วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๖๔ วัดบุพพาราม




บริเวณที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของวัดบุพพารามเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.bangsaensook.com 


"วัดบุพพาราม" เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี รองจากวัดพระเชตวันมหาวิหาร โดยพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ๓ พรรษา

บุพพารามเป็นมหาวิหารแห่งที่สองของนครสาวัตถี เคยมีผู้ชี้ให้ดูบอกว่านี่คือวัดบุพพาราม ซึ่งต้องเดินลัดเลาะตามทุ่งนาเลียบฝั่งแม่น้ำอจิรวดีไปประมาณ ๓ กิโลเมตร บางท่านบอกว่าน่าจะเป็นเมืองอโยธยาในปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนกว่านี้ก่อน จึงขอกล่าวเนื้อหาตามที่อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่านางวิสาขาผู้เป็นธิดาธนัญชัยเศรษฐี และเป็นภรรยาของปุณณวัฒนะเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี นางวิสาขานับถือพระพุทธศาสนา แต่สกุลสามีนับถือศาสนาเชน ภายหลังได้ชักชวนสกุลของสามีเข้ามานับถือพระพุทธศาสนา
หลังจากที่ได้ซื้อเครื่องประดับอันมีค่ายิ่งชื่อ มหาลดา หรือเมรปสันทนา ของตนเองทีี่ลืมไว้ในศาลาโรงธรรม และใช้เงินนั้นสร้างพระอารามขึ้นทางทิศตะวันออกของนครสาวัตถี ให้ชื่อว่า บุพพาราม แปลว่า อารามด้านทิศตะวันออกตามชื่อของป่านั้น

การที่นางวิสาขาเลือกสร้างพระอารามขึ้นที่บุพพาราม ก็เพราะเป็นที่ที่พระบรมศาดาโปรดปราน เสด็จไปประทับภายหลังจากได้มาเสวยที่เรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐี หลังจากสร้างเสร็จแล้วพระพุทธองค์เสด็จประทับจำพรรษาที่วัดบุพพาราม ๓ พรรษา

ตามตำนานกล่าวว่า พระโมคคัลลานะเป็นผู้กำกับการก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ ได้ทำเป็นโลหะปราสาท ๒ ชั้น ชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่างมี ๕๐๐ ห้อง ใช้เวลาสร้าง ๙ เดือนก็แล้วเสร็จ โลหะปราสาทของนางวิสาขานี้ เป็นแบบอย่างที่มีการสร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาในกาลต่อมา อีก ๒ แห่ง คือ ที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา และที่วัดราชนัดดา ประเทศไทย


ภาพวาดนางวิสาขา และเครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์ ผลงาน อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง จากวัดไทย ในอินเดีย

 ขอขอบคุณภาพจากwww.bloggang.com

พระพุทธองค์โปรดประทับที่วัดบุพพารามในบางโอกาส คือ ถ้าประทับที่พระเชตวันมหาวิหารเวลากลางวัน พระองค์จะเสด็จไปประทับที่บุพพารามในเวลากลางคืน ในบุพพารามนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงพระสูตรต่าง ๆ ไว้หลายพระสูตร เช่น อัคคัญญสูตร ในทีฆนิกาย อุฎฐนสูตร ในสุตตนิบาต อริยปริเยสณสูตร คณกโมคคัลลานสูตร ในมัชฌิมนิกาย ปราสาทกัมปนสูตร ในสังยุตนิกาย เป็นต้น

หลวงจีนฟาเหียนมาถึงที่นี่ ยังทันได้เห็นซากบุพพารามของนางวิสาขา สำหรับที่เชตวันมหาวิหาร หลวงจีนฟาเหียนบอกว่า ได้เห็นสถูปมากมายสร้างขึ้นไว้ ณ ที่ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาบ้าง ที่ซึ่งพระบรมศาสดาประทับบ้าง ที่ซึ่งพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมบ้าง แม้ที่ซึ่งนางสุนทริกาถูกฆ่าก็ยังมีสถูปสร้างเป็นอนุสรณ์ด้วย

บุพพารามเป็นอุทยานนอกกรุงสาวัตถีทางด้านตะวันออก มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฎรายละเอียด หลักฐานมีเพียงว่า บุพพารามเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงใช้พักผ่อนพระอิริยาบท หลังจากเสวยภัตตาหารในเรือนอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วเป็นประจำ ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์รับสั่งให้สามเณรรูปหนึ่งคือสุมนะ ไปตักน้ำจากสระอโนดาต มาใช้รักษาโรคของพระอนุรุทธะซึ่งอาพาธอยู่ ต่อมาหลังจากนางวิสาขาลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ไว้ในพระเชตวันมหาวิหาร และสร้างวัดบุพพารามนั้นได้นำเงินส่วนหนึ่งซื้ออุทยานบุพพารามเพื่อสร้างปราสาทตามคำแนะนำของพระพุทธองค์

มิคารมาตุปราสาท เป็นปราสาทที่นางวิส่าขาสร้างถวาย ด้วยเงิน ๙ โกฏิ ขณะอยู่ในระหว่างก่อสร้าง พระพุทธองค์ตรัสให้พระโมคคัลลานะและพระภิกษุอีก ๑๐๐ รูป เป็นผู้ให้คำแนะนำ ลักษณะเป็นปราสาทสองชั้น มีห้องพำนักชั้นละ ๕๐๐ ห้อง บนหลังคาปราสาทสร้างที่เก็บน้ำด้วยทองคำเก็บน้ำได้ ๖๐ ถัง เมื่อแล้วเสร็จนางทำการฉลองสิ้นเงินอีก ๙ โกฏิ



เรื่องนางวิสาขาสร้างมิคารมาตุปราสาท ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสร้างประมาณพรรษาใด จากการเทียบเคียงระยะเวลาในพรรษาที่ ๕ ที่พระพุทธองค์เสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ เพื่อโปรดตระกูลของนางวิสาขาได้บรรลุโสดาบัน และโปรดภัททชิหลานชายของเมณฑกเศรษฐีให้บรรลุพระอรหัตตผลนั้น นางวิสาขาเพิ่งมีอายุ ๗ ขวบ หลังจากนั้นครอบครัวของธนัญชัยเศรษฐีผู้บิดา นางสุมนาเทวีมารดา และตัวนางวิสาขาพร้อมทั้งเหล่าบริวาร ได้ย้ายมาพำนัก ณ เมืองสาเกต ตามพระประสงค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ต่อมาเมื่อมีอายุ ๑๖ ปี จึงแต่งงานกับปุณณวัฒนะเศรษฐี หลังจากมีบุตร และไปฟังพระธรรมเทศนา และลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ไว้ในมหาวิหาร นางวิสาขาน่าจะมีอายุประมาณ ๒๑ ปีแล้ว ๑๔ ปีให้หลังจากวันที่นางวิสาขาบรรลุโสดาบัน นางวิสาขาจึงเริ่มสร้างปราสาท คาดว่าคงอยู่ในระหว่างพรรษาที่ ๑๙ -๒๐ (พระราชรัตนรังษี )


โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดาประเทศไทย
ขอขอบคุณภาพจากzack43095.wordpress.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี ( ว.ป. วีรยุทฺโธ)


เมื่อครั้งพุทธกาล วัดบุพพารามตั้งอยู่นอกเมืองสาวัตถีไปทางทิศตะวันออก เป็นวัดที่สมบูรณ์เพียบพร้อมและกว้างขวางมาก มีถาวรวัตถุชื่อ มิคารมาตุประสาท ประกอบด้วยห้องพักอาศัยถึง ๑,๐๐๐ ห้อง แต่ละห้องมีสิ่งของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกทั้งสิ้น แต่ปัจจุบัน วัดบุพพารามไม่มีซากปรักหักพังให้เห็นเด่นชัดเหมือนวัดพระเชตวันมหาวิหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำอจิรวดี จึงถูกพัดพังจมน้ำไปเกือบหมด


นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้สร้างวิหารให้เป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งตอนที่กำลังก่อสร้าง นางได้อาราธนาพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ด้วยฤทธานุภาพของพระเถระ ผู้ที่ไปหาวัสดุก่อสร้างแม้ในระยะทางไกลถึง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็สามารถขนเอามาได้ภายในวันเดียว หรือแม้การยกท่อนไม้หรือก้อนหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบาก เพลาเกวียนก็ไม่หัก

ครั้งนั้นพระบรมศาสดาเสด็จจาริกโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองอื่น ครั้นครบ ๙ เดือน พระองค์ทรงเสด็จกลับกรุงสาวัตถี นางวิสาขาจึงไปอาราธนาให้พระบรมศาสดาเสด็จไปประทับบนปราสาทในวิหารชื่อ บุพพาราม เพื่อจะได้ฉลองมหาวิหาร นางได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๔ เดือน วันสุดท้ายได้ถวายผ้าไตรจีวรชั้นเลิศแด่ภิกษุสงฆ์ พร้อมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมอีกมากมาย การฉลองมหาวิหารคราวนั้น นางได้บริจาคทรัพย์รวมทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือ ในการซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ สร้างวิหาร ๙ โกฏิ และในการฉลองวิหารอีก ๙ โกฏิ



ขอขอบคุณภาพจากboard.palungjit.org

หลังจากฉลองมหาวิหาร นางวิสาขาแวดล้อมด้วยลูกหลานได้เดินชมมหาวิหารภายในบริเวณวัด เห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สำเร็จอย่างสวยงาม เกิดความปีติปราโมทย์ใจ คิดว่าความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ในภพชาติก่อน ๆ ได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วในชาตินี้ เวลาเดินรอบมหาวิหาร นางได้เปล่งอุทานคล้ายกับร้องเพลงด้วยสำเนียงอันไพเราะว่า

“ความดำริที่เราตั้งใจว่า เราจักสร้างวัดสร้างมหาวิหาร จักถวายเตียงตั่งฟูกและหมอนเป็นเสนาสนภัณฑ์ จักถวายสลากภัตด้วยโภชนะอันประณีต เราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้ายเนื้อดีเป็นจีวรทาน เราจักถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อยเป็นเภสัชทาน ความปรารถนาทั้งหมดนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์ทุกประการแล้ว”

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงรำพึงของนาง ต่างรู้สึกแปลกใจที่เสียงนั้นเปล่งเป็นทำนอง จึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า

 “พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็นนางวิสาขาร้องเพลงเลย วันนี้นางมีบุตรและหลานห้อมล้อม แล้วขับเพลงเดินรอบมหาวิหาร นางคงเสียจริตไปแล้วกระมัง”

พระบรมศาสดาตรัสว่า
 “ธิดาของเราไม่ได้ร้องเพลง แต่ว่าความปรารถนาในการสั่งสมบุญของเธอเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว จึงเดินเปล่งอุทานอย่างนั้น”

จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องราวในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า
นับย้อนหลังไป ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์มีพระชนมายุถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี มีภิกษุขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ เป็นบริวาร ครั้งนั้น นางวิสาขาเป็นเพื่อนของมหาอุบาสิกาผู้เป็นเลิศในทางอุปัฏฐากพระพุทธองค์ นางเห็นมหาอุบาสิกาท่านนั้นพูดคุยกับพระบรมศาสดาด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย จึงคิดว่า
 “เพื่อนเราทำบุญอะไรไว้หนอ จึงเป็นผู้สนิทสนมคุ้นเคยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้”
นางจึงตั้งความปรารถนาจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง

พระบรมศาสดาตรัสแนะวิธีการที่นางสามารถทำความปรารถนานั้นให้สำเร็จได้ นางจึงกราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้านตลอด ๗ วัน ในวันสุดท้ายนางได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวร แล้วตั้งความปรารถนาว่า

“ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันไม่ปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลก แต่หม่อมฉันปรารถนาที่จะตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดของมหาอุบาสิกาผู้สามารถอุปัฏฐากบำรุงด้วยปัจจัย ๔ แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ”

พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
 “จากนี้ไป ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จักอุบัติขึ้นในโลก ในกาลนั้นเธอจักเป็นอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา และเธอจะได้ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา จักเป็นเลิศของอุบาสิกาผู้เป็นอุปัฏฐายิกา ผู้บำรุงด้วยปัจจัย ๔”

นางได้ฟังดังนั้น รู้สึกดีอกดีใจราวกับจะได้สมปรารถนาในวันพรุ่งนี้

ตั้งแต่นั้นมานางตั้งใจทำบุญจนตลอดชีวิต เมื่อละโลกก็ไปบังเกิดในสวรรค์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น จนมาถึงภพชาตินี้ นางได้เกิดเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี เป็นมหาอุบาสิกาผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศแห่งอุปัฏฐายิกาในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา สมดังที่นางได้ตั้งความปรารถนาไว้ทุกประการ


โลหะปราสาทแห่งที่สาม ที่วัดราชนัดดาประเทศไทย
ขอขอบคุณภาพจากwww.flickr.com




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://buddha.dmc.tv
http://taraarryatravel.com/info_page.php?id=609&category=34



ส่วนโลหะปราสาทหลังที่สองสร้างขึ้นที่อนุราธปุระ หรือเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา สร้างขึ้นในสมัยของ พระเจ้าทุฏคามนี ราวพุทธศักราช ๓๘๒ มีขนาดใหญ่โตไม่แพ้หลังแรก มีความสูงถึง ๙ ชั้น มีห้องจำนวน ๑,๐๐๐ ห้องเท่ากัน ประดับด้วยงาช้างและอัญมณีงดงามยิ่งนัก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ปัจจุบันเหลือเพียงซากเสานับพันต้นเป็นอนุสรณ์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=706013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น