วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ตะเพียนทอง..ล่องลม..ชมสวน..หวน..นที

ตะเพียนทอง..ล่องลม..ชมสวน..หวน..นที

ตะเพียนทองของคนไทย เป็นชื่อที่คนไทยเคยคุ้นและรู้จักดีสื่อความหมายถึงพืชและสัตว์น้ำและงานหัตถกรรมที่คนไทยรู้จักกันนับร้อยปี
วลีที่เรียงถ้อยร้อยความ เป็นนามของชื่อของบทความนี้ นั้นมีความหมายดังนี้

ตะเพียนทองล่องลม นั้นหมายถึงปลาตะเพียนใบลานสาน
ตะเพียนทองชมสวน หมายถึงมะม่วงตะเพียนทอง และพบชื่อว่ามีต้นโกสนชื่อโกสนตะเพียนทอง
ตะเพียนทองหวนนที หมายถึงปลาตะเพียนทองที่แหวกว่ายในสายนที ในตู้เลี้ยงปลา

คิดจะรวมความเป็นบทความเดียวกัน แต่อาจจะมีเนื้อหายาวเกินไป เลยขอแยกเป็นสองบทความตามลำดับ
อย่างไรก็ตามปลาตะเพียนใบลาน ก็ถือว่าเกี่ยวข้องกับปลาอยู่ดีนั้นเอง ถือว่ายังเล่าเรื่องเดียวกันอยู่

เมื่อเอ่ยคำว่าตะเพียนทอง
ชาวบ้านริมน้ำก็นึกถึงปลาตะเพียนทอง
ชาวสวนก็จะนึกถึงมะม่วงตะเพียนทอง
คุณแม่รุ่นก่อนและใกล้เคียงกับพลอยโพยม ก็จะนึกถึงปลาตะเพียนใบลานสาน
แต่พลอยโพยมนึกถึงสามความหมายข้างต้นพร้อม ๆ กัน และมีความหมายที่สี่ด้วย



ตะเพียนทองล่องลม หมายถึงปลาตะเพียนใบลานสาน

ความเป็นมาของปลาตะเพียนใบลาน
การสานปลาตะเพียนใบลานเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี โดยสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิมซึ่งล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยาและอาศัยอยู่ในเรือเป็นผู้ประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็นครั้งแรก แรงบันดาลใจอาจจะมาจากความรู้สึกผูกพันอยู่กับท้องน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวและความคุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตาของปลาตะเพียนเป็นอย่างดี โดยใช้วัสดุจากท้องถิ่น เช่น ใบมะพร้าว ใบลาน ใบตาล ปลาตะเพียนที่สานด้วยใบลานในสมัยก่อนนั้นไม่สวยงามและมีขนาดใหญ่โตเช่นปัจจุบันนี้ ปลาตะเพียนรุ่นแรกที่สร้างขึ้นเรียกว่า "ปลาโบราณ" โดยจะทำเป็นตัวปลาขนาดเล็กๆ ขนาด 1-3 ตัวเท่านั้น ปลาตะเพียนใบลานมักทาด้วยสีเหลืองซีดๆ ที่ทำด้วยวัตถุดิบตามธรรมชาติที่เรียกว่า "รงค์" ผสมกับน้ำมันวานิช แล้วนำไปเสียบไม้สำหรับห้อยแขวนเลยและปลาตะเพียนใบลานในสมัยก่อนยังมีจำนวนน้อยมากถ้าเทียบกับปัจจุบัน





ปลาตะเพียนใบลานกับความเชื่อ
ปลาตะเพียนใบลานเป็นงานหัตถศิลป์ฝีมือชาวมุสลิมในท้องที่ท่าวาสุกรี บ้านหัวแหลมที่อยู่คู่อยุธยามาเป็นเวลาร่วมร้อยปีจนถึงวันนี้ ก็ยังนับได้ว่าอยุธยาเป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนสานใบลานใหญ่ที่สุดในประเทศ

คนไทยคุ้นเคยและใกล้ชิดกับปลาตะเพียนมานานแล้ว
และสมัยก่อนเชื่อกันว่าปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะช่วงที่ปลาโตเต็มที่กินได้อร่อยเป็นช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอดีเรียกว่าเป็นช่วง “ข้าวใหม่ปลามัน”

ด้วยความเชื่อในเรื่องดังกล่าว จึงมีผู้นิยมนำใบลานแห้งมาสานขดกันเป็นปลาตะเพียนจำลองขนาดต่างๆ แล้วผูกเป็นพวงๆ แขวนไว้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อนเพื่อให้เด็กดูเล่น และถือเป็นสิ่งมงคลสำหรับเด็ก เท่ากับอวยพรให้เด็กเจริญเติบโตมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจปลาตะเพียนในฤดูข้าวตกรวง

บ้างก็มีความเชื่อว่า ปลาตะเพียนเป็นสิ่งสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา
บ้างก็ว่า หากบ้านไหนแขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้านจะทำให้บ้านนั้นมั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น
นอกจากนี้ปลาตะเพียนยังมีนัยยะที่บ่งบอกถึงเรื่องความขยันหมั่นเพียรอีกด้วย

ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 6 ชิ้นคือ กระโจม แม่ปลา กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และลูกปลา มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงามสำหรับแขวนเหนือเปลลูกผู้มีบรรดาศักดิ์
และ ชนิดเป็นสีใบลานเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอย่างใดใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ




ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ 6 ชิ้นคือ กระโจม แม่ปลา กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และลูกปลา มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงามสำหรับแขวนเหนือเปลลูกผู้มีบรรดาศักดิ์
และ ชนิดเป็นสีใบลานเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอย่างใดใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ

ปลาตะเพียนใบลานที่มีลวดลายสีสันต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เป็นปลาตะเพียนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบทราบได้เป็นเลาๆ ว่าหลวงโยธาฯ ข้าราชการเกษียณผู้มีนิวาสสถานอยู่ใกล้สะพานหัน ตำบลวังบูรพา กรุงเทพฯ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำให้สวยงามขึ้น แล้วนำออกจำหน่ายตามงานวัดต่างๆ นับแต่นั้นมาคนก็หันมานิยมปลาตะเพียนสานกันมากขึ้น ปัจจุบันความนิยมการสานปลาตะเพียนไปแขวนเปลให้เด็กอ่อนอาจจะเหลือน้อยมากแต่กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี

http://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=1628

รวบรวมเรียบเรียงโดย : แสงมณี ด้นประดิษฐ์ นักศึกษาช่วยงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด



คนรุ่นโบราณที่เลี้ยงลูกหลานด้วยการไกวเปลเห่กล่อมจะเคยคุ้นกับปลาตะเพียนใบลานเป็นอย่างดี พลอยโพยมก็ยังแขวนปลาตะเพียนใบลานให้หลาน ๆ ซึ่งเกิดก่อนลูก ๆ ของพลอยโพยม ดังนั้นเมื่อนึกถึงปลาตะพียนใบลานก็เห็นภาพปลาตะเพียนเป็นพวง มีปลาตัวแม่เป็นตัวใหญ่และมีลูกปลาตะเพียนหลาย ๆ ตัว ห้อยต่อจากปลาตะเพียนตัวแม่โดยอาศัยมุมต่าง ๆ เช่น ปาก ครีบอก ครีบหางขอแม่ปลาตะเพียน เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของพวงปลาตะเพียน ปลาตะเพียนสานนี้ซื้อหาได้ที่ร้านขายเครื่องจักสานในตัวเมือง ระบายสีแดงและสีทองเป็นลวดลายที่มิได้พิถีพิถันนักเพียงเพื่อเพิ่มความสะดุดตาให้แก่เด็กน้อยที่นอนเปล สนนราคาไม่แพง ซึ่งการสานปลาตะเพียนนี้ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่สมัยก่อนตามบ้านเรือนก็สานกันได้ สานทั้งนก ปลา ตะกร้อ ให้เด็ก ๆ เล่นโดยใช้ใบมะพร้าวสด ซึ่งก็จะได้ปลาตะเพียนตัวเล็กตามวัสดุที่ใช้ แต่ไม่ได้สานมาสำหรับแขวนเปลเด็ก




เปลเด็กที่บ้านของพลอยโพยมสามารถไกวได้แรงกว่าที่ซื้อหาตามร้านค้า เพราะเป็นเปลประกอบเอง แขวนเชือกได้สูงจากชื่อบ้านดังนั้นปลาตะเพียนที่แขวนอยู่เหนือเปลจึงสามารถใช้คำว่าล่องลมได้ไม่เป็นการกล่าวเกินจริง พวงปลาตะเพียนก็พลิ้วไหวไปตามลม
การจะแขวนปลาตะพียนหรือสิ่งแขวนใด ๆ ให้เด็กมองแล้วเพลิดเพลิน ต้องคำนวณระยะการแขวนให้ พอดีกับระดับสายตาของเด็ก ในเปล ผู้ใหญ่ใช้เป็นการฝึกสายตาของเด็กและเป็นการทดสอบด้วยในตัวว่าเด็กในเปลตอบสนองการเคลื่อนไหวของสิ่งของเบื้องหน้าหรือไม่

เพิ่มเติม
พลอยโพยมลืมประเด็นสำคัญไปเรื่องหนึ่งคือ ในความเป็นจริงปลาตะเพียนใบลานสานที่ทำขายกันนั้น มีอันตรายในเรื่องของสีที่ฉาบเป็นลวดลายในใบลาน ในบางข้อมูลที่อ่านพบบอกว่า ให้เด็กได้ฝึกใช้มือไขว่คว้าได้ด้วย ก็ควรเป็นปลาตะเพียนใบลานที่ไม่ระบายสีเป็นปลาตะเพียนใบลานสานปกติ เพราะสีพวกนี้จะหลุดร่อนออกมาเป็นเศษเล็ก ๆ ถ้าเด็กเอามือไชว่คว้าสีก็จะยิ่งหลุดง่าย

ปลาตะเพียนใบลานสานนั้นที่บ้านพลอยโพยมใช้แขวนที่เปลไม่นานนัก ต้องปลดออกมาเอาไปแขวนที่อื่นก่อนที่สีเริ่มลอกหลุด การโยนตัวของพวงปลาตะเพียนสานตามแรงไกวเปล ปลาตะเพียนตัวเล็ก ๆ ก็จะเสียดสีกันอยู่แล้ว นานวันก็จะมีเศษเล็ก ๆ ปลิวหลุดลอกออกมา ก่ออันตรายให้เด็กรับสิ่งมีพิษต้องควรระวังให้มาก

พอปลดปลาตะเพียนออก พ่อของพลอยโพยมก็ไปหาผ้าสีแดงมาแขวนแทนให้ผืนผ้าสีแดงปลิวไหว ๆ แทนปลาตะเพียน ( ยังกับท้ายรถสิบล้อที่ขนของต้องผูกผ้าสีแดงที่ท้ายสิ่งของที่บรรทุกและยื่นออกมานอกตัวท้ายรถ)




สำหรับเด็กอ่อนรุ่นหลัง ๆ ก็มีสิ่งแขวนลักษณะอื่นที่ทันสมัย เพื่อให้เข้ากันกับเปลสมัยใหม่ (รุ่นลูกของพลอยโพยมเมื่อยี่สิบแปดปีมาแล้ว พลอยโพยมก็ได้รับของเยี่ยมเด็กอ่อนเป็นเครื่องแขวนสมัยใหม่แล้ว) ทำให้คุณแม่ยุคใหม่ไม่นิยมแขวนปลาตะเพียนกันเสียแล้ว เรื่องสิริมงคลต่างๆ ก็คลายความเชื่อกันไปมาก แต่พลอยโพยมก็เห็นภาพต่าง ๆ ในเวปไซต์ว่า ปลาตะเพียนใบลานสานยุคนี้ ทำได้สวยงามพิถีพิถันกว่าสมัยก่อน กลายเป็นของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว ก็อยากเชิญชวนคุณแม่สมัยนี้ ช่วยสืบสานตำนานวิถีไทยกับการแขวนปลาตะเพียนสานที่เปลของเด็กอ่อนกัน จะได้อนุรักษ์ความเป็นไทย ปลาตะเพียนสานจะได้ไม่เพียงเป็นของที่ระลึกของนักท่องเที่ยวเท่านั้น ซื้ออย่างที่ไม่ระบายสีก็มีขาย ไม่แขวนในเปลเพราะไม่เข้าบรรยากาศก็ไม่เป็นไร ลองเปลี่ยนมาแขวนที่หน้าบ้านดู เพื่อเป็นการเล่าแจ้งแถลงไขว่าบ้านนี้มีเด็กเกิดใหม่



นอกจากพลอยโพยมจะนึกถึงปลาตะเพียนทองในสามความหมาย คือ ปลาตะเพียนทองใบลานสาน มะม่วงตะเพียนทอง ปลาตะเพียนทอง ยังมีอีกความหมายคือนึกถึงโกโบริและอังศุมาลิน ในนวนิยายเรื่องคู่กรรมของทมยันตี ( สิ่งที่นึกถึงในนวนิยายเรื่องนี้คือ หิ่งห้อย ปลาตะเพียนทอง เจ้าหญิงทอหูกบนทางช้างเผือก...และอื่น ๆ...รองลงมาอีกหลายสิ่งแต่้เป็นอันดับรอง ๆ)

พลอยโพยมเป็นแฟนคลับของคุณวิมล ศิริไพบูลย์ ทุกนามปากกา ในเรื่องคู่กรรมนี้ โกโบริบอกกับอังศุมาลิน เมื่อรู้ว่าอังศุมาลินตั้งครรภ์ว่า
" ถ้ามีลูกชาย เราจะได้เอาปลาจะเพียนแขวนไว้ที่หน้าบ่้าน "
" ตามธรรมเนียมของญี่ปุุ่น เวลามีลูกชายเขาจะเอาตะเพียนสานมาแขวนไว้หน้าบ้าน คนหนึ่งก็ตัวหนึ่ง คนโตใช้ตัวใหญ่สุด คนต่อ ๆ ไปก็ค่อย ๆ เล็กลงมา"
ตอนโกโบริใกล้จะสิ้นใจ อังศุมาลินบอกว่า " ฉันจะแขวนปลาตะเพียนตัวโต ๆ ไว้ ถ้าคุณอยู่บนฟ้าจะได้มองลงมาเห็นเรา ( แม่ลูก ) ได้ง่าย ๆ..



คุณทมยันตีบอกคนอ่านว่า ที่ญี่ปุ่นก็มีการแขวนปลาตะเพียนสานสำหรับสื่อว่ามีเด็กเกิดใหม่และเป็นชาย แต่ของเราก็ไม่เกี่ยงหญิงหรือชาย มีเด็กใหม่ก็เอาไปแขวนหน้าบ้าน จะได้ช่วยอุดหนุนงานหัตถกรรมของคนไทยรักษาวิถีไทยในเรื่องนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ตะเพียนทองชมสวน
หมายถึงมะม่วงตะเพียนทอง และต้นโกสนชื่อตะเพียนทอง


มะม่วงตะเพียนทอง
จะกล่าวถึงพรรณมะม่วงในภายหลัง


โกสนตะเพียนทองของนานาการ์เดนท์

เมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้วพลอยโพยมนิยมปลูกโกสนมาก ในสมัยนั้นชื่อของต้นโกสนนิยมใช้ชื่อจากวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน ชื่อนางพิม ก็มีหลายนางพิม มีหลายขุนแผน หลายขุนช้าง หลายพระไวย นางทองประศรี นางศรีประจัน ยังเคยปลูกขุนช้างเข้าหอ และอื่น ๆ อีกหลายชนิด ไป ๆ มา ๆ พอสนิทกับพ่อค้า เชาบอกว่า โธ่โกสนนี่ผมก็ไปรับมาจากแปดริ้วนะคุณรู้หรือเปล่า แต่เขาไม่บอกว่า แปดริ้วตรงไหน เดี๋ยวเสียลูกค้าขาประจำ

พลอยโพยมก็เล่นต้นไม้ ซื้อหาไปตามยุคที่เขาสร้างขึ้นว่า ปีนี้จะนิยมอะไรดี บอน ว่าน โกสน โป้ยเซียน ชวนชม ไม้ดอกหอมไทยแม้แต่ต้นรักแรกพบที่นิยมกันมาสองสามปีนี้

ตะเพียนทอง..หวน นที


ปลาตะเพียน

ภาพทั้งหมดจากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น