วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ที่มาของ .....วันวานของบางกรูด.....



บางกรูดเป็นชื่อตำบล ตำบลหนึ่งของอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกโอบล้อมจนดูเหมือนอยู่ในอ้อมกอดของลำน้ำบางปะกง ลำน้ำสายสำคัญของภาคตะวันออก เรียกว่าเป็นลำน้ำที่ยาวที่สุดของภาคตะวันออก
ลำน้ำบางปะกง มีต้นกำเนิดจาก ลำธารหลายสายในจังหวัดนครนายกที่มารวมกันเป็น แม่น้ำก่อนที่จะ ไหลบรรจบกับแม่น้ำที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่เดิม ก็เรียกลำน้ำทั้งสายนี้ว่า แม่น้ำบางปะกง อันเป็น อำเภอสุดท้ายที่ลำน้ำสายนี้ไหลออกทะเล
ต่อมา ชาวนครนายก ก็เรียกลำน้ำสายนี้ที่ไหลผ่านนครนายกว่า แม่น้ำนครนายก
ชาวปราจีนบุรี ก็เรียก แม่น้ำ ที่รวมมาจาก ลำน้ำหลายสาย ที่มาจาก อำเภอประจันตคามและจังหวัดสระแก้ว ว่า แม่น้ำปราจีนบุรี ทราบโดยคำบอกเล่าจากกอดีตกำนันท่านหนึ่งของอำเภอบ้านสร้างว่า จังหวัดปราจีนบุรี เปลี่ยนชื่อ แม่น้ำบางปะกง ที่ไหลผ่านปราจีนบุรี เป็น แม่น้ำปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2538 โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในสมัยนั้น
การกล่าวขวัญถึงแม่น้ำบางปะกงในระยะหลัง จึงกลายเป็นว่า
แม่น้ำบางปะกง เกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีนบุรี โดยไหลมาบรรจบกัน ที่ตำบล บางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
โดยอีกฝั่งของแม่น้ำสองสายที่บรรจบกันนี้ คือ ตำบลบางขนากอำเภอบางน้ำเปรียว จังหวัดฉะเชิงเทรา


มีภาพแผนที่ของอำเภอบ้านโพธิ์ที่แสดงถึงตำบลต่างๆของอำเภอ จะเห็นภาพได้ชัดเจน กับคำกล่าว ที่ว่า บางกรูด เหมือนถูกโอบกอดด้วยแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะเหมือน ปากขวด หรือปากถุงเพียงเล็กน้อย
บางกรูด เป็นแหล่งชุมชนที่เนิ่นนานมากว่า 200 ปี ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นถิ่นฐานที่ชาวจีนอพยพกันเข้ามาอยู่ตามริมสองฝั่งน้ำค่อนข้างมาก เป็นที่สันนิษฐานกันว่า เดิมแหล่งชุมชนนี้คงมีต้นมะกรูดมาก แต่เนื่องจากต้นมะกรูดเป็นพืชที่มีอายุไม่ยืนยาวนักถูกจัดประเภทเป็นพืชผักสวนครัว ดังนั้นผู้คนรุ่นหลังๆ ก็ไม่เคยเห็นว่า ต้นมะกรูด ที่มีขึ้นกันมากมาย จนควรเป็นที่มาของชื่อตำบลบางกรูด อยู่ในบริเวณใดในอดีต ก็จะเห็นเพียงแต่ เรือกสวนเป็นแนวขนานกับสายน้ำบางปะกง และมีท้องทุ่งนาเป็นฉากหลังที่สวยงามให้กับเรือกสวนเหล่านั้น บ้านเรือนของผู้คนริมฝั่งน้ำซุกซ่อนตัวอยู่กับป่าจาก ลำพูและแสม หากมองไปจากฝั่งตรงกันข้ามก็แทบไม่เห็นบ้านเลย และสำหรับปัจจุบัน ก็ ถูกความผันแปรตามวันคืนที่ล่วงผ่านไป กาลเวลาย่อมเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ จึงทำให้ บางกรูดในปัจจุบัน กับบางกรูด เมื่อห้าหกสิบปีที่แล้ว ผันแปรไปตามวัฎจักร จากที่เคย รุ่งเรือง ก็เสื่อมถอย ดังคำที่ว่า ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง ล้วนมีแต่สิ่งไม่จีรังยั่งยืน
ก่อนที่ภาพของอดีตของบางกรูด จะเลือนลับหายไปอย่างไม่มีทางหวนคืนกลับมา เพราะล่วงลับไปกับผู้คน
พลอยโพยม จึงอยากเก็บภาพอดีตเท่าที่ตนเองเคยคลุกคลีมา แม้ จะสามารถ ถอยวันคืนไปได้เพียงน้อยนิด กับอายุของตำบล ก็คงจะยังพอ มีเรื่องให้เล่าขานได้บ้างเล็กน้อย มาเล่าสู่กันเป็นสังเขป

จากภาพแรก เป็นยามที่อาทิตย์ใกล้จะลาลับขอบฟ้า คงเคยได้ยินเพลง บางปะกง ที่กล่าวถึง ฝั่งชายน้ำบางปะกง ยามแสงอาทิตย์อัสดง ใกล้จะค่ำลงแล้วหนา แต่บางปะกงนั้นยังคงสวยงามตา คราใกล้สนธยา.....ยิ่งพาให้เราสุขสันต์
แดดจวนลับลงรำไร............



คนรุ่นใหม่คงไม่ค่อยรู้จักเพลงนี้ คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง แต่กระนั้นก็ดี บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นสุภาพบุรุษ เวลาถูกเชิญให้ขึ้นร้องเพลงในเวลามีงานมีการ ก็ เป็นเพลงฮิตติดอันดับอยู่จนปัจจุบันนี้สำหรับผู้บริหารวัยสูงวัยรุ่นเก่าๆที่ชอบร้องเพลงโบราณ โบราณ
แม่น้ำทุกสายเป็นแหล่งที่เกิดของอารยธรรม มาแต่เบื้องบุรพกาล ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำไนล์ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำดานูบ แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

แต่ที่บางกรูด ไม่ได้มีประวัติยืนยาวย้อนหลังขนาดนั้น จากการสันนิษฐาน จาก เราชาวบ้านทั่วไป พื้นดินถิ่นฐานนี้ น่าจะเกิดใหม่จากการตื้นเขินของท้องทะเล
ที่บ้านเวลาขุดบ่อน้ำ ลงไปลึกๆ จะพบเศษของเปลือกหอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นกาบใหญ่ๆ มากมายกระจัดกระจายกันอยู่ชั้นดินล่างๆ
และจากคำบอกเล่าของบรรดาคนเก่าแก่ ว่า เมื่อก่อนชายฝั่งน้ำ อยู่ บริเวณไหนมาก่อน บางฝั่งก็ ยื่นออกไปจากที่เคยมีอยู่เดิม บางฝั่งก็ผุ ผัง ทะลายลงแม่น้ำ เรามีคำเรียกฝั่งน้ำ ว่า ฝั่งคุ้งและฝั่งแหลม
ดังนั้น ที่บางกรูด จึง ไม่ได้ ถึงขั้นมีอารยธรรม เก่าๆมาเล่าสู่ มีแค่เพียง วิถีชุมชน วัฒนธรรมพื้นบ้าน และ ภูมิปัญญาของคนยุค คุณตา คุณยาย ย้อนหลังได้ไม่ไกลนักเท่านั้น
บางกรูดในปัจจุบัน แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับเมื่อ ห้าหกสิบปีที่แล้ว บางกรูด ที่จะเล่าสู่เป็นเชิงย้อนอดีต ไม่ได้เป็นการชี้ชวนมาชื่นชมเชิงท่องเที่ยว แต่ ที่ตำบลบางกรูดก็พอมีโฮมเสตย์ ที่น่าสนใจสำหรับผู้รักความสงบ อยู่บ้าง และมีรีสอรท์ชายน้ำที่หรูหราสะดวกสบาย สัมผัสธรรมชาติชายน้ำ ที่อำเภอเมืองฉะเฃิงเทรา ก็ลองมาสัมผัสชีวิตของคนริมน้ำกันนะคะ

ส่วนภาพที่สอง เป็นภาพของขนมชั้น
เนื่องจากความยากลำบากในการสัญจรไปมา ชาวบ้านในสมัยก่อนมักพึ่งพาตนเองในบ้านของตน การทำขนมรับประทานเอง เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตัวอย่างขนมชั้นนี้ สามารถทำรับประทานได้โดยหาซื้อส่วนผสมของขนมเพียง แป้งถั่วเขียวน้ำตาลทราย บางบ้านก็ไม่ใช้แป้งถั่วเขียว ใช้เพียงแป้งเท้ายายม่อมและ แป้งข้าวเจ้า ล้วนเป็นของมีติดบ้าน ทำเอง โม่เอง กะทิ ก็ จากมะพร้าวในสวน ใบเตย ก็จากริมสวนเช่นกัน ส่วนสีแดง แต่เดิมมาใช้สีแดงของครั่ง ต่อมาก็กลายเป็นสีวิทยาสาสตร์


บ้านไหนทำขนมอร่อยเช่น เครื่องไข่ทั้งหลาย (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หม้อแกง เม็ดขนุน) ขนมชั้น ซ่าหริ่ม ก็จะได้รับเชิญ ขอแรงเป็น ช่างของหวานตามงานต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ สาวๆบ้านไหนอยากฝึกหัดทำขนม ก็ไปออกแรงช่วยงานต่างๆ เป็นลูกมือ นานไปก็เรียนรู้ได้ แต่ละบ้านก็จะมีสูตรลับเฉพาะตัว หรือเคล็ดลับพิเศษ ซึ่งจะบอกต่อกันเฉพาะลูกหลาน ดังนั้น การลักจำ ก็จะได้เฉพาะขบวนการ หรือส่วนผสม แล้วก็ฝึกหัดกันไปเรื่อยๆ คนมีพรสวรรค์ ก็จะเป็นคนที่หยิบจับขนมอะไร ก็อร่อยโด่งดัง เสียทุกอย่าง

โดยความรู้สึกที่อยู่ใกล้ชิดแวดวงผู้มีพรสวรรค์ทำขนม ทั้งที่ตัวคนเล่าเอง ทำไม่เป็นเลย และไม่ชอบการปรุงอาหารคาวหวานทุกชนิด สัมผัสที่ผ่านมาบอกว่า ขนมทุกอย่างต้องใช้เวลาและความอดทนถึงจะเกิดความพิเศษแตกต่าง
เช่น การทำขนมชั้น ในสมัยที่ยังไม่มีการใช้เครื่องผ่อนแรง ต้องใช้เวลาในการนวดแป้งและกะทิ น้ำตาลให้เข้ากัน ค่อยๆนวด ค่อยๆเติมกะทิ ค่อยๆเติมน้ำตาล การนวดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า สองชั่วโมง ขนมจะนุ่มอร่อย การเทแป้งนึ่งแต่ละชั้น เทให้บาง ดังนั้นขนมชั้นที่อร่อยนุ่ม ต้องมี จำนวนขั้นมากๆ บางๆ ยังไม่เคยรับประทานขนมชั้น ที่ชั้นหนาอร่อยเลยสักที
ขนมชั้นที่จะทำกันรับประทานเองภายในบ้านก็คงทำในการทำบุญเลี้ยงพระถวายสังฆทานครบรอบวันตายของบรรพบุรุษ พระองค์ที่บิณฑบาตผ่านบ้าน นอกนั้นส่วนใหญ่ก็จะทำเพราะมีงานเป็นส่วนใหญ่
ฃ่างของหวานชื่อดัง ในทุกๆยุค ที่บางกรูดล้วนมาจากผู้มีอันจะกินทั้งสิ้น การทำขนมที่ไม่ขี้เหนียวส่วนประกอบ และมีลูกมือใช้แรงงานสำหรับขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามากๆนั่นเอง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น