วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๘ พระมหากัสสปเถระ ๖
พระเจ้าอชาตศัตรู ได้อัญ้ชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกุสินารา กลับมายังกรุงราชคฤห์ ด้วยการบูชาอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับเหล่าเจ้ามัลลกษัตริย์ ทำการบูชาระหว่างมกุฏพันธเจดีย์และสัณฐาคาร ตรัสให้เหล่าข้าราชบริพารล้อมรางทองคำที่บรรจุพระบรมธาตุด้วยกรงอันแข็งแรง ในระหว่าทางพบเห็นดอกไม้มีสีดั่งทองคำในที่ใดก็ให้เก็บดอกไม้เหล่านั้นบูชา
ในวันที่ ๓ พระบรมธาตุมาถึงพระนครราชคฤห์ มีมหาชนชุมนุมรอรับกันมากมายตลอดทาง ทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วทรงจัดงานมหกรรม แม้กษัตริย์เหล่าอื่น ก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังเมืองของตน ๆ สร้างพระสถูปไว้บูชา แล้วจัดงานมหกรรมเช่นกัน
อนึ่งเมื่อปลายพุทธกาลนั้น นิครนถนาฏบุตร ศาสดาของศาสนาเชนได้ละสีงขาร สาวกของท่านมืได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันชัดเจน เมื่อไม่มีศาสดาสาวกผู้เป็นศิษย์ก็แตกแยก ทะเลาะ วิวาทกันว่าศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร
สำหรับพุทธศาสนาได้มีการปรารภการทำสังคายนา ณ กรุงกุสินารานี้
โดยพระมหากัสสปเถระได้กล่าวชวนภิกษุสงฆ์ในท่ามกลางที่ประชุม ณ สัณฐาคาร ให้พร้อมใจกันกระทำสังคายนา โดยกล่าวว่า
"ดูก่อน อาวุโส เราทั้งหลาย ควรจะทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพราะว่าในกาลเบื้องหน้า อธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักถูกขัดขวาง อวินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักถูกขัดขวาง ในกาลภายหน้าพวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักอ่อนกำลัง พวกอวินัยวาทีจักมีกำลัง พวกวินัยวาทีจักอ่อนกำลัง"
ที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบกับความดำริของพระมหากัสสปเถระ กล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้น พระเถระโปรดคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด
พระมหากัสสปเถระคัดเลือกพระอรหันต์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก บรรลุปฏิสัมภิทา แตกฉานในไตรวิชา เป็นต้น จำนวน ๔๙๙ รูป
ภิกษุทั้งหลายกล่าวกับพระมหาเถระต่อไปว่า
" ขอท่านจงเลือกพระอานนท์ เข้าร่วมการสังคายนาด้วยเถิด แม้ท่านจะเป็นเพียงเสขบุคคล แต่ก็ไม่ลุแก่อำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติภยาคติ ทั้งยังเป็นผู้มีความทรงจำพระธรรมและพระวินัยเป็นเลิศ อันจักเป็นประโยชน์ต่อการสังคายนา"
พระมหากัสสปะจึงเลือกพระอานนท์ไว้อีกองค์หนึ่ง ตามประสงค์ของภิกษุทั้งหลาย
สงฆ์นั้นพร้อมใจกัน เลือกกรุงราชคฤห์ เป็นสถานที่ทำสังคายนา
จากนั้นพระมหากัสสปเถระกล่าวแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ภายใน ๕๐ วันนี้ ผู้ใดมีกิจที่กังวลใดๆ ขอให้ทุกท่านกระทำกิจที่ควรทำนั้นให้เสร็จสิ้น
กล่าวดังนี้แล้ว พระมหากัสสปเถระ และพระอนุรุทธเถระ ก็พาเหล่าสงฆ์บริวารกลับไปกรุงราชคฤห์ แม้พระเถระผู้ใหญ่องค์อื่น ต่างก็พาบริวารกลับไปสู่ที่พำนักของตน ๆ
ในเถรคาถาเล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ หน้า ๑๗๙ กล่าวว่า หลังจากทำสังคายนาครั้งแรกแล้ว พระอนุรุทธเถระกลับไปจำพรรษาสุดท้าย ณ เวฬุคาม แคว้นวัชชี ซึ่งเป็นที่จำพรรษาสุดท้ายของพระบรมศาสดาเช่นเดียวกัน แล้วนิพพานภายใต้พุ่มไผ่ ณ เวฬุคาม ด้วยอนุปาทิเลสนิพพาน
ส่วนพระปุณณเถระ มีภิกษุเป็นบริวาร ๗๐๐ รูป ยังพำนักอยู่ที่กุสินารา ด้วยประสงค์จะปลอบโยนมหาชน ที่พากันมาสักการบูชา ยังสถานที่ปรินิพพานของพระบรมศาสดา
ขอขอบคุณข้อมูลจากสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น