วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557
พระอานนท์ ๑๘
ขอขอบคุณภาพจากwww.lacamomille.com
นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า
งานรับสั่ง
เช่นพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาของท่าน
รับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน
รับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุมเพื่อฟังอานาปานสติ รับสั่งให้ท่านแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น
งานมอบหมาย
มีข้อมูล ถึงการเข้าพระราชวังพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์ ได้ทูลนิมนต์พระพุทธองค์ สองครั้งคือ ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตรแก่พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตรประจำในที่แห่งเดียว เพราะมีคนจำนวนมากต้องการจะทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น จึงทูลขอพระภิกษุ ๑ รูปให้ไปรับนิตยภัตรของพระองค์ พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะทรงลืมสั่งให้คนจัดนิตยภัตรถวายไปบ้าง แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ
ครั้งที่สอง
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ได้ศึกษาธรรม จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสองพระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระหนี้ ไปกับพระภิกษุอื่น
ปรากฏว่าพระเถระเจ้าหายไปทีละรูปสองรูป จนเหลือพระอานนท์รูปเดียว ที่ท่านหายไป ก็เพราะพระราชาก็ดี พระมเหสีทั้งหลายก็ดี ไม่ค่อยเอาพระทัยใส่ แรก ๆ ก็ดีอยู่มากันพร้อมหน้า ตั้งอกตั้งใจฟังธรรม นาน ๆ เข้าก็ขาดหายไปทีละองค์สององค์ พระราชาเองพระราชกรณียกิจก็มาก ตกลงเหลือเฉพาะพระนางมัลลิกา พระมเหสีองค์หนึ่งและบริวารไม่กี่คน และพระคุณเจ้าที่ไปประจำคือพระอานนท์เถระความทราบถึงพระพุทธองค์
พระองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า พระอานนท์เถระเป็น “ การณวสิโก” แปลกันว่า เป็นผู้หนักในเหตุผล
และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้
พระพุทธองค์ตรัสให้พระภิกษุลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ
เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชก จนได้สำเร็จพระอรหันต์ปัจฉิมสาวก
พระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระฉันนะถือตัวว่า เป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์ คราวเสด็จสู่มหาภิเนกษกรม เป็นผู้ว่ายาก ไม่รับโอวาทใคร ๆ แม้จะกรุณาเตือน เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จักเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น ด้วยหาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติแก่ท่านอย่างไร ในกาลเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว”
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์ แก่ฉันนะเถิด” พระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“พรหมทัณฑ์ เป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“อานนท์ การลงพรหมทัณฑ์ นั้น คือ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอนเลย ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำอันเป็นกิจธุระโดยเฉพาะ อานนท์ เมื่อฉันนะถูกสงฆ์พรหมทัณฑ์แล้ว จักสำนึกในความผิด และสำเหนียกในธรรมวินัย เป็นผู้ว่าง่าย ยอมรับโอวาท ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล”
แล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่าให้ภิกษุทั้งหลายลงพรหมทัณฑ์ต่อพระฉันนะอดีตมหาดเล็กผู้ถือว่าตนมีความสำคัญกว่าผู้ใดเพราะเคยติดตามพระพุทธองค์ตั้งแต่ครั้งเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ด้วยเหตุนี้พระฉันนะจึงเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ไม่ยอมฟังคำของพระเถระอื่น ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.phutthathum.com//พระพุทธเจ้า/ปรินิพพาน/ทรงตรัสให้พระภิกษุลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-anon-02.htm
ป้ายกำกับ:
...บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น