วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาตะเพียนขาว...วับวาวสีเงิน

ปลาตะเพียนขาว...วับวาวสีเงิน


ภาพจากกรมประมง

ปลาตะเพียน (ปลาตะเพียนขาว)
ชื่อสามัญ : Common Silver Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes gonionotus

ข้อมูลกรมประมง

ปลาตะเพียน
ชื่อสามัญอังกฤษ Java Barb, Silver Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barbonymus gonionotus
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae
วงศ์ย่อย Cyprininae

จากวิกิพีเดีย



ปลาตะเพียนในตู้เลี้ยงปลารวมกับปลาตะเพียนทอง
ยังมองเห็นหางปลาตะเพียนทอง ไหว ไหว

ปลาตะเพียน
เป็นปลาน้ำจืดคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่รู้จักดีและอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย
โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าเสือ ขึ้นครองราชย์ใน ปี พ.ศ. 2251- 2275 ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา มีพระนามว่าสมเด็จพระภูมินทรมหาราชา โดยพระนามที่เป็นที่รู้จักกัน คือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระบรมมหาราชวัง
และยังทรงมีพระนามอื่นที่เกี่ยวกับปลาคือขุนหลวงทรงปลา

ทรงเป็นกษัตริย์ที่โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือ ปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท

( ข้อมูลจากวิกิพีเดีย )


ปลาตะเพียนทองอ้าปากประท้วงว่า คราวนี้ถ่ายรูปแต่ปลาตะเพียนเงินเหรอ แล้วพวกฉันล่ะ ไม่มีความหมายรึไงกัน

ลักษณะทัวไป
ปลาตะเพียนมีรูปร่างเหมือนปลาในตระกูลปลาตะเพียนทั่วไป
มีลำตัวค่อนข้างอ้วนป้อมแบนข้าง เกล็ดใหญ่ หัวเล็ก ปากเล็กอยู่หน้าสุด ลักษณะแตกต่างจากปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน คือตะเพียนขาวมีก้านครีบอ่อนของครีบก้นจำนวน 6 ก้าน ส่วนชนิดอื่น ๆ มี 5 ก้าน สีของลำตัวเป็นสีเขียวอมฟ้า ด้านหลังมีสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีขาวเงิน ครีบก้นสีเหลืองปนส้ม ครีบอื่นๆ สีซีดจาง เป็นปลาที่ปราดเปรียวว่ายน้ำได้รวดเร็วเร็ว เมื่อตกใจจะกระโดดสูงมาก

นิสัย
รับสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงนอกจากเวลาสืบพันธุ์หรือวางไข่ มีความว่องไวปราดเปรียว ชอบหลบซ่อนตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี สามารถนำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย

ถิ่นอาศัย

พบชุกชุมในทุกแหล่งน้ำทุกภาคของไทย ยกเว้นแม่น้ำสาละวิน พบในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อาหาร
กินพืช เมล็ดพืชตระกูลหญ้าโดยเฉพาะข้าว สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ซากพืชซากสัตว์ แพลงตอน สัตว์หน้าดิน แมลง ไรน้ำ


ภาพไม่ชัดแต่พอมองเห็นความแตกต่างของปลาตะเพียนขาว ( ตะเพียนเงิน) และปลาตะเพียนทอง
ปลาทั้งสองชนิดนี้ว่ายน้ำปราดเปรียวว่องไวมาก

เป็นปลาเศรษฐกิจที่กรมประมงส่งเสริมให้เลี้ยง มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้ในประเทศมานานกว่า 30 ปี และถูกนำพันธุ์ไปเลี้ยงยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย, บอร์เนียว, อินโดนีเซีย แม้ว่าในประเทศเหล่านี้จะมีปลาชนิดนี้อยู่ในธรรมชาติแล้วก็ตาม

ประโยชน์
เนื้อใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น เช่น ตะเพียนต้มเค็ม ปลาส้ม นับว่าเป็นตำรับที่มีชื่อมากของปลาตะเพียนขาว แม้จะเป็นปลาที่มีก้างมาก และยังนิยมนำไปทำเป็น ปลาร้า ปลาเจ่า ปลารมควั รวมทั้งใส่เกลือตากแห้ง

นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะตัวที่เป็นปลาเผือกซึ่งเรียกกันว่า "ปลาตะเพียนอินโด" นิยมเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์เก็บกินเศษอาหารที่ปลาใหญ่กินเหลือหรือเก็บตะไคร่น้ำและปรสิตในตู้


ภาพจากอินเทอร์เนท
ปลาตะเพียนตัวนี้อ้าปากเสียแล้ว ก็แปลว่าสิ้นลมปลาไปแล้ว

ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาที่คุ้นเคยกับครัวบ้านพลอยโพยมมากที่สุดในบรรดาปลาวงศ์ปลาตะเพียน เป็นปลาที่เข้ามาอยู่ในซั้งมากมีหลายขนาด เมื่อจัดการแบ่งสรรให้คนอื่นไปแล้ว ก็มาถึงมือแม่ละม่อมดำเนินการทำปลาตะเพียนต้มเค็มสูตรของชาวบางกรูด ขอดเกล็ดทิ้ง บ้านพลอยโพยมไม่กินเกล็ดปลาทุกชนิด มีหลงมาไม่กี่เกล็ดก็บ่นแล้วว่าทำปลามาไม่ดี (โดยไม่ใช่ฝีมือแม่ละม่อมแน่นอน) ยิ่งเครื่องในปลาทุกชนิดควักออกหมดรวมทั้งไข่ปลา ที่บ้านพลอยโพยมกินไข่ปลาช่อนชนิดเดียว ชนิดอื่นทิ้งหมด เล่าไปเล่ามาก็อย่าว่ากัน นานาจิตตัง นั่นเอง
ถ้าปลาตะเพียนตัวใหญ่มากต้องแบ่งครึ่งตัว เพราะตักปลาขึ้นมาจากหม้อแล้วตัวปลาเลยล้นจาน ถ้าใส่จานได้ทั้งตัวก็ไม่ต้องแบ่ง บั้งปลาให้เวลาต้มน้ำที่ปรุงรสเข้าไปในเนื้อปลาได้ทั่ว

เมื่อเปิดดูในอินเทอร์เนทแล้ว เห็นแต่ละสูตรมีเครื่องเคราเป็นเครื่องปรุงมากมายใส่พริกไทยก็มี มีเครื่องเคียงเวลาเสริฟต้องประดับประดาสวยงาม ขอดเกล็ดบ้างไม่ขอดเกล็ดบ้าง เอาไปทอดก่อนบ้าง ผัดเครื่องปรุงก่อนบ้าง ใส่หมูสามชั้นบ้าง บางตำราใส่ดินประสิว (แม้จะสามสี่เกล็ด) บ้างเพื่อให้เปื่อยยุ่ย หรือใส่มะละกอดิบหั่นเพื่ออาศัยยางมะละกอช่วยให้เนื้อปลาเปื่อยบ้าง (แล้วตักออกทีหลัง) และหลายสูตรใส่ส้มมะขามเพื่อให้มีสามรสคือเปรียวเค็มหวาน
แต่ละคนก็เป็นสูตรโบราณตามท้องถิ่นบ้านของตนเอง



ปลาตะเพียนขาวจากเรือผีหลอก
ซึ่งเพิ่งตายไม่นานยังมองเห็นลูกตาของ ป.ปลาตากลม สดใสอยู่

ที่บางกรูดไม่มีความยุ่งยากขนาดนั้น
ปลาต้มเค็มก็คือมีรสหวานและเค็มเท่านั้น ต้มก็คือต้มไม่มีการทอดไม่มีการผัดเครื่องปรุง ปลาก็คือปลาไม่ต้องมีการใส่เนื้อชนิดอื่น ไม่ต้องต้มน้ำซุบ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของนานาจิตตัง ตามใจชอบคนกิน จริง ๆ

ปลาตะเพียนต้มเค็มที่บ้านไม่กินเนื้อเปื่อยยุ่ย ตรงกันข้ามเราชอบกินเนื้อแข็ง ๆ ได้จากการต้มปลาตะเพียนต้มเค็มนานหลายชั่วโมง เราจะกินกันวันที่สองสำหรับคนที่อดใจไม่อยู่ แต่ตัวพลอยโพยมชอบกินวันที่สามสี่ ห้า... เราต้มเค็มด้วยรสหวานเค็มเพียงสองอย่างเท่านั้น วันแรกก็ต้มไฟแรงก่อน ใส่น้ำประมาณว่าท่วมตัวปลาอย่างเผื่อไว้เยอะ ๆ (ต้มน้ำเดือดเต็มที่ก่อนจึงใส่ปลาลงไปในหม้อ) จนปลาสุกดี ใส่น้ำปลาและน้ำตาลทรายแล้วราไฟเหลือแค่เดือดปุด ๆ ช้า ๆ ชิมรสว่าถูกใจคนทำและสมาชิกในบ้านดีแล้ว ต้มต่อจนน้ำงวดท่วมหลังตัวปลาขลุกขลิก พักยกที่หนึ่งของวันแรกเพียงแค่นี้ วันที่สองใช้ไฟอ่อนต้มต่อให้น้ำงวดลงไปอีก ใครอยากกินก็ตักไปกินก่อน มีอ้อยยก็ใส่อ้อยรองก้นหม้อ ไม่มีก็ไม่ต้องใส่ให้ต้องเดือดร้อนใจไปหามา เพราะเราใส่น้ำไว้เยอะพอที่จะไม่มีการติดก้นหม้ออยู่แล้ว และเราก็ใช้น้ำตาลทรายที่ทำมาจากอ้อยอยู่แล้วไม่ได้ใช้น้ำตาลปี๊บ

พอวันที่สามที่สี่ปลาตัวที่อยู่ข้างล่างหลังจากมีคนตักปลาตัวบนออกไปกินก่อนหน้าแล้ว เนื้อปลาก็ชุ่มอาบอิ่มด้วยน้ำที่ปรุงรส หลังจากเอามาต้มอุ่นเนื้อปลาตัวบนจะถูกไฟร้อนแผดเผาเนื้อ เนื้อปลาจะแห้งและค่อนข้างแข็ง เพราะน้ำปรุงรสที่เข้าไปอยู่ในเนื้อปลาถูกไล่เอาน้ำออกไปอีก ส่วนปลาตัวล่างที่ยังพอมีน้ำชุ่มก็ซึมน้ำปรุงเข้าไปอีก พอวันถัดมาก็จะกลายมาเป็นปลาตัวบนสุด
ปลาต้มเค็มบ้านพลอยโพยมหม้อใหญ่ และกินได้เป็นสัปดาห์ด้วยวิธีนี้ยิ่งวันท้าย ๆ เนื้อปลาก็จะแข็งและรสชาติเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดตัวสุดท้ายของหม้อ ตัวนี้ก็จะอร่อยที่สุด การอุ่นเดือดใช้วิธียกหูหิ้วหม้อขยับซ้ายขวาไม่ให้เนื้อปลาติดก้นหม้อและไหม้

ส่วนก้างปลานั้น ก้างปลาตะเพียนจะมีลักษณะเป็น ตัว Y ถึงจะมีมากมายแต่ก็เอาออกได้ไม่ยาก ยิ่งกินปลาตัวใหญ่ก็ยิ่งก้างใหญ่และยาวตามไปด้วย น่าจะกินง่ายกว่า ปลาหมอ หรือปลาอื่น ๆ ที่มีก้างเยอะ แต่เมื่อไม่ได้ทำให้ก้างยุ่ย ก็ต้องระมัดระวังที่จะกินปลาตะเพียนต้มเค็มให้ปลอดภัย ตรงที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ คือท้องปลาหรือพุงปลาเพราะก้างใหญ่แข็งมากเห็นชัดดึงออกง่ายไม่มีก้างเล็ก ๆ รวมทั้งบริเวณส่วนกลางลำตัวเป็นก้างตัว y แต่ ชิ้นใหญ่ ที่บริเวณคอปลาลงมาถึงพุงมีก้างเล็กปนอยู่มากกว่ากลางลำตัวแต่เนื้อปลาจะแข็งอร่อยกว่าส่วนหางปลา ที่อันตรายของเด็ก ๆ คือหางปลาเพราะมีก้างเล็กมากกว่าส่วนอื่นและเนื้อปลาไม่ค่อยแข็ง

เป็นเมนูเดียวที่บ้านของพลอยโพยมในการกินปลาตะเพียน

เกล็ดปลาตะเพียนจะบางและใส ยิ่งปลาตะเพียนตัวใหญ่ เกล็ดก็จะใหญ่ตามไปด้วย สมัยเด็ก ๆ จึงมีวิชางานประดิษฐ์เอาเกล็ดปลาตะเพียนไปย้อมสีต่าง ๆ ประดิษฐ์เป็นดอกไม้เกล็ดปลา ส่งคุณครู

เด็ก ๆ ต้องระวังเกล็ดปลาที่บางนี้ ถ้าเด็กไม่ระวังเกล็ดปลาติดที่ผิวเนื้อหลาย ๆ วัน เกล็ดปลาจะแนบกับเนื้อมาก เอาออกยาก


ปลาตะเพียนขาวมีขายในตลาดเช้า
โดยการใส่นำแข็งโรยบนตัวปลาไว้ สาย ๆ ก็ขายหมดแล้วทุกวัน

ปลาในวงศ์ปลาตะเพียน นอกจากปลาตะเพียนขาว (ตะเพียนเงิน) ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห (กระแหทอง) แล้ว ยังมีปลากระมัง ปลากระสูบขีด ปลาแก้มช้ำ ปลาตะพาก ปลาตะเพียนทราย ปลาตะโกก ปลาบ้า (ปลาพวง) ปลาหนามหลัง ปลาหางไหม้

ยังมีปลาชื่อปลาตะเพียนน้ำเค็มอีกชนิด พลอยโพยมไม่แน่ใจว่าเป็นปลาวงศ์ปลาตะเพียนหรือไม่ หรือเพียงมีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนน้ำจืด พบในน้ำกร่อยจึงเรียกชื่อเป็นปลาตะเพียนน้ำเค็ม
ข้อมูลปลาตะเพียนน้ำเค็มมีดังนี้

ชื่อสามัญ ตะเพียนน้ำเค็ม มักคา โคก
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ CHACUNDA GIZZARD-SHAD
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anodontostoma chacunda

ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำกร่อยที่มีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนน้ำจืด ลำตัวป้อมสั้นจะงอยปากสั้นทู่ตามีเยื่อไขมันหุ้ม ปากเล็ก ท้องแบนเป็นสันคมซึ่งเกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนรูปของเกล็ดไปทำหน้าที่ในการป้องกันตัว ครีบหางเว้าลึก ครีบอื่น ๆ มีขนาดเล็ก สีของลำตัวด้านหลังมีสีดำปนเทา ทางด้านท้องสีขาวเงิน หลังช่องเปิดเหงือกมีจุดสีดำข้างละจุด

ถิ่นอาศัย-อยู่รวมกันเป็นฝูง หากินตามพื้นหน้าดินตามชายฝั่งและบริเวณปากแม่น้ำ พบทั่วไปในอ่าวไทย
อาหาร-กินซากสัตว์และพืชเน่าเปื่อย
ขนาด-ความยาวประมาณ 14-20 ซ.ม.
ประโยชน์-เนื้อมีรสอร่อยแต่มีก้างฝอยมาก

พลอยโพยมไม่เคยพบปลาชนิดนี้

ที่มาของข้อมูล กรมประมง และวิกิพีเดีย


หมายเหตุ

พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์
จากคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าเป็นพระที่นั่งกลางสระ มีทางให้น้ำออกน้ำเข้าเชื่อมกับคลองท่อ ปล่อยลงสู่แม่น้ำลพบุรีทางด้านเหนือของวัง

พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์นี้ เป็นที่ทรงโปรดของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อันเป็นที่มาของพระนาม เนื่องจากทรงโปรดการประพาสตกปลาตะเพียน และเสวยปลาชนิดนี้เป็นประจำ

ที่มาของข้อมูล http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=patisonii&date=09-11-2010&group=12&gblog=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น