วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๑๒๑ พระอานนท์ ๑๖ ออกแบบจีวร
จิตรกรรมรูปพระภิกษุจีนและพระภิกษุชาวเอเชียกลาง สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ โปรดสังเกตลวดลายของจีวร ซึ่งเป็นลายสี่เหลี่ยมเลียนแบบลายตารางคันนา อันเป็นเอกลักษณ์ของจีวรในพุทธศาสนาทุกนิกาย ไม่ว่าจะทำด้วยวัสดุใดและเป็นสีใดก็ตาม
ขอขอบคุณภาพจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/ไตรจีวร
มีรายละเอียดเพิ่มเติมความสามารถในเรื่องความสามารถในความเป็นช่าง ของพระอานนท์มาเล่าเสริมดังนี้
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานกล่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้ใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร
แต่ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อกันไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งภิกษุบางรูปได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยบ่อยครั้ง เนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล
จนต่อมาพระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธจึงได้มีพระพุทธดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า
"อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดิน ขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?"
พระอานนท์ทูลตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า."
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า."
การห่มจีวรของพระภิกษุนิกายฉาน (เซน) แบบจีน
ขอขอบคุณภาพจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/ไตรจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมิกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำ ที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้"
...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ"
ที่พระพุทธองค์มีรับสั่งให้ออกแบบจีวรเช่นนั้น เพราะมีพระประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑. ผ้าที่มีราคาแพงๆ หากตัดเป็นชิ้นๆ จะทำให้ผ้าราคาตก แทบไม่มีใครต้องการ
๒. เมื่อนำเศษผ้าที่ตัดแล้วมาเย็บติดกัน จะทำให้เกิดรอยตะเข็บ มีตำหนิขาดความสวยงาม
๓. ยิ่งนำไปย้อมเปลี่ยนสีพร้อมทั้งทำเครื่องหมาย (ทำพินทุ ใช้ปากกาหรือดินสอทำเป็นจุดที่ผ้าจีวร)
ทำให้สีของผ้าเศร้าหมอง ไม่มีค่าไม่มีราคา ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าสนใจ ไม่มีประโยชน์สำหรับใครๆ โจรผู้ร้ายไม่แย่งชิง แบบจีวรที่ถูกกำหนดตัดเย็บมาแต่โบราณ จึงถือเป็นแบบอย่างใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/พระอานนท์
http://th.wikipedia.org/wiki/ไตรจีวร
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=3086.0;wap2
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น