วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในคราวกระทำ สังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระอรหันต์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึง ๙ สาย หนึ่งในนั้นคือ สายสุวรรณภูมิซึ่งมีท่านพระโสณะและพระอุตตระเป็นพระอรหันต์ที่มาประกาศธรรมและสั่งสอนธรรมในดินแดนแถบนี้ ซึ่งปัจจุบันได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซีย เมื่อพระเถระทั้งสองประกาศธรรมแล้ว ก็มีการสืบทอดแนวปฏิบัติต่อๆ กันมาโดยลำดับ


พระมหาสีสะยาดอ (โสภณมหาเถระ)

ในยุคที่มีการปฏิบัติแนวสติปัฏฐานสี่นั้น ได้ปรากฏแนวการสอนวิปัสสนาแบบดูอาการเคลื่อนไหวของท้อง ซึ่งในกาลต่อมาได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยมีท่านพระมหาสีสะยาดอ (โสภณมหาเถระ) เดินทางไปสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ จนได้รับการขนานนามว่า พองยุบในแนวสติปัฏฐานสี่ ยังประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วว่า “พองยุบบันลือโลก” และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ท่านมหาสีสะยาดอ จึงเรียกการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “มหาสีเทคนิค” ปัจจุบันมีลูกศิษย์เป็นเครือข่ายมากกว่า ๕๐๐ สาขาทั่วโลก และหนึ่งในศิษย์ของท่านมหาสีสะยาดอ คือ หลวงพ่อภัททันตะอาสภมหาเถระที่ได้สืบทอดวิปัสสนากรรมฐานในแนวนี้ และได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)

โดยได้รับอาราธนานิมนต์จากรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยในสมัยนั้น นำโดยพระพิมลธรรม ( อาจ อาสภมหาเถระ ) ซึ่งต่อมา คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตรักษาการสมเด็จพระสังฆราช อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ทำให้งานวิปัสสนากรรมฐานในขณะนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีผู้เลื่อมใสศรัทธา ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสเข้ามาปฏิบัติกันมากถึงขนาดว่าระเบียงพระวิหารรอบพระอุโบสถถูกเนรมิตเป็นห้องกระจกเพื่อใช้เป็นห้องกรรมฐาน แม้แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ทรงสนพระทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า ก็ยังทรงเสด็จมาศึกษาปฏิบัติ และทรงเลื่อมใสศรัทธาปฏิบัติต่อเนื่อง กระทั่งต้องนิมนต์พระอุดมวิชาญาณ (โชดก ญาณสิทฺธิ;สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาคือ พระธรรมธีรราชมหามุนี) เป็นผู้ถวายพระกรรมฐานและสอบอารมณ์ ณ วังสระปทุม



ดร.พระภัททันตะอาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.vipassanacm.com/th/view.aspx?id=621

พระอุดมวิชาญาณ ครั้งที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ นั้น พระพิมลธรรม(อาจ อาสภมหาเถระ) ได้ส่งให้ไปเรียนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่า และได้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อใหญ่ ( หลวงพ่อ ดร.พระภัททันตะอาสภมหาเถระ ) ตั้งแต่ครั้งนั้น ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ได้สำเร็จภารกิจแห่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และได้เดินทางกลับมาเป็นพระวิปัสสนาจารย์ พร้อมกันนี้ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมยังได้นิมนต์พระเถระพม่า ๒ รูป คือ หลวงพ่อ ดร.พระภัททันตะอาสภมหาเถระรูปหนึ่งและอีกรูปหนึ่งคือท่านอาจารย์อินทวังสะ (ภายหลังเดินทางกลับไปประเทศพม่า) มาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ เป็นระยะเวลาถึง ๑๐ ปี ฉะนั้น วิปัสสนากรรมฐาน แนวมหาสีในประเทศไทย จึงเริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ที่วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน
ดร.พระภัททันตะอาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ ได้ละสังขารเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ ด้วยโรคปอดอักเสบที่โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุได้ ๑๐๐ ปี ๘๑ พรรษา

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)

ชีวประวัติ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

นามเดิมชื่อ “หนูคล้าย นามโสม” (ภายหลังสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) แห่งวัดมหาธาตุ ได้เปลี่ยน ชื่อให้ใหม่ว่า “โชดก”เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๖๑ ปีมะเมีย ณ บ้าน หนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โยมบิดาชื่อ “นายเหง้า นามโสม” โยมมารดาชื่อ “นางน้อย นามโสม” มีพี่น้องร่วมตระกูลทั้งหมด ๙ คุณปู่ของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ชื่อขุนวงษ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย มีฐานะดี ส่วนบิดาของท่านเป็นชาวนา แต่มีความรู้พิเศษ เป็นหมอชาวบ้าน-ช่างไม้-ช่างเหล็ก ประจำหมู่บ้าน

เมืออายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์กลาง จังหวัดขอนแก่น พ.ศ.๒๔๗๘ ได้ย้ายมาอยู่ในกรุงเทพมหานครโดยครั้งแรก ได้อยู่ที่วัดเทพธิดาราม สอบ ป.ธ.๓, ป.ธ. ๔ และนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักนี้

พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุโดยขุนวจีสุนทรรักษ์เป็นผู้นำมาฝากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี )ขณะดำรงสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ “พระพิมลธรรม” ได้เมตตารับไว้ให้อยู่ คณะ ๑ วัดมหาธาตุฯ



วุฒิการศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ในสำนักเรียน วัดโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้นักธรรมชั้นโท ในสำนักเรียน วัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๑ สอบได้นักธรรมชั้นเอก ป.ธ. ๓, ป.ธ.๔ ในสำนักวัดเทพธิดาราม แขวงสำราญราษฎร์เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๙๔ สอบได้ ป.ธ.๕-ป.ธ.๙ ในสำนักวัดมหาธาตุฯ ในสมัยสอบ ป.ธ.๙ ได้ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้น นับเป็นผู้สอบได้เพียงรูปเดียวในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๒ ไปปฎิบัติศาสนกิจ ณ จังหวัด ขอนแก่น โดยครั้งแรกเปิดสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม-บาลี ที่วัดสว่างพิทยา อำเภอเมือง ประมาณ ๑ ปี แล้วย้ายมาอยู่วัดศรีนวล ในเขตเทศบาล เมืองขอนแก่น ปรากฏว่า ได้ส่งเสริมการศึกษาในสำนักนี้ให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต่อมา ท่านได้ลาออกจาก ตำแหน่งสาธารณูปการจังหวัด เพื่อกลับมาอยู่วัดมหาธาตุฯ สำนักเดิม

.


งานด้านวิปัสสนาธุระ
พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้เข้ามาปฎิบัติวิปัสสนากรรมธานอยู่ ณ มณฑปพระธาตุ วัดมหาธาตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๔ รวมเวลา ๗ เดือน ๑๙ วัน โดยพระภาวนาภิรามเถระ (สุข) วัดระฆังโฆสิตารามเป็นอาจารย์สอน

พ.ศ. ๒๔๙๕ ไปดูการพระศาสนาที่ประเทศพม่า และได้ปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักศาสนายิสสา เมืองแรงกูน ประเทศพม่า เมื่อสำเร็จการศึกษาและปฎิบัติวิปัสสนาแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทย พร้อมกับพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ๒ รูปที่รัฐบาลไทยขอจากรัฐบาลพม่า เพื่อมาสอนวิปัสสนากรรมฐาน ประจำอยู่ในประเทศไทย พระวิปัสสนาจารย์ ๒ รูปนั้น คือ ท่านอาสภเถระ ปธานกัมมัฎฐานาจริยะ และท่านอินทะวังสะ ธัมมาจริยะกัมมัฏฐานาจริยะ

เมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว ท่านได้ปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่ออีก ๔ เดือน ในสมัยนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพิมลธรรม” ได้ประกาศตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งประเทศไทยขึ้นที่วัดมหาธาตุ และได้แต่งตั้งท่าน พระมหาโชดก ป.ธ.๙ ให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นรูปแรก ท่านได้รับภาระหนักมากเพราะเป็นกำลังสำคัญของท่านเจ้าประคุณสมเด็จในการวางแผนขยายสำนักงานสาขาไปตั้งในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน คัดเลือกพระวิปัสสนาจารย์ไปสอนประจำอยู่ตามสำนักสาขาที่ตั้งขึ้น และจัดไว้สอนประจำที่วัดมหาธาตุ พระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศส่วนมากเป็นศิษย์ของท่าน





อนึ่ง ในครั้งนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ได้จัดตั้ง กองการวิปัสสนาธุระขึ้นเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐานที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุ และได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้อำนวยการกองการ วิปัสสนาธุระ ในความอำนวยการของท่าน มีกิจการเจริญก้าวหน้ามาก มีผลงานปรากฏ ดังนี้ จัดพิมพ์วิปัสสนาสาร ซึ่งเป็นวารสารราย ๒ เดือน (ออกปีละ ๖ เล่ม) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๘ และได้ออกติดต่อตลอดมาถึงบัดนี้ มีสมาชิกให้การอุดหนุนวารสารนี้มีมากพอสมควร
จัดการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่ คณะ ๕ โดยจัดสร้างห้องปฎิบัติขึ้นรับผู้ประสงค์จะเข้าปฎิบัติหรือ ผู้มีปัญหาชีวิต เข้าปฏิบัติได้ทุกเวลา ทั้งประเภทอยู่ประจำ และไม่ประจำ (คือมารับพระกรรมฐานจากอาจารย์ไปปฏิบัติที่บ้านแล้วมารับสอบอารมณ์ หรือ มาปฎิบัติในเวลาว่างแล้วกลับไปพักที่บ้าน)
อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ และคณะศิษย์ของท่านได้ไปสอนวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย ตึกธรรมวิจัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกวันพระ และวันอาทิตย์
ให้ความอุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐานอื่นที่เป็นสาขาอีกหลายสำนัก เช่น สำนักวิเวกอาศรม อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สำนักวิปัสสนาภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และสำนักบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น





นอกจากงานด้านวิปัสสนาธุระแล้วยังมีหน้าที่อื่นอีกคือ
หน้าที่การงานเกี่ยวกับการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๕๓๐ เป็นครูสอนปริยัติธรรมทั้งนักธรรม
- บาลี ในมหาธาตุวิทยาลัย ได้เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ชั้นมูล ๓ ได้นิตยภัต ตั้งแต่เดือนละ ๖ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จนกระทั่งสอน ป.ธ. ๗-๘-๙ เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรม – บาลี สนามหลวง ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๗ ตลอดมา จนมรณภาพ เป็นผู้อำนวยการแผนกบาลี สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา

หน้าที่เกี่ยวด้วยพระไตรปิฎก
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทย ในแผนกตรวจสำนวน
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจทาน พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง
พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการปาลิ วิโสธกะ พระอภิธรรมปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบรรณกรในการพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐




พระธรรมธีรราชมหามุนี ได้อุทิศชีวิตอบรมและเผยแพร่ วิปัสสนากรรมฐานติดต่อมาเป็นเวลายาวนาน ประมาณ ๔๐ ปี จึงมีศิษยานุศิษย์และมีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และบุคคลผู้มาปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีทุกระดับชั้น ทุกฐานะอาชีพ



พ.ศ. ๒๔๙๘ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุดมวิชาญาณเถรได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐาน แด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ซึ่งได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐานเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เวลา ๑๙.๐๐ น.ณ.พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุ ในโอกาสนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม ได้ถวายศีลแล้ว พระอุดมวิชาญาณเถรเป็นผู้ถวายพระกรรมฐาน และถวายสอบอารมณ์พระกรรมฐานด้วย เป็นประจำทุกวัน ณ . พระมณฑปพระบรมธาตุเวลา ๑๗.๐๐ น.รวมเวลาที่ทรงเสด็จมาสอบพระกรรมฐานทุกวันเป็นเวลา ๑ เดือน และทรงได้รับผลจากการปฎิบัติวิปัสสนาเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้ฟังเทศน์ลำดับญาณพร้อมกันกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภายในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ



ในวันที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘
ท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ) ได้มอบหมายให้พระทิพย์ปริญญา มาติดต่อกับท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ขอให้พระอุดมวิชาญาณเถร ไปสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่ท่าน โดยมีพระอุดมวิชาญาณเถระและพระทิพย์ปริญญา นายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ ได้ไปถวายพระกรรมฐานแก่ท่านในตอนเย็นวันนั้น ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ได้อธิษฐานไว้ว่า ท่านจะไม่ไปค้างคืนที่วัดอื่น ดังนั้นท่านจึงขอร้องให้พระอุดมวิชาญาณไปสอนภายในพระอุโบสถ วัดปากน้ำ ครั้นท่านได้ปฎิบัติครบบทเรียน ครบหลักสูตรแล้วใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ทางสำนักได้จัดให้มีการฟังเทศน์ลำดับญานภายในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ โดยพระอุดมวิชาญาณเถร เทศน์จบก็ได้ถวายวิชาครูท่านไป ๑ ชุด


เป็นว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งในด้านสมถะและด้านวิปัสสนา เป็นพระเถระที่ไม่มีทิฏฐิมานะสมเป็นนักปฏิบัติธรรมแท้ ควรแก่การเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้น ท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีได้ส่งภาพของท่านมาถวายไว้เป็นที่ระลึกแก่สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดมหาธาตุ และได้เขียนบันทึกใต้ภาพยกย่องว่า “ให้สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุ ไว้เป็นที่ระลึก ในโอกาสที่ฉันได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนา ตามแบบแผนทีวัดมหาธาตุสอนอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว ยืนยันว่าการปฎิบัติแบบนี้ถูกต้องร่องรอยในมหาสติปัฏฐานสูตร ทุกประการ”
ลงชื่อ พระภาวนาโกศลเถร วัดปากน้ำ ธนบุรี ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘



งานต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๘
- ไปดูงานการพระศาสนา และปฏิบัติกรรมฐาน ณ ประเทศพม่า
- ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ. ประเทศอังกฤษ ตามคำอารธนาของคณะสงฆ์สมาคมแห่งประเทศอังกฤษ
- เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตประจำประเทศอังกฤษ
- ริเริ่มสร้างวัดไทยในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันได้สร้างเป็นวัดไทยโดยสมบูรณ์ ชื่อ “วัดพุทธปทีป” โดยท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธปทีป รูปแรก
- เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตที่จะไปสอนต่างประเทศ
- รับชาวต่างประเทศเข้าปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานทีวัดมหาธาตุ และให้ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา




งานนิพนธ์
พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นพระมหาเถระเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฏก และมีความทรงจำเป็นเลิศ สามารถบอกเรื่องราวต่างๆ ว่าอยู่ในเล่มใด และบางครั้งบอกหน้าหนังสือเล่มนั้นด้วย และท่านยังเป็นนักประพันธ์ที่นิพนธ์เรื่องศาสนาได้รวดเร็ว และได้นิพนธ์ไว้มากมายหลายเรื่อง เฉพาะที่หาข้อมูลได้ แยกบทนิพนธ์ของท่านเป็นประเภท ดังนี้

ประเภทวิปัสสนากรรมฐาน มีหนังสือประมาณ ๒๑ เรื่อง เช่น เรื่องความเป็นมาของวิปัสสนากรรมฐาน, คำบรรยายวิปัสสนากรรมฐาน จำนวน ๙ เล่ม
ประเภทพระธรรมเทศนา มีหนังสือประมาณ ๔ เรื่อง เช่น เรื่องเทศน์คู่อริยสัจ ฯลฯ
ประเภทวิชาการ มีหนังสือประมาณ ๘ เรื่อง เช่น เรื่องอภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทที่ ๑-๙ ฯลฯ
ประเภทสารคดี มีหนังสือประมาณ ๒๐ เรื่อง เช่น เรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ฯลฯ
ประเภทตอบปัญหาทั่วไป มีหนังสือประมาณ ๕ เรื่อง เช่น ตอบปัญหาเรื่องบุญบาป แลนรกสวรรค์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคำขวัญ คำอนุโมทนา คติธรรม เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ ที่มีผู้ขอมาอีกด้วย




สมณศักดิ์
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (อายุ ๓๖ พรรษา ๑๕) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเปรียญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระอุดมวิชาญาณเถระ”
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (อายุ ๔๔ พรรษา ๒๓) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระราชสิทธิมุนี ศรีปิฎกโกศล วิมลปัสสนาจารย์ อุดมวิชาญาณวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ (อายุ ๕๒ พรรษา ๓๑) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระเทพสิทธิมุนี สมถวิธี ธรรมมาจารย์ วิปัสสนาญาณโสภณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ (อายุ ๖๙ พรรษา ๔๘) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม มีพระราชทินนามว่า “ พระธรรมธีรราชมหามุนี คัมภีรญาณวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎก บัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”






พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) ได้ถึงแก่มรณภาพ โดยอาการอันสงบในอิริยาบถการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ในวันพฤหัสดีที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. รวมสิริอายุได้ ๗๐ ปี ๒ เดือน ๑๕ วัน นำความเศร้าโศก แสนเสียดายอาลัยมาสู่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปอย่างยิ่ง




ประวัติย่อเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ท่านทรงบรรทม ไม่หลับต้องเสวยพระโอสถเป็นประจำ และต้องเพิ่มพระโอสถขึ้นนไปเรื่อยๆ จึงจะบรรทมหลับได้ ถ้าจำไม่ผิดก็มีคุณหมอสายหยุด ดิษฐการภักดี (เก่งระดมยิง) เป็นผู้ถวายการแนะนำพระองค์ท่านให้ทรงทราบ จนได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐานที่มณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๘ เวลา ๑๗.๐๐ น.โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณใหญ่ คือ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) เป็นผู้ถวายศีล และแนะนำวิธีกราบเบญจางคประดิษฐ์อีกโสดหนึ่ง พระอุดมวิชาญาณเถระ (โชดก ญาณสิทธิเถระ) เป็นผู้ถวายพระกรรมฐาน ถวายการสอบอารมณ์พระกรรมฐานเป็นประจำทุกๆ วัน ที่มณฑปพระบรมธาตุ ในเวลา ๑๗.๐๐ น. ได้ถวายพระพรให้พระองค์ท่านทรงเลิกเสวยพระโอสถตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งได้ฟังเทศน์ลำดับญาณเป็นต้นมา




พระองค์ทรงได้เสด็จมาสอบพระกรรมฐานทุกๆวัน เป็นเวลาประมาณ ๑ เดือนปรากฏว่า พระองค์ทรงสนพระทัยตั้งอกตั้งใจประพฤติปฎิบัติจริงๆ ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระวิริยะอุตสาหะเป็นพิเศษ ได้สอบอารมณ์ถวาย ได้อธิบายธรรมถวายตามโอกาสอันควร ได้เพิ่มบทเรียนถวายตั้งแต่ระยะที่ ๑ จนถึงระยะที่ ๖ และเมื่อสภาวธรรมปรากฎชัดดีแล้ว ก็ให้ทรงอธิษฐานไปตามลำดับๆ ดุจหลวงพ่อวัดปากน้ำ จนกระทั่งได้ฟังเทศน์ลำดับญาณพร้อมกันกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภายในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ






ปรากฏว่า ได้ผลดีมากอยู่ พระองค์ท่านทรงเลิกเสวยพระโอสถแล้วก็บรรทมหลับได้สบายเสมอมา จนมีพระวรกายดีขึ้นมาเรื่อยๆ ใครได้เห็นพระองค์ท่านก็ชมว่า พระองค์มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดี ผิวพรรณวรรณะดี ทรงเบิกบานพระทัย ทรงยิ้มแย้มแจ่มใสดี บางคนก็ถามว่า พระองค์ทรงเสวยยาอะไร จึงสมบูรณ์ดีอย่างนี้ก็มี ทรงแข็งแกร่ง เสด็จไปบำเพ็ญมหากุศลสาธารณประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าประชาชน ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ อันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาธรรมทุกหนแห่ง ดังที่ปรากฏแก่สายตาของสาธุชนอยู่แล้วนั้น
ข้อนี้สมด้วย พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฏกว่า “ธมฺมจารี สุขํ เสติ” ผู้ปฎิบัติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ดังนี้





ศิษย์เอกของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)
สายบรรพชิต คือพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี )
สายฆราวาส คือ คุณแม่  ดร. สิริ กรินชัย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก วารสาร“อาสภาสาส์น”
http://www.udomwid.org/index.php?mo=59&action=page&id=360582

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น