆ แต่แม้จะหวั่นกลัวแต่เด็กริมน้ำเปรียบก็เหมือนปลา เห็นน้ำแล้วก็อยากลงเล่น ลงว่ายโดยเฉพาะเล่นเป็นกลุ่มหลายๆคน มีเรื่องให้ตื่นเต้นสนุกสนาน เล่นน้ำกันจนนิ้วมือเหี่ยวเซียวซีด พวกผู้ใหญ่ต้องมาร้องเรียกให้เลิกเล่นน้ำกันบ่อยๆ บางทีเราพายเรือออกห่างฝั่ง แล้วก็กระโดดลงน้ำ ว่ายพาเรือเข้าฝั่งก็มีเหนื่อยก็เหนื่อย มาถึงวันนี้ยังแปลกใจว่าวิธีเล่นแบบนี้สนุกตรงไหนกันหนอ เป็นเพราะเด็กๆก็พยายามคิดค้นหาวิธีเล่นน้ำให้ดูแปลกพิสดารเท่านั้นเอง
พิษสงของการเล่นน้ำ บางที่ก็เป็นไข้หากเล่นตอนแดดจัด และบางทีก็เกิดเป็นหูน้ำหนวกรักษากันยาวนาน