วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

วันลอยกระทง ปีนี้ตรงกับวันพุธ ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2555



จุดมุ่งหมายของการลอยกระทง ตามตำนานและความเชื่อต่าง ๆ (จากบทความวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เรื่อง ลอยประทีป..ลอยกระทง)

1.เพื่อสักการะและขอขมา แด่พระแม่คงคา (หมายถึงแม่น้ำ ทั่วไป) เพราะได้อาศัยน้ำดื่ม กิน เป็นทางคมนาคม บำรุงหล่อเลี้ยง เหล่าปู ปลา เหรา สัตว์น้ำอื่นๆ พืชผลสาลีเกษตร และมนุษย์มักจะทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ

2. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาท ประดิษฐานไว้บนหาดทราย แห่งนั้น เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ

3.การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี........ครั้งเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากนครกบิลพัสด์ เมื่อทรงข้ามแม่น้ำ อโนมา ทรงตัดพระโมลีโดยทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวา ทรงพระขรรค์ตัดพระโมลี โยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับไว้ และนำไปบรรจุไว้ยังจุฬามณี เจดียสถานในเทวโลก



4. เพื่อบูชาพระอุปคุต โดยตำนานเล่าว่า อุปคุตนั้น เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่ง เป็นพระอรหันต์หลังพุทธกาล ที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถปราบมารได้ ท่านจะนั่งสมาธิอยู่ ในท้องมหาสมุทร พระอุปคุตนี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวพม่าจะนับถือพระอุปคุตมาก

5. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จกลับจากเทวโลก
เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

6.การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
มีเรื่องย่อ ของท้าวพกาพรหม คือ มีกาเผือกคู่หนึ่งทำรังอยู่บน ต้นไม้ ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งกาผู้สามีออกไปหากิน แล้วบินกลับมาเข้ารังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาซึ่งกำลังกกไข่ 5 ฟอง รอด้วยความกระวนกระวายใจ เกิดมีลมพายุใหญ่ พัดรังนกตกลงมากระจัดกระจาย ไข่นกตกลงในแม่น้ำ ส่วนแม่นก ถูกลมพัดไปคนละทิศทาง เมื่อแม่กาย้อนกลับมาดูไข่ที่รัง ก็ไม่พบ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย และไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหม อยู่บนพรหมโลก ส่วนใข่ทั้ง 5 ฟอง ลอยน้ำไปในสถานที่ต่าง ๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาตัวละฟอง ครั้น ถึงเวลาฟัก ไข่นกนั้นกลับกลายเป็นมนุษย์ ทั้งหมด เป็นกุมาร ทั้ง 5 และล้วนต่างได้ออกบรรพชา เป็น ฤาษี ทั้ง 5 ในกาลต่อๆมา ได้เป็นพระพุทธเจ้า ในแต่และยุค ของ ภัทรกัปทั้ง 5 พระองค์ และองค์ ที่ 4 ที่แม่โค นำไปรักษา ก็คือ พระ โคตโม ( และพวกเราชาวพุทธ คือศิษย์ของพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าพระองค์นี้นี่เอง )
(ขอเสริมรายละเอียดที่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ต่อจากความเดิมดังนี้)



ฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันจึงถามถึงนามวงศ์ และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้อง ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้

คนแรก ชื่อกกุสันโธ (วงศ์ไก่)
คนที่สอง ชื่อนาคมโน (วงศ์นาค)
คนที่สาม ชื่อกัสสโป (วงศ์เต่า)
คนที่สี่ ชื่อโคตโม (วงศ์โค)
คนที่ห้า ชื่อเมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)



ฤาษีทั้ง 5 ต่างตั้งอธิฐานว่า ถ้าจะได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงพระมารดา ด้วยแรงอธิฐานจึงร้อนไปถึง ท้าวพกาพรหม จึงเสด็จลงมาและจำแลงเป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องหนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงคืนวันเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้เป็นตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอบกระทงในแม่น้ำ แล้วท้าวพกาพรหมก็เสด็จกลับไป

.ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงบูชาท้าวพกาพรหม และเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ที่แม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้
ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ
ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมม์
ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ
ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สมณโคดม
ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ได้บังเกิดบนโลกแล้ว
พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระศรีอาริยเมตไตรย จะมาบังเกิดในโลกมนุษย์ในอนาคต




ขอเสริมข้อ 5. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จกลับจากเทวโลก
เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
ทรงจำพรรษาครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับโลก เมื่อท้าวสักกเทาวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมีบันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร

ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพ และประชาชน ทั้งหลายได้พร้อมใจ ทำการสักการบูชาด้วยพวงมาลาทิพย์ การลอยกระทงตามตำนานนี้เหมือนกับการตักบาตรเทโว



และขอเสริมข้อมูลของข้อที่ 4 การลอยกระทงเพื่อการบูชาพระอุปคุต

สันนิษฐานตามตำนาน พระเถระอุปคุต น่าจะเป็นชาวเมืองปาตลีบุตร เมื่อบวชแล้วบำเพ็ญเพียร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ สำเร็จอภิญญาต่างๆ จนสามารถแสดงอภินิหาร เป็นที่เล่าลือมาจนทุกวันนี้ มีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย นัยว่าท่านเนรมิตเรือนแก้ว (กุฏิแก้ว) ขึ้นในท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) แล้วก็ลงไปอยู่ประจำ ที่กุฏิแก้วตลอดเวลา เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นในพระศาสนา หรือเมื่อมีพิธีกรรมใหญ่ๆ หรือมีผู้นิมนต์ ท่านก็จะขึ้นมาช่วยเหลือ ด้วยความเต็มใจเสมอ

ท่านเป็นพระเถระสำคัญองค์หนึ่ง ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ผู้นำกองทัพธรรมแผ่กระจายไปทั่วโลก) เป็นพระเถระผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิ์เดชเกรียงไกร สามารถปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้าย ที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ ๆ มาแต่ครั้งโบราณ

เรื่องชื่อของท่านนั้น นอกจากจะเรียกว่า “พระอุปคุตเถระ” แล้ว ยังมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีก เช่น “พระเถรอุปคุต” “พระนาคอุปคุต” “พระกีสนาคอุปคุต” และอีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ “พระบัวเข็ม” หรือ “หลวงพ่อบัวเข็ม” เพราะว่ามีใบบัวคลุมศรีษะและมีเข็มปักอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายของท่าน แต่ชื่อของท่านที่ใช้เรียกกันอยู่โดยทั่วไป นิยมเรียกเพียงสั้นๆ ว่า พระอุปคุต โดยชื่อมีความหมายว่า ผู้มีความคุ้มครองมั่นคง



เรื่องของพระอุปคุตและพญามารนั้น มีบันทึกไว้หลายแห่ง ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น มีอยู่ 2 บันทึก คือ จากจารึกพระเจ้าอโศก และ ใน “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่อง “พระอุปคุตกับพญามาร” โดยอยู่ปริจเฉทที่ 28 ที่มีชื่อว่า มารพันธปริวรรต

ตำนานเรื่องพระอุปคุตต์จากพระปฐมสมโพธิกถาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีความว่า ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะกระทำการฉลองพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 84,000 องค์ โดยจะทำการสักการบูชาให้ครบกำหนด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่เกรงจะมีอันตราย จึงทรงเสด็จไปหาพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระให้ช่วยค้นหาพระภิกษุผู้มีมหิทธานุภาพ เพื่อป้องกันอันตรายในการกระทำสักการบูชาฉลองพระสถูปเจดีย์



พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระจึงรับหน้าที่ในการแสวงหาและเลือกพระภิกษุผู้ทรงอิทธิฤทธิ์มาช่วยการกระทำมหกรรมจากนั้นพระโมคคัลลีบุตรพร้อมคณะสงฆ์จึงร่วมด้วยช่วยกันพิจารณาหาเหตุแห่งอันตรายนั้น พบว่า จะมีพญามารมาทำลายพิธีกรรมในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล จึงขอให้พระสังฆเถระมาช่วยในการป้องกันพญามารที่จะมาขัดขวางการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งนี้ พระสังฆเถระกล่าวปฏิเสธรวมถึงพระอนุเถระรอง ๆ ลงมาเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงพระภิกษุผู้บวชใหม่

ในขณะนั้น มีพญานาคราชตัวหนึ่งขึ้นมาจากนาคพิภพเพื่อจะนมัสการพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง แต่ในเวลาที่พญานาคราชถวายวันทนาการ พญาครุฑตัวหนึ่งแลเห็นพญานาคราชจึงจะจับกิน ฝ่ายพญานาคราช จึงเลี้ยวหลบเข้าไปในระหว่างของพระสังฆเถระ ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดสามารถช่วยเหลือได้



ในสถานที่สังฆสันนิบาตนั้น ได้มีสามเณรอาคันตุกะรูปหนึ่ง อายุประมาณ 7 ขวบ มานั่งอยู่ที่หน้าอาสนะของพระสงฆ์ พระสงฆ์เห็นเหตุร้ายจะเกิดขึ้นเช่นนั้น จึงถามสามเณรน้อยรูปนั้นว่า จะช่วยป้องกันอันตรายให้พญานาค พ้นจากการเบียดเบียนของพญาครุฑได้หรือไม่ ทีแรกสามเณรกล่าวออกตัวแกมปฏิเสธ พระภิกษุสงฆ์จึงกล่าวขอร้องสามเณรอีกหลายครั้ง ในที่สุดสามเณรผู้มีอิทธิฤทธิ์ยิ้มหน่อยหนึ่งแล้วจึงกล่าวตกลง
พอคุรฑบินโฉบต่ำลงมา สามเณรก็เข้าฌานสมาบัติ อธิษฐานให้บังเกิดลมพายุอันร้ายแรงเหมือนลมยุคันตวาต พัดครุฑให้ปลิวปลาตนาการไป เมื่อพญานาคราชรอดตามมาได้ จึงกล่าวสรรเสริญคุณของสามเณรน้อยนั้น แล้วจึงชำแรกแผ่นดินกลับไปสู่นาคพิภพ

เวลาต่อมาพระภิกษุสงฆ์ได้ซักถามสามเณรนั้นว่า “เหตุไฉนเธอจึงไม่กระทำตามคำของพระภิกษุสงฆ์ในตอนแรก แต่กลับยิ้มเสียก่อนแล้วจึงกระทำในภายหลัง การกระทำอย่างนี้นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เธอควรจะต้องถูกลงทัณฑกรรม” และกล่าวชี้แจงว่า

“พระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงกระทำมหกรรมการฉลองพระมหาสถูปเจดีย์โดยมีกำหนด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เกรงว่าพญามารจักกระทำอันตรายในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เธอจงช่วยป้องกันอันตรายในครั้งนี้”
สามเณรเห็นว่าตนไม่เหมาะจึงแนะนำ พระภิกษุรูปอื่นที่มีมหิทธิฤทธิ์ที่อาจจะทรมานให้พญามารปราชัยได้ ...ซึ่งพระภิกษุรูปนั้น คือ พระกีสนาคอุปคุตเถระ นั่นเอง



พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงได้ฟังคำบอกเล่าของสามเณร จึงใช้ให้พระภิกษุ 2 รูป ผู้ได้อภิญญาสมาบัติไปนิมนต์พระอุปคุตเถระซึ่ง จำพรรษาอยู่ในท้องมหาสมุทร เพื่อหลบหนีความวุ่นวายสับสนอลหม่าน มาสู่สังฆสมาคมนี้ตามสังฆมติ

เมื่อพระภิกษุทั้ง 2 รูปลงไปอาราธนาท่านมาแล้ว ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ได้กล่าวกับพระอุปคุตว่า “ท่านไม่ได้ร่วมสามัคคีอุโบสถกับพระภิกษุสงฆ์ ไม่ช่วยเหลืองานพระศาสนา หลบไปหาความสงบสบายแต่ลำพังผู้เดียวขาดความเคารพในสงฆ์ เป็นการขัดกับพระพุทธประสงค์ แม้แต่พระมหากบิลเถระพระผู้มีพระภาคเจ้ายังตรัสติเตียน เพราะเหตุที่ไม่เคารพในสงฆ์ ฉะนั้นท่านสมควรที่จะถูกพระภิกษุสงฆ์ลงทัณฑกรรม”

พระอุปคุตเถระฟังเหตุผลของภิกษุสงฆ์ทั้งปวงแล้ว ก็ยอมรับความผิดนั้นด้วยดี พระภิกษุสงฆ์จึงบอกให้ท่านช่วยทำงานป้องกันอันตรายถวายแด่ พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ทรงเป็นสังฆอุปัฏฐาก ซึ่งมีพระราชศรัทธาที่จะกระทำมหกรรมการฉลองพระสถูปเจดีย์ และพระวิหารที่ทรงสร้างไว้ถึง 84,000 แห่ง พร้อมกับมหาสถูปในพระนครนี้โดยกำหนดจะกระทำอธิสักการบูชาเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน และคอยป้องกันพญามาร อย่าให้มากระทำอันตรายในการทรงบำเพ็ญพระราชมหากุศลครั้งนี้



เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทราบข่าวว่าพบพระภิกษุผู้มีฤทธิ์สามารถป้องกันอันตรายแล้ว จึงลองทดสอบพระมหาเถระดูโดยการปล่อยช้างตกมันไปหาพระอุปคุต เพื่อทดลองกำลังฤทธานุภาพ
พระอุปคุตซึ่งทราบว่าพระราชาต้องการทดลองอิทฤทธิ์ของท่านจึงอธิษฐานจิตว่า “ขอให้ช้างนี้จงกลายร่างเป็นช้างศิลาอยู่ที่นี้”ช้างตัวนั้นจึงหยุด นิ่ งแข็งราวกับศิลา เมื่อเห็นดังนี้ พระเจ้าอโศกจึงหมดห่วงและกล่าวขอขมากับพระเถระ

พอถึงวันอันเป็นกำหนดการงานฉลอง พระเจ้าอโศกมหาราช พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ประชาชนทุกหมู่เหล่าและ ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากมาย มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นต้น ได้พากันมาสันนิบาต คือประชุมพร้อมกันในพระอารามนั้น เพื่อจะนมัสการพระมหาเจดีย์



ในขณะนั้น วสวัตดีมาร ทราบว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงกระทำมหาสักการบูชา และการฉลองพระมหาเจดีย์กับพระอารามเป็นงานมโหฬาร มีจิตเกิดความคิดริษยา คิดที่จะมาขัดขวางทำลายล้างพิธีจึงแสดงอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ท้องฟ้ามีลักษณะมืดมัวและสร้างลมพายุใหญ่พัดมาแต่ไกล ส่วนพระอุปคุตเถระ ผู้รับหน้าที่ป้องกันอันตรายในงานมหกรรมนั้นรู้แน่ชัดว่า พญามารเริ่มทำลายการบำเพ็ญกุศล จึงใช้อิทธิฤทธิ์ปัดเป่าให้พายุใหญ่ของพญามารนั้นอันตรธานหายไป

พญามารเห็นดังนั้นจึงโกรธแค้น บันดาลให้ห่าฝนทรายกรด เมล็ดกรวดกรด ห่าฝนก้อนศิลา ห่าฝนถ่านเพลิง ห่าฝนลมกรด ห่าฝนน้ำกรด ห่าฝนอาวุธต่างๆ ห่าฝนเถ้ารึง 3 ห่าฝนเปือกตม ให้ตกลงมา และยังบันดาลให้เกิดความมืดมิดอันน่ากลัว พระมหาเถระก็อธิษฐานอิทธิปาฏิหาริย์หอบเอาห่าฝนเหล่านั้นและความมืดมิดของพญามารไปทิ้งเสียนอกขอบจักรวาล

เมื่อเห็นดังนั้น พญามารจึงโกรธจัด จึงเนรมิตร่างกายเป็นสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ เช่น เป็นโคใหญ่วิ่งไปจะชนทวีปทั้งสิ้นให้พินาศ พระมหาเถระก็เนรมิตร่างกายเป็นรูปพยัคฆ์ใหญ่วิ่งไล่ไปจะจับโค จนโคพ่ายแพ้ล้มลง ร่างก็กลับกลายเป็นรูปพญานาคราชมีเศียร 7 เศียร ตรงเข้าคาบเอากายพยัคฆ์ใหญ่ พยัคฆ์ใหญ่ก็กลับกลายร่างเป็นพญาครุฑแล้วคาบศีรษะของพญานาคราชลากไปมาจนปราชัย พญามารรีบแปลงร่างจากพญานาคราชมาเป็นยักษ์ใหญ่ตัวโต มือถือตะบองทองแดง พระมหาเถระจึงเปลี่ยนแปลงร่างจากพญาครุฑมาเป็นรูปยักษ์ที่ใหญ่ขึ้นไปกว่ายักษ์พญามารนั้น สองเท่า มือทั้งสองถือตะบองที่มีเปลวไฟตรงเข้าตีที่ศีรษะของยักษ์พญามาร สุดท้ายพญามารจึงยอมรับความพ่ายแพ้ แสดงตัวให้ปรากฏเป็นรูปพญามาร ยืนอยู่ตรงหน้าของพระมหาเถระ

พระอุปคุตเถระก็แปลงกายจากรูปยักษ์กลับมาเป็นพระมหาเถระอย่างเดิม และได้เนรมิตสุนัขเน่ามีกลิ่นเหม็นคลุ้ง เต็มไปด้วยหนอน น่าขยะแขยง เอาผูกติดไว้ที่คอของพญามารพร้อมกับอธิษฐานจิตว่า “ไม่ว่าบุคคลใดผู้หนึ่งหรือจะเป็นเทพยดาหรือพรหมเป็นต้นก็ตามที ขออย่าสามารถที่จะปลดเปลื้อง หรือแก้ออกได้”ก่อนจะไล่พญามารให้จากไป



พระยาวสวัตดีมารอับอายในซากหมาเน่ามาก ทว่าไม่มีใครสามารถปลดซากนั้นให้แก่ท่านได้ สุดท้ายจึงเข้าไปกราบแทบเท้าของพระมหาเถระ แล้วกล่าวรับสารภาพผิดและกล่าวอ้อนวอนด้วยวาจาอันสุนทรีภาพนานาประการ พระมหาเถระเห็นว่าควรจะมัดพญามารไว้ก่อน จึงมัดพญามารติดกับภูเขา เป็นการประจานด้วยโทษฐานเป็นผู้มีใจบาป คอยขัดขวางและทำลายการกระทำความดีของผู้อื่น
งานมหกรรมการฉลองพระมหาเจดีย์และพระอารามของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อปราศจากพญามารมาขัดขวาง จึงดำเนินไปอย่างเรียบร้อยครบกำหนด 7 ปี 7 เดือน 7 วันด้วยประการฉะนี้..

. เมื่อทุกอย่างสำเร็จลงโดยเรียบร้อย พระอุปคุตเถระจึงไปยังภูเขาที่ผูกมัดพญามารไว้ พญามารนั้นละพยศหมดความดุร้าย รำพึงรำพันว่า

“สมัยเมื่อพระพุทธองค์ประทับเหนือรัตนบัลลังก์ ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ข้าพระบาทมิอาจจะอดกลั้นความโกรธไว้ได้ จึงขว้างจักรอันคมกล้า ที่สามารถจะตัดวชิรบรรพตให้ขาดไปราวกับตัดหน่อไม้ไผ่ ฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระบารมี 30 ประการ มีทานเป็นต้น และมีอุเบกขาเป็นที่สุด จักรนั้นพลันกลับกลายเป็นดอกไม้กั้นเป็นเพดานอยู่เบื้องบนส่วนพวกพลบริวารได้พากันขว้างอาวุธต่างๆ แล้วอาวุธเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นพวงบุปผชาติตกลงยังพื้นดินในที่สุดข้าพระบาทต้องพ่ายแพ้”

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกระทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ และเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวง ผู้หาที่พึ่งมิได้สิ้นกาลนานโขพระพุทธองค์ทรงประเสริฐด้วยคุณ หาผู้เสมอมิได้ จงมาเป็นที่พึ่งของข้าพระบาทในบัดนี้ ในกาลก่อนข้าพระบาทชื่อว่าวัสวดี กระทำอันตรายแก่พระองค์โดยวิธีการหลากหลาย พระองค์ก็ไม่ได้ทรงถือโทษตอบโต้แก่ข้าพระบาท แม้แต่เพียงน้อยก็ไม่เคยมี แต่กาลบัดนี้พระสาวกของพระองค์ ช่างไม่มีเมตตากรุณา ลงโทษหนักแก่ข้าพระบาทให้ได้รับทุกข์แสนสาหัสปานฉะนี้”



“ถ้าหากข้าพเจ้ามีกุศลได้สร้างสมไว้แล้วดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญบุญบารมีไว้เพื่อการตรัสรู้ในอนาคตกาลฉันใด ขอข้าพเจ้าจงได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกนี้ฉันนั้น เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งแห่งสรรพสัตว์และกระทำประโยชน์โปรดเวไนยสัตว์ทั้งปวงในสากลโลก”

เมื่อได้ยินดังนั้นพระอุปคุตเถระจึงเดินเข้าไปแก้มัดให้ทันที และกล่าวกับพญามารว่า
“ ดูก่อนพญามาร ท่านจงอดโทษแก่อาตมาที่อาตมาได้ล่วงเกินท่าน อันว่าประโยชน์ของท่าน คือความปรารถนาพุทธภูมินั้น อาตมาก็ให้บังเกิดได้แล้ว และอาตมาขอห้ามท่านว่าอย่ากระทำอันตรายในการทรงบำเพ็ญบุญของพระบรมกษัตริย์เลย และบัดนี้ท่านได้ถือปฏิญาณที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปตัวท่านจักเป็นปูชนียบุคคล คือ พระโพธิสัตว์ควรที่ชาวโลกทั้งหลายจะกระทำนมัสการบูชา”



ฝ่ายพญามารจึงกล่าวกล่าวอย่างน้อยใจว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพุทธสาวกช่างกระไรไม่มีจิตใจกรุณาต่อข้าพเจ้าผู้เป็นมารบ้างเลย”

พระอุปคุตเถระจึงแสดงเหตุผล ว่าทั้งท่านและพญามารนั้นเป็นคู่ทรมานกัน เพราะเหตุนี้จึงไม่มีกรุณา ที่ท่านลงโทษนั้นก็เพื่อจะทำให้พญามารมีจิตยินดีปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
และพระบรมศาสดาก็ได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า ตัวท่านนี้จะได้ทรมานพระยาวัสวดีมารให้ละพยศ หมดความอหังการสิ้นความร้ายกาจในอนาคตกาล และพญามารนั้นจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า

เมื่อพระมหาเถระพอกล่าวเหตุผลต่างๆ ให้พญามารได้ฟังแล้ว ก็มีความประสงค์จะให้พญามารช่วยเนรมิตตนเป็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ชมเป็นมิ่งขวัญตาจึงกล่าวขอร้องพญามารให้ช่วนเนรมิตกายให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอาการทั้งปวงพร้อมทั้งพระอัครสาวกทั้งคู่

พญามารฟังคำขอร้องของพระมหาเถระแล้ว จึงตกลงโดยมีข้อแม้ว่า อย่าถวายนมัสการตัวท่านป็นอันขาด และจึงได้ได้เนรมิตกายเป็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันประกอบด้วยพระมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ และพระอนุพยัญชนะ 80 ประการ สว่างรุ่งเรืองด้วยพระฉัพพรรณรังสี คือ พระรัศมี 6 ประการ มีพระอัครสาวกอยู่ทั้งทางเบื้องขวาเบื้องซ้าย พร้อมกับแวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกเป็นสังฆบริวาร แสดงให้ปรากฏแก่มหาสันนิบาตบริษัททั้งปวง (อนึ่ง เกจิอาจารย์บางท่านกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชกับมวลหมู่อำมาตย์และราชบริพาร ก็มาคอยทรงทัศนาการอยู่ ณ สถานที่นั้นด้วย )



ฝ่ายพระอุปคุตเถระเมื่อได้แลเห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระมหาสาวกทั้งหลายปรากฏขึ้นดังนั้น ก็บังเกิดขนลุกชูชัน ด้วยอำนาจของอจลศรัทธาปสาทะ คือ ความเชื่อและความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ทำให้ลืมคำปฏิญาณที่ให้ไว้แก่พญามาร จึงก้มลงถวายอภิวาทพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างสนิทใจ และมหาชนทั้งหลายมีพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นประธานทรงกระทำนมัสการสักการบูชาโดยพร้อมเพรียงกัน

ขณะนั้นพญามารพลันบันดาลให้พระรูปของพระบรมศาสดา และพระสาวกทั้งหลายหายไป แล้วกลับกลายมาเป็นรูปพญามารพร้อมถามพระอุปคุตเถระว่า ทำไมจึงถวายอภิวาททั้งที่สัญญากันไว้แล้ว...พระอุปคุตเถระกล่าวตอบว่า ท่านไม่ได้กราบไหว้พญามาร แต่อภิวาทพระรูปของพระบรมศาสดา และพระมหาสาวกทั้งหลายต่างหาก

เมื่อทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นลง พญามารน้อมกายถวายนมัสการพระมหาเถระ แล้วลากลับสู่เทวสถานวิมานของตน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.visudhidham.com (วัดตรีวิสุทธิธรรม จังหวัดสุพรรณบุรี) โดยอิงข้อมูลจากwww.upacoot.com/ และนิตยสารซีเคร็ต )

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละท้องถิ่น
ภาคเหนือตอนบน
นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)
จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า




จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

ภาคอีสาน
ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น

จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า "สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง

จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน



ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด

กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้
ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย



และที่จะขาดเสียมิได้ของวันลอยกระทงนอกจากกระทงแล้วก็คือ เพลงรำวงวันลอยกระทง
เพลงรำวงวันลอยกระทง
ประพันธ์โดยครูแก้ว อัจฉริยกุล
ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์

ครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็นเพลง "รำวงลอยกระทง" มีเนื้อร้องว่า

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง
สนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ


ขออภัยที่ ขึ้นบทความไม่ทันวันลอยกระทง เพราะติดภาระกิจสำคัญ และบทความนี้คัดลอกมาเพื่อเสริมความ บทความเดิมของปีที่แล้วทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าของผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับวันลอยกระทง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น