ปลากระแหทอง...มองละม้ายเหมือน..ปลาโมงคำ
ปลากระแห
(เพิ่มเติม)
กาพย์ยานี ๑๑
เพียนทองงามดั่งทอง
ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย
ดั่งสายสวาทคลาดจากสม
กาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
ปลาโมงคำของชาวภาคเหนือ ก็คือปลาตะเพียนทอง ของภาคกลางและภาคใต้ หรือปลาปากของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง
ปลากระแห
ชื่อสามัญไทย กระแห กระแหทอง ตะเพียนหางแดง เลียนไฟ ลำปำ
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SCHWANENFELD'S TINFOIL BARB
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbonymus schwanenfeldi
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
วงศ์ย่อย Cyprininae
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืด รูปร่างคล้ายปลาตะเพียนทอง แต่รูปร่างป้อมสั้นกว่าปลาตะเพียนทอง ( ตามรูปที่ปรากฎ) มีลำตัวกว้างและแบนข้างมาก
ส่วนหัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุดของจะงอยปาก หนวดเล็กและสั้น 2 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง
บริเวณแผ่นปิดเหงือกสีเหลืองจาง ๆ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหางใหญ่ ปลายเป็นแฉกเว้าปลายหางแหลม กระโดงหลังสูงและกว้างมีก้านครีบเดี่ยวที่แข็งและขอบหยักเป็นฟันเลื่อยอยู่อันหนึ่ง สีพื้นของลำตัวเป็นสีเงินเทาหรือสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว ขอบนัยน์ตาดำเป็นสีเหลือง แก้มเหลืองปนแดง
ครีบหลังสีแดงส้มมีปื้นสีดำขนาดใหญ่ที่ด้านบนสุดปลายครีบ ครีบอกสีเหลืองอมส้ม ส่วนครีบท้องครบก้นและครีบหางสีแดงส้ม ขอบครีบหางด้านบนและล่างมีแถบสีดำเข้มข้างละแถบ
ชนาด -มีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ถึง 25 เซนติเมตร
ประโยชน์-ใช้เป็นอาหารได้นิยมบริโภคโดยการปรุงสด รมควัน ตากแห้ง ทำปลาร้า ปลาส้ม นอกจากนั้นยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ปลากระแห หรือกระแหทอง และปลาตะเพียนทอง คล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะที่พลอยโพยมเคยพบเห็นมานั้น ตัวค่อนข้างเล็ก และในสมัยนั้นก็ไม่เคยมีใครอธิบายถึงความแตกต่างของปลาทั้งสองชนิดนี้ มิหนำซ้ำยังมีชื่อว่าปลาตะเพียนหางแดงอีกด้วย โดยเฉพาะที่เมืองฉะเชิงเทราไม่ค่อยมีคนนิยมเรียกว่าปลากระแหกัน พ่อค้าแม่ขายพากันเรียกว่า ปลาตะเพียนหางแดง และบางคนก็เรียกเป็นปลาตะเพียนทองก็มี
เนื่องจากส่วนใหญ่ ทั้งปลาตะเพียนทองและปลากระแห เป็นปลาที่พลอยติดร่างแหมาปะปนกับปลาอื่น ๆ และมีขนาดเล็ก จึงไม่ได้เป็นเมนูอาหารประจำบ่านของพลอยโพยม ปลาตะเพียนเป็นปลาที่มีก้างมากขนาดปลาตะเพียนขาว ( ตะเพียนเงิน) ที่ตัวค่อนข้างเล็กก็ไม่นำมาทำกับข้าว ดังนั้นปลากระแห ปลาตะเพียนทองจึงเป็นเพียงปลาสวยงามเอามาให้ลูกหลานในบ้านได้ชื่นชมกันเป็นส่วนใหญ่
คิดแล้วเพราะความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำบางปะกง ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของพลอยโพยม สามารถเลือกได้อย่างที่กล่าวถึง
ที่มาของข้อมูล กรมประมงและวิกิพีเดีย
ภาพจากอินเทอร์เนท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น