วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ฟักข้าว
ชื่อไทย ฟักข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.
ชื่อวงศ์ CUCURBITACEAE
ชื่ออื่น
ขี้กาเครือ (ปัตตานี) ผักข้าว (ตาก ภาคเหนือ) มะข้าว (แพร่) แก็ก (Gac เวียดนาม) Baby Jackfruit Spiny Bitter Gourd, Sweet Gourd, และ Cochinchin Gourd
ลักษณะทั่วไป
ฟักข้าวเป็นไม้ล้มลุกประเภทเถา เลื้อยพัน ตามต้นไม่หรือตามรั้วบ้าน
ลำต้น
เป็นเถาเลื้อย เลื้อยพันตามต้นไม้ หรือรั้วบ้านมีมือเกาะ แบบเดียวกับตำลึง
ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ หรือรูปไข่ รูปร่างคล้ายใบโพธิ์ ความกว้างยาวเท่ากัน ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-5 แฉก
ดอก
เป็นดอกเดี่ยว ดอกจะออกบริเวณข้อต่อระหว่างใบ หรือ ซอกใบ โดยออกข้อละดอก ลักษณะ คล้ายดอกตำลึง ลักษณะกลีบดอก ขาวอมเหลือง หรือขาวแกมเหลือง ก้านเกสรและกลีบละอองมีสีม่วงแกมดำ หรือน้ำตาลแกมม่วง ใบเลี้ยงประดับมีขน โดยดอกจะเป็นดอกแบบ เพศไม่สมบูรณ์ แยกแป็นดอกดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย และจะอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กกว่า กลีบดอกสีขาวนวลหรือเหลือง ตรงกลางสีน้ำตาลแกมม่วง ใบประดับมีขน
ผล
ผลของฟักข้าวจะมีรูปร่างกลมรี มีหนามเล็ก ๆ อยู่รอบผล ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง เจริญได้เองโดยไม่ต้องถูกผสม เมื่อผลสุกจะมีสีแดง หรือแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ดจำนวนมากเรียงตัวกันคล้ายเมล็ดแตง
การขยายพันธุ์
สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือแยกรากปลูก ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เนืองจากเป็นไม้เถาที่ค่อนข้างต้องการน้ำมาก ฟักข้าวจะเริ่มมีดอกหลังจากปลูกไปได้แล้วประมาณ 2-3เดือน ดอกจะเริ่มออกในราวเดือนพฤษภาคมและให้ดอกจนถึงราวเดือนสิงหาคม ผลสุกใช้เวลาโดยประมาณ 20 วัน เก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงเดือน กรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และใน 1 ฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวสามารถได้ผลมากถึง 30-60 ผล
สรรพคุณ
ตำรายาไทยและยาพื้นบ้านใช้ ราก แก้ไข้ เมล็ด บำรุงปอด แก้ไอ รักษาวัณโรค ตำรายาไทย ใช้ใบสด ตำพอกฝี ยาพื้นบ้านใช้ ใบ เข้ายาเขียว แก้ไข้ เมล็ด แก้ริดสีดวงทวาร ราก ฆ่าเหา แก้ผมร่วง
คุณค่าทางโภชนาการ
ผลฟักข้าวอ่อนสีเขียว ใช้ปรุงอาหาร เนื่องจากรสชาติเนื้อฟักข้าว เหมือนมะละกอ โดยการนำมาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริก หรือใส่แกง
ยอดอ่อน กลิ่นเหมือนยอด-ใบมะระ ใบอ่อนนำมาเป็นผักได้ โดยการนึ่งหรือลวกให้สุก เช่นเดียวกับผลอ่อนนำไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงแค หรือจิ้มน้ำพริก
ผลฟักข้าวเมื่อเริ่มแก่ผิวเปลือกจะสีเหลือง พอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแสด-แดง เนื้อจะเป็นสีเหลือง เยื่อกลางผลที่หุ้มเมล็ดเป็นสีแดง เมล็ดแก่สีน้ำตาลเข้ม
ด้านในเมล็ดเนื้อสีขาว เมล็ดของฟักข้าว เมล็ดดิบมีพิษ
เมล็ดฟักข้าว มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยพบโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญ ของเชื้อเอชไอวี-เอดส์ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง
มีรายงานผลการทดลอง ในปี ค.ศ.1986 ประเทศบังกลาเทศ ทำการทดลองพบสาร glycoides ในฟักข้าว ให้ผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
วิกิพีเดีย
http://www.gotoknow.org/posts/486989
ในสมัยเด็ก พลอยโพยมไม่รู้จักต้นฟักข้าว เพราะคุณตาบุญไม่ได้ปลูกไว้ ทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้โบราณ คงเป็นเพราะไม่ใช้ในการบริโภค กินแบบเป็นผลไม้เช่นผลไม้อื่น ๆ ส่วนสรรพคุณทางสมุนไพรนั้นพลอยโพยมรู้สึกเองว่า เพิ่งมีการตื่นตัวกับสรรพคุุณของฟักข้าว โดยใช้สมมติฐานจากการเป็นแฟนพันธุ์แท้ของตลาดขายต้นไม้สวนจตุจักรวันพุธมาเนิ่นนานนับสิบปี รวมทั้งยังเป็นแฟนพันธุ์แท้งานเกษตรแฟร์ พาเด็กน้อยคือลูก ๆ ไปเดินเที่ยวงาน จนกระทั่งเด็กน้อยเติบโตเข้าเป็นนิสิตใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท เข้าทำงานในกรมที่มีสถานที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกสามปีกว่าแล้ว ก็ไม่เคยเว้นการไปเดินชมงานเกษตรแฟร์เลย เพิ่งพบเห็นผลฟักข้าวสีแดงสดนำมาผูกโชว์ในงานชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีมานี่เอง เห็นครั้งแรกก็ตื่นตาตื่นใจว่า นั่นคืออะไร
ต่อมาก็พบชาวบ้านนำผลมาขายที่ตลาดนัดชาวบ้านที่อำเภอบ้านโพธิ์ ป้าคนขายบอกว่านี่น่ะเป็นไม้โบราณนะที่บ้านเขาปลูกมาเนื่นนานแล้ว ยังชวนพลอยโพยมไปที่บ้านเขาซึ่งอยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีและยังเชิญชวนว่า มีพันธุ์ไม้โบราณ ๆ อีกแยะพวกหัวมันก็มีหลายพันธุ์แต่พลอยโพยมก็ไม่มีเวลาไปสักที
เมื่อปีที่แล้วพลอยโพยมหวนกลับไปเดินตลาดนัดจุตจักรวันพุธอีก ก็พบต้นอ่อนฟักข้าว มีวางขายหลายร้าน โดยเฉพาะร้านประจำที่เคยซื้อหา ร้องทักว่า พี่ไม่มาเสียนาน เอ วันนี้เอาอะไรดี อ้อ ต้นฟักข้าวแล้วกันเอาไหมต้นละห้าสิบบาทเอง ที่เขาเชิญชวนเช่นนี้ เพราะสมัยเป็นลูกค้าขาประจำกัน พลอยโพยมซื้อเสียจน ไม่มีไม้แปลก ๆ ให้ซื้อ เวลาไปยืนหน้าร้านก็จะถามเขาว่า วันนี้มีต้นอะไรแปลก ๆ มาขาย นั่นเอง
ตอนนี้ก็มีต้นอ่อนอยู่สี่ต้น พอไปปฎิบัติธรรมที กลับมา ต้นก็ทรุดโทรมจนน่าสงสาร ตัดใจว่าตายก็ฝังยังก็เลี้ยงแล้วกัน เหลือต้นที่ดูดี แค่กระถางเดียว
บทความนี้เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนไปปฎิบัติธรรม แต่รูปภาพประกอบกระจัดกระจายตามเคยจึงไม่นำมาเผยแพร่ ผ่าผลฟักข้าวใส่ตู้เย็นไว้จนลืมไปเลย กลับมาเป็นสัปดาหฺนึกขึ้นได้จึงแคะเมล็ดออกจากผล ก็เลยได้ภาพนี้มาเพิ่มเติม
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น