วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] เจ้างามพริ้งยิ่งกว่า...ปลาตะเพียนทอง

เจ้างามพริ้งยิ่งกว่า...ปลาตะเพียนทอง


เพียนทองงามดั่งทอง
งามผุดผ่องแผ้วพรรณราย

ปลาตะเพียนขาวตัวล่างสุดอ้าปากเรียกพลอยโพยมว่า

ทางด้านนี้จ้ะ ฉันปลาตะเพียนเงิน (ตะเพียนขาว) ย้ายบ้านใหม่อยู่กันอย่างอบอุ่นอวลด้วยมวลหมู่ญาติ บ้านนี้น่ะสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล มั่งมีสมบูรณ์พูนผล ล้วนปะปนด้วยเงินและทอง




ปลาตะเพียนเงินอีกตัวก็บอกว่า เห็นเธอไปแวะบ้านคุณปลานวลจันทร์ ท่องกาพย์เห่เรือว่า

นวลจันทร์เป็นนวลจริง
เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา

ฉันก็ไม่ได้อิจฉาตาร้อน คุณนวลจันทร์เขาหรอกนะว่าเขางามพริ้งแค่ไหน แต่ออกจะน้อยใจในตัวเองว่าไม่เป็นที่ทรงโปรดของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ถึงไม่ทรงนิพนธ์ถึงตัวของฉันเลย ทั้งที่ในลำน้ำทั้วไปพวกฉันแหวกว่ายทั่วทุกสายธารา พี่น้องปลาตะเพียนทอง ก็ยังทรงนิพนธ์ถึงเสียไพเราะเสนาะโสต แต่ก็สมน้ำสมเนื้อกับน้องตะเพียนทองเขา อีกทั้งญาติ ๆ อย่างป้าปลาแก้มช้ำ ซ้ำยังมีน้าปลากระแห แกก็ยังมีชื่อในกาพย์เห่่เรือบทชมปลาของพระองค์

โดยเฉพาะเส้นทางขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ทางแม่น้ำป่าสักไปขึ้นที่ตำบลท่าเรือนั้น ก็มีพวกฉันออกมากมาย ไม่ทรงทอดพระเนตรเห็นเลยหรือกระไร




ปลาตะเพียนเงินตัวล่างสุด ขยับปากพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

ฉันเองก็อยากรู้เหมือนกัน ถามปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษอื่น ๆ แต่ละท่านก็บอกว่าใครจะไปรู้พระทัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ได้ล่ะ ยิ่งพวกเราเป็นปลาจะมาทำท่ารู้ซึ้งถึงจิตใจของพวกมนุษย์เขาได้อย่างไร

เธอลองดูพวกฉันสิว่า ไม่งามสะดุดตาเลยหรือไร ตรงหน้าเธอนั้นมีพี่น้องของฉัน อยู่ใกล้ ๆ เธอลองพิจารณาดูใหม่ซิ




เผอิญพลอยโพยมยังโฟกัสภาพไม่ขัดดี คุณปลาตะเพียนเงินก็กำลังจะว่ายผ่านหน้าไป ก็รีบบันทึกภาพไว้ก่อน ก็เลยมองไม่เห็นเกล็ดปลาตะเพียนเงินวาววับระยับตา กลายเป็นเกล็ดปลาสีขาวหม่น ๆ ไปเสียแล้ว



ปลาตะเพียนทองตัวน้อยบอกว่า ถ้ายังคิดไม่ออกก็ไม่เป็นไร เอาไปคิดต่อที่บ้านก็ได้ ถ้าได้คำตอบแล้วค่อยมาบอกทีหลังก็แล้วกัน ฉันอยากอวดบ้านใหม่ของพวกเรา สีสันสดใส ไม่อึมครึมอย่างบ้านเก่า พวกเราเริงร่ามีความสุขมาก ไม่ต้องถูกปลาหางไก่และปลาแขยงว่ายแซงเส้นทาง ไม่ต้องจัดลู่การจราจรเหมือนแต่ก่อน อยากว่ายขึ้นข้างบนลงพื้นล่าง ก็สะดวกไม่ต้องเกรงใจ เพื่อนปลาหางไก่กับเพื่อนปลาแขยง ตอนนี้มีแต่พวกเรากันเองสะดวกโยธินเชียวละ



ปลาตะเพียนทอง

(เพิ่มเติม)
กาพย์ยานี ๑๑
เพียนทองงามดั่งทอง
ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย

กระแหแหนห่างชาย
ดังสายสวาทคลาดจากสม

กาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์


กรมประมงย้ายบ้านให้ปลาตะเพียนเงินและปลาตะเพียนทอง และให้พี่น้องสองตระกูลปลาตะเพียนมาอยู่รวมกัน แต่เดิมนั้นปลาตะเพียนทองอยู่รวมกับปลาหางไก่และปลาแขยง ซึ่งพลอยโพยมเข้าใจว่าเดิมนั้นต้องการสื่อความสมัครสมานสามัคคีวิถีชาวฝูงปลา จะเห็นได้ชัดในการเคลื่อนไหว แหวกว่าย ปลาหางไก่ก็ว่ายเป็่นฝูง ปลาตะเพียนทองก็ไปเป็นฝูง ปลาแขยงก็เช่นกัน แต่ตู้ปลาเดิมจะดูสีทึมทึม สีทองของปลาตะเพียนทองก็เป็นทองสีหมอง ๆ ไม่ผ่องผุด ดุจทองเปอร์เซ็นต์ 96.5% ประกายทองไม่บาดใจ
แต่พอย้ายมาตู้ใหม่รวมกับปลาตะเพียนเงิน และไฟสว่าง ปลาตะเพียนทองก็งามราวทองคำ Gold Master 99.99%

(ทองคำ 100 % นั้นมีแค่ทองคำแท่ง หากเป็นทองรูปพรรณ การประดิษฐ์เครื่องประดับต่าง ๆ ต้องมีสารเคมีอื่นเจือปน เช่นอย่างน้อยก็ต้องมีน้ำประสานทองเป็นต้น ทองรูปพรรณที่มีเปอร์เซนต์สูงสุดจึงเพียง 99.99 % และราคาก็จะแพงกว่าทอง 96.5% ซึ่งเป็นทองรูปพรรณทั่ว ๆ ไป เมื่อสามสิบปีมาแล้ว ทองคำ 99.99 % จะมีราคาแพงกว่าประมาณ บาทละ 500 บาท จากราคาทองคำ96.5 % บาทละ 4,500 บาท เห็นราคาแล้วเสียใจที่ไม่มีเงินซื้อทองไว้มาก ๆ ในเวลานั้น)


คุณปลาตะเพียนเงินที่น่าเห็นใจ พลอยโพยมไม่มีคำคอบให้ แต่มีข้อสันนิษฐานของตัวเองดังนี้

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเป็นกวีเอกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ถือได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีที่สำคัญอีกยุคหนึ่ง พระองค์ทรงมีความสามารถในเชิงอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง พระนิพนธ์ของพระองค์มีทั้งที่เกี่ยวกับทางโลกและทางธรรม ทางธรรมได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวง ทางโลกได้แก่ กาพย์เห่เรือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท กาพย์เห่เรื่องกากี ต่อมาเจ้าฟ้ากุ้งต้องพระราชอาญาว่าทรงลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ่าสังวาลย์ จึงถูกลงทัณฑ์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ และประดิษฐานพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดไชยวัฒนาราม

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเสือ และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นพระบิดาชองพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด ) และพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์บ้านพลูหลวงของสมเด็จพระเภทราชา ซึ่งมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาของราชวงศ์นี้ รวม 6 พระองค์

พระเจ้าเสือทรงมีความสำคัญสำหรับผลักดันให้พระเพทราชายึดอำนาจ ตั้งตนเป็นกษัตริย์และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระเจ้าเสือกำจัดผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึง 3 พระองค์
และประหารพระขวัญ พระอนุชาต่างพระมารดา ซึ่งพระเภทราชาหมายพระทัยมอบราชสมบัติให้พระขวัญสืบต่อ นอกจากนี้พระเภทราชยังเปลี่ยนพระทัยยกราชสมบัติให้พระนัดดาเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ แต่เมื่อพระเพทราชาสวรรคตเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ไม่กล้ารับราชสมบัติ พระเจ้าเสือจึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน

พระเจ้าเสือ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 30 ของอาณาจักรอยุธยา พระองค์มีฐานะในชื่อเสียงดุร้าย เป็นกษัตริย์ที่ทรงมีความเป็นสามัญชนมากที่สุดของอยุธยา ทรงโปรดปรานการเสด็จออกประพาสโดยมิให้ราษฏรรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงโปรดปรานการประพาสตกปลา ชกมวย เป็นต้น
พระเจ้าเสือทรงมีพระนามปรากฏในความสามารถในการบังคับบัญชาช้าง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็ทรงโปรดการตกปลาจะทรงตกปลาที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระบรมมหาราชวัง เมื่อขึ้นครองราชย์ทรงเป็นกษัตริย์ที่โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษ คือ ปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
พลอยโพยมคิดว่าทรงโปรดเสวยปลาตะเพียนเงิน หรือปลาตะเพียนขาว

เมื่อสิ้นพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระอนุชาก็ครองราขย์ต่อเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การครองราชย์ของพระองค์ต้องกระทำการปราบดาภิเษก เพราะต้องรบพุ่งกับพระราชโอรส 2 พระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ คือ เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้านเรนทร

อันพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียนของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อาจจะยังคงเป็นข้อห้ามที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงจดจำได้ เพราะเพิ่งสืบต่อราชสมบัติกันของพระราชบิดาของเจ้าฟ้ากุ้งเอง

พระราชกำหนดนี้มีการประกาศยกเลิกหรือไม่ หรือปล่อยให้วันเวลาเนิ่นนาน ที่ไม่มีการเอาผิดราษฎรที่ผ่าผืนจับหรือกินปลาตะเพียน ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระราชกำหนดนี้ก็ลบเลือนหมดไปพร้อมกับการสิ้นสุดราชวงศ์บ้านพลูหลวงและราชธานีกรุงศรีอยุธยา

พลอยโพยมก็โยงเรื่องราวเสียยืดยาว ก็อยากถ่ายทอดกฎแห่ง กงกำกงเกวียน แทรกเข้ามาในบทความเป็นอุธาหรณ์ย้อนรอยประวัติศาสตร์ คำสาปแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหารราชด้วยนั่นเอง


ปลาตะเพียนเงินและปลาตะเพียนทองท่าทางสนใจฟังข้อสันนิษฐานของพลอยโพยมกันนะนี่
ลอยตัวช้า ๆ เป็นกลุ่มให้พลอยโพยมถ่ายภาพได้ คงกำลังชั่งน้ำหนักข้อสันนิษฐานนี้ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่



และพลอยโพยมก็มีโอกาสเพ่งพิศความงามของปลาตะเพียนเงินและปลาตะเพียนทอง แล้วเหลียวกลับไปมองปลานวลจันทร์ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม



ในที่สุดพลอยโพยมก็สรุปความเห็นส่วนตัวของพลอยโพยมเองว่า
นวลจันทร์เป็นนวลจริง
เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
งามพริ้งเหนือยิ่งกว่า..
เจ้าคือปลาตะเพียนทอง



สำหรับคุณปลาตะเพียนเงิน เผอิญเธอมีคู่แข่งที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาตัดสินใจ อีกครั้ง คือ ยังมีปลาตะพาก ปลาปากเปี่ยน และปลาหางไหม้ ญาติของเธอนะจ๊ะ โดยเฉพาะปลาหางไหม้ชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากเมืองไทยสวยงามมาก แต่พันธุ์ที่ยังคงมีอยู่ก็ไม่น้อยหน้าใคร ๆ ที่กล่าวถึงอยู่นะ



ดูสิพอกล่าวแบบนี้ก็เกิดอาการวงแตกเสียแล้ว อย่าเสียใจไปเลยน่าคุณปลาตะเพียนเงิน อย่างไรเสีย เนื้อปลาของเธออร่อยยอดเยี่ยมกว่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องปลาวงศ์ปลาตะเพียนนะจ๊ะ

แต่ดูเหมือนปลาตะเพียนเงินตัวหนึ่งไม่สบอารมณ์นัก ทำปากขมุบขมิบต่อว่าพลอยโพยมว่า ทำไมถึงจ้องแต่จะกินเนื้อพวกฉันนักทำไม่ไม่ปล่อยให้ฉันเป็นปลาสวยงามประดับโลกนี้ อนุรักษ์ไว้ไม่กิน อีกหน่อยพวกฉันก็จะสูญพันธุ์ไปแบบปลาหวีเกศ และปลาหางไหม้ที่เธอบอกว่าสวยงามนักหนานั่นไง วันหนึ่งมนุษย์จะเสียใจที่กินปลาที่เป็นพรรคพวกทั้งหมดบนโลกนี้ของฉัน แบบตะกรุมตะกราม ตัวเล็กตัวน้อยก็จับมากินหมดจนพวกฉันแพร่พันธุ์ไม่ทัน และยังทำร้ายพวกฉันด้วยมลพิษต่าง ๆ
พวกฉันแทบไม่มี ธารน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายปทุมาอยู่ไหว ไหว
มีแต่น้ำเหม็นเน่าเสียขุ่นดำ เหมือนน้ำใจพวกมนุษย์อย่างพวกเธอ

วันใดขาดปลาอย่างพวกฉัน วันนั้นพวกเธอจะเสียใจ....อย่างไม่อาจมีพวกฉันหวนคืนกลับมาได้อีก...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น