วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๑๑๙ พระอานนท์ ๑๔
ขอย้อนไปถึงก่อนที่จะถึงวันทำสังคายนา
เมื่อพระมหากัสสปเถระเลือกพระเถระที่สำเร็จอรหันต์เพื่อร่วมกันสังคายนาได้ ๔๙๙ รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก
ความจริงท่านต้องการจะเลือกเอาท่านพระอานนท์ แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์
ครั้นจะเลือกท่านพระอานนท์ก็เกรงจะถูกครหาว่า "เห็นแก่หน้า" เพราะท่านรักพระอานนท์มาก
แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลด้วยดี เพราะท่านพระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นพหุสูตเป็นธรรมภัณฑาคาริก จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่น ๆ ๔๙๙ รูป แล้วนิ่งเสีย
ต่อพระสงฆ์ลงมติว่าท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน ๕๐๐ รูป
ในที่ประชุมสงฆฺในครั้งนั้นที่ได้เสนอให้พระมหากัสสปะเถระเลือกพระอานนท์เถระเข้าไปสังคายนาด้วยโดยให้เหตุผลว่า
แม้พระอานนท์เถระจะเป็นพระเสขบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ยังต้องศึกษา) แต่ท่านไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ ประการ
พระอานนท์เถระ เป็นเหมือนคลังพระสัทธรรม (ธรรมที่ดีธรรมที่แท้) เพราะได้สดับจากพระพุทธเจ้ามากว่าพระเถระทั้งหลายเป็นอันมาก
พระมหากัสปะเถระจึงเลือกพระอานนท์เถระเข้าร่วมในการสังคายนาและประกาศด้วยญัติทุตยกรรมวาจาให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมรับมติ ๓ ประการคือ
๑. ยอมรับให้พระเถระจำนวน ๕๐๐รูป ที่คัดเลือกตามมติสงฆ์เป็นพระสังคีติกาจารย์ มีหน้าที่ในการสังคายนาพระธรรมวินัย
๒. ใช้สัตบรรพต ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เป็นที่ทำสังคายนา
๓. ห้ามพระอื่นนอกจากพระสังคีติกาจารย์ เข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสะดวกแกการบิณฑบาต และป้องกันผู้ไม่หวังดีทำอันตรายต่อการสังคายา
เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงลงมติยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้วพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายก็เดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ ขอพระบรมราชูปถัมภ์ จากพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องการซ่อมวิหาร ๑๘ ตำบล สร้างสถานที่ทำสังคายนา
ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับภาระเกี่ยวกับด้านราชอาณาจักรทุกประการ
พระอานนท์เถระได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตก่อนการทำสังคายนา
จึงเป็นอันว่าการทำสังคายนาในคราวนั้นทำโดยพระอรหันต์ล้วนทั้ง ๕๐๐ องค์ โดยเริ่มลงมือทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้วได้ ๓ เดือน
พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรม พระอุบาลีเถระกับพระอานนท์เถระทำหน้าที่วิสัชชนาพระวินัยและพระธรรมตามลำดับ โดยที่ประชุมกำหนดให้สังคายนาพระวินัยก่อน เพราะถือว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาเมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาย่อมชื่อว่าดำรงอยู่
ในชั้นแรก พระมหากัสสปะเถระ พระอุบาลีเถระ พระอานนท์เถระได้ประกาศสวดสมติตน เพื่อทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชชานาพระวินัยและพระธรรม ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสงฆ์
ต่อแต่นั้นพระมหากัสสปะเถระจะสอบถามพระวินัยแต่ละข้อในส่วนที่เกี่ยวกับ สัตถุนิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้นแห่งสิกขาบทแต่ละสิกขาบท
เมื่อพระอุบาลีตอบไปตามลำดับแล้ว พระสงฆ์ที่ประชุมกันจะสวดพระวินัยข้อนั้น ๆ พร้อมกัน เมื่อตรงกันไม่ผิดพลาดแล้วสงฆ์รับว่าถูกต้อง จึงถามข้ออื่นต่อไป
ทำกันโดยนัยนี้จนจบพระวินัยปิฎกแบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ ๕ หมวด คือทิกกรรม ปาจิตตีย์ มหาวรรคจุลวรรค และบริวาร (ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ถึง ๘ เล่ม เรียกว่า เป็นหัวใจพระวินัยว่า อา.ปา.ม.จุ.ป.)
ในด้านพระสูตรนั้นท่านเริ่มสังคายนาจากพระสูตรขนาดยาวก่อน คือ พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร เป็นต้น
สิ่งที่พระมหากัสสปะเถระ ถามคือ นิทาน บุคคล เนื้อหาแห่งพระสูตรนั้น
เมื่อพระอานนท์เถระตอบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สาธยายพระสูตรนั้น ๆ พร้อมกันจนจบพระสูตรทั้งหมด
โดยแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา ถึง ๗ เดือนจึงสำเร็จ
หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้ว พระอานนท์เถระได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า ก่อนจะปรินิพาพาน พระพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า
"เมื่อเราล่วงไปสงฆ์ยังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียบ้างก็ได้"
แต่พระอานนท์เถระไม่ได้กราบทูลว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ นั้นคือสิกขาบทอะไรบ้าง กับสงฆ์ไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเช่นไรชื่อว่าเล็กน้อย
พระมหากัสสปะเถระจึงเสนอเป็นญัตติในที่ประชุมว่าด้วยญัตติทตุยกรรมวาจาความว่า
- สิกขาบททั้งหลายบางอย่างก็เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านย่อมทราบว่า อะไรควรหรือไม่ควร สำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย
- หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่าพวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย ในขณะที่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสนานิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ
- ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ และอย่าได้บัญญัติสิ่งที่พระพุทธมิได้ทรง บัญญัติไว้ สมาทานศึกษาตามสิกขาที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dhammathai.org/buddha/g83.php?#1
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น