วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๑



พุทธคยา ๑




คุณศรินทรได้ค้นพบขุมทรัพย์ที่วิเศษมีค่ามหาศาล และเคยกล่าวไว้ว่า
คนเราจะนับถือศาสนาอะไรเป็นเรื่องความเชื่อความศรัทธาและเป็นเรื่องส่วนตัวของคน ๆ นั้น ที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ศาสนิกชนนั้นควรจะต้องเข้าใจถึงหลักธรรมะซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาของตัวเอง นั่นแหละศาสนาจึงจะเป็นแสงส่ว่างส่องทางให้แก่ชีวิตและจิตวิญญาณให้เราได้

พลอยโพยมขอสนับสนุนข้อความนี้ด้วยอีกคน

หลังจากที่ครอบครัวของพลอยโพยม ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทรงมีพระพุทธวจนะว่าการบูชาพระองค์ที่ประเสริฐที่สุดคือการปฎิบัติบูชา พี่ชายคนโตบวชเป็นพระภิกษุหลังสิ้นบุญแม่ละม่อม โดยมีจุดมุ่งหมายเป็นพระสุปฏิปันโน โดยเน้นการปฎิบัติวิปัสสนา มา ๓  พรรษาแล้วโดยจำพรรษาตามวัดที่ปฎิบัติธรรมเข้มข้นเน้นกิจวิปัสสนาธุระ



สุปฏิปันโน แปลตรง ๆ ว่า ‘ปฏิบัติอยู่ในสัมมาปฏิบัติ’ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคจำกัดความชัดเจนกว่านั้น คือการปฏิบัติในทางที่นำไปสู่พระนิพพานแดนพ้นทุกข์ และไม่ปฏิบัติถอยหลัง ไม่ปฏิบัติเป็นข้าศึก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และอีกนัยหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ปฏิบัติดีหมายถึงปฏิบัติไปตามธรรมวินัยที่พระบรมศาสดาทรงแนะนำสั่งสอนไว้ ไม่ปฏิบัติให้ผิดไปจากธรรมวินัย
ไม่เพียงเท่านั้น บางตำราท่านอธิบายคำว่าปฏิบัติดี หมายความว่าบุคคลเหล่าใดเป็นผู้ตั้งอยู่ในมรรคและผล บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยมรรคอันมีองค์แปด และเป็นผู้ที่ได้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุด้วยการปฏิบัติชอบตามมรรคอันมีองค์แปดดังกล่าว

ขอขอบคุณ http://www.dhamma5minutes.com/webboard.php?id=84&wpid=0017




หลังจากพี่ชายคนที่สองได้บรรพชา(ครั้งที่๒) ในพรรษาช่วงเกษียณงานพอดี และปฎิบัติธรรมเข้มข้นจำพรรษาที่วัดป่าสุขศรีงาม อีกทั้งตามพระพี่ชายไปปฎิบัติธรรมที่วัดงุยเตาอูกัมมัฎฐาน ในรัฐฉาน ประเทศพม่าอีก ๒ เดือนจนสึกเป็นฆราวาสแล้ว ก็เลื่อมใสศรัทธาแนบแน่นในพระพุทธองค์

จนในปี  ๒๕๕๖ นี้ มีคนชวนทำบุญเป็นเจ้าภาพปฐมกฐินสามัคคี  ๒,๖๐๐กอง สร้างวัดไทยพุทธภูมิ น้อมเกล้าถวายเป็นพุทธบูชา ที่เมืองคยารัฐพิหารประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นวาระโอกาสตรงกันกับการสมโภชหุ้มทองคำยอดฉัตรพระศรีมหาโพธิ์เจดีย์พุทธยาพอดี

พี่ชายก็เลยพาพระพี่ชายคือพระอโณทัย และน้องสาวคือพลอยโพยมไปด้วย และยังเป็นการจาริกธรรมไปนมัสการ สังเวชนียสถาน ๔ สถาน คือ สถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ณ เมือง พุทธคยา ไวสาลี กุสินารา ลุมพินี และพาราณสี ที่ประเทศอินเดียและเนปาล รวมเวลา ๗ วัน ๘ คืน

ขออนุโทนาบุญที่พี่อรรถโกวิท ที่มีเมตตากับพี่ชายและน้องสาวดังกล่าว

มีพระพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
" ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลเหล่านั้น แล้วมีจิตเลื่อมใสชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ "

มีอุปสรรคขลุกขลักก่อนไปจาริกบุญ พระอโณทัยป่วยเป็นไข้เลือดออกต้องกลับมารักษาตัวที่ฉะเชิงเทรา ตัวพลอยโพยมพบวิบากกรรมเยื่อแก้วหูขวาทะลุ ซึ่งทั้งสองคนก็สามารถไปแสวงบุญจาริกธรรมได้แต่เมื่อกลับจากแสวงบุญก็ล้มพับป่วยกันเป็นสัปดาห์

เป็นการจาริกบุญที่จัดโดย คุณจิรธร คุณสุมาลี ปุญญฤิทธิ์ กรรมการก่อสร้างวัดไทยพุทธภูมิ สายหนึ่งในหลาย ๆ สายกฐิน มีพระภิกษุ ๗ รูป ฆราวาส ๓๒ คน ร่วมขบวนจาริกธรรรม

ซึ่งมีจัดเส้นทางการเดินทางใหม่เพื่อไม่ต้องเป็นการย้อนเส้นทางไปมา ดังนี้ เมืองพุทคยา-พาราณสี-กุสินารา-ลุมพินี-สาวัตถี ดังแผนที่แสดงเส้นทางดังภาพ



พลอยโพยมจึงขอเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตามเส้นทางการเดินทาง ดังนั้นจึงเป็นสังเวชียสถาน จะเรียงลำดับดังนี้
สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเศนา สถานที่ปรินิพพาน สถานที่ประสูติ


....แคว้นสำคัญในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล...

ในชมพูทวีปสมัยพุทธกาลหรือประเทศอินเดีย มีอาณาจักรหรือ แคว้นใหญ่ๆ อยู่รวม ๑๖ แคว้น ตามพระสูตรอุโบสถสูตร ดังนี้คือ อังคะ,มคธะ,กาสี,โกสละ,วัชชี,มัลละ,เจตี,วังสะ,กุรุ,ปัญจาละ,มัจฉะ, สุรเสนะ,อัสสกะ,อวันตี,คันธาระ,กัมโพชะ.



ขอเริ่มต้นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธองค์ด้วยแคว้นมคธ

แคว้นมคธ หรือมคธะ

แคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เป็นราชอาณาจักรยิ่งใหญ่หรือมหาอำนาจ หนึ่งในสี่ของชมพูทวีป อีกสามอาณาจักรได้แก่ โกศล วังสะ และอวันตี ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ สาวัตถี โกสัมพี และอุชเชนี ตามลำดับ พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นมคธสมัยนั้น ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของอังคะด้วย คือพระเจ้าพิมพิสาร แต่มาในปลายสมัยพุทธกาลประมาณ ๘ ปี ก่อนพุทธปรินิพพาน ได้ถูกพระราชโอรส คือพระเจ้าอชาตศัตรูแย่งราชสมบัติ ด้วยการจับขังจนสิ้นพระชนม์ชีพ แล้วพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ครองราชสมบัติสืบแทนต่อมา

แคว้นมคธในสมัยพุทธกาล มีเมืองหลวงของแคว้นคือกรุงราชคฤห์

แคว้นมคธมีความสำคัญทั้งในด้านการเมือง การศาสนาการเศรษฐกิจ และการทหาร เป็นนครที่เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นที่ชุมนุมอยู่ของศาสดาเจ้าลัทธิ และเศรษฐีมหาเศรษฐีจำนวนมาก



แคว้นมคธ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา ทั้งในสมัยของพระพุทธองค์และต่อ ๆ มา เช่น

-พระพุทธองค์เมื่อเสด็จออกทรงผนวช ก็ได้เสด็จตรงมายังแคว้นมคธ และอาจกล่าวได้ว่าตลอดเวลา ๖ ปี ที่ทรงแสวงหาโมกขธรรม ก่อนได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ประทับอยู่ในแคว้นมคธ

-พระพุทธองค์ ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ซึ่งอยู่ในแคว้นมคธนี้

-การประกาศพระศาสนาของพระพุทธองค์ ถึงความเป็นปึกแผ่น หยั่งรากลงได้มั่นคง ที่แคว้นมคธนี้เป็นแห่งแรก

-พระสาวกองค์สำคัญ ๆ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นต้น ก็เป็นชาวมคธหรือคนแคว้นนี้

-พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นในสมัยของพระพุทธองค์ และต่อมาถึงภายหลังพุทธปรินิพพาน คือพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทรงมีส่วนช่วยอย่างสำคัญ ในการประกาศพระศาสนา

-วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือวัดเวฬุวนาราม ก็เกิดขึ้นที่แคว้นนี้

-การสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย สองในสามครั้งที่ทำในอินเดีย ก็ทำที่แคว้นนี้


พระพุทธศาสนาแผ่ไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย
ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ปาฏลีบุตร อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นนี้ในสมัยนั้น

พระพุทธศาสนาในอินเดียมั่นคงอยู่ในแคว้นนี้ตลอดมา จนกระทั่งถูกรุกรานและทำลายโดยมุสลิมเตอร์ก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๓ (ค.ศ. ๑๒๐๐) หรือเมื่อ ๘๐๐ ปี นับย้อนหลังจากนี้ไป (พ.ศ.๒๕๔๔)




สถานที่ในแคว้นมคธ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธองค์ และความเป็นมาของพระพุทธศาสนามีอยู่เป็นอันมาก เพียงในเขตกรุงราชคฤห์ อันเป็นนครหลวงและบริเวณใกล้เคียง เฉพาะที่มีชื่อคุ้นหูก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น

***๑. ลัฏฐิวัน ที่ซึ่งพระพุทธองค์เสด็จประทับ เมื่อเสด็จกรุงราชคฤห์ครั้งแรกหลังตรัสรู้

***๒.เวฬุวนาราม หรือวัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระศาสนา

***๓. ยอดเขาคิชฌกูฏ มีพระคันธกุฏีที่พระพุทธองค์ทรงชอบใช้เป็นที่เสด็จประทับมากแห่งหนึ่ง

***๔. ถ้ำสูกรขาตา สถานที่ที่ท่านพระสารีบุตรได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

***๕. วัดชีวกัมพวัน หรืออารามสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ ที่ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จมาเฝ้าสารภาพความผิดต่อพระองค์ และพระพุทธองค์ได้ทรง แสดงสามัญญผลสูตรถวาย

***๖. ตโปทา บ่อน้ำร้อน ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่หลายเรื่อง

***๗. ปิปผลิคูหา ถ้ำที่ท่านพระมหากัสสปะชอบใช้เป็นที่พำนัก และพระพุทธองค์เคยได้เสด็จมาเยี่ยม

***๘. ถ้ำสัตตบัณณคูหา ณ ไหล่เขาเวภาระ สถานที่ซึ่งท่านพระอรหันต์สังคีติกาจารย์ทั้งหลายประชุมกันทำปฐมสังคายนา

***๙. อัมพลัฏฐิกา สถานที่ทรงแสดงพรหมชาลสูตร ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างราชคฤห์กับนาลันทา

***๑๐. พุหุปุตตกนิโครธ ระหว่างราชคฤห์กับนาลันทา ที่ซึ่งท่านพระมหากัสสปะได้พบและได้รับอุปสมบทจากพระพุทธองค์

***๑๑. ป่าสีตวัน สถานที่ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีมหาอุบาสก ได้พบและเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เป็นครั้งแรก

***๑๒. กาฬสิลา สถานที่ที่ท่านพระโมคคัลลานะถูกพวกเหล่าร้ายทุบตีจนร่างแหลก.

***๑๓. อินทสาลคูหา แห่งภูเขาเวทิยะ สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงสักกปัญหสูตร แก่ท้าวสักกะ และ
***๑๔. ปาสาณกเจดีย์ ที่ซึ่งศิษย์ ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรีเข้าเฝ้าพระพุทธองค์และทูลถามปัญหาเป็นต้น หลายแห่งในจำนวนนี้ยังคงมีซากปรากฏให้เห็นอยู่ที่อื่น ๆ ซึ่งสำคัญที่ควรระบุถึงอีกบางแห่งก็มี

***๑๕.อุรุเวลาเสนานิคม สถานที่ตรัสรู้

***๑๖. นาลันทา ซึ่งว่ากันในปัจจุบันว่า เป็นหมู่บ้านเกิดของท่านพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ
ที่ซึ่งในระหว่างพุทธศักราช ๑๐๐๐ ถึง ๑๗๐๐ ปีเศษ ได้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาแห่งพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ที่ขณะนี้มีซากอันใหญ่โตและกว้างขวางปรากฏให้เห็นอยู่ กับปาฏลีบุตร เมืองหลวงของแคว้นต่อจากราชคฤห์ ซึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง สวยงามตระการ เป็นศูนย์กลางการปกครองของมหาอาณาจักรโมริยะหรือมารยัน ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ เท่าอินเดียปัจจุบันไว้ในอำนาจ



อุรุเวลาเสนานิคม

ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดคยา เรียกชื่อว่า พุทธคยา หรือโบธคยา เป็นตำบลนอกเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองคยา ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร (๗ ไมล์) มีต้นพระศรีมหาโพธิกับพระเจดีย์ หรือพระวิหารมหาโพธิ ซึ่งใหญ่โตสง่างามสูงถึง ๑๗๐ ฟุต เป็นที่หมายจุดซึ่งพระพุทธองค์ประทับตรัสรู้ กับมีซากปูชนียสถานปูชนียวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณโดยรอบอีกเป็นจำนวนมาก

นาลันทา
หรือซากมหาวิทยาลัยนาลันทา อันใหญ่โตและมีชื่อเสียงในอดีตดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดนาลันทา อยู่ห่างจากราชคฤห์ ๑๓ กิโลเมตร(๘ ไมล์) ห่างจากพิหารศะรีฟ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการจังหวัด ๑๓ กิโลเมตร หรือ ๘ไมล์เช่นกัน และห่างจากปัฏนา ๙๐ กิโลเมตร (๕๖ ไมล์) ซากที่ปรากฏมีเนื้อที่กว้างขวาง เฉพาะที่ขุดค้นแล้วมีถึง ๓๕ เอเค่อร์ คือราว ๘๗ ไร่ครึ่ง

ปาฏลีบุตร
ได้แก่เมืองปัฏนา หรือปัฏนะในปัจจุบัน ได้มีการขุดค้นสำรวจรวมหลายจุด ในเขตรอบนอกเมืองด้านทิศใต้ ได้พบหลักฐานช่วยให้ยืนยันได้เป็นที่แน่นอน บริเวณซึ่งได้รับการขุดสำรวจแล้วบางส่วนที่ กุมรหาร์ เข้าใจกันว่า จะเป็นที่ตั้งวัด อโศการาม อันเป็นวัดที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และได้เป็นที่ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่สาม ภายใต้พระบรมราชูถัมภ์ของพระเจ้าอโศกนั้น

สถานที่ตรัสรู้
พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปย่อมทราบและรู้จักกันดีว่า คิอ พุทธคยา

เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถาน และถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก


ภาพเขียนมหาโพธิเจดีย์ โดย ชาร์ลส์ ดอยล์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ บ่งบอกถึงสภาพของมหาโพธิ์เจดีย์ในสมัยที่ไม่ได้รับการดูแล

ปัจจุบันพุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ๓๕๐ เมตร อดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยาชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล ในปัจจุบันพุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู  และพุทธคยาได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕

ความเป็นมาของเมืองคยา หรือจังหวัดคยาก่อนถึงกาลเวลาก่อนจะเป็นสถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะ

คยาสีสประเทศ

คยาสีสะ ปัจจุบันเรียกกันว่า คะยาสิระ หรือ คชาสีสะ ชาวพุทธเรียกกันว่า คะยาสีสะ แปลว่าลักษณะคล้ายหัวช้าง เพราะลักษรณะของภูเขาคล้ายหัวช้างกำลังนั่ง ชาวอืนเดียว่าเหมือนอสุรคยาคว่ำหน้าลง
อีกนัยหนึ่งคือ
ชื่อคยาเป็นพระนามของกษัตริย์ผู้ใจบุญองค์หนึ่งซึ่งครองเมืองคยานี้ ทรงทำการบูชาพระวิษณุและทวยเทพ ถูกพระพรหมสาปแช่งให้สิ้นความนิยมไปยุคหนึ่ง ยังอธิษฐานขอให้เมืองคยาจงรุ่งเรืองเหมือนพรหมบุรีของพระพรหมอีกด้วย


เขาพรหมโยนีอยู่ใกล้ตัวจังหวัดคยา เป็นที่ซึ่งพราหมณ์เชื่อกันว่าเป็นที่เกิดของพรหม บนยอดเขาจะมองเห็นเมืองคยา และแม่น้ำเนรัญชลารอบด้าน เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม มีโพรงหินที่เรียกว่า พรหมโยนีหมายถึงที่เกิดของพระพรหม เป็นปล่องเขาเกือบถึงยอดมีสีแดงทาไว้เป็นจุด ๆ ชาวอินเดียยาตรามาที่คยา จะต้องไปลอดปล่องพรหมโยนีกันทั้งนั้น เพราะเชื่อว่าหากลอดแล้วจะได้หมดบาปไม่ต้องกลับมาเกิดเมืองมนุษย์อีก




พระมหาโพธิเจดีย์ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในคราวที่พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะพระมหาเจดีย์ หลังถูกทิ้งร้างไปกว่าพันปี

ในจดหมายเหตุของหลวงจีนถังซำจั๋งกล่าวไว้ว่า เมื่อมาที่นี่ได้พบพวกพราหมณ์ ๑,๐๐๐ ครอบครัว ล้วนสืบสกุลมาจากฤาษี พรหมโยนี คำว่าพรหมโยนี จึงเป็นที่บุรุษที่เคยอยู่ที่นี่มาก่อนคนอื่น ๆ นับแต่โบราณมีพระราชประเพณีสำหรับมหากษัตริย์ ทุก ๆ พระองค์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติจะต้้องเสด็จมาที่ภูเขานี้จากนั้นจึงจะประกอบพิธีราชาภิเษกได้ ประชาชนจึงจะมีความพอใจและจงรักภักดี

สถานนี้เป็นที่เชื่อว่าเป็นที่ำพำนักของคยากัสสปะ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และทรงประกาศศาสนามีพระสาวก ๖๐ รูปแล้ว พระพุทธองค์เสด็จกลับมาที่อุรุเวลาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงเห็นว่าชฎิล ๓ พี่น้องเป็นนี่นับถืออย่างยิ่งของชนชาวมคธ ทรงปรารถนาเผยแพร่พุทธศาสนาในแคว้นมคธ  ซึ่งมีกรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวง เป็นนครที่เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นที่ชุมนุมอยู่ของศาสดาเจ้าลัทธิ และเศรษฐีมหาเศรษฐีจำนวนมาก อีกทั้งงพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์กรุงราชคฤห์ยังเป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นอังคะด้วย

พระพุทธองค์ทรงสยบชฏิล สามพี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ซึ่งมีบริวาร ๕๐๐ คน ๓๐๐ คน ๒๐๐ คน จนชฎิลสามพี่น้องยอมสยบกลับใจขอเข้าอุปสมบทเป็นสานุศิษย์ของพระพุทธองค์จากการฟังธรรมชื่อ อาทิตตปริยายสูตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน

และกาลต่อมาอุรุเวลกัสสปะได้แสดงให้พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยบริวาร ๑๒ นหุต เห็นด้วยการลุกขึ้นนั่งทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วซบศีรษะลงที่พระบาทของพระพุทธองค์แล้วประกาศว่า พระพุทธองค์เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นสาวกผู้ฟังคำสอนของพระองค์

ชฏิลคือ นักบวชประเภทสันยาสี ที่มวยผมตั้งขึ้นสูง มีกิจวัตร ๒ ประการเป็นประจำคือ อาบน้ำกับบูชาไฟ

และทำพิธีบูชาใหญ่เรียกว่ามหายัญ ปีละครั้ง ในสรวณะกับพิธีอาบน้ำอย่างใหญ่เรียกว่าคยาผัลคุณี
ถือกันว่าน้ำในแม่น้พเนรัญชราเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

ชาวอินเดียนิยมการบูชาไฟกัน เชื่อกันว่าลัทธิบูชาไฟเป็นลัทธิดั้งเดิมของมนุษย์ เพราะไฟเป็นทั้งแสงสว่าง เป็นทั้งความร้อน เป็นทั้งพระเดช เป็นทั้งพระคุณพร้อมกันไปในตัว
ถือว่าไฟเมื่อยู่บนสวรรค์คือดวงอาทิตย์
เมื่ออยู่บนฟากฟ้าก็เป็นแสงสว่าง
เมื่ออยู่บนดินก็เป็นไฟธรรมดาใช้หุงต้ม
ในพระเวทยกย่องไฟเป็นเทพชั้นผู้นำเรียกว่าพระอัคนี



พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya, Mahabodhi Temple, ฮินดี: बोधगया)

คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด ๑ ใน  ๔ แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก

ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู



พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ  ๓๕๐ เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง  ๕๑ เมตร ฐานวัดโดยรอบได้  ๑๒๑.๒๙  เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น

ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา

สำหรับชาวพุทธพุทธคยานับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ ๑ใน ๔ แห่งของพระพุทธศาสนา




ในสมัยพุทธกาล พุทธคยา อยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา (ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล )ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ ๆ ร่มรื่นเป็นรมณียสถาน สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต

สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฏก ที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า

ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.
— 'สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑'




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.vichadham.com/buddha/city16.html
วิกิพีเดีย
หนังสือสู่แดนพระพุทธองค์ โดยพระราชรัตนรังสี (ว.ป. วรยุทฺโธ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น