วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชัง





ประวัติศาสตร์เกาะสีชัง
เกาะสีชังเป็นเกาะกลางทะเลที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถือเป็นช่วงที่เกาะสีชังมีการพัฒนาที่เจริญที่สุดและเมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้การพัฒนาเกาะสีชังต้องหยุดชะงักลง การกล่าวถึงประวัติเกาะสีชังจึงขอกล่าวเป็นช่วงๆดังนี้



นามเกาะสีชัง
คำว่าสีชัง มีที่มาตามข้อสันนิษฐานต่างๆดังนี้
นิทานความเชื่อ
๑.เรื่องตาม่องลาย : เจ้าพ่อหอมสิงห์ไปขอหมั้นนางมัดตอง ลูกสาวตาม่องลาย ด้วยเงิน ๔ ชั่ง และเงิน ๔ ชั่ง นั้นกลายเป็นเกาะ เรียกว่าเกาะสี่ชั่ง ภายหลังเลือนเป็น สีชัง
๒.เรื่องตาหมื่น ยาวท้าว : เดิมบนเกาะนี้มีฤๅษีตนหนึ่งจำศีลอยู่ ต่อมามีชาวกรุงชื่อ ตาหมื่นกับยายท้าว เป็นชู้กัน จึงถูกคุกราชทัณฑ์ใส่แพลอยมาจากกรุงศรีอยุธยา แพมาติดที่เกาะนี้ คนทั้งสองจึงขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะ ฤๅษีซึ่งไม่ชอบทางโลกีย์จึงออกไปจากเกาะ เหตุที่ฤๅษีชังการโลกีย์นี้เอง เกาะสีชังจึงได้ชื่อว่า “ฤๅษีชัง” ภายหลังคำว่า “ฤา” หายไปเหลือแต่ “ษีชัง” ต่อมา ษ กลายเป็น ส จึงเป็นสีชัง
๓. ตาสี กับ ยายชัง : แต่เดิมบนเกาะนี้ยังมีผัวเมียคู่หนึ่งชื่อ ตาสี กับ ยายชัง ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่บนเกาะ เกาะจึงได้ชื่อตามผัวเมียคู่นี้ คือ เกาะสีชัง แต่ต่อมาดินฟ้าไม่อำนวย ผัวเมียคู่นี้จึงย้ายไปอยู่ที่ศรีราชา




คำศัพท์
๑.คำจีน : แต่เดิมเกาะนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีชาวจีน ๔ คน แล่นเรือจากประเทศจีนเข้ามา ทำมาหากินในประเทศไทย ครั้นมาถึงเกาะนี้ได้แวะพักอาศัย เห็นเป็นทำเลเหมาะแก่การเพาะปลูกก็เลยขึ้นทำการเพาะปลูกอยู่บนเกาะ ชาวจีนทั้ง ๔ คน ขนามนามเกาะนี้ว่าเป็น “ซีชั่น” ซึ่งแปลว่า สหาย ๔ คน คนไทยได้ยินคำว่า “ซีชั่น” ก็รู้สึกว่าพูดยากจึงออกเสียงเป็น “สีชัง”
๒.คำบาลี : สีชัง เลือนมาจากคำภาษาบาลีว่า “สีห์ชังฆ์” แปลว่า “แข้งสิงห์” เนื่องจากรูปของเกาะนี้ มองแต่ไกลคล้ายสิงห์หมอบ
๓.คำโบราณ : แต่เดิมนามเกาะสีชัง มีชื่อปรากฏในคำสรวลศรีปราชญ์(ผู้ประพันธ์คือ ศรีปราชญ์ซึ่งเกิดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) บทหนึ่ง ซึ่งแต่งไว้ราวปี พ.ศ. ๒๒๓๕ เรียก เกาะสีชังว่า เกาะสระชงง เข้าใจว่าต่อมาการออกเสียงอาจเพี้ยนไปเป็นสีชัง



โครงบทที่ ๗๘
มุ่งเห็นละล่ายน้ำ ตาตก แม่ฮา
เกาะสระชงง( สระชัง )ชลธี โอบอ้อม
มลกกเห็นไผ่รยงรก( เรืองรก) เกาะไผ่ พู้นแม่
ขยว( เขียว)สระดื้อล้ำย้อม ยอดคราม


จากหลักฐานต่างๆแสดงว่าได้มีการเรียกชื่อเกาะสีชังว่า สระชัง กันมาแต่เดิมแล้ว อย่างน้อยก็คงก่อนปีพุทธศักราช ๒๒๓๕ หลังจากนั้นยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า คำว่า สระชัง ได้เลือนมาเป็นสีชัง ตั้งแต่สมัยใด

จากหลักฐานทางวรรณคดีเท่าที่พบปรากกฎว่าได้มีการใช้คำว่า สีชัง เมื่อประมาณ ปีพุทธศักราช ๒๓๗๐ อันเป็นปีที่ นายมี ศิษย์ของท่านสุนทรภู่ เดินทางไปเมืองถลาง และได้แต่งนิราศถลางไว้ ดังปรากฏในคำกลอนตอนหนึ่งว่า


เหลียวเห็นเกาะสีชังนั่งพินิจ
เฉลียวคิดถึงนุชที่สุดหวัง
ให้นึกกลัวน้องหญิงจะชิงชัง
ถ้าเป็นดังชื่อเกาะแล้วเคราะห์กรรม

หลังจากนั้นมาได้มีการใช้คำว่า สีชัง แพร่หลายขึ้น และคงจะไม่มีการเลือนไปเรียกอย่างอื่นอีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการจดบันทึกชื่อของสถานที่แห่งนี้ลงในทำเนียบของทางราชการ



เกาะสีชัง เป็นเกาะที่รู้จักกันดีมาแต่โบราณ ปรากฏชื่อในเอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า “สระชงง” เกาะแห่งนี้มีความสำคัญทางการพาณิชย์ทางทะเลมานับร้อย ๆ ปี นอกจากนี้ยังเป็นที่พักผ่อนของผู้คนหลายชนชั้น
ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเกาะสีชังหลายครั้ง มีพระราชดำรัสสรรเสริญ เกาะสีชังว่า “เป็นที่อากาศดีผู้ซึ่งอยู่ในเกาะนี้จึงได้มีอายุยืน เพราะมิใคร่มีโรคภัยมาเบียดเบียน” ในระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ได้โดยเสด็จด้วย

ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระประชวร มีพระอาการมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับรักษาพระองค์ ณ เกาะสีชัง เพื่อให้ได้รับอากาศทะเลตามคำแนะนำของแพทย์หลวง อาคารที่ประทับในครั้งนั้น คือ เรือนไม้ที่ทางราชการสร้างไว้ให้ชาวต่างประเทศเช่าตากอากาศ พระอาการก็ทุเลาลง ในเวลาต่อมาไม่นานนัก พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (ต่อมาคือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) ทรงพระประชวร แม้จะถวายการรักษาในพระนครแล้ว พระอาการก็ยังมีมากอยู่ ครั้นโปรดให้เสด็จออกมาประทับ ณ เกาะสีชัง พระอาการ ก็ทุเลาลงเช่นกัน



โดยในตอนแรกจะเสด็จประทับอยู่ในเรือพระที่นั่ง เพราะเสด็จฯ มากะทันหันไม่ทันปลูกสร้างพลับพลาที่ประทับ แต่เรือประที่นั่งถูกคลื่นกระเทือนทำให้ทรงประชวรยิ่งขึ้น จึงเสด็จขึ้นประทับอยู่ ณ เรือนซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ประทับอยู่ก่อน ที่ประทับนั้นปลูกเต็นท์ใต้ต้นมะขาม ที่เขามอริมหาด จนพระอาการทุเลาลง ( ประทับอยู่ ๗ ราตรี) จึงเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันตกต่อไป ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้หาที่สร้างพระอารามใหม่แทนวัดที่ปลายแหลม เนื่องจากเวลาเสด็จพระราชดำเนินผู้คนพลุกพล่านทำลายความสงบของสงฆ์ โดยได้ที่ใหม่ คือบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตรในปัจจุบัน





นอกจากนั้นยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่ให้สร้างเรือนขึ้น ๓ หลังบริเวณแหลมและใต้ลงมาบริเวณชายหาด เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยไปพักฟื้นรักษาตัว เรียกว่า อาไศรย์สฐาน



ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เรือนทั้ง ๓ หลังจึงสร้างเสร็จ และ ได้พระราชทานนามเรือนทั้ง ๓ หลัง อันได้แก่ เรือนวัฒนา เรือนผ่องศรี และเรือนอภิรมย์ ตามพระนามพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระอรรคชายาเธอ ซึ่งได้บริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งสำหรับเรือนทั้ง ๓ หลังตามลำดับ



ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธทรงประชวร พระอาการหนักมาก รัชกาลที่ ๕ จึงเสด็จแปรพระราชฐานนำมาประทับรักษาพระองค์ที่เกาะสีชังและให้รับหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ ออกมาตรวจอาการหลายสิบคน โปรดเกล้าฯให้พระยาสมุทบุรานุรักษ์ เจ้าเมืองสมุทรปราการเป็นแม่กองขุดบ่อใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำฝนให้ราษฎรใช้สอยบ่อหนึ่ง พระราชทานนามว่า “บ่ออัษฎางค์”


เมื่อพระอาการของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธบรรเทาลง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสในที่ต่างๆ ทรงมีพระราชดำริให้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ และตกแต่งสถานที่หลายแห่งบนเกาะเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและผู้ที่สัญจรไปมายังเกาะนี้ และเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เจ้าฟ้าอัษฎางค์ทรงมารักษาพระองค์จนหายที่เกาะสีชัง อันได้แก่


ภาพจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สะพานอัษฎางค์ ศาลศรีชโลธรเทพ อัษฎางค์ประภาคาร เสาธงอัษฎางค์




และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนต่างๆ
เช่น ถนนอัษฎางค์ ถนนวัฒนา ถนนเสาวภา ถนนวชิราวุธเป็นต้น




(สองข้างทางของถนนมีร่องระบายส่งน้ำจากบ่อน้ำไปยังอีกบ่อโดยบ่อน้ำต่าง ๆ จะลดหลั่นกันมา)

รวมทั้งสร้างวะนะ คือ อุทยานขนาดใหญ่ขึ้นที่ไร่บน พระราชทานนามว่า อัษฎางคะวัน โดยให้หาต้นไม้ทนแล้งจากพระนครส่งออกไปปลูกในอัษฎางคะวันและบริเวณพระราชฐานเป็นจำนวนมาก








ในการนี้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เป็นแม่กองในการสร้างสถานที่ต่างๆ ทั้งยังทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการเปิดฉลองสถานที่ต่างๆเป็นการรื่นเริง และพระราชทานสิ่งของ เครื่องเรือน เครื่องใช้แก่ราษฎรชาวเกาะสีชังด้วย



ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินออกมาประทับที่เกาะสีชังอีกครั้ง ได้โปรดเกล้าฯให้ทำการก่อสร้างขึ้นอีกหลายอย่าง ขยายรั้วค่ายหลวงออกไปจนถึงหาดคลองเทียนบน ( หาดทรายแก้วในปัจจุบัน ) สร้างวะนะในพระราชฐาน ตกแต่งเนินเขาในเขตพระราชฐานเป็นชั้นๆปลูกต้นไม้ต่างๆ สร้างตำหนักต่างๆ ขุดบ่อสำหรับรับน้ำฝนไว้ใช้สอยหลายบ่อ ทำรางระบายน้ำให้น้ำไหลลงมาในบ่อน้ำจืด ในครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯให้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทจำลองของโบราณ ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงนำมาจาก ตำบล พุทธคยา ประเทศอินเดีย มาประดิษฐานไว้บนไหล่คยาศิระ บนเขาพระจุลจอมเกล้า เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่ผู้ที่มาเที่ยว ทั้งทรงถวายประกาศพระราชทานที่เขตพระอุโบสถ วัดอัษฎางคนิมิตเป็นที่วิสุงคามสีมาด้วย



ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินออกมาประทับอยู่ครั้งนี้ เป็นเวลาที่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงพระครรภ์ใกล้จะถึงกำหนดประสูติ จึงมีพระราชดำริว่า ที่เกาะสีชังนี้เป็นที่อากาศดี มีภูมิสถานเป็นที่สบาย ควรจะตั้งพระราชฐานให้มั่นคงเป็นที่ประทับในฤดูร้อน ให้เป็นพระราชฐานสำคัญแห่งหนึ่ง สำหรับเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเจริญพระราชอิริยาบถในฤดูร้อน

พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ประสูติพระราชกุมาร ณ ตำหนักมรกฎสุทธ์ในพระราชฐาน เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ มีการสมโภช ๓ วัน ตามขัตติยราชประเพณี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ




ในระหว่างนั้นได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เร่งทำการก่อสร้างในสถานที่ต่างๆในพระราชฐาน ให้ทันการสมโภชเดือนของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เป็นแม่กองดำเนินการสร้างอาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆโดยโปรดเกล้าฯพระราชทานนามสถานที่ต่างๆให้คล้องจองกันดังนี้

พระที่นั่ง ๔ องค์ คือ
พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์
พระที่นั่งโชติรสประภาต์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์


ตำหนักต่างๆ ๑๔ ตำหนัก คือ
ตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ ตำหนักเพชร์รยับ
ตำหนักทับทิมสด ตำหนักมรกฎสุทธ์
ตำหนักบุศราคำ ตำหนักก่ำโกมิน
ตำหนักนิลแสงสุก ตำหนักมุกดาพราย
ตำหนักเพทายใส ตำหนักไพฑูรย์กลอก
ตำหนักดอกตะแบกลออ ตำหนักโอปอล์จรูญ
ตำหนักมูลการะเวก ตำหนักเอกฟองมุก


ศาลา ๑ ศาลา คือ ศาลาหมอกมุงเมือง

ประตูพระราชฐานชั้นใน ๘ ประตู คือ
ประตูนาคนารถชุมนุม ประตูภุมมเทพาวาส
ประตูจาตุราชสุราไลย ประตูไตรตรึงษ์พิมาน
ประตูยามาคารรุจิต ประตูดุสิตเทวะสะภา
ประตูนิมมานรดี ประตูศรีษัษฐสรวง


ทางในพระราชฐาน ๒๖ ทาง คือ
ทางโรยทองทราย ทางรายทองเหรียญ
ทางเดียรทองบาท ทางดาษทองใบ
ทางไล้ทองหลอม ทางอ้อมทองหล่อ
ทางต่อทองลวด ทางกวดทองก้อน
ทางดอนทองพัด (ดึงษ์) ทางอัดทองทศ
ทางจรดทองพิศ ทางปิดทองแผ่น
ทางแล่นทองลิ่ม ทางริมทางมุ่น
ทางหนุนทองเม็ด ทางเสร็จทองอาบ
ทางราบทองแร่ ทางแผ่ทองเลี่ยม
ทางเอี่ยมทองลาด ทางพาดทองแท่ง
ทางแผลงทองหุ้ม ทางคุมทองหลอด
ทางทอดทองปรุ ทางบุทองราบ
ทางทาบทองแล่ง ทางแต่งทองแช่


บันได 21 บันได คือ
บันไดเนรคันถี บันไดรีฟันม้า
บันไดดาปะเยนนูน บันไดมูนโสตนหนา
บันไดศิลาทอง บันไดผองผลึก
บันไดปึกประพาฬ บันไดปานแท่งหยก
บันไดปกนากสวาด บันไดลาดนากกสวย
บันไดรวยศิลาแร่ บันไดแพร่เพ็ชร์น้ำค้าง
บันไดพร่างนิลน้ำขาว บันไดพราวตากะต่าย
บันไดพรายแคเมียว บันไดเขี้ยวหฌุมาน
บันไดผสานโมรา บันไดศิลาสีอ่อน
บันไดท่อนมาเบอ บันไดเสมอกรุนผา
บันไดศิลาอ่อนลาย


สระ 3 สระ คือ
สระเทพนันทา สระมหาโนดาดต์ สระประพาศชลธาร







บ่อ 13 บ่อ คือ
บ่อเชิญสรวล บ่อชวนดู
บ่อชูจิตร บ่อพิศเพลิน
บ่อเจริญใจ บ่อหทัยเย็น
บ่อเพ็ญสำราญ บ่อศิลารอบ
บ่อขอบก่อ บ่อล้อหอย
บ่อน้อยเขา บ่อเสาเหมือนคู่
บ่อดูเหมือนต่อ




ธาร 2 ธาร คือ
ธารเครื่องหอมปน ธารสุคนธ์ปรุง


ถ้ำ 3 ถ้ำ คือ
ถ้ำจรูญนพรัตน์ ถ้ำจรัสนพเลาห์ ถ้ำเสาวภา

น้ำตก 5 น้ำตก คือ
น้ำตกไหลหลั่ง น้ำตกถั่งธาร
น้ำตกปานร่ม น้ำตกสมพู่
น้ำตกพรูสาย


พุ 4 พุ คือ พุพลุ่งกระแส พุแพร่เฉวียง พุพเนียงน้อย พุฝอยสุหร่าย

วะนะ 3 วะนะ คือ
จุลวัน มัชฌิมวัน มหาวัน


ผา 3 ผา คือ
ผาเงินตระหง่าน ผาม่านนาก ผาฉากสำฤทธิ์.



ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ซึ่งเป็นวาระพระราชพิธีการสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯประกาศการสร้างพระที่นั่งและพระราชฐานนี้ ให้เจ้าพนักงานชักธงแสดงนามพระราชฐานซึ่งพระราชทานโดยนิยมตาม พระนามซึ่งจะพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ โดยทรงพระราชทานนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ พระราชทานนามพระราชฐานว่า “พระจุฑาธุชราชฐาน” ทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งและพระราชทานนามว่า พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์



จุดสิ้นสุดของพระจุฑาธุชราชฐาน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเกาะสีชังในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ประทับแรมอยู่ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นฝ่ายได้เปรียบและประกาศปิดอ่าวไทยพร้อมทั้งส่งทหารฝรั่งเศสหมวดหนึ่งขึ้นยึดเกาะสีชัง (เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒) ทำให้การก่อสร้างพระที่นั่งต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ต้องหยุดชะงักลง นับจากเหตุการณ์ดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานฤดูร้อนไปประทับที่พระจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชังอีกเลยจนสิ้นรัชกาล เพียงแต่ทรงแวะเสด็จขึ้นประพาสบ้าง ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางทะเล
บรรดาพระที่นั่ง และ พระตำหนักต่างๆที่สร้างด้วยเครื่องไม้นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนและนำไปสร้างในที่อื่น แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำไปสร้างที่ใดบ้าง




ฐานของพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่หลงเหลืออยู่เมื่อรื้อพระที่นั่งออกไป


ส่วนพระราชฐานบนเกาะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้างนับตั้งแต่แรกเริ่มให้เป็นผู้ดูแลรักษา แต่เนื่องจากกรมทหารเรือวางกำลังได้เพียงส่วนน้อย จึงโปรดเกล้าฯให้ตำรวจภูธรซึ่งตั้งขึ้น ณ เกาะสีชังทำการรักษาแทน
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้ทอดพระเนตรเห็นพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์รกร้างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อมาสร้างใหม่ที่พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ แต่นั้นมาเป็นอันเลิกพระราชวังที่เกาะสีชัง



ต่อมา พ.ศ.2450 ทรงอนุญาตให้กรมกองลาดตระเวน ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ฝึกหัดดัดสันดานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีที่มีความประพฤติเป็นอันธพาลและไม่มีผู้ปกครอง
ในรัชกาลต่อมาไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พื้นที่พระจุฑาธุชราชฐานอีกนาน จนกระทั่งพ.ศ. 2483 กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้ในกิจการตรวจคนเข้าเมือง แต่ก็มิได้เข้าใช้จริงจัง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลมีมติให้บริษัทเรือลำเลียงจำกัด กระทรวงคมนาคมใช้เป็นสถานที่ขนส่งเสบียงให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่น



พ.ศ.2488 กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล โดยใช้พื้นที่เรือนอภิรมย์ ใช้ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลเทววงษ์ 2 ปัญจมราชอนุสรณ์ จนกระทั่งได้พื้นที่ใหม่สร้างอาคารเรียน จึงย้ายออกไป
พ.ศ.2494 กระทรวงมหาดไทยสร้างเรือนไม้ 2 ชั้นขึ้นบริเวณริมทะเลเป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอเกาะสีชังอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งได้สถานที่ใหม่จึงย้ายออกไป
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐบาลขอใช้พื้นที่บางส่วนในเขตพระราชฐานเช่น ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ที่ทำการย่อยของกรมการข้าว ฯลฯ





ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิ์การใช้ที่ดินบางส่วนจากกรมธนารักษ์ เพื่อเป็นสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต และทำหน้าที่ดูแลรักษาพระจุฑาธุชราชฐานซึ่งเป็นโบราณสถานในเขตที่ดินดังกล่าวไปในคราวเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2545 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มทำหารปรับปรุงพระราชฐานขึ้นใหม่ เพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547


โดยในส่วนที่ได้ปรับปรุงและจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถาน ได้แก่
• พระเจดีย์อุโบสถ วัดอัษฎางคนิมิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 ปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และเปิดให้เข้าชม
• เรือนไม้ริมทะเล สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบัน ได้รับการบูรณะ และใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจในเกาะสีชัง
• เรือนวัฒนา สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานนามตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชัง สมัยรัชกาลที่ 5
• เรือนผ่องศรี สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานนามตามพระนามของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และประวัติบุคคลผู้มีบทบาทกับเกาะสีชังในอดีต
• เรือนอภิรมย์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานนามตามพระนามของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 5


ระเบียบปฏิบัติของพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน
• ๑. พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานเปิดทำการในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่า
เข้าชม หยุดวันจันทร์ ( อาคารปิด แต่เข้าชมภายนอกได้) ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์
๒. ในช่วงวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมียุวมัคคุเทศก์บริการนำชมพระจุฑาธุชราชฐาน
๓. การนำรถเข้าภายในพิพิธภัณฑ์
- วันธรรมดา ตั้งแต่ 16.00-19.30 น.
- วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 17.00-19.30 น.
( ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน และขออนุญาตเป็นกรณีๆ )
๔. ห้ามนำสุรา ของมึนเมาเข้ามาดื่มภายในพระจุฑาธุชฐาน
๕. ห้ามเข้ามาขายของภายในพระจุฑาธุชราชฐาน ( ยกเว้นในสถานที่และเวลาที่พิพิธภัณฑ์ได้จัดให้ )
๖. ห้ามตกปลา ปลาหมึก ภายในพระจุฑาธุชราชฐาน
๗. โปรดแต่งกายสุภาพในการเข้าชม
๘. ห้ามใส่ชุดว่ายน้ำลงเล่นน้ำทะเล และนอนอาบแดด
๙. การเข้ามาถ่ายภาพ บันทึกเทปเพื่อการพาณิชย์หรือเผยแพร่ต้องขออนุญาต และทางพิพิธภัณฑ์ขอรับบริจาดเงิน เพื่อทำนุบำรุงสถานที่
๑๐. การขอใช้สถานที่พระจุฑาธุชราชฐานในการจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องขออนุญาต
๑๐. ห้ามเทียบเรือรับส่งคนภายในพระจุฑาธุชราชฐาน ( ยกเว้นกรณีที่ทำการขออนุญาตแล้ว )
๑๑. ไม่ทำการใดๆอันเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดเสียหาย หรือก่อให้เกิดความสกปรกและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแก่ สถานที่
๑๒. ไม่ทำการใดๆภายในพระจุฑาธุชราชฐานอันเป็นที่น่ารังเกียจหรือเป็นที่เสียมเสียต่อศีลธรรมอันดี หรือลบหลู่ดูหมิ่น ศาสนา และวัฒนธรรม หรือก่อความ รำคาญแก่ผู้เข้าชมอื่น
๑๓. ไม่ขีดเขียน หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆลงบนสถานที่ต่างๆ
๑๔. ไม่นำอาวุธ วัตถุระเบิด วัตถุเชื้อเพลิง หรือสารเคมีอันจะก่อให้เกิดอันตรายเข้ามาภายในพระจุฑาธุชราชฐาน
๑๕. ห้ามนำทรัพยากรภายในพระจุฑาธุชราชฐานออกไปภายนอก ( หิน ทราย กระรอกขาว ต้นไม้สงวน วัตถุโบราณ ฯลฯ )



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://phrachudadhuj.com
วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น